ผู้เขียน หัวข้อ: ทุบสถิติทารกที่เกิดจากตัวอ่อนที่ถูกแช่แข็งไว้นานที่สุดในโลก 27 ปี  (อ่าน 324 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
มอลลี กิบสัน ซึ่งอายุยังไม่ถึง 2 เดือน ทำลายสถิติทารกที่เกิดจากตัวอ่อนที่ถูกแช่แข็งนานที่สุดในโลก

มอลลี กิบสัน เกิดในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา โดยใช้เวลานานถึง 27 ปี

ทารกน้อยคนนี้ เกิดมาจากตัวอ่อนที่ถูกแช่แข็งไว้ตั้งแต่เดือน ต.ค. 1992 และอยู่ในสภาพนั้นจนถึงเดือน ก.พ. 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่ทีนาและเบน กิบสัน คู่สามีภรรยาจากรัฐเทนเนสซี ของสหรัฐฯ รับบริจาคตัวอ่อนนี้มา

คาดว่าหนูน้อยมอลลีได้ทำลายสถิติตัวอ่อนที่ถูกแช่แข็งไว้นานที่สุดก่อนจะเกิดเป็นทารก โดยทำลายสถิติที่ทำไว้โดยเอมมา พี่สาวของเธอเอง

"ฉันยังคงตกตะลึงอยู่เลยว่า พวกเธอคือลูกของเรา" นางกิบสันบอกกับซีเอ็นเอ็น

ครอบครัวจากรัฐเทนเนสซีครอบครัวนี้ เผชิญกับการมีบุตรยากมานานหลายปี ก่อนที่จะติดต่อศูนย์บริจาคตัวอ่อนแห่งชาติ (National Embryo Donation Center--NEDC) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรของกลุ่มผู้นับถือศาสนาคริสต์ในเมืองน็อกซ์วิลล์ที่เก็บตัวอ่อนแช่แข็งของคนไข้ที่เข้ารับการทำเด็กหลอดแก้วไว้ แต่ไม่ได้ใช้ตัวอ่อนและเลือกที่จะบริจาคแทน

หลายครอบครัวที่มีปัญหาอย่างครอบครัวกิบสัน จึงมาขอรับบริจาคตัวอ่อนที่ไม่ได้ใช้ และให้กำเนิดทารกที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับพวกเขา จากข้อมูลของ NEDC ปัจจุบันมีตัวอ่อนมนุษย์แช่แข็งอยู่ในสหรัฐฯ ราว 1 ล้านตัว

มาร์ก เมลลิงเกอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการพัฒนาของ NEDC กล่าวว่า ปัญหาการมีบุตรยากเป็นเรื่องธรรมดาของหลายครอบครัวที่เข้ามาขอรับบริจาคตัวอ่อน

"น่าจะราว ๆ 95% (ของผู้ที่มารับบริจาคตัวอ่อน) มีปัญหาการมีบุตรยาก" เขากล่าว "เรารู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้ทำงานนี้" และได้ช่วยคู่แต่งงานเหล่านี้ในการสร้างสมาชิกใหม่ในครอบครัว

การมีบุตรยาก "เป็นเรื่องที่ยากลำบากที่สุดที่ฉันเคยรับมือมา" นางกิบสันเขียนในบล็อกที่โพสต์บนเว็บไซต์ของ NEDC หลังจากที่ให้กำเนิดเอมมา ลูกสาวคนแรกของเธอ "ตอนนี้ ฉันมองเห็นอีกด้านหนึ่ง ฉันเห็นว่า เวลาหลายปีที่ผ่านมานั้นได้หล่อหลอมให้ฉันกลายเป็นแม่คน"

NEDC ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 17 ปีก่อน และได้ดำเนินการบริจาคตัวอ่อนให้ผู้ที่ต้องการมาแล้วหลายคน จนถึงขณะนี้มีทารกที่กำเนิดจากตัวอ่อนแล้วมากกว่า 1,000 คน

ปัจจุบันมีการถ่ายโอนตัวอ่อนราว 200 ตัวในแต่ละปี การรับบริจาคตัวอ่อน ก็คล้ายกับการรับบริจาคกรณีอื่น ที่คู่แต่งงานสามารถเลือกได้ว่า พวกเขาจะรับบริจาคตัวอ่อน "แบบปิด" หรือ "แบบเปิด" ซึ่งหมายถึงจะเปิดโอกาสให้มีการติดต่อบางรูปแบบกับครอบครัวผู้บริจาคได้

นายเมลลิงเกอร์กล่าวว่า การติดต่อนี้มีหลากหลายลักษณะตั้งแต่การส่งอีเมลหากันปีละ 2-3 ฉบับ ไปจนถึงสานสัมพันธ์กันเหมือนญาติ

คู่แต่งงานจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริจาค 200-300 คน ซึ่งมีข้อมูลด้านประชากรศาสตร์ของครอบครัวผู้บริจาคอยู่อย่างครบถ้วน นายเมลลิงเกอร์เล่าว่า ทีนาและเบน กิบสันเป็นคู่สามีภรรยาที่ตัวไม่ค่อยสูงนัก ทาง NEDC จึงเลือกพ่อแม่ของตัวอ่อนที่มีความสูงใกล้เคียงกันกับทั้งคู่

ลูก ๆ ของกิบสันทั้ง 2 คนคือ มอลลี ซึ่งเพิ่งเกิด และเอมมา ซึ่งเกิดในปี 2017 เป็นพี่น้องกันโดยสายเลือด มีการบริจาคและแช่แข็งตัวอ่อนของทั้งคู่พร้อมกันในปี 1992 ซึ่งตอนนั้น ทีนา กิบสัน มีอายุราว 1 ปี จากข้อมูลของ NEDC ตัวอ่อนอายุ 24 ปีที่ให้กำเนิดเอมมา เป็นตัวอ่อนที่มีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ได้พัฒนากลายเป็นทารก จนกระทั่งมอลลีได้ทำลายสถิติลงในปีนี้

"ในแต่ละวัน สามีและฉันยังคุยกันถึงเรื่องนี้" นางกิบสันกล่าวกับซีเอ็นเอ็น "เราพูดกันว่าแทบไม่อยากจะเชื่อเลยที่เรามีลูกสาวตัวน้อยถึงสองคน แทบไม่อยากเชื่อเลยว่าเราจะมีลูกหลายคนได้'"

NEDC ระบุว่า อายุการเก็บรักษาตัวอ่อนแช่แข็งไม่มีที่สิ้นสุด แต่กรอบเวลาถูกจำกัดด้วยอายุของเทคโนโลยี ทารกคนแรกที่เกิดจากตัวอ่อนแช่แข็งที่ได้มาจากการบริจาคของคนไข้ทำเด็กหลอดแก้วเกิดในออสเตรเลียในปี 1984

นายเมลลิงเกอร์กล่าวว่า "เป็นไปได้ว่า สักวันหนึ่ง ตัวอ่อนที่อายุ 30 ปี อาจจะกำเนิดเป็นทารกก็ได้"

3 ธันวาคม 2020
https://www.bbc.com/thai/international-55163588