ผู้เขียน หัวข้อ: สหรัฐฯ พบเคสคนหนุ่ม “หัวใจอักเสบ” มากเกินคาด หลังฉีดวัคซีนโควิด mRNA  (อ่าน 339 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (ซีดีซี) เปิดเผยในวันพฤหัสบดี (10 มิ.ย.) มีจำนวนคนหนุ่มประสบอาการ "หัวใจอักเสบ" หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 เทคโนโลยี mRNA ของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค และโมเดอร์นา ครบ 2 โดส มากกว่าที่คาดหมายไว้ ตามข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังความปลอดภัยของวัคซีน

ซีดีซีและคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบด้านสุขภาพอื่นๆ อยู่ระหว่างการสืบสวนเคสหัวใจอักเสบ หลังกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลรายงานว่าพบความเป็นไปได้ที่อาการดังกล่าวในคนหนุ่มซึ่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์จะมีความเชื่อมโยงกับวัคซีน

หน่วยงานแห่งนี้บอกว่าพวกเขายังอยู่ระหว่างการประเมินความเสี่ยงจากอาการดังกล่าว และยังไม่ได้สรุปว่ามันเป็นความสัมพันธ์​เชิงเหตุผลระหว่างวัคซีนกับเคสอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) หรือโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis)

แม้คนไข้บางส่วนจำเป็นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ส่วนใหญ่ฟื้นตัวจากอาการดังกล่าวอย่างสมบูรณ์แล้ว ซีดีซีระบุ

ข้อมูลของซีดีซีพบว่าในบรรดาเคสอาการหัวใจอักเสบหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 โดส 2 ของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค หรือโมเดอร์นา ที่รายงานมายังระบบรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากวัคซีน (Vaccine Adverse Event Reporting System: VAERS) มีมากกว่าครึ่งที่เป็นบุคคลอายุระหว่าง 12 ถึง 24 ปี ขณะที่คนกลุ่มนี้คิดเป็นไม่ถึง 9% ของผู้ที่เข้ารับวัคซีนทั้งหมด

"เราพบความไม่สมดุลอย่างชัดเจน" นายแพทย์ ทอม ชิมาบุคุโร รองผู้อำนวยการสำนักงานความปลอดภัยจากการฉีดวัคซีนของซีดีซีระบุ พร้อมเผยว่าเคสส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายใน 1 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีน

ในข้อมูลของ VAERS ระบุว่าสังเกตพบเคสหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 โดส 2 ในกลุ่มคนอายุระหว่าง 16 ถึง 24 ปี จำนวน 283 เคส จากที่คาดหมายว่าน่าจะพบราวๆ 10 ถึง 102 เคส และส่วนใหญ่แล้วราว 80% เป็นผู้ชาย

ชิมาบุคุโรบอกด้วยว่า วัคซีน เซฟตี ดาตาลิงค์ (VSD) อีกหนึ่งระบบเฝ้าระวังความปลอดภัยของวัคซีน ได้นำเคสอาการหัวใจอักเสบหลังจากฉีดวัคซีนโดสแรกกับโดสที่ 2 มาปรียบเทียบกัน และพบอาการหัวใจอักเสบในคนอายุระหว่าง 16-39 ปี มีจำนวนเพิ่มขึ้นหลังฉีดวัคซีนโดสที่ 2

ไฟเซอร์ระบุว่า ทางบริษัทสนับสนุนคำประเมินเกี่ยวกับเคสหัวใจอักเสบของทางซีดีซี พร้อมเน้นย้ำว่า "เคสที่รายงานนั้นเป็นแค่เศษส่วนเล็กๆ ของจำนวนประชาชนที่ฉีดวัคซีน"

จนถึงตอนนี้มีประชาชนราว 130 ล้านคนในสหรัฐฯ ที่ได้รับวัคซีนเทคโนโลยี mRNA ครบ 2 โดส ของทั้งไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค หรือโมเดอร์นา

"มันสำคัญที่ต้องตระหนักว่ามันยังอยู่ระหว่างการประเมินรายงานเคสต่างๆ อย่างระมัดระวัง และมันไม่ใช่การสรุปว่าวัคซีนโควิด-19 mRNA เป็นต้นตอของอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ" ถ้อยแถลงของไฟเซอร์ระบุ

ส่วนโมเดอร์นาบอกว่ายังไม่สรุปความสัมพันธ์​เชิงเหตุผลระหว่างอาการดังกล่าวกับวัคซีนของพวกเขา และระบุว่าทางบริษัทกำลังทำงานอย่างกระตือรือร้นกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและคณะควบคุมกฎระเบียบเพื่อประเมินประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติม

ซีดีซีระบุว่าจะเปิดประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาที่กำหนดหลักปฏิบัติภูมิคุ้มกัน​โรค (Advisory Committee on Immunization Practices) ในสัปดาห์หน้า เพื่อประเมินหลักฐานต่างๆ เพิ่มเติม และประเมินความเสี่ยงของอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 เทคโนโลยี mRNA

(ที่มา : รอยเตอร์ส)

11 มิ.ย. 2564  ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
สำนักงานอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐฯในวันพุธ (23 มิ.ย.) มีแผนดำเนินการอย่างรวดเร็วในการเพิ่มคำเตือนเกี่ยวกับเคสกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่เกิดขึ้นน้อยมากในหมู่คนหนุ่มสาวและเยาวชน ในเอกสารแสดงข้อเท็จจริงของวัคซีนไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค และ โมเดอร์นา หลังพบคนหนุ่มสาวมากขึ้นเรื่อยๆ ที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ

สำนักงานข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (ซีดีซี) ระบุพบเคสกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบราว 1,200 ราย ในหมู่ประชาชนที่ฉัดวัคซีนโควิด-19 mRNA และตัวเลขดังกล่าวถูกรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาที่กำหนดหลักปฏิบัติภูมิคุ้มกันโรค (​Advisory Committee on Immunization Practices) ของซีดีซี ระหว่างการประชุมในวันพุธ (23 มิ.ย.)

หลังจากตัวเลขนี้ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชน เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสาธารณสุขของสหรัฐฯ คณะผู้ควบคุมกฎระเบียบทั้งหลายและคณะแพทย์ ต่างออกมาเน้นย้ำว่าความเป็นไปได้ของความเสี่ยงจากวัคซีนที่พัฒนาโดยไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค และโมเดอร์นา อยู่ในระดับต่ำมากๆ และเป็นตัวไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เองที่เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชนมากมายหลายเท่า

คณะกรรมการที่ปรึกษาที่กำหนดหลักปฏิบัติภูมิคุ้มกันโรคของซีดีซี ซึ่งประชุมหารือกันเกี่ยวกับเคสอาการหัวใจหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 พบว่า อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในคนหนุ่มสาวและเยาวชน มีความเป็นไปได้ที่เชื่อมโยงกับวัคซีน แต่เน้นย้ำว่าผลประโยชน์ของวัคซีนมีมากกว่าความเสี่ยงอย่างชัดเจน

คณะผู้ควบคุมกฎระเบียบในหลายประเทศกำลังอยู่ระหว่างสืบสวนว่าวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค และโมเดอร์นา ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ mRNA ก่อความเสี่ยงหรือไม่ และถ้ามี มันจะก่อความเสี่ยงร้ายแรงแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม ทางซีดีซีระบุว่า บรรดาคนไข้ที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีน จะฟื้นตัวจากอาการต่างๆและกลับมาแข็งแรงดี

กระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐฯ พร้อมด้วย คณะแพทย์สหรัฐฯกลุ่มต่างๆ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ออกถ้อยแถลงร่วมเน้นย้ำว่าวัคซีนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ และผลข้างเคียงเกี่ยวกับหัวใจนั้นเกิดขึ้นน้อยมากๆ “เราสนับสนุนให้ทุกคนอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่มีสิทธิฉีดวัคซีนภายใต้ประกาศอนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉิน เข้ารับวัคซีน”

ทางซีดีซีได้ออกประกาศเตือนแพทย์และโรงพยาบาลต่างๆ ให้เฝ้าระวังอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบไปก่อนหน้านี้ และคำเตือนล่าสุดของสำนักงานอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐฯจะช่วยเพิ่มความตระหนักรู้ยิ่งขึ้น

คำเตือนเกี่ยวกับเคสกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมีขึ้นท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับอัตราการฉีดวัคซีนที่ชะลอตัวในสหรัฐฯ โดยเวลานี้จำนวนอเมริกันชนเข้ารับวัคซีนโควิด-19 โดสแรก ลดลงมาจากระดับสูงสุดในช่วงกลางเดือนเมษายน ถึงราวๆ 85% และดูเหมือนจะพลาดเป้าของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่ตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีนประชาชนวัยผู้ใหญ่อย่างน้อย 70% ก่อนวันชาติวันที่ 4 กรกฎาคม

“บนพื้นฐานข้อมูลที่มี จะมีคำเตือนในเอกสารแสดงข้อเท็จจริงสำหรับทั้งผู้ให้บริการด้านดูแลสุขภาพ ผู้รับวัคซีนและผู้ดูแลผู้ป่วย” โดแรน ฟิงค์ รองผู้อำนวยการแผนกวัคซีนของเอฟดีเอ กล่าวระหว่างการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษา พร้อมระบุว่า ทางผู้เชี่ยวชาญของเอฟดีเอจะดำเนินการอย่างรวดเร็วในการเพิ่มเติมคำเตือน หลังการประชุมสิ้นสุดลง

เคสกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นสูงอย่างผิดสังเกตหลังจากเข้ารับวัคซีนโดสที่ 2 และในเพศชาย โดยซีดีซีพบว่ามีผู้ป่วยเคสกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอาการหนักต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ถึง 309 ราย ที่เป็นบุคคลอายุต่ำกว่า 30 ปี แต่ในนั้น 295 รายได้รับอนุญาตให้กลับบ้านแล้ว

นายแพทย์ทอม ชิมาบูคูโร รองผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยการสร้างภูมิคุ้มกันแห่งซีดีซี ระบุว่า ข้อมูลจากหนึ่งในระบบเฝ้าระวังความปลอดภัยของทางสำนักงาน หรือ Vaccine Safety Datalink (VSD) บ่งชี้ว่า ในกลุ่มอายุ 12-39 ปี พบผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในอัตรา 12.6 เคสต่อ 1 ล้านคน ในช่วง 3 สัปดาห์หลังจากฉีดวัคซีนโดสที่ 2

“เรากำลังสังเกตเห็นในกลุ่มคนอายุน้อย ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวอายุ 20 ปีต้นๆ และพบในหมู่ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง” ชิมาบูคูโรกล่าว “ผลกระทบลักษณะนี้ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยมีในกลุ่มคนสูงวัย บุคคลอายุ 50 ปีขึ้นไป”

ซีดีซีดำเนินการสืบสวนมานานหลายเดือนเกี่ยวกับเคสกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่ส่วนใหญ่พบในคนหนุ่ม ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลเปิดเผยเมื่อช่วงกลางเดือนว่า พวกเขาพบความเป็นไปได้ที่เคสอาการดังกล่าวจะมีความเชื่อมโยงกับวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์

อย่างไรก็ตาม ทางซีดีซีระบุว่า พวกเขายังคงอยู่ระหว่างประเมินความเสี่ยงจากอาการดังกล่าว และไม่ยืนยันอย่างเจาะจงเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างวัคซีนกับเคสอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กระนั้นพวกเขายอมรับว่าเคสคนหนุ่มอายุระหว่าง 12-24 ปี ที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลังฉีดวัคซีนโดสที่ 2 นั้น มีจำนวนมากกว่าที่คาดหมายไว้

ไฟเซอร์ ซึ่งวัคซีนของพวกเขาได้รับอนุมัติใช้กับประชาชนชาวอเมริกันอายุน้อยสุด 12 ขวบ เคยบอกว่าไม่พบอัตราการเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบสูงผิดปกติ ในหมู่ประชาชนทั่วไป ส่วนโมเดอร์นาระบุทราบข่าวเกี่ยวกับเคสกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีน mRNA และบอกว่า พวกเขากำลังทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้ควบคุมกฎระเบียบเพื่อประเมินประเด็นปัญหาดังกล่าว

อนึ่ง จนถึงตอนนี้มีประชาชนชาวอเมริกันที่ฉีดวัคซีน mRNA 1 ใน 2 ยี่ห้อ ครบ 2 เข็มแล้ว จำนวนมากกว่า 138 ล้านคน จากข้อมูลของซีดีซี

(ที่มา: รอยเตอร์/บลูมเบิร์ก)

24 มิ.ย. 2564 ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
อเมริกาจัดประชุมหน่วยงานสุขภาพเพื่อตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับวัยรุ่นและผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาวกว่า 300 คนที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ อย่างไรก็ดี ที่เยอรมนี นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล เลือกฉีดโมเดอร์นาซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอเป็นวัคซีนเข็มที่สอง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า การใช้วัคซีนเข็ม 1 และเข็ม 2 ต่างยี่ห้อกันอาจเพิ่มประสิทธิภาพและระยะเวลาในการสร้างภูมิต้านทานต่อสู้โควิด

การประชุมที่ศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (ซีดีซี) กำหนดจัดขึ้นในวันพุธ (23 มิ.ย.) จะเปิดรับฟังการวิเคราะห์ความเสี่ยงและประโยชน์ของวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ โดยที่ในปัจจุบัน วัคซีนใช้เทคโนโลยีชนิดนี้ซึ่งได้รับอนุมัติให้ใช้ฉุกเฉินได้ทั้งในสหรัฐฯและโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) นั้น มี 2 แบรนด์ คือที่ผลิตโดยไฟเซอร์/เอ็นไบโอเทค แลที่ผลิตโดยโมเดอร์นา แต่พวกนักวิจัยกำลังสำรวจกันว่า การฉีดวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเออาจทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ รวมถึงเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบหรือไม่

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเป็นโรคตามฤดูกาลซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนมากกว่าฤดูอื่นๆ และอาจเชื่อมโยงกับไวรัสเอนเทอโร คาดว่า แต่ละปีมีเด็กป่วยโรคนี้ 1 คนต่อ 100,000 คน

ลอร์รี รูบิน ผู้อำนวยการแผนกโรคติดเชื้อในเด็กของศูนย์การแพทย์เด็กโคเฮน นิวยอร์ก ระบุว่า แม้พบความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนเอ็นอาร์เอ็นเอกับโรคนี้ แต่ก็ควรพิจารณาเปรียบเทียบกับความเสี่ยงที่เด็กจะติดโควิดประกอบด้วย

ทั้งนี้อิสราเอลคือประเทศแรกที่ระบุถึงความเชื่อมโยงนี้

ขณะเดียวกัน วัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอแบรนด์เดียวที่อเมริกาอนุมัติให้ฉีดกับวัยรุ่นอายุ 12 ปีขึ้นไป

สัปดาห์ที่ผ่านมา โรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการซีดีซี กล่าวว่า กรณีเหล่านี้ถือว่าเกิดขึ้นน้อยมาก โดยพบผู้มีอาการเหล่านี้จากวัยรุ่นและผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาวกว่า 20 ล้านคนที่ได้รับวัคซีน อีกทั้งส่วนใหญ่รักษาได้ด้วยการพักผ่อนและการดูแลตามอาการ เธอสำทับว่า เคสที่ได้รับการยืนยันนั้น มาจากการตรวจสอบภายหลังรายงานเบื้องต้นสำหรับระบบตรวจสอบความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19

ทว่าแม้ถือเป็นสัดส่วนน้อยมาก แต่ยังคงสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่จะพบอาการเหล่านี้ในกลุ่มอายุนี้

การประชุมก่อนหน้านี้ที่จัดโดยสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) เมื่อวันที่ 10 ที่ผ่านมา มีการระบุว่า เคสที่พบอาการเกี่ยวกับหัวใจส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่มและมักเกิดขึ้นภายในหนึ่งสัปดาห์หลังฉีดวัคซีนเข็มที่สอง

สำหรับการประชุมคราวนี้ของซีดีซีจะเจาะลึกข้อมูลล่าสุดที่มีการตรวจสอบอย่างอิสระแทนการรายงานอาการด้วยตัวเองของผู้ป่วย

อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อวันอังคาร (22) โฆษกรัฐบาลเยอรมนีเผยว่า นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล วัย 66 ปี เลือกฉีดโมเดอร์นา ซึ่งเป็นวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ เป็นวัคซีนเข็มที่สอง หลังจากเธอได้รับวัคซีนเข็มแรกเป็นของแอสตราเซเนกาไปแล้วในเดือนเมษายน

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า การฉีดวัคซีนสองเข็มต่างยี่ห้อกันอาจเพิ่มประสิทธิภาพและระยะเวลาในการสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานไวรัสโคโรนาและตัวกลายพันธุ์ใหม่ๆ ถึงแม้ยอมรับว่า ยังเร็วเกินไปที่จะมั่นใจได้ก็ตาม โดยขณะนี้มีหลายสถาบันกำลังศึกษาวิจัยเรื่องนี้กันอยู่ ขณะที่บางประเทศเล็งหรือใช้วิธีการนี้ไปบ้างแล้ว เพื่อแก้ปัญหาวัคซีนขาดแคลนและเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีน

ตัวอย่างเช่น การศึกษาชิ้นหนึ่งในสหราชอาณาจักรพบว่า ผู้ใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่จะพบอาการข้างเคียงเพียงเล็กน้อยถึงปานกลางหลังฉีดวัคซีนเข็ม 1 และเข็ม 2 เป็นแอสตราเซเนกาและไฟเซอร์

ทำเนียบขาวยอมรับ “พลาดเป้า” ฉีดวัคซีนมะกันชน70%ให้ได้ก่อนวันชาติ

ขณะเดียวกัน เจฟฟรีย์ ไซเอนต์ส ผู้ประสานงานทีมรับมือโควิด-19 ของทำเนียบขาว ยอมรับเมื่อวันอังคารว่า เป้าหมายฉีดวัคซีนให้ประชาชนวัยผู้ใหญ่ 70% อย่างน้อย 1 เข็มก่อนวันชาติอเมริกันในวันที่ 4 กรกฎาคม อาจล่าช้าออกไปราว 2-3 สัปดาห์ โดยขณะนี้มีประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์, โมเดอร์นา หรือจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันแล้วอย่างน้อย 1 เข็มราว 65.4% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

กระนั้น เขาเพิ่มเติมว่า คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประสบความสำเร็จเกินความคาดหวังระดับสูงสุดในการทำให้อเมริกากลับสู่ภาวะปกติก่อนเกิดโรคระบาด ขณะที่อัตราการติดเชื้อลดลงอย่างชัดเจน และการรวมกลุ่มทำกิจกรรมขนาดใหญ่ในหมู่คนที่ฉีดวัคซีนแล้วถือว่า มีความปลอดภัย

นอกจากนั้น เดือนที่ผ่านมา ซีดีซียังยกเลิกคำแนะนำให้สวมหน้ากากสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ทำให้อเมริกาเป็นชาติแรกๆ ที่ออกคำแนะนำดังกล่าว

(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)

23 มิ.ย. 2564  ผู้จัดการออนไลน์