ผู้เขียน หัวข้อ: กม. ทำแท้งผ่านวุฒิสภา เปิดทางหญิงอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ทำแท้งได้  (อ่าน 471 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
ฒิสภามีมติผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการทำแท้ง หลังพิจารณา 3 วาระรวดในวันเดียว เพื่อให้กฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ก่อน 12 ก.พ.นี้ หลังสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบมาแล้วก่อนหน้านี้

ที่ประชุมวุฒิสภาในวาระ 3 มีมติเห็นชอบ 166 เสียง ไม่เห็นชอบ 7 เสียง และ งดออกเสียง 21 เสียง ต่อพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ที่แก้ไขมาตราว่าด้วยการทำแท้ง ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และต้องเร่งทำกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ก่อน12 ก.พ. ตามคำวินิจฉัย

กม. ทำแท้ง
ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติ 166 ต่อ 7 เสียง รับร่างกฎหมายทำแท้ง งดออกเสียง 21 เสียง

ม.301ทำแท้งได้หากอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หากเกินมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ม.305 (1)ทำได้หากการตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจ

ม.305 (2)ทำได้หากทารกมีความผิดปกติทางกายหรือจิตใจถึงขนาดพิการอย่างร้ายแรง

ม.305 (3)ตั้งครรภ์เนื่องจากถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ม.305 (4)มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ และยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์

ม.305 (5)อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ยืนยันยุติตั้งครรภ์ ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือก ตามที่กฎหมายกำหนด

ที่มา: ที่ประชุมวุฒิสภา 25 ม.ค. 2564, หมายเหตุ : ม.305 ต้องทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและทำตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา
เนื้อหาของกฎหมายใหม่
นายคำนูญ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กเมื่อ 24 ม.ค. อธิบายเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้ว่า "จากเดิมที่การทำแท้งในเกือบทุกกรณีเป็นความผิด มีโทษจำคุกและปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 เปลี่ยนมาเป็นหลักการใหม่พอสรุปให้อ่านกันง่าย ๆ แบบไม่ใช่ภาษากฎหมายหากแต่เป็นภาษาชาวบ้านว่า..."

1. อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ - ทำแท้งได้โดยไม่มีความผิด

2. อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ขึ้นไป - ทำแท้งได้ภายใต้ 3 เงื่อนไข

3. อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ - ทำแท้งได้ภายใต้ 1 เงื่อนไข

นายคำนูญ ระบุว่า "สรุปว่าไม่ได้เปลี่ยนมาเป็น 'ทำแท้งเสรี' หากแต่เป็น 'ทำแท้งได้ภายใต้เงื่อนไข' ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมมาก โดยถืออายุครรภ์เป็นเกณฑ์ โดยหลักการในข้อ 3 เป็นส่วนที่เพิ่มขึ้นในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร"

ส.ว. - ส.ส. มีความเห็นอย่างไร
โดยก่อนที่จะมีมติเห็นชอบในวาระ 3 ซึ่งเป็นการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยทั้งร่าง ได้มีการลงพิจารณาเป็นรายมาตราในวาระที่ 2 ซึ่งเป็นการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยใน 4 เรื่องคือ มาตรา 301, มาตรา 305 (2), มาตรา 305 (3) และ มาตรา 305 (5)

ไอลอว์คลับ ทวีตข้อความว่า ไม่มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่สงวนความเห็นให้แก้ไขมาตรา 301 ขณะในชั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีผู้สงวนความเห็นให้ยกเลิกมาตรา 301 จนนำไปสู่การลงมติ และสุดท้าย ส.ว. มีมติไม่แก้ไขมาตรานี้ ซึ่งหมายความว่า ไม่ยกเลิกมาตรา 301 แต่มีการกำหนดโทษน้อยลง

โดยมาตรา 301 ตามร่างที่สภาผู้แทนฯ เสนอมานั้น บัญญัติไว้ว่า หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นแท้งลูก ขณะมีอายุครรภ์เกิน12 สัปดาห์ ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จากนั้นที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาเห็นด้วยกับการคงมาตรา 305 (2) (3) และ (5) ไว้ตามร่างที่สภาผู้แทนฯ เสนอ

โดยมาตรา 305 ตามร่างกฎหมายนี้ บัญญัติเกี่ยวกับเงื่อนไขที่เป็นบทยกเว้นการรับโทษของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา กรณีการทำแท้งให้หญิงที่ตั้งครรภ์ ใน 5 กรณี ได้แก่

(1) ทำได้หากการตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจ

(2) ทำได้หากทารกมีความผิดปกติทางกายหรือจิตใจถึงขนาดพิการอย่างร้ายแรง

(3) ตั้งครรภ์เนื่องจากถูกล่วงละเมิดทางเพศ

(4) มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ และยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์

(5) หญิงอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ (3-5 เดือน) ยืนยันยุติตั้งครรภ์ ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ตามหลักเกณฑ์ และวิธีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

ที่ประชุมวุฒิสภา ได้ใช้เวลาพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว รวมเวลาเกือบ 8 ชั่วโมง และจากผลการลงคะแนนดังกล่าวทำให้ ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวดำเนินการตามขั้นตอนการประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ทำไมต้องแก้
19 ก.พ. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 4/2563 จากคำร้องของ น.ส.ศรีสมัย เชื้อชาติ ว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่กำหนดความผิดแก่หญิงทำให้ตนแท้งหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำแท้งเป็นความผิดอาญานั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญมี "ข้อเสนอแนะ" ว่า สมควรปรับปรุงกฎหมายอาญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

3 มี.ค. 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้แก้มาตรา 301 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับผิดชอบกระบวนการร่าง รวมไปถึงการเปิดรับฟังความคิดเห็น และมีกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมดำเนินการด้วย ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่เสนอโดยครม. ได้แก้ไขสองมาตรา คือมาตรา 301 และมาตรา 305

17 พ.ย. 2563 ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแก้ไขบทบัญญัติเรื่องการทำแท้ง เพื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาต่อไป

17 ธ.ค. 2563 ส.ส. พรรคก้าวไกลก็ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเช่นกัน ดังนั้นแนวทางในการแก้ไขกฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้ง จึงมีถึงสองแนวทาง ตามร่างที่คณะรัฐมนตรีเสนอ และตามร่างที่ ส.ส. พรรคก้าวไกลเสนอ

ศรีสมัย เชื้อชาติ คือใคร
เว็บไซต์ไอลอว์รายงานว่า ศรีสมัย เชื้อชาติ คือ แพทย์ในเครือข่ายแพทย์อาสาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามกฎหมายและข้อบังคับแพทยสภาให้กับผู้ที่ท้องไม่พร้อม และเป็นคณะกรรมการจัดระบบส่งต่อเพื่อยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยตามคำสั่งกรมอนามัย

เธอถูกตำรวจจับกุมในฐานทำให้หญิงแท้งลูกโดยที่หญิงยินยอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 302 อีกทั้งยังมีการจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ที่เข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ด้วย ต่อมาเธอจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสามประเด็นด้วยกัน ดังนี้

1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ที่กำหนดให้หญิงทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้ง มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 27 ที่รับรองหลักความเสมอภาคและความเท่าเทียม และมาตรา 28 ที่รับรองสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย

2. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ที่กำหนดเหตุยกเว้นความผิดแก่ผู้ที่ทำแท้งนั้น มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 77 อันเป็นบทบัญญัติในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ ที่มีสาระสำคัญว่า "รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน"

3. ให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับในอีก 540 วันหลังอ่านคำวินิจฉัย โดยกำหนดเงื่อนไขให้องค์กร หน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและรายงานผลการปฏิบัติหรือข้อขัดข้องในการปฏิบัติต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 360 วันและ 500 วันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย

19 ก.พ. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 4/2563 แล้วนำมาสู่การแก้กฎหมายในเวลาไม่ถึง 1 ปี

26 มกราคม 2021
https://www.bbc.com/thai/thailand-55799852