ผู้เขียน หัวข้อ: รู้จัก‘คลองสุเอซ’เส้นทางเดินเรือประวัติศาสตร์151ปี ที่กำลังทำให้ทั่วโลกปั่นป่วน  (อ่าน 671 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
จากกรณี สั่นสะเทือนคนไปทั่วโลก เมื่อ เรือสินค้าเอเวอร์กรีน เรือบรรทุกคอนเทนเนอร์ขนาดยาว 400 เมตร เจอกับพายุทรายพัด จนเสียหลัก เกยติ่งจนขวาง คลองสุเอซ ที่ถูกขุดเชื่อมทะเลแดงกับเมดิเตอร์เรเนียน ในอียิปต์ ซึ่งเป็นเส้นทางเรือที่สำคัญ ตั้งแต่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา

ส่งผลกระทบต่อการค้าของทั่วโลก เพราะมีเรือขนสินค้า ทั้งคอนเทนเนอร์ และเชื้อเพลิง ที่จ่อรออยู่หลายร้อยลำเข้าไปแล้ว และยังทำให้ราคาน้ำมัน ปรับตัวขึ้น เนื่องจากกังวลว่าจะติดอยู่หลายสัปดาห์

ซึ่งแม้ว่าจะใช้วิธีใดๆ ทั้งลากจูง หรือขุดทราย ก็ยังไม่สามารถนำเรือออกมาได้ กระทั่ง ประธานาธิบดีของสหรัฐ ก็ยังออกมากล่าวว่า จะดูว่าจะสามารถช่วยอะไรได้บ้าง

สำหรับคลองสุเอซ นับได้ว่าเป็นคลองประวัติศาสตร์ ที่ถูกเปิดใช้มานานกว่า 150 ปี เป็นเส้นทางขนส่งสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่มีช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายมากที่สุด

ในคอลัมน์ ต่างประเทศ ของ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 15-21 พฤศจิกายน 2562 ระบุไว้ว่า

“คลองขนส่งที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ถูกขุดขึ้นระหว่างปี 1859 ถึง 1869 เป็นโครงการอันแสนทะเยอทะยานเพื่อเชื่อมโยง “ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน” และ “ทะเลแดง” เข้าด้วยกัน มีจุดประสงค์เพื่อร่นระยะทางเส้นทางการค้าระหว่างยุโรปและเอเชียที่กำลังเติบโตในเวลานั้น

เฟอร์ดินานด์ เดอ เลสเซปส์ นักการทูตชาวฝรั่งเศสผู้เป็นต้นคิดโครงการขุดคลองสุเอซขึ้นตามแนวคิดของฟาโรห์ ที่ต้องการสร้างคลองดังกล่าวขึ้นตั้งแต่เมื่อ 4,000 ปีก่อน ระบุว่าคลองสุเอซนั้นไม่ใช่อภิสิทธิ์ของชาติใดชาติหนึ่ง

“มันเป็นหนี้บุญคุณ และเป็นสมบัติของความทะเยอทะยานแห่งมนุษยชาติ” เดอ เลสเซปส์ ระบุในสุนทรพจน์เมื่อปี 1864

ชาวอียิปต์นับล้านคนใช้อูฐและล่อเป็นสัตว์ขนส่ง ทำงานก่อสร้างด้วยอุปกรณ์พื้นฐาน ระยะเวลายาวนานนับ 10 ปี มีผู้เสียชีวิตในโครงการดังกล่าวหลายหมื่นคน

เรือลำแรกแล่นผ่านคลองความยาว 164 กิโลเมตร เป็นครั้งแรกในวันที่ 17 พฤศจิกายน 1869 ร่นระยะเวลาและความเสี่ยงจากการล่องเรืออ้อมทวีปแอฟริกาลงได้

ทว่าประวัติศาสตร์ของคลองสุเอซกลับเต็มไปด้วยความวุ่นวายในภูมิภาคตะวันออกกลางอันเปราะบางแห่งนี้

ความวุ่นวายแรกเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 1956 เมื่อกามาล อับเดล นาสเซอร์ ประธานาธิบดีอียิปต์ผู้มีนโยบายสนับสนุนความเป็นหนึ่งเดียวกันของภูมิภาคอาหรับ ท้าทายผลประโยชน์ของอังกฤษและฝรั่งเศส ยึด “บริษัทคลองสุเอซ” ผู้บริหารจัดการคลองสุเอซเป็นของอียิปต์ในทันที

แม้ความนิยมในตัวประธานาธิบดีนาสเซอร์ในประเทศจะเพิ่มสูงขึ้น แต่นั่นเป็นชนวนของวิกฤตระดับนานาชาติ เมื่อฝรั่งเศสและอังกฤษ สองชาติผู้ควบคุมบริษัทคลองสุเอซ รวมไปถึงอิสราเอล บุกโจมตีอียิปต์ในอีก 3 เดือนต่อมา

นอกจากนี้ คลองสุเอซยังเป็นสนามรบในสงครามอาหรับ-อิสราเอล ในปี 1967 และ 1973 ด้วย

ปัจจุบันเส้นทางเดินเรือที่สำคัญแห่งนี้บริหารจัดการโดย “สุเอซคาแนลออธอริตี้” หรือเอสซีเอ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลอียิปต์ที่ตั้งขึ้นแทนที่ “บริษัทคลองสุเอซ” เดิม

หลังจากองค์การสหประชาชาติ เข้ามาแทรกแซงวิกฤตการณ์ดังกล่าว โดยอียิปต์ยินดีจ่ายเงินหลายล้านดอลลาร์ให้กับผู้ถือครองหุ้นบริษัทคลองสุเอซเพื่อยุติความขัดแย้ง

ปัจจุบันเอสซีเอขยายคลองให้ใหญ่ขึ้น ทันสมัยมากขึ้นเพื่อรองรับเรือขนาดใหญ่ กลายเป็นทรัพย์สินทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอียิปต์ ให้บริการเส้นทางเดินเรือกับนานาชาติคิดเป็นสัดส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ของเส้นทางการค้าทางเรือทั่วโลก

ปัจจุบันคลองสุเอซยังคงต้องได้รับการคุ้มกันจากทหารอียิปต์ในบางพื้นที่ ผลจากปัญหากลุ่มกบฏอิสลามหัวรุนแรง

เมื่อปี 2015 ประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี เปิดคลองคู่ขนานความยาว 72 กิโลเมตร หลังการขุดคลองเป็นเวลา 12 เดือน โดย “เลน” สำหรับเดินเรือใหม่นั้นส่งผลให้อียิปต์สามารถทำสถิติเป็นเส้นทางผ่านเรือสินค้า 81 ลำ ขนสินค้าน้ำหนักรวม 6.1 ล้านตันผ่านคลองสุเอซได้ในวันเดียว

รายได้ของเอสซีเอเมื่อปีงบประมาณ 2018-2019 พุ่งถึง 5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้น 5.4 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า ผลจากการเติบโตของการค้าระหว่างยุโรปและเอเชีย รวมไปถึงยุโรปและอินเดีย

โดยอียิปต์ตั้งเป้าที่จะสร้างรายได้พุ่งไปถึง 13,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023

งานเฉลิมฉลองเปิดคลองสุเอซในปี 1869 เป็นไปอย่างยิ่งใหญ่และหรูหรา พิสูจน์ได้จากการที่จักรพรรดินียูเจนี ชายาจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศสเข้าร่วมงานในครั้งนั้นด้วย”

27 มีนาคม 2564
https://www.matichon.co.th/foreign/news_2644417

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
เผยแพร่   วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2563

วันที่ 26 กรกฎาคม 1956 (พ.ศ. 2499) กาเมล อับเดล นัสเซอร์ (Gamel Abdel Nasser) ประธานาธิบดีอียิปต์ในขณะนั้นประกาศยึดคลองสุเอซเป็นสมบัติของรัฐ หลังจากคลองที่เชื่อมต่อทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดงแห่งนี้ตกอยู่ภายใต้การครอบครองของกลุ่มผลประโยชน์ต่างชาติมาโดยตลอด (ส่วนใหญ่เป็นอังกฤษและฝรั่งเศส)

วิกฤติคลองสุเอซเกิดขึ้นหลังสหรัฐฯ และอังกฤษบิดพลิ้วปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่อียิปต์ในการสร้างเขื่อนสูงแห่งอัสวัน (Aswan High Dam) ตามที่เคยรับปากไว้ อียิปต์ซึ่งเริ่มมีสัมพันธ์แนบแน่นกับเชโกสโลวาเกีย และโซเวียตมากขึ้นจึงตัดสินใจประกาศใช้กฎอัยการศึก ยึดบริษัทคลองสุเอซ (Suez Canal Company) ซึ่งผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศสและอังกฤษ โดยหวังว่าการเก็บค่าผ่านทางภายใน 5 ปี จะช่วยให้มีทุนมากพอที่จะสร้างเขื่อนดังกล่าวได้

“นี่คือเงินของเรา คลองสุเอซเป็นของเรา คลองสุเอซสร้างขึ้นโดยชาวอียิปต์ และชาวอียิปต์ 120,000 คน ต้องตายระหว่างการก่อสร้าง ดังนั้นเราจะก่อสร้างเขื่อนด้วยวิถีทางของเราเอง”

“เราถูกบริษัทคลองสุเอสแย่งเงินจำนวน 35 ล้านปอนด์อียิปต์ไปในแต่ละปี เราควรเอาเงินนี้มาสร้างเขื่อน เราต้องพึ่งพาความเข้มแข็ง แขนขาและเงินทุนของเราเอง” นัสเซอร์ประกาศ

หลังมาตรการทางการทูตเพื่อคลี่คลายปัญหาล้มเหลว อังกฤษและฝรั่งเศสจึงเตรียมกำลังทหารเพื่อเข้ายึดคลองสุเอซ รวมถึงหาทางกำจัดนัสเซอร์ออกจากอำนาจ โดยมีอิสราเอลเป็นพันธมิตรสำคัญในภูมิภาค หลังนัสเซอร์สร้างความไม่พอใจให้อิสราเอลด้วยการปิดช่องแคบไทแรน (Straits of Tiran) ทางออกสู่ทะเลแดงจากอ่าวอะกาบา (Gulf of Aqaba) รวมถึงการสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในอิสราเอล

ปลายเดือนตุลาคมปีเดียวกันอิสราเอลได้เคลื่อนพลเข้าสู่คลองสุเอซ ทำให้กองทัพอียิปต์ต้องถอยร่น ฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสก็เดินหน้าตามแผนพร้อมกับเรียกร้องให้ทั้งอิสราเอลและอียิปต์ถอนทัพออกจากคลองพิพาท

ต่อมาในวันที่ 5-6 พฤศจิกายน อังกฤษและฝรั่งเศสได้ยกพลขึ้นบกที่ท่าเรือซาอิด (Port Said) และท่าเรือฟูอัด (Port Fuad) เริ่มครอบครองพื้นที่บางส่วนของคลองสุเอซ ทำให้เกิดแรงต่อต้านจากประชาชนภายในประเทศผู้รุกรานเอง รวมถึงสหรัฐฯ ที่เกรงว่า พฤติกรรมดังกล่าวของอังกฤษและฝรั่งเศสอาจทำให้โซเวียตเข้าแทรกแซง จึงได้อาศัยองค์การสหประชาชาติผ่านมติต่างๆ จนนำไปสู่การยุติการรุกรานอียิปต์ โดยอังกฤษและฝรั่งเศสได้ถอนทัพออกไปในเดือนธันวาคม ส่วนอิสราเอลถอนทัพในเดือนมีนาคมปีถัดมา

หลังเหตุการณ์นัสเซอร์กลายเป็นผู้ชนะและวีรบุรุษของขบวนการชาตินิยมอียิปต์ และการต่อสู้เพื่อชาวอาหรับ ด้านอิสราเอลแม้จะไม่ได้สิทธิในการเดินเรืออย่างเสรีผ่านคลองสุเอซ แต่ก็ได้สิทธิในการเดินเรือผ่านช่องแคบไทแรน ขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศสต้องสูญเสียอิทธิพลเกือบทั้งหมดในตะวันออกกลางไปจากเหตุการณ์นี้

ข้อมูลจาก:
1. “Suez Crisis”. Encyclopedia Britannica. <https://global.britannica.com/event/Suez-Crisis>

2. “Egypt Nationalizes Suez Canal Company; Will Use Revenues to Build Aswan Dam”. The New York Times. <http://query.nytimes.com/mem/archive-free/pdf?res=9400E0DE103FE03BBC4F51DFB166838D649EDE>

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2561
https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_1233

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
เมื่อวิศวกรฝรั่งเศสประสบชัยชนะ สามารถขุดคลองสุเอซในอียิปต์เป็นทางลัดย่อโลก เกิดความรุ่งเรืองเฟื่องฟู ต่อมาฝรั่งเศสส่งทีมวิศวกรบุกมาสยามประเทศ เพื่อขอสำรวจบริเวณด้ามขวานของสยามที่จะขุดคอคอดกระในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 5

ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติจนถึงปัจจุบัน จารึกว่ามนุษย์ลงมือขุดคลองขนาดใหญ่เพื่อปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือระดับโลก 2 พื้นที่คือ คลองสุเอซ (Suez Canal) คลองปานามา (Panama Canal)

การขุดคลอง 2 แห่งเพื่อย่นย่อระยะทาง เป็นฝีมือการทำงานของมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่ ทำให้การเดินทางติดต่อเชื่อมโยงของคนบนโลกใบนี้เปลี่ยนไปแบบไม่มีวันหวนกลับ

นักเดินเรือจากโลกตะวันตก (รวมทั้งจีน) แข่งกันผจญภัยเพื่อเป็นเจ้าแห่งมหาสมุทร เสี่ยงตายออกไปค้นหาดินแดนใหม่ๆ แล้วเข้าครอบครอง ในยุคนั้นมหาอำนาจทางทะเล คือ โปรตุเกส สเปน ฮอลันดา อังกฤษ ฝรั่งเศส

การพบดินแดนใหม่ก่อนใคร คือโอกาสการได้ครอบครองทรัพยากร แก้วแหวนเงินทอง และได้ดินแดนเป็นอาณานิคม การเดินทางรอนแรมนานนับเดือน เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในทะเลลึก ทำให้นักผจญภัยเหล่านี้ต่างแสวงหาเส้นทางลัด เส้นทางที่สั้นกว่า ชาวตะวันตกจากยุโรปเก่งเกินหน้าชนชาติใดในโลก รู้จักการคำนวณระยะทาง เดินเรือโดยการดูดาว ดูแสงแดด ทิศทางลม เรือไปถึงที่หมายก็มี เรือล่มตายเป็นผีเฝ้าท้องมหาสมุทรก็ไม่น้อย

ประเทศที่เป็นคู่กัด แข่งกันแบบเอาเป็นเอาตายเพื่อช่วงชิงความเป็นเจ้าแห่งเส้นทางเดินเรือ ใช้กำลังทหารเข้าครอบครองเมืองท่าทั่วโลก คือ อังกฤษ กับ ฝรั่งเศส ที่แข่งขันกันเพื่อกอบโกยวัตถุดิบที่แสนอุดมสมบูรณ์จากทั่วโลก กลับไปป้อนโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศ และเพื่อไปปกครองดินแดนอาณานิคม

ความกระตือรือร้นเรื่องการ “หาเส้นทางลัดในทะเล” ลุกลามมาถึงสยามประเทศ

ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 สยามเปิดประเทศติดต่อคบค้ากับสังคมโลก อังกฤษและฝรั่งเศส ต่างชิงตัดหน้าเชือดเฉือนกันเข้ามาในสยามเพื่อขอสำรวจดินแดน เพื่อทำแผนที่ดินแดนของสยาม โดยเฉพาะฝรั่งเศสตั้งใจจะขุดคลองทางใต้ของสยามแบบคลองสุเอซที่กระหึ่มโลก

ผู้เขียนได้ข้อมูลจากหนังสือ หน้าหนึ่งในสยาม ของท่าน ไกรฤกษ์ นานา ซึ่งศึกษาจริงจัง กรณีโครงการขุดคอคอดกระของสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงขนาดเดินทางไปประมูลซื้อแผนที่โบราณที่ตกค้างในกรุงปารีสมานานกว่า 130 ปี กลับมาได้เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2555 แผนที่โบราณของฝรั่งเศสทำให้เราได้ทราบ เรื่องแนวคิดการขุดคลองทางภาคใต้ของไทยนั้น เป็นเรื่องที่ฝรั่งเศสคิดวางแผนมาให้แล้วกว่า 130 ปี และฝรั่งเศสเอาจริงเพื่อเฉือนคมกับอังกฤษ

แนวคิดโครงการขุดคอคอดกระที่ฝรั่งเศสต้องการลงทุนในสยาม เป็นความต่อเนื่องมาจากการขุดคลองสุเอซ (ดูแผนที่)

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ระบุว่า ในยุคสมัยนั้น ความเชี่ยวชาญเรื่องการสำรวจและการขุดคลองระดับโลกนั้น ฝรั่งเศสเหนือชั้นกว่าอังกฤษ เพราะโครงการขุดคลองสุเอซ เป็นผลงานเชิงประจักษ์

กลับมาคุยกันเรื่อง การขุดคลองสุเอซ ในประเทศอียิปต์ ครับ

การขุดคลองสุเอซเป็นประกายความคิดของนโปเลียนที่ 1 ของฝรั่งเศสที่เคลื่อนทัพมาอียิปต์ในปี พ.ศ.2341 แต่การเริ่มลงมือขุดเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นในสมัยนโปเลียนที่ 3 ใน พ.ศ.2391 โดยนักการทูตและวิศวกรชาวฝรั่งเศส ชื่อ แฟร์ดีนอง เดอ เลเซป (Ferdinand de Lesseps) อดีตราชทูตฝรั่งเศสประจำอียิปต์ซึ่งสนิทสนมกับผู้สำเร็จราชการของอียิปต์ ชื่อ โมฮัมเหม็ด ซาอิด ทั้งสองคนเคยหารือเรื่องการขุดคลองกันมาก่อนแล้ว รวมทั้งเรื่องเงินทองที่จะไหลมาเทมา

15 เมษายน 2401 นายเดอ เลเซป ผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศส ตั้งบริษัทคลองสุเอซ

25 เมษายน 2402 เริ่มลงมือขุด ซึ่งตรงกับสมัยในหลวงรัชกาลที่ 4 ของไทย โดยเริ่มขุดจากเมืองท่า Port Said บนฝั่งทะเลแดงด้านทวีปเอเชียก่อน เมื่อแรกขุดเสร็จ คลองยาว 163 กิโลเมตร กว้าง 205 เมตร ลึก 24 เมตร ใช้แรงงานคนนับแสนและเครื่องจักรขุดราว 10 ปีเศษ

เจ้าผู้ครองนครอียิปต์ปลื้มฝรั่งเศสมาก จึงทูลเชิญพระนางเออเจนี พระอัครมเหสีของนโปเลียนที่ 3 เสด็จมาเป็นประธานเปิดคลองในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2412 ตรงกับปีแรกของในหลวง ร.5

การลงมือขุดคลองสุเอซโดยมีฝรั่งเศสเป็นมหาอำนาจถือธงนำ สร้างชื่อเสียงให้กับฝรั่งเศสดังก้องโลก เพราะคลองนี้ คือ เส้นทางสำคัญสำหรับมนุษยชาติที่จะได้รับประโยชน์สุขมหาศาล เป็นความคิดสร้างสรรค์แบบไม่เคยปรากฏมาก่อน คลองนี้จะช่วยย่นระยะทางได้ราว 6,400 กิโลเมตร เรือไม่ต้องไปผ่านแหลมกู๊ดโฮปที่อันตรายตายเรือแตกเป็นเบือ ในขณะที่เรือแล่นผ่านคลองสุเอซใช้เวลาเพียง 11-16 ชั่วโมง

คู่แข่งที่พลาดท่าเสียทีและถือว่าพ่ายแพ้ในยุทธศาสตร์ระดับโลก คือ อังกฤษ ซึ่งหันมาก่อกวน ปลุกระดมคนงานก่อสร้างจากแอฟริกาและชาวอาหรับเร่ร่อนราว 120,000 คน ที่เข้ามาเป็นคนงานเพื่อให้เลิกทำงาน อังกฤษยังไปป่วนบริษัททางการเงินระดับโลก เพื่อให้ยุติการให้เงินสนับสนุนโครงการขุดคลอง

ปัญหาทางการเมือง การเงิน และความมั่นคง ที่รุมเร้าจากประเทศมหาอำนาจที่ไม่ได้ส่วนแบ่ง คือ มารผจญที่เลวร้ายที่สุดของการทำงาน

รัฐบาลสยามเองในช่วงเวลานั้น ค่อนข้างให้การยอมรับฝรั่งเศสในผลงานความสำเร็จของการขุดคลองสุเอซ ที่ทำให้ทีมวิศวกรฝรั่งเศสนำโดย มงซิเออร์ เดอลองก์ (M. Francois Deloncle) เข้ามาขออนุญาตสำรวจคลองกระ (Kra Canal) บริเวณด้ามขวานของสยาม

ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงบ่ายเบี่ยงที่จะให้สัมปทานในการขุดแผ่นดินสยามในทันที เพราะทรงกังวลว่าอาจจะขัดใจกับฝ่ายอังกฤษที่ตามรังควานฝรั่งเศสเรื่องคลองสุเอซ

ในหลวง ร.5 ทรงทราบดีว่า อังกฤษกำลังตามมาขัดขวางฝรั่งเศสที่กำลังจะมาชิงเอางานชิ้นใหญ่จากสยาม

ในช่วงเวลานั้น เป็นความกดดันที่สยามต้องวางตัวให้สมดุลกับผลประโยชน์ของมหาอำนาจ ที่ขับเคี่ยวกันแบบเอาแผ่นดินเกิดเป็นเดิมพันเลยทีเดียว แผ่นดินสยามกลายเป็นสมรภูมิประลองกำลังแบบเงียบๆ

พ.ศ.2424 ในหลวง ร.5 ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ มร.เดอลองก์ สำรวจพื้นที่บริเวณคอคอดกระอย่างเป็นทางการ เพื่อผ่อนคลายสถานการณ์

แต่ในที่สุดโครงการขุดคอคอดกระของสยามก็เงียบหายไป โดยไม่มีใครทราบเหตุปัจจัย

เกร็ดประวัติศาสตร์ ที่เป็นช่วงวิกฤตการณ์ของสยาม ตรงนี้ปรากฏในหนังสือ หน้าหนึ่งในสยาม ของท่าน
ไกรฤกษ์ นานา มีรายละเอียดตื้นลึกหนาบาง ที่นักประวัติศาสตร์พลาดไม่ได้นะครับ

การขุดคลองที่ว่ายาก แต่ที่ยากกว่านั้น คือ การรักษาอธิปไตย เพราะความจริงของโลกนี้ คนที่อ่อนแอจะเป็นผู้แพ้ตลอดกาล

บริษัทขุดคลองสุเอซได้รับสัมปทานให้ดำเนินการได้เป็นเวลา 99 ปี ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด คือ ฝรั่งเศส กับ อียิปต์

หลังจากเปิดใช้คลองในปี พ.ศ.2412 แล้ว มีเรือนานาชาติใช้บริการผ่านคลองเป็นจำนวนมาก และเพื่อเป็นการประกันสิทธิในการใช้คลอง ได้มีการทำข้อตกลงระหว่างประเทศให้เรือของทุกชาติ สามารถใช้คลองนี้ไม่ว่าในยามสงบ หรือยามสงคราม

ฝ่ายอังกฤษ ที่พลาดโอกาสครั้งสำคัญ ครุ่นคิดในใจเสมอว่าคลองสุเอซเป็นช่องทางที่คอขาดบาดตาย หากมีการศึกสงครามอังกฤษจะไม่มีเสรีในการเคลื่อนกำลังรบทางเรือ

อังกฤษพยายามทุกวิถีทาง และในที่สุด พ.ศ.2418 รัฐบาลอังกฤษได้เข้าซื้อหุ้นของคลองสุเอซ 44% จาก
ผู้ปกครองอียิปต์ ชื่อ อิสมาอิล ปาชา ซึ่งในขณะนั้นอียิปต์กำลังประสบปัญหาการเงินเพื่อนำไปสร้างเขื่อนอัสวาน

ปี พ.ศ.2425 เกิดเหตุความไม่สงบในอียิปต์ในทางการเมือง อังกฤษฉวยโอกาสส่งทหารเข้ายึดและปกครองอียิปต์แบบดื้อๆ โดยมีฝรั่งเศสแอบหนุนหลัง อังกฤษได้ปกครองอียิปต์สมใจนึก โดยมีคลองสุเอซเป็นแก้วตาดวงใจ

สถานการณ์ตรงนี้พลิกผันอีกครั้งกลายเป็นว่า อังกฤษเข้ามาขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์คลองสุเอซกับฝรั่งเศสในแผ่นดินอียิปต์ มหาอำนาจทั้งสองเลยต้องไปตกลงกันในอนุสัญญาคอนสแตนติโนเปิล พ.ศ.2431 มีผลทำให้คลองสุเอซเป็นดินแดนเป็นกลาง แต่ในทางปฏิบัติกองกำลังของอังกฤษได้ยึดครองพื้นที่จนกระทั่งปี พ.ศ.2497

ผู้เขียนเห็นว่า คลองสุเอซที่ขุดขึ้น เรียกแขกดีนักแล

สนธิสัญญา ข้อตกลงทุกชนิดในโลกนี้ไม่เคยมีความหมาย ชาติที่แข็งแรงกว่าจะฉีกทิ้งและบดขยี้ชาติที่อ่อนแอได้ทุกนาที

แม้กระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษก็ประกาศห้ามเรือของชนชาติศัตรู แล่นผ่านคลองสุเอซ

เมื่อเกิดสงครามระหว่างอาหรับกับอิสราเอล ในปี พ.ศ.2491-2492 อียิปต์ประกาศห้ามเรือของอิสราเอลแล่นผ่านคลองสุเอซ

เงินทองไหลนองแต่ไม่ได้เข้าประเทศอียิปต์เลย 26 กรกฎาคม พ.ศ.2499 นายพลนัสเซอร์ (Nasser) ของอียิปต์ประกาศยึดคลองสุเอซเข้าเป็นของรัฐ ทำให้เกิดวิกฤตการณ์คลองสุเอซ เมื่ออังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทประท้วง

อียิปต์ประกาศกฎอัยการศึก ในบริเวณคลองสุเอซ พร้อมกับส่งทหารเข้าควบคุมกิจการของคลอง อิสราเอลถือโอกาสส่งรถถังบุกเข้าไปในคาบสมุทรไซนายของอียิปต์ และมุ่งหน้าไปเขตคลองสุเอซ
ในเวลาเดียวกัน อังกฤษและฝรั่งเศสก็กระหน่ำซ้ำเติมโดยยกพลขึ้นบกที่ Port Said อ้างว่าส่งทหารเพื่อเข้ามารักษาความสงบ กองทัพอียิปต์ตอบโต้โดยการจมเรือราว 40 ลำ กีดขวางคลองไม่ให้เรือผ่าน

ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2499 สหประชา ชาติ โดยสหรัฐอเมริกากดดันให้อังกฤษและฝรั่งเศสถอนกองกำลังออกจากคลองสุเอซ เพราะเกรงว่าสหภาพโซเวียตจะเข้ามาช่วยอียิปต์


มีนาคม พ.ศ.2500 อียิปต์ยินยอมให้เปิดใช้คลองได้อีกครั้ง และเมื่ออิสราเอลยอมถอนกำลังออกจากคาบสมุทรไซนาย

ปัญหาผลประโยชน์ของมหาอำนาจยังไม่จบสิ้น กรกฎาคม พ.ศ.2501 ธนาคารโลกเข้ามาไกล่เกลี่ยการแย่งชิงกรรมสิทธิ์ ผลการเจรจารัฐบาลอียิปต์ต้องจ่ายเงินชดเชยให้บริษัทคลองสุเอซเป็นจำนวน 81.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


วิกฤตการณ์ คลองสุเอซ ครั้งที่ 2

เดือนมิถุนายน พ.ศ.2510 ได้เกิดการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มประเทศอาหรับ อียิปต์ประกาศไม่ยอมให้เรืออิสราเอลผ่านคลอง

อิสราเอลส่งรถถังบุกเข้าไปถึงด้านตะวันออกของคลองสุเอซ อียิปต์ตอบโต้โดยการจมเรือขวางคลอง ความขัดแย้งครั้งนั้นยาวนาน 8 ปี จากปี พ.ศ.2510-2518

ในปี พ.ศ.2522 หลังจากอียิปต์และอิสราเอลบรรลุข้อตกลงสันติภาพได้ อียิปต์ก็ยอมให้เรืออิสราเอลใช้คลองสุเอซได้โดยเสรี

ปัจจุบัน คลองสุเอซได้รับการปรับปรุง และเปิดให้เรือนานาชาติแล่นผ่านได้ตามปกติ นับเป็นคลองที่มีความสำคัญทางด้านการค้าและทางยุทธศาสตร์มากแห่งหนึ่งของโลก

คลองสามารถรับเรือที่มีน้ำหนักขนส่งได้มากถึง 150,000 ตัน ความกว้างของเรือที่สามารถผ่านได้คือไม่เกิน 16 เมตร เมื่อปริมาณการเดินเรือเพิ่มมากขึ้น ในปี พ.ศ.2553 จึงขยายคลองให้สามารถรองรับเรือที่กว้างถึง 22 เมตร ได้

7 สิงหาคม 2558 ประธานาธิบดี อัลซีซี ของอียิปต์ ทำพิธีเปิดคลองสุเอซสายใหม่ที่เมืองท่าอิสเมอิลีอา ร่วมด้วยผู้นำจากหลายชาติ เพื่อขุดคลองสุเอซเส้นทางใหม่ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของอียิปต์

การขุดคลองสุเอซเส้นทางที่ 2 ต้องขุดพื้นดิน 37 กม. รวมไปถึงขุดลอกคลองเดิมให้กว้างและลึกขึ้นในระยะทาง 35 กม. ใช้เงินราว 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ

คลองสุเอซเส้นทางใหม่จะย่นระยะเวลาการเดินเรือจาก 18 ชั่วโมง เหลือเพียง 11 ชั่วโมง รัฐบาลอียิปต์หวังว่าภายในปี 2566 จำนวนเรือที่ใช้คลองสุเอซจะเพิ่มจาก 49 ลำต่อวัน เป็น 97 ลำ และประเทศจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากคลองนี้ จะเพิ่มเป็น 13.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566

มาจนถึงปัจจุบัน เทคโนโลยีเรื่องการขุดเจาะเป็นเรื่องขี้ผง มนุษย์ใช้เครื่องจักรฟาดฟันเอาชนะได้หมด เจาะทะลุทะลวงภูเขา ทำอุโมงค์ลอด ทำสะพานข้ามหุบเหวไปได้ทุกแห่งหน ใต้ทะเล ใต้มหาสมุทรยังลงไปทำถนนวิ่งกันไปมาได้

เมื่อนึกถึงโครงการขุด คลองกระ คอคอดกระ หรือคลองไทย ลองย้อนไปศึกษา ครุ่นคิดตำนานคลองสุเอซเป็นตัวอย่างนะครับ

ฉบับหน้า เป็นตำนานการขุดคลองปานามา ที่วิศวกรฝรั่งเศสไปแสดงแสนยานุภาพขอขุดคลองระดับโลกอีกแห่งครับ

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

(ขอบคุณข้อมูลจาก หน้าหนึ่งในสยาม ของ ไกรฤกษ์ นานา และภาพประกอบจาก history.com The Print Collector/Getty Images และ silpa-mag.com)

8 มกราคม 2561
https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_792855

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
เผยแพร่   วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2564

คลองสุเอซ ไม่เพียงเป็นเส้นทางเดินทางที่สำคัญ คลองแห่งนี้ยังมีความเป็นมายาวนาน และเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกินอาณาเขตเชื่อมโยงไปหลายภูมิภาค อีกทั้งยังเกี่ยวข้องในทางอ้อมกับเรื่อง “ความเชื่อมั่น” ของชาวไทยที่มีต่อชาวฝรั่งเศสในฐานะผู้ที่เดินหน้าโครงการขุดคลองสุเอซจนประสบความสำเร็จ

คลองสุเอซ
เรื่องคลองสุเอซนี้ ไกรฤกษ์ นานา เคยเขียนอธิบายความเป็นมาไว้ในบทความ “‘ตัวการ’ ที่ทำให้ไทยยกเลิกโครงการขุดคอคอดกระข้อมูลใหม่สมัยรัชกาลที่ 5 เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม พ.ศ. 2559 เนื้อหาตอนหนึ่งมีว่า (จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่ – กองบก.ออนไลน์)

“…ชื่อเสียงของวิศวกรเอกผู้ขุดคลองสุเอซซึ่งเป็นคลองลัดนานาชาติแห่งแรกของโลกที่คนทั่วไปรู้จักจุดกำเนิดของคลองสุเอซอันเป็นคลองลัดที่เชื่อมต่อทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (ทวีปยุโรป) กับทะเลแดง (ทวีปเอเชีย) และเป็นคลองลัดที่ยาวที่สุดแห่งแรกในโลกจะปฏิวัติการเดินทางในอดีตที่ดำเนินมานาน 2,000 ปี อ้อมแหลมกู๊ดโฮป (แอฟริกาใต้) กลายเป็นเรื่องล้าสมัย สิ้นเปลืองค่าโสหุ้ย และเสียเวลา เพราะคลองสุเอซช่วยให้ระยะการเดินทางจากจากยุโรปมาเอเชียสั้นลงกว่าครึ่งเหลือ 1 ใน 3 คือใช้เวลาเพียง 1 เดือน แทนที่จะเป็น 3 เดือน ดังที่เคยเป็นมา

ผู้ที่จุดประกายเรื่องคลองสุเอซคือจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 (ค.ศ. 1769-1821) แห่งฝรั่งเศส ผู้ออกแบบสร้างและดำเนินการขุดก็เป็นวิศวกรฝรั่งเศส เงินลงทุนก็มาจากฝรั่งเศส แถมผู้ที่รับช่วงต่อก็เป็นทายาทเชื้อพระวงศ์ (คือจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ค.ศ. 1808-73) และสามารถบรรลุเป้าหมายตามอุดมการณ์อันแท้จริงจนได้รับการยกย่องนับถือว่าเป็นต้นแบบของคลองลัดที่ดีที่สุดในโลก

แต่ความฝันของพระองค์ก็ต้องดับวูบลงเพราะมีอุปสรรคเฉพาะหน้าขวางทางอยู่ คือ
1. ระดับน้ำในทะเลแดงสูงกว่าระดับน้ำในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนถึง 10 เมตร และต้องใช้เวลาหาทางแก้ปัญหาอีกนาน

2. จะต้องใช้งบประมาณมหาศาลเกินกว่าที่จำเป็นในการสร้างเขื่อนขนาดยักษ์กั้นน้ำไม่ให้ทะลักเข้ามายังทะเลฝั่งยุโรป ถ้าผิดพลาดก็จะเกิดความหายนะอย่างมิอาจประเมินค่าได้

3. เกิดสงครามนโปเลียน (ค.ศ. 1804-14) เสียก่อน จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ทำให้โครงการคลองสุเอซมีอันต้องระงับไปชั่วคราว

พอขึ้นรัชกาลจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 (ค.ศ. 1848) พระองค์ทรงมีแนวคิดที่จะรื้อฟื้นความยิ่งใหญ่ของพระราชปิตุลา (จักรพรรดินโปเลียนที่ 1) จึงทรงสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้สร้างคลองสุเอซขึ้นเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองเต็มรูปแบบ

รัฐบาลฝรั่งเศสมีเครดิตดีกว่าชาติอื่นๆ ในการรณรงค์ขุดคลองสุเอซ เพราะเมื่อขึ้นรัชกาลจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นจากอาณานิคม และเศรษฐกิจที่เติบโตขนานใหญ่ อีกทั้งองค์จักรพรรดิก็มิได้สนพระราชหฤทัยในการศึกสงครามเหมือนในสมัยพระราชปิตุลา ทำให้ทรงทุ่มเทงบประมาณและเวลากับโครงการคลองสุเอซได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ที่สำคัญคือนายช่างใหญ่เจ้าของโครงการนี้คือ นาย เดอ เลสเซป (M. Ferdinand de Lessep) เคยดำรงตำแหน่งราชทูตฝรั่งเศสประจำอียิปต์ ช่วงทศวรรษ ค.ศ. 1830 และเป็นพระสหายสนิทของเจ้าผู้ครองนครอียิปต์ในสมัยนั้นคือ Sa-ld Pasha ช่วยให้ นาย เดอ เลสเซป มีช่องทางทำมาหากินพิเศษและเอื้ออำนวยให้เขาได้รับสัมปทานโดยตรงจากรัฐบาลอียิปต์โดยไม่ลำบากนัก

นาย เดอ เลสเซป ได้ก่อตั้งบริษัทคลองสุเอซ (The Suez Canal Company หรือ Compagnie Universelle du Canal Maritime de Suez) ขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน 1858 (พ.ศ. 2401) และเริ่มขุดคลองทันทีเมื่อวันที่ 25 เมษายน 1859 (พ.ศ. 2402) โดยเริ่มขุดจากเมืองท่า Port Said บนฝั่งทะเลด้านเอเชียก่อน เรียกต้นทางนี้ว่าด้านเหนือ ปลายทางอยู่ที่เมืองท่า Port Tawfik คือด้านใต้ที่บรรจบกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของยุโรป เมื่อแรกขุดเสร็จคลองนี้มีความยาว 164 กิโลเมตร กว้าง 205 เมตร ลึก 24 เมตร (ในภายหลังถูกปรับแต่งให้สั้นลงเหลือความยาวเพียง 162.25 กิโลเมตร – ผู้เขียน) ใช้เวลาขุดทั้งสิ้น 10 ปีจึงแล้วเสร็จ (ค.ศ. 1859-69)…”

ชื่อเสียงของคณะจากฝรั่งเศส
กับอิทธิพลต่อความเชื่อมั่นของไทย
ชื่อเสียงของชาวฝรั่งเศสในฐานะผู้เดินหน้าโครงการจนประสบความสำเร็จส่งอิทธิพลต่อมาถึงบ้านเราในยุคต้นรัตนโกสินทร์ โดยไกรฤกษ์ นานา อธิบายว่า ในช่วงประมาณรัชกาลที่ 3 คือช่วงที่เริ่มต้นปรากฏกระแสแนวคิดเรื่องขุดคอคอดกระเกิดเป็นกระแสขึ้น โดยเริ่มมาจากชาวอังกฤษก่อน นักสำรวจชาวอังกฤษหลายคนของบริษัทอินเดียตะวันออก (British East India Company) เสนอแนวคิดที่จะหาผลประโยชน์ทางด้านการเดินเรือและเศรษฐกิจของอังกฤษ ดังที่ไกรฤกษ์ อธิบายว่า

“…อังกฤษเป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่จู่โจมเข้ามาออกตัวว่าสนใจที่จะขุดคอคอดกระโดยยกแม่น้ำทั้งห้ามาให้รัชกาลที่ 4 ทรงตระหนักถึงคุณประโยชน์คลองลัดนี้จะมีต่อการค้าและการเดินทางขนส่งระหว่างประเทศ อันจะเป็นการสร้างชื่อเสียงให้พระองค์และประเทศสยามเป็นที่ปรากฏตามนโยบายเปิดประเทศของพระองค์[1]”

อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสก็เป็นอีกกลุ่มที่พุ่งความสนใจมายังคอคอดกระเช่นกันภายหลังขุดคลองสุเอซเชื่อมยุโรปและมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกัน ไกรฤกษ์ นานา อธิบายว่า

“…และเพราะความสำเร็จของฝรั่งเศสจากคลองสุเอซนี่เองที่มัดใจชาวโลกรวมทั้งชาวสยามอย่างดิ้นไม่หลุดทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าโครงการที่มีชาวฝรั่งเศสดำเนินการอยู่มักจะมีอิทธิพลของรัฐบาลรวมทั้งนายทุนและนักการเมืองหนุนหลังอยู่ด้วยเสมอ แต่กระแสแห่งภาพลักษณ์ของประสบการณ์และเทคโนโลยีอันล้ำหน้าก็พิสูจน์ว่าฝรั่งเศสมีอุดมการณ์และแนวคิดที่เปิดเผยกว่าอังกฤษในเรื่องการสร้างหลักประกันและเปิดโอกาสมากกว่าต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจในภาพรวม[2]

ชื่อเสียงของคนฝรั่งเศสในโครงการนี้จึงกลบกระแสนักล่าอาณานิคมซึ่งทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษต่างก็เป็นจำเลยของสังคมลงได้บ้าง ดังจะเห็นว่ารัฐบาลสยามเริ่มมีทัศนคติที่ดีและไว้วางใจบริษัทฝรั่งเศสโดยปิดตาข้างเดียวให้กับการพิจารณาคำขอของคนฝรั่งเศส

สถานการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงจากสมัยรัชกาลที่ 4 จากการที่เราเคยปกป้องคอคอดกระอย่างหวงแหน และเคยยึดภาษิตประจำใจอยู่เสมอว่ากันไว้ดีกว่าแก้ และไม่เห็นน้ำตัดกระบอก กลายมาเป็นโยนหินถามทาง และน้ำขึ้นให้รีบตักอย่างรวดเร็ว[1]

พระราชดำรัสบางตอนของรัชกาลที่ 5 ต่อคำขอของนักสำรวจจากฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1880 โดยการนำของ ม. เดลองก์ (M. Deloncle) ชี้ว่าทรงให้ความไว้วางใจต่อข้อเสนอของทางฝรั่งเศส ที่เปิดตัวว่า นาย เดอ เลสเซป รู้เห็นและสนับสนุนอยู่ ทำให้ดูน่าเชื่อถือมากกว่าอังกฤษ”

เอกสารที่ไกรฤกษ์ นานา ยกมาเป็นหลักฐานในกรณีนี้คือ จดหมายเหตุรัชกาลที่ 5 ว่าด้วยคำขอของคณะสำรวจจากฝรั่งเศส เนื้อหามีดังนี้

จดหมายเหตุรัชกาลที่ 5

ว่าด้วยคำขอของคณะสำรวจจากฝรั่งเศส

จดหมายเหตุรัชกาลที่ 5 ฉบับที่ 1 ว่าด้วยจดหมายถ้อยคำซึ่งมองซิเออร์ฟรังซัว เดอลองก์ กราบบังคมทูลและมีพระราชดำรัสตอบในวันเสาร์ เดือน 7 แรม 9 ค่ำ ปีมะเมีย จัตวาศก ศักราช 1244

“เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เวลาบ่าย 1 โมง มองซิเออร์ เลอด็อกเตออาร์มอง กงซุลและคอมมิสแซฝรั่งเศส นำพระราชสาส์นกรุงเวียตนามทูลเกล้าฯ ถวายแล้วขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ มองซิเออร์ เดลอง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว มองซิเออร์เดลอง เข้ามาเฝ้า ผู้ซึ่งอยู่ในโต๊ะที่เสด็จออกนั้น พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ กงซุลฝรั่งเศสมองซิเออร์ลอยู แต่เจ้าพนักงานกรมท่าและมหาดเล็กเฝ้าอยู่ห่าง แต่พอได้ยินความถนัด มองซิเออร์เดลอง ถวายสำเนาหนังสือซึ่งมองซิเออร์เดอเลสเสปมีมาถึงตัว และหนังสือมองซิเออร์เดลองเอง ทรงทอดพระเนตรแล้ว มองซิเออร์เดลองกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตที่จะขุดคลองในชื่อของมองซิเออร์เดอเลสเสป

ดำรัสว่า การซึ่งจะขุดคลองนี้ ทรงเห็นว่าฝ่ายอังกฤษก็คงจะอยากขุดเหมือนกัน ก็ไม่อยากที่จะให้เป็นการ
ขัดขวางกับอังกฤษ ฝ่ายมองซิเออร์เดอเลสเสปเล่า ก็เป็นคนเคยทำการเห็นปรากฏว่าเป็นคนเคยทำสำเร็จ เราก็ไม่อยากจะขัดขวาง ถ้าการคลองนี้จำเป็นต้องขุดเป็นแน่แล้ว มองซิเออร์เดอเลสเสปจะเป็นผู้ขุด เราก็จะมีความยินดี ด้วยได้เห็นการที่ทำมาแล้ว แต่การตกลงซึ่งจะทำให้คอนเสสชั่นให้เป็นการตกลงแน่ในเวลานี้ไม่ได้ เพราะเหตุที่ยังไม่รู้การตลอด ในแผนที่และการต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์แก่เรา และจะต้องรู้แน่ว่าคอวเวอนเมนต์ต่างๆ ทั้งปวงซึ่งมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง มีอังกฤษซึ่งเป็นผู้มีผลประโยชน์ใหญ่ เป็นต้น ได้เข้าใจดีตกลงพร้อมกัน เพราะเป็นการสำคัญซึ่งเราจะต้องระวังให้เป็นการเรียบร้อยตลอดไป

มองซิเออร์เดลอง กราบทูลว่า การซึ่งจะพูดกับคอวเวอนเมนต์ต่างประเทศนั้นมองซิเออร์เดอเลสเสปจะรับเป็นธุระพูดจาเอง ไม่ต้องให้ไทยพูด ถึงเมื่อครั้งคลองสุเอซและคลองปานามา เจ้าของก็ไม่พูดจาอันใด มองซิเออร์เดอเลสเสปพูดทั้งสิ้น

ทรงตอบว่า ดีแล้ว ถ้าดังนั้นให้มองซิเออร์เดอเลสเสปพูดจาเสียให้ตกลงก่อน จึงค่อยเอาคอนเสสชั่น” [1]

ทว่า แม้นว่าฝรั่งเศสจะถือไพ่เหนือกว่าอังกฤษในทุกด้าน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือยังไม่ทรงยินดีที่จะให้สัมปทานในการขุดทันทีทันใด (คอนเสสชั่น = สัมปทาน) จนกว่าจะมีการสำรวจ (เซอร์เวย์) พื้นที่อย่างละเอียดก่อนจึงจะรู้แน่ชัดว่ามีความเป็นไปได้อย่างไร

“ดำรัสถามถึงที่ซึ่งจะขุดและการที่ทำนั้นอย่างไร มองซิเออร์เดลองทูลชี้แจงบ้าง และรวมความลงขอ
พระราชทานคอนเสสชั่น จึงดำรัสว่า การเรื่องที่จะขุดคลองนี้มีข้อขัดขวาง ซึ่งจะยอมให้คอนเสสชั่นไม่ได้เดี๋ยวนี้ 2 ประการ ประการ 1 นั้น ยังไม่ทรงทราบว่าการที่ขุดนั้นจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์กันแน่ เพราะที่นั่นยังไม่ได้เซอรเวดู ให้รู้ว่าจะทำยากทำง่ายเป็นประการใด และเรือซึ่งจะมาเดินทางนั้น จะมากน้อยประการใด ก็ยังไม่ได้คิดกะประมาณการเป็นแน่ รวมใจความว่า เมื่อคอวเวอนเมนต์สยามยังไม่ได้พิจารณาการเรื่องนี้โดยละเอียดถ้วนถี่ ให้เห็นว่าจะเป็นประโยชน์แน่แล้ว จะยอมให้คอนเสสชั่นยังไม่ได้

มองซิเออร์เดลองได้กราบทูลว่า แผนที่และประมาณการเรื่องนี้ เขามีพร้อมที่จะยื่นถวายให้ทราบได้ แต่ซึ่งจะเอาเป็นแน่ละเอียดลออ เมื่อก่อนยังไม่ได้เซอรเวนั้นไม่ได้อยู่เอง มองซิเออร์เดอเลสเสปได้คิดไปว่า เมื่อใดได้คอนเสสชั่นแล้วจึงจะประชุมผู้ซึ่งชำนาญในการเซอรเว มาเซอรเวตรวจการให้ได้โดยละเอียดต่อเมื่อตรวจแล้วเห็นว่าควรจะทำ จึงจะทำได้

จึงดำรัสว่า ส่วนกัมปนีจะต้องตรวจให้เห็นว่าควรทำได้แล้วจึงจะทำ ส่วนเราก็ต้องขอตรวจให้รู้ก่อนว่า ควรจะอนุญาตแล้วจึงจะอนุญาตเหมือนกัน เพราะที่เหล่านี้เป็นที่มีบ่อแร่เป็นต้น และสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ของแผ่นดินและของราษฎรอย่างไรบ้าง เราต้องรู้ก่อนที่จะตกลง” [2]

ทีมงานฝรั่งเศสจึงได้เริ่มการสำรวจ เกิดเป็นแผนที่การสำรวจคอคอดกระของนายเดอลองก์ฉบับ ค.ศ. 1881 ภายใต้พระบรมราชานุญาตของรัชกาลที่ 5 ในการนี้ทรงมีหมายรับสั่งให้ทีมงานของทางราชสำนักติดตามไปด้วยเพื่อจะได้เปิดเผยและตรวจสอบได้ แต่บังเอิญผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทยดันเป็นคนอังกฤษ แผนงานของพวกฝรั่งเศสจึงไม่ค่อยจะราบรื่นนัก[4]

ยุบโครงการ สู่การปลอบใจทีมงานฝรั่งเศส
แม้ว่าพระเจ้าแผ่นดินไทยทรงอนุญาตให้ทีมงานชาวฝรั่งเศสสำรวจและจัดทำแผนที่พร้อมผลักดันโครงการดังกล่าว แต่แล้วคนในสมัยนั้นกลับหยุดยั้งแผนขุดคลองกระโดยกะทันหันเสียเอง ประเด็นเกี่ยวกับสาเหตุของเรื่องนี้ ไกรฤกษ์ นานา เขียนเล่าการค้นคว้าครั้งใหม่ที่พบว่าผู้เกี่ยวข้องโดยตรงต่างหากที่คัดค้านมิให้แผนการสำเร็จลงได้ไว้ในบทความ “‘ตัวการ’ ที่ทำให้ไทยยกเลิกโครงการขุดคอคอดกระ ข้อมูลใหม่สมัยรัชกาลที่ 5” (คลิกอ่านที่นี่)

เมื่อการยุบโครงการขุดคลองกระโดยกะทันหันทำให้ทีมงานฝรั่งเศสเสียหน้ามิใช่น้อย โครงการขุดคลองปานามาที่ฝรั่งเศสถอนตัวออกมายังผสมสร้างความปวดร้าวให้ นาย เดอ เลสเซป เป็นอย่างมากอีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชบัญชาให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส หาทางรักษาน้ำใจทีมงานชาวฝรั่งเศสเพื่อผดุงมิตรภาพระหว่างกัน ไกรฤกษ์ นานา เล่าถึงแนวทางปฏิบัตินั้นว่า (จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่ – กองบก.ออนไลน์)

“…พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงเขียนบันทึกว่าเพื่อเป็นการซื้อใจพวกฝรั่งเศส ทางรัฐบาลสยามได้จัดงานเลี้ยงรับรองขึ้นที่สถานทูตประจำกรุงปารีสเพื่อเรียกขวัญและเป็นกำลังใจให้แก่ทีมงานวิศวกรชาวฝรั่งเศส[8]

โดยในวันที่ 21 พฤษภาคม 1884 (พ.ศ. 2427) นาย เดอ เลสเซป วิศวกรผู้ออกแบบและขุดคลองสุเอซพร้อมด้วยนายเดลองก์ วิศวกรและเพื่อนร่วมงานผู้เสนอโครงการขุดคลองกระและชาวคณะทุกคนมีอาทิ กัปตันเบลลิอง (Captain Bellion) นายดรู (Mr.Léon Dru) และ นายเกรอัง (Mr. Grehan) อดีตกงสุลสยามประจำกรุงปารีส ได้รับเชิญมาเป็นเกียรติในงาน[8]

ในการนี้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงได้อ่านสุนทรพจน์กล่าวขอบคุณทีมงานสำรวจคอคอดกระของนายเดลองก์และความสำเร็จของการสำรวจครั้งแรกและข้อมูลที่ได้จากใจจริงของราชสำนักสยาม

ทั้งยังได้อ้างถึงพระพรชัยมงคลและพระราชสดุดีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานมาเป็นพิเศษแก่ นาย เดอ เลสเซป ว่าผลงานจากคลองสุเอซของท่านเป็นผลงานอันโดดเด่นที่น่ายกย่องชื่นชม และเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติอย่างไม่ต้องสงสัย

พระองค์ในฐานะองค์พระประมุขของพระราชอาณาจักรแห่งเอเชียตระหนักถึงความสำเร็จและคุณูปการของ นาย เดอ เลสเซป จึงได้ถือโอกาสนี้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยิ่งแห่งกรุงสยามนามว่า “เครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาสุราภรณ์มงกุฎสยาม” ชั้นสูงสุด (เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยมีทั้งหมด 7 ชั้น ชั้นที่ นาย เดอ เลสเซป ได้รับพระราชทานมีนามว่า Knight Commander of the Crown of Siam (Grand Cross of the Most Honourable Order of the Crown of Siam) ให้ นาย เดอ เลสเซป เป็นเกียรติยศด้วย[9]

โครงการขุดคอคอดกระในสมัยกาลที่ 5 ยุติลงโดยสันติวิธีใน พ.ศ. 2428 (ค.ศ. 1885) และไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกอีกเลยจนตลอดรัชกาล[2]…”

 

คลิกอ่านเพิ่มเติม : 26 กรกฎาคม 1956 อียิปต์ยึด “คลองสุเอซ” คืนจาก “อังกฤษ-ฝรั่งเศส”

เชิงอรรถ

[1] ไกรฤกษ์ นานา. “ตะลึง! Blue Print คอคอดกระ สมัยรัชกาลที่ 5 มีจริง ตอนที่ 1 ทำไมรัชกาลที่ 5 ทรงยอมให้ฝรั่งเศสสำรวจเมืองไทย,” ใน หน้าหนึ่งสยาม. สำนักพิมพ์มติชน, 2556.

[2] ___________. “ตะลึง! Blue Print คอคอดกระ สมัยรัชกาลที่ 5 มีจริง ตอนจบ ระทึกเหตุที่โครงการถูกยุบ,” ใน หน้าหนึ่งสยาม. สำนักพิมพ์มติชน, 2556.

[4] แชน ปัจจุสานนท์, พลเรือตรี. ประวัติการทหารเรือไทย. โรงพิมพ์กรมสารบรรณทหารเรือ, 2509.

[8] Comte A. Mahé de la Bourdonnais. A French Engineer in Burma and Siam (1880). White Lotus, 2003.

[9] Manich Jumsai, M.L. Prince Prisdang’s Files on His Diplomatic Activities in Europe, 1880-1886. Chalermnit, 1977.

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มีนาคม 2564
https://www.silpa-mag.com/history/article_64924