ผู้เขียน หัวข้อ: ที่ดิน การเมือง เรื่อง ‘กระจายอำนาจ’ อย่าให้ชาวบ้านถูกตีตรา ‘ผู้บุกรุก’  (อ่าน 337 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ที่มา   หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียน   ทีมข่าวเฉพาะกิจ
เผยแพร่   วันที่ 26 มีนาคม 2564

เป็นเวลาถึง 13 ปี ของการต่อสู้และ 8 ปีที่รอคอยของชาวบ้านภาคใต้และนักปกป้องสิทธิฯ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เมื่อศาลปกครองมีคำพิพากษาเมื่อ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ให้กรมที่ดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิกถอนเอกสารสิทธิ 23 แปลงที่ออกโดยไม่ชอบให้กับบริษัทน้ำมันปาล์มภายในระยะ 180 วัน

เป็นอีกหนึ่งการต่อสู้ที่มาสู่ชัยชนะก้าวแรก ท่ามกลางปมปัญหาที่ดินอีกมากมาย รวมถึงกรณีกะเหรี่ยงบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ที่มีประเด็นร้อนต่อเนื่องแทบไม่เว้นวัน ต้องไปๆ กลับๆ ทำเนียบรัฐบาล หลังถูกฉีกเอ็มโอยู กระทั่งล่าสุดจี้ปลด ประสาน หวังรัตนปราณี ออกจากคณะทำงานของภาครัฐสำเร็จ เมื่อปรากฏคลิปพฤติกรรมและคำกล่าวชวนวิตกกังวลว่า ‘เหยียดชาติพันธุ์’ โดยเจ้าตัวยื่นลาออกเอง

เป็นช่วงเวลาที่ปัญหาที่ดินทำกินถูกขุดขึ้นมาตีแผ่ให้สังคมรับรู้ในวงกว้าง โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นกลางและคนเมืองที่อาจเคยมองเป็นเรื่องไกลตัว

ย้อนไปก่อนหน้าศาลปกครองพิพากษาเพียง 1 วัน สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ( สกต.) ร่วมกับ องค์กรโพรเทคชั่นอินเตอร์เนชั่นแนล จัดเวทีสาธารณะ หัวข้อ “น.ส.3 ทับเขตป่า จับตาคดีต้นแบบศาลปกครองเตรียมอ่านคำพิพากษา เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ได้มาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายของเอกชน สู่แนวทางการจัดการที่ดินแบบกรรมสิทธิ์ร่วมโฉนดชุมชน สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้”

มีประเด็นน่าสนใจชวนให้ร่วมขับคิดถึงปัญหาของผู้คนบนความเหลื่อมล้ำที่กว้างขึ้นทุกที

เหลื่อมล้ำสุดขีดด้วย ‘ปัญหาที่ดิน’
ภาษีอัตราก้าวหน้าคือคำตอบ
เปิดประเด็นแรกด้วยความเหลื่อมล้ำที่หลายภาคส่วนเคยเน้นย้ำกันมานาน เช่นเดียวกับการนำเสนอทางแก้ นั่นคือการปฏิรูปที่ดินและการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า

วิทยา อาภรณ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านที่ดินในประเทศไทยว่า สถิติจากกรมที่ดินเคยสำรวจไว้ พบว่า ประเทศไทยมีที่ดินรวม 320 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ที่ออกเป็นเอกสารสิทธิได้ 120 ล้านไร่ อีก 200 ล้านไร่ เป็นที่ดินที่ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ เช่น พื้นที่ชัน พื้นที่ป่าเขา หรือพื้นที่ทางทะเล อย่างไรก็ตามเมื่อไปดูตัวเลขในส่วนพื้นที่ที่ออกเอกสารสิทธิพบว่าในจำนวน 120 ล้านไร่ สัดส่วน 80 เปอร์เซ็นต์ ตกอยู่ในมือของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ถือครองที่ดินรายใหญ่อยู่ประมาณ 3 ล้านคน และยังมีข้อมูลอีกว่า มีคนเพียง 1 คน ถือครองที่ดินมากถึง 6.3 แสนไร่ แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน

“ที่ดินเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่จะนำมาเป็นฐานของทุนนิยม เป็นต้นทุนการผลิต คนที่มีที่ดินเพื่อการยังชีพจะถูกกดไว้ หรือ บีบบังคับไปสู่การถือครองกรรมสิทธิ์ที่สามารถแลกเปลี่ยนในตลาดได้ สุดท้ายแล้วกรรมสิทธิ์ที่ดินของแต่ละกลุ่มจะถูกดูดไปเป็นกรรมสิทธิ์ของคนกลุ่มเดียว คนที่มีทุนมาก ส่วนคนที่ใช้ชีวิตแบบยังชีพมีวิถีแบบในป่า ไม่มีเอกสารสิทธิ และยังเป็นพื้นที่ที่รัฐประกาศทับอยู่

ปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินของนายทุนนั้น ทำให้ที่ดินถูกทิ้งร้าง ที่ดินที่มีอยู่ใช้ประโยชน์ไม่ได้เต็มที่ เพราะเป็นการถือครองเพื่อเก็งกำไร ซึ่งที่ดินไม่เหมือนทรัพย์สินอื่น เช่น เพชรนิลจินดาที่ไม่ว่าจะไปกองกับใครก็จะไม่ส่งผลกระทบกับคนอื่น แต่ที่ดินนี้ถ้าไปกระจุกตัวกับคนใดคนหนึ่ง จะมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นการกระจายที่ดินเป็นเงื่อนไขสำคัญของการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ รัฐต้องใช้ความจริงใจในนโยบายเกี่ยวกับที่ดินที่อยู่ในมือของหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ส.ป.ก. ที่ดินอุทยานฯ ป่าสงวนฯ กรมธนารักษ์ ซึ่งที่ดินเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่สุจริต ไปขูดรีดชาวบ้านได้”

วิทยา เน้นว่า ปัญหาที่ดิน มาจากปัญหาของเรื่องการเมือง เรื่องของการกระจายอำนาจออกไปสู่กลุ่มคน ท้องถิ่น ที่ยังกระจุกไว้ที่ส่วนกลาง สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา คือ ต้องใช้กลไกการปฏิรูปที่ดิน ใช้ระบบภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ใครมีที่ดินเยอะเสียภาษีเยอะ นอกจากนี้ยังมีระบบกรรมสิทธิ์ของชุมชน โฉนดชุมชน ขณะเดียวกันเมื่อมีภาษีเพิ่มขึ้นอาจจะมีนายทุน ปล่อยที่ดินออกมา และถูกนายทุนอื่นช้อนซื้อได้ ดังนั้นจึงมีแนวทางธนาคารที่ดิน โดยธนาคารจะซื้อไว้เพื่อนำมาให้ประชาชนที่ไม่มีอำนาจต่อรองและต้องมีกองทุนยุติธรรม ให้ประชาชนเข้าถึงเงินประกันตัวในการต่อสู้คดีที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งการปฏิรูปที่ดิน คือการจำกัดการถือครองที่ดิน ที่ผ่านมาใน พ.ร.บ.ที่ดิน เคยมีการกำหนดการถือครองที่ดิน แต่ถูกประกาศคณะปฏิวัติปี 2502 ประกาศยกเลิก ถ้ายกเลิกประกาศคณะปฏิวัตินั้นได้ก็สามารถที่จะจำกัดการถือครองที่ดินได้

สิทธิร่วมชุมชนจัดการที่ดิน
แนวทางสร้างความมั่นคงยั่งยืน
มาถึงประเด็นกฎหมายที่ดินซึ่งนักสิทธิมนุษยชนตั้งข้อสังเกตว่ามี ‘ช่องว่าง’ ไม่ให้โอกาสคนจน

สุรพล สงฆ์รักษ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านที่ดิน ย้อนเล่าความเป็นมาของ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ว่าเป็นการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรและแรงงานไร้ที่ดินจำนวน 5 ชุมชน ในการเข้ามาตรวจสอบที่ดินของรัฐที่หมดสัมปทานหรือการอนุญาตให้บริษัทเอกชนทำประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งในการลงตรวจสอบพบว่าในบางพื้นที่ที่เป็นของรัฐมีบริษัทเอกชนที่ไม่เคยได้รับอนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้นๆ แต่กลับบุกรุกเข้าไปทำประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายมาเกือบ 40 ปี ในทางกลับกันชุมชนสันติพัฒนาซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนสมาชิกของ สกต.ที่ต่อสู้เรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน สิทธิในที่อยู่อาศัย และการบริหารจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน หรือสิทธิร่วมของชุมชน มาตั้งแต่ปี 2550 ต้องต่อสู้เผชิญหน้ากับบริษัทเอกชนที่เข้ามาบุกรุกในที่ดินในเขตของ ส.ป.ก. และพื้นที่ป่าไม้ถาวรของ กรมป่าไม้ จนไม่เหลือสภาพป่าเชิงประจักษ์ เพราะบริษัทได้ทำลายหมดไปนานแล้ว ยกเว้นพื้นที่ป่าชุมชน ประมาณ 100 ไร่ ที่สมาชิกชุมชนสันติพัฒนาได้ร่วมกับปลูกขึ้นมาใหม่ในระยะ 13-14 ปี ที่ผ่านมา

“ที่ผ่านมา สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้เรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐเข้ามาตรวจสอบการใช้ที่ดินจนกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงมาตรวจสอบในพื้นที่และพบว่ากรมที่ดินได้ออกเอกสารสิทธิ น.ส.3 ก. รับรองการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้กับบริษัทโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และเรียกร้องให้กรมที่ดินต้องเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวทั้งหมด 310 ไร่ แต่กรมที่ดินปล่อยปละละเลย ไม่ได้ดำเนินการเพื่อเพิกถอนเอกสารที่ออกโดยมิชอบ จนกลายมาเป็นใบอนุญาตที่ให้บริษัทเอกชนฟ้องร้องสมาชิกชุมชนสันติพัฒนาในข้อหาบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ ทำให้นักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินหลายสิบรายต้องถูกดำเนินคดีและถูกเรียกค่าเสียหายหลายล้านบาท รวมถึงถูกสั่งให้ขับไล่ออกจากที่ดินดังกล่าวด้วย สิ่งที่เราเรียกร้อง คือ การปฏิรูปที่ดิน สร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกร และคนจน ในการเข้าถึงที่ดินในฐานะเป็นฐานทรัพยากรและปัจจัยการผลิตขั้นพื้นฐานของเกษตรกร และการใช้แนวทางการบริหารจัดการร่วมกันภายใต้ระบบ สิทธิร่วมของชุมชนในที่ดิน และฐานทรัพยากรที่เป็นปัจจัยการผลิต เพราะแนวทางนี้จะทำให้เกษตรกรสามารถถือครองที่ดินได้อย่างมีความมั่นคงยั่งยืน สามารถปรับตัวและสร้างอำนาจต่อรองได้จริง”

กมธ.ที่ดินรับร้องเรียนกว่า 300 เรื่อง
แก้ได้แค่ 5 เปอร์เซ็นต์
ปิดท้ายด้วยข้อมูลจากฝั่งคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเปิดเผยว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนปมที่ดินกว่า 300 เรื่อง แต่แก้ไขได้แค่ 5 เปอร์เซ็นต์

สมชาย ฝั่งชลจิตร รองประธานคณะกรรมาธิการการที่ดินฯ เล่าว่า ที่ผ่านมามีประชาชนเดินทางเข้ามาร้องเรียนที่ กมธ.ที่ดินฯมากกว่า 300 เรื่อง โดยพบว่าปัญหาที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากนโนบายของรัฐที่ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิในที่ดินทำกิน มีด้วยกัน 3 กรณีคือ

1.การได้รับผลกระทบจากประกาศ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ทับที่ของชาวบ้านจนทำให้ชาวบ้านต้องกลายเป็นผู้บุกรุก ทั้ง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมและมีเอกสารกรรมสิทธิ์เดิมคือใบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) หรือใบใช้ประโยชน์ที่ดินในรูปแบบอื่น

2.การได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ทับพื้นที่ดั้งเดิมของชาวบ้าน เช่น กรณีของบางกลอย และพื้นที่เกาะที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่มาก่อนมีการประกาศ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติทางทะเล เช่น กลุ่มอุรักลาโว้ย หรือกลุ่มมอแกนก็ได้รับผลกระทบในนโยบายนี้เช่นกัน

3.การได้รับผลกระทบจากกรณีที่ ส.ป.ก. ออกประกาศพื้นที่ของ ส.ป.ก.ทับพื้นที่ของชาวบ้านอีกเช่นกัน โดยทั้ง 3 กรณีนี้แม้ชาวบ้านจะพยายามต่อสู้เพื่อให้ได้เอกสารสิทธิมากแค่ไหนแต่กระบวนการของราชการก็เบียดขับให้คนตัวเล็กเข้าไม่ถึงระบบของการออกเอกสารสิทธิโดยชอบธรรมอยู่ดี

“ที่ผ่านมาสามารถดำเนินการแก้ไขไปให้ประชาชนเพียงร้อยละ 5 จากเรื่องที่ชาวบ้านร้องเรียนมาทั้งหมด โดยอุปสรรคที่พบ คือ ความล่าช้าของระบบราชการไทย โดยเฉพาะการทำงานกองแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) ที่ลำดับการทำงานทั้งระดับชาติ ระดับกลาง และระดับจังหวัด ซึ่งกว่าแต่ละกองจะประชุมกันและมีมติในการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านได้ นอกจากนี้ เราพบว่าการพิสูจน์สิทธิของชาวบ้านต่อการเข้าถึงกรรมสิทธิ์ที่ดินถือว่ามีอุปสรรคอย่างมาก โดยเฉพาะเทคโนโลยีพิสูจน์ภาพถ่ายทางอากาศ เพราะชาวบ้านไม่มีต้นทุนเหมือนกลุ่มทุน ซึ่งถือเป็นข้อเสียเปรียบในการพิสูจน์ในชั้นศาล และถือเป็นการเปิดช่องสำคัญในการเกิดคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวางอีกด้วย”

เป็นอีกปมปัญหาต้องจับตาในช่วงเวลาที่ประชาชนไม่ยอมทนกับความเหลื่อมล้ำที่ตัวเองไม่ได้ก่ออีกต่อไป

26 มีนาคม 2564
https://www.matichon.co.th/prachachuen/prachachuen-scoop/news_2640511