ผู้เขียน หัวข้อ: ยาบ้ายังครองสถิติยาเสพติดยอดนิยมในหมู่วัยรุ่นไทย  (อ่าน 340 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
แม้ "เคนมผง" จะกลายเป็นยาเสพติดที่คร่าชีวิตนักเสพรุ่นเยาว์ไปกลุ่มหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ แต่ ป.ป.ส. ชี้ว่ายาบ้ายังคงเป็นยาเสพติดที่กลุ่มวัยรุ่นนิยมใช้ และผู้ติดยาบ้ายังครองสถิติผู้เข้ารับการบำบัดสูงสุด ขณะที่การใช้ยาเสพติดแบบผสมกันหลายอย่างเป็นรูปแบบการเสพยาเสพติดของวัยรุ่นในปัจจุบัน ที่สามารถซื้อยาเสพติดทางออนไลน์ได้ โดยใช้คริปโตเคอร์เรนซีหรือสกุลเงินดิจิทัล

นายธนากร คัยนันท์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. ให้ข้อมูลว่า จากสถิติของการเข้ารับการบำบัดยาเสพติดผ่านศูนย์บริการและหน่วยงานต่าง ๆ พบช่วงอายุของผู้ที่เข้ารับการบำบัดมากที่สุด คือตั้งแต่ 15-24 ปี โดยกลุ่มวัยรุ่นยังคงเป็นกลุ่มผู้เสพที่ต้องจับตา เฝ้าระวัง แนะนำผู้ปกครองให้สังเกตพฤติกรรมของบุตรหลาน และนำเข้าสู่ระบบการบำบัดอย่างพร้อมใจ

จากข้อมูลของผู้เข้ารับการบำบัดของ ป.ป.ส. ในรอบปีที่ผ่านมามีประมาณ 194,184 คน โดย 37,640 คนอยู่ในช่วงอายุ 15-24 ปี คิดเป็นกว่า ร้อยละ 19.38 ขณะที่รองลงมาเป็นช่วงอายุ 25-29 ปี และ 30-34 ปี ตามลำดับ

เมื่อพูดถึงการระบาดของยาเสพติด คงหลีกไม่พ้นที่จะกล่าวถึงสถานการณ์ผลิต โดยมีพื้นที่ "สามเหลี่ยมทองคำ" ซึ่งเป็นรอยต่อของสามประเทศ คือ ไทย เมียนมา และลาว ยังคงเป็นแหล่งการผลิตที่สำคัญของโลก แม้ว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 จะทำให้การขนส่งบริเวณชายแดนยิ่งเป็นไปด้วยความยากลำบาก ด้วยการกวดขันของเจ้าหน้าที่ แต่นายธนากรบอกว่า "เขายังมีขีดความสามารถในการผลิตได้อย่างไม่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของยาบ้า ไอซ์ และก็หลัง ๆ จะมีส่วนของเคตามีนเข้ามาด้วย ส่วนเฮโรอีนก็มี"

รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่ายาเสพติดที่ลักลอบนำเข้าสู่ประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่จะมีเป้าหมายเพื่อส่งต่อไปยังประเทศที่สามผ่านทางภาคใต้ ก่อนที่จะลำเลียงไปแถบออสเตรเลีย ไต้หวัน และตกหล่นเพื่อการใช้อยู่ในประเทศจำนวนหนึ่ง

ยาบ้าท็อปฮิตอันดับหนึ่ง
นายธนากร กล่าวว่า ภาพรวมโดยทั่วไป "ยาบ้า" และสารเสพติดกลุ่มแอมเฟตามีนยังคงเป็นยาเสพติดยอดนิยมที่วัยรุ่นใช้ อาจจะด้วยราคาซึ่งไม่แพงมาก รองลงมาคือ "ยาไอซ์" ซึ่งเป็นสารเสพติดในกลุ่มเดียวกัน แต่มีความบริสุทธิ์สูงราว 95% จึงทำให้ยาเสพติดชนิดนี้ได้รับความนิยมไม่ต่างกัน เนื่องจากออกฤทธิ์ได้เร็วและรุนแรงยิ่งกว่า

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการเสพในปัจจุบันของวัยรุ่นนั้น มักไม่นิยมการเสพเพียงชนิดเดียว แต่จะใช้รูปแบบการเสพที่เรียกว่าการผสมผสาน โดยมีการทดลองผสมยาเสพติดเองและเปลี่ยนสูตรไปเรื่อยๆ อย่างที่พบในกรณีของเคนมผง

"พวกที่ใช้ยาก็คือจะไม่ใช่ยาลักษณะชนิดเดียว ใช้สารหลายตัวผสมกัน ทั้งออกฤทธิ์กระตุ้น ทั้งออกฤทธิ์กดประสาท พฤติกรรมของวัยรุ่นก็ชอบลองของใหม่ของแปลกไปเรื่อย โดยที่บางทีก็ไม่รู้ว่ามันมีอันตราย อย่างเช่นเคนมผง จริง ๆ จากการชันสูตรก็พบสารหลายตัวในเลือด มีทั้งเฮโรอีน มีทั้งกลุ่มยาอี มีทั้งของไดอะซีแพม เคตามีน แอมเฟตามีนด้วย แต่มันก็จะต่างในแต่ละคน ทีนี้เราก็สันนิษฐานว่ากลุ่มเหล่านี้ก็จะเสพสุราก่อนนะครับ มึนเมา พอถึงเวลาใช้ยาก็ไม่รู้ว่าอันนี้คือเคนมผงอย่างที่รู้จักก็ซัดเข้าไปเต็มที่ พอซัดเข้าไปเต็มที่ก็ปรากฏว่ามันไปกดการหายใจและก็ไหลตาย"

เช่นเดียวกับการใช้พืช "กระท่อม" หรือที่คุ้นเคยกันว่า ยาเสพติดสูตรสี่คูณร้อย ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้ยาผสมกับสารอื่น ๆ ของวัยรุ่นทางภาคใต้ แม้ว่าปัจจุบันจะไม่ค่อยพบเห็นการจับกุมจำนวนมาก แต่การลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ก็ยังคงปรากฏอย่างต่อเนื่อง ยิ่งกว่านั้นขณะนี้มีการขยายไปยังกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ที่มีการซื้อขายกันในกลุ่ม

"ในแรงงานของพี่น้องเมียนมาก็คือกระท่อมบดผง ซึ่งเข้ามาทาง จ.ประจวบคีรีขันธ์ และก็นำมาใช้ในลักษณะผสมน้ำร้อน ดื่มแบบน้ำชา อันนี้คล้ายๆ เป็นวัฒนธรรมหรือพฤติกรรมการบริโภคของพี่น้องเมียนมา เขาจะไม่เคี้ยวใบสดหรือผสมสูตรเหมือนกับทางใต้"

แม้ข้อมูลการเข้ารับการบำบัดในปัจจุบันจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา จากสถิติปี 2563 มีผู้เข้ารับการบำบัด 194,184 ราย ลดลงกว่าปี 2562 ซึ่งมีผู้เข้ารับการบำบัดกว่า 240,547 ราย

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการระบาดจะลดลง รองเลขาธิการ ป.ป.ส. อธิบายว่า นี่อาจเป็นผลจากสถานการณ์ของโรคระบาดที่ทำให้การเข้าถึงการบำบัดยากลำบากขึ้น บางสถานพยาบาลก็ต้องปรับลักษณะของการจัดกิจกรรมบำบัด ไม่สามารถจัดกิจกรรมบำบัดแบบรวมกลุ่มได้

ครอบครัวตัวกรองชั้นดี
"พฤติกรรมของเขา การใช้งานเงิน ของทรัพย์สินในบ้านมันมีอะไรที่หายไปไหม และก็ดูจากแววตา หรือการสบตา เพราะโดยส่วนใหญ่พวกใช้ยาจะไม่ค่อยกล้าสู้ สบตากับคนโดยทั่วไป ยกเว้นพวกที่ใช้ยาบ้า มันกระตุ้นประสาทแล้วก็แหม นั่นตาขวางเลยนะครับ ก็คนละลักษณะ ทีนี้ก็จะดูจากตรงนี้ เช่น เก็บตัว หมกหมุ่น ไม่สุงสิงกับใคร ใช้เวลานานหลับมากกว่าปกติ อะไรพวกนี้ก็จะมีพฤติกรรมที่สังเกตได้ การดูแลตัวเองก็ไม่ดูแล หมายถึงอาบน้ำ ปล่อยให้ร่างกายสกปรก"

ข้อแนะนำเหล่านี้เป็นข้อยืนยันจากนายธนากรกรว่า ครอบครัวมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การะบาดในกลุ่มวัยรุ่นลดลงได้ อีกทั้งยังเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้การบำบัดประสบความสบความสำเร็จ ซึ่งการสังเกตเป็นวิธีการเบื้องต้นที่ทุกคนทำได้

สำหรับข้อกังวลอย่างหนึ่งของผู้ปกครองที่ว่า หากนำบุตรหลานเข้าสู่กระบวนการบำบัดแล้วจะต้องรับโทษตามกฎหมายหรือไม่นั้น รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ผู้เสพยาเสพติดที่เข้ารับการบำบัด และไม่มีประวัติอาชญากรรม ตามกฎหมายถือว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ป่วย สามารถเข้ารับการบำบัดตามปกติ

"ประการสำคัญอยู่ตรงนี้ครับ ถ้าสมมติลูกติดยา ต้องคุยกับเขาก่อนนะครับ ไม่ใช่จับหรือบังคับไปบำบัด ต้องทำความเข้าใจ และก็ค่อยๆ ผมใช้คำว่าตะล่อมเขานะครับ แล้วก็พาเข้าสู่สถานบำบัด ถ้าใช้ระบบจับหรือบังคับเขาไปบำบัด กลับมาก็เหมือนเดิมแล้วก็มันจะเกิดการต่อต้าน"

ซื้อขายโดยใช้เงินสกุลดิจิทัล
เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น การซื้อขายทางออนไลน์ก้าวหน้า ยาเสพติดก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นเช่นกัน ดังที่ปรากฏโดยทั่วไปตามสื่อสังคมออนไลน์ที่พบว่าหลายครั้งผู้ซื้อและผู้ขายอาจไม่เคยรู้จักกันมาก่อน จุดนี้เป็นอุปสรรคในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ทำให้การติดตามจับกุมเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะในกรณีที่มีการใช้ยูอาร์แอล (ตัวชี้แหล่งในอินเทอร์เน็ต) ที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ ขณะที่การจัดส่งยาเสพติดนั้นทำทางไปรษณีย์

ความนิยมที่เพิ่มสูงขึ้นของคริปโตเคอร์เรนซี หรือสกุลเงินดิจิทัล ก็เป็นการเปิดช่องทางใหม่ของการซื้อขายยาเสพติด ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ยากขึ้น ป.ป.ส.เองต้องเร่งพัฒนาองค์ความรู้ของเจ้าพนักงานเพื่อให้นำหน้าหรือเท่าทันในส่วนนี้

"มีแล้วครับ มีที่ ป.ป.ส. ภาค 5 เราจับผู้ต้องหาได้แล้วก็ตรวจเจอว่าเขาใช้คริปโตเคอร์เรนซีแล้วก็มีการสืบสวนสอบสวน แต่วงเงินมันยังไม่สูงมาก แต่เจอแล้วครับในประเทศไทย... เป็นลักษณะของผู้ค้า เพราะว่าเราตามในลักษณะยึดทรัพย์ อาจจะไม่ใช่ลักษณะที่ยึดเป็น 200-300 ล้าน ไม่ถึงขนาดนั้น แต่ก็มีการใช้สกุลเงินดิจิทัลและ ทาง ป.ป.ส. ภาค 5 ก็ดำเนินการต่อ"

เสพกัญชา เคี้ยวกระท่อมยังผิดกฎหมาย
นายธนากร ยังกล่าวถึงประเด็นความสับสนที่เกิดขึ้นต่อกรณีพืชกระท่อมและกัญชา ที่ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาและบังคับใช้กฎหมาย แต่ด้วยการนำเสนอผ่านสื่อก็มีการทำให้ประชาชนบางส่วนเข้าใจคลาดเคลื่อน คิดว่าสามารถใช้โดยไม่ผิดกฎหมายแล้ว ทั้งที่ในความเป็นจริงยังไม่สามารถทำได้ อีกทั้งในการปลูก ซื้อขาย หรือใช้ประโยชน์นั้น ก็ต้องอยู่ภายใต้การอนุญาตของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เป็นหลัก ยังไม่ได้มีการกล่าวถึงการใช้เพื่อสันทนาการแต่อย่างใด

อย่างกรณีของใบกระท่อม เมื่อปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา สภาฯ มีการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ.... เพื่อปลดล็อคพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ ซึ่งมีการปรับแก้ในมาตรา 2 ที่จะบังคับใช้กฎหมายหลังจากประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว 90 วัน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกระเบียบรับรองก่อนการบังคับใช้ และให้มีเวลาชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนก่อน

ในขณะที่กัญชานั้น ภายหลังการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เรื่องที่จะปลดล็อกส่วนของกัญชาและกัญชงให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2563 นั้น ยังมีข้อยกเว้นในส่วนของช่อดอก และเมล็ดกัญชา เนื่องจากตามอนุสัญญายาเสพติดระหว่างประเทศยังควบคุมเป็นยาเสพติด แต่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ อีกทั้งการดำเนินการทั้งหมดจะต้องผ่านการขออนุญาตจาก อย. ตามข้อกำหนดอีกด้วย

"ตอนนี้มันมีความสับสน ถามว่าในขณะนี้มันทำได้ไหม... ไม่ว่าจะกี่ต้นก็ถือว่าผิด ถ้าจะปลูกก็ต้องขออนุญาต ก่อนจะขออนุญาตก็ต้องไปร่วมกับวิสาหกิจชุมชน แล้วตรงนี้ไปขออนุญาตจาก อย. หรือสาธารณสุขจังหวัด เพื่อที่จะปลูก การที่จะเอาใบมาปรุงอาหาร ตอนนี้ทาง อย. กำลังดำเนินการในเรื่องของการแก้กฎกระทรวง แก้กฎหมายเขาอยู่ เพราะฉะนั้นจะไปแบบที่อยู่ ๆ ปลูกหนึ่งต้นแล้วเอาใบมาทำเป็นทอดไข่ อันนี้ก็ถือว่ายังผิดอยู่นะ"

5มีค2564
https://www.msn.com/th-th/news/other/%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%9E%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2/ar-BB1egFzS?ocid=msedgntp