ผู้เขียน หัวข้อ: โควิด-19 : ทำไมสายพันธุ์เดลตาจึงระบาดหนักในสหราชอาณาจักร  (อ่าน 311 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
เดิมทีอังกฤษมีแผนจะคลายล็อกดาวน์และเปิดประเทศวันที่ 21 มิ.ย. แต่การระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา ทำให้ต้องเลื่อนแผนการนี้ออกไปอีก 4 สัปดาห์

เชื้อโรคโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์ B.1.617.2 ที่ตรวจพบครั้งแรกในอินเดีย) กำลังทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในสหราชอาณาจักรกลับมาพุ่งสูงอีกครั้ง จนทำให้รัฐบาลอังกฤษไม่สามารถคลายล็อกดาวน์เปิดประเทศได้ตามแผนการที่ตั้งไว้ในวันที่ 21 มิ.ย. นี้

แต่การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาในสหราชอาณาจักรมีความรุนแรงกว่าในประเทศอื่น ๆ จริงหรือ ราเชล ชเรเออร์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีจะพาไปตรวจสอบเรื่องนี้

พบเชื้อสายพันธุ์เดลตาที่ไหนบ้าง
ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ (แล็บ) ทั่วโลกที่วิเคราะห์สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนาที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ได้แบ่งปันข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ไว้ในฐานข้อมูลระดับโลก และเมื่อตรวจสอบข้อมูลนี้ก็ดูเหมือนว่าสหราชอาณาจักรจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตามากกว่าประเทศอื่น ๆ ในโลก

ข้อมูลจนถึงวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา เผยให้เห็นว่าสหราชอาณาจักรมียอดผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาทั้งสิ้น 75,953 ราย เพิ่มจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่มีผู้ติดเชื้อที่ 42,323 ราย

ข้อมูลจากเว็บไซต์ gisaid.org ที่เฝ้าติดตามเชื้อโรคโควิดกลายพันธุ์พบว่า จนถึงสัปดาห์ที่เริ่มต้นด้วยวันที่ 14 มิ.ย. พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาในสหรัฐฯ 2,853 ราย ในเยอรมนี 747 ราย ในสเปน 277 ราย และในเดนมาร์ก 97 ราย

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ข้อมูลแท้จริงของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาทั้งหมดในโลก แต่เป็นข้อมูลที่ได้จากการตรวจพบ และสหราชอาณาจักรก็มีระบบตรวจหาเชื้อกลายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพมาก

ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า ในความเป็นจริงอาจมีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตามากกว่าในประเทศอื่นที่มีระบบการตรวจหาเชื้อกลายพันธุ์ประสิทธิภาพด้อยกว่า

ยกตัวอย่างเช่น ในสัปดาห์ที่เริ่มต้นด้วยวันที่ 3 พ.ค. อินเดียตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา 875 ราย และตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่เพียง 142 รายในช่วง 4 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น ทั้งที่ในสัปดาห์แรกของเดือน พ.ค. อินเดียจะมียอดผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่อยู่ที่ระหว่าง 5 แสนถึง 2 ล้านรายก็ตาม และเชื้อสายพันธุ์เดลตาก็เป็นเชื้อหลักที่พบ

อังกฤษได้เปิดให้คนอายุตั้งแต่ 18 ปีจองรับวัคซีนเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. เพื่อให้ประชากรได้รับวัคซีนโดสแรกให้ได้มากที่สุด หวังสกัดการระบาดระลอก 3

แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นจะไม่เป็นปัญหาสำหรับสหราชอาณาจักร เพราะประเทศอื่น ๆ ในภาคพื้นยุโรปต่างก็มีอัตราการติดเชื้อที่ลดลงไปในทิศทางเดียวกัน และประเทศที่ทำการวิเคราะห์สารพันธุกรรมของเชื้อโรคโควิดมากเช่นเดนมาร์ก ก็ไม่พบว่าจะมีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาพุ่งสูงเหมือนกับสหราชอาณาจักร

ที่อังกฤษแห่งเดียวมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาถึง 38,000 ราย ในรอบ 29 วันที่ผ่านมา

ขณะที่รัฐบาลสกอตแลนด์ ก็ระบุว่า เชื้อกลายพันธุ์ชนิดนี้กำลังเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดมากที่สุดขณะนี้

ด้านรัฐบาลไอร์แลนด์เหนือก็เตือนว่า เดลตา จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศ ส่วนรัฐบาลเวลส์ก็ระบุว่ามันกำลังทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิดพุ่งสูงขึ้นในช่วงที่เวลส์เริ่มจะเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 3

ทำไมสถานการณ์ในสหราชอาณาจักรจึงแย่กว่าประเทศอื่น
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าปัจจัยหลักที่ทำให้สหราชอาณาจักรมียอดผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาเพิ่มขึ้นมากในระยะเวลาอันสั้นนั้น มาจากการที่มีผู้ติดเชื้อเดินทางเข้าสู่ประเทศเป็นจำนวนมากนั่นเอง

ข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England หรือ PHE) เผยให้เห็นว่านักเดินทางได้นำเชื้อสายพันธุ์เดลตาเข้ามาในสหราชอาณาจักรอย่างน้อย 500 ครั้ง

ดร.เจฟฟรีย์ บาร์เรตต์ จากสถาบันแซงเกอร์ (Sanger Institute) ซึ่งวิเคราะห์สารพันธุกรรมของเชื้อโรคโควิดเพื่อหาว่าเชื้อมีการกลายพันธุ์ในส่วนใดบ้าง เชื่อว่าตัวเลขจริงน่าจะสูงกว่า 1,000 ครั้ง

การที่ผู้ติดเชื้อกลายพันธุ์ชนิดนี้มีความแตกต่างในเชิงชีวภาพ พฤติกรรม หรือสภาพความเป็นอยู่ ก็ทำให้ยากที่จะคาดเดาตัวเลขที่แท้จริงของการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ติดเชื้อคนหนึ่งอาจแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้ถึง 30 คน ในขณะที่ผู้ติดเชื้อบางคนอาจไม่แพร่เชื้อไปสู่ใครเลย

ดังนั้นความแตกต่างระหว่างผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาที่เดินทางเข้าสหราชอาณาจักร 5 คน และ 500 คนจึงไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เกิดการติดเชื้อ 100 ครั้งเสมอไป

นอกจากนี้ ช่วงที่เชื้อดังกล่าวเริ่มเข้ามาในสหราชอาณาจักรก็ตรงกับช่วงที่ประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคและอยู่ในช่วงที่สภาพอากาศหนาวเย็น ซึ่งทำให้ผู้คนอยู่ในอาคารมากขึ้น และยิ่งทำให้เกิดการแพร่เชื้อสู่กันได้ง่ายขึ้นด้วย บวกกับการที่เชื้อไวรัสมีชีวิตอยู่ในที่ร่มได้ยาวนานกว่าด้วย

ประเทศอื่นมีสิทธิ์เผชิญปัญหาเดียวกันไหม
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า บางประเทศเริ่มมีแนวโน้มจะเผชิญสถานการณ์เดียวกับสหราชอาณาจักรแล้ว แต่อาจไม่มีเทคโนโลยีการตรวจหาเชื้อที่ดีเท่า จึงทำให้เรายังไม่ได้เห็นข้อมูลเหล่านี้

ในสหรัฐฯ ซึ่งพบเชื้อสายพันธุ์เดลตาช้ากว่าในสหราชอาณาจักรเล็กน้อย อาจเป็นเพราะมีพลเมืองที่มีความเกี่ยวข้องกับคนจากอนุทวีปอินเดียน้อยกว่า ดังนั้นจึงอาจเริ่มเห็นยอดผู้ติดเชื้อชนิดนี้พุ่งสูงขึ้นในสหรัฐฯ ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้

ดร.มิวเก เซวิก ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดูรว์ ในสกอตแลนด์ ระบุว่า มีความเป็นไปได้มากที่เชื้อสายพันธุ์เดลตาจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศอื่น ๆ ด้วย เพราะเชื้อสามารถติดต่อและแพร่สู่กันได้ง่ายขึ้น

แม้ที่ผ่านมารัฐบาลสหราชอาณาจักรจะถูกวิจารณ์เรื่องความล้มเหลวในการสกัดไม่ให้เชื้อเข้าประเทศ จากความล่าช้าในการจัดให้อินเดียอยู่ในกลุ่มประเทศ "สีแดง" ซึ่งผู้เดินทางมาจากประเทศเหล่านี้ต้องเข้ากระบวนการกักโรคที่เข้มงวด

อย่างไรก็ตาม ดร. เซวิก เชื่อว่าเชื้อชนิดนี้จะแพร่เข้าสู่สหราชอาณาจักรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่ดี โดยยกตัวอย่างออสเตรเลียที่ดำเนินมาตรการควบคุมพรมแดนเพื่อสกัดโรคที่เข้มงวดกว่ามาก เช่น การห้ามผู้เดินทางจากอินเดียเข้าประเทศ แต่ก็ยังพบการระบาดของสายพันธุ์เดลตาอยู่ดี แม้จะเป็นการระบาดขนาดเล็กก็ตาม

ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อผู้นี้ชี้ว่า "เราไม่สามารถจะหยุดยั้งเชื้อกลายพันธุ์ให้เข้ามาในประเทศได้อย่างเด็ดขาด" แต่วิธีการดีที่สุดในการต่อสู้กับปัญหานี้คือการระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชนในโลกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

21 มิถุนายน 2021
https://www.bbc.com/thai/international-57544610