ผู้เขียน หัวข้อ: คนบริหารเหลวเงียบ ปล่อยแพะให้รับทัวร์  (อ่าน 290 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ภายใต้การบัญชาการของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ถูกตั้งคำถามว่ายังจำเป็นอยู่หรือไม่

เพราะขณะนี้ประเทศไทยมียอดผู้ติดเชื้อวันละหมื่นกว่าราย การมียอดผู้เสียชีวิตวันละร้อยราย ขณะที่การจัดหาวัคซีนไม่สามารถจัดหาได้เพียงพอต่อสถานการณ์ในประเทศ

ขณะเดียวกัน บางครั้งหลายปัญหาเกิดขึ้นจาก ศบค.เอง เหมือนที่ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอให้ยุบ ศบค. เพื่อกลับไปใช้กลไกปกติ “จะมีไว้ทำไม ให้รัฐซ้อนรัฐ งบซ้อนงบ มีการสื่อสารสับสนอลหม่าน ตัดสินใจช้าสายเกินไปตลอด”

เช่นเดียวกับ "บิ๊กตู่" นับตั้งแต่ตัดสินใจรวบอำนาจรัฐมนตรีผ่านกฎหมาย 31 ฉบับ ผ่านประกาศเรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) เมื่อปลายเดือนเมษายน เพื่อหวังว่า จะแก้ปัญหาโควิด-19 แบบเบ็ดเสร็จได้โดยการรวมศูนย์ แต่ถึงวันนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นเลย กลับกัน ยังส่อเค้าที่จะวิกฤติขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต ตลอดจนปัญหาการจัดหาวัคซีนที่ยังคาราคาซังอยู่ถึงตอนนี้

นอกจากความล้มเหลวแล้ว ดูเหมือนผู้ที่มีความรับผิดชอบโดยตรงต่างพากันเงียบ ปล่อยให้คลื่นมหาชนลุยถล่มเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติทั้งที่บางรายไม่ได้มีอำนาจในเรื่องนั้นๆ เลย อย่างที่ "วัฒนา เมืองสุข"อดีต รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มองว่า ทัวร์ไปลงผิดที่

เหมือนกับเรื่องวัคซีนที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ว่าท้ายที่สุดแล้วคนที่ควรจะต้องรับผิดชอบกับความผิดพลาด และสมควรจะถูกประชาชนก่นด่าควรเป็นใครกันแน่ หลังช่วงที่ผ่านมา อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข คือ หมู่บ้านกระสุนตก

โดย วัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเอาไว้ว่า การจัดซื้อวัคซีนเพื่อฉีดให้กับประชาชนเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ตามมาตรา 10 (2) แห่งพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีน
แห่งชาติ พ.ศ. 2561 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย แต่ต่อมา "บิ๊กตู่"ได้ออกคำสั่งรวบอำนาจดังกล่าวไปเป็นของตนเอง

ขณะที่เรื่องการจัดหาวัคซีนทางเลือก ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 "บิ๊กตู่" ได้ลงนามในคำสั่งที่ 5/2564 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) โดยมี "นพ.ปิยะสกล" สกลสัตยาทร อดีต รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน

คณะทำงานดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ เสนอแนวทาง และมาตรการในการจัดหาวัคซีนโควิด สำหรับใช้ในสถานพยาบาลของรัฐ และวัคซีนทางเลือกเพื่อนำมาให้บริการในสถานพยาบาลเอกชน

คณะทำงานชุดนี้ 18 คน ประกอบด้วย 2.นพ.โสภณ เมฆธน เป็นรองประธาน 3.นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข 4.เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา 5. ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ 6.อธิบดีกรมควบคุมโรค 7.อธิบดีกรมสนับสนุนบริการ
สุขภาพ 8.ศาสตราจารย์ พิชัย สนแจ้ง 9.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ 10.นพ.ก่อพงศ์ รุกขพันธ์ 11.พญ.เมชินี ไหมแพง 12.นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี 13.นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช 14.นพ.นพพร ชื่นกลิ่น 15.นพ.บุญ วนาสิน 16.พญ.เจรียง จันทรโกมล 17. นายประทีป กีรติเรขา เลขานุการ และ 18.ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เลขานุการคณะทำงาน

"อนุทิน" ในฐานะ รมว.สาธารณสุข หรือแม้แต่ "สาธิต ปิตุเตชะ" รมช.สาธารณสุข ไม่มีชื่ออยู่ในคณะทำงานชุดนี้ ขณะที่ตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข มี 5 คน ขณะเดียวกัน มีคณะทำงานถึง 8 คน เป็นเจ้าของโรงพยาบาลเอกชน ทำให้มีการมองว่า เรื่องราคาวัคซีนทางเลือกอย่างโมเดอร์นาที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีราคาแพง จึงเป็นคณะทำงานชุดนี้หรือไม่ที่ควรออกมาไขความกระจ่าง

"ถ้าจะถามว่าทำไมปล่อยให้โรงพยาบาลเอกชนขูดเลือดประชาชนเอากำไรสูงถึงเกินกว่า 50% ในสถานการณ์ที่ประชาชนทุกข์ยากก็ต้องไปถามนายกรัฐมนตรีว่าเหตุใดจึงแต่งตั้งตัวแทนจากโรงพยาบาลเอกชนมาเป็นกรรมการหลายคนทั้งที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน" วัฒนา เมืองสุข ให้ข้อสังเกต

เหมือนกับที่ "ศุภชัย ใจสมุทร"ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย เคยออกมาปกป้อง "อนุทิน" หลังโดนสังคมตำหนิเรื่องการจัดหาวัคซีนทางเลือก โดยเฉพาะประเด็นที่ "บุญ วนาสิน" ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ออกมาดิสเครดิตรัฐบาลเรื่องวัคซีนทางเลือก ทั้งที่ความจริงแล้ว ทั้ง "นพ.บุญ"และ "นพ.ปิยะสกล" ควรเป็นคนให้คำตอบกับสังคมได้ดีที่สุด ไม่ใช่คนอื่น ในฐานะคณะทำงานจัดหาวัคซีนทางเลือก

ไม่ต่างอะไรกับเรื่องเตียงรักษาคนไข้ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะใน กทม. ที่หากไปเปิดคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 6/2564 เรื่อง จัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะพบว่า มีกรรมการ 36 คน มาจากหน่วยงานต่างๆ โดยมี "บิ๊กตู่" เป็นผู้อำนวยการศูนย์

โดย "วัฒนา เมืองสุข"ให้ข้อมูลในเฟซบุ๊กว่า โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร ที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีเพียง 2 แห่งเท่านั้น คือ โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี ที่เหลือเป็นของ กทม. ที่มีสำนักอนามัย กทม. เป็นผู้รับผิดชอบ และเป็นของมหาวิทยาลัยต่างๆ ของทหาร

"ผมอ้างคำสั่งและการแต่งตั้งมาเป็นหลักฐาน เพื่อให้บรรดามัคคุเทศก์ทั้งหลายนำลูกทัวร์ไปลงให้ถูกคน เห็นช่วงนี้ทัวร์ไปลงที่กระทรวงสาธารณสุขบ่อยมากทั้งที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ เพราะถูกนายกรัฐมนตรีรวบอำนาจไปไว้ที่ตัวเองหรือแต่งตั้งให้ผู้อื่นเป็นผู้รับผิดชอบทั้งสิ้น แต่คนเหล่านี้กลับไม่กล้าออกมารับผิดชอบกับประชาชน"

ซึ่งก็น่าจะเป็นอย่างที่ "วัฒนา" ค่อนแคะเอาไว้ เพราะถึงตรงนี้คนที่เกี่ยวข้องโดยตรงหายวับเข้ากลีบเมฆกันหมด อย่างเช่นเรื่องวัคซีนทางเลือก ที่จนถึงบัดนี้ ยังไม่มีคำตอบใดๆ จากคณะทำงานชุด "นพ.ปิยะสกล" เลย หรือแม้แต่ตัว "นพ.ปิยะสกล"ที่เป็นประธานก็ไม่คิดอยากจะออกมาพูดอะไร

ปล่อยให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องต้องมารองรับอารมณ์เซ่นการตัดสินใจที่ผิดพลาดของคนอื่น

20 ก.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์