ผู้เขียน หัวข้อ: สมองส่วน “ออโตไพล็อต” มีอยู่จริง  (อ่าน 326 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
สมองส่วน “ออโตไพล็อต” มีอยู่จริง
« เมื่อ: 17 มกราคม 2021, 10:49:28 »
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ของสหราชอาณาจักร พบส่วนของสมองซึ่งทำหน้าที่คล้ายระบบทำการบินอัตโนมัติหรือ "ออโตไพล็อต" ของเครื่องบิน โดยสมองส่วนนี้จะช่วยให้เราทำงานที่คุ้นชินได้อย่างคล่องแคล่วไม่ผิดพลาด ชนิดที่แทบจะไม่ต้องมองดูหรือใส่ใจมากนัก เช่นการเดินหรือขับรถในเส้นทางที่ไปเป็นประจำทุกวัน

ผลการค้นพบดังกล่าวมีการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร PNAS โดยระบุว่าสมองส่วนเครือข่ายอัตโนมัติที่ทำงานเมื่อมีการพักผ่อน (Default Mode Network-DMN) ซึ่งมักจะทำงานขณะที่เราหลับหรือจิตใจล่องลอยฝันกลางวันไปเรื่อยเปื่อยนั้น มีบทบาทอย่างมากในการควบคุมร่างกายขณะทำงานที่คุ้นชิน ซึ่งไม่ต้องใช้สมาธิจดจ่อและใช้ความใส่ใจมากนัก

ในการทดลองล่าสุด นักวิจัยให้อาสาสมัคร 28 คนเล่นเกมจับคู่ไพ่ โดยอาสาสมัครต้องจับคู่ไพ่ใบที่ได้รับแจก เข้ากับไพ่ใบใดใบหนึ่งในจำนวน 4 ใบที่เป็นตัวเลือก โดยใช้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น สี รูปร่าง หรือจำนวนตัวเลขบนไพ่ ซึ่งผู้เล่นจะต้องลองผิดลองถูกเพื่อเรียนรู้กฎการเล่นที่ถูกต้องเอาเอง ในระหว่างนั้นจะมีการสแกนตรวจจับการทำงานและความเคลื่อนไหวของสมองผู้เล่นไปด้วย

นักวิจัยพบว่าในช่วงที่อาสาสมัครยังต้องเรียนรู้กฎการเล่นเกมอยู่นั้น เครือข่ายสมองด้านความตั้งใจจดจ่อบริเวณด้านหลัง (Dorsal Attention Network) จะทำงานอย่างต่อเนื่องและโดดเด่นกว่าสมองส่วนอื่น แต่เมื่อผู้เล่นเข้าใจกฎเกณฑ์การเล่นและใช้ได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว เครือข่ายสมองส่วน DMN จะเคลื่อนไหวทำงานมากกว่าแทน และยิ่งทำงานได้ดีเป็นพิเศษหากมีการทำงานประสานกับสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ซึ่งเป็นส่วนของความจำ

ผู้นำทีมนักวิจัยระบุว่า ระบบการทำงานแบบออโตไพล็อตของสมองนี้ ช่วยให้เราตัดสินใจได้เร็วขึ้นในสภาพการณ์ที่ล่วงรู้ถึงกฎเกณฑ์และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยให้สมองประหยัดพลังงานโดยไม่ต้องเสียเวลาให้ความสนใจวิเคราะห์เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ซ้ำกันไปเสียทุกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม หากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปสมองก็จะกลับมาใช้ระบบควบคุมแบบ "แมนนวล" ที่ต้องใช้ความตั้งใจจดจ่ออีกครั้ง

ทีมนักวิจัยยังหวังว่า ความเข้าใจต่อสมองส่วนเครือข่ายอัตโนมัติหรือระบบออโตไพล็อตของมนุษย์นี้ จะเป็นกุญแจไขสู่วิธีการรักษาผู้ป่วยโรคจิตประสาทหรือผู้มีความผิดปกติทางพฤติกรรม เช่นผู้เสพติดสิ่งต่าง ๆ ผู้ป่วยซึมเศร้า หรือผู้มีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ ซึ่งรูปแบบความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ โดยอัตโนมัติของคนเหล่านี้ ทำให้เกิดภาวะไม่พึงประสงค์ขึ้น

29 ตุลาคม 2017
https://www.bbc.com/thai/international-41793387