หมวดหมู่ทั่วไป > ห้องพักผ่อนรวม (Common Room)

"ไฟไหม้"ภัยอันดับต้นคนกรุง สูญเสียสู่เรียนรู้วิธีเอาตัวรอด...

(1/1)

story:
ในพื้นที่ กทม. “อัคคีภัย” นับเป็นสาธารณภัยที่เกิดขึ้นบ่อยอันดับต้นๆโดยข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. สาเหตุการเกิดอัคคีภัยส่วนใหญ่มาจาก ไฟไหม้หญ้าและการเผาขยะ  รองมาคือไฟฟ้าลัดวงจร  เฉพาะช่วงปี 2560-ปัจจุบัน พบสาธารณภัยประเภทไฟไหม้หญ้า/ขยะ และไฟฟ้าลัดวงจร ดังนี้

               ปี 2560  ไฟไหม้หญ้า/ขยะ  2,170 ครั้ง  ไฟฟ้าลัดวงจร 785 ครั้ง
               ปี 2561  ไฟไหม้หญ้า/ขยะ  1,413 ครั้ง  ไฟฟ้าลัดวงจร 654 ครั้ง
               ปี 2562  ไฟไหม้หญ้า/ขยะ  3,085 ครั้ง  ไฟฟ้าลัดวงจร 638 ครั้ง
               ปี 2563  ไฟไหม้หญ้า/ขยะ  2,554 ครั้ง  ไฟฟ้าลัดวงจร 629 ครั้ง
               ปี 2564 (ม.ค.-มี.ค.)  ไฟไหม้หญ้า/ขยะ  712 ครั้ง ไฟฟ้าลัดวงจร 104 ครั้ง

               แต่ละปีนอกจากทรัพย์สินที่สูญเสียไป ในจำนวนนี้ยังมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งในส่วนประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปช่วยเหลือ  สถิติตั้งแต่ปี 2560 ถึงก.พ.64 เหตุเพลิงไหม้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บรวมแล้ว 475 ราย เสียชีวิต 56 ราย  ขณะที่มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บรวม 37 ราย   
               สถานที่เสี่ยงเกิดอัคคีภัยในกทม.ส่วนมากอยู่ในพื้นที่ชุมชนหนาแน่น อาคารขนาดใหญ่ อาคารสูง โรงงานอุตสาหกรรม ศูนย์การค้า สถานบันเทิง  ซึ่งจะสังเกตได้ว่ามักเป็นสถานที่มีการใช้ไฟฟ้า หรือเชื้อเพลิงจำนวนมาก  โดยฤดูร้อน ฤดูแล้ง และในห้วงเทศกาลสำคัญถือเป็นช่วงที่ต้องมีการจับตาและเฝ้าระวังการเกิดอัคคีภัยถี่ขึ้น

ทั้งนี้ หากจำแนกสถิติเพลิงไหม้อาคารตามเขตพื้นที่ในกทม.มากสุด 3 อันดับแรก แยกเป็นรายปีเฉพาะ 2560-ปัจจุบัน มีดังนี้
               ปี 2560  มีนบุรี 15 ครั้ง  บางแค 13 ครั้ง วัฒนา 12 ครั้ง
               ปี 2561 จตุจักร 16 ครั้ง  คลองเตย 14 ครั้ง  มีนบุรี 12 ครั้ง
               ปี 2562 คลองสามวา  บางกะปิ  ลาดกระบัง  เขตละ 14 ครั้ง
               ปี 2563 บางแค  ป้อมปราบศัตรูพ่าย  ภาษีเจริญ  เขตละ 11 ครั้ง
               ปี 2564(ม.ค.-มี.ค.) บางกะปิ 5 ครั้ง  จอมทอง/บางเขน/บางพลัด/ประเวศ  เขตละ 4 ครั้ง

               อุบัติเหตุซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้นจากเหตุไฟไหม้มีไม่บ่อยนัก  ผลพวงที่เห็นได้ชัดล่าสุดคือ ความตื่นตัวในการเรียนรู้หลักการพื้นฐานเมื่อต้องเผชิญเหตุ  “ชุมชนเมือง” มีโอกาสพูดคุยและขอคำแนะนำจากนักดับเพลิงที่ผ่านประสบการณ์ทำงานกว่า 20 ปี ควบคู่กับการทำหน้าที่เป็นวิทยากรสอนวิธีดับเพลิงและการเอาตัวรอดจากเหตุเพลิงไหม้  ซึ่งมีหลายข้อชี้แนะที่เป็นประโยชน์ เริ่มต้นสิ่งสำคัญเมื่อต้องเผชิญเหตุคือ “สติ”  เพราะหลายครั้งที่เกิดเพลิงไหม้หลายคนมักไม่มีสติ  จึงพยายามหนีตามสัญชาตญาณ ซึ่งบางครั้งเป็นการหนีที่มุ่งหน้าเข้าสู่กองเพลิง

               ต่อมาคือ“การช่างสังเกต”เมื่อเดินเข้า-ออก บริษัท หรือที่พักอาศัย  ต้องสังเกตที่ตั้งบันไดหนีไฟและจำให้เคยชินเพื่อหากเกิดเพลิงไหม้แล้วไฟดับ  หรือไฟฉุกเฉินไม่ทำงาน  จะได้คิดออกทันทีว่าต้องเดินออกทางใด  ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ควันไฟยังไม่มากและยังสามารถวิ่งลงบันไดไปด้านล่างอาคารได้  ให้รีบวิ่งลง  แต่หากมีควันไฟจำนวนมากแล้วให้พยายามก้มตัวลงต่ำแล้วคลานไปจนถึงบันไดหนีไฟ  เนื่องจากควันไฟจะลอยขึ้นสูง หากฝืนวิ่งฝ่าไปจะทำให้สำลักควัน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้

               อย่างไรก็ตาม  หากยังไปไม่ถึงบันไดหนีไฟแต่ควันเริ่มเยอะขึ้นให้“หาอุปกรณ์”นำไปชุบน้ำมาปิดจมูก เช่น ผ้าเช็ดหน้า เสื้อ หรือแม้แต่เสื้อชั้นในของผู้หญิงก็สามารถเป็นอุปกรณ์ป้องกันการสำลักควันไฟได้  จากนั้นให้คลานต่ำไปจนถึงบันไดหนีไฟ  ในระหว่างนี้ต้องคอยฟังประกาศให้ชัดว่าเกิดเพลิงไหม้ในบริเวณหรือชั้นใด เพื่อวางแผนหนีได้ถูกต้อง

               ปัจจุบันอาคารสูงทุกแห่งจะมีระเบียบบังคับให้ต้องกำหนดซ้อมแผนอพยพหนีไฟ ปีละ 1 ครั้ง การซักซ้อมถือเป็นเรื่องสำคัญ  ตั้งแต่การฟังกริ่งสัญญาเตือนภัย  การรีบวิ่งลงบันไดตามจุดที่ได้แบ่งไว้ และการมายังจุดรวมพล  ดังนั้น ต้องย้ำว่าให้ทุกคนตระหนักหากมีโอกาสซ้อมหนีไฟต้องตั้งใจปฏิบัติและจดจำขั้นตอน เพราะทุกขั้นตอนที่ซ้อมคือข้อเท็จจริงในการเอาชีวิตรอดเมื่อเกิดเพลิงไหม้

               ขณะที่การปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยของนักดับเพลิง  นักดับเพลิงมากประสบการณ์  ยอมรับว่ามีบางครั้งที่ประเมินผิดพลาดจนเกือบได้รับบาดเจ็บถึงชีวิต  แต่เพราะการมีคู่หูหรือบัดดี้  คู่กันเข้าไปในการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้รอดชีวิตมาได้  สิ่งสำคัญสำหรับนักดับเพลิง หรือนักผจญเพลิง เมื่อเข้าไปในอาคารคือการจับคู่บัดดี้เข้าไปทำงานด้วยกัน  และการฝึกซ้อมใช้อุปกรณ์ให้คล่องแคล่วเป็นประจำ  นอกจากนี้ยังต้องเชื่อฟังคำสั่งหัวหน้าชุดขณะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่  ทุกครั้งที่นักดับเพลิงทุกนายไปยังที่เกิดเหตุ  หัวหน้าทีมจะต้องเข้าไปรายงานตัวต่อผู้บัญชาการเหตุการณ์เพื่อแจ้งจำนวนลูกทีม และรับฟังคำสั่งการให้เข้าปฏิบัติงานในจุดต่าง ๆ จะได้ทราบตำแหน่ง หากเกิดเหตุไม่คาดคิด เช่นกรณีล่าสุดจะได้ทราบว่ามีผู้ปฏิบัติหายไปหรือไม่

               จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ทำให้เหล่าทีมนักดับเพลิงมีการพูดคุยกันถึงแนวทางการปฏิบัติงานที่ต้องรัดกุมมากขึ้น รวมถึงขั้นตอนการประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงอาคาร สถานที่ที่เข้าไปดับเพลิงที่อาจมีเกณฑ์ประเมินอื่นร่วมด้วย ไม่เพียงการประเมินหน้างาน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อความปลอดภัยสูงสุดทั้งตัวผู้ปฏิบัติหน้าที่และให้การช่วยเหลือมีความปลอดภัยกับทุกฝ่าย.... อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/bangkok/835364

5 เมษายน 2564
 https://www.dailynews.co.th/bangkok/835364

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version