ผู้เขียน หัวข้อ: เสียงจากนักเรียนแพทย์ : ปัญหาวัฒนธรรมกินหัว ในสถาบันริมน้ำชื่อดัง  (อ่าน 357 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ปัญหาวัฒนธรรมกินหัว ในนักเรียนแพทย์ริมน้ำชื่อดัง ในประเด็น วัฒนธรรมการกินหัว การกดขี่ผ่านความอาวุโส และ ประเด็นการคุกคามทางเพศ

เมื่อวันที่ 23 ก.พ.64 โซเชียลมีเดียคลับเฮาส์ มีการสนทนาหัวข้อเรื่อง ริมน้ำ อาจารย์ x นักเรียนแพทย์ : Role Model or Fear Model โดยมีประเด็นที่พูดคุยเกี่ยวกับปัญหาวัฒนธรรมในวงการแพทย์ที่ส่งผลต่อระบบการทำงานที่ไม่เอื้ออำนวยกับสุขภาพจิตของบุคลากรจากมหาวิทยาลัยแพทย์ชื่อดังที่มีบริเวณติดกับแม่น้ำ

โดยจากการสนทนาดังกล่าว ทำให้เห็นว่า ในวงการแพทย์มหาวิทยาลัยริมน้ำ มีปัญหาหลัก 2 ประการ ได้แก่ วัฒนธรรมการกินหัวของแพทย์ที่อยู่มาก่อนกับแพทย์ที่มาทีหลัง และ ประเด็นการคุกคามทางเพศ โดยมีใจความ ดังนี้

วัฒนธรรมกินหัว จากรุ่นพี่และอาจารย์

วัฒนธรรมกินหัว คือ พฤติกรรมที่สนับสนุนระบบอำนาจนิยมและระบบอาวุโสในโรงเรียนแพทย์ โดยอาจารย์แพทย์ และรุ่นพี่ที่เข้ามาก่อน จะมีอำนาจเหนือกว่าแพทย์ที่เข้ามาทีหลัง และเป็นลำดับชั้นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ทำให้เกิดความเชื่อที่ว่า ห้ามกระทำข้ามหน้าข้ามตา ตัวอย่างเช่น มีวันหนึ่งอาจารย์แพทย์ได้ถามคำถามหัวหน้านักเรียนแพทย์ประจำบ้าน แต่หัวหน้าแพทย์ประจำบ้านตอบไม่ได้ ขณะที่แพทย์ที่เข้ามาใหม่คนหนึ่งสามารถตอบคำถามดังกล่าวได้ อาจารย์แพทย์คนดังกล่าว ได้กล่าวเตือน แพทย์คนดังกล่าวว่า “ทำแบบนี้ไม่ดีกับเธอนะ ทีหลังตอบ ได้ก็อย่าตอบ เดี๋ยวพี่เขาจะเสียหน้า”

การเลือกปฏิบัติและกีดกันความเจริญก้าวหน้าจากความต่างทางการเมือง

มีนักเรียนแพทย์คนหนึ่งระบุว่า มีเพื่อนนักเรียนแพทย์ถูกปฏิเสธในการเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนแพทย์อื่น ๆ เนื่องจากได้ทำการแสดงออกทัศนคติทางการเมืองในโซเชียลมีเดีย ทำให้อาจารย์ที่พบเห็นและเห็นต่างทางการเมือง ได้ติดต่อไปยังโรงเรียนแพทย์อื่น ๆ ไม่ให้รับแพทย์คนดังกล่าวเข้าเรียนต่อ นอกจากนี้ อาจารย์แพทย์บางราย แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์ได้ดำเนินการหลายอย่างมากกว่าในอดีตแล้วเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว แต่มีนักเรียนแพทย์ รายหนึ่งระบุว่า แม้อาจารย์จะอ้างว่าคณะมีการดำเนินการต่าง ๆ มาอย่างมากมายแล้ว แต่เหตุใดปัญหากลับยังอยู่เหมือนเดิม จึงควรจะเปลี่ยนที่วิธีการ เพราะการดำเนินการแบบที่ผ่านมา ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีเลย

สาวไทยสุดอัจฉริยะค้นพบวิธีลดน้ำหนัก 35 กก. นักโภชนาการถึงกับอึ้ง!
เรียนรู้เพิ่มเติม→
วิธีการเรียนการสอนและการทารุณกรรมทางจิตใจ

มีการใช้คำพูดและการปฏิบัติที่มีทั้งการทารุณกรรมทางจิตใจ และสร้างความรู้สึกเป็นปมด้อยหรือตราบาปให้กับนักเรียนแพทย์ เช่น ล้อเลียนรูปลักษณ์ภายนอก จนแพทย์ผู้ถูกล้อเลียนเกิดอาการหวาดกลัวการเข้าปฏิบัติงานร่วมกับผู้ล้อเลียน รวมถึง มีการสร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรงด้วยการอ้างวาทกรรม เจ็บปวดเพื่อเรียนรู้ (No pain no gain) หรือการอ้างว่า แพทย์รุ่นก่อนผ่านการทารุณกรรมทางวาจาหรือจิตใจมาได้ แพทย์รุ่นถัดไปก็ต้องทนให้ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แพทย์รุ่นใหม่ ๆ ได้ระบุว่า มนุษย์สามารถเรียนรู้อย่างมีความสุขได้ ตัวระบบและสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ ควรจะเอื้อให้แพทย์ สามารถฝึกฝนเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข ไม่ควรกดขี่กันทางวาจา แต่ควรจัดการกับอารมณ์ของตนเอง โดยไม่นำความรู้สึกเชิงลบมาลงกับแพทย์คนอื่น

นอกจากนี้ มีนักเรียนแพทย์ระบุว่า จากการสังเกตพบว่า อาจารย์แพทย์รุ่นใหม่ๆ มักจะไม่มีปัญหาในการจัดการอารมณ์ ขณะที่ อาจารย์แพทย์อาวุโสมักประสบกับปัญหาการจัดการอารมณ์และมีพฤติกรรมกดขี่แพทย์คนอื่น ๆ มากกว่า โดยผลจากวัฒนธรรมดังกล่าว ส่งผลให้นักศึกษาเป็นโรคทางจิตเวช จนทำให้มีนักเรียนแพทย์จำนวนไม่น้อยที่ออกจากการเรียนหรือไปถึงขั้นฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ มีอาจารย์แพทย์คนหนึ่งระบุว่า ไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีปัญหาเช่นนี้ เพราะติดอยู่กับความเคยชิน ดังนั้น การจะเริ่มต้นแก้ปัญหา ก็ต้องยอมรับก่อนว่า “มีปัญหา” ที่เกิดขึ้นจริง

ปัญหาที่ไม่ถูกรับฟัง และไม่ถูกแก้ไข

เมื่อเกิดปัญหาใด ๆ ที่เป็นผลมาจากวัฒนธรรมการกดขี่ในมหาวิทยาลัยแพทย์ แล้วนักเรียนแพทย์ได้ทำการรายงานไปยังคณะแพทยศาสตร์ ปัญหาแทบทั้งหมด กลับไม่ถูกดำเนินการ มีนักเรียนแพทย์จำนวนหนึ่งระบุว่า เมื่อรายงานปัญหา หรือร้องเรียนพฤติกรรมของอาจารย์แพทย์ไปแล้ว แต่นักเรียนแพทย์ผู้รายงานเสียเอง ที่กลับถูกมองว่าเป็นตัวปัญหา ซึ่งส่งผลให้นักเรียนแพทย์ไม่มีความเชื่อถือในระบบการร้องเรียนอีกต่อไป ทั้งนี้ มีนักเรียนแพทย์ เสนอว่า ปัญหาดังกล่าว สามารถแก้ได้ด้วยการให้ บุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนในกระบวนการร้องเรียนและถูกสอบสวน เพื่อรับประกันความโปร่งใสในการตรวจสอบและความปลอดภัยของแพทย์ผู้ร้องเรียน

นอกจากนี้ มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งได้เปิดเผยว่า ตนเองเคยถูกคุกคามทางเพศจากนักเรียนแพทย์ด้วยกันเอง และได้ทำการร้องเรียนไปยังคณะแพทยศาสตร์แล้ว แต่ทางคณะฯกลับไม่มีการดำเนินการใด ๆ ทั้งยังตอบกลับแก่ผู้ที่ถูกคุกคามทางเพศว่า “อยากให้ ให้อภัยกัน” โดยไม่ทราบว่าการตอบสนองในแบบดังกล่าวจากคณะฯ นั้น เป็นการตอบสนองเพราะไม่ต้องการดำเนินการเนื่องจากไม่ได้ใส่ใจต่อปัญหาอย่างเพียงพอ หรือเป็นการตอบสนองเพราะไม่ต้องการให้เรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นที่รับรู้แก่สังคม อย่างไรก็ตาม การตอบสนองเหล่านี้ กลับนำมาซึ่งการคงอยู่ของปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข และทำให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำ เพราะการรายงานพฤติกรรมคุกคามทางเพศของเหยื่อกลายเป็นเรื่องที่ถูกเพิกเฉย

ความปรารถนาดีที่ภายในกลวงเปล่า

มีนักเรียนแพทย์คนหนึ่งได้ระบุว่า ตนเองถูกเรียกไปข่มขู่ว่าจะมีโทษ และ ตักเตือนในกรณีแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในสื่อออนไลน์ นักเรียนแพทย์คนดังกล่าวระบุว่า คณะแพทยศาสตร์มักจะลดทอนคุณค่าและความหมายของสารที่นักเรียนแพทย์พยายามสื่อสาร ด้วยการมุ่งเป้าไปที่ “ลักษณะคำ” มากกว่าจะทำความเข้าใจที่เนื้อความหรือความเป็นเหตุเป็นผล ทำให้มีอาจารย์แพทย์คนหนึ่งระบุว่า การตักเตือนนั้น เป็น “ความปรารถนาดี” เพราะคำนึงถึงผลประโยชน์นักศึกษาและชื่อเสียงของสถาบัน อย่างไรก็ตาม นักเรียนแพทย์ได้ตอบกลับว่า อาจารย์แพทย์บางคนก็ใช้ชื่อสถาบันไปเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้อาจารย์แพทย์คนดังกล่าวหยุดชะงักไป ทำให้มีนักเรียนแพทย์คนอื่น ๆ แสดงความเห็นว่า แพทย์สามารถแสดงออกทางการเมืองได้ แม้ว่าแต่ละคนจะเห็นต่างกัน แต่ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ผิด

นักเรียนแพทย์คนหนึ่ง กล่าวสรุปว่า ถ้าจะให้นักเรียนแพทย์ มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ถือเป็นก้าวแรกของการออกจากวัฒนธรรมความกลัว และคณะแพทยศาสตร์ไม่ควรออกกฎระเบียบมาเพื่อขัดขวางเสรีภาพในการพูดของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างไม่เท่าเทียม โรงเรียนแพทย์ควรเริ่มต้นจากการ เห็นว่าบุคลากรทุกคนเป็นคนเท่ากัน ไม่ว่าจะอาวุโสหรือเป็นนักเรียนแพทย์ ให้ทุกคนอยู่ในความสัมพันธ์แบบเพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่มีลำดับขั้นการกดขี่กันเป็นทอด ๆ

ขอบคุณข้อมูล Ph Chankaew

24 ก.พ. 2564
https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_6019429