ผู้เขียน หัวข้อ: ตลกร้าย!เมื่อสมุนไพรไทย3ตัวอาจมีศักยภาพยับยั้งเชื้อโควิด-19ได้ดีกว่าฟาวิพิราเวีย  (อ่าน 371 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
ในภาวะฉุกเฉินที่เกิดโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 เมื่อปี 2563 ประเทศไทยได้ตัดสินใจใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ตามประเทศจีนและญี่ปุ่นในช่วงแรก เหตุก็เพราะยาฟาวิพิราเวียร์ซึ่งผลิตโดยบริษัทฟูจิฟิล์มนั้นเป็นยาสำหรับต้านไข้หวัดใหญ่ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเป็นที่เข้าใจได้

ในผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อปี 2563 ประเทศไทยยังไม่ได้มีวัคซีน แต่ก็ใช้มาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด ในเวลานั้นผู้ป่วยที่ถูกกักตัวก็ใช้เพียงการเฝ้าดูอาการ หรือได้รับยาแก้ไขตามอาการเพียงเล็กน้อยบ้าง (เช่นยาลดไข้ ยาแก้ไอ ฯลฯ) หากไวรัสลงปอด ทำให้ปอดอักเสบ จึงเข้าสู่กระบวนการรักษาในโรงพยาบาล

การรักษาผู้ป่วยเมื่อปี 2563 นั้น แพทย์แผนปัจจุบันได้ใช้แนวทางในการรักษาหลายวิธีผสมผสานกัน ทั้งการใช้เครื่องดูดเสมหะในห้องความดันติดลบ การใช้สเตียรอยด์เพื่อหยุดยั้งการอักเสบฉุกเฉิน และใช้ยาแก้ไขอาการต่างๆ รวมถึงยาฟาวิพิราเวียร์ ในฐานะยาที่ “เชื่อว่า” เป็นยาต้านไวรัสที่ได้ทดลองใช้จริงดูเผื่อจะต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้

แต่แพทย์แผนปัจจุบันก็สามารถรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี จนมีอัตราการเสียชีวิตต่ำที่สุดในระดับโลก ชื่อเสียงของแพทย์ไทยได้ถูกยกย่องจากแพทย์ในประเทศจีนว่าประเทศไทยมีหมอมือดี (Good hand) ในการรับมือกับโควิด-19 ได้อย่างเยี่ยมยอด

แม้ในเวลานั้นจะไม่มีใครมานั่งแยกแยะว่าการที่ผู้ป่วยอาการดีขึ้นในยามฉุกเฉินเมื่อปี 2563 นั้นเป็นเพราะยาฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ แต่ด้วยการให้เกียรติแพทย์ในภาวะฉุกเฉิน คนไทยจึงพร้อมใจที่จะ “เชื่อหมอ” ในการใช้ “ยาฟาวิพิราเวียร์”
แม้“ยาฟาวิพิราเวียร์”จะไม่มีการวิจัยทดลองในหลอดทดลองกับเชื้อโควิด-19 มาก่อน หรือ วิจัยการทดลองในหนูมาก่อนเลย แต่ทุกคนก็ตระหนักได้ว่า โควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่จึงไม่มีใครจะไปรอการวิจัยได้ ยาฟาวิพิราเวียร์จึงเสมือนเป็นขอนไม้ในมหาสมุทรที่ลอยน้ำอยู่ต้องคว้าไว้ก่อน และอยู่ในสถานภาพ“ยาที่ใช้ในยามฉุกเฉิน”

ตรงกันข้ามกับ“ฟ้าทะลายโจร” ซึ่งเป็นสมุนไพรพื้นฐาน เป็นยาสามัญประจำบ้าน เป็นยาแผนโบราณของการแพทย์แผนไทย ที่ใช้กับการรักษาโรคไข้หวัด เจ็บคอ ไอ ในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน แต่กลับถูกกีดกั้นและทำลายความน่าเชื่อถือตั้งแต่เริ่มแรกว่าฟ้าทะลายโจรจะช่วยป้องกันหรือรักษาโรคโควิด-19 ได้นั้น เป็นเฟกนิวส์ และไม่สามารถนำมาใช้ได้ในฐานะ “ยาที่ใช้ในยามฉุกเฉิน” เหมือนกับยาฟาวิพิราเวียร์

คงเป็นเพราะฐานความคิดเริ่มต้นไม่มีใครคิดและเชื่อได้ว่า โรคโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก จะไปหายป่วยด้วยสมุนไพรพื้นบ้านอย่างฟ้าทะลายโจรได้ง่ายๆ อย่างไร

“ฟ้าทะลายโจร” จึงถูกเริ่มต้นด้วยการให้ไปทดสอบในหลอดทดลองเสียก่อน จนกระทั่งวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 งานวิจัยเริ่มออกมาพบว่าสารสกัดรวมๆและสารสำคัญของสมุนไพร 3 ชนิด ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร ขิง และกระชาย(ขาว) สามารถยับยั้งเชื้อโควิด-19 ได้ในหลอดทดลอง

ซึ่งในขณะนั้นก็ยังไม่มีแม้กระทั่งความชัดเจนว่าในความเป็นจริงแล้วยาฟาวิพิราเวียร์จะสามารถทดสอบยับยั้งเชื้อโควิด-19 ได้เหมือนกับสมุนไพร 3 ตัว คือ ฟ้าทะลายโจร ขิง กระชาย หรือไม่

จนกระทั่งเดือนมกราคม 2564 นายแพทย์กุลธนิต วนรัตน์ จากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานว่า ดร.สุภาพร ภูมิอมร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้วิจัยพบเรื่องสำคัญว่าสารสกัดหยาบ (ไม่แยกสารสำคัญตัวใดตัวหนึ่งออกมา) มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสโควิก-19 ดีกว่าสารแอนโดรกราโฟไลด์ (ซึ่งเป็นสารสกัดจากฟ้าทะลายโจร)อย่างมีนัยสำคัญ

โดยเมื่อเทียบในหน่วยเดียวกันในการยับยั้งเชื้อผ่านค่า IC50 (ยิ่งตัวเลขน้อยยิ่งดี) แล้วพบว่าสารสกัดหยาบฟ้าทะลายโจรมีค่า IC50 “น้อยกว่า” 1 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ในขณะที่สารแอนโดรกราโฟไลด์มีค่า IC ที่ 15.6 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร

แต่ถึงกระนั้นแล้วกว่าที่ฟ้าทะลายโจรจะยอมรับได้ ก็ยังต้องทดสอบเบื้องต้นความปลอดภัยกับผู้ป่วย 5 คน โดยต้องเป็นคนแข็งแรง ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย เพราะอาการหนักจะต้องไปใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ทันที และในที่สุดการทดสอบ “ฟ้าทะลายโจร” ไม่เพียงแค่ปลอดภัยเท่านั้น แต่ผู้ป่วย 5 คนแรก ที่ใช้ฟ้าทะลายโจรยังมีการติดเชื้อน้อยลง อาการลดลง และหายป่วยได้ภายใน 5 วันเท่านั้น

แต่ในที่สุดงานิวิจัยก็มีความชัดเจนมากขึ้นไปอีก โดยคณะนักวิจัยไทยได้วิจัยและตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Natural Products ของประชาสังคมเคมีแห่งสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564 โดยผลการทดลองในหลอดพบว่า

ฟ้าทะลายโจรและสารสกัดแอนโดรกราโฟไลด์สามารถยับยั้งเชื้อโควิด-19 ในเนื้อเยื่อปอดของมนุษย์ได้ และฟ้าทะลายโจรยังปลอดภัยต่ออวัยวะอื่นๆของมนุษย์ด้วย และยังทำให้เห็นเมื่อเทียบกับงานวิจัยในหลอดทดลองก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 พบว่าในกลุ่มสารสกัดหยาบด้วยกัน ฟ้าทะลายโจรอาจลดเชื้อโควิด-19 ได้มากกว่า สารสกัดจากขิง และสารสกัดกระชายขาว

อย่างไรก็ตามฟ้าทะลายโจรได้ถูกอนุญาตให้วิจัยต่อในผู้ป่วยโควิด-19 ได้โดยให้ใช้กับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย และสงวนเอาไว้ว่าหากผู้ป่วยหนักแล้ว จะต้องให้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์เท่านั้น (ทั้งๆยาฟาวิพิราเวียร์ยังไม่ได้วิจัยแม้กระทั่งในหลอดทดลองเลย)

จนกระทั่งวันที่ 19 เมษายน 2564 วารสารด้านยาต้านจุลชีพและคีโมบำบัด หรือ Anti-microbial Agents and Chemotherapy ซึ่งอยู่ภายใต้ประชาสังคมอเมริกันเพื่อจุลชีววิทยา ได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยของสถาบันโรคติดเชื้อแห่งญี่ปุ่น พบว่ายาฟาวิพิราเวียร์ต้านเชื้อโควิด-19ในหลอดทดลองได้น้อยมากเมื่อเทียบกับยาอื่นๆ

รายงานในหลอดทดลองนี้ จึงเป็นคำอธิบายที่สอดคล้องกับรายงานข่าวก่อนหน้านี้ของสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 พบงานวิจัยการวิเคราะห์อภิมาน (Meta-Analysis) พบว่ายาฟาวิพิราเวียร์มีผลน้อยมากในการลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 ในกลุ่มที่มีอาการน้อยปานกลาง อันสะท้อนให้เห็นถึงยาฟาพาริราเวียร์ เป็นยาที่ให้ผลน้อยหรือประสิทธิศักย์ (Efficacy)ต่ำ

คำถามสำคัญในเวลานี้จึงมีอยู่ว่าเมื่อเวลาผ่านไป “ยาฟาวิพิราเวียร์”ให้ผลได้น้อยกับผู้ป่วยโควิด-19 เป็นไปได้หรือไม่ว่าการที่ผู้ป่วยอาการหนักดีขึ้นได้ด้วยฝีมือหมอมือดี (Good hand) นั้นเป็นการใช้สเตียรอยด์ เครื่องดูดเสมหะ และยาแก้อาการอื่นๆ โดยไม่ได้มียาต้านไวรัสโควิด-19 แต่ร่างกายฟื้นตัวด้วยระบบภูมิคุ้มกันในภาวะที่หยุดการอักเสบที่รุนแรง

และเมื่อเป็นเช่นนี้จะนำยาฟาวิพิราเวียร์ไปใช้กับใคร เมื่อยานี้ไม่ได้ฆ่าหรือยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ เราจะยังถือว่าการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ต่อไป เป็นวิทยาศาสตร์ได้หรือ?

แต่เรื่องที่น่าประหลาดใจไปกว่านั้นคือภายหลังการตีพิมพ์เรื่องข่าวร้ายของยาฟาวิพิราเวียร์จากงานวิจัยดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564 เพียงวันเดียว ปรากฏว่าวันที่ 20 เมษายน 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประชุมคณะรัฐมนตรีสั่งซื้อหายา “ฟาวิพิราเวียร์” ให้มีอยู่ในสต๊อกถึง 3.5 ล้านเม็ด เพราะอะไร?

ราคายาฟาวิพิราเวียร์มีราคาระหว่าง 120-150 บาทต่อเม็ด ภายหลังจากการตีพิมพ์ยาฟาวิพิราเวียร์ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2564 ได้ผลน้อยมากในหลอดทดลอง แต่ก็ยังใช้ต่อไปและซื้อต่อไปให้มีในสต๊อกมากถึง 3.5 ล้านเม็ด จึงมีมูลค่า 420 ล้านบาท ถึง 525 ล้านบาท จริงหรือไม่

ในขณะที่ยาฟ้าทะลายโจรเม็ดละ 1-2 บาทเท่านั้น หรือสารสกัดแอนโดรกราโฟไลด์ก็ไม่เกิน 5 บาทต่อเม็ด แถมยังมีผลการทดสอบที่เหนือกว่ายาฟาวิพิราเวียร์ คำถามคือการซื้อยาประเภทไหนจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนมากกว่ากัน

จนกระทั่งวันที่ 22 เมษายน 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศผลการวิจัยของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกว่าฟ้าทะลายโจรสามารถช่วยผู้ป่วยที่มีอาการน้อยถึงปานกลางลดอาการเชื้อลงปอด หรือปอดอักเสบลง

โดยผลจากการเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่ไม่ได้ใช้ฟ้าทะลายโจรจะมีอาการเชื้อลงปอด หรือปอดอักเสบประมาณ 14% แต่กลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้ใช้ฟ้าทะลายโจรจะมีอัตราการเชื้อลงปอด หรือปอดอักเสบเหลือ 0.97% เท่านั้น

และการที่มีความคืบหน้าเช่นนี้ยังจะเชื่อว่าฟ้าทะลายโจรเป็นเรื่องไสยศาสตร์ได้อยู่อีกหรือ และยังจะเรียกว่ายาฟาวิพิราเวียร์ต่อไปเป็นวิทยาศาสตร์ได้อยู่อีกหรือ?

และเมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ป่วยที่มีอาการหนักควรจะใช้อะไรระหว่างฟ้าทะลายโจร หรือ ยาฟาวิพิราเวียร์ต่อไป

น่าสนใจมากคือภายหลังจากการที่นายอนุทิน ชาญวีรกุล ประกาศให้ใช้ฟ้าทะลายโจรเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 นั้น ปรากฏว่าวันที่ 23 เมษายน 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นอกจากจะไม่กล่าวถึงเรื่องข่าวดีของฟ้าทะลายโจรแล้ว ยังประกาศออกทางโทรทัศน์ย้ำอีกครั้งถึงการเพิ่มสต๊อคยาฟาวิพิราเวียร์ความตอนหนึ่งว่า

“ผมขอยืนยันว่า รัฐบาลและ ศบค.มีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดในครั้งนี้อย่างเต็มที่ องค์การเภสัชกรรมได้มีการสำรองและกระจายยาฟาวิพิราเวียร์ สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวนมากกว่า 3 แสนเม็ด โดยมีการกระจายไปสำรองในพื้นที่ต่างๆแล้ว และกำลังนำเข้าเพิ่มอีก 2 ล้านเม็ด”

ต่อมาวันที่ 27 เมษายน 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งผลของคณะรัฐมนตรีในการกระชับอำนาจ ของ ศบค.ขึ้นอยู่กับอำนาจของนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว

หลังจากการรวบอำนาจให้คำสั่งเป็นเอกภาพแล้ว วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 7/2564 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดย “แขวน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขึ้นหิ้งเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการบูรณาการฯ โดยให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ

ความน่าสนใจดังกล่าวคือคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีข้าราชการระดับสูงรวมจำนวน 27 คนแต่กลับไม่ปรากฏรายชื่อตำแหน่ง “อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณาสุข” ในคณะกรรมการบูรณาการทางการแพทย์ฯ นั่นหมายความว่าจะไม่บูรณาการกับการแพทย์แผนไทยหรือไม่

เป็นเพราะไม่ต้องการบูรณาการกับฟ้าทะลายโจรหรือไม่ หรือต้องการที่จะบูรณาการกับยาฟาวิพิราเวียร์ต่อไปใช่หรือไม่

ด้วยความปรารถนาดี

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
20 พฤษภาคม 2564

21 พ.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์