ผู้เขียน หัวข้อ: รวมมิตร 10 ข่าวเด่นสังคมปี 54 "วัฒนธรรมสยิว-ครู-หมอถดถอย--แรงงานเฮ"  (อ่าน 909 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
       ลาทีปีกระต่าย 2554 ปีที่มีเรื่องชวนปวดเศียรเวียนเกล้า หากไม่นับอุทกภัยใหญ่ที่กระทบทุกวงการ ปีนี้ทั้งแวดวงคุณครู คุณหมอ วัฒนธรรม แรงงาน และ กทม.ต่างมีปัญหารุมเร้า ทั้งปัญหาใหม่ ปัญหาเก่าๆ สะสมเรื้อรังนานปี แต่ไม่ได้รับความสนใจแก้ไขเสียที โดยทีมข่าวการศึกษา-คุณภาพชีวิตได้นำข่าวเด่นสังคม ประจำปี 2554 จัดอันดับไว้ 10 ข่าว ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันตลอดทั้งปี ดังนี้
       
       1.แจกฟรี‘แท็บเล็ต’เขย่าคุณภาพเด็กไทย
       
       เริ่มต้นที่นโยบายแจกฟรี “แท็บเล็ต” สำหรับเด็ก ป.1 ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่พยายามผลักดันสุดฤทธิ์ โดยกำหนดให้เป็นนโยบายเร่งด่วน ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายก็พยายามดันโครงการ One Laptop Perchild แต่ไม่สำเร็จ
       
       ครั้งนี้นโยบายประชานิยม ยังคงได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากพ่อแม่ ผู้ปกครอง นักวิชาการอย่างต่อเนื่องเพราะห่วงเรื่องความไม่เหมาะสมด้วยวัย และ ประโยชน์ความคุ้มค่า ข้อดี ข้อเสียต่างๆ ทำให้ต้องปรับแผนลดกระแสคัดค้านของสังคม ทว่า ตลอดระยะเวลา 5 เดือนของรัฐบาลชุดนี้กลับยังไม่ปรากฏให้เห็นความชัดเจน สุดท้าย นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) งัดกลยุทธ์แก้ผ้าเอาหน้ารอด ว่า ให้ทดลองใช้แท็บเล็ตนำร่องใน 5 โรงเรียนไปก่อน แล้วให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) รับหน้าที่วิเคราะห์ผลการใช้แท็บเล็ตมานำเสนอ
       
       ทว่า เรื่องเงินๆ ทองๆ กลับชัดยิ่งกว่าชัด โดยเงินที่จะซื้อแท็บเล็ตนั้นองค์กรหลักจะควักเงินในกระเป๋ามากองให้รัฐบาลเอาไปซื้อแท็บเล็ต ประมาณ1,600 ล้านบาท แต่ก็ยังต้องรอความชัดเจนอีกอยู่ดีว่างบจำนวนนี้จะซื้อแท็บเล็ตให้นักเรียน ป.1 ในสังกัด ศธ.ได้ทั้ง 465,000 กว่าคนหรือไม่ แต่ที่ชัวร์คือจะให้ทันในปีการศึกษา 2555 แน่นอน เหนือสิ่งอื่นใดกลิ่นของผลประโยชน์ที่กรูวิ่งกันเข้ามาหา ศธ.กันซะฝุ่นตลบเลยทีเดียว
   
       2.แรงงานเฮ! 300 บาท นายจ้างกุมขมับ
       
       ในรอบปี 2554 นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศของพรรคเพื่อไทย ถูกจับตามองมากที่สุดถึงความเป็นไปได้ในการผลักดันออก เป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้จริง เพราะนโยบายนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างให้ กับแรงงานในลักษณะก้าวกระโดด
       
       แต่หลังจากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลและมีการแถลงนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ได้มีการเปลี่ยนคำเรียกเป็นรายได้ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 300 บาท ส่งผลให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่านโยบายดังกล่าวเป็นเพียงการหาเสียงแต่ไม่สามารถทำได้จริง
       
       กระทั่ง นโยบาย 300 บาท เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) จนได้ข้อสรุป แนวทางการปรับค่าแรงขึ้นต่ำโดยมีมติให้ปรับขึ้นค่า จ้างขั้นต่ำ 40% ของค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละจังหวัด จากนโยบายเดิมที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ในวันที่ 1 ม.ค.55 พร้อมกันทันทีทั่วประเทศ แต่เนื่องจากเกิดวิกฤตน้ำท่วมจึงเลื่อนการบังคับใช้ไปเป็น 1 เม.ย.55 และจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทในทุกจังหวัดทั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค.56 โดยมีเงื่อนไขว่าจะไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างอีก 3 ปี ซึ่งล่าสุดนโยบายดังกล่าวได้ถูกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
       
       อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางฝ่ายสภาอุตสาหกรรมกำลังดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อ ระงับการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ในกรณีที่คณะกรรมการค่าจ้างกลางไม่เป็นอิสระในการดำเนินการปรับขึ้นค่าแรง ขั้นต่ำ ถูกฝ่ายการเมืองครอบงำ ซึ่งหากศาลมีคำสั่งคุ้มครองก็อาจจะส่งผลให้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ถูกระงับหรือชะงักลงกลางครันก็เป็นได้!
       
       3.วัฒนธรรมสยิว‘คันหู’ดังพลุแตก
       
       กระแสมาแรงจนฉุดไม่อยู่ จ๊ะ “คันหู” วงเทอร์โบ เนื้อเพลงสื่อสองแง่สองง่าม ที่สำคัญ ลีลาท่าเต้นเกาตรงอวัยวะเพศ ประกอบกับการนุ่งน้อยห่มน้อยของเธอ เรียกเสียงฮือฮาจากหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ต่างดาหน้ากันมายืนออหน้าเวที จนมีเสียงวิพาษ์วิจารณ์ของสังคม ผ่านตัวอักษร ทีวี และโซเชียลมีเดียต่างๆ ทว่า ยิ่งมีผู้วิจารณ์กันมากเท่าไหร่ ตรงกันข้ามกลับทำให้เพลงคันหูดังเป็นพลุแตก ไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น ยังมีเพื่อนบ้าน เกาหลี ชื่นชอบ ใช้น้ำเสียงของจ๊ะ แต่ใช้ชาวเกาหลีเต้นประกอบตามเสียงเพลง ซึ่งลีลาท่าเต้นไม่ต่างกันมากนัก ท่าปลุกเสือป่า
       
       พร้อมกันนี้ ลองคิดดูว่าดังแค่ไหน จากการสำรวจของ google พบว่า มีผู้เข้ามาเซิร์ส “คันหู” เป็นอันดับต้นๆ สิ่งที่น่าแปลกใจกระทรวงวัฒนธรรม โดยเฉพาะกรมเฝ้าระวัง ซึ่งมีหน้าที่จัดเรดติ้ง กลับเงียบฉี่ เพิกเฉย เอาหูไปนาเอาตาไปไร่เสียนี่ หากไม่มีหน่วยงานไหนออกมากำราบบ้าง บ้านเมืองเราจะมีเพลงสองแง่สองง่ามเกลื่อนเมืองไทย
       
       4. ยิ่งฉาวยิ่งแฉซื้อ-ขายวุฒิ ป.บัณฑิต มอส.
       
       กลายเป็นข่าวฉาวของวงการศึกษา ราวเดือนเมษายน หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลการซื้อขายใบประกาศนียบัติบัณฑิต (ป.บัณฑิต) หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู ให้กับนักศึกษาที่จบหลักสูตรปริญญาตรีทุกสาขาที่ต้องการเป็นครูโดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลามาเรียนและสามารถใช้ในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจาก สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาได้แต่ยอมจ่ายเงินรายละ 55,000 บาท เหตุการณ์นี้ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในสมัยนั้นอย่าง นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แจ้งความเอาผิดกับ นายอัษฎางค์ แสวงการ อดีตอธิการมหาวิทยาลัยอีสาน (มอส.) ทันทีที่คณะกรรมการ (คกก.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงยืนยันว่า มอส.ทำการซื้อขายป.บัณฑิตจริง และให้ส่งข้อมูลถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ รับไปสอบสวนเชิงลึก พร้อมจัดตั้ง คกก.ควบคุม มอส.มีนายสมนึก พิมลเสถียร เป็นประธาน และให้ รศ.ดร.สุมนต์ สกลไชย เป็นอธิการบดี มอส.แทน นายอัษฎางค์
       
       การแก้ไขปัญหาของ คกก.ควบคุมฯ ที่ผ่านมา ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเพราะต้องไปรื้อและจัดการทุกระบบของ มอส.ใหม่หมดเพราะของเดิมทำไว้ชุ่ยๆ โดยเฉพาะระบบการเงิน ซ้ำยังเจอเหตุปั่นป่วนการทำงาน เช่น ขโมยคอมพิวเตอร์ ท่ามกลางความพยายามเร่งแก้ไขเรื่องคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนในทุกหลักสูตรที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยให้ผู้เรียนเข้ารับการทดสอบประมวลความรู้ หากผ่านและคุณสมบัติถูกต้องจึงได้รับอนุมัติจบการศึกษา โดยขณะนี้สามารถอนุมัติจบการศึกษาทั้งหลักสูตร ป.บัณฑิตและอื่น ๆ ได้เพียงร้อยกว่ารายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม จุดจบของเรื่องคงมาถึงในไม่ช้าอย่างน้อยอีก 3 เดือนข้างหน้า เงิน 150 ล้านบาทจะชี้ชะตาว่า มอส.จะอยู่ภายใต้การดูแลของ คกก.ควบคุมฯ หรือจะถูกเสนอให้ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาสั่งปิดมหาวิทยาลัย

       5.“แพลงกิ้ง” ระบาดว่อนโซเชียลมีเดีย
       
       สุดฮิตภาพคนนอนคว่ำหน้าแน่นิ่งมือแนบลำตัวราวกับไม้กระดานวางอยู่ตามสถานที่ หรือวัตถุแปลกๆ ไม่ต้องตกใจ นั้นคือ แพลงกิ้ง (PlanKing) ซึ่งเป็นที่นิยมของกลุ่มคนชื่นชอบความเสี่ยงทั่วโลก และแพร่ระบาดเข้าสู่ประเทศไทยอย่างรวดเร็วผ่านเว็บไซต์ยอดนิยมต่างๆ
       
       คนไทย ไม่ว่านักเรียน นักศึกษา นักแสดง นักร้อง คนทั่วไป ไม่ยอมน้อยหน้า คิดท่าแพลงกิ้งไทยสู้ “พับเพียบไทยแลนด์” ว่อนเน็ต นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม "เลวิเทติ้งไทยแลนด์" อีกกลุ่มที่ถือว่าเป็นคู่แข่งสำคัญของกลุ่ม “แพลงกิ้ง” โดยเลวิเทติ้ง คือ การโพสต์ภาพที่ถ่ายไว้ขณะที่ร่างกายกำลังลอยค้างอยู่บนอากาศ แต่ที่ไม่เหมาะสมเห็น มีภาพพระสงฆ์รูปหนึ่ง เล่น แพลงกิ้ง ว่อนเน็ต จนมีเสี่ยงวิจารณ์ว่าเหมาะสมหรือไม่
       
       ทันทีทันใด กระทรวงวัฒนธรรม รีบเช็กว่าจำพรรษาอยู่วัดไหน และไม่ให้แหกกฎศาสนา อีกทั้งยังเตือนประชาชนการเล่นแผลงๆ ท่าพิสดาร ในสถานที่สูง อาจผลัดตกจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ จากนั้นกระแสแพลงกิ้งจึงค่อยๆ คลายความนิยม แต่ก็มีท่วงท่าใหม่ๆ มาโชว์ผ่านเน็ตมิได้หยุดหย่อน
       
       6.“CCTV ดัมมี่” ทำ กทม.งานเข้า
       
       ปีนี้ต้องยกให้กระแสโลกไซเบอร์ที่ทั้งเร็วและแรง เมื่อชาวประชาในโลกไซเบอร์ตั้งกระทู้ให้แซดในโลกออนไลน์ถึงกล้องวงจรปิดที่ กทม.ติดแหกตา เพราะแท้จริงเป็นเพียงแค่กล่องเปล่าๆ ไม่มีชิ้นส่วนใดๆ ที่บ่งบอกว่าเป็นกล้องจริงที่คอยสอดส่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน !!
       
       เล่นเอา กทม.ต้องออก มาชี้แจงกันพัลวันว่า ต่างประเทศเขาก็มีกันไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด และทำไปตามสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างแต่ก็ไม่ได้สร้างความกระจ่างแจ้งในใจของชาวประชาจนถึงขนาด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ต้องเปิดศาลาว่าการ กทม.แถลงพร้อมสั่งฝ่ายประจำเปิดเผยสัญญาจัดซื้อจัดจ้างทุกฉบับออกสู่สาธารณชน พร้อมทั้งเผยแพร่พิกัดการติดตั้งกล้อง CCTV และพิกัดของกล้องดัมมี่ที่ยังเหลือออกมาเปิดเผยเพื่อให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบ แถมยังตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
       
       แต่เห็นทีจะหนาวหน่อย ก็เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษโดดเข้ามาร่วมวงตรวจสอบประเด็นการสมยอมราคา มีเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนร่วมในการกระทำผิด จนไปถึงมีข้าราชการทางการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดหาหรือไม่ ข้างฟาก ป.ป.ช.หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ก็ร่วมวงสอบด้วยเช่นกัน
       
       แต่ท้ายที่สุดแล้วผลสอบจากดีเอสไอ ก็ระบุชัดว่า กทม.จัดซื้อกล้องดัมมี่ถูกต้องส่วนจะล็อกสเปก หรือไม่นั้นต้องสอบกันต่อไป แต่ท้ายซะยิ่งกว่าท้ายเมื่อผู้ว่าฯ กทม.“สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ออกมาแถลงปิดตำนานกล้องดัมมี่โดยสั่งถอดออกทั้งหมดเพื่อความสบายใจของทุกคน พร้อมติดกล้องจริงแทน...เอวัง !!
       
       7.ประกันสังคมยกเครื่องสู้บัตรทอง
       
       ในปี 2554 ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่มีผู้ประกันตนกว่า 10 ล้านคน ได้ถูกยกไปเปรียบเทียบกับสิทธิการรักษาพยาบาลของสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมีข้อถกเถียงถึงสิทธิ์การเข้าถึงการรักษาพยาบาลว่า “ทำไมผู้ประกันตนที่เสียเงินเข้ากองทุนสปส.ทุกเดือนแต่กลับได้สิทธิ์การ รักษาน้อยกว่าของ สปสช.” สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ทาง สปส.เร่งปรับปรุงและเพิ่มสิทธิ์การรักษามากขึ้นใน ช่วงปีที่ผ่านมา อาทิ เพิ่มค่าคลอดบุตรจากครั้งละ 12,000 บาท เป็น 13,000 บาทต่อครั้ง เพิ่มค่าทันตกรรม กรณีถอนฟัน อุดฟัน และขูดหินปูน เดิมครั้งละไม่เกิน 250 บาท และไม่เกิน 500 บาทต่อปี เป็นครั้งละไม่เกิน 300 บาท และไม่เกิน 600 บาทต่อปี เพิ่มสิทธิ์ในการใส่รากฟันเทียม ที่มีเงื่อนไขยุบยิบ เป็นต้น
       
       ตบท้ายปลายปี ประกันสังคมประกาศให้วันที่ 1 ม.ค.55 จะเริ่มปรับระบบการจ่ายค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยประกันสังคมแบบตามกลุ่มโรคร้ายแรงหรือ DRG จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันเป็นวงกว้าง และอาจนำไปสู่ข้อเสนอในการจัดทำราคากลางค่ารักษาโรคร้ายแรง ซึ่งต้องจับตากันต่อไป
       
       8.ซูเปอร์สกายวอล์ก...สุดยอดทางเดินหายไปในฟ้า !!
       
       เฮือฮาตั้งแต่ต้นปีเมื่อ “สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกมาประกาศเปิดตัวแผนแม่บทสำหรับการก่อสร้างโครงข่ายทางเดินลอยฟ้า หรือ ซูเปอร์สกายวอล์ก (Super Skywalk System) เพื่อให้คนกรุง มีทางเดินลอยฟ้าที่ไร้สิ่งกีดขวางการเดินเป็นระยะทางรวม 50 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนกว่าหมื่นล้านบาทแบ่งออกเป็น 2 เฟส คือ เฟสที่ 1 พื้นที่ถนนสุขุมวิท พญาไท รามคำแหง และ วงเวียนใหญ่ รวมระยะทาง 16 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างเดือน มี.ค.2554 เสร็จภายใน 18 เดือน ส่วนเฟสที่ 2 ระยะทางประมาณ 32 กม.มีแผนจะก่อสร้างในปี 2555-2557 ครอบคลุมพื้นที่ย่านถนนราชดำริ สีลม สาทร เพชรบุรี รามคำแหง ทองหล่อ เอกมัย พหลโยธิน กรุงธนบุรี และ บางหว้า
       
       จากนั้นเสียงคัดค้านก็อื้ออึง ทั้งมูลค่าโครงการมหาศาล ไม่มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จนมีการขู่จะฟ้องกทม.จากเอ็นจีโอหากกทม.ยืนยันจะสร้างซูเปอร์ทางเดินลอยฟ้านี้จริงๆ ขณะเดียวกัน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ได้ร่อนหนังสือถึง กทม.ให้ตั้งตู้รับฟังความคิดเห็น ปรับปรุงคำถามให้ตรงเป้าหมาย ประกาศลงเว็บไซต์
       
       แม้ กทม.จะปฏิบัติตาม แต่ในที่สุด สตง.ส่งหนังสือฉบับที่ 3 ให้ทบทวน 3 เส้นทางสุขุมวิท พญาไท รามคำแหง เพราะเห็นว่าขั้นตอนไม่โปร่งใส แถมยังไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ สตง.ทำให้โครงการดังกล่าวต้องพับเก็บใส่กระเป๋ากลับบ้าน และเมื่อมหาวิบัติอุทกภัยมาเยือนเมืองกรุง ผู้ว่าฯ กทม.ก็จึงสั่งชะลอโครงการก่อสร้างทางเดินลอยฟ้าออกไป เพื่อโยกงบมาฟื้นฟูน้ำท่วมแทน เรียกว่าต้องโบกมือลาถาวรไม่มีโอกาสยลสกายวอล์คในยุคคุณชายอย่างแน่นอน!
       
       9.คืนชีพ 30 บาท แบบมึนๆ
       
       เป็นข่าวที่ไม่ดังเปรี้ยงปร้างแต่สะเทือนคนในแวดวงสาธารณสุขไม่น้อย หลังจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประกาศคืนชีพนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค จากที่รัฐบาลขิงแก่เปลี่ยนให้เป็นระบบรักษาฟรี
       
       ครั้งนี้หัวหอกอย่าง “วิทยา บุรณศิริ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันชัดเจนว่า จำเป็นต้องกลับมาเก็บค่าธรรมเนียมในการรักษาอีกครั้ง เนื่องจากจะมีการปรับโฉมครั้งใหญ่ โดยนำงบประมาณมาพัฒนาคุณภาพการให้บริการที่ดีขึ้น ภายใต้เสียงคัดค้านที่เบาเหมือนเสียงมด ขณะที่ เจ้ากระทรวง ให้คำมั่นอย่างจับต้องไม่ได้ว่า การกลับมาเก็บค่าธรรมเนียมการรักษาจะมาพร้อมกับบริการที่ดีกว่าเดิม โดยจากที่จะเริ่มดีเดย์ตั้งแต่ตุลาคม แต่ก็ต้องเลื่อนไปเดือนพฤศจิกายน จนสุดท้ายประเทศไทยเผชิญภัยน้ำท่วม จึงต้องชะลอไปก่อนอย่างไม่มีกำหนดการ
       
       ภายใต้ความคลุมเครือของนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ที่ดูแลประชาชนถึง 48 ล้านคน งบเหมาจ่ายรายหัวที่ได้ในปีงบ2555กลับลดเหลือ 2,755 บาทต่อหัว จากปีงบ 2554 ที่ได้ 2,895บาทต่อหัว ก็เลยยังงงว่าจะพัฒนาระบบให้ดีขึ้นได้อย่างไร แม้จะมีเงินจากการกลับไปเก็บ 30 บาทเหมือนเดิม 2 พันล้านบาท
       
       แต่ที่แน่ๆ ได้มีการเข้ามาแทรกแซงผ่าตัดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยเฉพาะการกำจัดเอ็นจีโอ และนักวิชาการรุ่นเก๋าออกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็น ศ.ดร.อัมมาร สยามวารา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ภก.สำลี ใจดี ฯลฯ ที่ถูกโละยกแผง จนล่าสุดฟากเอ็นจีโอพยายามดัน ภญ.สำลี กลับเข้าไป ทำให้ต้องดับเครื่องชนฟ้องศาลปกครองเอาผิดนายวิทยา ดังนั้น สุดท้ายจะเป็นอย่างไร ปี 2555 ที่จะถึงนี้ต้องจับตาดูให้ดีชนิดห้ามกะพริบตาเลยทีเดียว
       
       10.รพ.ขาดสภาพคล่อง-หมอ-คนไข้ปัญหาที่ค้างคา
       
       นับได้ว่า ปี 2554 เป็นปีที่กระทรวงหมอเงียบเชียบจนผิดหูผิดตา แม้ว่าปัญหาหลายปัญหายังคงอยู่ไม่หายไปไหนเพียงแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ลุล่วง
       
       เริ่มตั้งแต่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์และผู้ป่วยที่ยังคงเถียงกันไม่จบไม่สิ้น เพราะล่าสุดเมื่อหนึ่งในกรรมการแพทยสภาได้นั่งเก้าอี้ในคณะกรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ก็เริ่มจะปลุกกระแสขยายมาตรา 41 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 อีกครั้ง ซึ่งก็ต้องลุ้นว่าตกลง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ พ.ศ...จ่อคิวเข้าสู่วาระการพิจารณาของรัฐบาลนั้นจะแท้ง หรือจะคลอด ในปี 2555 ส่วนปัญหาการขาดทุนและขาดสภาพคล่องของโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ประมาณ 570 แห่ง รวมเป็นเงินกว่า 1,800 ล้านบาท ซึ่งตั้งแต่รัฐบาลใหม่เข้ามาก็ยังไม่คืบหน้าแต่อย่างใด
       
       ดูเหมือนปัญหาต่างๆที่คาราคาซังอยู่นั้น ปีหน้า นายวิทยา บุรณศิริ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) คงต้องแสดงความสามารถคลี่คลายปัญหาเสียที
       
       นอกจากนี้ ยังมีข่าวสังคมที่น่าสลดสะเทือนคุณภาพสังคมไม่ว่าจะเป็น แม่ชี ทศพร ชัยประคอง ที่มีคลิปแพร่คำสอนผิดเพี้ยน แนะวิธีแก้กรรมโดยการให้มีเพศสัมพันธ์ ไม่เฉพาะชีเท่านั้น วงการสงฆ์ก็สั่นคลอนมิใช่น้อย หลังมีข่าวของ พระเกษม อาจิณณสีโล ใช้คำพูดขึ้นมึงกู แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ขณะที่แวดวงการศึกษายังมีนโยบาย “ครูพันธุ์ใหม่” ต้องจับตา กองทุนกู้ยืมก็ยังค้างคา ฯลฯ รับรองปีหน้ามีเรื่องเหนื่อยอีกโข

ASTVผู้จัดการออนไลน์    30 ธันวาคม 2554