ผู้เขียน หัวข้อ: คดียึดทรัพย์ยุคโควิดพุ่งเฉียด 4 แสนล้าน เร่งไกล่เกลี่ยหนี้-ขายทอดตลาด  (อ่าน 306 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
อธิบดีกรมบังคับคดีเปิดสถิติ “อายัด-ยึดทรัพย์” ช่วงโควิด-19 เผยปีงบประมาณ 2563 คดีพุ่ง 2.27 แสนคดี ทุนทรัพย์ 3.72 แสนล้านบาท ชี้โควิดระบาดกระทบเศรษฐกิจส่งผลแนวโน้มลูกหนี้ตามคำสั่งศาลเพิ่มขึ้น ทั้งหนี้บัตรเครดิต-เช่าซื้อรถยนต์ เดินหน้าจัด “ไกล่เกลี่ยหนี้” เร่งระบายทรัพย์-ขายทอดตลาด

สถิติคดียึดทรัพย์ช่วงโควิด-19
นางอรัญญา ทองน้ำตะโก อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 62-ก.ย. 63) พบว่าสถิติสำนวนคดีแพ่ง (ยึดทรัพย์สิน-อายัดทรัพย์สิน-ขับไล่รื้อถอน) ที่เข้าสู่กระบวนการบังคับคดีจำนวน 226,862 คดี (ทุนทรัพย์ 372,366.4 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 ที่มีคดีเกิดขึ้น 222,657 คดี (ทุนทรัพย์ 491,050 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ถือเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นปกติ

ขณะที่ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค. 63-เม.ย. 64) มีคดีแพ่งเข้าสู่การบังคับคดีจำนวน 138,997 คดี (ทุนทรัพย์ 138,518.9 ล้านบาท) ทั้งนี้ คดีส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น 80-90% เป็นหนี้ครัวเรือน คือหนี้บัตรเครดิต เช่าซื้อรถ รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคล

ทั้งนี้ ผลจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ทั้งภาคธุรกิจและประชาชนได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้ จนทำให้เกิดปัญหาในการชำระหนี้มากขึ้น แต่คดีที่เข้ามาสู่การบังคับคดีนั้นส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นมาก่อนการระบาดของโควิด-19

คดีล้มละลายลดลง
นางอรัญญากล่าวว่า สำหรับสถิติคดีล้มละลายในปีงบประมาณ 2563 มีจำนวน 4,660 คดี จากปีงบประมาณ 2562 มีจำนวน 5,542 คดี ทั้งนี้ จะเห็นว่าการบังคับคดีล้มละลายมีแนวโน้มลดลง ส่วนหนึ่งประเมินว่าเป็นเพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กระบวนการดำเนินการต่าง ๆ ชะลอออกไป

ในส่วนแนวโน้มสถิติการขายทอดตลาดปรับลดลง เนื่องจากกรมบังคับคดีมีการนำกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ ทำให้ลูกหนี้สามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ได้แม้อยู่ในขั้นการบังคับคดี ซึ่งหากเจรจาตกลงกันได้ก็จะมีการถอนและงดการบังคับคดีออกไป ประกอบกับในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดทำให้กรมไม่สามารถเปิดมหกรรมขายทอดตลาดได้

“ปีงบประมาณ 2563 กรมสามารถระบายทรัพย์ได้มากขึ้น แต่เป็นการขายทอดตลาดเพียง 64,884 ล้านบาท ขณะที่เป็นการถอนบังคับคดีหลังไกล่เกลี่ยสำเร็จอีก 77,214 ล้านบาท และในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 ก็มีการขายทอดตลาด 3.9 หมื่นล้านบาท และเป็นการถอนคดี 5.1 หมื่นล้านบาท” อธิบดีกรมบังคับคดีกล่าว

เคลียร์หนี้เช่าซื้อเมืองท่องเที่ยว
นางอรัญญากล่าวว่า ผลจากการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจท่องเที่ยว ทำให้ผู้ประกอบการและประชาชนในหัวเมืองท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่เพิ่งพาเศรษฐกิจท่องเที่ยวเป็นหลักประสบปัญหาอย่างหนักไม่มีความสามารถการชำระหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มเช่าซื้อซึ่งปล่อยให้มีการยึดรถมากขึ้น อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมามีบริษัทเช่าซื้อรถยนต์หลายรายประสานมาที่กรมบังคับคดีเพื่อขอให้ดำเนินการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยกับลูกหนี้ โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตที่มีทั้งกลุ่มรถยนต์ส่วนตัว รวมถึงรถให้บริการนักท่องเที่ยวซึ่งลูกหนี้ผ่อนไม่ไหว

“แม้ว่าลูกหนี้กลุ่มนี้จะมีคำสั่งศาลแล้ว แต่ในทางปฏิบัติบริษัทลีสซิ่งไม่ได้ต้องการยึดรถ แต่อยากให้ลูกหนี้เข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้และผ่อนชำระต่อมากกว่า จึงให้ทางกรมช่วยนัดลูกหนี้เจรจาไกล่เกลี่ย โดยที่สถาบันการเงินพร้อมช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ขอเพียงให้ลูกหนี้เข้ามาเจรจา ดังนั้น ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ทางกรมจึงได้มีการทำมหกรรมไกล่เกลี่ยในจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว”

อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีความห่วงใยต่อสถานการณ์โควิดระบาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ทำให้มีลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่อยู่ระหว่างก่อนและหลังการบังคับคดี จนเกิดหนี้สินครัวเรือน หนี้รายย่อย หนี้บัตรเครดิต และหนี้ธุรกิจ ตลอดจนลูกหนี้ไม่มีรายได้มาชำระหนี้ ด้วยเหตุนี้กรมบังคับคดีจึงได้จัดโครงการ “ไกล่เกลี่ยทั่วไทยร่วมใจช่วยเหลือลูกหนี้” ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งมีลูกหนี้ให้ความสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก

ล่าสุดกรมบังคับคดียังได้จัดโครงการบังคับคดีร่วมใจไกล่เกลี่ยช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ร่วมกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่สำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ

17 มิถุนายน 2564
https://www.prachachat.net/finance/news-691461