ผู้เขียน หัวข้อ: นักประสาทวิทยาชี้เด็กยุคอินเทอร์เน็ตไอคิวต่ำกว่าพ่อแม่ เหตุเพราะการใช้เวลาหน้าจอ  (อ่าน 336 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
"เราไม่มีข้อแก้ตัวเลยในสิ่งที่เรากำลังทำต่อลูกหลานของเราอยู่" นักประสาทวิทยาชื่อดังชาวฝรั่งเศส มิเชล เดมูร์เจท์ กล่าว

"เรากำลังทำให้อนาคตของพวกเขาตกอยู่ในอันตราย"

เขาเชื่อว่าอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ กำลังส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก เดมูร์เจท์ เขียนไว้ในหนังสือเล่มใหม่ของเขาที่ชื่อ "The Digital Cretin (or Idiot) Factory" โดยบอกว่ามีข้อมูลสนับสนุนข้อสรุปนี้มากมาย

เดมูร์เจท์เป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติฝรั่งเศส และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาที่เคยทำงานกับสถาบันชั้นนำอย่างสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ (MIT) และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในสหรัฐฯ

ข้อเสนอที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดในหนังสือเล่มใหม่ของเขาคือ "คนยุคดิจิทัลรุ่นแรก" หรือเด็กที่เกิดหลังการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นที่นิยมแล้ว มีระดับไอคิวต่ำกว่าพ่อแม่ของพวกเขา

เดมูร์เจท์ บอกว่า จากที่ระดับไอคิวของคนในประเทศต่าง ๆ เคยเพิ่มขึ้นจากรุ่นสู่รุ่น แต่ตอนนี้แนวโน้มนี้กำลังเปลี่ยนไปตรงกันข้าม

เขาบอกว่า จริงอยู่ที่ระดับไอคิวขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ อย่างคุณภาพระบบสาธารณสุข การศึกษา และอาหาร ในประเทศนั้น ๆ แต่เมื่อมองดูจากประเทศที่ปัจจัยทางเศษฐกิจและสังคมมีเสถียรภาพมาหลายทศวรรษแล้ว แนวโน้มก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่ดี เช่นในนอร์เวย์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส เป็นต้น

เมื่อถามว่าเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เด็กมีไอคิวลดลงหรือไม่ เดมูร์เจท์ บอกว่ายังไม่สามารถเจาะจงลงไปได้ว่าแต่ละปัจจัย อาทิ การอยู่หน้าจออุปกรณ์ดิจิทัลเป็นเวลานาน หรือว่าการได้รับมลพิษ ทำให้เกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง

"[แต่] เรารู้แน่ชัดว่าเวลาที่เด็กใช้อยู่หน้าจอมีผลกระทบมากต่อระดับไอคิว แม้ว่านั่นอาจจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวก็ตาม"

เดมูร์เจท์ บอกว่า เด็กใช้เวลาในการมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวน้อยลง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาการทางภาษาและอารมณ์ นอกจากนี้ เด็กทำกิจกรรมอื่นซึ่งมีประโยชน์ต่อสมอง อย่างทำการบ้าน ฟังเพลง สร้างงานศิลปะ หรืออ่านหนังสือ น้อยลงไปด้วย

นักประสาทวิทยารายนี้บอกว่า สมองคนเราเป็นอวัยวะที่จะมีพัฒนาการต่อเนื่อง ขณะที่โลกที่เราอาศัยอยู่ ประสบการณ์และความท้าทายที่คนเรากำลังเผชิญ มีส่วนกำหนดโครงสร้างสมองของคนเรา

เดมูร์เจท์ บอกว่า นักวิจัยสังเกตว่าช่วงเวลาที่คนอยู่กับหน้าจอเพื่อความบันเทิง เป็นตัวชะลอพัฒนาการของสมอง และมีผลต่อการทำงานของสมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับกระบวนการรับรู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาและการมีสมาธิ ขณะที่การทำงานที่ต้องใช้ความคิดสติปัญญา การอ่านหนังสือ การฟังเพลง หรือเล่นกีฬา จะสามารถช่วยสร้างเสริมโครงสร้างและเป็นประโยชน์ต่อสมองมากกว่า

เดมูร์เจท์ เปรียบสมองคนเราเหมือนดินน้ำมัน สมองของเด็กและวัยรุ่นจะยังมีความอ่อนนุ่ม ปั้นง่าย แต่พอแก่ตัวขึ้น มันจะเริ่มแห้งและเปลี่ยนรูปร่างได้ยากขึ้น

นักประสาทวิทยารายนี้ บอกว่า โดยเฉลี่ยแล้ว เด็กอายุ 2 ขวบใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมงไปกับหน้าจอ และราว 5 ชั่วโมงสำหรับเด็กอายุ 8 ขวบ ส่วนวัยรุ่นใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน

"นั่นหมายความว่าก่อนจะอายุ 18 ปี เด็ก ๆ ใช้เวลาอยู่หน้าจอเพื่อความบันเทิงเทียบเท่ากับ 30 ปีในโรงเรียน หรือเทียบเท่ากับการทำงานเต็มเวลานานถึง 16 ปี ...นี่ถือว่าบ้าไปแล้วและเป็นการไร้ความรับผิดชอบ [ของผู้ใหญ่] มาก ๆ"

เดมูร์เจท์ บอกว่า เด็กอายุต่ำกว่ากว่า 6 ขวบไม่ควรใช้เวลาหน้าจอเลย และเด็กตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไป อาจจะใช้เวลาหน้าจอได้ครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมงต่อวัน

นอกจากนี้ กฎเกณฑ์อื่น ๆ ที่ควรใช้คือ ห้ามใช้เวลาหน้าจอก่อนไปโรงเรียน และก่อนเข้านอน และไม่อนุญาตให้เด็กใช้อุปกรณ์ดิจิทัลในห้องนอน

เดมูร์เจท์ บอกว่า สื่อกระแสหลักเต็มไปด้วยข้อมูลกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐาน และการโฆษณาชวนเชื่อ ที่ทำให้คนเป็นพ่อแม่ไม่ทราบถึงภัยที่แท้จริงของการใช้เวลาหน้าจอเยอะเกินไป

เมื่อถามถึงงานวิจัยที่บอกว่าวิดีโอเกมช่วยให้เด็กเรียนดีมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสผู้นี้บอกว่านั่นเป็นเรื่องไร้สาระสิ้นดี และเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของการโฆษณาชวนเชื่อ เพราะงานวิจัยเหล่านั้นเป็นการศึกษากรณีเดี่ยว ๆ แยกกัน และก็ไม่ได้มีข้อมูลที่มีน้ำหนักมาสนับสนุน

เดมูร์เจท์ บอกว่า เขามักจะได้ยินความคิดที่ว่า "คนยุคดิจิทัลรุ่นแรก" มีความรู้ "แตกต่างออกไป" จากคนรุ่นก่อนหน้า หมายความว่าแม้ว่าพวกเขาอาจจะเก่งภาษา มีสมาธิ และมีความรู้ น้อยลง แต่พวกเขาเก่ง "เรื่องอื่น ๆ" แทน

แต่คำถามคือ "เรื่องอื่น ๆ" ที่ว่านั้นคืออะไร

"สำหรับผม เด็กเหล่านี้เหมือนกับที่ อัลดัส ฮักซลีย์ เขียนไว้ในนวนิยาย "Brave New World" ที่ถูกทำให้งงงวยโดยสิ่งบันเทิงที่โง่เง่า ปราศจากภาษา ไม่สามารถคิดวิเคราะห์เกี่ยวกับโลกได้ แต่ก็มีความสุขกับโชคชะตาของตัวเอง"

เดมูร์เจท์ บอกว่า ทุกวันนี้ ไต้หวันได้กำหนดให้การปล่อยเด็กให้ใช้เวลาหน้าจอมากเกินไปเป็นรูปแบบการทารุณกรรมเด็กอย่างหนึ่งแล้ว ส่วนที่จีนก็มีกฎจำกัดเล่นเกมสำหรับเด็กแล้ว โดยห้ามเล่นระหว่าง 4 ทุ่มถึง 8 โมงเช้า ห้ามเกิน 90 นาทีต่อวัน ในช่วงวันธรรมดา

อย่างไรก็ดี เดมูร์เจท์ ไม่ได้สนับสนุนให้มีกฎหมายปกป้องเด็กไม่ให้ใช้เวลาหน้าจออุปกรณ์ดิจิทัลมากเกินไป แต่ควรมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ตรงไปตรงมาและครอบคลุมแก่พ่อแม่ โดยกฎเกณฑ์ง่าย ๆ ที่ควรเริ่มใช้คือ ห้ามให้ใช้เวลาหน้าจอเลยสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี และจากนั้นเป็นต้นไปอาจจะให้ใช้เวลาได้ 30-60 นาที ต่อวัน

20 พฤศจิกายน 2020
https://www.bbc.com/thai/international-55013410