ผู้เขียน หัวข้อ: กฎหมายห้ามทำแท้งฉบับใหม่ของโปแลนด์จะทำให้ผู้หญิงต้องไปทำแท้งในต่างประเทศมากขึ้น  (อ่าน 350 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
ประชาชนในโปแลนด์ออกมาชุมนุมประท้วงกันอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพื่อแสดงพลังคัดค้านกฎหมายฉบับใหม่ที่กำหนดให้การทำแท้งในกรณีที่ทารกในครรภ์มีความพิการรุนแรงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ส่งผลให้การทำแท้งกลายเป็นเรื่องต้องห้ามแทบจะทุกกรณีในประเทศนี้

โปแลนด์ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ถือเป็นประเทศที่มีกฎหมายห้ามการทำแท้งเข้มงวดที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป แต่กระแสความไม่พอใจของประชาชน โดยเฉพาะผู้หญิงได้ปะทุขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ผู้หญิงในโปแลนด์สามารถทำแท้งได้เฉพาะกรณีที่ตั้งครรภ์จากการถูกข่มขืน การร่วมประเวณีกับคนสายเลือดเดียวกัน หรือหากการตั้งครรภ์จะเป็นอันตรายต่อมารดา

แม้ทางการจะเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ออกไป เพราะเผชิญกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงจากประชาชน แต่หลายฝ่ายชี้ว่า เมื่อกฎหมายฉบับใหม่นี้มีผลบังคับใช้ก็จะทำให้ผู้หญิงในโปแลนด์ที่ตั้งท้องแต่ยังไม่พร้อมจะมีบุตรต้องออกไปทำแท้งนอกประเทศมากขึ้น

มีข้อมูลว่าในแต่ละปีมีการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายในโปแลนด์กว่า 1,000 ราย แต่กลุ่มเพื่อสตรีระบุว่าแต่ละปีอาจมีผู้หญิงโปแลนด์ทำแท้งโดยผิดกฎหมายในประเทศหรือไปทำแท้งนอกประเทศมากถึง 80,000 - 120,000 ราย

โดย 98% ของการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายในโปแลนด์เมื่อปี 2019 เป็นการทำจากเหตุผลที่ทารกในครรภ์มีความพิการรุนแรง ซึ่งตอนนี้ได้ถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนในไทยนั้น เมื่อกลางเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้แก้ไขกฎหมายอาญา โดยอนุญาตให้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์สามารถทำแท้งได้โดยไม่มีความผิด เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ ลดแรงจูงใจของผู้หญิงในการไปหาหมอเถื่อนเพื่อทำแท้ง ซึ่งผิดกฎหมายและไม่ปลอดภัยต่อชีวิต และในส่วนที่กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งทารกในครรภ์ที่มีความเสี่ยงที่จะคลอดออกมาแล้วพิการแต่กำเนิดนั้นจะช่วยลดภาวะตึงเครียดให้กับครอบครัวที่ไม่มีความพร้อมที่จะเลี้ยงดูบุตรที่มีสภาพพิการได้

17 ธันวาคม 2020
https://www.bbc.com/thai/international-55332773