ผู้เขียน หัวข้อ: ‘สังฆราช’ประทาน คติธรรมวิสาขบูชา  (อ่าน 1194 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
‘สังฆราช’ประทาน คติธรรมวิสาขบูชา
« เมื่อ: 27 พฤษภาคม 2021, 20:46:52 »


วันที่ 25 พ.ค.2564 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรมเนื่องในวันวิสาขบูชา วันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ความว่า ดิถีวิสาขบูชา อันเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นวันสำคัญสากลของโลก ได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว ชวนให้ระลึกถึงเหตุการณ์ เมื่อพระโพธิสัตว์สิทธัตถราชกุมารเสด็จอุบัติขึ้นบนโลกนี้ ดังปรากฏเรื่องราวในพระไตรปิฎกว่า พระองค์ทรงผินพระพักตร์ไปทางทิศอุดร ทอดพระเนตรทิศทั้งหลาย ทรงพระดำเนินย่างพระบาทไปเจ็ดก้าว แล้วทรงเปล่งพระอาสภิวาจาว่า

“เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก เราคือผู้เป็นใหญ่แห่งโลก”
ดังนี้ อุปมาดั่งการประกาศอิสรภาพของมนุษย์ ให้ต่างตระหนักว่าเราทุกคนล้วนเป็นผู้กำหนดชีวิตของตนเอง สามารถพัฒนาตนให้ประเสริฐ ให้พ้นทุกข์ ให้มีชีวิตที่ดีงามสมบูรณ์ ถึงขั้นจะรู้แจ้งสัจธรรมเป็นพระพุทธเจ้าก็ยังได้ โดยหาใช่เพราะการดลบันดาลของพรหม เทพ หรือชะตาฟ้าดินแต่อย่างใด

พุทธบริษัททั้งหลายจึงพึงพิจารณาถึงย่างก้าวแห่งธรรมะ 7 ประการ อันนำไปสู่การตรัสรู้ ซึ่งเรียกว่า “โพชฌงค์ 7”
ประกอบด้วย
สติ ความระลึกได้,
ธรรมวิจยะ การศึกษาสอดส่องธรรมะ,
วิริยะ ความพากเพียร,
ปีติ ความเอิบอิ่มใจโดยปราศจากอามิส,
ปัสสัทธิ ความสงบกายใจ,
สมาธิ ความมีจิตตั้งมั่น และ
อุเบกขา ความมีใจเป็นกลาง

    อย่างไรก็ดี ก่อนจะย่างไปให้ครบทั้ง 7 ก้าวสู่ความเป็นเลิศในโลกนั้น มนุษย์ผู้ปรารถนาอิสรภาพจำเป็นต้องเริ่มต้นฝึกฝนตนเองให้มั่นคงในย่างก้าวสำคัญก้าวแรกแห่งการพัฒนา ได้แก่ “สติ” กล่าวคือ ให้รู้เท่าทันในการเคลื่อนไหวในอารมณ์ที่ปรุงแต่งจิตและในความคิดทั้งหลายให้ได้ หากปราศจากสติเสียแล้ว องค์ธรรมแห่งความสำเร็จสูงสุดสำหรับมนุษยชาติประการอื่นๆ ย่อมไม่อาจจะติดตามมาได้เลย

    ขอสาธุชนจงมุ่งมั่นหมั่นศึกษาอบรมเจริญสติ ให้รู้เท่าทันกาย วาจา และใจของตนเอง อันนับเป็น “ปฏิบัติบูชา” ที่พึงกระทำต่อพระรัตนตรัย เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นประทีปส่องใจเวไนยนิกรทั้งปวงสืบไปตลอดกาลนาน เทอญ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 กรกฎาคม 2021, 20:38:01 โดย story »

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
โพชฌงค์ ๗ องค์แห่งการตรัสรู้
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 30 พฤษภาคม 2021, 11:37:12 »
"ภิกษุทั้งหลาย  โพชฌงค์ ๗ ประการเหล่านี้   เป็นธรรมทําให้มีจักษุ   ทําให้มีญาณ

ส่งเสริมความเจริญแห่งปัญญา   ไม่เป็นข้างความคับแค้น    เป็นไปเพื่อนิพพาน"

(สํ.ม. ๑๙/๕๐๒/๑๓๗)
...

        กุณฑลิยะ     :    ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ  ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว  กระทำให้มากแล้ว  ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์?

        พระพุทธเจ้า :    ดูกรกุณฑลิยะ โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์.

        กุณฑลิยะ     :    ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็(แล้วยังมี)ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว  ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์?

        พระพุทธเจ้า :    ดูกรกุณฑลิยะ สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์.

(กุณฑลิยสูตร)
...

โพชฌงค์  ๗

        โพชฌงค์  ๗  ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ หรือองค์ของผู้ตรัสรู้  หมายถึง ธรรมหรือข้อปฏิบัติเพื่อยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ กล่าวคือ ถึงที่สุดแห่งการดับทุกข์หรือการตรัสรู้  อันมี ๗ ประการ   ซึ่งเมื่อปฏิบัติอย่างถูกต้องดีงามก็ดำเนินไปตามหลักอิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบันธรรม อันเป็นไปดังนี้

        ๑. สติสัมโพชฌงค์   ความระลึกได้ ความระลึกได้บ่อยๆในกิจ(สิ่งที่ควร)ที่ทำมาไว้แล้ว  ความไม่เผลอเรอ  ความมีสติกํากับอยู่ในกิจ หรืองาน หรือธรรมที่ปฏิบัติ ดังเช่น การปฏิบัติธรรมวิจัย, การมีสติระลึกรู้เท่าทันเวทนา, ความมีสติระลึกรู้เท่าทันจิต ที่หมายถึงจิตตสังขาร เช่นความคิดปรุงแต่งคืออาการของจิตที่ฟุ้งซ่านไปปรุงแต่ง, ความมีสติระลึกรู้เท่าทันธรรม

        อันสติจักเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ดังเช่น สติปัฏฐาน ๔ ที่เป็นการมีสติในกาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งมีอานิสงส์ที่เนื่องสัมพันธ์กับโพชฌงค์ ๗  จึงเป็นเครื่องสนับสนุน(ปัจจัย)ให้มีสติไปน้อมกระทำการธัมมวิจยะ 

        ๒. ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ (ธรรมวิจยะ)  หรือธรรมวิจัย   ความสอดส่อง สืบค้นธรรม, การวิจัยหรือค้นคว้าธรรม การพิจารณาในธรรม อันครอบคลุมถึงการเลือกเฟ้นธรรมที่ถูกต้อง ดีงาม ถูกจริต  และการค้นคว้า การพิจารณา การไตร่ตรองด้วยปัญญา หรือการโยนิโสมนสิการ ให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง อย่างแท้จริง อันตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจในธรรม(สภาวธรรมชาติ โดยเฉพาะของทุกข์ ก็เพื่อใช้ในการดับทุกข์)  กล่าวคือธรรมที่บุคคลเลือกเฟ้นตรวจตราถึงความพินิจพิจารณาด้วยปัญญา เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

        เมื่อมีสติรู้เท่าทัน พร้อมทั้งวิจัยค้นคว้าพิจารณาในกาย เวทนา จิต ธรรม ที่สติเท่าทันนั้นๆ ย่อมยังให้เกิดความรู้ความเข้าใจตามเป็นจริงในสภาวธรรมหรือธรรมต่างๆขึ้นเป็นลำดับ  จึงไม่ได้เห็นเป็นไปตามความอยาก,ความเชื่อ การอ่าน การฟังแต่อย่างเดียวดังเช่นแต่กาลก่อน,  ดังเช่น  การเข้าใจใน ปฏิจจสมุปบาท  พระไตรลักษณ์   อริยสัจ๔  ขันธ์๕  สติปัฏฐาน  ๔ ฯลฯ.  เมื่อเกิดความเข้าใจจากการธัมมวิจยะ ปัญญาย่อมสว่างกระจ่าง จึงย่อมรู้คุณ จึงเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนน้อมให้เกิดวิริยะ 

        ๓. วิริยสัมโพชฌงค์  ความเพียร ท่านหมายถึงความเข้มแข็ง ความพยายาม บากบั่น สู้กิจ ไม่ย่อหย่อนท้อแท้ต่อการปฏิบัติและการพิจารณาธรรม(ธรรมวิจยะ)  ตลอดจนการเพียรยกจิตไม่ให้หดหู่ ท้อแท้,  เมื่อเกิดความเข้าใจในธรรมจากการพิจารณาธรรม ย่อมเป็นสุข เห็นประโยชน์ในการปฏิบัติ  อุปาทานทุกข์น้อยลงหรือเบาบางลง จึงย่อมทำให้เกิดความเพียรขึ้นเป็นธรรมดา

        เมื่อเห็นคุณย่อมปฏิบัติด้วยความเพียร เมื่อปฏิบัติด้วยความเพียร อย่างแน่วแน่ในระยะหนึ่ง ไม่ซัดส่ายสอดแส่ ย่อมเป็นปัจจัยครื่องสนับสนุนให้เกิดปีติ 

        ๔. ปีติสัมโพชฌงค์ เมื่อมีสติพิจารณาในธรรม ด้วยความเพียรย่อมเกิดความอิ่มเอิบ อิ่มใจ  ความดื่มดํ่า ใจฟู  ความแช่มชื่น  ความปลาบปลื้ม อันปราศจากอามิส(ไม่เจือด้วยกิเลส)ขึ้นเป็นธรรมดา  (จึงมิได้หมายถึง ปีติ ชนิดมีอามิส ความอิ่มเอิบ อันเกิดแต่การปฏิบัติฌานสมาธิอันมีองค์ฌาน ชนิดที่เกิดแต่การติดเพลิน, ติดสุข ทั้งโดยรู้ตัวก็ดี ไม่รู้ตัวก็ดี  อันมักแสดงออกโดยอาการจิตส่งใน  เพราะปีติชนิดนี้ยังให้โทษในภายหน้าแต่อย่างเดียว)   

        เมื่อวิริยะ อย่างแน่วแน่ในธรรมที่พิจารณา ไม่ซัดส่ายสอดแส่ไปปรุงแต่งในสิ่งอื่นๆได้ระยะหนึ่ง ย่อมบังเกิดอาการปีติความอิ่มเอิบ ความแช่มชื่นขึ้นนั้นๆ  ซึ่งเมื่อความอิ่มเอิบ ความแช่มชื่นจางคลายไป ย่อมเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนให้เกิดปัสสัทธิ 

        ๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์  ความสงบกายและความสงบใจ ความผ่อนคลายกายใจ อันเกิดแต่ปีติสุขที่ระงับไป,  เมื่อปีติความแช่มชื่น อิ่มเอิบแช่มชื่น อันเกิดแต่ความเข้าใจกระจ่างสว่างในธรรมสงบระงับลงแล้ว ย่อมยังผลให้เกิดการผ่อนคลาย กล่าวคือ เกิดความสงบกายสงบใจตามมา จึงไม่เครียด ไม่กระวนกระวาย  กายใจโปร่งเบาสบาย  กล่าวคือ เมื่อกายสงบระงับย่อมเกิดความสุข  จึงเกิดการเสวยสุข ขยายความ

        เมื่อกายสงบระงับแล้วย่อมเป็นสุข  เมื่อเป็นสุขแล้ว ย่อมเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนน้อมนำให้เกิดสมาธิสัมโพชฌงค์จิตตั้งมั่น 

        ๖. สมาธิสัมโพชฌงค์  ความมีจิตตั้งมั่น  เพราะเมื่อกายสงบ ย่อมพบสุข  เมื่อพบสุข จิตย่อมตั้งมั่น  เพราะย่อมไม่ซัดส่ายสอดแส่ไปฟุ้งซ่าน หรือปรุงแต่ง  จึงมีจิตหรือสติตั้งมั่นอยู่กับกิจหรืองานที่ทํา อันเป็นไปตามธรรมหรือธรรมชาติ นั่นเอง เช่น  มีสติอย่างต่อเนื่องกับธรรมที่พิจารณา หรือการปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ซัดส่าย ไม่วอกแวก ดังเช่น  มีสติเห็นเวทนา หรือมีสติระลึกรู้เท่าทันอาการของจิต เช่นรู้เท่าทันอาการปรุงแต่งหรือรู้เท่าทันว่าฟุ้งซ่านไปภายนอกอยู่เนืองๆ  และสมาธินั้นยังเป็นกําลังแห่งจิต ที่ทําให้จิตเข้มแข็งขึ้น ก็เนื่องเพราะความไม่ซัดส่ายไปสอดแส่ให้เกิดทุกข์ในเรื่องอื่นๆอีกด้วยนั่นเอง  จึงย่อมยังให้การปฏิบัติตามความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องนั้นเป็นไปอย่างมีกําลัง  ดังนั้นสมาธิในสัมโพชฌงค์จึงหมายถึง การมีจิตตั้งมั่น อยู่ได้อย่างต่อเนื่องหรือแนบแน่นในการปฏิบัตนั่นเอง  เป็นจิตชนิดที่มีสติปราดเปรียวว่องไว ที่เมื่อระลึกรู้เท่าทันในสิ่งใดแล้ว ก็ปล่อยวางโดยการ อุเบกขาในสัมโพชฌงค์องค์สุดท้าย

        สมาธิในโพชฌงค์ จึงเป็นสมาธิเพื่อการวิปัสสนา ไม่ใช่อย่างเดียวกันกับการปฏิบัติสมถสมาธิ  ที่มีสติแนบแน่นหรือแน่วแน่อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งโดยเฉพาะเท่านั้น อย่างไม่ปล่อยวาง  ที่เมื่อสติจางคลายหรือขาดไปแล้ว มีองค์ฌานหรือสมาธิเป็นผลให้เกิดความสุขสงบสบายขึ้น แต่ย่อมเป็นไปในขณะหรือระยะหนึ่งๆเท่านั้น   จึงยังจัดว่าเป็นเพียงวิกขัมภนวิมุตติ   จึงควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า สมถสมาธิหรือฌานที่ปฏิบัติกันทั่วไป อันมีมาแต่โบราณนั้น  ในทางพุทธศาสนาแล้วก็เพื่อเป็นไป เพื่อเป็นบาทฐานของสมาธิในขั้นวิปัสสนาต่อๆไปเท่านั้น  กล่าวคือ สมาธิในโพชฌงค์คือสมาธิชนิดสัมมาสมาธิในองค์มรรคที่มีจิตตั้งมั่น ไม่ซัดส่าย อย่างต่อเนื่อง

        เมื่อจิตตั้งมั่น แน่วแน่อย่างต่อเนื่องยาวนาน อย่างเนืองๆ ย่อมประกอบด้วยกำลัง และยังประกอบด้วยปัญญาที่เห็นเป็นไปตามจริงตามที่ได้สั่งสมมา จึงเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนในการน้อมนำไปในการอุเบกขา 

        ๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ การวางใจเป็นกลาง วางทีเฉย  รู้ตามความจริงหรือยอมรับตามความจริง แล้วละเสียโดยการตั้งมั่นวางเฉย หรือปล่อยวางโดยอาศัยกำลังของจิตอันเกิดแต่สติ,สมาธิและปัญญานั่นเอง  วางเฉย ที่หมายถึง รู้สึกอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นเป็นธรรมดาไม่ต้องฝืน แต่ตั้งใจกระทำหรือปฏิบัติ ด้วยการไม่(คิดนึก)ปรุงแต่ง ไม่สอดแส่ไปในเรื่องหรือกิจนั้นๆ ทั้งในทางดีหรือชั่ว(ทางร้าย) กล่าวคือไม่คิดเอนเอียง ไม่สอดแส่ ไม่ซัดส่าย ไม่ยึดมั่นในสิ่งใด เช่น ไม่ไปปรุงแต่งด้วยถ้อยคิดหรือกริยาจิต  ในเวทนา(ความรู้สึกรับรู้เมื่อกระทบสัมผัสอันอาจชอบใจหรือไม่ชอบใจ) หรือสังขารขันธ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเช่น จิตฟุ้งซ่าน ,จิตมีโทสะ ฯ.    ถ้อยคิดหรือความคิดนึกที่เกิดขึ้น  เช่น การคิดปรุงแต่งหรือการเอนเอียงไปคิดเห็นว่าสิ่งนั้นถูกหรือสิ่งนั้นผิด,  ไม่ปรุงแต่งทั้งในบุญหรือบาป,  ไม่ปรุงแต่งไปทั้งดีหรือชั่ว, ไม่ปรุงแต่งว่าเราถูกหรือเขาผิด,  เกิดความรู้สึกอย่างไรก็เกิดอย่างนั้น ไม่เป็นไร เป็นเรื่องปกติที่ถูกต้องเป็นธรรมดา  เพียงวางจิตหรือสติหรือความคิดให้เป็นกลางด้วยการกระทำ วางทีเฉย  เพราะการที่ไปปรุงแต่งแม้จะเป็นดีหรือสิ่งที่ถูกก็เป็นทุกข์ (แยกแยะให้เข้าใจความหมายถูกต้องด้วย มิได้หมายถึงไม่ทําความดี ไม่ทําบุญ แต่หมายถึงการไปคิดนึกปรุงแต่ง แล้วยึดว่าถูก ว่าดี อย่างนั้น อย่างนี้ อันล้วนยังให้เกิดเวทนา คือความคิดขึ้นใหม่ๆอันย่อมเกิดเวทนาขึ้นอีกทั้งสิ้น อันล้วนอาจเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา  อุปาทาน  ชาติอันเป็นทุกข์ขึ้นในที่สุด) ดังเช่น เรานั้นเป็นคนดีมากๆ ช่วยเหลือเกื้อหนุนบุคคลคนหนึ่งอย่างมากๆ เป็นความดีชนิดบริสุทธิ์ใจ  แต่แล้วบุคคลคนนั้นกลับกระทำการสิ่งที่ไม่ดีต่างๆนาๆต่อเรา  เพียงแต่เราคิดปรุงแต่งหรือกระทำโดยอาการพิรี้พิไรรำพันโอดครวญในความดีของเราหรือความชั่วของเขาในเรื่องนี้ขึ้นมา ที่แม้เป็นจริงอย่างที่สุดก็ตาม  ท่านก็ย่อมต้องเสวยทุกข์ขึ้นทันที   ความดีที่เรากระทำอยู่นั้นเราย่อมได้รับอยู่แล้วเพียงแต่อาจโดยไม่รู้ตัว  แต่เมื่อใดที่เราไปคิดยึดมั่นในความดีด้วยกิเลส คือไปอยากให้ความดีนั้นตอบแทน  ก็เกิดอุปาทานทุกข์อันเร่าร้อนเผาลนขึ้นทันที   ด้วยเหตุฉะนี้ พระอริยเจ้าท่านจึงมีคำกล่าวอยู่เนืองๆว่า ไม่ยึดดี ไม่ยึดชั่ว เป็นกลางวางทีเฉย

        อุเบกขา จะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากการเจตนาขึ้นเท่านั้น  จึงต้องหมั่นสั่งสมอบรมปฏิบัติ  ไม่ใช่การวางใจเป็นกลางชนิดที่ต้องทําใจเป็นกลางเฉยๆ ชนิดจะไม่ให้รู้สึกรู้สาต่อทุกขเวทนา,สุขเวทนาที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด กล่าวคือ อยากจะไม่ให้มีทุกขเวทนาทางกายหรือทางใจใดๆมากระทบได้  เพราะยังไม่รู้ไม่เข้าใจด้วยอวิชชา   อันอาจกระทําได้แค่เป็นครั้งคราวด้วยฌาน,สมาธิเท่านั้น อันยังเป็นเพียงโลกียวิโมกข์ (ความหลุดพ้นขั้นโลกีย์)   เป็นกุปปวิโมกข์ (ความหลุดพ้นที่กำเริบคือเปลี่ยนแปลงกลับกลายหายสูญได้)   และเป็นวิกขัมภนวิมุตติ (ความหลุดพ้นด้วยข่มไว้ คือ กิเลสระงับไปเพราะถูกกำลังสมาธิข่มไว้  เหมือนเอาแผ่นหินทับหญ้า  ยกแผ่นหินออกเมื่อใด  หญ้าย่อมกลับงอกงามขึ้นได้ใหม่)   เพราะตามความเป็นจริงแล้วทุกขเวทนานั้นยังมีอยู่เป็นธรรมดาแม้ในองค์พระอริยเจ้า แต่ท่านเหล่านี้ไม่มีอุปาทานทุกข์หรืออุปาทานขันธ์ ๕,  จึงต้องเป็นการปฏิบัติด้วยความรู้ความเข้าใจตามความเป็นจริงแล้วว่าเป็นโทษเป็นทุกข์ แล้วจึงปล่อยวาง หรือทําใจเป็นอุเบกขา กล่าวคือรู้ตามความเป็นจริงแล้ว รู้สึก(เวทนา)อย่างไร ก็เป็นเยี่ยงนั้นนั่นเอง  แต่ต้องเข้มแข็ง ไม่คิดนึกปรุงแต่งด้วยการไม่เอนเอียงหรือแทรกแซงไปด้วยถ้อยคิดหรือกริยาจิตใดๆในเรื่องนั้นๆ  ทั้งในทางดีหรือชั่ว(ทางร้าย),    อุเบกขาจึงไม่ใช่อทุกขมสุขเวทนาหรือที่บางทีเรียกกันว่าอุเบกขาเวทนา อันเป็นความรู้สึกเฉยๆ แล้วไปยึดไปเข้าใจผิดว่าเป็นการอุเบกขา,   อันอุเบกขาเวทนานั้นเป็นสภาวธรรมที่เกิดการรับรู้ขึ้นจากการผัสสะเป็นธรรมดา กล่าวคือเป็นไปโดยสภาวธรรมชาติ อย่างไรเสียก็ต้องเกิดขึ้นและเป็นไปตามธรรม  ส่วนการอุเบกขาหรือตัตรมัชฌัตตตาเป็นสังขารขันธ์จึงต้องมีสัญเจตนาหรือเจตนาขึ้น ดังนั้นจึงต้องหมั่นฝึกฝนอบรมด้วยความเพียรยิ่ง จนสามารถกระทำอุเบกขานั้นเป็นมหาสติ  กล่าวคือ กระทำเองโดยอัติโนมัติ เป็นเฉกเช่นสังขารในปฏิจจสมุปบาท แต่ปราศจากเสียซึ่งอวิชชา (มีรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่อง อุเบกขา)

โพชฌงค์ ๗ จึงล้วนเป็นธรรมเหล่าใดที่บุคคลเจริญแล้ว

กระทำให้มากแล้ว  ย่อมยังให้เกิดวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์

หรือถึงที่สุดแห่งการดับทุกข์นั่นเอง

ที่มีจิตคือสติรู้เท่าทันในกาย เวทนา จิต และธรรมอยู่เนืองๆ กล่าวคือปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔ เป็นเครื่องอุดหนุนให้ถึงซึ่งโพชฌงค์ ๗

http://www.nkgen.com/35.htm

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
โพชฌงค์ ๗ จาก อานาปานสติสูตร
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 30 พฤษภาคม 2021, 11:39:44 »
 ดูกรภิกษุทั้งหลาย  สมัยใด สติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ

ในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว   สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์

สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ

      เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่  ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นได้ด้วยปัญญา ฯ

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา

ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว  สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ

      เธอ เมื่อค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมด้วยปัญญาอยู่   ย่อมเป็นอันปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ฯ
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน

ในสมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว   สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ

      ปีติปราศจากอามิส ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ฯ
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว

ในสมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว   สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์

สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ

      ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้ ฯ
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้
ในสมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว   สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ

      ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมมีจิตตั้งมั่น ฯ
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น

ในสมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว   สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์

สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ

      ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้น ได้เป็นอย่างดี ฯ
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี

ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว   สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์

สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ฯ......... ฯลฯ ...........
      [๒๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร

จึงบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้   ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์

อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ  อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย

ย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ... ย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ... ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ...

ย่อมเจริญปัสสัทธิ สัมโพชฌงค์ ... ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ... ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ 

อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย ฯ
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ฯ
............................................................................
http://www.nkgen.com/35.htm

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
การเจริญโพชฌงค์ตามกาล
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: 30 พฤษภาคม 2021, 11:40:18 »
การเจริญโพชฌงค์ตามกาล

      มีพุทธพจน์ตรัสแสดงถึงวิธีแก้ไข ความรู้สึกหดหู่ใจ ท้อแท้ใจ ทรงสอนให้แก้ไขโดยการเจริญโพชฌงค์ในธรรม ๔ ข้อ ของ โพชฌงค์ ๗  อันมี

        ๑. สติสัมโพชฌงค์ (ข้อ ๑) สติ ความระลึกได้กํากับใจ,กาย   มีสติระลึกรู้ตัวในจิตสังขารว่า หดหู่ ,เหี่ยวแห้ง,ท้อแท้,เสียใจ,อาลัย  แล้วปล่อยวาง  แล้วดำเนินไปในองค์โพชฌงค์ต่อไป

        ๒. ธรรมวิจยะสัมโพชฌงค์ (ข้อ ๒) โดยการโยนิโสมนสิการ พิจารณาธรรมที่บังเกิดแก่ใจ, หรือเฟ้นธรรมที่ถูกจริต หรือสงสัยไม่เข้าใจ ขึ้นมาไตร่ตรองอย่างเบิกบานให้เข้าใจ  หรือมองเห็นสิ่งที่พิจารณานั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป(ไตรลักษณ์),  ปัญญามองเห็นอริยสัจ  เป็นการอาศัยธรรมเป็นเครื่องอยู่หรือเป็นเครื่องกำหนดของจิต เพื่อไม่ให้จิตคิดนึกปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านออกไปปรุงแต่งในเรื่องที่หดหู่เหล่าใดเหล่านั้นนั่นเอง  และยังเป็นการสั่งสมภูมิรู้ภูมิญาณขึ้นในภายหน้าอีกด้วย

        ๓. วิริยะสัมโพชฌงค์ (ข้อ ๓) ความเพียร, ความพยายาม  เข้มแข็ง ในธรรมทั้ง ๒ ข้างต้น  และหมายรวมถึงการเพียรยกจิต ไม่ให้หดหู่ถดถอย(ถีนะมิทธะ)  ไม่ปล่อยใจให้ไหลเลื่อนไปตามสถานะการณ์แห่งความหดหู่ใจในภายใน  ซึ่งผู้ปฏิบัติมักมองไม่เห็นหรือนึกไม่ถึง

        ๔. ปิติสัมโพชฌงค์ (ข้อ๔)ความอิ่มใจ ซาบซ่านใจ ใจฟู  ความแช่มชื่นใจ อันเกิดมาแต่ความเข้าใจธรรม  หรือปีติในองค์ฌานที่สามารถทรงขึ้นมาได้ แต่ต้องปราศจากอามิส กล่าวคือ ไม่ใช่ปีติอันมีรากฐานมาจากความติดเพลิน(จึงติดสุข ฯ.)ในองค์ฌานหรือสมาธิ

          กล่าวสรุปโดยย่อ มีสติระลึกรู้เท่าทันว่า "จิตหดหู่ใจ"  ก็ให้พิจารณา(ธรรมวิจยะ)เช่นว่า เกิดมาแต่เหตุปัจจัยใด? เป็นอนุสัย? เป็นอาสวะกิเลส? ฯลฯ. ด้วยความเพียร(วิริยะ)ไม่ปล่อยให้ไหลเลื่อนไปตามยถากรรมในจิตหดหู่นั้น  เมื่อเห็นเข้าใจในธรรมหรือเหตุปัจจัยเหล่านั้น  ย่อมเกิดปีติความสบายใจความยินดีหรือความอิ่มเอิบใจ  จึงคลายจากความหดหู่ใจ เหี่ยวแห้งใจนั้นได้  และจิตหดหู่อันเกิดจากเหตุนั้นก็เป็นอันรู้แล้ว ก็จะไม่ยังผลดังนั้นขึ้นอีก

        และอยู่กับปัจจุบันจิต อย่าคิดนึกปรุงแต่งถึงอดีตที่ผ่านมาแล้ว และอนาคตที่ยังไม่ถึงและไม่แน่นอน  หมายถึงทําสิ่งในปัจจุบันที่เกิดที่เป็น หรือทําหน้าที่ให้ดีที่สุด แล้วอุเบกขา ไม่ปรุงแต่งทั้งทางดีหรือชั่วอันยังให้เกิดเวทนา..ตัณหา..อุปาทาน อันเป็นทุกข์

        และยังทรงกล่าวถึงวิธีระงับความฟุ้งซ่าน ความรำคาญใจ จากการคิดปรุงแต่งต่างๆนาๆทั้งด้านสุขหรือทุกข์,  โดยใช้ ธรรม ๔ ข้อของสัมโพชฌงค์ ๗  อันมี

        ๑. สติสัมโพชฌงค์ (ข้อ๑) มีสติระลึกรู้เท่าทันว่า ฟุ้งซ่าน  คิดปรุงแต่งต่างๆนาๆ

        ๒. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ (ข้อ๕) คือผ่อนคลายทั้งกายและใจ ไม่ตั้งจิตหรือกายอย่างเคร่งเครียด  ให้สงบกายใจ

        ๓. สมาธิสัมโพชฌงค์ (ข้อ๖) จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กําหนด ไม่วอกแวก อยู่กับกิจหรืองานที่ทํา หรือสมาธิ  หรืออยู่ในการพิจารณาธรรมอย่างตั้งมั่น(สมาธิที่ใช้ในวิปัสสนา)  อันเป็นอุบายวิธีเพื่อละความฟุ้งซ่านซัดส่ายส่งไปภายนอก ไปคิดนึกปรุงแต่งให้เกิดเวทนาอันอาจเกิดตัณหา ที่ก่อให้เกิดทุกข์ต่อเนื่องวนเวียนอยู่ในชรานั่นเอง

        ๔. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ (ข้อ๗) รู้ตามความเป็นจริงในสิ่ง(ธรรม)นั้น เมื่อปรุงแต่งต่างๆนาๆขึ้นมาแล้ว ก็ต้องวางใจเป็นกลางวางเฉย, วางเฉยโดยการไม่เอนเอียงแทรกแซงไปคิดนึกปรุงแต่งต่อไปอีกทั้งในด้านดีหรือชั่ว กล่าวคือ ย่อมเกิดผลใดขึ้น เช่น เป็นสุขเป็นทุกข์ก็ตามที  ก็ไม่ไปปรุงแต่งให้เกิดเวทนาต่างขึ้นอีก อันจักเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาความอยาก และอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ  กล่าวคือไม่ปรุงแต่งไม่ว่าจะ ดีก็ไม่ ชั่วก็ไม่  /  บุญก็ไม่ บาปก็ไม่  /  สุขก็ไม่ ทุกข์ก็ไม่ คือไม่ปรุงแต่งยึดถือนั่นเอง เช่น ยึดว่าเราถูกก็ไม่ / ยึดว่าเขาผิดก็ไม่  แล้วมันก็ดับไปเอง

          กล่าวสรุปการปฏิบัติโดยย่อ  มีสติระลึกรู้เท่าทัน(สติ)ว่า "ฟุ้งซ่าน คิดนึกปรุงแต่งไม่หยุดหย่อน"  เมื่อรู้ตัวมีสติดังกล่าวแล้วก็ให้ผ่อนคลายกายใจให้สงบลงเสียก่อน(ปัสสัทธิ)  เมื่อสงบลงแล้ว ก็มี "สติ ที่ตั้งมั่น"(สติที่ประกอบด้วยสมาธิคือมีความต่อเนื่องหรือตั้งมั่น) อยู่ใน"อุเบกขา" กล่าวคือ เป็นกลางต่อสังขารนั้น ด้วยการกระทำที่ไม่แทรกแซงไม่เอนเอียงเข้าไปปรุงแต่งในเรื่องนั้นๆ.

http://www.nkgen.com/35.htm

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
หลักปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: 30 พฤษภาคม 2021, 11:45:04 »
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ


 บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสติปัฏฐาน โดยเฉพาะในหมวดธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ตั้งสติ หรือ สติตั้ง ตามดูธรรมะคือเรื่องในจิตใจ ได้ทรงแสดงนิวรณ์ ๕ ทรงแสดงขันธ์ ๕ ทรงแสดงอายตนะ ๖ และไม่ใช่ทรงแสดงจำเพาะ นิวรณ์ ขันธ์ อายตนะ ยังแสดงถึงวิธีปฏิบัติในการละนิวรณ์ ในการกำหนดรู้ขันธ์ ๕ ในการกำหนดรู้อายตนะภายนอกภายใน ภายในภายนอก และสังโยชน์ที่บังเกิดอาศัยอายตนะทั้ง ๒ มาประจวบกัน และการละสังโยชน์ จึงมีวิธีปฏิบัติธรรมะในข้อเหล่านั้น

ธรรมะอันแสดงถึงวิธีปฏิบัติธรรม

ฉะนั้น เพื่อจะทรงแสดงวิธีปฏิบัติธรรมะในข้อเหล่านั้น คือในการละนิวรณ์เป็นต้นดังกล่าว จึงได้ตรัสหมวดโพชฌงค์ต่อไป โพชฌงค์นี้จึงเป็นหมวดธรรมะสำคัญ อันแสดงถึงวิธีปฏิบัติธรรมะนั้นเอง ในการปฏิบัติธรรมะทั้งปวงที่จำแนกโดยปริยายคือทางแสดงต่างๆ ยกตัวอย่าง เช่น สมถกรรมฐาน กรรมฐานที่เป็นไปเพื่อสมถะคือความสงบใจ โดยวิธีทำสมาธิตั้งจิตมั่นให้เป็นอารมณ์อันเดียว วิปัสสนากรรมฐาน กรรมฐานที่เป็นไปเพื่อวิปัสสนาความเห็นแจ้งรู้จริง อันเป็นวิปัสสนาปัญญา วิธีปฏิบัติทั้ง ๒ นี้ ก็ต้องเป็นโพชฌงค์นั้นเอง คือเป็นวิธีปฏิบัติในโพชฌงค์ เพราะฉะนั้น โพชฌงค์จึงเป็นหลักธรรมะอันสำคัญ ที่ผู้ปฏิบัติธรรมะพึงใช้ปฏิบัติ ตามแนวโพชฌงค์นั้น ในธรรมปฏิบัติทั้งปวง

โพชฌงค์ ๗

คำว่า โพชฌงค์ นั้นตามศัพท์แปลว่าองค์คุณ หรือองค์สมบัติแห่งความตรัสรู้

พระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายไว้ว่า เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ คือธรรมะที่เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ เรียกว่าโพชฌงค์ ซึ่งมี ๗ ประการ อันได้แก่

สติโพชฌงค์ หรือ สติสัมโพชฌงค์ โพชฌงค์ หรือ สัมโพชฌงค์คือสติ

ธัมมวิจยโพชฌงค์ หรือ ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ โพชฌงค์ หรือ สัมโพชฌงค์คือธัมมวิจยะเลือกเฟ้นธรรม

วิริยะโพชฌงค์ หรือ วิริยะสัมโพชฌงค์ โพชฌงค์ หรือ สัมโพชฌงค์คือวิริยะความเพียร

ปีติโพชฌงค์ หรือ ปีติสัมโพชฌงค์ โพชฌงค์ หรือ สัมโพชฌงค์คือปีติความอิ่มเอิบใจ

ปัสสัทธิโพชฌงค์ หรือ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ โพชฌงค์ หรือ สัมโพชฌงค์คือปัสสัทธิความสงบรำงับ

สมาธิโพชฌงค์ หรือ สมาธิสัมโพชฌงค์ โพชฌงค์ หรือ สัมโพชฌงค์คือสมาธิความตั้งใจมั่น

อุเบกขาโพชฌงค์ หรือ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ โพชฌงค์ หรือ สัมโพชฌงค์ คืออุเบกขาความเข้าไปเพ่งเฉยอยู่ สงบอยู่ในภายใน

รวมทั้ง ๗ ประการ

อาหารของโพชฌงค์ ๗

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอาหารของโพชฌงค์หรือสัมโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้ไว้ ว่าเหมือนอย่างร่างกายต้องอาศัยอาหาร แม้โพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ก็ต้องอาศัยอาหาร จึงจะบังเกิดขึ้นเจริญขึ้น และอาหารของโพชฌงค์หรือสัมโพชฌงค์นี้ก็มี ๒ อย่าง คือ อาหารที่จำเพาะข้ออย่างหนึ่ง อาหารที่ทั่วไปแก่ทุกข้ออย่างหนึ่ง

สำหรับอาหารที่ทั่วไปทุกข้อนั้นได้แก่การทำไว้ในใจ การกระทำให้มากโดยแยบคาย เรียกตามศัพท์แสงว่า โยนิโสมนสิการ พหุลีการ

มนสิการ ก็คือทำไว้ในใจ พหุลีการ ก็คือการกระทำให้มาก โยนิโส ก็คือโดยแยบคาย ได้แก่โดยพิจารณาให้จับให้ได้ถึงต้นเหตุ อันหมายถึงว่าจับเหตุจับผล จับต้นจับปลายให้ถูกต้อง

ส่วนอาหารจำเพาะข้อนั้น

ข้อที่ ๑ คือ สติ ตรัสแสดงเป็นกลางๆ ว่า ธรรมะทั้งหลายที่เป็นที่ตั้งของสติ

ข้อที่ ๒ ธัมมวิจยะ หรือธรรมวิจัยเลือกเฟ้นธรรม ตรัสแสดงว่าคือธรรมะที่เป็นกุศลเป็นอกุศล ที่มีโทษไม่มีโทษ ที่เลวที่ประณีต และที่มีส่วนเทียบได้กับสีดำสีขาว

ข้อ ๓ วิริยะ ความเพียร ก็ได้แก่ อารัมภธาตุ ธาตุคือความริเริ่ม นิคมธาตุ ธาตุคือความเริ่ม ธาตุคือความดำเนินไป ปรักมธาตุ ธาตุคือความดำเนินให้ก้าวหน้าไปจนถึงที่สุด

ข้อ ๔ ปีติ ตรัสแสดงว่าได้แก่ธรรมะที่เป็นที่ตั้งของปีติ

ข้อที่ ๕ ปัสสัทธิ ตรัสแสดงว่าได้แก่กายปัสสัทธิสงบกาย ปัสสัทธิสงบใจ

ข้อที่ ๖ สมาธิ ตรัสแสดงว่าได้แก่สมาธินิมิต นิมิตคือเครื่องกำหนดหมายแห่งสมาธิ และ อัพยฆะ อันได้แก่ความที่จิตไม่แตกแยกแบ่งแยก แต่มียอดเป็นอันเดียวไม่หลายยอด คือไม่แตกยอดมาก ก็คือจิตที่รวมเป็นหนึ่ง

ข้อที่ ๗ อุเบกขา ตรัสแสดงว่าธรรมะที่เป็นที่ตั้งของอุเบกขา

หลักโพชฌงค์ในหมวดนิวรณ์

คราวนี้มาข้อที่ ๑ อาหารจำเพาะข้อ ได้แก่ธรรมะที่เป็นที่ตั้งของสติ ก็คือว่าสุดแต่จะปฏิบัติในข้อไหน ก็ต้องตั้งสติในข้อนั้น เช่นว่า จะปฏิบัติในข้อนิวรณ์ ก็ต้องตั้งสติกำหนดนิวรณ์ คือต้องตั้งสติกำหนดกามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในกาม คือความชอบในจิตใจที่บังเกิดขึ้น ตั้งสติกำหนดพยาบาท คือความกระทบกระทั่ง หงุดหงิดโกรธแค้นขัดเคือง มุ่งร้ายหมายขวัญ ที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ ตั้งสติกำหนดให้รู้จักถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ ตั้งสติกำหนดให้รู้จักอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ ตั้งสติกำหนดให้รู้จักวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ ที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ คือให้รู้จักว่าข้อไหนบังเกิดขึ้นอย่างไรในจิตใจ นี่เป็นสติสถานด้วย เป็นสติปัฏฐานด้วย และสืบต่อเป็นสติสัมโพชฌงค์ด้วย อันนับว่าเป็นข้อแรก

ธรรมวิจยะ เลือกเฟ้นธรรม

จึงมาถึงข้อที่ ๒ วิจัยคือเลือกเฟ้นธรรม ก็คือเลือกเฟ้นธรรมอันได้แก่นิวรณ์ทั้ง ๕ ข้อนี้ทุกข้อ ให้รู้จักว่านิวรณ์ทั้ง ๕ ข้อนี้ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล มีโทษหรือไม่มีโทษ เลวหรือประณีต เป็นสิ่งที่มีส่วนเทียบด้วยสีดำหรือสีขาว เมื่อเลือกเฟ้นดูที่จิตแล้วก็ให้รู้ว่านิวรณ์ทั้ง๕ นี้เป็นอกุศลมีโทษ เลวมีส่วนเทียบด้วยสีดำ ดั่งนี้เป็นธัมมวิจัยคือเลือกเฟ้นธรรม

วิริยะ ความเพียร

จึงมาถึงข้อ ๓ วิริยะคือความเพียร

อันความเพียรนั้นกล่าวโดยย่อ ก็คือ ปหานะ เพียรละอย่างหนึ่ง ภาวนา เพียรอบรมให้มีขึ้นเป็นขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าหากว่าเป็นอกุศล มีโทษ เลว มีส่วนเทียบด้วยสีดำ ก็ควรละ ไม่ควรเก็บไว้ แต่ถ้าเป็นกุศล ไม่มีโทษ ดี ประณีต มีส่วนเทียบด้วยสีขาว ก็อบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น คือรักษาไว้ และอบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ให้เจริญขึ้น นิวรณ์นั้นเป็นอกุศล มีโทษ ดำ มีเป็นอกุศล มีโทษ เลว มีส่วนเทียบกับสีดำ จึงควรละ จึงปฏิบัติละเสีย ดั่งนี้ก็เป็นวิริยะโพชฌงค์หรือสัมโพชฌงค์

ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา

จึงมาถึงข้อ ๔ คือปีติ คือความอิ่มเอิบใจ คือเมื่อละนิวรณ์ได้ก็ย่อมจะมีปีติคือความอิ่มเอิบใจ เพราะว่าจิตใจที่มีนิวรณ์นั้น เป็นจิตใจที่เศร้าหมองไม่ผ่องใส เป็นจิตใจที่เครียด เป็นจิตใจที่มัวซัวไม่แจ่มใส เป็นจิตใจที่ไม่ตั้งมั่น ไม่แน่นอน กลับกลอกคลอนแคลน เพราะฉะนั้น จึงไม่มีปีติคือความอิ่มเอิบใจ แต่ว่าจิตใจที่ละนิวรณ์ได้ ที่พ้นนิวรณ์ได้แล้ว ย่อมเป็นจิตใจที่ใสสะอาด ที่ผุดผ่อง ผ่องใส จึงบังเกิดปีติคือความอิ่มเอิบใจ ดูดดื่มใจ

จึงส่งถึงข้อที่ ๕ ปัสสัทธิ ความสงบกายความสงบใจ เมื่อกายใจสงบมีสุข ก็ส่งถึงข้อที่ ๖ คือสมาธิ จิตใจก็ตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่านกระสับกระส่าย แน่วแน่ เมื่อได้ข้อนี้ซึ่งเป็นข้อที่ ๖ ก็ส่งถึงข้อ ๗ คืออุเบกขา คือความที่จิตเข้าไปเพ่งเฉยอยู่ในภายในด้วยปัญญา ที่ละยินดีละยินร้ายได้ สงบอยู่ในภายในเป็นอุเบกขา อันเป็นข้อที่ครบ ๗

เพราะฉะนั้น แม้ในข้อนิวรณ์นี้ ก็ต้องอาศัยปฏิบัติตามหลักของโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้ จึงจะเป็นไปในการละนิวรณ์ได้ และได้ผลจากการละนิวรณ์ ตามหลักของโพชฌงค์ดังกล่าว

หลักโพชฌงค์ในหมวดขันธ์ ๕

แม้ในหมวดที่แสดงขันธ์ ๕ ก็เช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนให้กำหนดสติ พร้อมทั้งสติสัมโพชฌงค์ในขันธ์ ๕ ให้รู้จักว่าอย่างนี้รูป อย่างนี้เวทนา อย่างนี้สัญญา อย่างนี้สังขาร อย่างนี้วิญญาณ (เริ่ม ๑๗๕/๒) ก็เป็นสติสัมโพชฌงค์ ต่อไปก็ให้มีธรรมวิจัยเลือกเฟ้นธรรม ว่าขันธ์ ๕ นี้เป็นธรรมะที่เป็นกลางๆ คือไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่มีคุณไม่ใช่มีโทษ ไม่ใช่เลวไม่ใช่ประณีต และไม่ใช่มีส่วนเทียบด้วยสีดำหรือสีขาว แต่เป็นกลางๆ

เพราะเป็นวิบากขันธ์ คือขันธ์ที่เป็นวิบาก ซึ่งทุกๆ คนได้ขันธ์ ๕ นี่มาตั้งแต่เกิด ก็อาศัยขันธ์ ๕ นี้เอง ทำดีบ้าง ทำชั่วบ้าง เพราะถ้าไม่มีขันธ์ ๕ แล้ว ทุกคนก็ไม่สามารถจะทำดีทำชั่วได้ ต้องอาศัยขันธ์ ๕ จึงทำดีทำชั่วได้ กรรมที่กระทำไปนั้น มีเป็นดี มีเป็นชั่ว แต่ว่าตัวขันธ์ ๕ เองเป็นเครื่องมือ ไม่ดี ไม่ชั่ว เช่นเดียวกับเครื่องมือทั้งหลาย เช่นว่ามีดพร้าซึ่งเป็นเครื่องมือนั้น สุดแต่คนจะใช้ให้เป็นคุณ หรือให้เป็นโทษ เมื่อใช้ในการหัตถกรรมต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการก่อสร้าง หรือในทางอื่นให้เกิดเป็นประโยชน์นั้นๆ ก็เป็นการดี แต่เมื่อใช้ในทางทำร้ายซึ่งกันและกัน ก็เป็นความชั่ว อยู่ที่กรรมที่คนใช้เครื่องมือนี้กระทำขึ้นมา แต่ตัวมีดพร้าที่เป็นเครื่องมือเองนั้นเป็นกลางๆ ไม่ใช่เป็นของดีไม่ใช่เป็นของชั่วดังที่กล่าวแล้ว ฉันใดก็ดี ขันธ์ ๕ ก็ฉันนั้น เป็นกลางๆ

เพราะฉะนั้น หน้าที่ซึ่งพึงปฏิบัติในขันธ์ ๕ นั้น ซึ่งเป็นความเพียร จึงไม่ใช่เป็นความเพียรเพื่อที่จะละ หรือความเพียรที่จะอบรม แต่ว่าเป็นความเพียรที่กำหนดรู้ กำหนดรู้ให้รู้จักว่า ความเกิดขึ้นของขันธ์ ๕ เป็นอย่างนี้ ความดับไปของขันธ์ ๕ เป็นอย่างนี้ คือให้รู้จักธรรมดา อันได้แก่ความเกิดความดับของขันธ์ ๕ นี้เป็นความเพียรอันเป็นวิริยสัมโพชฌงค์

และเมื่อได้ปฏิบัติด้วยความเพียรอันเป็นวิริยสัมโพชฌงค์ดั่งนี้ ก็ย่อมจะได้ปีติ เป็นปีติสัมโพชฌงค์ และก็จะได้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ไปโดยลำดับ ฉะนั้นแม้ในหมวดขันธ์ ๕ นี้ วิธีปฏิบัตินั้นก็ต้องใช้วิธีปฏิบัติในโพชฌงค์ ๗ นี้นั้นเอง

หลักโพชฌงค์ในหมวดอายตนะ

และมาถึงหมวดอายตนะก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องใช้สติ เป็นสติปัฏฐาน เป็นสติสัมโพชฌงค์ กำหนดให้รู้จักว่านี่อายตนะภายใน นี่อายตนะภายนอก แล้วก็นี่อาศัยอายตนะภายในอายตนะภายนอกเกิดสัญโญชน์ขึ้นมา นี้เป็น สติสัมโพชฌงค์ ต่อไปก็ให้มี ธัมมวิจย เลือกเฟ้นธรรม หรือวิจัยธรรม เป็นข้อที่ ๒ คือให้รู้จักว่าสำหรับตัวอายตนะเองนั้นก็เป็นธรรมะที่เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว เหมือนอย่างขันธ์ ๕ เพราะเป็นวิบากอายตนะ เช่นเดียวกับเป็นวิบากขันธ์ที่ทุกคนได้มาตั้งแต่เกิด แต่ว่าตัวสัญโญชน์นั้นคือความผูกใจ มีลักษณะเป็นความติดใจยินดี เป็นอกุศลธรรม มีโทษ เลว และมีส่วนเทียบด้วยสีดำ เพราะฉะนั้น จึงเป็นข้อที่ควรละ ดั่งนี้ก็เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ จึงมาถึงวิริยสัมโพชฌงค์ ก็เพียรละสัญโญชน์เสีย และเมื่อเพียรละก็ย่อมจะละได้ และเมื่อละได้ก็ย่อมได้ปีติ ได้ปัสสัทธิ ได้สมาธิ ได้อุเบกขา ไปโดยลำดับ เพราะฉะนั้น แม้ในข้ออายตนะ ๖ นั้น ก็ต้องอาศัยวิธีปฏิบัติคือโพชฌงค์ทั้ง ๗ ดังกล่าวมานี้

ฉะนั้น โพชฌงค์ ๗ จึงเป็นหลักธรรมสำคัญ ซึ่งต้องใช้ปฏิบัติมาตั้งแต่ในเบื้องต้น คือในหมวดสติปัฏฐาน ๔ นี้เอง ที่เป็นมหาสติปัฏฐานสูตร จำแนกแสดงหมวดกายไว้เป็นอันมาก หมวดจิต หมวดเวทนา และในหมวดธรรมะข้อ ๔ นี้เอง เป็นอันมาก ทุกข้อนั้นก็ตั้งต้นด้วยสติปัฏฐาน คือตั้งสติกำหนด และก็เลื่อนขึ้นเป็นสติสัมโพชฌงค์ ต้องใช้โพชฌงค์ทั้ง ๗ ข้อนี้ในทางปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ทุกข้อมา ตั้งแต่ต้นมาทีเดียว

คือตั้งแต่หมวดอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออกมาทีเดียว ต้องอาศัยหลักปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้มาทุกข้อในเบื้องต้น และก็ต้องอาศัยโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ เป็นหลักปฏิบัติต่อไปในข้อปลายต่อไปคืออริยสัจจ์ทั้ง ๔ โพชฌงค์จึงเป็นธรรมะ เป็นๆ หมวดธรรมที่เป็นหลักสำคัญ ดั่งนี้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/sd-262.htm