ผู้เขียน หัวข้อ: มองการเมืองพม่าหลังเสียเมือง รัฐที่ยังสร้างไม่เสร็จฝันแห่งสหพันธรัฐที่ถูกแช่แข็ง  (อ่าน 386 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
19 มีนาคม พ.ศ.2564

พม่าก่อนเสียเมืองเป็นรัฐที่มีความยิ่งใหญ่ในภูมิภาค นับตั้งแต่อาณาจักร พุกาม ตองอู หงสาวดี ซึ่งแต่ละอาณาจักรได้ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดก่อนจะล้มสลาย เป็นวัฏจักรทางประวัติศาสตร์ที่พบเห็นได้ในทุกอารยธรรมทั่วโลก เฉกเช่นเดียวกับราชวงศ์คองบอง ราชวงศ์สุดท้ายของพม่า ซึ่งเคยยิ่งใหญ่ในสมัยพระเจ้าอลองพญา ก่อนจะเสียเอกราชให้อังกฤษใน ค.ศ.1885 ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียของอังกฤษ หรือบริติชเบอร์มา

ในงานสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา พม่าหลังเสียเมือง วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม 2564 ผศ. ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช วิทยากร อธิบายว่า หลังพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ อังกฤษได้เข้าปกครองอย่างเบ็ดเสร็จในบริเวณแกนกลางเขตลุ่มแม่น้ำอิรวดีและแม่น้ำสะโตง รวมถึงเทือกเขาตะนาวศรีและอาระกัน พื้นที่เหล่านี้อังกฤษเข้าปกครองโดยตรง มีอำนาจควบคุมอย่างสมบูรณ์

ขณะที่เขตเทือกเขาสูง ในรัฐคะฉิ่นและรัฐฉานปัจจุบันนั้น อังกฤษเข้าปกครองแบบหลวม ๆ คล้ายรัฐในอารักขา ในขณะที่เจ้าผู้ปกครองในพื้นที่ยังมีอำนาจการปกครองตนเองอยู่บ้าง นอกจากนี้ยังมีเขตภูเขาสูงตอนในบางเขตที่อังกฤษให้อิสระในการปกครองตนเอง เช่น กันทราวดี ของพวกกะยา หรือปูตาโอ ในเขตใกล้เทือกเขาหิมาลัย ทั้งนี้ ยังมีอีกเขตที่ไม่สามารถบริหารจัดการได้ อำนาจของอังกฤษแผ่เข้าไปไม่ถึง เช่น เขตหุบเขาของพวกว้า

“ส่วนที่เป็นพม่าแท้มันเป็นการปกครองโดยตรงจากอังกฤษ พลังจากอังกฤษค่อนข้างจะเข้มงวด ข้าหลวงเข้าไปปกครองตักตวงผลประโยชน์ก็ค่อนข้างเข้มงวด แล้วสถาบันที่ขัดขวางผลประโยชน์ของอังกฤษ เช่น กษัตริย์พม่าก็ถูกทลายหายไป แต่อีกดินแดนหนึ่งเหมือนกับว่าเป็นรัฐในอารักขาหรือมีลักษณะการควบคุมจากอังกฤษที่มันหลวมขึ้น เมื่อเทียบกับดินแดนส่วนแรก ในการนี้สถาบันการปกครองบางอย่างยังถูกเก็บรักษาเอาไว้ อย่างเช่น ระบบเจ้าฟ้าในรัฐฉาน… สิ้นแสงฉาน เจ้าฟ้ารัฐฉานมันมาล่มเมื่อ ค.ศ. 1962 ตอนเนวินปฏิวัติ แต่กษัตริย์พม่า พม่าเสียเมือง สิ้นพระเจ้าแผ่นดินพม่า ค.ศ. 1885… นี่คือจุดต่าง” ผศ. ดร. ดุลยภาค กล่าว

อังกฤษปกครองพม่าจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และให้เอกราชพม่าเมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1948 โดยบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการเรียกร้องเอกราชคือ นายพลอองซาน ย้อนกลับไปใน ค.ศ. 1947 ในข้อตกลงปางโหลง ซึ่งอองซานร่วมประชุมกับผู้นำในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ผศ. ดร. ดุลยภาค อธิบายว่า นักวิเคราะห์มองว่าข้อตกลงนี้เป็นใบเบิกทางที่ทำให้ดินแดนพม่าแท้กับดินแดนกลุ่มชาติพันธุ์รวมตัวขึ้นเป็นรัฐเอกราชพม่าในเวลาต่อมา และเป็นเค้าโครงในการก่อรูปการปกครองแบบสหพันธรัฐของพม่า ซึ่งมีรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐ

ข้อตกลงปางโหลงเป็นพื้นฐานสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับแรกของพม่า ซึ่งให้สิทธิการปกครองตนเองระดับหนึ่งกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่สำคัญคือมีมาตราหนึ่งที่ระบุถึงการให้สิทธิการแบ่งแยกดินแดนได้หลังจากการรวมตัวกันครบ 10 ปี ซึ่งพวกไทใหญ่กับกะยาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก

ผศ. ดร. ดุลยภาค กล่าวว่า “ค.ศ. 1947 เป็นต้นน้ำสำคัญในการก่อตัวรัฐพม่า เพราะว่ามีข้อตกลงเกิดขึ้นและมีรัฐธรรมนูญ แต่ว่าไส้ในมีมาตราการถอนตัวออกจากสหภาพ… ชีวิตชีวาของรัฐพม่ามันเกิดขึ้นแล้ว สัญญาณเริ่มดี” แต่หลังจากนายพลอองซานถูกลอบสังหาร ทำให้เหตุการณ์ในพม่ากลับพลิกผัน “ผลลัพธ์ของมันแน่ชัดก็คือ ทำให้พม่ายังสร้างรัฐไม่เสร็จ ทำให้พม่าระส่ำระส่าย ชีวิตชีวาแห่งสหพันธรัฐที่เคยคุยไว้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง” ผศ. ดร. ดุลยภาค กล่าว

นายพลอองซานลงนามข้อตกลงปางโหลง ค.ศ. 1947
หลังจากนั้น อูนุ ได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจ แต่อูนุไม่ได้ให้หลักประกันแก่กลุ่มชาติพันธุ์เท่ากับนายพลอองซาน ซ้ำยังเป็นที่ไว้วางใจน้อยกว่า การขึ้นสู่อำนาจของอูนุส่งผลให้รัฐพม่าไม่เป็นสหพันธรัฐอย่างแท้จริง มีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่ศูนย์กลางที่กรุงย่างกุ้ง มีการให้สิทธิพิเศษกับสมาชิกสภาที่เป็นพม่าแท้ และอีกหลายเรื่องที่พม่าแท้มีสิทธิพิเศษเหนือกว่า นั่นทำให้กลุ่มชาติพันธุ์รู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบ จึงเรียกร้องและเคลื่อนไหวติดอาวุธ บางกลุ่มหวังต้องการการปกครองแบบสหพันธรัฐ บางกลุ่มต้องการสร้างรัฐเอกราชเป็นของตนเอง รวมทั้งเกิดการแตกแยกในกลุ่มการเมืองต่าง ๆ เหล่านี้จึงนำไปสู่สงครามกลางเมืองในพม่า

รัฐบาลอูนุที่ปกครองประเทศมาตั้งแต่ ค.ศ. 1948 จนถึง ค.ศ. 1952 นับเป็นช่วงที่สับสน วุ่นวาย และไร้ระเบียบ รัฐบาลไม่สามารถสร้างเสถียรภาพได้ นั่นทำให้กองทัพพม่าเริ่มเข้ามามีบทบาทในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะการเข้ามามีอำนาจของนายพลเนวิน เพื่อค้ำยันไม่ให้รัฐบาลอูนุล่มสลาย กระทั่ง เกิดกวิกฤตในพรรคสันนิบาตอิสรชนต่อต้านฟาสซิสต์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสำคัญที่มีแกนนำสำคัญคืออูนุ เกิดแตกหักภายในเป็นสองกลุ่ม คือ สันนิบาติสะอาดของอูนุ และสันนิบาตเสถียร

“ตรงนี้ทำให้กองทัพเริ่มมองว่านักการเมืองตีกัน อยู่แบบนี้ไม่ได้แล้ว เหมือนระบบรัฐสภาและนักการเมืองมันทำให้ประเทศอ่อนแอ ในมุมกองทัพนะ… จุดเปลี่ยนสำคัญ ค.ศ. 1958 เป็นวิกฤตการแตกออกเป็นสองก๊กของกลุ่มสันนิบาต จนกระทั่งรัฐบาลพลเรือนไม่น่าจะไปไหวแล้ว…” ผศ. ดร. ดุลยภาค กล่าว

ในขณะนั้นเอง กองทัพพม่าก็เริ่มเคลื่อนไหว ที่สุดรัฐบาลอูนุถ่ายโอนอำนาจสู่กองทัพ โดยมีนายพลเนวินก้าวขึ้นสู่อำนาจเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ ตั้งแต่ ค.ศ. 1958-1960 จากนั้น มีการเลือกเลือกตั้งใหม่ อูนุขึ้นมาเป็นผู้นำอีกครั้ง ตั้งแต่ ค.ศ. 1960-1962 ในช่วงเวลานี้มีขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องการปกครองแบบสหพันธรัฐพม่า รัฐบาลอูนุก็ตอบตกลงให้มีการเจรจาประชุมสหพันธรัฐเกิดขึ้น “ในช่วงเวลานี้กองทัพเริ่มไม่สบายใจ มีเอกสารกองทัพปล่อยมาเหมือนกันว่าการเคลื่อนไหวสหพันธรัฐสัมพันธ์กับการแบ่งแยกดินแดน กองทัพก็เริ่มหวาดระแวง…” ผศ. ดร. ดุลยภาค กล่าว

ที่สุดกองทัพพม่าจึงทำรัฐประหารในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1962 นำประเทศสู่ระบอบการปกครองภายใต้ทหารยาวนานไปจนถึง ค.ศ. 1988 กระทั่งเกิดเหตุการณ์​ 8888 ประชาชนลุกฮือต่อต้านรัฐบาล นายพลซอมองทำรัฐประหารอีกครั้ง และแช่แข็งประเทศไปอีกหลายปี ส่วนปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ก็ถูกแช่แข็ง ถูกซุกไว้ใต้พรมเช่นเดียวกัน

ผศ. ดร. ดุลยภาค กล่าวว่า “พม่ามันเป็นรัฐที่มีความระส่ำระส่ายไร้ระเบียบ และมีความละเอียดอ่อนสูงมาก มีกลุ่มชาติพันธุ์ มีประชาชนที่มีมุมคิดความรู้สึกทางชาติพันธุ์ที่บางทีมันเป็นคนละขั้วกับคนพม่า เช่น กลุ่มไทใหญ่กับคนพม่าอาจจะมีอะไรที่ไม่ลงรอยกันหลาย ๆ ส่วน ในเรื่องของวัฒนธรรม ในเรื่องของความรู้สึกนึกคิด คนพม่ากับคนกะเหรี่ยงอะไรแบบนี้ บางกลุ่มก็อยู่กันได้แต่ว่าบางกลุ่มก็มีรอยปริแยก แต่กลุ่มชาติพันธุ์จำนวนไม่น้อยก็มีกองกำลังติดอาวุธ ซึ่งก็ทำสงครามตอบโต้กับรัฐบาลพม่า… เขา (กองทัพพม่า) เชื่อว่าถ้ามีการกระจายอำนาจ หรือให้การปกครองแบบสหพันธรัฐ มันจะคุมไม่อยู่ เขาไม่ต้องการอะไรที่ซับซ้อนมาก เขาต้องการแบบรัฐบาลที่กระชับและรวมศูนย์ไปเลย…”

https://www.silpa-mag.com/on-view/art-and-culture-club/article_64590

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
การประท้วง 8888 เป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988 (8 สิงหาคม ค.ศ.1988/ พ.ศ. 2531) เมื่อประชาชนเมียนมา รุกขึ้นต่อต้านการปกครองของรัฐบาลพรรคโครงการสังคมนิยม (BSPP) ภายใต้อำนาจของนายพลเน วิน ซึ่งมีกองทัพหนุนหลัง  จากการชุมนุมประท้วงทั่วประเทศที่ทำให้นายพลเน วิน ต้องสละตำแหน่งผู้นำ

สถานการณ์ทั่วไปภายใต้การปกครองของนายพลเน วิน ตั้งแต่ ค.ศ. 1962-1988 ทหารเข้ามาปกครองเมียนมา โดยสภาปฏิวัติ ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่โดยทั่วไปของประชาชนดีขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ การขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคยังคงเป็นปัญหาที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขได้ ขณะเดียวกันประชาชนก็ไม่สามารถแสดงออกทางการเมืองได้ การประท้วงของนักศึกษา ประชาชน คนงานต่อการบริหารจัดการภายใต้อำนาจของรัฐบาลถูกปราบปราบอย่างรุนแรงโดยทหารและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลค่อยๆ สะสมเป็นเชื้อไฟก็ค่อยปะทุขึ้น

เดือนกันยายน ค.ศ. 1987 รัฐบาลประกาศยกเลิกการใช้ธนบัตรมูลค่า 25, 35 และ 75 จั๊ต ซึ่งธนบัตรที่ประชาชนส่วนใหญ่ถือครองโดยไม่มีการชดเชย เป็นการซ้ำเติมความเป็นอยู่ของประชาชน โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่าเพื่อทำลายการค้าของกลุ่มกบฏและพ่อค้าในตลาดมืดตามแนวชายแดนไทย-จีน  ผลจากการประกาศครั้งนี้ทำให้มีการประท้วงของนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีย่างกุ้ง หรือ RIT กว่า 300 คน ซึ่งรัฐบาลตอบโต้โดยการสั่งปิดมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย

13 มีนาคม  1988  เจ้าหน้าที่นำกำลังเข้าปราบปรามนักศึกษาและประชาชนที่ออกมาประท้วงรัฐบาล หม่อง โฟน มอ นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีย่างกุ้ง เสียชีวิตจากปราบปรามครั้งนี้ หลังจากนั้นก็มีการประท้วงรัฐบาลอีกหลายครั้งตามมาอีกหลายต่อหลาย  ซึ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บและสูญเสียทั้งฝ่ายผู้ประท้วง และเจ้าหน้าที่

16 มีนาคม 1988 นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปะและวิทยาศาสตร์แห่งย่างกุ้ง พร้อมกับนักศึกษาจากสถาบันอื่นๆ เดินขบวนไปสถาบันเทคโนโลยีย่างกุ้ง แต่ถูกสกัดโดยตำรวจปราบจลาจลบริเวณแนวเขื่อนของทะเลสาบอินยาที่เรียกว่า “สะพานขาว” มีนักศึกษาถูกทำร้ายร่างกายและจมน้ำเสียชีวิตประมาณ 200 คน

17 มีนาคม 1988 ทหารและตำรวจบุกมหาวิทยาลัยศิลปะและวิทยาศาสตร์แห่งย่างกุ้ง จับกุมนักศึกษาจำนวนมากที่กำลังชุมนุมเรีกยร้องให้รัฐบาลเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับ การของนักศึกษาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา ส่วนนักศึกษาที่จับกุมนั้นส่งไปยังคุกอินเส่ง

18 พฤษภาคม 1988 นักศึกษาเดินขบวนประท้วงไปยังเจดีย์ซูเล ตำรวจปราบจลาจลและทหารร่วมกันสลายการชุมนุม ไม่ทราบจำนวผู้บาดเข็บเสียชีวิตที่ชัดเจน แต่จากเหตุการณ์นี้มีนักศึกษาที่ถูกจับกุม 41  คน เสียชีวิตระหว่างเดินทางไปในรถตู้ของตำรวจไปยังคุกอินเส่งเนื่องจกาขาดอากาศหายใจ

21 มิถุนายน  1988 รัฐบาลตัดสินใจประกาศเคอร์ฟิว เวลา 6 โมเย็น ถึง 6 โมงเช้าในเมืองย่างกุ้ง, ประกาศห้ามการชุมนุมเกิน 5 คน, ห้ามการปราศรัยและเดินขบวน แต่ประชาชนและนักศึกษาก็ยังคงเคลื่อนไหว และขยายวงกว้างออกไปจากกรุงย่างกุ้งด้วย

9 กรกฎาคม 1988 รัฐบาลเริ่มทีท่าทีที่อ่อนลง เช่น ประกาศยกเลิกเคอร์ฟิวที่ใช้มา 19 วัน เนื่องจากส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันของประชาชนและเจ้าหน้าที่ รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศ, ประกาศปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกจับกุมก่อนหน้า, และประกาศให้นักศึกษาที่ถูกไล่ออกจามหาวิทยาลัยสามารถกลับเข้าเรียนใหม่ได้ ฯลฯ

23 กรกฎาคม 1988  นายพลเน วิน ประธานพรรค BSPP และผู้นำสูงสุดที่แท้จริงของเมียนมาในขณะนั้น ประกาศลาออกจากตำแหน่งพร้อมผู้นำระดับสูงในพรรคอีกหลายคน เช่น นายพลซัน ยุ รองประธานพรรค,  กอว์ ติน สมาชิกคณะกรรมาธิการบริหารกลาง ฯลฯ โดยนายพรรคเน วิน ให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือนมีนาคม และมิถุนายน ที่ผ่านมา และด้วยตนเองเริ่มสูงวัย

แต่ก็ไม่วายที่จะกล่าวทิ่งท้ายว่า ต้องการให้ทุกคนรู้ว่าถ้ามีความไม่สงบเกิดขึ้น เมื่อทหารยิงนั้นเป็นการยิงเพื่อให้ถูกเป้า ไม่ใช่ยิงเพื่อขู่ให้กลัว

แต่การลาออกของนายพลเน วิน ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะผู้ที่มารับตำแน่งต่อจากนายพลเน วิน ก็คือ นายพลเส่ง ลวิน นายทหารใกล้ชิดของเขา

16 กรกฎาคม -12 สิงหาคม 1988 นายพลเส่ง ลวิน ที่ได้ชื่อว่า “นายพลสายเหยี่ยว” ประกาศกฏอัยการศึก ในเมืองย่างกุ้ง และสั่งให้ดำเนินการปราบปรามผู้ประท้วงด้วยความรุนแรง

โดยผู้ประท้วงวางแผนให้ตั้งแต่ วันที่ 8 สิงหาคม 1988 เป็นต้นไป  นักศึกษา ประชาชน พระสงฆ์ พร้อมใจกันประท้วงและหยุดงานทั่วประเทศ นักศึกษาจากองค์กรสหพันธ์นักศึกษาแห่งพม่า เคลื่อนไหวเพื่อปลุกระดมประชาชนให้เข้าร่วมในการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศในวันนี้ (8 สิงหาคม 1988) ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมกว่า 1 ล้านคน และเป็นวันที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนเมียนมาไม่ยอมอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของนายพลเนวิน และรัฐบาล BSPP ต่อไป

นายพลเส่ง ลวิน ประธานาธิบดีและประประธานพรรค BSPP สั่งใช้กำลังทหารปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรงและการใช้กระสุนจริง มีผู้เสียชีวิตกว่า 4,000 คน และอีกจำนวนมากที่ถูกจับกุม ซึ่งสร้างความกังวลนานาชาติในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาออกมาประณามการกระทำของรัฐบาล BSPP ขณะที่การประท้วงรัฐบาลก็ไม่มีท่าทีว่าจะยุติลง สุดท้ายนายพลเส่ง ลวิน ก็ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีและประธานพรรค BSPP (12 สิงหาคม 1988)

19 สิงหาคม 1988 ดร. หม่อง หม่อง นักกฎหมายที่ใกล้ชิด และเคยทำงานร่วมกับนายพลเน วิน ขึ้นผู้นำคนใหม่ของเมียนมา แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดี ประชาชนส่วนมากไม่ไว้วางใจและเห็นว่าเขาเป็น “ร่างทรง” ของนายพลเน วิน นอกจากนี้การประท้วงของประชาชนก็ไปไกลเกินกว่าที่แค่เพียงเปลี่ยนตัวผู้นำแล้วจะช่วยได้ และสิ่งที่ผู้ประท้วงต้องการคือการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นเพื่อเตรียมการเลือกตั้งเป็นเงื่อนไขสำคัญ แต่ข้อเสนอนี้ถูกดร. หม่อง หม่องปฏิเสธ และมีการส่งข้อเรียกร้องนี้ให้นักการฝ่ายตรงข้าม เช่น นางออง ซาน ซูจี, อดีตนายพลออง ยี ฯลฯ

24 สิงหาคม 1988 รัฐบาลประกาศยกเลิกกฏอัยการศึก และสั่งให้ทหารถอนตัวออกจากเมืองย่างกุ้ง หลังจากนั้นไม่กี่วันนักโทษในเรือนจำทั่วประเทศถูกปล่อยตัว หรือหลบหนีออกมา ซึ่งมีข่าวว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ของหน่วยข่าวกองของกองทัพ และนายพลเน วิน เพื่อให้ทหารมีความชอบธรรมที่จะเข้ามาแทรกแซงการบริหารจัดการบ้านเมือง สถานการณ์ในเมียนมาเข้าขั้นวิกฤติ เกิดการปล้นสะดม เกิดความกลัวและหวาดระแวงในหมู่ประชาชนทั่วไปจากข่าวลือต่างๆ เช่น การวางยาพิษในน้ำดื่มและแหล่งน้ำสาธารณะโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล

26 สิงหาคม 1988 นางออง ซาน ซูจี ขึ้นปราศรัยที่หน้าเจดีย์ชเวดากอง จนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกครั้งแรก

10 กันยายน 1988 รัฐบาล BSPP จัดประชุมเร่งด่วน ที่ประชุมสรุปว่า ให้มีจัดการเลือกตั้งโดยไม่ต้องทำประชามติและได้ตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อจัดการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้การยอมรับจากประชาชน ที่ต้องการให้รัฐบาลเฉพาะกาลเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง  เมื่อทางออกถูกปิดลง ทหารก็เริ่มส่งกำลังเข้าประจำการตามเมืองสำคัญต่างๆ ของเมียนมา ขณะเดียวกันก็มีข่าวลือว่ากองเรือสหรัฐอเมริกาปรากฏตัวในน่านน้ำเมียนมา

18 กันยายน 1988 นายพลซอ หม่อง รัฐมนตรีและหัวหน้าเสนาธิการกองทัพนำคณะทหารภายใต้ชื่อสภาฟื้นฟูกฎและระเบียแห่งรัฐ  หรือ SLORC ประกาศยึดอำนาจ เพื่อสร้างระเบียบและความเรียบร้อยให้กับประเทศ

อนึ่ง การปกครองตั้งแต่ปี 1962-1988 ของนายพลเนวิน ที่ทำให้ประชาชนต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจและถูกดกขี่จากองทัพ จนนำไปสู่การประท้วง 8888  ซึ่งแม้จะทำให้นายพลเน วิน หมดอำนาจ แต่ก็นำไปสู่การมีอำนาจของทหารกลุ่มใหม่ ที่เรียก SLORC

ข้อมูลจาก

วีระศักดิ์ ฉัตรรุ่งอรุณ. การรักษาอำนาจของรัฐบาลทหารเมียนมา ค.ศ.1988-2008, วิทยานิพนธ์หลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัตศาสตร์ มหาวิทยาลัยสิลปากร 2560

8 สิงหาคม 2531 การลุกฮือ 8888, เว็บไซต์ https://www.sac.or.th  สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2564

เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2564
https://www.silpa-mag.com/history/article_62398