ผู้เขียน หัวข้อ: หัวอกคนไทยที่ติดไปกับการเสียดินแดน! หนีกลับมาเมืองแม่ก็กลายเป็นคนไร้สัญชาติ!!  (อ่าน 349 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๓๓๖ ไทยต้องเสียดินแดนไปอีกครั้งให้แก่อังกฤษ ซึ่งมีประเทศอยู่คนละซีกโลก และเป็นการเสียเป็นครั้งที่ ๒ ซึ่งการเสียครั้งแรกก็เสียให้อังกฤษเช่นกัน คือเสียเกาะปีนัง หรือเกาะหมาก เพราะพระยาไทรบุรี ซึ่งอยู่ในการปกครองของไทย มีท่าทีกระด้างกระเดื่อง เมื่อทราบข่าวว่ากรมพระราชวังบวรในรัชกาลที่ ๑ กำลังยกทัพขึ้นไปปราบ จึงแอบทำสัญญาให้อังกฤษเช่าเกาะปีนังแลกกับการคุ้มครอง แต่เมื่อกรมพระราชวังบวรยกทัพไปถีง อังกฤษก็ไม่เข้าช่วยไทรบุรีให้เปลืองตัว ส่วนไทยก็ไม่อยากชักศึกเข้าบ้านหาเรื่องกับอังกฤษ เลยทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับเรื่องเกาะหมาก ปีนังเลยตกเป็นของอังกฤษไปในปี ๒๓๒๙ เป็นการเสียดินแดนครั้งแรกในยุครัตนโกสินทร์

ส่วนมะริด ทวาย และตะนาวศรี เป็นราชอาณาจักรไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยแล้ว ในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็เป็นเมืองท่าที่สำคัญทางด้านทะเลอันดามัน จนในปี ๒๓๐๒ พระเจ้าอลองพญามาตีเอาไปเป็นของพม่า ต่อมาในปี ๒๓๓๐ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ส่งกองทัพไปตีคืน แต่ทว่าไม่สำเร็จ ต่อมาอีก ๔ ปี มะริด ทวาย และตะนาวศรีก็เข้ามาสวามิภักดิ์ขอรวมกับไทยตามเดิม แต่พม่าก็เข้ามาตีไปอีก

ในช่วงนี้อังกฤษได้เข้ายึดพม่าในภาคใต้ รวมทั้งยึดเอามะริด ทวาย และตะนาวศรีไปด้วย ในฐานะที่ไทยให้ความช่วยเหลืออังกฤษในการทำสงครามกับพม่า อังกฤษเสนอจะคืนมะริด ทวาย และตะนาวศรีให้ไทย แต่ไทยรู้ว่าอังกฤษมีลับลวงพรางจะเอาดินแดนภาคเหนือของไทย จึงปฏิเสธไมตรีของอังกฤษ ไม่ขอยุ่งเกี่ยวด้วย เพราะไม่รู้ว่าจะมาไม้ไหนอีก ในที่สุดอังกฤษก็เอาป่าไม้ภาคเหนือไปจนได้

ในระหว่างปี ๒๔๐๘-๒๔๑๐ ไทยกับอังกฤษได้ร่วมกันสำรวจแนวเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า ตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจนถึงจังหวัดระนอง ระบุมะริด ทวาย ตะนาวศรีอยู่ในเขตของพม่า และมีการให้สัตยาบันที่กรุงเทพฯในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๔๑๑ สมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งถือได้ว่าเราเสียดินแดนส่วนนี้ไปอย่างเป็นทางการ แต่ความจริงเราได้เสียดินแดนนี้ให้แก่พม่ามาตั้งแต่ปี ๒๓๓๖ สมัยรัชกาลที่ ๑ แล้ว

มะริด ทวาย ตะนาวศรี เป็นเมืองที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยเฉพาะตะนาวศรีเป็นเมืองที่ไทยเป็นผู้สร้างขึ้นด้วย จึงมีคนไทยอาศัยอยู่มาก และนิสัยคนไทยไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ยังรักษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทยอย่างเหนียวแน่น เล่าเรียนภาษาไทย ทำบุญและจัดงานตามประเพณีไทย มีพระบรมฉายาลักษณ์พระเจ้าอยู่หัวไทยอยู่ทุกบ้าน แต่ก็ต้องกลายเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศที่ตนอาศัย ทั้งๆที่เคยเป็นเจ้าของประเทศที่เกิดและอยู่อาศัยแห่งนี้มาก่อน

หลังจากพม่าได้รับเอกราชในปี ๒๔๙๑ เกิดขัดแย้งกันภายในจนถึงสู้รบกับคนกลุ่มน้อย ความสงบสุขก็หมดไป คนไทยได้เริ่มหนีภัยกลับเข้ามาในเขตไทยซึ่งยังมีพี่น้องที่ติดต่อถึงกันมาตลอด ในปี ๒๕๓๕ รัฐบาลพม่าได้ตั้งกระทรวงพัฒนาพื้นที่ชายแดนและเชื้อชาติขึ้น โยกย้ายประชาชนจากพื้นที่หนาแน่นกระจายไปยังพื้นที่ชายแดน ชุมชนคนไทยจึงถูกแทรกแซงด้วย มีการย้ายคนพม่าเข้ามาอยู่ ตั้งโรงเรียนสอนภาษาพม่าขึ้น บังคับให้ทุกคนเข้าเรียน และส่งพระสงฆ์พม่าเข้ามาอยู่วัดไทย เป็นการกลืนคนไทยให้เป็นพม่า นอกจากนี้ยังเกณฑ์แรงงานคนไทยให้ไปเป็นลูกหาบในกองทัพที่ไปปราบปรามคนกลุ่มน้อยด้วย

ช่วงนี้จึงมีคนไทยหนีเข้ามาอยู่ในเขตไทยอีกเป็นจำนวนมาก และได้ร้องขอสัญชาติไทยจากรัฐบาล ในปี ๒๕๑๙ รัฐบาลได้เริ่มสำรวจจัดทำทะเบียนผุ้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า เชื้อชาติไทย ได้รับบัตรประจำตัวสีเขียวรับรองว่าเป็นผู้พลัดถิ่น ให้ถือระหว่างที่รอขอสถานะเป็นคนไทย แต่บางคนอยู่หลังเขาไกลข่าว คิดว่าเป็นตัวเองคนไทยก็มีสิทธิที่จะอยู่ในประเทศไทย จึงไม่ได้ยื่นขอสัญชาติ

แต่อย่างไรก็ตาม คนเหล่านี้ก็ไม่มีสิทธิ์เท่าเทียมกับคนไทยทั่วไป เพราะยังไม่ได้การรับรองว่ามีสัญชาติไทย และยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน จึงไม่สามารถติดต่อกับทางราชการได้ หางานทำเลี้ยงชีพก็ลำบาก จะว่าไปแล้วคนงานต่างด้าวในวันนี้ยังมีสิทธิ์มากกว่า

ในปี ๒๕๔๖ มานี่เอง มีคนไทยพลัดถิ่นคนหนึ่งถูกตำรวจจับในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งศาลจังหวัดระนองได้พิพากษาเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๘ ว่า คนไทยพลัดถิ่นถือว่าเป็นคนเชื้อชาติไทยแต่ไม่มีสัญชาติไทย สามารถได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยได้

ส่วนคนไทยที่ยังอยู่ในเขตพม่า แม้ปัจจุบันจะได้รับการรับรองจากรัฐบาลพม่าดีขึ้น มีการจัดสรรที่ทำกินให้ และพยายามกลืนให้เป็นคนพม่าโดยการบังคับในด้านการศึกษา แต่หลายคนก็ยังตัดความภูมิใจในความเป็นคนไทยไม่ได้ ยังเรียนภาษาไทยโดยมีครูสอนกันเอง ส่งลูกหลานมาบวชในฝั่งไทย ที่สำคัญทุกบ้านยังติดรูปที่มีอยู่ทุกบ้านในประเทศไทย

ความจริงเมื่อเราต้องเสียดินแดนให้นักล่าอาณานิคม เราจะคิดถึงแต่ดินแดนที่เสียไป ไม่ค่อยได้คิดถึงคนที่อยู่ในดินแดนนั้นซึ่งเป็นพี่น้องของเรา แต่จะต้องถูกพรากไปเป็นคนในบังคับของต่างชาติ ทั้งๆที่เขาเกิดมาในแผ่นดินที่เขาเป็นเจ้าของประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องระทมขมขื่นและเกิดความว้าเหว่ขึ้นอย่างมาก ซึ่งเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงล่วงรู้มาตั้งแต่สมัยของพระองค์แล้วว่า การเสียดินแดนนั้นยังไม่สำคัญเท่าต้องเสียคนไทยที่อยู่ในดินแดนเหล่านั้นไป ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงสละดินแดน ๕๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตรของเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ รวมทั้งสิ่งสำคัญคือนครวัดและทะเลสาบเสียมอันอุดมสมบูรณ์ เพื่อแลกกับพื้นที่เพียง ๒,๘๑๙ ตารางกิโลเมตรของเมืองตราดกลับคืนมา เพราะเป็นเมืองที่มีคนไทยอยู่ทั้งเมือง

20 ม.ค. 2564    โดย: โรม บุนนาค
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000005694