ผู้เขียน หัวข้อ: เปิดห้องประชุมครั้งแรกของ “คณะราษฎร” 7 ผู้ก่อตั้งพูดคุยเรื่องอะไรกัน?  (อ่าน 308 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
ราว พ.ศ. 2468 ณ กรุงปารีส สองนักเรียนหนุ่มชื่อต้นขึ้นด้วยอักษร “ป. ปลา” จากสยามร่วมรับประทานอาหารในร้านเรสทัวรองต์ Des Ecoleav Henry-Martin บุรุษหนุ่มได้เกริ่นถามนักศึกษาทุนหลวงผู้มีวัยล่วงเข้าเบญจเพส ความว่า “เราได้พูดเรื่องการเมืองกันมามากแล้ว สมควรจะลงมือกันเสียที”

นักศึกษาหนุ่มบุตรชาวนากรุงเก่ารู้สึกตกตะลึงอยู่ครู่หนึ่ง แล้วลุกขึ้นจับสองมือบีบแน่นด้วยความยินดีว่า “เอาจริงหรือ?” “เอาจริงแน่ เอาเดี๋ยวนี้” บุรุษหนุ่มให้คำมั่น

การคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ได้เกิดขึ้น ณ บัดนั้น

“ประยูร ภมรมนตรี” คือบุรุษหนุ่มท่านแรกนั้น ได้เขียนบันทึกบอกเล่าเหตุการณ์ในช่วงก่อการวางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ผ่านหนังสือ “อัตชีวประวัติ ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” ก่อนการรับปากรับคำในร้านอาหารนี้ได้เดินสนทนากันวันละหลาย ๆ ชั่วโมงเป็นเวลาเดือน ๆ กับบุคคลท่านหลังคือ “ปรีดี พนมยงค์”

ปรีดี พนมยงค์ เล่าเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นว่า “…ใน ค.ศ. 1925 ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 6… ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี ที่เคยเป็นผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์และเป็นมหาดเล็กเคยรับใช้ใกล้ชิดรัชกาลที่ 6 นั้น เมื่อมาถึงปารีสใน ค.ศ. 1925 และได้พบข้าพเจ้าก็ได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังถึงความเสื่อมโทรมของระบอบสมบูรณาฯ และเสียงเรียกร้องของราษฎรในสยามที่ต้องการให้เปลี่ยนระบบนั้น

ฉะนั้นใน ค.ศ. 1925 นั้นเอง ภายหลังที่ข้าพเจ้าได้สนทนากับ ร.ท. ประยูรฯ หลายครั้งแล้ว จึงได้ชวนเขาไปเดินเล่นที่ถนน Henri-Martin ปรารภกันว่าได้ยินผู้ที่ต้องการเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ มามากมายหลายคนแล้วแต่ยังไม่มีใครจะตัดสินใจเอาจริง ฉะนั้นเราจะไม่พูดแต่ปากคือจะต้องทำจริงจากน้อยไปสู่มากแล้ววางวิธีการชวนเพื่อนที่ไว้ใจได้ร่วมเป็นหน่วยแรกขึ้น…”

ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 บางส่วน ที่ปารีส ปี 2470 คนที่ 4 จากซ้ายคือ นายปรีดี พนมยงค์, ขวาสุดคือ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ (ป. พิบูลสงคราม), ที่ 2 จากขวาคือ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี
ผู้ก่อตั้ง “คณะราษฎร” ทั้ง 7 คน รวมตัวกันได้อย่างไร?

ประยูร ภมรมนตรี เล่าไว้ว่า “ข้าพเจ้าได้ศึกษาภาษาฝรั่งเศส ก็ได้พบกับ ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) เป็นเพื่อนที่รักใคร่สนิทสนมกันมากได้ร่วมชั้นในโรงเรียนนายร้อยมาตั้งแต่ปีที่ 2 ได้มาเรียนภาษาในโรงเรียนนี้พร้อมกับ ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี (พ.ต. หลวงทัศนัยนิยมศึก-เดินทางมาฝรั่งเศสพร้อม จอมพล ป. เมื่อ พ.ศ. 2467) ซึ่งเป็นญาติโยงสัมพันธ์กับสกุลภมรมนตรีทางสายอินทรกำแหง จึงได้ถือโอกาสให้มาอยู่รวมกันในบริเวณและชักชวนให้มาร่วมคิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งท่านทั้งสองได้มีความสนใจอย่างจริงจัง

ส่วนคุณปรีดีได้ชักชวนนายจรูญ สิงหเสนี (หลวงสิริราชไมตรี) ซึ่งเป็นข้าราชการสถานทูตได้อีก 1 คน และข้าพเจ้าได้เดินทางไปชวน ดร. ตั้ว ลพานุกรม จากสวิทเซอร์แลนด์ กับนายแนบ พหลโยธิน ซึ่งศึกษาวิชากฎหมายอยู่ในกรุงปารีสเข้ามาอีกผู้หนึ่ง ครั้นเมื่อรวบรวมได้ 7 คน ก็ได้เริ่มเปิดการประชุมคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้น…”

ประยูร ภมรมนตรี เล่าเหตุที่ชักชวน “แปลก ขีตตะสังคะ” มาร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า เมื่อตอนที่ทั้งสองไปเที่ยวประเทศเยอรมนี ขณะเดินทางกลับเข้าฝรั่งเศสถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเหยียดหยาม กล่าวหาว่าเป็นพลเมืองในประเทศที่อยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศส เมื่ออธิบายจนเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าใจ กลับบอกว่าประเทศสยาม “เป็นเมืองเหาเมืองหมัดจะรู้จักได้อย่างไร” ทำให้ แปลก ขีตตะสังคะ ไม่พอใจอย่างมาก

ดังนั้น ประยูร ภมรมนตรี “จึงได้ถือโอกาสชวนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ร่วมคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อปราบฝรั่งเศสเอาดินแดนคืน ซึ่งท่านจอมพลกำลังขุ่นแค้นตกลงใจบอกเอาเลย จึงได้เพื่อนร่วมคิด คู่ชีวิตที่สำคัญที่สุดมาร่วมมือ ร่วมคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองกันต่อไป”

ในแง่คุณสมบัติผู้ร่วมก่อการ ปรีดี พนมยงค์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “…ก็ตั้งได้ 7 คนเท่านั้น แต่ทว่าพื้นฐานยังมีอยู่คือพวกที่เห็นแก่ความเป็นธรรม เห็นแก่ความเจริญ… กว่าจะคัดได้เอาละนะคนนี้ ก็ต้องใช้เวลาดูนิสัยไป อย่างเวลาที่ไปมิตติ้งดูว่าคนไหนใช้ได้ อย่างบางคนเห็นนะครับว่ากินเหล้าเมาแล้วเสียสติ ไอ้นี่ใช้ไม่ได้ มันเมาเหล้าแล้วมันขายหมด เราก็ดู แล้วแบ่งเป็น ดี 1 ดี 2 ดี 3…”

เมื่อได้เพื่อนร่วมคิดร่วมตายครบ 7 คน ก็ได้นัดประชุมกันเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470 ผู้ก่อตั้งทั้ง 7 คน ประกอบไปด้วย ปรีดี พนมยงค์, แปลก ขีตตะสังคะ (จอมพล ป. พิบูลสงคราม), แนบ พหลโยธิน, ประยูร ภมรมนตรี, ตั้ว ลพานุกรม, หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) และ ทัศนัย มิตรภักดี

ปรีดี พนมยงค์ เล่าไว้ว่า “การประชุมเป็นทางการครั้งแรกของคณะราษฎรมีขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1927 ที่หอพักแห่งหนึ่ง ณ ‘Rue de Sommerard’ ซึ่งเราเช่าห้องใหญ่ไว้เฉพาะการประชุมนั้น… ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ข้าพเจ้าเป็นประธานและเป็นหัวหน้าคณะราษฎรจนกว่าจะมีบุคคลที่เหมาะสมเป็นหัวหน้าคณะราษฎรในกาลต่อไป การประชุมดำเนินไปเป็นเวลาประมาณ 5 วัน”

ทั้งนี้ ปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวถึงบทบาทของ แปลก ขีตตะสังคะ ในเวลานั้นไว้ว่า “ร.ท. แปลก (จอมพล พิบูลฯ) บอกว่า ‘อาจารย์เอาอย่างไร ผมเอาอย่างนั้น ขอให้ได้เปลี่ยนการปกครองเท่านั้น เสร็จแล้วตั้งโต๊ะให้อาจารย์เขียนเอาตามชอบใจ’ ก็แปลว่ายอมตามผม เปลี่ยนการปกครองแล้วก็เกิดมีการยุแหย่ให้แตกกันขึ้น”

ผู้ก่อตั้งทั้ง 7 คน ได้ปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ สรุปสาระสำคัญดังที่ ปรีดี พนมยงค์ บันทึกไว้ ดังนี้

“ก. วัตถุประสงค์ของคณะราษฎร คือ เปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีศัพท์สมัยใหม่ว่า “ปฏิวัติ” หรือ “อภิวัฒน์” เพื่อถ่ายทอดคำฝรั่งเศส อังกฤษ REVOLUTION ดังนั้นเราจึงใช้ศัพท์ธรรมดาว่า “เปลี่ยนการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมายมาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย” และการดำเนินเพื่อให้สยามบรรลุหลัก 6 ประการ คือ

(1) รักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง, ในทางศาล, ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

(2) รักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก

(3) บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจโดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

(4) ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน

(5) ให้ราษฎรมีเสรีภาพที่ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวแล้ว

(6) ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ข. โดยคำนึงถึงสภาพของสยามที่ถูกแวดล้อมโดยอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งชาติทั้งสองนี้มีข้อตกลงกันถือเอาสยามเป็นประเทศกันชน แต่เขาอาจพร้อมกันยกกำลังทหารเข้ามายึดครองแล้วแบ่งดินแดนสยามไปเป็นเมืองขึ้น หรืออยู่ใต้อำนาจอิทธิพลของประเทศทั้งสอง ดังนั้นเราจึงเห็นว่าวิธีเปลี่ยนการปกครองดังกล่าวจะต้องกระทำโดยวิธี COUP D’ ÉTAT ซึ่งเราเรียกกันด้วยคำไทยธรรมดาว่า การยึดอำนาจโดยฉับพลัน… ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแทรกแซงของมหาอำนาจเพราะเมื่อคณะราษฎรได้อำนาจโดยฉับพลันแล้ว มหาอำนาจก็จะต้องเผชิญต่อสถานการณ์ที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า FAIT ACCOMPLI คือพฤติการณ์ที่สำเร็จรูปแล้ว

ค. ผู้ที่เข้าร่วมประชุมครั้งแรกเป็นกรรมการกลางของคณะราษฎรไปพลางก่อน กรรมการแต่ละคนเป็นหัวหน้าแต่ละสายที่จะต้องเลือกเฟ้นผู้ที่ไว้วางใจได้ตามระเบียบพิจารณาตัวบุคคลแล้วนำมาเสนอกรรมการกลางของคณะราษฎร ซึ่งจะรับเข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎรได้โดยมติเป็นเอกฉันท์เท่านั้น ในชั้นแรกให้หัวหน้าสายหาสมาชิกเพิ่มเติมเพียงสายละ 2 คนก่อน แล้วก็แยกเป็นหัวหน้าสายย่อยใหญ่น้อยแตกกิ่งก้านสาขาออกไป

ง. การเลือกเฟ้นสมาชิกคณะราษฎรเพิ่มเติมนั้น ต้องคำนึงถึงความเสียสละเพื่อชาติอย่างแท้จริง, ความกล้าหาญ, ความสามารถในการรักษาความลับ ดังนั้นจึงได้แบ่งบุคคลที่ต้องการเปลี่ยนระบบการปกครองดังกล่าวออกเป็น 3 ประเภท คือ

ดี 1. ได้แก่บุคคลที่สมควรได้รับคำชักชวนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะราษฎรก่อนวันลงมือยึดอำนาจรัฐ แต่บุคคลประเภทนี้ก็ต้องแยกแยะออกไปอีกว่าผู้ใดควรได้รับคำชักชวนไว้แต่เนิ่น ๆ หรือชวนต่อเมื่อใกล้เวลาที่จะลงมือทำการยึดอำนาจ มิถือเพียงแต่ว่าบุคคลใดเป็นเพื่อนเที่ยวกัน กินด้วยกัน แล้วจะชวนเข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎรได้ทุกคนในทันทีทันใด

ถ้าเพื่อนคนนั้นชอบพูดตลกเกินไป ก็ย่อมเอาเรื่องที่จริงบ้างไม่จริงบ้างมาพูดเพียงแต่จะให้ผู้ฟังขบขันเป็นการตลกและอาจเอาเรื่องลับของคณะไปแย้มพรายเพื่อการตลก เพื่อนบางคนมีลักษณะดีหลายอย่างแต่เวลากินเหล้าเข้าไปแล้วกุมสติไว้ไม่อยู่แล้วพูดเลอะเทอะ ก็อาจพลั้งพลาดเอาเรื่องของคณะไปพูดในเวลาเมา จึงมิได้ชวนให้เข้าร่วมในคณะราษฎรก่อนลงมือยึดอำนาจ…

ดี 2. ได้แก่บุคคลที่จะได้รับคำชักชวนต่อเมื่อได้ลงมือปฏิบัติในการยึดอำนาจแล้ว ซึ่งเขาย่อมมีบทบาทเป็นกำลังให้คณะราษฎรได้

ดี 3. ได้แก่บุคคลที่จะได้รับคำชักชวนในวันลงมือปฏิบัติการยึดอำนาจนั้นเอง แต่ภายหลังที่การยึดอำนาจได้มีท่าทีแสดงว่าจะเป็นผลสำเร็จมากกว่าความไม่สำเร็จ

8 คณะราษฎร ตัดสายโทรศัพท์ที่กรมไปรษณีย์โทรเลขใกล้วัดเลียบ นับจากคนที่ 2 ซ้ายไปขวา ประเสริฐ ศรีจรูญ วิลาศ โอสถานนท์ ประยูร ภมรมนตรี หลวงนิเทศกลกิจ ประจวบ บุนนาค ควง อภัยวงศ์ การุณ ศรีจรูญ จิบ ศิริไพบูลย์
จ. นโยบายที่จะดำเนินภายหลังที่คณะราษฎรได้อำนาจรัฐแล้ว ที่ประชุมได้มอบให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ชี้แจง และเห็นชอบตามหลัก 6 ประการ ซึ่งข้าพเจ้าเป็นผู้เสนอรวมทั้งหลักการทั่วไปในเค้าโครงเศรษฐกิจ และได้มอบให้ข้าพเจ้าเตรียมร่างเค้าโครงเศรษฐกิจในโอกาสต่อไป

ฉ. ที่ประชุมได้พิจารณาเผื่อไว้ว่าถ้าการกระทำของคณะราษฎร ต้องถูกปราบปรามหรือพ่ายแพ้ก็ให้มีเพื่อนหัวหน้าสายคนหนึ่งที่เรากันไว้มิให้แสดงออกนอกหน้าว่าเป็นสมาชิกคณะราษฎร โดยไม่ต้องมาประชุมคณะกรรมการหัวหน้าสายบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะในฝรั่งเศสหรือเมื่อกลับสยามแล้วโดยบำเพ็ญตนประดุจเป็นคนอยู่ในบ้านอย่างสงบเงียบ ผู้นี้มีหน้าที่ดำเนินกิจการของคณะราษฎรที่อาจถูกปราบปรามหรือพ่ายแพ้นั้นต่อไปให้สำเร็จ พร้อมทั้งให้มีหน้าที่ดูแลช่วยเหลือครอบครัวของเพื่อนที่ถูกติดคุกหรือถึงแก่ความตาย ที่ประชุมเห็นพ้องกันมอบหน้าที่นี้ให้แก่นายแนบ พหลโยธิน ซึ่งเป็นผู้มีทรัพย์สินมากโดยได้รับมรดกจากบิดา”

สาระสำคัญของการประชุมพูดคุยในครั้งนั้นได้กลายเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินงานเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของ “คณะราษฎร” จนเป็นผลสำเร็จในการปฏิวัติ พ.ศ. 2475

อ้างอิง :

ปรีดี พนมยงค์. (2515). บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย, (เขียนลงวันที่ 24 มิถุนายน 2515) จัดพิมพ์โดย นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร เนื่องในโอกาส 24 มิถุนายน 2515. กรุงเทพ : นีติเวชช์.
ประยูร ภมรมนตรี. (2525). ชีวิต 5 แผ่นดิน ของข้าพเจ้า, พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พลโทประยูร ภมรมนตรี ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน 2525. กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์.
นริศ จรัสจรรยาวงศ์. (มีนาคม, 2563). 3+1 มุสลิมีนคณะราษฎร ผู้ก่อการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 41 : ฉบับที่ 5.

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2564

27 พฤษภาคม พ.ศ.2564
https://www.silpa-mag.com/history/article_63267