ผู้เขียน หัวข้อ: ผดุงครรภ์โบราณชายแดนใต้ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่กำลังจะสูญไป  (อ่าน 346 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
หมอตำแย หรือผดุงครรภ์โบราณ ที่ภาษามลายูท้องถิ่นเรียกว่าโต๊ะบีแด ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือปัตตานี ยะลา นราธิวาส เคยเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดูแลหญิงมีครรภ์ทั้งก่อนและหลังคลอด แต่การเข้าถึงบริการสาธารณสุขสมัยใหม่ ส่งผลให้จำนวนผู้ประกอบอาชีพผดุงครรภ์พื้นบ้านจึงลดลงจนเกือบจะสูญหาย

นางวาแมะ แวสือแม ผดุงครรภ์โบราณวัย 70 ปี ชาว อ.เมือง จ.นราธิวาส บอกบีบีซีไทย ว่าประกอบอาชีพผดุงครรภ์พื้นบ้านมาตั้งแต่อายุ 20 ปี ได้รับการถ่ายทอดความรู้ในเรื่องการทำคลอด ผดุงครรภ์ และสมุนไพร มาจากอา ซึ่งเป็นชาวซาไก

"จำไม่ได้ว่าทำคลอดมากี่คน รู้แต่ว่าคนเหล่านี้มีหลานกันแล้ว" นางวาแมะบอก ปัจจุบันนางวาแมะไม่ได้ทำคลอดแล้ว แต่ยังให้การดูแลมารดาและทารกเท่านั้น

โต๊ะบีแด ได้รับการถ่ายทอดความรู้ในเรื่องการทำคลอด ผดุงครรภ์ และสมุนไพร มาจากอา ซึ่งเป็นชาวซาไก

ผศ.เปรมสิรี ชวนไชยสิทธิ์ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี หนึ่งในผู้จัดทำงานวิจัยเพื่อหาทางรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ บอกบีบีซีไทยว่า จำนวนโต๊ะบีแดในแต่ละตำบล 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เหลือเพียงตำบลละไม่ถึง 5 คน ทั้งที่ในอดีตผดุงครรภ์พื้นบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการตั้งครรภ์ ทำคลอดและดูแลหลังคลอดบุตร

รูปแบบการผดุงครรภ์ของโต๊ะบีแดยึดโยงอยู่บนหลักการของศาสนา ผสมผสานวิถีพื้นบ้าน และประเพณีการเกิดของชาวไทยมุสลิมร่วมด้วยผ่านการทำพิธีแนแง ซึ่งเป็นการลูบไล้ครรภ์ของหญิงครรภ์แรก เพื่อให้คลอดง่าย และเกิดสิริมงคลต่อทารก

งานวิจัยของ ผศ.เปรมสิรี และ รศ.ดร.อดิศร ศักดิ์สูง ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อสองปีก่อน ระบุว่าผู้ที่จะทำหน้าที่โต๊ะบีแดจะต้องเป็นสตรีที่มีคุณลักษณะเฉพาะและสืบทอดคุณสมบัติในกลุ่มตระกูล โต๊ะบีแดจึงมีสถานภาพทางสังคมสูง และเป็นที่ยอมรับในชุมชน หมู่บ้าน

"โต๊ะบีแดเป็นผู้มีประสบการณ์สูง เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็พบว่ามีกรณีหนึ่ง ที่โต๊ะบีแดสัมผัสครรภ์แล้วระบุได้เลยว่าเด็กที่จะคลอดออกมาจะเป็นผู้ชาย ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น" ผศ.เปรมสิรี กล่าว

อย่างไรก็ดี การเข้าถึงบริการสาธารณสุขสมัยใหม่จากภาครัฐ และค่านิยมของผู้คนที่ทำให้หญิงมีครรภ์หันไปใช้บริการจากสถานีอนามัย และโรงพยาบาลมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบอาชีพโต๊ะบีแดเริ่มสูญหาย จนเกรงว่าจะทำให้พิธีกรรมและภูมิปัญญาดั้งเดิมต้องสูญหายไป

ผศ.เปรมสิรี มองว่ายังมีความจำเป็นต้องสืบทอดวิชาชีพนี้อยู่ต่อไป เพราะชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่ไม่มีทุนทรัพย์ในการเดินทางไปคลอดบุตรในเมือง ยังคงพึ่งพิงโต๊ะบีแดในการทำคลอด หนทางหนึ่งที่เป็นไปได้ในการสืบทอดวิชาชีพนี้คือการดึงให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจสร้างรายได้จากการศึกษาศาสตร์การนวดมารดา การดูแลหลังคลอดบุตร ซึ่งหากกลุ่มลูกหลานสมาชิกครอบครัวของผดุงครรภ์โบราณให้ความสนใจ ก็น่าจะยังพอจะรักษาวิชาชีพนี้ไว้ได้

3 พฤศจิกายน 2020
https://www.bbc.com/thai/thailand-54780781