ผู้เขียน หัวข้อ: รพ.เสียใจ'ด.ญ.ขาขาด'เสียเลือดดับ ยันต้องคุมเข้มโควิด  (อ่าน 345 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
พ่อคาใจทำไมหมอไม่ผ่าตัดลูกสาวประสบอุบัติเหตุขาขาด หรือชีวิตคนสำคัญน้อยกว่าผลตรวจโควิด สุดท้ายลูกดับอนาถคาห้องฉุกเฉิน ภายหลังออกรายการ "โหนกระแส" รองผอ.ฝ่ายการแพทย์ รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี ชี้แจง ยอมรับรพ.เข้มโควิด-19 จริงจัง แต่ก็ไม่ได้ทอดทิ้งคนไข้ ดูแลให้ความช่วยเหลือทุกทางแล้ว

จากกรณี นายเอ็ม คนขับรถบรรทุกวูบหลับจนกระทั่งรถประสบอุบัติเหตุพุ่งชนเสาไฟตกถนน ส่งผลให้บุตรสาวคือ ด.ญ.เฌอเอม วัย 11 ขวบได้รับบาดเจ็บสาหัส ขาขวาขาด แต่ภายหลังกู้ภัยเร่งนำตัวส่ง รพ.ในจังหวัดเพชรบุรี ปรากฏว่า ทางรพ.รักษาอาการเบื้องต้นและแจ้งว่าต้องรอผลตรวจ "โควิด-19" ก่อนถึงจะรักษาอาการได้ เหตุเกิดคืนวันที่ 4 มิ.ย. กระทั่งครอบครัวของหนูน้อยรอการรักษาจนเลยเที่ยงวันที่ 5 มิ.ย. ก็ยังไม่มีการผ่าตัดแต่อย่างใด สุดท้ายอาการของ ด.ญ.วัย 11 ขวบ ทรุดหนักและเสียชีวิตลง ทำให้ทางครอบครัวเสียใจเป็นอย่างมากและรู้สึกคาใจว่าทำไม รพ.ถึงต้องรอผลตรวจโควิดก่อน ทำไมถึงไม่สนใจว่าคนไข้ที่เป็นเด็กอาการโคม่าขนาดไหน 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ในรายการโหนกระแส โดยพิธีกรชื่อดัง  "หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย" ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ทางช่อง 3 ได้เชิญ นายเอ็ม พ่อเด็กที่เสียชีวิต พร้อมด้วย คุณทราย ทีมงานกู้ภัย และ นพ.สุระ เจตน์วาที แพทย์เวชศาสตร์การบิน และแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน มาร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดย นายเอ็มเล่าให้ฟังว่า ตนกำลังขับรถไประนอง แต่เกิดประสบอุบัติเหตุที่หนองหญ้าป้องประมาณเที่ยงคืน ทำให้บุตรสาวคือ น้องงเฌอเอม บาดเจ็บสาหัสขาขวาขาด เท้าซ้ายฉีกขาดนิ้วไม่มีเหลือ แต่บุตรสาวมีความอดทนมากและมีสติตลอดเวลา ไม่ร้องไห้ นิ่งเฉยจนกู้ภัยพาไปส่งรพ. 

ด้าน น.ส.ทราย เปิดเผยว่า หลังจากพาไปรพ.แล้วปรากฏว่าเจ้าหน้าที่รพ.ไม่ยอมให้รับการรักษา อ้างว่า นายเอ็ม ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ตนก็บอกไปว่าเขาสติหลุด เพราะลูกขาขาดแล้วก็ตกใจมาก ทิ้งข้าวของไว้ในที่เกิดเหตุ สุดท้ายพยายามอธิบายและให้รับการรักษาเบื้องต้นก่อน จนมีการให้น้ำเกลือและเลือด รวมทั้งยาแก้ปวด นอนรอแพทย์ผ่าตัด จากนั้นก็มีการซักถามว่าจะยินยอมให้ผ่าตัดบุตรสาวเลยหรือไม่ ฝ่ายนายเอ็มโทรศัพท์หาญาติ ก่อนจะบอกว่าพร้อมทุกอย่าง ลูกสาวโคม่าให้ผ่าได้เลย 

ขณะที่ นพ.สุระ กล่าวว่า รพ.มีความพร้อมดูแลคนไข้อยู่แล้วระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอุบัติเหตุฉุกเฉินที่หนัก การให้เลือดกับคนขาขาดต้องให้อยู่แล้ว เพราะเท่าที่ดูมีโอกาสช็อกอยู่แล้ว จากการเสียเลือดค่อนข้างเยอะ สำหรับเด็กตัวน้อย วิธีการคือหนึ่งต้องห้ามเลือดก่อน ถ้าเลือดขาดจริง ๆ เกิดภาวะช็อกก็ต้องให้เลือดเพิ่มเข้าไป ขั้นตอนเหล่านี้ก็ถือว่าถูกต้องแล้ว

นายเอ็ม เล่าอีกว่า ตนรอจนเช้าลูกก็ยังไม่ได้ผ่าตัด รอจน 04.00 น. ถึงได้ย้ายไปห้องพักอื่น มีเจ้าหน้าที่แจ้งว่าต้องรอผลตรวจ "โควิด-19" ให้รอถึง 09.00 น. แต่ตนรอไม่ไหวไม่มีหมอมารักษาอาการอะไรเลยนอกจากนอนให้เลือดกับน้ำเกลือเท่านั้น จนเวลา 11.00 น. ลูกสาวอาการเริ่มทรุดลง พอส่งเข้าห้องไอซียูก็เสียชีวิต ถึงตอนนี้ก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องรอผลโควิดก่อน ทำไมไม่ยอมรักษาให้ ลูกคนเล็กก็บอกไม่เป็นไร แค่กระดูกต้นขาร้าว แต่พอตนพาลูกไปดูอาการที่ รพ.สมุทรปราการ บอกว่ากระดูกสะโพกคด แถมยังรักษาอาการให้ทันทีด้วย ไม่ต้องรออะไรทั้งสิ้น 

ด้าน นพ.เอกโชติ พีรธรรมานนท์ รองผอ.ฝ่ายการแพทย์ รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี เปิดเผยว่า รับทราบเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว และขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องอธิบายให้ฟังก่อนว่าเนื่องจากตอนนี้จังหวัดเพชรบุรี มีการระบาดโควิด แล้วรพ.พระจอมเกล้าจ.เพชรบุรี เป็นรพ.ใหญ่รพ.เดียวของภาครัฐที่ต้องรับผู้ป่วยผ่าตัดจาก รพ.ชุมชนรอบ ๆ อีก 7 รพ.มาดูแล ฉะนั้นรพ.เราเลยต้องไม่มีคนติดเชื้อ กรณีห้องผ่าตัด ห้องคลอด หน่วยไอซียู รวมทั้งห้องฉุกเฉิน เราไม่สามารถปล่อยให้มีผู้ติดเชื้อ เพราะจะทำให้เกิดการกักตัวเจ้าหน้าที่เหมือนหลาย ๆ รพ.ที่กักตัวไป และต้องปิดดำเนินการ เราเลยต้องสร้างระบบขึ้นมาเซฟหน่วยงานสำคัญ ๆ ของเราไว้ว่าให้เป็นหน่วยงานที่ปลอดภัย ไม่ปิดดำเนินการ ไม่งั้นจะเกิดผลกระทบกับผู้ป่วยทั้งจังหวัด

พิธีกรหนุ่มกรรชัย ถามว่า "....ขาขาดนี่เร่งด่วนมั้ย?...." นพ.เอกโชติ ตอบว่า ตอนแรกน้องที่มา คิดว่าอาการพอดูได้ แต่ถ้าเร่งด่วนจริงๆ คนไข้ถูกยิงเข้าช่องท้อง แบบนี้ถือว่าเร่งด่วนต้องผ่าตัดเลยโดยใส่ชุด PPEก่อน หนุ่มกรรชัย จึงถามย้ำไปว่า กรณีขาขาดข้างนึง เท้าซ้ายขาดครึ่งนึง จะยิ่งกว่าถูกยิงหรือเปล่า?  นพ.เอกโชติ ตอบไปว่า เราทำการรักษาอยู่โดยการทำความสะอาดแผลและห้ามเลือด ชะลอการห้ามเลือด พันแผล ดามไว้ลดการเสียเลือด และไม่ได้มีการรอข้ามวัน เพราะคนไข้มาประมาณตีหนึ่งกว่า ๆ ยืนยันไม่ได้ทอดทิ้งคนไข้ ดูแลให้เลือด ให้น้ำเกลือ พันแผล ให้ยาระงับความปวดคนไข้ไว้ด้วย

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ถ้าเป็นกรณีฉุกเฉินต้องดูคนไข้เป็นหลักก่อน การตรวจใด ๆ ถ้าหากต้องใช้เวลา ปกติทางการแพทย์เราจะใช้วิธีดูแลคนไข้เป็นเบื้องต้น ถ้าสงสัยโควิด รพ.จะใช้วิธีให้คิดไว้ก่อนว่าคนไข้เป็นโควิด และให้ป้องกันบุคลากรได้เลย ส่วนการส่งตรวจก็สามารถทำได้เพื่อรอ ไม่จำเป็นต้องรอผลเลือดผลแล็บ หลักการน่าจะใช้วิธีการคือทำคู่ขนานกันได้ ปัญหาสำคัญสุดคือการสื่อสารระหว่างหมอหรือคนไข้หรือญาติ ตรงนี้อาจต้องใช้การพูดคุยกัน ต้องออกตัวก่อนเราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ เราไม่ทราบเหตุการณ์ทั้งหมด แต่ถ้าผู้ป่วยฉุกเฉิน เสียเลือดต้องแก้ที่ตัวผู้ป่วยก่อน เพราะอาจมีภาวะช็อกที่ไม่ทราบได้ ต้องห้ามเลือดก่อน 

เลขาสปสช. กล่าวอีกว่า การผ่าตัดอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะการห้ามเลือดจะชะลอการผ่าตัดด้วย ถ้าคนไข้ยังสภาพไม่สมบูรณ์ หรือว่าแผลอาจไม่สะอาดนัก หมออาจไม่เย็บปิดแผล แต่ห้ามเลือดไปก่อน ตรงนี้สำคัญคือต้องรายงานผลให้ญาติคนไข้เข้าใจเป็นระยะ ๆ การตรวจโควิดต้องใช้เวลา ถ้าฟังดูเร็ว ๆ อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ การตรวจไม่ได้เป็นปัญหา แต่ช่วงการตรวจต้องดูผู้ป่วย ดูสัญญาณชีพเป็นระยะๆ ดูคนไข้เป็นหลัก ไม่ได้เอาผลตรวจเป็นประเด็น อาการหนักไม่หนักอยู่ที่หมอประเมิน ถ้าประเมินแล้วคนไข้ยังอยู่ในสภาพเริ่มดีขึ้น ไม่ได้หมายความว่าต้องรอผลแล็บถึงจะผ่าน อันนี้เป็นไปได้ ต้องดูข้อเท็จจริงตรงนั้น แต่การสื่อสารสำคัญที่สุด เพราะญาติอยู่ในภาวะตกใจ การฟังสื่อสารอาจเข้าใจไม่ตรงกัน เลยอาจเข้าใจว่าหมอให้การรักษาที่ไม่เหมาะสม

ขอขอบคุณ รายการโหนกระแส

8 มิถุนายน 2564
https://www.dailynews.co.th/regional/848354