ผู้เขียน หัวข้อ: สาเหตุอาชญากรสงครามไทยรอดถูกแขวนคอได้ชาติเดียว! ศาลว่าจะให้สภาตีความกฎหมายได้  (อ่าน 342 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
คนที่เกิดหลังปี พ.ศ.๒๔๘๘ คงไม่คุ้นกับคำว่า “อาชญากรสงคราม” ที่โด่งดังสนั่นโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง เพราะบรรดาผู้นำประเทศที่แพ้สงครามต่างต้องตกเป็นจำเลยในศาลอาชญากรสงครามที่สหประชาชาติตั้งขึ้นที่เมืองนูเรมเบิร์กในเยอรมัน และกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น ซึ่งหลายคนถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ อย่างจอมพลฟิลิป เปแตง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และนายปีแอร์ เลวัน นายกรัฐมนตรี ที่ร่วมรบกับฝ่ายเยอรมัน จอมพลฮิเดกิ โตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ผู้สั่งถล่มเพิร์ลฮาร์เบอร์และเซ็นสัญญาร่วมรบกับจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ถูกแขวนคอร่วมกับนายพลคู่ใจอีกหลายคน ส่วนอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเยอรมันล่องหนหาศพไม่พบ นายเบนิโต มุสโสลินี ผู้นำอิตาลี ถูกปลดออกจากตำแหน่งก่อนสงครามยุติเช่นเดียวกับจอมพล ป. และถูกควบคุมตัว แต่ก็ถูกหน่วยพลร่มของเยอรมันชิงตัวออกไปได้ ให้ไปปกครองรัฐฝ่ายเหนือของอิตาลีใต้อิทธิพลของเยอรมัน เมื่อช่วงความพ่ายแพ้ใกล้จะมาถึง มุสโสลินีพยายามหนีไปสวิตเซอร์แลนด์ แต่ถูกพลพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลีจับได้ ประหารชีวิตและแขวนศพของเขายืนยันการตาย

บรรดาผู้นำและขุนศึกฝ่ายอักษะที่ก่อสงครามและพ่ายแพ้ จึงไม่มีใครรอดชีวิต แต่อาชญากรสงครามไทยกลับรอดราวปาฏิหาริย์ได้ชาติเดียว

เมื่อขุนศึกนาซีของเยอรมันถูกแขวนคอไป ๑๒ คน และขุนศึกญี่ปุ่นถูกแขวนคอ ๗ คน สถานีวิทยุกระจายเสียงที่กรุงเดลลีและที่ซานฟานซิสโกได้ออกข่าวว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรจะนำ เอาอาชญากรสงครามไทยไปขึ้นศาลต่างประเทศด้วย ๔ คน คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม หลวงวิจิตรวาทการ พลตรี ประยูร ภมรมนตรี และนายสังข์ พัธโนทัย รัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เห็นว่าถ้าจอมพล ป.ต้องไปขึ้นศาลอาชญากรสงครามในต่างประเทศ ไทยก็จะมีชื่ออยู่ในกลุ่มผู้แพ้สงครามด้วย จึงชิงตั้งศาลอาชญากรสงครามขึ้นเอง พร้อมทั้งออกกฎหมายอาชญากรสงครามจัดการกับอาชญากรสงครามไทย
มาตรา ๓ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับนี้ระบุว่า “การกระทำ ใดๆ อันบุคคลได้กระทำ ไม่ว่าในฐานะเป็น ตัวการหรือผู้สมรู้ต้องตามที่บัญญัติไว้ต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นอาชญากรสงคราม และผู้กระทำ เป็นอาชญากรสงคราม ทั้งนี้ไม่ว่าการกระทำนั้นจะได้กระทำก่อนหรือหลังวันใช้พระราชบัญญัตินี้”

มีอาชญากรสงครามไทยถูกจับและส่งฟ้องศาลนี้จำนวน ๘ คน คือจอมพล ป.พิบูลสงคราม พันโท พระสารสาสน์พลขันธ์ พลโท จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ พลตรี ประยูร ภมรมนตรี พระราชธรรมนิเทศ นายสังข์ พัธโนทัย นายฉ่ำ จำรัสเนตร และหลวงวิจิตรวาทการ โดยแยกฟ้องกันหลายสำนวน

จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งตกเป็นจำเลยคนเดียวในสำนวนที่ ๑ และยังเป็นจำเลยในสำนวนที่ ๒ ร่วมกับนายเพียร ราชธรรมนิเทศ และนายสังข์ พัธโนทัยด้วย ได้ให้การปฏิเสธโดยอ้างว่า การกระทำต่างๆที่ถูกฟ้องนั้น ไม่ใช่การกระทำของจำเลย แต่เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยในทางบริหารราชการแผ่นดินโดยชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำของประเทศชาติ (Act of State) และใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินด้วยความไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎร จำเลยและคณะรัฐมนตรีของจำเลยก็ได้รับความไว้วางใจตลอดเวลาที่ใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ในเรื่องที่ถูกกล่าวหา สภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะออกกฎหมายมาแสดงในภายหลังว่าการใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินเช่นนั้นเป็นความผิดอาญา โดยเฉพาะคดีนี้สภาผู้แทนราษฎรที่ออกพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม ก็เป็นสภาผู้แทนราษฎรอันเดียวกับที่ได้ให้ความไว้วางใจจำเลยและคณะรัฐมนตรีของจำเลยนั้นเอง จึงเห็นเจตนารมณ์อย่างชัดแจ้งว่า พระราชบัญญัตินี้ไม่บังคับถึงการกระทำที่โจทก์กล่าวหาจำเลย นัยหนึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้ที่สภาผู้แทนราษฎรของชาติไทยจะมาลบเสียด้วยเท้าอันสิ่งซึ่งได้เขียนไว้เองด้วยมือ

ศาลได้ตัดสินคดีของ พ.ท.พระสารสาสน์พลขันธ์เป็นคดีแรกในวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๔๘๙ มีสาระสำคัญในคำตัดสินว่า กฎหมายอาชญากรสงครามนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญ เป็นโมฆะด้วยเหตุผล ๓ ประการ คือ

ประการที่หนึ่ง ศาลเป็นผู้ใช้กฎหมายตามรัฐธรรมนูญฯมาตรา ๕๘ ฉะนั้นการที่จะดูว่าอะไรเป็นกฎหมายที่ใช้ได้หรือไม่ ย่อมเป็นอำนาจของศาล เพราะถ้าศาลไม่มีอำนาจดูกฎหมาย ศาลก็ย่อมไม่รู้ว่าอะไรเป็น และจะดำเนินการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามกฎหมายได้อย่างไร

ประการที่สอง การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญของเรา แบ่งอำนาจเป็นสามประเภท คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ แต่ละอำนาจย่อมมีอำนาจยับยั้งและกำกับเป็นการควบคุมกันอยู่ ซึ่งเป็นหลักประกันในความมั่นคง เมื่อสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีอำนาจทางนิติบัญญัติออกกฎหมายมาแล้ว ศาลซึ่งมีอำ นาจฝ่ายตุลาการต้องปฏิบัติตาม ไม่ว่าศาลจะเห็นว่ากฎหมายนั้นสมควรหรือไม่ก็ตาม แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าสภาผู้แทนราษฎรออกกฎหมายไม่ถูกต้องกับรัฐธรรมนูญ หรือขัดกับรัฐธรรมนูญ ศาลก็มีอำนาจแสดงความไม่ถูกต้องนั้นได้

เหตุผลประการสุดท้ายก็คือ เมื่อมีรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๖๑ ไว้แล้วเช่นนี้ ก็จำต้องมีผู้มีอำนาจชี้ขาดว่ากฎหมายบทใดขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ มิฉะนั้นมาตรา ๖๑ นี้จะไม่มีผล กฎหมายนั้นสภาผู้แทนราษฎรออกมาเอง จะกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรชี้ขาดว่าเป็นกฎหมายดีหรือไม่อย่างไรได้ จะว่าฝ่ายบริหารมีอำ นาจชี้ขาดก็ไม่ได้ เพราะการวินิจฉัยกฎหมายไม่ใช่เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร เช่นนี้ใครเล่าที่จะมีอำนาจนอกจากศาล ศาลเป็นหน่วยที่ตั้งขึ้นไว้สำหรับให้ความยุติธรรม เป็นการบำบัดทุกข์ร้อนให้แก่ประชาชน บุคคลทั้งหลายย่อมหวังในความยุติธรรมของศาลเป็นที่ตั้ง และก็เมื่อมีบทกฎหมายอันออกมาตัดเสรีภาพและขัดต่อรัฐธรรมนูญเช่นนี้ จะไม่ให้ศาลมีอำนาจแสดงเพื่อให้ความยุติธรรมแก่บุคคลผู้เกี่ยวข้องหรือ ทางศาลไม่ประสงค์จะเข้าไปวินิจฉัยถึงกิจการทางนิติบัญญัติ แต่ไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้ในกรณีเช่นนี้ อาศัยเหตุผลดังได้บรรยายมาแล้ว ศาลฎีกาจึงพร้อมกันพิพากษาชี้ขาดว่า พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. ๒๔๘๘ เฉพาะที่บัญญัติลงโทษการกระทำก่อนวันใช้พระราชบัญญัติ ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๔ และเป็นโมฆะตามมาตรา ๖๑ การกระทำที่โจทก์ฟ้องจำ เลยในคดีนี้ เป็นการกระทำก่อนวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๘๘ อันเป็นวันใช้พระราชบัญญัตินี้ทั้งสิ้น จำเลยจะมีความผิดตามกฎหมายอื่นใดบ้างหรือไม่ ไม่สำคัญสำหรับคดีนี้ เพราะคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. ๒๔๘๘ เท่านั้น เมื่อบทบัญญัติอันโจทก์ฟ้องขอให้เอาผิดกับจำเลยเป็นโมฆะเสียแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะลงโทษจำ เลยได้ จึงให้ยกฟ้องโจทก์เสีย ปล่อยจำเลยพ้นข้อหาไป

เมื่อศาลได้ยกฟ้องคดีของ พ.ท.พระสารสาสน์พลขันธ์ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะพิจารณาคดีอื่นที่ถูกฟ้องในข้อหาเดียวกันอีก จึงให้ยกฟ้องปล่อยจำเลยทั้งหมด

เป็นอันว่า อาชญากรสงครามไทยไม่มีใครถูกลงโทษแม้แต่คนเดียว จึงเกิดความสงสัยกันว่า ทั้ง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี และ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นกุนซือรัฐบาล ต่างก็เป็นนักกฎหมายชั้นยอดทั้ง ๒ คน ไฉนจึงเสนอออกกฎหมายที่ขัดกับหลักการตื้นๆเช่นนี้ แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรก็ไม่มีใครติดใจที่อาชญากรสงครามไทยเล่นกลรอดถูกแขวนคอไปได้ชาติเดียว

หลังจากที่ศาลฎีกาได้พิพากษาให้ยกฟ้องปล่อยตัวจำเลยแล้ว ในวันที่ ๘ เมษายน ๒๔๘๙ นายกิจจา วัฒนสินธ์ สมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้เสนอญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรตีความว่า องค์กรใดทำหน้าที่ชี้ขาดว่ากฎหมายอาชญากรสงครามขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมและมีมติตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณา และเสนอความเห็นต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า แม้ว่าในการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญจะมีเจตนาให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ชี้ขาดในการตีความรัฐธรรมนูญในกรณีที่กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญก็มิได้ระบุชัดแจ้งว่าจะให้ศาลหรือสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ชี้ขาด ในที่สุดที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับความเห็นของคณะกรรมาธิการ ให้มีองค์กรพิเศษขึ้นมาเรียกว่า “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีอำนาจจำกัดเฉพาะกรณีที่การตีความกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญเฉพาะกรณีตามที่ศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเท่านั้น แต่ยังไม่ทันแต่งตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็เกิดรัฐประหาร ปี ๒๔๙๐ ฉีกรัฐธรรมนูญเสียก่อน

รัฐธรรมนูญฉบับต่อๆมาก็มีบัญญัติให้มีการตั้งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาตลอด จนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้บัญญัติว่า “ให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ เป็นศาล รัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ โดยให้ผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นรองประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีก ๘ คน เป็นการเริ่มต้นของการมีศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้

แต่ตอนนี้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้ว ก็ยังศรีธนนชัยตีความฝ่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญอีกจนได้

22 มี.ค. 2564  โดย: โรม บุนนาค
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000027387