ผู้เขียน หัวข้อ: สพฉ. ป่วนหนัก ปลัด สธ.นั่งเลขาฯ 1 เดือน สั่งสรรหา "รองเลขาฯ" ก่อนตัวจริงเข้ามา  (อ่าน 339 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. ป่วนหนัก เจ้าหน้าที่เผย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นั่งรักษาการเลขาธิการ 1 เดือน สั่งสรรหา “รองเลขาธิการ” ก่อนตัวจริงเข้ารับตำแหน่งไม่กี่วัน

รายงานพิเศษ

มีรายงานข่าวจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ซึ่งบุคลากรภายใน กำลังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ สพฉ. คนใหม่ ว่าเป็นกระบวนการที่โปร่งใสหรือไม่ เพราะมีความพยายามที่จะแต่งตั้งให้เสร็จสิ้นก่อนที่ผู้ที่ได้รับการเลือกเป็นเลขาธิการ สพฉ.จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 1 เมษายนนี้ โดยไม่รอให้เลขาธิการมีส่วนร่วมในการคัดเลือก

ทำความเข้าใจก่อนว่า ที่ผ่านมาตำแหน่งรองเลขาธิการ สพฉ. มี 2 รูปแบบ รูปแบบแรก คือ ผู้ดำรงตำแหน่งประจำ ซึ่งก็คือ นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย ซึ่งจะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามวาระของเลขาธิการสถาบัน อีกรูปแบบหนึ่ง คือ รองเลขาธิการ ที่มาจากเสนอชื่อของเลขาธิการ สพฉ.ให้คณะกรรมการบริหารคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง และตามมารยาทจะต้องลาออกไปตามวาระการดำรงตำแหน่งของเลขาธิการ สพฉ.ซึ่งเป็นผู้เลือกมา โดยที่ผ่านมาล้วนแต่เป็นบุคคลที่มีรความเชี่ยวชาญในการการแพทย์ฉุกเฉิน

กระบวนการสรรหารองเลขาธิการ สพฉ.ครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังที่ นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. หมดวาระลงไปเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 นั่นทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ ที่มาจากการคัดเลือกของ นพ.อัจฉริยะ พ้นจากตำแหน่งไปด้วยตามมารยาท

และแม้ว่าในวันที่ 4 มีนาคม นพ.อัจฉริยะ จะได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการบริหารสถาบัน ให้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกวาระหนึ่ง ด้วยวิธีการให้กรรมการบริหารสถาบัน ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ นพ.อัจฉริยะ จะเริ่มกลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 1 เมษายน 2564

ทำให้ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีคำสั่งให้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่ “รักษาการเลขาขาธิการ สพฉ.” ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 ไปจนถึงวันที่เลขาธิการ สพฉ.เข้ารับตำแหน่งใหม่

วันที่ 22 มีนาคม 2564 มีเอกสารจากสำนักบริหารกลาง ถึงเลขาธิการ สพฉ.เพื่อขออนุมัติอัตรากำลังตำแหน่ง “รองเลขาธิการ สพฉ.” โดยในเอกสารอ้างว่า เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 นพ.เกียรติภูมิ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรักษาการเลขาธิการ สพฉ. ได้มอบสถาบันให้ดำเนินการคัดเลือก “รองเลขาธิการ” โดย “วิธีเฉพาะเจาะจง” ถือเป็นการขออัตรากำลังในตำแหน่ง “ประจำ” ต่างจากที่เคยปฏิบัติมา ที่เคยเว้นตำแหน่งรองเลขาธิการ ไว้ให้เลขาธิการเป็นผู้คัดเลือก

ต่อมา วันที่ 24 มีนาคม 2564 รักษาการเลขาธิการ สพฉ. (ปลัดกระทรวงสาธารณสุข) ลงนามในเอกสารแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “รองเลขาธิการ สพฉ.” โดยวิธีเฉพาะเจาะจง และจะจัดการประชุมเพื่อแต่งตั้ง รองเลขาธิการ สพฉ.คนใหม่ ในวันจันทร์ที่ 29 มีนาคม 2564 ก่อนที่ นพ.อัจฉริยะ จะกลับมารับตำแหน่งเพียง 3 วัน

เมื่อไปดู “หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งหรือการจ้างผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ.2562 ตามประกาศสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ" เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 ในข้อ 5 (2) ระบุว่า

“การเปิดรับสมัครเฉพาะเจาะจง ให้สถาบันมีหนังสือไปยังบุคคลที่สถาบันเห็นว่า เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถหรือประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ว่ามีความเหมาะสมกับตำแหน่งที่เปิดรับสมัครเพื่อให้บุคคลดังกล่าวเข้าสู่ระบบการคัดเลือกต่อไป”

“คุณสมบัติ” จึงเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามจากบุคลากรใน สพฉ. เพราะสงสัยว่า บุคคลที่จะถูกเลือกมาโดยวิธีเฉพาะเจาะจง “คนนี้” มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินหรือไม่ มีประสบการณ์เกี่ยวกับงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินเป็นที่ประจักษ์จริงหรือไม่

แหล่งข่าวใน สพฉ. เปิดเผยว่า มีกระแสข่าวภายในองค์กร ว่าผู้ที่จะถูกเสนอชื่อมาดำรงตำแหน่ง “รองเลขาธิการ” คนใหม่ เป็นอดีตสื่อมวลชน ที่เคยทำงานด้านการสื่อสารองค์กรให้กับหน่วยงานในกระทรวงสาธารณะสุข และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ก็เพิ่งได้รับแต่งตั้งเข้ามาเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ สพฉ. และมาเป็นรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร

ส่วนการเลือก “รองเลขาธิการ” อีกหนึ่งคนที่ไม่ใช่ตำแหน่งประจำ แหล่งข่าวใน สพฉ.บอกว่า ที่ผ่านมา ถือเป็นมารยาทที่จะให้ “เลขาธิการ สพฉ.” คนปัจจุบัน เป็นผู้คัดเลือกและเสนอรายชื่อให้กับคณะกรรมการบริหารสถาบันพิจารณารับรอง ซึ่งผู้ที่ถูกเลือกมาล้วนแต่เป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับงานการแพทย์ฉุกเฉิน เพราะต้องมาทำงานบริหาร กำหนดนโยบาย จัดการงบประมาณเกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นงานที่มีชีวิตของผู้ป่วยเป็นเดิมพัน

“เมื่อเกิดกระบวนการเช่นนี้ขึ้น จึงมีคำถามใหญ่ที่เกิดขึ้นภายใน สพฉ. หลายข้อ คือ เหตุใดการคัดเลือก รองเลขาธิการ สพฉ. ครั้งนี้ จึงเกิดขึ้นในระหว่างที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มาทำหน้าที่รักษาการเลขาธิการ

การเร่งเปิดอัตรากำลังในตำแหน่งที่สำคัญในช่วงที่ทำหน้าที่รักษาการที่มีระยะเวลาเพียง 1 เดือน มีความเหมาะสมหรือไม่

ทำไมจึงต้องเร่งกระบวนการคัดเลือกและแต่งตั้งให้แล้วเสร็จก่อนที่ นพ.อัจฉริยะ จะกลับเข้ามาทำงานในอีกไม่กี่วัน

ผู้ที่กำลังจะได้รับการคัดเลือกเข้ามา มีความรู้ความสามารถด้านการแพทย์ฉุกเฉินเป็นที่ประจักษ์ตามหลักเกณฑ์หรือไม่

และคำถามสุดท้าย คือ กระบวนการคัดเลือกนี้ ถูกต้อง โปร่งใส ถูกแทรกแซงหรือไม่?”

 26 มี.ค. 2564 ผู้จัดการออนไลน์