ผู้เขียน หัวข้อ: ตุ่นปากเป็ด “สัตว์ประหลาดผู้น่ารัก” มีพันธุกรรมของสัตว์ 3 ประเภทอยู่รวมกัน  (อ่าน 344 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
ตุ่นปากเป็ด (platypus) เป็นสัตว์โลกหน้าตาน่ารักที่มีความแปลกประหลาดอย่างยิ่ง นอกจากจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ออกลูกเป็นไข่ หลั่งเหงื่อเป็นน้ำนม และมีเดือยพิษที่ฝ่าเท้าแล้ว ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ยังพบว่ามันมีขนเรืองแสง ทั้งมีพันธุกรรมของนกและสัตว์เลื้อยคลานรวมอยู่กับยีนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมของมันเองด้วย

ทีมนักชีววิทยานำโดย ดร. จาง กว๋อจี้ จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก ตีพิมพ์ผลการศึกษาข้างต้นในวารสาร Nature โดยระบุว่าได้ถอดลำดับพันธุกรรมทั้งหมดหรือจีโนมของตุ่นปากเป็ดทั้งตัวผู้และตัวเมีย รวมทั้งของตัวอีคิดนา (Echidna) เพื่อให้ทราบถึงความเป็นมาทางพันธุกรรมของสัตว์ที่แปลกประหลาดทั้งสองชนิด ว่ามีความสัมพันธ์กับวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างไรบ้าง

ตุ่นปากเป็ดเป็นสัตว์ในอันดับโมโนทรีมาตา (Monotremata) ซึ่งสัตว์จำพวกนี้มีทวารสำหรับขับถ่ายและช่องสืบพันธุ์เป็นอวัยวะเดียวกัน แต่ตุ่นปากเป็ดกลับมีโครโมโซมเพศถึง 10 ตัว (5 คู่) ซึ่งมากเกินกว่ามนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไปที่มีแค่ 2 ตัวเท่านั้น

พวกมันมีพฤติกรรมออกหากินเวลากลางคืน ใช้ชีวิตอยู่ทั้งบนบกและในน้ำ ทั้งมีเดือยพิษเป็นอาวุธอยู่ที่ฝ่าเท้าด้านหลัง พิษของตุ่นปากเป็ดไม่เป็นอันตรายมากนัก แต่จะทำให้สัตว์ผู้ล่ารู้สึกระคายเคืองเจ็บปวดจนไม่อยากกินมันได้

ขนของตุ่นปากเป็ดสามารถเรืองแสงในความมืดมิดได้

ผลวิเคราะห์พันธุกรรมโดยทีมผู้วิจัยเผยให้ทราบว่า ตุ่นปากเป็ดและอีคิดนามีพันธุกรรมแบบโบราณที่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงจากบรรพบุรุษร่วมของสัตว์มีกระดูกสันหลังต่าง ๆ เลย แต่อย่างไรก็ตาม พวกมันเริ่มมีวิวัฒนาการแยกสายออกจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ ในยุคจูราสสิกเมื่อราว 187 ล้านปีก่อน

โครโมโซมเพศของตุ่นปากเป็ดที่มีมากถึง 10 ตัว ดูเหมือนจะเป็นมรดกทางพันธุกรรมจากสัตว์จำพวกนก โดยมีความคล้ายคลึงกับของไก่มากที่สุด ซึ่งลักษณะทางพันธุกรรมนี้ทำให้มันออกลูกเป็นไข่ แม้ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็ตาม แต่วิวัฒนาการทำให้ยีนที่ผลิตโปรตีนเพื่อการสร้างไข่ของตุ่นปากเป็ดมีเหลือเพียง 1 ใน 3 ของไก่เท่านั้น

ลูกตุ่นปากเป็ดดื่มน้ำนมแม่ซึ่งออกจากต่อมเหงื่อที่ผิวหน้าท้อง

ในขณะเดียวกัน ตุ่นปากเป็ดมียีนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตน้ำนมหลายตัว เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ แต่มันมียีนผลิตโปรตีนในน้ำนมบางตัวเพิ่มเข้ามา ซึ่งยังไม่ทราบว่าโปรตีนดังกล่าวทำหน้าที่อะไรแน่ ส่วนยีนที่สร้างพิษนั้นมีความเกี่ยวข้องกับยีนของระบบภูมิคุ้มกันที่พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป

"การวิเคราะห์พันธุกรรมของตุ่นปากเป็ดทำให้เราได้รู้ว่า การผลิตน้ำนมในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดรวมทั้งมนุษย์ ล้วนมีวิวัฒนาการมาจากยีนชุดเดียวกันในบรรพบุรุษร่วมที่มีชีวิตอยู่เมื่อกว่า 170 ล้านปีก่อน" ดร. จางกล่าว

อย่างไรก็ตาม ตุ่นปากเป็ดนั้นสูญเสียยีน 4 ตัวที่ช่วยสร้างฟันไปเมื่อราว 120 ล้านปีก่อน ทำให้มันไม่มีฟันเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ และต้องบดเคี้ยวอาหารด้วยปากที่เป็นแผ่นแข็งแทน

10 มกราคม 2021
https://www.bbc.com/thai/international-55608809