ผู้เขียน หัวข้อ: โควิด-19: 18เดือนผ่าน จาก"ตัวอย่างชั้นเยี่ยม"ของ WHO สู่เกือบ 2 พันศพใน 3 เดือน  (อ่าน 275 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
"ประเทศไทยคือตัวอย่างชั้นเยี่ยมที่ใช้แนวทางการแก้ปัญหาแบบรอบด้านด้วยความพร้อมใจของทั้งภาครัฐและทั้งสังคมในการสกัดไวรัสนี้ แม้ยังไม่มีวัคซีน" ดร. เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวยกย่องประเทศไทยในช่วงพิธีปิดการประชุมสืบเนื่องของการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly: WHA) สมัยที่ 73 เมื่อ 13 พ.ย. 2563

กระทรวงการต่างประเทศของไทยระบุในเอกสารข่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำประเทศเดียวที่ได้รับเชิญแสดงวิสัยทัศน์ กล่าวถ้อยแถลงผ่านวีดิทัศน์ แบ่งปันประสบการณ์การรับมือโควิด-19 ของไทยในเวทีนานาชาตินี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยสามารถรับมือกับโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากไทยกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมบนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ การมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง และความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคมไทย อย่างไรก็ดี ไทยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพการรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข จึงได้ร่วมกับ WHO ประจำประเทศไทย ทบทวนการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโควิด-19 ของไทยเพื่อถอดบทเรียนที่สำคัญ นำไปปรับปรุงการดำเนินงานของประเทศให้ยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผู้อำนวยการใหญ่ WHO บอกว่า ความสำเร็จนี้ไม่ได้มาโดย "อุบัติเหตุ" แต่มาจากพันธสัญญาในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขและเพิ่มขีดความสามารถอย่างต่อเนื่องนับจาก 40 ปีก่อน เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านกว่า 1 ล้านคน ที่ช่วยสอดส่องเรื่องการแพร่ระบาด การเรียนรู้บทเรียนการรับมือกับโรคระบาดในอดีต อีกทั้งการร่วมมือกับสำนักงานประจำประเทศไทยของ WHO ในการศึกษาบทเรียนในปัจจุบันเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับแนวรับด้านสาธารณสุข

"ผมเรียกร้องให้ทุกประเทศดำเนินตามตัวอย่างของประเทศไทย "

1 ไตรมาส กับเกือบ 2 พันชีวิตที่เสียไป
ผ่านไป 7 เดือน หลังคำยกย่องของ WHO ประเทศไทยเผชิญกับภาวะการแพร่ระบาดของโรคที่รุนแรงขึ้น เป็นวงกว้างขึ้น มีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยอดผู้เสียชีวิตรายวันทำสถิติใหม่ไม่เว้นแต่ละวัน จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมในช่วงการระบาดครั้งล่าสุดระหว่าง เม.ย. ถึง มิ.ย. อยู่ที่ 1,929 คน

ขีดความสามารถของสถานพยาบาลในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มไม่พอต่อความต้องการ ผู้ป่วยหลายรายต้องรอเตียงอยู่บ้านจนเสียชีวิต พื้นที่การระบาดใหม่ ๆ เกิดขึ้นแทบทุกวัน ส่วนวัคซีนซึ่งเป็นความหวังหลักในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดก็ไม่เพียงพอ ส่วนที่มีอยู่ก็ไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปเชื่อได้ว่ามีประสิทธิภาพพอในการรับมือกับเชื้อไวรัสร้าย

ล่าสุด เมื่อ 30 มิ.ย. พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กล่าวว่าได้รับทราบถึงคำเตือนของแพทย์โรงพยาบาลศิริราชว่าการระบาดระลอก 4 อาจจะเกิดขึ้นในเร็ววันจากไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตาซึ่งแพร่กระจายได้รวดเร็ว

บีบีซีไทยย้อนลำดับเหตุการณ์ สำคัญเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ตั้งแต่ ม.ค. 2563 ถึง มิ.ย. 2564 โดยเฉพาะในการระบาดระลอกเดือน เม.ย. ที่ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตพุ่ง จนเกิดสถานการณ์ "คอขวดผู้ป่วย" อีกครั้ง จนรัฐต้องใช้มาตรการ "เบ่งเตียง" เข้าสู้

พบผู้ป่วยรายแรก
13 ม.ค. 2563 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันพบผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกในไทยและเป็นรายแรกที่พบนอกประเทศจีน เป็นนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีน อายุ 61 ปี เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่นถึงไทยวันที่ 3 ม.ค.

โดยในการตั้งโต๊ะแถลงข่าวของ สธ. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สธ. ยืนยันถึงความพร้อมของระบบสาธารณสุขไทยในการรับมือโรคระบาด ด้วยเคยมีประสบการณ์มาก่อน ซึ่งเริ่มต้นก็ได้มีมาตรการคัดกรองผู้เดินทางจากต่างประเทศอย่างเข้มงวด

25 ม.ค. 2563 บัญชีเฟสบุ๊ก ของ Anutin Charnvirakul แสดงความมั่นใจต่อมาตรการของทางการไทยว่า "กระทรวงสาธารณสุขขอยืนยันว่า ยังควบคุมสถานการณ์โรคไวรัสโคโรนาจากอู่ฮั่นได้เป็นอย่างดี ที่ควบคุมไม่ได้คือการปล่อยเฟกนิวส์ ทำให้ผู้คนตื่นตระหนก ขอให้ฟังข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความสบายใจในช่วงตรุษจีน"

วันเดียวกัน นายอนุทินให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า "คือผมไม่ใช่หมอ ก็ประคองตัวเองมาได้ 50 กว่าปีแล้วนี่นะครับ มันคือโรคหวัดโรคหนึ่ง มองว่ามันก็คือโรคหวัดโรคหนึ่ง แล้วก็ใครเป็นหวัดเราก็ต้องรู้"

29 ก.พ. 2563 สธ.ออกประกาศให้ "โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019" หรือ "โรคโควิด 19" เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย ประกาศฉบับนี้ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มี.ค. กำหนดให้ประชาชน ผู้ประกอบการ เช่น โรงแรม มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องรายงานและแจ้ง เมื่อสงสัยหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นโรคติดต่ออันตราย ผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด หรือมีโอกาสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เมื่อมีอาการไข้ หรืออาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ขั้นตอนของการซักประวัติ เพื่อช่วยในการรักษาและป้องกันตนเองด้วย

วันเดียวกัน มีคนไทยเสียชีวิตเป็นรายแรก เป็นชาย อายุ 35 ปี ที่มีประวัติสัมผัสนักท่องเที่ยวชาวจีน

11 มี.ค. 2563 WHO ประกาศให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็น "การระบาดใหญ่" ของโลก หรือ pandemic หลังจากเชื้อลุกลามไปใน 118 ประเทศและดินแดนทั่วโลก และมีผู้ติดเชื้อกว่า 121,000 คน ทั้งได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 4,300 คน

เริ่มต้นมาตรการล็อกดาวน์
26 มี.ค. 2563 รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2548 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันดังกล่าวถึง 30 เม.ย. 2563 จากนั้นขยายเวลาบังคับใช้อีกหลายครั้งต่อเนื่องจนถึงปี 2564 ควบคู่กับการจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) โดยมีนายกฯ เป็นผู้อำนวยการ ศบค.

3 เม.ย. 2563 รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวระหว่าง 22.00-04.00 น. เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง ได้ลดช่วงเวลาเคอร์ฟิวลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีการยกเลิกประกาศเคอร์ฟิวในวันที่ 15 มิ.ย.

แม้ว่ารัฐบาลประกาศความสำเร็จในการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อ แต่ข้อสงสัยที่ว่าตรวจน้อยจึงพบผู้ติดเชื้อน้อยยังคงเป็นเสียงท้วงติงสำคัญ ว่าการออกตรวจหาเชื้อเกิดขึ้นในวงจำกัด

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรคในขณะนั้น เคยตอบคำถามเป็นภาษาอังกฤษถึงแนวทางการตวจหาเชื้อกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เมื่อ 17 เม.ย. 2563

"ผมไม่ได้บอกว่าเราจะไม่พยายามตรวจหาเชื้อให้มากขึ้น แต่ผมกำลังบอกว่าเราจะตรวจอย่างมียุทธศาสตร์ คือตรวจกลุ่มคนหรือพื้นที่ที่เราคาดว่าจะพบผู้ติดเชื้อ...เราต้องวางแผนว่าตรวจอย่างไรให้เจอ ไม่ใช่ว่าตรวจไปเรื่อย แต่ไม่เจอผู้ป่วยเลย"

"การตรวจหาเชื้อชาวภูเก็ต 1,000 คน สธ.ใช้งบประมาณไป 2 ล้านบาท เพื่อที่จะพบผู้ติดเชื้อ 1ราย" นพ.ธนรักษ์กล่าว

ระลอกแรก (ม.ค.-14 ธ.ค. 2563) มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 4,237 ราย เสียชีวิต 60 ราย อัตราการเสียชีวิตเท่ากับ 1.42 %

การระบาดระลอกสอง
15 ธ.ค. 2563 สธ.ประกาศการระบาดระลอกใหม่ในไทย หลังจากมีการแพร่ระบาดที่ตลาดกลางกุ้ง ต. มหาชัย อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ผู้ติดเชื้อจำนวนมากเป็นแรงงานชาวเมียนมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการตั้งโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่หลายแห่งในจังหวัด เพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกมารักษา การระบาดระลอกที่ 2 นี้ลากยาวมาจนถึงสิ้นเดือน มี.ค. 2564

ด้วยส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติซึ่งมีที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวอยู่แล้ว มาตรการปิดพื้นที่อย่างเด็ดขาดในตอนนั้น ผนวกกับการค้นหาเชิงรุกภายใน และจัดตั้ง รพ.สนาม ทำให้การควบคุมสถานการณ์ใน จ.สมุทรสาคร เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจนสามารถกลับสู่สภาวะปกติได้

สธ. สรุปจำนวนผู้ติดเชื้อในระลอกแรกและระลอกสอง 15 ธ.ค. 2563 - 31 มี.ค. 2564 ว่ามีผู้ป่วยทั้งสิ้น 24,626 ราย เสียชีวิต 34 ราย อัตราการเสียชีวิตเท่ากับ 0.14%

การระบาดระลอก 3
ต้น เม.ย. 2564 มีรายงานการติดเชื้อเป็นกลุ่มเป็นก้อนในกลุ่มพนักงานและนักเที่ยวสถานบันเทิงย่านทองหล่อ บุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งในแวดวงการเมืองและวงการบันเทิงติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งจากการสุ่มตรวจพบว่ามีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษ โดยแพทย์คาดว่า เกิดจากการเคลื่อนย้ายของคนระหว่างพื้นที่ไทยกับกัมพูชา ซึ่งขณะนั้นสายพันธุ์นี้กำลังพบการระบาดในกัมพูชาอยู่

ด้านเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ได้ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า การระบาดระลอกนี้ผู้ป่วยจำนวนมากมีอาการทรุดเร็ว หลายรายเสียชีวิตภายใน 1 สัปดาห์หลังมีอาการป่วย

การระบาดเกิดขึ้นในช่วงใกล้กับวันหยุดยาวสงกรานต์ แต่ ศบค. ตัดสินใจไม่ห้ามการเดินทางข้ามพื้นที่ในช่วงเทศกาลวันปีใหม่ไทย เพียงขอความร่วมมือในการลดการเดินทาง และงดการร่วมกลุ่ม ด้วยเหตุผลความสมดุลในการควบคุมโรคและเดินหน้าทางเศรษฐกิจ

23 เม.ย.2564 จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมงอยู่ที่ 2,070 ราย นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดการระบาดเมื่อ ม.ค. 2563 ที่ผู้ป่วยรายใหม่ทะลุ 2,000 ราย

29 เม.ย. 2564 ศบค. มีมติให้ยกระดับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 โดยประกาศให้ 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการเป็น "พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด" หรือ "พื้นที่สีแดงเข้ม" กำหนดระยะเวลาปิด-เปิดของห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ห้ามนั่งรับประทานอาหารที่ร้าน และห้ามเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ เป็นต้น เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ค. เป็นต้นไป

12 พ.ค. 2564 กรมราชทัณฑ์ออกเอกสารข่าวชี้แจงว่าได้ตรวจหาเชื้อเชิงรุกทั้งในเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และผู้ต้องขัง 100% พบผู้ติดเชื้อโควิด -19 รวม 2,835 ราย อยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางรวม 1,040 ราย และเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครรวม 1,795 ราย นับเป็นครั้งแรกที่มีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ในเรือนจำ

โดยข้อมูลจนถึงวันที่ 27 มิ.ย. ในเรือนจำและทัณฑสถาน พบการระบาดแล้วใน 13 แห่ง มีการติดเชื้อสะสม 35,980 ราย ผู้ต้องขังเสียชีวิต 40 ราย

21 พ.ค. 2564 จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งของการระบาด เมื่อไทยยืนยันพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ B1.617.2 หรือสายพันธุ์เดลตา (พบครั้งแรกในอินเดีย) ครั้งแรก ในแคมป์คนงานแห่งหนึ่งในเขตหลักสี่ ซึ่งสร้างความกังวลอย่างมาก ด้วยในเวลานั้นสถานการณ์การระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้างกำลังเป็นประเด็นที่ต้องจับตา เนื่องจากมีตัวเลขการติดเชื้อเพิ่มต่อเนื่อง

23 พ.ค 2564 สธ. ชี้แจงว่า พบการติดเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาใต้ 3 รายแรก ในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะมีการแพร่ระบาดไปยังหลายจังหวัดภาคใต้ รวมถึงมีการยืนยันผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวรายแรกในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.

16 มิ.ย. 2564 นายกฯ ประกาศเป้าหมายเปิดประเทศไทยทั้งประเทศภายใน 120 วัน โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถรอให้ให้ทุกคนได้รับวัคซีนครบ 2 โดสก่อนได้ นายกฯ กล่าวว่า การเปิดประเทศอาจจะทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นบ้าง แต่จำเป็นต้องทำเพื่อความอยู่รอดในการทำมาหากินของประชาชน และต้องยอมรับความเสี่ยงร่วมกัน โดยจะเร่งฉีดวัคซีนเข็มแรกให้แก่ประชาชนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่แพทย์จำนวนหนึ่งก็เป็นกังวล

25 มิ.ย.2564 ศบค. ยอมรับว่ามีปัญหาเรื่องการขาดแคลนเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งแก้ปัญหาและขยายศักยภาพเตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยระดับสีเหลืองและแดง

26 มิ.ย. 2564 กลางดึกของวันนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศข้อกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน สกัดการแพร่ระบาดโควิด-19 ฉบับที่ 25 ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญอยู่ที่การประกาศให้กรุงเทพฯ ปริมณฑลและจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมทั้งหมด 10 จังหวัดเป็น "พื้นที่ควบคุมสูงสุด" ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ซึ่งการเดินทางข้ามจังหวัดเหล่านี้จะต้องมีการตั้งด่านตรวจอย่างเข้มงวด โดยขอความร่วมมือให้ประชาชนเดินทางเท่าที่จำเป็น

นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดเจาะจงพิเศษให้กรุงเทพฯ และปริมณฑลปิดไซต์งานก่อสร้าง ที่พักชั่วคราวของคนงาน และห้ามเคลื่อนย้ายคนงาน เนื่องจากที่ผ่านมามีการระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีคำสั่งห้ามการนั่งรับประทานอาหารในร้าน จำกัดเวลาเปิดบริการของศูนย์การค้า และห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันเกิน 20 คน

1 ก.ค. 2564 วันแรกที่ จ.ภูเก็ตเริ่มต้นรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศภายใต้โครงการนำร่อง "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าว่าจะนำนักท่องเที่ยวเข้ามา 100,000 คน และมีเม็ดเงินสะพัดจากการท่องเที่ยวประมาณ 9 พันล้านบาทในช่วง 3 เดือนแรกของโครงการคือเดือน ก.ค.-ก.ย.

เรื่องวุ่น ๆ ของวัคซีน
ประเทศไทยหมายมั่นปั้นมือที่จะใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนหลักในการฉีดให้ประชาชน แต่การระบาดระลอกใหม่ การผลิตในไทยที่จัดส่งไม่ตามกำหนดเวลา ส่งผลให้ไทยต้องรีบหาวัคซีนจากจีนมาช่วย จนเหมือนกลายเป็นวัคซีนหลักในขณะนี้ ขณะที่การจัดซื้อวัคซีนของชาติตะวันตกที่ได้รับความน่าเชื่อถือกว่า ก็กลับเข้ามาอย่างล่าช้า จนบุคลากรทางการแพทย์ต้องออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐดำเนินการเรื่องนี้เป็นการด่วน

7 พ.ย. 2563 ก่อนการระบาดในคลัสเตอร์สมุทรสาครราวเดือนเศษ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้าระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) บริษัทผลิตวัคซีนสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน โดยมี บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 โดยรัฐบาลคาดว่าคนไทยจะมีวัคซีนโควิด-19 ใช้ในปี 2564

ส่งผลให้ถัดมาไปนาน องค์การอาหารและยา (อย.) ก็ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบันวัคซีนโควิด-19 ของหลายบริษัทอย่างต่อเนื่อง ทั้ง 20 ม.ค. 2564 ขึ้นทะเบียนแอสตร้าเซนเนก้า 22 ก.พ. 2564 ขึ้นทะเบียนซิโนแวค และ 25 มี.ค. 2564 ขึ้นทะเบียนวัคซีนของ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน

4 ม.ค. 2564 สหราชอาณาจักรเริ่มฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรกให้ประชาชน ตามหลังสหรัฐอเมริกาที่เริ่มฉีดวัคซีนงไฟเซอร์/ไบออนเทค ให้ประชาชนเมื่อ
            14 ธ.ค. 2563

18 ม.ค. 2564 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า จัดเฟซบุ๊กไลฟ์วิจารณ์นโยบายการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ว่า "ล่าช้า" และตั้งคำถามถึงแนวทางจัดหาวัคซีนแบบ "แทงม้าตัวเดียว" จาก บ.แอสตร้าเซนเนก้า และแสดงความกังวลต่อการที่บริษัทเอกชนซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดวัคซีน

24 ก.พ. 2564 ไทยได้รับมอบวัคซีนวัคซีนของซิโนแวคที่ชื่อว่า "โคโรนาแวค" (CoronaVac) จำนวน 200,000 โดสแรก

"วัคซีนที่มาถึงประเทศไทยวันนี้เป็นวัคซีนชนิดแรกที่ประเทศไทยได้นำเข้าซึ่งทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในบรรดาประเทศอาเซียนที่ได้นำเข้าวัคซีนจีนโดยช่องทางพาณิชย์ และมีการฉีดกันทั่วไป" นายหยาง ซิน อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวระหว่างร่วมพิธีรับวัคซีนที่สนามบินสุวรรณภูมิ

อุปทูตจีนกล่าวว่าไทยเป็นประเทศแรกในกลุ่มอาเซียนที่ซื้อวัคซีนนี้จากจีน และการมาถึงของวัคซีนในวันนี้สะท้อนให้เห็นถึงมิตรภาพอันแนบแน่นของจีนและไทย อีกทั้งเป็นไปตามคำมั่นสัญญาของประธานาธิบดีจีนที่จะให้วัคซีนของจีนเป็นสินค้าสาธารณะทั่วโลก

โดยช่วงบ่ายวันเดียวกัน วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าล็อตแรกจำนวน 117,000 โดส ก็เดินทางมาถึงไทยเช่นกัน

28 ก.พ. 2564 กลายเป็นหมุดหมายแรก ที่ไทยเริ่มต้นการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยมีนายอนุทิน รมว.สธ. เป็นผู้ได้ร้บวัคซีนเป็นคนแรก โดยได้รับวัคซีนของ บ.ซิโนแวค ซึ่งมีข้อบ่งใช้ว่าจะฉีดให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี ส่วน พล.อ. ประยุทธ์ก็เข้ารับการฉีดวัคซีนของ บ.แอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรกของไทย ในวันที่ 16 มี.ค.

ในช่วงเดียวกันที่การระบาดระลอกเม.ย. ยังคงไม่สามารถควบคุมได้ 11 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศให้ "การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ" และวิงวอนให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าจะฉีดให้ได้เดือนละ 15 ล้านโดสตั้งแต่เดือน มิ.ย. เป็นต้นไป

13 พ.ค. 2564 อย. ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนของบริษัท โมเดอร์นา เพิ่มเป็นชนิดที่ 4 ต่อจากวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวคและจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน รวมถึง 28 พ.ค. วัคซีน "BBIBP-CorV" ของ บ. ซิโนฟาร์ม ประเทศจีน ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. เช่นกัน

สำหรับวัคซีนจากแดนมังกรทั้งซิโนฟาร์มและซิโนแวคนั้น เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายเหมือนกัน แต่วัคซีนของซิโนฟาร์มเป็นตัวหลักที่รัฐบาลจีนจัดสรรให้ประชากรส่วนใหญ่ภายในประเทศ อย่างไรก็ตามมีการจัดสรรวัคซีนของซิโนแวคบางส่วนเพื่อฉีดให้ชาวจีนไปแล้วราว 1 ใน 3 ของผู้รับวัคซีนในประเทศทั้งหมด

ข้อมูล ณ เดือน มิ.ย. 2564 มีการอนุมัติให้ฉีดวัคซีนของซิโนฟาร์มที่ผลิตจากกรุงปักกิ่ง (BBIBP-CorV) ได้ใน 53 ประเทศทั่วโลก ทั้งในอเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกา ด้านวัคซีนของซิโนแวคซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "โคโรนาแวค" (CoronaVac) นั้นมีการอนุมัติวัคซีนนี้ใน 29 ประเทศ

7 มิ.ย. 2564 เป็นวัน "ดีเดย์" วันเริ่มต้นฉีดวัคซีนโควิด-19 ปูพรมทั่วประเทศ โดยมีวัคซีนทั้งของซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า ในสามวันแรก (7, 8 และ 9 มิ.ย.) ฉีดวัคซีนได้วันละ 416,847 โดส 472,128 โดส และ 336,674 โดสต่อวันตามลำดับ

อย่างไรก็ตามแผนการเดินหน้าฉีดวัคซีน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อควบคุมการระบาดของระลอกนี้ รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ ก็เกิดความชะงักชั่วคราว หลังเกิดประเด็นการสื่อสารระหว่างหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการกระจายวัคซีน โดยเฉพาะประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนไปในบางส่วน

15 มิ.ย. 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) สธ. และ กทม. จัดแถลงข่าวร่วมเพื่อชี้แจงประเด็นการจัดสรรและการเลื่อนฉีดวัคซีนของประชาชาชนบางส่วน โดยปฏิเสธว่าไร้ข้อขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐ ในขณะที่ ศบค. ระบุว่า การส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากผู้ผลิตยังเป็นไปตามกรอบเวลา และแผนการฉีดวัคซีนยังเป็นไปตามแผน

23 มิ.ย. 2564 องค์การเภสัชกรรมแถลงว่าทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ในการจัดหาวัคซีนโมเดอร์นาเป็นวัคซีนทางเลือก วัคซีนจะทยอยนำเข้ามาในไตรมาสที่ 4/2564 ถึงมกราคม 2565 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่างสัญญาต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศไทยและต่างประเทศ และให้โรงพยาบาลต่างๆ แจ้งยอดความต้องการมาเพื่อให้องค์การฯจัดสรรตามจำนวนวัคซีนที่จะนำเข้ามา

24 มิ.ย.2564 อย. ขึ้นทะเบียนและอนุญาตให้นำเข้าวัคซีน "โคเมอร์เนตี" (Comirnaty) ของ บ. ไฟเซอร์ โดยมี บ. ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) เป็นผู้นำเข้า

1 กรกฎาคม 2021
https://www.bbc.com/thai/57674892