ผู้เขียน หัวข้อ: 'แมลงสาบหลังศิลา'ผงาดชนะเลิศ สุดยอดเรื่องสั้นแห่งปี  (อ่าน 405 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
ประกาศแล้ว “แมลงสาบหลังศิลา” ของ ปะการัง สุดยอดเรื่องสั้นรางวัลชนะเลิศ คว้าเงิน 3 แสนบาท จาก 2,238 เรื่องสั้น ที่ส่งเข้าร่วมประกวดตลอด 1 ปี ของโครงการเรื่องสั้นยอดเยี่ยมแห่งปี เดลินิวส์และสมาคมนักเขียนฯ จัดขึ้น คณะกรรมการฯ ชี้เล่าเรื่องเปี่ยมด้วยชั้นเชิง เป็นงานเรื่องสั้นร่วมสมัยในระดับสากล
ศุกร์ที่ 12 มีนาคม 2564 เวลา 18.51 น.

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ถนนวิภาวดีรังสิต มีการจัดงานประกาศผลและมอบรางวัล “โครงการประกวดเรื่องสั้นยอดเยี่ยมแห่งปี (เรื่องสั้นของฉัน)” ซึ่งทาง หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ร่วมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยคนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไป ส่งผลงานเรื่องสั้นเข้าร่วมประกวดชิงเงินรางวัลรวมมากกว่า 5 แสนบาท ภายในงานมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานมอบรางวัล พร้อมด้วย คุณประพิณ รุจิรวงศ์, คุณสิริวรรณ พันธุ์ปรีชากิจ คุณปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหาร หนังสือพิมพ์เดลินิวส์, นางกนกวลี พจนปกรณ์ กันไทยราษฎร์ อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, ผศ.สกุล บุณยทัต นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

และผู้บริหาร 6 องค์กรพันธมิตร ประกอบด้วย น.ส.วชิรา การสุทธิ์ ผู้ตรวจการธนาคารออมสิน, นางสุพิชญา นิทัศน์วรกุล หัวหน้าสำนักสื่อสารองค์กร สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, นายชาญวิทย์ จารุสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน), น.ส. รัชฎาวรรณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน), นายณัฐพล ชูจิตารมย์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และ น.ส.ธิดารัตน์ เจริญพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขาย กลุ่มโรงแรมใบหยก พร้อมด้วย “แพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์” นางเอกชื่อดังแถวหน้าของเมืองไทย และ “มัดหมี่ พิมดาว พานิชสมัย” นักแสดงและนักเขียนชื่อดัง รวมถึงผู้ที่ได้รับรางวัลเข้าร่วมงาน

สำหรับผลการตัดสินของคณะกรรมการฯ รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล 3 แสนบาท เรื่อง แมลงสาบหลังศิลา โดย ปะการัง หรือ นายณรงค์ฤทธิ์ ยงจินดารัตน์ รางวัลรองชนะเลิศ 2 รางวัล รางวัลละ 5 หมื่นบาท เรื่อง อีกสักครั้งเถอะ โดย กร ศิริวัฒโณ และ เรื่อง พญายักษ์แห่งสามประสบ โดย บัญชา อ่อนดี

รางวัลชมเชย จำนวน 10 รางวัล รางวัลละ 1 หมื่นบาท 1.บ้านแสนสวย โดย จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท 2.ไปกอดคนรัก โดย นฤพนธ์ สุดสวาท 3.ผ้าอ้อมเด็กอ่อน ลด 30% โดย ไพรัตน์ ยิ้มวิลัย 4.แผลที่ไม่มีวันสมาน โดย แพรพลอย วนัช 5.มีเป็ดบนหลังคา โดย ศรัทธา สถาพร 6.ย่า โดย อานนท์ นานมาแล้ว 7.วูบเดียว โดย จันทรา รัศมีทอง 8.วันหนึ่งในหุบเขา โดย พิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์ 9. อันงดงาม โดย มนตรี ศรียงค์ และ 10.อุบล โดย สาคร พูลสุข

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กล่าวว่า การบันทึกร้อยเรียงเรื่องราวออกมาเป็นตัวอักษรนับเป็นความสามารถของมนุษยชาติ แต่การบริโภคสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป เน้นความรวดเร็วและกระชับ ทำให้มีความคิด ความลึกซึ้ง และความละเอียดอ่อนในจิตใจของความเป็นมนุษย์น้อยลง การบันทึก การเขียนและการอ่านจึงมีความสำคัญ ซึ่งต้องกล่าวชื่นชมหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ สมาคมนักเขียนฯ และองค์กรพันธมิตรที่ร่วมสร้างสรรค์โครงการที่ยิ่งใหญ่และมีความหมายนี้ เพื่อช่วยกันรักษาคุณค่าของวรรณกรรมไว้เป็นประวัติศาสตร์ชาติสืบไป

คุณประพิณ รุจิรวงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อใหม่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ทำให้การบริโภคสื่อดั้งเดิมลดลง ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการด้านหนังสือต้องเลิกกิจการไปเป็นจำนวนมาก นักเขียนทั้งรุ่นเก่าและใหม่ขาดสนามในการนำเสนอผลงาน โครงการนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจากผลงานที่ส่งเข้าประกวดมากถึง 2,238 เรื่อง เป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่รักการเขียนได้มีช่องทางนำเสนอผลงานอย่างสร้างสรรค์ และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการรักการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

นางกนกวลี พจนปกรณ์ กันไทยราษฎร์ กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ของการจัดประกวดเรื่องสั้น เพราะมีการนำเสนอผ่านหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ตลอดเวลา 1 ปี ที่ผ่านมาไม่เคยมีปรากฏการณ์รูปแบบนี้มาก่อน รวมถึงจำนวนเงินรางวัลที่นักเขียนได้รับก็สูงเป็นปรากฏการณ์เช่นกัน จึงถือเป็นความสำเร็จไม่ใช่แค่เพียงคณะผู้จัดทำโครงการอย่างหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ สมาคมนักเขียนฯ และพันธมิตรอีก 6 องค์กรเท่านั้น แต่ยังถือเป็นความสำเร็จร่วมกันทั้งนักเขียน ผู้อ่าน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อแวดวงวรรณกรรมต่อไป

ด้าน ผศ.สกุล บุณยทัต กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเขียนเรื่องสั้นได้เลือนหายไปจากสายตาผู้อ่าน แต่โครงการนี้ได้ช่วยกระตุ้นให้ผู้คนหันมาสนใจการเขียนการอ่านเรื่องสั้นอีกครั้ง ทั้งยังได้รับความสนใจจากนักเขียนทั่วประเทศ ทั้งนักเขียนรุ่นใหม่ และนักเขียนระดับรางวัลซีไรต์ ตลอดระยะเวลา 1 ปี คณะกรรมการต้องทำงานอย่างหนักเพราะผลงานที่ส่งเข้ามาล้วนแต่น่าสนใจและมีคุณภาพ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโครงการนี้เป็นเวทีที่มีมาตรฐาน และถือเป็นขวัญกำลังใจให้กับนักเขียนด้วย

“รางวัลชนะเลิศคือ แมลงสาบหลังศิลา โดย ปะการัง ถือเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงแนวทางการเขียนของนักเขียน ซึ่งเรื่องบอกเล่าถึงการเห็นผีเสื้อที่ตัวโต แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ผีเสื้อที่งดงาม และเล่าเรื่องการล้างแค้นที่เปี่ยมด้วยชั้นเชิงของชีวิต โดยเนื้อหาเป็นงานเรื่องสั้นร่วมสมัยในระดับสากล”

ด้านดาราสาว แพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์ กล่าวว่าขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลทุกท่าน โดยส่วนตัวชอบอ่านหนังสือหลากหลายแนว เริ่มจากแนวที่เราชอบ แล้วค่อย ๆ ขยับไปอ่านเรื่องอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นหนังสือเกี่ยวกับข้อคิด จากการที่ได้มาร่วมงานวันนี้ก็ทำให้ได้เจอเรื่องสั้นที่น่าอ่านหลายเรื่องมาก

ส่วน มัดหมี่ พิมดาว พานิชสมัย กล่าวว่า โครงการนี้ทำให้นักเขียนได้มีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง และสารมารถฝึกให้เยาวชนรักการอ่านได้ ปกติตัวมัดหมี่เป็นคนที่เขียนหนังสือ แต่ส่วนใหญ่จะเขียนเป็นคำคมให้กำลังใจมากกว่า สิ่งที่อยากแนะนำ คือ ประสบการณ์เป็นสิ่งที่สำคัญ สิ่งที่เราเจออยู่ทุกวัน สามารถเก็บสิ่งที่ได้พูดคุย หรือ การออกไปท่องเที่ยทำให้เราได้รับแรงบันดาลใจ ในการเขียนหนังสือได้ สำหรับคนที่อยากเขียนหนังสือ อยากให้เริ่มจากความชอบจากสิ่งใกล้ตัวก่อน

ขณะที่ นายณรงค์ฤทธิ์ ยงจินดารัตน์ นามปากกา ปะการัง ผู้เขียนเรื่อง แมลงสาบหลังศิลา ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ กล่าวว่า แรงบันดาลใจในการเขียนมาจากช่วงเดือนสุดท้ายในการประกวด ที่ได้พล็อตเรื่องและคิดว่ายังไงจะต้องเขียน เรื่องราวเล่าถึงสิ่งที่เราขัดแย้งกันอยู่ทุกวันนี้ เป็นเพราะทัศนคติที่ถูกปลูกฝังกันมามีความแตกต่างคนละขั้ว โดยไม่มีการหันหน้าเข้ามาคุยกัน

จึงสร้างตัวละครมาตัวหนึ่งที่มีลูก 2 คน โดยคนหนึ่งเลี้ยงดูโดยพ่อ ส่วนอีกคนเลี้ยงดูโดยแม่ ทั้งสองฝ่ายต่างมีความเชื่อทางสังคมที่แตกต่างกัน โดยพ่ออาจจะเลี้ยงดูลูกด้วยความก้าวร้าว ต่างจากแม่ที่จะสอนว่าถ้าอยากเติบโตได้ดี ต้องขยันศึกษาและเดินขึ้นไปเอง ไม่ใช่ดึงเขาลงมาหรือระรานเขา แต่ในเรื่องก็ไม่ได้บอกว่าใครถูกผิด ซึ่งต้องไปพิจารณากันเอาเอง ในเรื่องจะมีการซ่อนนัยต่างๆ ให้คนอ่านได้ค้นหาความหมาย ซึ่งการจัดงานประกวดเรื่องสั้นของเดลินิวส์ครั้งนี้ ถือเป็นเวทีที่ทำให้แวดวงนักเขียนมีความคึกคัก และดีใจอย่างมากที่ได้รางวัลนี้

12 มีนาคม 2564
https://www.dailynews.co.th/it/830724