ผู้เขียน หัวข้อ: เซลล์ไข่ของมนุษย์เลือกสเปิร์มที่จะผสมเองได้ด้วยปฏิกิริยาเคมี  (อ่าน 495 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
เดิมเชื่อกันว่าทุกคนเกิดมาโดยเป็นผู้ชนะตามธรรมชาติ เนื่องจากเราได้รับคัดเลือกมาจากสเปิร์มที่แข็งแรงที่สุดของพ่อ โดยมีผู้เป็นแม่และกลไกร่างกายของสตรีทำการคัดเลือกนั้น

แต่ข้อมูลใหม่จากการศึกษาทดลองของมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์มในสวีเดน และมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ในสหราชอาณาจักร กลับพบว่าเซลล์สืบพันธุ์ของผู้หญิงอย่างเช่นไข่ (ovum) มีกฎเกณฑ์และกลไกในการคัดเลือกสเปิร์มที่พึงปรารถนาเป็นของตนเองด้วย โดยสเปกของชายในฝันที่จะมาเป็นพ่อของลูก ไม่จำเป็นจะต้องคล้อยตามตัวเลือกที่หญิงเจ้าของไข่หมายมั่นเอาไว้เสมอไป

ผลการทดลองที่ตีพิมพ์ในวารสารของราชสมาคมกรุงลอนดอน Proceedings of the Royal Society B: Biological Sciences ระบุว่าได้ทดสอบสเปิร์มและไข่ของคู่รักที่เข้ารับการรักษาในคลินิกการเจริญพันธุ์ 60 คู่ โดยให้สเปิร์มสัมผัสกับของเหลวที่ไข่ผลิตออกมาห่อหุ้มตัวเองในห้องปฏิบัติการ โดยใช้ทั้งสเปิร์มของคนที่เป็นคู่รักและไม่ใช่คู่รักต่อไข่ 1 ใบ

ทีมผู้วิจัยพบว่า เซลล์ไข่ของมนุษย์ผลิตสารเคมีที่เลือกดึงดูดสเปิร์มจากชายบางคนเป็นพิเศษ โดยสารนี้ทำให้สเปิร์มตัวที่ไม่พึงปรารถนาเปลี่ยนทิศทางว่ายหนีออกไป ในขณะที่เรียกให้สเปิร์มที่ต้องการมารวมตัวกันใกล้เซลล์ไข่มากขึ้น 18-40%

ผู้หญิงอาจมีบุตรยาก หากตัดสินใจเลือกพ่อของลูกโดยที่ "ไข่" ของพวกเธอไม่ยินยอมพร้อมใจด้วย

นอกจากนี้ยังพบว่า ไข่ของหนูที่เตรียมไว้ใช้ทดลองปฏิสนธินอกร่างกาย มีพฤติกรรมเลือกดึงดูดสเปิร์มของตัวผู้ที่ไม่ใช่ญาติสายเลือดใกล้ชิดเข้ามามากกว่าอีกด้วย แต่ตามปกติแล้วพฤติกรรมเช่นนี้เห็นได้ชัดเจนกว่าในสัตว์พวกที่มีการปฏิสนธิภายนอก เช่นหอยแมลงภู่

นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบว่า สารเคมีที่ไข่ผลิตขึ้นมาคัดเลือกสเปิร์มนี้คือสารอะไรและมีกลไกการทำงานอย่างไรแน่ แต่เบื้องต้นคาดว่าน่าจะเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน

ทีมผู้วิจัยย้ำว่า สเปิร์มที่ไข่แต่ละใบเลือกนั้นมีความแตกต่างกัน โดยเกณฑ์การเลือกคู่ครองในระดับเซลล์สืบพันธุ์ไม่จำเป็นจะต้องสอดคล้องกับการตัดสินใจจากหญิงเจ้าของไข่เสมอไป ซึ่งหมายความว่าเซลล์ไข่อาจปฏิเสธการผสมพันธุ์กับสเปิร์มของสามีหรือคนรักของฝ่ายหญิงได้ และนำมาซึ่งปัญหาการมีบุตรยาก

"หากศึกษากลไกการคัดเลือกของเซลล์ไข่นี้ให้เข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น เราอาจได้พบวิธีรักษาผู้มีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยแก้ไขกระบวนการระหว่างที่สเปิร์มและไข่มีปฏิสัมพันธ์กัน" ทีมผู้วิจัยกล่าวสรุปทิ้งท้าย

18 มิถุนายน 2020
https://www.bbc.com/thai/features-53092884