ผู้เขียน หัวข้อ: อดีตนายกแพทยสภา แนะรัฐ ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 “ไฟเซอร์” ให้บุคลากรทางการแพทย์  (อ่าน 260 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
"อำนาจ กุสลานันท์" กรรมการแพทยสภา อดีตนายกแพทยสภา โพสต์ข้อความแนะให้ภาครัฐพิจารณาควรฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 “ไฟเซอร์” ให้บุคลากรทางการแพทย์ ชี้เพื่อประคองให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้

จากกรณีของเอกสารสรุปการประชุมเฉพาะกิจร่วม ระหว่างคณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะทำงานด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีข้อสรุปแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ที่คาดว่าจะนำเข้าสู่ประเทศไทยเดือน ก.ค. จำนวน 1.5 ล้านโดส ให้เน้นกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง 7 โรคในพื้นที่ระบาด

จากเอกสารดังกล่าว พบว่า มีการจัดทำข้อเสนอแนวทางบริหารจัดการวัคซีน ว่าควรมุ่งเน้นไปที่บุคคลสามกลุ่ม คือ
1. บุคคลอายุ 12-18 ปี
2. กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้วัคซีน ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์
3. ให้บุคลากรด่านหน้ากระตุ้นภูมิคุ้มกัน เป็นวัคซีนเข็มที่ 3

โดยมีความเห็นหนึ่ง ระบุว่า ถ้าหากเอามาฉีดกลุ่ม บุคลากรทางการแพทย์ แสดงว่ายอมรับว่า ซิโนแวค ไม่มีผลในการป้องกันและจะแก้ตัวยากมากขึ้น

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. เฟซบุ๊ก "อำนาจ กุสลานันท์" กรรมการแพทยสภา อดีตนายกแพทยสภา ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กถึงแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งแนะ ควรฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์

ระบุว่า “เรียน นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.

ตามที่ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดสในเดือนกค.-สค. 64 มานั้น ผมทราบมาว่ามติที่ประชุมของคณะกรรมการที่พิจารณาเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 30 มิย.64 ได้มีผู้เสนอให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ได้วัคซีนซิโนแวคสองเข็มไปแล้วระยะหนึ่งได้รับวัคซีนนี้ แต่ต่อมาที่ประชุมมีมติไม่ให้วัคซีนดังกล่าวแก่บุคลากรทางการแพทย์ ผมมีความเห็นว่าแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะได้รับเชื้อรวมทั้งเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญสูงมากในขณะนี้ที่มีภาระหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยทั้งหมด

ถ้าหากกำลังคนที่สำคัญในภาวะวิกฤตินี้ติดเชื้อจะซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก เพราะการที่คนใดคนหนึ่งในกลุ่มบุคลากรที่กำลังทำหน้าที่เพื่อชดเชยอัตรากำลังคนที่ขาดแคลนอย่างที่สุดในตอนนี้ติดเชื้อจะทำให้มีบุคลากรที่เกี่ยวข้องต้องถูกกักตัวเนื่องจากเป็นผู้ความเสี่ยงสูงอีกจำนวนมาก ดังที่ได้มีการประกาศปิดห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องคลอด หรือทั้งโรงพยาบาลมาเป็นระยะ ๆทำให้ผู้ป่วยและประชาชน มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกทั้งจากโควิดและภาวะฉุกเฉินอื่นๆ

ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อในบุคลกรกลุ่มนี้จึงมีความสำคัญสูงสุดและจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประคองให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้ จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาให้ฉีดวัคซีนดังกล่าวแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ดูแลผู้ป่วยด้วยครับ


ศ.คลินิกเกียรติคุณนพ.อำนาจ กุสลานันท์
กรรมการแพทยสภา
อดีตนายกแพทยสภา”

5 ก.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์