ผู้เขียน หัวข้อ: นครสวรรค์ - ไวรัสโคโรนาป่วนชุมแสง ต้องสั่งปิดโรงพยาบาลฯยาวถึง 10 กรกฎาคม  (อ่าน 275 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ยะลา - วิกฤตเตียงไม่พอ! ผอ.รพ.ธารโต บากหน้าขอเช่า “แพท่องเที่ยว” ในเขื่อนบางลาง ตกคืนละ 2,500 บาท ทำโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม หลังยังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงเกินหลักร้อยต่อวันอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ จ.ยะลา โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 135 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 1,461 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาล 916 ราย และรักษาหายแล้ว 535 ราย โดยสถานการณ์ในขณะนี้ถือว่าเข้าขั้นวิกฤต เนื่องจากเตียงที่สามารถรองรับผู้ป่วยติดเชื้อใกล้เต็มแล้ว ทั้งโรงพยาบาลหลัก และโรงพยาบาลสนาม

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ นพ.มัซลัน ตะเละ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธารโต จ.ยะลา ได้สำรวจพื้นที่เพื่อจัดทำโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วย ซึ่งในเบื้องต้นนั้นได้มีการเตรียมขอเช่าแพท่องเที่ยวของผู้ประกอบการท่องเที่ยวในเขื่อนบางลาง จ.ยะลา มาจัดทำเป็นโรงพยาบาลสนามชั่วคราวสำหรับกักตัวผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว เพื่อรอสังเกตอาการอีก 7 วัน

โดย นพ.มัซลัน ตะเละ เปิดเผยว่า เริ่มต้นจากสถานการณ์ 1-2 อาทิตย์ที่ผ่านมานี้ จ.ยะลา ค่อนข้างมีคนไข้สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้เป็น 1,000 รายแล้ว และปรากฏว่า 1-2 วันที่ผ่านมา จ.ยะลา มีคนไข้เพิ่มประมาณ 200 รายต่อวัน บางวันก็ 100 กว่าราย ทำให้โรงพยาบาลสนามของจังหวัดเต็มหมดแล้ว และยังมีคนไข้ของทางโรงพยาบาลที่ต้องดูแลอีก และไม่สามารถส่งต่อไปยะลาได้ เพราะมันเต็มหมดแล้ว เลยต้องหาโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับ ซึ่งเราเปิดแล้วที่โรงพยาบาล แต่ปรากฏว่ามันเต็มอีก ก็พยายามหาสถานที่ต่างๆ เมื่อก่อนเคยใช้โรงเรียน แต่ตอนนี้พอโรงเรียนเริ่มเปิดภาคเรียนต้องมีการเตรียมตัวของบุคลากรเข้ามาทำงานบ้าง ทำให้มีความกังวล

“ถ้าเราจะไปเปิดโรงพยาบาลสนาม คราวนี้คิดว่าจะไปหาที่รีสอร์ตบนฝั่ง ปรากฏว่าการเดินทางลำบาก และอะไรอีกหลายๆ อย่าง บนฝั่งสถานที่ต่างๆ ที่เหมาะสมค่อนข้างยาก โรงเรียนไม่ได้แล้ว ส่วนสถานที่ที่คิดว่ามีความเหมาะสมที่จะทำมันอยู่ตรงใจกลางเมืองเกินไป อยู่ใกล้ชุมชนเกินไป บนฝั่งเราไปไม่ได้แล้ว ก็เลยมองมาในน้ำดีกว่า เพราะว่าในน้ำพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในชุมชน อยู่ในน้ำ อยู่ในป่า และอีกอย่างหนึ่งมีแพท่องเที่ยวของชาวบ้านพร้อมอยู่แล้วที่จะรับคนประมาณ 40 คนในแต่ละลำ คิดว่าใช้ประมาณ 20 คนในแต่ละลำก็พร้อมอยู่แล้ว เราทำเพียงแค่ขนย้ายเบาะนอน พัดลม และสิ่งสำคัญที่เราต้องทำ คือเรื่องของบ่อบำบัดน้ำเสียเท่านั้นเอง ซึ่งมันเตรียมได้ 1-2 วัน คิดไว้ว่าเมื่อวานจะเตรียมการ และวันนี้เรามาจัดสถานที่ให้พร้อมที่จะนำคนไข้มาพักได้เลย เลยเลือกแพเป็นที่เหมาะสมที่สุด และบรรยากาศมันดี คิดว่าไม่อยากให้คนไข้อยู่ในโรงพยาบาลสนามที่เครียดๆ ก็เลยเลือกแพเป็นที่เหมาะสมที่สุด และบรรยากาศดี มาถึงที่นี่จะได้ผ่อนคลายสัก 1 อาทิตย์ก่อนที่จะกลับบ้าน” นพ.มัซลัน กล่าว

นพ.มัซลัน กล่าวอีกว่า ณ ตอนนี้คือหลักๆ แบ่งเป็นบนฝั่งกับบนน้ำ บนฝั่งจะเป็นชุดรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นทางปกครองมีทั้ง ตชด. และมีทั้ง อส.คุมดูแลทั้งหมด ส่วนในน้ำจะมีกำลัง อส.เข้าเวรยามดูแลป้องกันการหลบหนี และบนแพจะมีเจ้าหน้าที่ที่เป็นทีม ER มาอยู่ที่นี่ มีทั้งพยาบาลเวชกิจจะมาอยู่ที่นี่ และถ้ามีเหตุการณ์อะไรผิดปกติมีกู้ชีพข้างบน พร้อมที่จะนำส่งไปโรงพยาบาลแค่ 20 นาที และตำแหน่งที่มาจอดแพเป็นตำแหน่งที่ดี ไม่ได้อยู่ในแหล่งชุมชน มีไฟฟ้าเข้าถึง และทุกอย่างดูโอเค เป็นทางลงอะไรต่างๆ คิดว่าน่าจะเป็นจุดที่ดี และต้องมีการประเมินกันหลังจากนี้อีก 2 สัปดาห์ หากว่าที่นี่ดี เหมาะสม อาจจะทำเป็นจุด LQ ของอำเภอต่อไป

โดยจากการติดต่อประสานขอความช่วยเหลือจากชาวบ้านเจ้าของแพ เราขอเช่าแพ 1 คืน ประมาณ 12,000 บาท แต่ขอต่อเหลือ 2,500 บาท ทางผู้ประกอบการยินดีที่จะเข้ามาช่วย เรื่องเงินก็มาคุยทีหลัง รอบนี้คุยกันว่าจะเช่า แต่ถ้าจะเป็นในระยะยาวต่อไปคงต้องดูอีกที เพราะต้องใช้งบประมาณพอสมควรในการทำ เพราะยังไม่มีงบ ส่วนตอนนี้ช่วยๆ กันไปก่อน ให้มันผ่านวิกฤตไปก่อน ตอนนี้มีคนไข้อยู่ที่บ้านประมาณ 10 กว่าคน ไม่รู้จะเอาไปไหน เพราะฉะนั้นต้องเอาเข้ามาก่อน ข้าศึกมันประชิดกำแพง เราคือคนเฝ้ากำแพง ไม่มีเวลาคิดแล้ว มีอะไรเอาไปสู้ก่อน คือไปตายกันดาบหน้า ต้องตายหรือต้องติดคุกเป็นเชลยก็ต้องยอม ไม่อย่างนั้นต้องตายกันทั้งหมู่บ้าน ก็เลยเอาก่อนค่อยว่ากัน แพซึ่งเป็นการติดต่อประสานจากเพื่อนๆ จะเข้ามาช่วย ก็เลยมาช่วยกัน

ในส่วนของอาหารของผู้ป่วยมาจากโรงพยาบาล อาหารที่นี่เราจะทำเหมือนกับของโรงพยาบาล เตรียมจากโรงพยาบาล ซึ่งเดินทางมาจากที่นี่ใช้ประมาณ 20 นาทีสามารถที่จะเข้ามาทุกมื้อได้ ส่วนในเรื่องของขนมค่อยหางบประมาณสมทบเรื่องอาหารว่างอีกทางหนึ่ง หรือไปหาผู้บริจาคมาไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธารโต กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า สำหรับผู้ป่วยที่มาพักที่นี่ คือมาให้กักตัวอย่างเดียว เพราะมันค่อนข้างเซฟ อาจจะปล่อยให้ได้รีแลกซ์ที่นี่ จะลงไปเล่นน้ำหรือจะพายเรือ แต่ว่าเรามีคนดูแลไม่ให้ออกนอกสถานที่ และคนไข้ที่มาอยู่ที่นี่ คือคนไข้ที่หายดีแล้ว คือคนไข้ที่อยู่โรงพยาบาลสนามมาแล้ว 10-14 วัน ก่อนที่จะไป LQ ก็มาอยู่ที่นี่ก่อน เพราะ LQ ตอนนี้ใน อ.ธารโต เต็มแล้ว ไม่มีที่เลยเอามาไว้ที่นี่ก่อน จนกว่าคนที่อยู่ใน LQ เขาเริ่มออกถึงจะเอาคนบนแพไปอยู่กับ LQ ต่อ เป็นรอยต่อระหว่างโรงพยาบาลสนามกับ LQ อำเภอ เป็นรอยต่อระหว่างบริหารจัดการให้ LQ ว่าง และค่อยๆ ออกไป ถ้าหลังจากนี้คนไข้ประมาณ 137 คน หากเลย 2 อาทิตย์ไปคนไข้น้อยลงวันละ 6 คน หรือ 2-5 คนแบบนี้โอเค โรงพยาบาล LQ น่าจะเอาอยู่ น่าจะจบภารกิจที่นี่ แต่ถ้ามีคลัสเตอร์เยอะขึ้นอาจจะต้องเช่าแพต่อ ซึ่งแพมันมีค่าใช้จ่ายด้วยก็เลยดูเป็นแผนสำรองมากกว่า

27 มิ.ย. 2564 ผู้จัดการออนไลน์