ผู้เขียน หัวข้อ: จะเกิดอะไรขึ้นหากคุณไม่ได้อาบน้ำนาน 5 ปี  (อ่าน 463 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
"ผมรู้สึกสบายดี"

นี่คือคำตอบของ นพ. เจมส์ ฮัมบลิน เมื่อถูกถามถึงการตัดสินใจเลิกอาบน้ำเมื่อราว 5 ปีที่แล้ว

"คุณจะชินกับมัน และรู้สึกเป็นปกติ" เขาบอกกับทีมข่าวบีบีซี

นพ. ฮัมบลิน วัย 37 ปี เป็นอาจารย์ที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล ในสหรัฐฯ และเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกัน (preventive medicine)

เขายังเขียนบทความให้นิตยสาร The Atlantic ของสหรัฐฯ ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2016 โดยมีชื่อบทความว่า "ผมเลิกอาบน้ำ และชีวิตยังดำเนินต่อไป"

"เราใช้เวลา 2 ปีเต็มในชั่วชีวิตเพื่ออาบน้ำ นั่นทำให้เราต้องเสียเวลา (เสียเงินและน้ำ) กันไปเท่าไหร่" เขาตั้งคำถามในบทความ

ในปี 2020 นพ. ฮัมบลิน เล่าถึงประสบการณ์การทดลองไม่อาบน้ำนาน 5 ปี อย่างละเอียดไว้ในหนังสือที่ชื่อ Clean: The New Science of Skin and the Beauty of Doing Less

การอาบน้ำทุกวันและการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวมีความจำเป็นแค่ไหน

แม้จะเลิกอาบน้ำ แต่ นพ. ฮัมบลิน ยืนกรานหนักแน่นว่าเราไม่ควรเลิกล้างมือด้วยสบู่และเลิกแปรงฟัน โดยเขาเชื่อว่าเราไม่จำเป็นต้องชำระล้างส่วนอื่น ๆ ของร่างกายบ่อยเท่ากับสองส่วนนี้

การทดลอง
นพ. ฮัมบลิน เล่าว่า การไม่อาบน้ำมานาน 5 ปี เริ่มมาจากความสงสัยว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากไม่ได้ใช้น้ำชำระล้างร่างกายเป็นเวลานาน ๆ เขาจึงตัดสินใจเริ่มทำการทดลองกับตัวเอง

"ผมอยากเข้าใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น" แพทย์หนุ่มชาวอเมริกันเล่า

"ผมรู้จักหลายคนที่ไม่ค่อยอาบน้ำ ผมรู้ว่ามันเป็นไปได้ แต่ผมอยากลองด้วยตัวเองเพื่อดูว่ามันจะส่งผลอย่างไร"

แล้วเกิดอะไรขึ้นบ้างหลังจากเขาไม่ได้อาบน้ำมาตั้งแต่ปี 2015

"เมื่อเวลาผ่านไป ร่างกายคุณจะค่อย ๆ ชินกับมัน (การไม่อาบน้ำ) ดังนั้นมันจะไม่ค่อยส่งกลิ่นเหม็นมากเวลาที่คุณไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายและสบู่" เขากล่าว

"และผิวหนังของคุณจะไม่มันเยิ้ม"

นพ. ฮัมบลิน ชี้ว่า คนเราอาจอาบน้ำกันบ่อยเกินไป และอาจจะเป็นประโยชน์หากลดการอาบน้ำลง

"หลายคนใช้ยาสระผมเพื่อล้างน้ำมันจากเส้นผม แล้วก็ใช้ครีมนวดผมเพื่อเติมน้ำมันสังเคราะห์เข้าไป ถ้าคุณทำลายวงจรนี้ได้ เส้นผมของคุณจะกลับคืนสู่สภาพที่เคยเป็นก่อนที่คุณจะเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์พวกนี้" นพ. ฮัมบลิน กล่าว พร้อมกับอธิบายว่านี่เป็นกระบวนการทดลองอย่างค่อยเป็นค่อยไป

เขาเริ่มต้นจากการใช้สบู่ ยาสระผม และผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายในปริมาณน้อยลง รวมทั้งลดความถี่ในการอาบน้ำลง โดยแทนที่จะอาบน้ำทุกวัน เขาเปลี่ยนไปอาบน้ำสามวันครั้ง ก่อนที่จะหยุดอาบน้ำไปอย่างสิ้นเชิง

"มันมีช่วงที่ผมอยากอาบน้ำ เพราะผมคิดถึงมัน ผมตัวเหม็นและรู้สึกตัว เหนียวเหนอะหนะ" นพ. ฮัมบลิน เล่า

"แต่ผมเริ่มมีความรู้สึกแบบนี้ลดลงเรื่อย ๆ"

เขาอธิบายว่าเมื่อเขาใช้น้ำและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายลดลง เขาก็เริ่มมีความต้องการใช้มันลดลงเรื่อย ๆ

นพ. ฮัมบลิน ชี้ว่า ผู้คนในยุคปัจจุบันใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหนังมากเกินความจำเป็นเพราะมีความเชื่อว่ามันจะทำให้เราสุขภาพดีขึ้น

กลิ่นตัวและแบคทีเรีย
แพทย์หนุ่มผู้นี้อธิบายว่า กลิ่นตัวของคนเราเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่บนผิวหนังของเราและดำรงชีพด้วยการกินเหงื่อและสารคัดหลั่งที่ร่างกายขับออกมา

นพ. ฮัมบลิน ชี้ว่า การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ผิวหนังและผมทุกวันจะไปรบกวนความสมดุลระหว่างน้ำมันบนผิวหนังและแบคทีเรีย

"เวลาที่คุณอาบน้ำมากเกินไป คุณจะทำลายระบบนิเวศนี้" เขาเขียนไว้ในบทความเมื่อปี 2016

"พวกมัน (แบคทีเรีย) จะเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลดีต่อจุลชีพชนิดที่ทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์"

นพ. ฮัมบลิน บอกว่า การไม่อาบน้ำจะกระตุ้นให้เกิดกระบวนการควบคุมที่ทำให้ระบบนิเวศบนผิวหนังเข้าสู่ภาวะสมดุลและทำให้เราหยุดส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์

"ตัวคุณจะไม่ได้มีกลิ่นหอมแบบน้ำดอกกุหลาบหรือสเปรย์ฉีดตัว แต่คุณก็จะไม่มีกลิ่นตัวที่ไม่พึงประสงค์เช่นกัน"

นพ. ฮัมบลิน ชี้ว่า การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ผิวหนังและผมทุกวันจะไปรบกวนความสมดุลระหว่างน้ำมันบนผิวหนังและแบคทีเรีย

คำนิยามของ "กลิ่น"
ในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซี นพ. ฮัมบลิน ถูกถามว่าเขากังวลหรือไม่ว่าเขาอาจ "ตัวเหม็น" แต่ผู้คนรอบข้างต่างสุภาพเกินกว่าที่จะบอกให้เขารู้ตัว

แพทย์หนุ่มผู้นี้เล่าว่าเขาได้ขอให้เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน และคนรู้จัก บอกกับเขาตรง ๆ ถ้าเขามีกลิ่นกายไม่พึงประสงค์

เขาบอกว่าตัวเองได้ไปถึงจุดที่ร่างกายไม่ผลิตกลิ่นที่คนทั่วไปรู้สึกไม่พึงประสงค์อีกต่อไป

อันที่จริง นพ. ฮัมบลิน บอกว่า ภรรยาชอบ "กลิ่นใหม่" ของเขา และมันก็ไม่ใช่กลิ่นที่แย่สำหรับคนอื่น ๆ ด้วย

เขาอธิบายว่า "ในประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของมนุษย์ เรามักมีกลิ่นที่เป็นส่วนหนึ่งในการสื่อสารกับผู้อื่น" แต่กลิ่นแบบนี้มักถูกขจัดออกไปจากด้านชีววิทยาเชิงสังคมของเรา

"ดังนั้นเราจึงคาดหวังว่าคนอื่นจะต้องไม่มีกลิ่นอะไรเลย หรือมีกลิ่นแบบน้ำหอม โคโลญ หรือสบู่... หากผิดไปจากนั้นก็จะถือว่าพวกเขาตัวเหม็น หากสัมผัสได้ถึงกลิ่นกายมนุษย์ ก็จะถือเป็นเรื่องเชิงลบ"

แล้ว นพ. ฮัมบลิน ไม่ได้อาบน้ำชำระล้างเนื้อตัวโดยสิ้นเชิงหรือไม่

เขาบอกว่า เขายังคงล้าง "คราบสกปรกที่มองเห็นได้" หรือหลังจากการออกกำลังกาย

เขาบอกว่าเรายังสามารถขจัดความมันและเหงื่อไคลตามผิวหนังได้ด้วยการ "ใช้มือขัดถูและหวีผมเป็นครั้งคราว"

นพ. ฮัมบลิน บอกว่า สิ่งสำคัญคือการคำนึงถึงการดูแลสุขภาพผิวจาก "ภายในสู่ภายนอก"

วิทยาศาสตร์กับการตลาด
การตัดสินใจเลิกอาบน้ำของ นพ. ฮัมบลิน ไม่ใช่แค่การทดลอง

เขาระบุไว้ในหนังสือเกี่ยวกับกระบวนการวิจัยครั้งนี้เอาไว้ว่า ได้มีการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญหลายคน อาทิ แพทย์ผิวหนัง ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ หรือแม้แต่นักเทววิทยา

หนังสือของ นพ. ฮัมบลิน ยังวิพากษ์วิจารณ์อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มุ่งขายผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและสบู่ที่ใช้เฉพาะจุด โดยเขาชี้ว่า แม้บางผลิตภัณฑ์อาจมีประโยชน์ แต่สิ่งสำคัญคือการคำนึงถึงการดูแลสุขภาพผิวจาก "ภายในสู่ภายนอก" ซึ่งหมายความว่า สุขภาพของผิวหนังเป็นเครื่องสะท้อนถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตและสิ่งที่เกิดขึ้นภายในร่างกายเรา

เขายังชี้ว่า ผู้คนในยุคปัจจุบันใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหนังมากเกินความจำเป็นเพราะมีความเชื่อว่ามันจะทำให้เราสุขภาพดีขึ้น โดยชี้ว่า คนส่วนใหญ่ไม่มีน้ำประปาใช้จนกระทั่งช่วง 100 ปีที่ผ่านมา

"บางครั้งพวกเขาจะไปที่แม่น้ำหรือทะเลสาบ แต่มันไม่ใช่สิ่งที่ทำกันทุกวัน"

นพ. ฮัมบลิน กล่าวสรุปในหนังสือว่า เราอาจอาบน้ำกันบ่อยเกินไป และอาจจะเป็นประโยชน์หากลดการอาบน้ำลง

หนึ่งในสาเหตุที่เขากล่าวเช่นนี้เพราะปัจจุบันเรายังไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราไปเปลี่ยนแปลงประชากรจุลชีพที่อยู่บนผิวหนัง

"แบคทีเรียบนผิวหนังมีความสำคัญต่อรูปลักษณ์และสุขภาพของผิวหนังพอ ๆ กับแบคทีเรียที่อยู่ในระบบย่อยอาหารของเรา" เขากล่าว

คำแนะนำสำหรับคนที่อยากลองทำตาม
นพ. ฮัมบลิน บอกว่า คนเรามีมุมมองเรื่องความสะอาดที่แตกต่างกัน และเขาเชื่อว่าการอาบน้ำเป็นประจำอาจไม่ได้ดีอย่างที่คนทั่วไปเชื่อกัน

"ผมคงพูดว่ามันเป็นเรื่องของความพึงพอใจ ไม่ใช่เรื่องจำเป็นทางการแพทย์"

"แต่ผมก็ไม่ได้บอกให้ผู้คนเลิกอาบน้ำนะ"

นพ. ฮัมบลิน แนะนำคนที่อยากลองทำตามให้เริ่มต้นทีละน้อยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น ใช้สบู่น้อยลง

นพ. ฮัมบลิน บอกว่าเขาไม่ต้องการชี้นำว่าอะไรผิดอะไรถูก หรือบอกว่าการทำแบบเขาคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน แต่ชี้ว่ามันใช้ได้ผลดีสำหรับเขา

"สำหรับคนที่เคยมีปัญหาโรคผิวหนัง หรืออยากลองทำตาม ผมจะแนะนำให้เริ่มต้นทีละน้อยอย่างค่อยเป็นค่อยไป แล้วค่อยปรับขึ้นไปจนถึงจุดที่คุณรู้สึกดี"

"ยกตัวอย่างเช่น เริ่มใช้ยาสระผมในปริมาณน้อยลง หรือใช้ยาระงับกลิ่นกายที่มีกลิ่นอ่อนลง... หรือเริ่มด้วยการอาบน้ำที่อุณหภูมิเย็นลง อาบน้ำในเวลาที่สั้นและถี่น้อยลง และใช้สบู่น้อยลง"

"มันไม่จำเป็นต้องทำอะไรที่มากเกินไป"

มาร์การิตา โรดริเกซ
บีบีซีนิวส์ มุนโด
25 มกราคม 2021