ผู้เขียน หัวข้อ: ‘เรื่องทำแท้งเถียงกันไม่สิ้นสุด’สนทนา‘สุไลพร ชลวิไล’ สิทธิในร่างกายที่12 สัปดาห์  (อ่าน 342 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ภายหลังสภาผู้แทนราษฎรลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ในหมวดว่าด้วย การทำแท้ง มาตรา 301 และ 305 ก่อนผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
ที่ว่า มาตรา 301 “หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกินสิบสองสัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
และมาตรา 305 ที่งดเว้นโทษให้ ไม่มีความผิด หากเป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามหลักเกณฑ์แพทยสภา
นำไปสู่การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่หน้ารัฐสภา โดยกลุ่ม “ทำทาง” พร้อม “เฟมินิสต์ปลดแอก” และ “กองทุนสนับสนุนการทำแท้งปลอดภัยนานาชาติ” จัดพวงหรีดชุดใหญ่ เต้นลุยไฟ อ่านแถลงการณ์ “ไว้อาลัยกฎหมายทำแท้งฉบับใหม่” เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมานี้
ด้วยเห็นว่า แม้กฎหมายจะถูกปรับแก้ แต่ยังคงความอยุติธรรมต่อผู้ตั้งครรภ์ จึงถึงเวลาแสดงความสิ้นหวัง ให้กับผลลงมติของผู้แทนราษฎร
สุไลพร ชลวิไล นิสิตจุฬาฯ อักษรจรัส รุ่น 56 คือหนึ่งในผู้ร่วมแสดงออกครั้งนี้
สุไลพร เป็นนักวิจัย นักเคลื่อนไหว รณรงค์เชิง “สิทธิ” ให้กับ “ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ” ที่ปีนี้พุ่งเป้าไปที่ประเด็นต้องห้ามในสังคมไทย อย่าง “การทำแท้งปลอดภัย” วาดหวังให้สตรีพ้นจากการถูกทรมาน ด้วยบทลงโทษที่โหดร้าย ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นคน เพื่อให้กฎหมายไทย เป็นไปตามหลักปฏิญญาสากลและกติการะหว่างประเทศ
ดังคำยืนยัน จาก “รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล” อาจารย์ประจำสถาบันวิจัย ประชากรและสังคม ที่ได้หยิบยกข้อความตามรัฐธรรมนูญมาชี้แจงต่อสภาในประเด็นนี้ด้วยว่า
“โลกสมัยใหม่ปัจจุบัน ถ้าท่านมักไปติดตามเรื่องนี้ดู ท่านจะพบว่า ประเทศต่างๆ ได้ทำการยกเลิกการลงโทษผู้หญิงไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากว่า ทิศทางของโลกสมัยใหม่สำคัญที่สุด คือเรื่องสิทธิมนุษยชน ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง ท่านทันสมัยมาก เรื่องนี้ขัดกับมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560
“เพราะฉะนั้นแล้ว ดิฉันคิดว่า การที่เรายังคงมาตรานี้ไว้ คือการที่เรามองว่า ‘การทำแท้งคืออาชญากรรม’ แล้วเป็นอาชญากรรมที่ผู้หญิงกระทำต่อตัวเองด้วย อย่างไรก็ไม่มีเหตุผล สิ่งที่จะเปลี่ยนเรื่องนี้ได้ และองค์การอนามัยโลกได้แนะนำไว้นานมากแล้วว่า การทำแท้ง หรือการยุติการตั้งครรภ์นั้น คือบริการสุขภาพ หรือ Health Care”
เมื่อเป็นเช่นนั้น คนไทยจึงควรมองว่า การยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องของบริการสุขภาพ เหมือนยามเราเจ็บป่วย ก็เข้ารับบริการรักษาหรือไม่ ?
และไม่ว่าจะมีแนวคิดใดที่อยู่เบื้องหลังผลมติครั้งนี้หรือไม่ แต่ที่แน่ชัด “กลุ่มทำทาง” มองว่ากระบวนการพิจารณาแก้ไขกฎหมายยังสะท้อนมุมมองที่ไม่ยอมรับและเคารพสิทธิในการตัดสินใจบนเนื้อตัวร่างกาย
ต่อไปนี้ คือความเห็นของ สุไลพร นักวิชาการ กลุ่มทำทาง ในฐานะตัวแทนผู้ผ่านประสบการณ์ทำแท้ง และผู้ให้คำปรึกษาแก่หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยที่แม้จะเคยแสดงความประสงค์ ขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย ทว่า ไม่มีหน่วยงานใดเปิดโอกาสให้ตัวแทนผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเข้าไปมีส่วนร่วม

⦁ภายหลังสภาไฟเขียว ท้องไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถทำแท้งได้ ไม่ผิดกฎหมาย คิดเห็นอย่างไรบ้าง?
เราเสนอให้มีการยกเลิกมาตรา 301 ซึ่งลงโทษผู้หญิงที่ทำแท้ง ไม่ใช่เสนอให้มีการกำหนดอายุครรภ์ขึ้นมา หลายคนคิดว่าเราอาจจะดีใจที่สภาไฟเขียว สามารถทำแท้งได้ เมื่อก่อนทำไม่ได้เลย อนุมัติมา 12 สัปดาห์ ทำได้แล้วก็น่าจะดีใจ แต่ไม่ใช่ เราคิดว่าควรจะเอาบทลงโทษออกไป ไม่ควรอยู่ในกฎหมายอาญาจะดีกว่า ดังนั้น ผลที่ออกมาคือ เราไม่พอใจ และไม่ได้ดีใจที่ิิออกมาเป็นแบบนี้
ส่วนใหญ่แล้ว แนวโน้มของการแก้ไขกฎหมายทั่วโลก แม้ว่าการทำแท้งจะยังคงมีความผิดตามกฎหมายอาญา และกำหนดอายุครรภ์ก็ตาม แต่การพัฒนาควรนำไปสู่จุดที่ว่า การทำแท้งเป็นสิทธิมนุษยชน เป็นสิทธิของผู้หญิง

⦁ทำไมต้องเอามาตรา 301 ออกไปจากกฎหมายอาญา?
เพราะว่า ถ้าเรามองเรื่องนี้เป็นเรื่องการตัดสินใจบนเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการยืนยันจากหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ถ้าเราทำอะไรกับร่างกาย กับตัวเรา ทำไมจะต้องมีความผิด? แล้วทำไมจะต้องเป็นผู้หญิงที่ถูกลงโทษมาเป็นเวลากว่า 60 ปี?
ถ้าเราดูกฎหมายของไทย ที่ใช้มากว่า 60 ปี ก่อนที่จะมีการแก้ไข กฎหมายตราสามดวงเอง ก็ไม่เคยระบุการลงโทษผู้หญิงที่ทำแท้ง กฎหมายที่เริ่มลงโทษเกิดจากขึ้นจากการที่เราปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามตะวันตก ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเอาตะวันตกมาเป็นต้นแบบ เพราะสมัยก่อน ตะวันตกมีการลงโทษผู้หญิงในกฎหมายอาญาที่ต้องยกเลิก มาตรา 301 เพราะเป็นสิทธิมนุษยชน ถามว่า ถ้าเราฆ่าตัวตายเรามีความผิดไหม? ไม่มีในกฎหมายอาญาที่บอกว่าคนที่ฆ่าตัวตายต้องมีความผิดด้วย ฉะนั้น ถ้าเรามองว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิของผู้หญิง ซึ่งเป็นหลักการที่สหประชาชาติรับรอง อยู่ในกติการะหว่างประเทศหลายฉบับมาก ทำไมเราไม่ให้การแก้ไขกฎหมายนี้สอดรับกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล หมายถึง คุณสามารถทำกฎหมายแยกออกมาต่างหากก็ได้ เป็นกฎหมายที่พูดถึงการยุติการตั้งครรภ์ โดยมองว่าเป็นสิทธิ และเป็นบริการสุขภาพ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกฎหมายอาญา เพราะหลายประเทศก็มีกฎหมายแยกต่างหาก

⦁แม้จะเป็นวาระแก้ไขกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งครั้งแรกในรอบหลายสิบปี แต่ก็มีการปรับแก้ในหลายจุด มองว่า กฎหมายมีความก้าวหน้ามากขึ้นบ้างไหม ข้อกังวลของผู้หญิงทำแท้งส่วนใหญ่คืออะไร?
อืม… ก้าวหน้ามากขึ้นไหม ถ้าเทียบจากว่าเดิมเราลงโทษทุกกรณี อย่างนั้นก็อาจจะเรียกว่าก้าวหน้าขึ้น เขามีการลดหย่อน ยืดหยุ่น หรืออนุญาตในบางอายุครรภ์ให้ไม่มีความผิด ถ้ามองแบบนี้ก็เหมือนว่าก้าวหน้า แต่ถ้ามองว่าสังคมโลกเป็นยังไง แล้วคุณแก้ไขกฎหมายที่มีมา 60 ปี ซึ่งความจริงมีระยะยาวนานกว่านั้น ฉบับแรกเมื่อ ร.ศ.127 หรือ 112 ปี เป็นครั้งแรกที่มีการลงโทษผู้หญิงในกฎหมายอาญา กฎหมายที่ลงโทษผู้หญิงมา 112 ปี แล้วแก้ในปีนี้ แต่ลูกของเขาที่อยู่ในท้อง คือ “ไปแล้ว” เพราะคุณไม่แก้ไขให้ออกจากกฎหมายอาญา
ดังนั้น ก้าวหน้าที่สุด คือต้องอนุญาตให้ทำแท้งถึงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ ไม่ใช่แค่ 12 สัปดาห์ คุณไม่ฟังหมอที่ให้บริการทำแท้งที่ 24 สัปดาห์ เขาบอกว่าทำได้ แต่คุณเลือกที่จะ
เพลย์เซฟ บอกแค่ 12 สัปดาห์ ซึ่งในทางสถิติ คนที่มารับบริการยุติการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่ 12 สัปดาห์ก็จริง แต่อย่าลืมว่าอีก 20% เขามาไม่ทัน 12 สัปดาห์ แปลว่าผู้หญิง 20% นี้ เป็นอาชญากรหรือ? คนที่มาทันไม่เป็นอาชญากรอย่างนี้หรือ นึกออกไหม

⦁ความฝันสูงสุดของกลุ่มทำทาง คืออะไร อยากเห็นกฎหมายแบบไหน?
ยกเลิกมาตรา 301 เรื่องทำแท้งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอะไรหลายๆ เรื่อง และเถียงกันไม่สิ้นสุด บางทีกฎหมายแม้แต่ในต่างประเทศเอง แก้ไปแล้วก็แก้กลับมาอีกได้ อาจจะเปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับว่า ณ ตอนนั้น ฝ่ายใดเป็นผู้มีอำนาจออกกฎหมาย
เราอยากให้ยกเลิก 301 เพราะในเมื่อเรื่องเยอะและซับซ้อน แต่คุณเร่งจะแก้กฎหมาย โดยอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้แก้ภายใน 1 ปี ซึ่งแปลกตั้งแต่ตอนวินิจฉัยแล้วว่า ทำไมเมื่อวินิจฉัยว่าขัดกับรัฐธรรมนูญแล้ว จึงไม่มีผลทันที แต่บอกว่าให้มีผลหลังจาก 360 วันผ่านไป ก็มานั่งรีบแก้กัน แล้วแก้เอาแบบต่ำสุด คือ 12 สัปดาห์ ซึ่งเราพูดตลอด เราพูดหลายอย่าง ตั้งแต่ยกเลิก ม.301 หรือถ้าไม่ยกเลิก อย่างน้อยคุณต้องขยายอายุครรภ์ที่กำหนด ซึ่งเขาก็ไม่ฟัง เราทำข้อมูลมาให้ เขาก็ไม่ได้สนใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน หรืออะไรก็ตาม
ดังนั้น ความฝันอันสูงสุด คือถ้ากฎหมายนี้สำคัญ ทำไมคุณไม่พยายามแยกกฎหมายออกมาอีกฉบับหนึ่ง ทำไมเราทำได้แค่นี้ ทำไมเรายังต้องเอากรอบของกฎหมายอาญามาคงไว้? ถามว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขกฎหมาย อย่างเช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมาธิการแก้ไขกฎหมาย ถึงเป็นนักกฎหมายผู้ชาย ที่อายุ 60-70 ถามว่าผู้ที่มาพิจารณากฎหมาย อย่าง ส.ส. มีความรู้-ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร แล้วถามว่าคนที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย คือ กรมอนามัย แพทยสภา และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ คือคนที่ไม่ได้ทำแท้ง พูดแค่ว่า 12 สัปดาห์ปลอดภัยที่สุด ซึ่งคนที่ออกกฎหมายคุณไม่มีความรู้ ไม่มีความพยายามที่จะเข้าใจเรื่องนี้ และคุณไม่ฟังหมอที่ให้บริการอยู่ ที่เขาบอกว่าทำได้ถึง 24 สัปดาห์ แต่เลือกที่จะเอาตามกรมอนามัย ที่ไม่กล้าพูดกับประชาชน ไม่กล้าโปรโมตงานของแพทย์ผู้ให้บริการ
กระบวนการออกกฎหมายของเรามันน่าเศร้าใจ คนไม่มีความตั้งใจจริงที่จะเข้าใจเรื่องนี้ ถามว่าเรื่องท้องไม่พร้อม ประเทศไทยทำอะไรบ้าง หรือถ้าคุณไม่อยากให้ทำแท้ง คุณช่วยเหลืออย่างไรบ้าง มีอะไรที่ช่วยผู้หญิงบ้างถ้าไม่ให้เขาทำ
เวลานี้ เศรษฐกิจอย่างนี้ โควิดแบบนี้่ คุณให้เด็กแรกเกิดเดือนละ 600 บาท ยังไม่ถ้วนหน้าเลย แถวบ้านมีลูก 3 คน อายุไล่เลี่ยกัน ขอไปตั้งแต่ลูกคนที่ 2 จนคนที่ 3 คนที่ 4 ลูกเขายังไม่ได้เลยสักคน แล้วคุณก็บอกว่าให้เขาท้องต่อ แล้วบอกว่าเรามีมาตรา 305 ที่แก้ไข มีหน่วยงานที่มาช่วยเหลือดูแล ตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ถามว่า พ.ร.บ.นี้ ที่ผ่านมาช่วยได้มากน้อยแค่ไหน ถามว่าการเลี้ยงดูเด็ก 1 คน ต้องใช้เงินเท่าไหร่ ใช้เวลาเท่าไหร่ ทำให้ผู้หญิงคนนึงที่เขายังไม่พร้อมจริงๆ อนาคตเขาต้องเปลี่ยนแปลงไป หรือความรู้สึกของเขาที่ถูกบังคับให้ต้องเป็นแม่โดยที่เขายังไม่พร้อมที่จะเป็น เขายังดูแลตัวเองไม่ได้ หรืออะไรก็ตาม มีน้องที่ท้องไม่พร้อมและพยายามจะฆ่าตัวตาย ถามว่า คุณแก้ไขกฎหมาย คุณเคยรู้อะไรแบบนี้หรือเปล่า คุณเคยคิดถึงสิ่งเหล่านี้บ้างหรือเปล่า คุณคิดว่าศีลธรรมอันดีอะไรของประเทศชาติบ้านเมือง แล้วคุณก็โกหกด้วยซ้ำ คุณบอกว่าถ้ายกเลิก 301 ไปแล้วจะทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย เราก็เลยจำเป็นต้องมีการลงโทษผู้หญิงไว้ เก็บโทษไว้ ถามว่าที่ผ่านมาที่เราใช้กฎหมายมา 60 ปีเนี่ย ความจริงควรจะทบทวนมากกว่าไหม ว่ามันทำให้ผู้หญิงเสียชีวิตไปกี่คน เพราะเขาไม่รู้ว่ามีการทำแท้งที่ปลอดภัย นั่นต่างหากที่ฆ่าผู้หญิง

⦁คำกล่าวที่ว่า 120 วัน ถือว่าเด็กมีชีวิตแล้ว หากทำแท้งถือว่าบาปมหันต์ หรือแม้แต่การอ้างถึงการมีอยู่ของ ‘สิทธิ’ ทารกในครรภ์ คิดเห็นอย่างไรบ้าง มองสังคมไทยยังขาดความเข้าใจ หรือเพราะยึดเรื่องบาป-บุญ?
คืออย่างนี้ อยากให้ทุกคนที่พูดเกี่ยวกับเรื่องทำแท้ง กลับมามองตัวเองจริงๆ และตั้งคำถามว่า สิ่งที่ตัวเองพูดยืนอยู่บนอะไร ถ้ายืนอยู่บนหลักศีลธรรม เราไม่เถียงคุณ แต่ก็ต้องมองว่า หลักศีลธรรมเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล มันไม่ควรจะเป็นหลักศีลธรรมที่มาครอบทุกคน เพราะความเชื่อ เป็นเรื่องเฉพาะตัว
ถ้าคุณพูดแบบนี้ คุณก็ต้องรู้ว่าคุณกำลังพูดจากหลักศีลธรรม แต่ไม่ได้พูดในแง่ที่ว่า เราอยู่ในสังคม ปี 2564 ที่ควรจะมีทางเลือกให้กับคนที่ไม่พร้อม ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะไปทำแบบนั้น แต่เป็นทางเลือกที่เขาควรจะเลือกได้ แต่นี่คุณเล่นปิดกั้นทางเลือก แล้วเอาความเชื่อของคุณมาบังคับว่า ถ้าไม่มีกฎหมายเลย คนจะพากันไปทำแท้ง ซึ่งมันไม่ถูกต้อง ตรรกะแบบนี้วางอยู่บนความเชื่อของคุณเพียงคนเดียว เพราะคุณไม่เคยรู้ว่าผู้หญิงบางคนที่มีปัญหาเขาเจออะไรบ้าง และหน้าที่ของรัฐ ควรที่จะช่วยเหลือคนให้สามารถที่จะจัดการชีวิตตัวเองได้ ให้สิทธิเสรีภาพและทางเลือกในชีวิต มากกว่าจะมาทำตัวเป็นพ่อปกครองลูก หรือเป็นครูที่ออกกฎระเบียบให้นักเรียนปฏิบัติตามซึ่งมันไม่ใช่
ถ้ามองอย่างดีที่สุด คุณอาจไม่ได้ศึกษา ไม่ได้คุยกับผู้หญิงด้วยซ้ำ คุณไม่ได้เข้าใจปัญหานี้อย่างแท้จริง แต่คุณพูดมาจากหนังสือ คุณพูดมาจากสิ่งที่คุณเชื่อถือ นับถือ ถ้าเราพูดในแง่ที่ว่าศีลธรรม ความเชื่อตามศาสนาคืออะไร ความเชื่อเรื่องนี้เป็นอย่างไร เราไม่เถียง แต่ขอให้เป็นเรื่องระหว่างคนคนนั้นจะตัดสินใจ ถามว่าการที่เขาจะไปทำแท้ง ความรู้สึกที่เขามีกับเรื่องนี้ในเชิงศีลธรรมมีหรือเปล่า ? มันก็มีทุกคน เพราะเราโตมาในสังคมที่บอกเราว่า ความดีคืออะไร ความไม่ดีคืออะไร แค่นี้มันก็ลงโทษเขามากพออยู่แล้ว เพราะสังคมไม่ได้สนับสนุนให้เขายุติ เขาต้องเผชิญกับสิ่งเหล่านี้มากพออยู่แล้ว คุณยังเอามาออกเป็นกฎหมายเพื่อที่จะบีบบังคับคน ถามว่า ถ้าเขาจะต้องเลี้ยงเด็กโดยที่ไม่มีความพร้อม ต้องโตมาในสภาพที่คนเลี้ยงไม่ได้มีความรักและไม่มีความพร้อม คุณจะไม่ได้กำลังทำลายชีวิตเด็กที่กำลังเกิดมาหรือ คุณแค่บอกว่าให้รักษาชีวิตไว้ แต่ไม่สนใจว่าคุณภาพชีวิตที่เขาจะเติบโตขึ้นมา คุณดูแลเขาดีจริงหรือเปล่า
อย่างหนึ่งที่อยากจะพูด คือคนที่ออกกฎหมายมักบอกว่า เราจะต้องบาลานซ์ ระหว่างสิทธิทารกในครรภ์
เขาใช้คำว่าทารก ซึ่งสำหรับเราไม่มีทารก เรามีคำว่าตัวอ่อน ตามหลักสิทธิมนุษยชน ตัวอ่อนไม่มีสิทธิ เขาพูดถึงสิทธิเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น ถ้าตัวอ่อนจะมีสิทธิ ก็คือการที่ต้องดูแลผู้หญิงตั้งครรภ์ให้ดี เพื่อให้ตัวอ่อนมีสุขภาพที่ดีเมื่อคลอดออกมา แต่ไม่ได้มีสิทธิในเชิงบุคคล
ดังนั้น การตั้งต้นในการแก้ไขกฎหมายในประเทศไทย ไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล เพราะหลักตั้งต้นคิดว่าจะปกป้องสิทธิของชีวิตในครรภ์ ในขณะที่สากลบอกว่า เรื่องนี้เป็นสิทธิของผู้หญิงเท่านั้น ผู้หญิงมีสิทธิที่จะตัดสินใจว่าเขาพร้อมที่จะมีลูก หรือไม่มี

⦁กล่าวคือ ประเทศไทยต้องเลือก ระหว่างสิทธิมนุษยชนสากล หรือ สิทธิมนุษยชนแบบไทยๆ?
ใช่ แล้วเราก็จะดูว่า คุณจะไปตอบคำถามกับนานาชาติว่าอย่างไร แต่เขาคงมีคำตอบแหละคนที่ไปตอบคำถามแทนประเทศไทย เขาก็เก่ง สามารถแถไปได้ อะไรไปได้ เขาคงจะหาวิธีตอบได้

⦁อยากพูดอะไรกับคนในสภา ที่มีส่วนร่วมในการปรับแก้กฎหมายครั้งนี้?
หลายคนอาจจะแสดงความยินดีกับเรา ที่กฎหมายนี้ได้ตั้ง 12 สัปดาห์ เขาคงไม่เข้าใจว่าทำไมเรายังไม่พอใจอีกเหรอ ทำไมเรายังเรียกร้องอีก ซึ่งเราไม่ชอบ เพราะไหนๆ คุณแก้กฎหมายแล้วทั้งที คุณตั้งหลักในการแก้ดีหรือเปล่า ไม่ใช่เอาศีลธรรมมาเป็นกรอบ การแก้กฎหมายของไทยในเรื่องนี้ เขียนไว้ในเอกสารว่า ต้องคำนึงถึงจริยธรรมอันดีและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง แม้แต่คนที่พูดในสภาก็ยังอ้างถึงความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ถามว่า ทุกวันนี้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยไหม คุณปล่อยให้มีการขายยาทำแท้ง แล้วคุณก็ไม่รู้ว่าผู้หญิงไปซื้อยามากิน ก็ต้องมาจ่ายค่ารักษาให้กับผู้หญิงที่บาดเจ็บ บางคนแค่เงินมันไม่ใช่ แต่เขาเสียชีวิต เลยรู้สึกว่า คนที่ต่อต้านการทำแท้ง หรือคิดว่าอนุญาตให้ทำแท้งแค่นี้แล้วคิดว่าดี ความจริงคุณโกหกหรือเปล่า และการโกหกมันผิดศีลธรรมไหม
กรมอนามัยบอกว่า 12 สัปดาห์เท่านั้นแหละ ถ้าเกินกว่านี้มดลูกจะแตก โกหกทั้งนั้น เพราะคุณไม่ได้พูดจากงานวิชาการ ที่เขายืนยันมาว่าทำได้ ปลอดภัยถึง 24 สัปดาห์ ลองไปดูก็ได้ว่า เวลาตัวแทน แพทยสภา, ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ หรือกรมอนามัยก็ตาม เขาพูดโดยใช้ข้อมูลที่เป็นวิชาการอะไรมาอ้างอิงคำพูดนั้นบ้าง คนเหล่านี้ เหมือนกับไม้บรรทัด ส.ส.ซึ่งไม่อยากจะให้แก้ไปตามความเป็นจริง ตามข้อเท็จจริงทางการแพทย์ เพราะคาไม้บรรทัดอันนี้อยู่ โดยที่ไม่รู้ว่าไม้บรรทัดนี้ ความจริงแล้วมันตรงไหม หรือมันเบี้ยว

อธิษฐาน จันทร์กลม – เรื่อง

*********

จากการขับเคลื่อน สู่ ‘6 ข้อเรียกร้อง’
เมื่อผลมติแย้งหลัก‘สิทธิมนุษยชน’

“เพราะไม่มีผู้หญิงคนใดในโลกตั้งใจที่จะท้องเพื่อไปทำแท้ง” แต่เมื่อไม่มีใครได้ยินเสียง จึงนำไปสู่การพยายามล่ารายชื่อ กว่า 37,000 ราย บนเว็บไซต์ change.org เพื่อนำไปยื่นเสนอรายงานและข้อยกเลิกมาตรา 301

“เพราะอะไรจะต้องยกเลิกมาตรา 301” คือชื่อเอกสารที่ กลุ่มทำทาง ได้นำเสนอให้กับสภาผู้แทนราษฎร ก่อนจะมีการโหวตร่างแก้ไข พร้อมมอบให้ที่ประชุมของคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมาย นำส่งให้ ส.ว.ด้วย อีก 60 ชุด

“ถ้าเขามีเอกสารนี้ในมือ จะบอกข้อมูลที่สนับสนุน ไม่ใช่ว่าคุณจะต้องทำตามความฝันของเรา แต่มันคือข้อมูลที่เราเอามาให้คุณเห็นว่าทำไมถึงต้อง 24 สัปดาห์ มีงานวิจัยพูดถึงเรื่องนี้ และค่าใช้จ่ายในการรักษาอาการแทรกซ้อนของผู้หญิง เท่าไหร่ในแต่ละปี”

สุไลพร ชลวิไล นักวิชาการกลุ่มทำทาง บอกเล่าถึงเหตุผล พร้อมแนบหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่ยังชี้ให้เห็นว่าการกำหนดโทษตามกฎหมาย ไม่สามารถยับยั้งการทำแท้งได้ แต่ทำให้เกิดอัตราการตายจากการทำแท้งไม่ปลอดภัยสูงขึ้น ไปจนถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาอาการแทรกซ้อน ที่สูงขึ้นถึงกว่า 118 ล้านบาท ในปี 2562

เมื่อผลลัพธ์จะไม่เป็นไปตามคาด กลุ่มทำทาง เฟมินิสต์ปลดแอก และกองทุนสนับสนุนการทำแท้งปลอดภัยนานาชาติ จึงร่างข้อเรียกร้อง เสนอให้

1.ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกกฎหมายทบทวนตนเองและยอมรับแนวคิดในการแก้ไขกฎหมายตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และยกเลิกมาตรา 301 ที่ลงโทษผู้หญิงทำแท้งอย่างเร่งด่วน

2.กระทรวงสาธารณสุขกำหนดและจัดสรรงบประมาณในการเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลและบุคลากรให้บริการทำแท้งปลอดภัย ครอบคลุมทุกจังหวัด อย่างน้อยจังหวัดละ 1 สถานบริการ พร้อมให้คำปรึกษา ประชาสัมพันธ์ข้อมูล ตามกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้ 12 สัปดาห์

3.กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องรับประกันว่า ผู้หญิง
จะต้องไม่ถูกปฏิเสธการให้บริการในภายหลัง หากอายุครรภ์เกินกำหนด ซึ่งเป็นผลมาจากขั้นตอนของรัฐที่ยุ่งยาก

4.ในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ ต้องเป็นมิตรและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทุกเพศทุกวัยตลอดกระบวนการ

5.กรมอนามัยและกระทรวงศึกษาธิการ ต้องทบทวนยุทธศาสตร์ในการให้การศึกษาเรื่องเพศอย่างรอบด้าน และให้บริการคุมกำเนิดที่เข้าถึงได้ เพื่อป้องกันการท้องไม่พร้อม โดยเฉพาะยาคุมกำเนิดแบบฝัง

6.รัฐบาลต้องตระหนักว่าเป็นหน้าที่ของตนในการพัฒนาประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพถ้วนหน้า และมีประสิทธิภาพ ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 5 ระบุหน้าที่รัฐว่า ต้องพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

31 มกราคม 2564
https://www.matichon.co.th/prachachuen/daily-column/news_2554861