หมวดหมู่ทั่วไป > ห้องพักผ่อนรวม (Common Room)

คนไทยชอบออนไลน์ใช้เน็ตวันละ 11ชั่วโมง

(1/1)

story:
เอ็ตด้าเผยผลสำรวจคนไทยชอบออนไลน์ใช้เน็ตวันละ 11.25 ชั่วโมง เพิ่มขึ้น 1.03 ชั่วโมง “เฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์” โซเซียลยอดนิยมในใจชาวออนไลน์

นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า เอ็ตด้า ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2563 ซึ่งมีผู้ร่วมตอบแบบสอบถาม 25,844 ราย ผลสำรวจออกมาพบว่า คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 11.25 ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 1.03 ชั่วโมง โดยปีแรกที่ เอ็ตด้า เริ่มทำผลสำรวจ คือปี 2556 คนไทยใช้เน็ตเฉลี่ยเพียงวันละ 4 ชั่วโมง 36 นาทีเท่านั้น คิดเป็นอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว
 
โดยมีปัจจัยจากการที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย มีเครือข่ายที่ครอบคลุม และ มีความจำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น จากบริการต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่ทำผ่านออนไลน์ นอกจากนี้ผลกระทบจากโควิด-19 เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยกระตุ้น ให้คนหันมาเลือกทำกิจกรรมออนไลน์เพิ่มมากขึ้น แทนการเดินทางเพื่อหลีกเลี่ยงการต้องพบปะผู้คนในที่สาธารณะอีกด้วย

ทั้งนี้เมื่อจำแนกตามวัน พบว่า ในวันเรียนหรือทำงาน มีการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยอยู่ที่ 11.23 ชั่วโมงต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1.31 ชั่วโมง ส่วนในวันหยุด มีการใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 11.29 ชั่วโมง ต่อวัน ลดลงจากปี ที่ผ่านมา 6 นาที และเมื่อแบ่งตามเจเนอเรชัน พบว่ากลุ่มเจน วาย (Gen Y ช่วงอายุ 20-39 ปี) มีการใช้อินเทอร์เน็ตมาก ที่สุดอยู่ที่ 12.26 ชั่วโมง รองลงมาคือ เจนซี (Gen Z อายุน้อยกว่า 20 ปี) จำนวน 12.08 ชั่วโมง และ กลุ่มเจนเอ็กซ์ (Gen X อายุ 40-55 ปี) จำนวน 10.20 ชั่วโมง และกลุ่ม เบบี้บูม (Baby Boomer อายุ 56-74 ปี) ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวน 8.41 ชั่วโมง
 
“ภาพรวมจำนวนชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตในวันเรียน หรือทำงาน ที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงในกลุ่ม เจนซี และเจนวาย ที่อยู่ในวัยเรียนหรือวัยทำงานเป็นกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยต่อวันมากที่สุดนั้น มาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีมาตรการปิดสถานศึกษาให้เรียนสอนแบบออนไลน์ และการทำงานจากที่บ้านหรือ เวิร์ก ฟรอม โฮม”
 
เมื่อดูกิจกรรมออนไลน์ยอดนิยม 10 อันดับแรก พบว่า
ใช้โซเซียลมีเดียต่างๆ จำนวน 95.3% 
รองลงมาคือ ดูหนังและฟังเพลงออนไลน์  85.0%
ค้นหาข้อมูล 82.2%
ติดต่อสื่อสารออนไลน์ 77.8%
รับ-ส่งอีเมล 69.0%
ซื้อสินค้าออนไลน์ 67.3%
อ่านข่าว และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์  64.2% 
เรียนออนไลน์ 57.5%
เล่นเกมออนไลน์ 56.8% และ 
ทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ 56.5%
 
“เฟซบุ๊ก ยูทูบ และไลน์ ยังคงเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ครองใจคนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ตอบแบบสำรวจฯ ยกให้ เฟซบุ๊ก เป็นอันดับที่หนึ่ง 98.29 รองลงมาคือ ยูทูบ คิดเป็น 97.5% และไลน์ 96.0% ขณะที่สื่อสังคมออนไลน์ที่กำลังมาแรงในไทยอย่างติ๊กต็อก ก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว มีผู้ใช้บริการ 35.8%”

อย่างไรก็ตามในการสำรวจฯครั้งนี้ ได้เพิ่มประเด็นเรื่อง ข่าวปลอม หรือเฟคนิวส์ พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจฯ เชื่อว่า มีเพียง 50.2% ของข้อมูลข่าวสาร ที่พบเห็นบนโลกอินเทอร์เน็ต เป็นข้อมูลจริง สามารถเชื่อถือได้ โดยไม่จำเป็นต้องตรวจสอบ แสดงให้เห็นว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยยังมีความเคลือบแคลง สงสัยถึงความน่าเชื่อของข้อมูลข่าวสารที่พบ และยังไม่ได้เชื่อข่าวที่พบเห็นบนโลกออนไลน์ทุกข่าวในทันที และ 94.7% ระบุว่า เคยพบเห็นข่าวปลอม หรือบนอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวอาจไม่ได้หมายถึงจำนวนผู้ตอบแบบสำรวจฯ ที่พบเห็นข่าวปลอมเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการพบเจอข่าวที่มีการแชร์กันว่าเป็นข่าวปลอมทั้งที่ผ่านการตรวจสอบและยังไมได้ผ่านการตรวจสอบอีกด้วย.

ศุกร์ที่ 9 เมษายน 2564
https://www.dailynews.co.th/it/836268

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version