ผู้เขียน หัวข้อ: รพ.วชิระภูเก็ต ชง ครม.ตั้งองค์การมหาชน ของบฯ 1.5 พันล้าน บริหาร “เมดิคอลฮับ”  (อ่าน 354 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
รพ.วชิระภูเก็ต ชง ครม.ตั้งองค์การมหาชน ของบฯ 1.5พันล้าน บริหาร “เมดิคอลฮับ” ก่อนแปลงสู่ PPP

โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตชง “บอร์ดเมดิคอลฮับ” ดัน ครม.ของบประมาณ ตั้ง “องค์การมหาชน” นำร่องบริหารจัดการ “โครงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก” มูลค่าเฉียด 1,500 ล้านบาทอีกครั้ง ก่อนแปลงร่างสู่รูปแบบ PPP ตามที่ ครม.สัญจรภูเก็ตลงมติ ชี้ใช้ที่ดินราชพัสดุทำโครงการมีเงื่อนเวลาต้องดำเนินการภายใน 3 ปีให้เสร็จ

ภาพประกอบข่าว© Matichon ภาพประกอบข่าว
นายแพทย์เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดภูเก็ต (กรอ.จังหวัดภูเก็ต)

ซึ่งมีนายณรงค์ วุ่นซิ้วผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้มีการติดตามความก้าวหน้า “โครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก” (Medical Tourisminto a World Class Medical and Wellness Tourist Destination)

ภายหลังจาก ครม.สัญจร เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 63 เห็นชอบในหลักการให้ไปพิจารณาแนวทางการให้เอกชนมีส่วนร่วมดำเนินงานในกิจการของรัฐ (PPP) นั้น ทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตร่วมกับจังหวัดภูเก็ตได้ไปศึกษารูปแบบการบริหารงานลักษณะต่าง ๆ 5 แนวทางแล้วเห็นว่า

การบริหารจัดการในรูปแบบองค์การมหาชนในช่วงแรก คาดว่ามีความเป็นไปได้เร็วที่สุด ก่อนจะปรับไปสู่รูปแบบ PPP ภายหลัง

เนื่องจากหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ภก.153 (บางส่วน) จำนวน 141-2-64 ไร่ ต.ไม้ขาว อ.ถลาง ในการก่อสร้างโครงการ ทางกรมธนารักษ์มีเงื่อนไขห้ามนำไปแสวงหากำไร และมีเงื่อนเวลาว่าต้องดำเนินการใช้ที่ดินภายในระยะเวลา 3 ปี

มิเช่นนั้นจะถูกเอาที่ดินคืนกลับ ทั้งนี้ ตามขั้นตอนหลังจากนี้จะนำเสนอรูปแบบการบริหารจัดการโครงการในลักษณะต่าง ๆ นำเสนอให้คณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)

ซึ่งมีนายอนุทินชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาพิจารณาก่อนนำเสนอ ครม.พิจารณาใหม่อีกครั้ง

นายแพทย์เฉลิมพงษ์กล่าวต่อไปว่าสำหรับรูปแบบการบริหารจัดการโครงการ 5 รูปแบบที่ได้ทำการศึกษา ได้แก่
1.ภาครัฐบริหารจัดการเอง โดยโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต บริหารจัดการเบ็ดเสร็จ
2.องค์การมหาชน
ที่ผ่านมามีตัวอย่างโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ได้ออกนอกระบบ โดยบริหารจัดการตัวเองไม่ใช้งบประมาณ ปัจจุบันยังประสบปัญหาวิกฤต เนื่องจากยังไปผูกติดกับค่าตอบแทนการบริการตามอัตราราคาของรัฐบาล บริการคนไทยยึดติดกับ 30 บาทรักษาทุกโรคและประกันสังคม กองทุนต่าง ๆ ทำให้มีปัญหาสภาพคล่องไม่ดี
3.การบริหารจัดการโดยกึ่งรัฐกึ่งเอกชน เช่น โรงพยาบาลวัดไร่ขิง และ
4.PPP รูปแบบนี้กระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มทำเป็นรูปแบบใหญ่ คือ กรมการแพทย์ ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิด “ศูนย์การแพทย์ชั้นนำ” โดยดึงศักยภาพที่เป็นจุดเด่นของแต่ละแห่งมารวมกัน งบประมาณหลายพันล้านบาทเป็นเงินของเอกชนเข้ามาลงทุน และ
5.รูปแบบการบริหารจัดการพิเศษ กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ของตัวเองมีค่าตอบแทนต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ เป็นต้น

จากการพิจารณาและหารือกับผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายเห็นสมควรรูปแบบการดำเนินงาน การบริหารจัดการ เพื่อให้การบริหารงานเกิดความอิสระ คล่องตัวและเอื้ออำนวยต่อการใช้บุคลากรและทรัพยากรของรัฐให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

เพื่อให้บริการทางการแพทย์ได้อย่างมีคุณภาพ ลดการแออัดของผู้ป่วย เพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างศูนย์การเรียนรู้ที่เป็นเลิศ ให้บริการส่งเสริมสุขภาพการป้องกันโรคร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) มีความเป็นเลิศด้านวิชาการ การฝึกอบรมและนวัตกรรม

เพื่อจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการให้บริการครบวงจร รวมถึงการหารายได้จากชาวต่างชาติที่เกิดโรคโควิดด้วย เพื่อเป็นโครงการต้นแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจ่ายเงินคืนให้แก่ภาคเอกชน (availability payment) ซึ่งไม่สามารถติดตามกำกับดูแลเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้

ดังนั้น จึงเห็นสมควรบริหารจัดการโครงการในรูปแบบองค์การมหาชน ตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน

“ในสถานการณ์อย่างนี้ แนวทางการพิจารณาที่คาดว่าจะเป็นไปได้เร็วที่สุด ในเงื่อนไขเวลาที่จำกัด เงื่อนไขประโยชน์การใช้ที่ดิน กรมธนารักษ์ระบุว่า ห้ามนำที่ดินดังกล่าวไปแสวงหากำไร เพื่อการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพในราคายุติธรรม รายได้บางส่วนนำไปพัฒนาโรงพยาบาล มีการพัฒนารายได้กระจายสู่ภาคเอกชนและประชาชน หากทำ PPP ไม่ทันแน่

แต่ถ้าของบประมาณจัดตั้งเป็นองค์การมหาชน โดยกระทรวงสาธารณสุข มีความเป็นไปได้สูง จากการศึกษาผลตอบแทนระยะเวลาคืนทุนต่าง ๆ ต้องดูมูลค่าการก่อสร้าง ยกตัวอย่าง โครงการเมดิคอลพลาซ่า ใช้เงินลงทุนประมาณ 616 ล้านบาท และ 124 ล้านบาท และศูนย์ฟื้นฟู 95 ล้านบาท

ยังไม่รวมการดำเนินการค่าเขียนแบบสิ่งก่อสร้างอีก 100 กว่าล้านบาท ที่ดินที่อาจต้องดูในเงื่อนไขอาจต้องปลดล็อก ส่วนการเสนอหลายรูปแบบงบประมาณอาจใช้เป็นงบฯฟังก์ชั่นจะดูอีกที งบฯต่าง ๆ หรืออาจจะดูงบประมาณปี 2566 การดำเนินการอาจเริ่มต้นจากรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเป็นต้นแบบ ก่อนจะต่อยอดปรับไปสู่ PPP ในอนาคต” นายแพทย์เฉลิมพงษ์กล่าว

นายแพทย์เฉลิมพงษ์กล่าวต่อไปว่า รูปแบบองค์การมหาชนจะแยกออกจากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ต้องมีคณะกรรมการอีกชุด ลูกจ้างออกนอกระบบจะมีที่ปรึกษาหรือร่วมกับเอกชนเป็นคณะกรรมการ

จากนั้นจะพัฒนาไปสู่รูปแบบ PPP รัฐร่วมเอกชนภายหลัง จะต้องคุยกับธนารักษ์อีกครั้ง เป็นรูปแบบพิเศษที่ยังไม่มีที่ใดดำเนินการมาก่อน ส่วนภาคประชาชนจะมีการจ้างงานผลิตสินค้าจำหน่ายในเมดิคอลพลาซ่า รวมถึงสปาต่าง ๆ จะมาเช่าพื้นที่ ซึ่งองค์การมหาชนจะเชื่อมกับประชาชนที่จะได้ผลประโยชน์จากการประกอบการทั้งหมด จะคืนสู่ภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งหมด

ตามแผนงาน ต้นทุนค่าก่อสร้างเฟสแรก แบ่งเป็น 4 ส่วน รวมมูลค่า 1,469.8 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.ศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติครบวงจร (Internation Health Plaza) มูลค่า 616.2 ล้านบาท
2.ศูนย์อภิบาลสุขภาพผู้สูงอายุนานาชาติ (Premium Long Term Care) มูลค่า 459.8 ล้านบาท
3.ศูนย์ใจรักษ์ (Hospice Home) มูลค่า 124.9 ล้านบาท และ
4.ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูครบวงจร (Rehabilitation Center) มูลค่า 95.9 ล้านบาท รวมถึงต้นทุนในการเตรียมพื้นที่ก่อสร้างและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 173 ล้านบาท

การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ แยกเป็น 1.Health Plaza ผลตอบแทนภายใน (IRR) 10.3% มูลค่าปัจจุบันสุทธิ 159.7 ล้านบาท ระยะเวลาคืนทุน (PB) 11 ปี 2.Long Term Care

ผลตอบแทนภายใน (IRR) 16.6% มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 560.3 ล้านบาท ระยะเวลาคืนทุน 7 ปี 3.Hospice Home ผลตอบแทนภายใน (IRR) 3.1% มูลค่าปัจจุบันสุทธิ -71.8 ล้านบาท

ระยะเวลาคืนทุน 24 ปี, 4.Rehabilitation Center ผลตอบแทนภายใน (IRR) 6.8% มูลค่าปัจจุบันสุทธิ -25.9 ล้านบาท ระยะเวลาคืนทุน 15 ปี

อนึ่ง โครงการยกระดับท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก เดิมตั้งวงเงินงบประมาณ 2,967 ล้านบาท และได้นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2563 แต่ ครม.เห็นชอบหลักการตัวโครงการ

และไม่ได้อนุมัติงบประมาณโครงการให้ แต่ให้ไปศึกษาการลงทุนในรูปแบบรัฐร่วมเอกชน (PPP) ดังนั้น ทางจังหวัดภูเก็ตจึงได้มาทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ และเตรียมเสนอเหตุผลต่าง ๆ ให้ ครม.พิจารณาอีกครั้ง

2กพ2564
มติชน