ผู้เขียน หัวข้อ: ข่าวลึกปมลับ : “โยนบาป” วัคซีน “เวรกรรม” ตกประชาชน  (อ่าน 293 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
“ข่าวลึกปมลับ”ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม 2564 ตอน “โยนบาป” วัคซีน “เวรกรรม” ตกประชาชน

กลายเป็นมหกรรม “โยนบาป” หรือ “ปัดความรับผิดชอบ” ทั้งระหว่างเอกชน หน่วยงานรัฐด้วยกันและฝ่ายการเมือง ในการบริหารจัดการวัคซีน เริ่มต้นคู่มวยที่ “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล”รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กับ “หมอบุญ” นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ จำกัด (มหาชน)

หลัง “หมอบุญ” ออกมาระบุว่า ได้โทรศัพท์ไปที่ “ไฟเซอร์-โมเดอร์นา” โดยได้คำตอบว่า ไทยยังไม่เซ็นสัญญา โดยตนเองได้ยืนยันยอดความต้องการซื้อไปตั้งแต่เดือน เม.ย.64 กับองค์การเภสัชกรรม พร้อมยินดีเอาเงินวางให้ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงอาจทำให้การได้วัคซีนทางเลือกล่าช้าออกไปราว 4 เดือน

ทั้งนี้ นายอนุทิน ได้ออกมาชี้แจงว่า รพ.เอกชนซื้อเองไม่ได้ เพราะติดปัญหาที่บริษัทผู้ผลิตวัคซีนจะขายผ่านรัฐบาลเท่านั้น รพ.เอกชน จึงไปร้องเรียนกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะได้ตั้งคณะทำงานในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมชุดหนึ่งขึ้นมา โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีต รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน โดยมี นพ.บุญ เป็นหนึ่งในคณะทำงานชุดดังกล่าวด้วย

นายอนุทิน ชี้แจงอีกว่า องค์การเภสัชกรรม ทำหน้าคล้ายสะพานเชื่อมระหว่าง “ผู้ซื้อ” คือ รพ.เอกชน กับ “ผู้ขาย” คือ ผู้ผลิตวัคซีน โดยผู้ซื้อและผู้ขายตัวจริง ต้องตกลงเงื่อนไขต่างๆให้ได้ก่อน จากนั้นองค์การเภสัชกรรมจะเป็นตัวกลางในการทำนิติกรรมเพื่อจัดซื้อ แต่จะไม่รับความเสี่ยงใดๆ โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านการเงิน

ดังนั้นผู้จะซื้อต้องตกลงกับผู้จะขายให้ได้แล้วนำเงินที่ได้รับจองวัคซีนมาให้ องค์การเภสัชกรรม เพื่อเปิดออร์ดอร์สั่งซื้อวัคซีน อย่ามามือเปล่า ตอกกลับหมอบุญไปอย่างนี้

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 2ก.ค.ที่ผ่านมา นพ.บุญ ได้ระบุถึงสาเหตุการเจรจาจองวัคซีนกับทาง "โมเดอร์นา" ไม่มีความคืบหน้า เพราะเอกสารเรื่องสัญญายังค้างอยู่ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ทำให้ นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ต้องออกมาชี้แจงว่า ทางสำนักงานอัยการสูงสุดยังไม่ได้รับร่างสัญญาดังกล่าว

แต่สำนักงานอัยการสูงสุดได้รับร่างสัญญาจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส โดยทางอัยการได้ตรวจร่างสัญญาจากกรมควบคุมโรคเสร็จแล้ว ใช้เวลาทั้งสิ้น 3 วัน และได้แจ้งให้ผู้แทนจากกรมควบคุมโรค มารับร่างสัญญาดังกล่าวกลับเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา

จึงทำให้ “แรงกดดัน” ทั้งหมด ตกไปที่องค์การเภสัชกรรมทันที ในวันเดียววันกันนั้น นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า ได้นำร่างสัญญาส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว หลังจากนั้นจะมีการลงนามสัญญาจัดหากับบริษัทซิลลิค ฟาร์มา จํากัด ซึ่งเป็นตัวแทนของโมเดอร์นาในประเทศไทยเพียงผู้เดียว ทำหน้าที่เป็นผู้นำเข้าและขึ้นทะเบียนวัคซีนโมเดอร์นาในประเทศไทย

ตามกำหนดเดิมคือต้นเดือน ส.ค.2564 โดยในช่วงเดือน ก.ค.นี้ ได้ให้ รพ.เอกชนแจ้งจำนวนวัคซีน พร้อมงบประมาณให้กับองค์การเภสัชกรรม พร้อมยืนยันว่าจะสามารถนำเข้าได้ช่วงไตรมาส 4 ของปี2564 และไตรมาส 1 ปี2565 จำนวน 5 ล้านโดส

ด้านรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ชี้แจงเพิ่มอีกครั้งว่า สำนักงานอัยการสูงสุดจะได้รับร่างดังกล่าวช่วงเช้าวันที่ 5 ก.ค. ซึ่งทางสำนักงานอัยการสูงสุด จะพิจารณาตรวจร่างสัญญาโดยเร็วและรอบคอบ

ทั้งนี้สิ่งที่มาตอกลิ่มมหกรรม “โยนบาป” อีกคือกรณี นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า วัคซีนทางเลือก คนจะสั่งหรือซื้อมาฉีดคือ รพ.เอกชน ข่าวที่ออกมาว่า นพ.บุญ อัดรัฐบาลเรื่องวัคซีนโมเดอร์นานั้น

เป็นเรื่องที่ นพ.ปิยะสกล และ นพ.บุญ ต้องมาช่วยบอกความคืบหน้าต่อประชาชน ในฐานะประธานและคณะทำงาน ในคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ที่นายกรัฐมนตรีลงนามแต่งตั้งเมื่อ 9เม.ย.2564 ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็น “ผู้ร้าย” ตลอดนั้น มีหน้าที่รับผิดชอบจัดหา กระจาย วัคซีนหลัก คือ แอสตร้าเซเนก้า และ วัคซีนเสริม คือ ซิโนแวค

ทั้งนี้ หากไปดูตัวคำสั่งนายกฯฉบับดังกล่าว ได้ระบุถึงหน้าที่และอำนาจคณะทำงานไว้ 2 ข้อ ได้แก่ 1)เสนอแนวทางและมาตรการในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อฯ สำหรับใช้ในสถานพยาบาลของรัฐ และวัคซีนทางเลือกเพื่อนำมาให้บริการในสถานพยาบาลเอกชน 2)ติดตามสถานการณ์ของโรคติดเชื้อฯ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการจัดหาวัคซีน

เมื่อดูทั้ง 2 ข้อ จะพบว่า “คณะทำงาน” ที่นายศุภชัย อ้างถึงนั้น ไม่มีอำนาจในการ “สั่งซื้อวัคซีน” เพราะเป็นอำนาจของ “กระทรวงสาธารณสุข” โดยคณะทำงานชุดนี้ทำได้เพียง “เสนอแนวทางและข้อมูล” เท่านั้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ “ลูกพรรคภูมิใจไทย” จะออกมาปกป้อง “หัวหน้า”

เพราะในคณะทำงานชุดนี้กลับไม่มีชื่อ นายอนุทิน ทั้งที่เป็น รมว.สาธารณสุข แต่กลับมีชื่อปลัดกระทรวงและผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขนั่งอยู่หลายคน

มหกรรม “โยนบาป” จึงเกิดขึ้น และเกมลากไส้ ระหว่างกลุ่มหมอบุญกับรัฐบาลที่กล่าวหาว่า หมอบุญ จับเสือมือเปล่า เป็นการตอกกลับที่รัฐบาลถูกแฉเรื่องเตะถ่วงวัคซีนทางเลือก ก็เหตุกาณ์ที่ประชาชน หนีเสือปะจรเข้ สุดท้าย “เวรกรรม” กลับมาตกที่ประชาชน

5 ก.ค. 2564  ทีมข่าวอาชญากรรม