ผู้เขียน หัวข้อ: "หมอนิธิพัฒน์"จวกยับ นายกฯ ออกนโยบายเปิดประเทศ ไม่สนใจภาคการแพทย์จริง  (อ่าน 289 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
“รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล” คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลโพสต์ตำหนิมาตรการเปิดประเทศ พร้อมถามหาหลักธรรมมาภิบาลในการบริหาร ที่ออกนโยบายไม่สนใจฟังข้อมูลจากภาคการแพทย์จริงที่ทำงานอย่างหนัก เพราะการเปิดประเทศอาจทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการระบาดอีกครั้ง
จากกรณี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกแถลงการณ์เตรียมเปิดประเทศ 120 วัน เตรียมรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลาง ที่ได้รับการฉีดวัคซีน และต้องมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน โดยไม่กักตัว ซึ่งมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เนื่องจาก สถานการณ์ปัจจุบันมีการระบาด กระจายไปทั่วยังควบคุมไม่ได้ และวัคซีนที่มีอยู่ จำกัดทั้งปริมาณ และชนิด มีการฉีดได้น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการระบาดได้อีกครั้ง

ต่อมา เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. เฟซบุ๊ก "นิธิพัฒน์ เจียรกุล" หรือ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ตำหนิมาตรการเปิดประเทศ พร้อมถามหาหลักธรรมมาภิบาลในการบริหาร ที่ออกนโยบายไม่สนใจฟังข้อมูลจากภาคการแพทย์จริงที่ทำงานอย่างหนัก

โดยผู้โพสต์ระบุว่า "บ้านนี้เมืองนี้ มีตัวอย่างธรรมาภิบาล (good governance) ให้ลูกหลานดูเป็นตัวอย่างกันบ้างไหม ไล่มาจากระดับหัวเรือใหญ่ที่ประกาศกระชากใจภาคการแพทย์ด้วยการเตรียมการเปิดประเทศ ยังสงสัยว่าอาจจะเป็น 120 วันอันตรายได้ ถ้าไม่มีแผนเคลียร์ปัญหาโควิด-19 ที่ยังคั่งค้าง (back log) ขณะนี้ให้ชัดเจน

ระดับรองมาหน่อยเป็นแผนกระจายวัคซีนเดือนหน้า มีจังหวัดชายแดนบางจังหวัดที่ไม่มีช่องทางผ่านแดนเป็นทางการ แต่อยู่ในข่ายได้รับวัคซีนในระดับ 2 (อาจด้วยเหตุผลเมืองกีฬา ซึ่งคงมีอีกหลายเมืองไม่น้อยหน้ากัน) รองมาอีกนิดก็ขอแบ่งวัคซีนดื้อๆ จากลูกน้องในหัวเมืองเพื่อเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ แต่ไปไม่รอดต้องรีบกลับลำ และหน่วยงานท้ายสุดที่กระดี๊กระด๊า ชกลมรอมาหลายรอบ

ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคในเมืองหลวงไข่แดงประเทศ ที่ครองแชมป์ต่อเนื่องยาวนานในระลอก 3 ของผู้ติดเชื้อสูงสุด รวมไปถึงยอดผู้ป่วยอาการรุนแรง ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ และยอดผู้เสียชีวิต ซึ่งถึงเวลาที่โพสต์นี้ยังไม่มีแววจะลดลงได้ โดยไม่มีมาตรการประกอบการผ่อนคลายที่ชัดเจนว่าจะควบคุมไม่ให้มีการละเมิดอย่างไร

ช่วง 3-4 วันนี้ใครอยู่ในแวดวงการบริหารจัดการเตียงระดับ 3 ในเขตกทม. สำหรับรับและส่งต่อผู้ป่วยโควิดอาการรุนแรงและอาการวิกฤตระหว่างโรงพยาบาล ต้องกุมขมับเพราะสถานการณ์เตียงเริ่มคับขัน จนกลับไปเหมือนเมื่อปลายเดือนที่แล้วที่หลายคนอยากกลั้นใจตาย แถมผู้ป่วยหนักระลอกใหม่นี้มีสัดส่วนที่สูงซึ่งเป็นผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง และมีหลายรายที่สืบสาวหาต้นตอการรับเชื้อไม่ได้ชัดเจน ซึ่งหมายถึงเชื้อได้ระบาดซึมลึกเข้าไปในชุมชนทั่วไปแล้ว ไม่ได้อยู่แต่ในกลุ่มก้อนทั้งใหม่และเก่าที่โผล่ขึ้นมามากมายเป็นดอกเห็ดจนจดจำกันไม่หวาดไม่ไหว

ก่อนจะคิดก่อนจะทำอะไร เคยถามและรับฟังอย่างใส่ใจ จากภาคการแพทย์ส่วนที่เขาทำงานกันอยู่อย่างหนักหน่วงบ้างไหม จะโทษส่วนน้อยของภาคการแพทย์ที่ชงข้อมูลซึ่งขัดความรู้สึกส่วนใหญ่ขึ้นมาให้ก็คงใช่ที่ เพราะคำพูดที่ออกสู่สาธารณะแล้ว ถือเป็นสัญญาประชาคมแบบหนึ่งที่ผู้พูดต้องเป็นผู้รับผิดชอบแต่ฝ่ายเดียว แต่ดินแดนสารขัณฑ์แห่งนี้มีตัวอย่างให้เห็นกันมามากมายแล้วในอดีตว่า คำพูดไม่เคยเป็นนายคน (ที่ไม่มีธรรมาภิบาล) เหมือนดังคนโบราณสอนสั่ง"

22 มิ.ย. 2564  ผู้จัดการออนไลน์