ผู้เขียน หัวข้อ: โควิด-19: ทำไมรัฐบาลเลือก สยามไบโอไซเอนซ์ ผลิตวัคซีนเพื่อคนไทยและเพื่อนบ้าน  (อ่าน 324 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
การผลิต การถ่ายโอนเทคโนโลยี รวมทั้งแผนการแจกจ่ายวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจ เช่นเดียวกันคำถามที่ว่า เหตุใด บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จึงเป็นเพียงบริษัทเดียวที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐในการผลิตวัคซีนต้านโรคระบาดร้ายแรงนี้

สาธารณชนเริ่มรับรู้เกี่ยวกับความร่วมมือในการผลิตวัคซีนดังกล่าวระหว่างรัฐบาลกับสยามไบโอไซเอนซ์ จากการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (เอสซีจี) และแอสตร้าเซนเนก้า บริษัทผู้ผลิตชีวภัณฑ์ชั้นนำสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน เพื่อผลิตและจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโควิด-19 รหัส AZD1222 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดเมื่อ 12 ต.ค. 2563

ต่อมาเมื่อ 17 พ.ย. กระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยการจองล่วงหน้าและการจัดซื้อวัคซีนกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า สหราชอาณาจักร ในวงเงิน 6 พันล้านบาทต่อคณะรัฐมนตรีและได้รับความเห็นชอบจาก ครม.ทันทีในวันนั้น

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงในวันนั้นว่า โครงการนี้จะใช้โรงงานของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นแหล่งผลิตวัคซีน โดยสัญญาจองและจัดซื้อนี้จะทำให้ประเทศไทยสามารถจัดหาวัคซีนได้ภายในปี 2564 และจะลดอัตราการป่วย การเสียชีวิต และค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 และฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว ลดการสูญเสียเชิงเศรษฐกิจได้เป็นมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท

คอนเนคชันดี พร้อมแหล่งรวมนักวิจัยหัวกะทิ
คำถามที่เกิดขึ้นตามมาว่า เพราะเหตุใด สยามไบโอไซเอนซ์ จึงถูกเลือกให้เป็นผู้ผลิตและรับถ่ายโอนเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและแอสตร้าเซนเนก้าสำหรับแจกจ่ายในไทยและส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

"แอสตร้าเซนเนก้าก็ต้องไปหาพันธมิตรในต่างประเทศ เช่น บราซิล เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา อินเดีย เกาหลีใต้ รัสเซีย เขาก็กำลังมองหาฮับในการผลิตในอาเซียนได้ ซึ่งคือที่ไทย" นพ.นครกล่าว

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ บอกกับบีบีซีไทยว่า โครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี และแอสตร้าเซนเนก้า และมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เป็น 1 ใน 3 แนวทางในการจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 ตามยุทธศาสตร์ของสถาบันฯ นอกจากการจัดซื้อโดยตรงจากต่างประเทศ และการพัฒนาวิจัยวัคซีนเองภายในประเทศ

"แนวทางนี้มีความพิเศษตรงที่ว่า หน่วยงานเอกชนของเราคือ เอสซีจี กับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดมีความสัมพันธ์กันในเชิงการวิจัยนวัตกรรมเทคโนโลยี (technology innovation research) มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี" นพ.นครกล่าว

ดังนั้นเอสซีจีจึงสอบถามไปยังมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นผู้คิดค้นวิจัยวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะได้วัคซีนประสิทธิภาพดี ซึ่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดชี้แจงว่าหากสนใจเรื่องดังกล่าวจะต้องประสานงานผ่านแอสตร้าเซนเนก้าเพราะเป็นผู้ดูแลการผลิตวัคซีนในต่างประเทศ และเป้าหมายของทั้งสองคือการสร้างซัพพลายการผลิตวัคซีนจำนวนมากให้เกิดขึ้นทั้งโลก ในกำลังการผลิต 3,000 ล้านโดสต่อปี

"ดังนั้น แอสตร้าเซนเนก้าก็ต้องไปหาพันธมิตรในต่างประเทศ เช่น บราซิล เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา อินเดีย เกาหลีใต้ รัสเซีย เขาก็กำลังมองหาฮับในการผลิตในอาเซียนได้ ซึ่งคือที่ไทย"

ในรายงานประจำปี 2563 ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ระบุว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดเกิดใหม่ที่กำลังเติบโต (emerging markets)

นอกจากนี้ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากจะต้องพันธมิตรที่มีศักยภาพแล้ว ยังต้องเป็นแหล่งของนักเรียนหัวกะทิที่พร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และเมื่อประเมินแล้วทั้งในแง่บุคลากร ศักยภาพ เครื่องมือทั้งโรงงานที่มีและที่ลงทุนมาแล้วกว่า 4,500 ล้านบาท รวมทั้งทุนการผลิต สยามไบโอไซเอนซ์ จึงเหมาะสม

ด้าน พล.อ.อ. สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ประธานกรรมการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวในเอกสารข่าวในวันที่บริษัท ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงเมื่อปลายปีที่แล้วว่า ศูนย์การผลิตของสยามไบโอไซเอนซ์ มีเครื่องจักรที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงสำหรับผลิตยารักษาโรคมะเร็งและโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง ซึ่งเครื่องจักรดังกล่าวสามารถประยุกต์ใช้ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดและแอสตร้าเซนเนก้า

"นี่แหละคือสิ่งที่เขากำลังตามหา" นพ.นครกล่าว

เงื่อนไงสำคัญคือ ต้องซื้อวัคซีนล่วงหน้า
อย่างไรก็ตาม ผอ.สถาบันฯ ระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขคือรัฐบาลไทยต้องทำสัญญาซื้อล่วงหน้าสำหรับวัคซีนที่สยามไบโอไซเอนซ์ผลิต

"เพราะมันจะแปลกมาก หากว่าวัคซีนที่สยามไบโอไซเอนซ์ผลิตได้ตามมาตรฐานของอ็อกซ์ฟอร์ด แล้วประเทศไทยไม่ใช้ มันก็จะลดทอนความน่าเชื่อถือของวัคซีนใช่ไหม นี่แหละคือที่มาที่ไปของการจองซื้อวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า มีความพิเศษที่ไม่ได้จองซื้อจากบริษัทตรง ๆ ทั่วไป แต่เราได้เงื่อนไขของการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตด้วยตั้งแต่ต้นน้ำ"

ผอ.สถาบันฯ อธิบายเพิ่มเติมว่า หลังจากเขานำเอาไวรัสมาให้ 1 ซีซี แล้ว สิ่งที่ผู้ผลิตในไทยต้องทำคือ ขยายกำลังการผลิตวัคซีนให้ได้ครั้งละ 2,000 ลิตร ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ ได้เกิดขึ้นแล้ว การถ่ายทอดเทคโนโลยีเกิดขึ้นแล้ว สูตรต่าง ๆ เขาสอนมาให้แล้วและนักวิจัยคนไทยกำลังลงมือทำ

อย่างไรก็ตาม บีบีซีไทยได้ติดต่อสยามไบโอไซเอนซ์เพื่อสอบถามความคืบหน้าการผลิต แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากผู้บริหาร

สำหรับการสั่งซื้อล่วงหน้าระหว่างรัฐบาลไทยและแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 26 ล้านโดส ก่อนหน้านี้คาดว่าจะได้รับวัคซีนประมาณเดือน มิ.ย. และนอกจากนี้ ประชุม ครม. ยังมีมติให้พิจารณาสั่งซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็นวัคซีนที่ไทยจัดหา 61 ล้านโดสจากแอสตร้าเซนเนก้า

"ของขวัญจากฟ้า" สู่ "บริษัทในพระปรมาภิไธย"
สยามไบโอไซเอนซ์ ได้ชื่อว่าเป็น "ของขวัญจากฟ้า" เพราะเกิดจากพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานพระราชดำรัส ในเรื่องสุขภาพของประชาชนไว้ว่า "คน คือปัจจัยสำคัญที่จะพัฒนาประเทศ สร้างความพอมี พอกิน จึงทรงให้ความสำคัญในการฟื้นฟูปัญหาสุขภาพของประชาชน เพื่อการพัฒนาประโยชน์สุขให้เกิดกับส่วนรวมและประเทศชาติ"

บริษัทแห่งนี้ก่อตั้งในปี 2552 ภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลโดยมีสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ถือหุ้น 100% ผ่านบริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด โดยมีการเพิ่มทุนหลายครั้งเพื่อการลงทุน และความร่วมมือทางธุรกิจใหม่ ๆ จนในปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 4,800 ล้านบาท

นายอภิพร ภาษวัธน์ อดีตประธานกรรมการบริหาร บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจเมื่อ เม.ย. 2562 ว่า เป้าหมายของทุนลดาวัลย์ในการลงทุนในธุรกิจยาที่ใช้เทคโนโลยีไบโอฟาร์มา หรือ ชีววัตถุ ซึ่งจัดว่าเป็นอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ของประเทศ ไม่ได้มุ่งเรื่องผลกำไรทางธุรกิจ แต่เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านยาและความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขให้กับคนไทย

ส่วนในปัจจุบันผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทนี้ คือ พล.อ.อ. สถิตย์พงษ์ -ซึ่งเป็นราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และยังเป็นประธานกรรมการของ เอสซีจี ที่รัชกาลที่ 10 ทรงถือหุ้นรายใหญ่ 33.64% นอกจากนี้อดีตนายทหารอากาศรายนี้ ยังดูแลหน่วยงานและองค์กรทางธุรกิจสำคัญหลายแห่งที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ถือหุ้นอยู่ด้วย

ก่อนหน้านี้ ดูเหมือนว่า สยามไบโอไซเอนซ์ถูกพูดถึงเพียงในวงจำกัดเท่านั้นจากผลงานการวิจัยและพัฒนายารักษามะเร็งและโรคแพ้ภูมิตัวเองผ่านบริษัท "เอบินิส" ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับ CIMAB รัฐวิสาหกิจยาอันดับหนึ่งของประเทศคิวบา และยังมีความพยายามเข้าสู่ตลาดเวชสำอาง ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีชะลอวัยภายใต้แบรนด์ชื่อ "อาร์เดอร์มิส" (Ardermis)

ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา สยามไบโอไซเอนซ์ เริ่มทำประชาสัมพันธ์มากขึ้น พร้อมการแต่งตั้ง นางนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด ขึ้นเป็น ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรกิตติมศักดิ์ของบริษัท

หลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชดำริให้ สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย ได้เข้าร่วมดำเนินผลิตและจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 จึงทำให้บริษัทนี้กลายเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

"เราต้องมีการเตรียมการภายในประเทศคือ เมื่อรับวัคซีนมาแล้ว จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งอันนี้ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานให้บริษัทสยามไบโอไซเอนส์ ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย อยู่ในขั้นตอน คือเมื่อรับวัคซีนเข้ามาแล้วจะมีการบรรจุ แจกจ่าย" นายกฯ กล่าวหลังเป็นประธานในพิธี ลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้าระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับแอสตราเซเนกา ที่ทำเนียบรัฐบาลวันที่ 27 พ.ย. 2563

รายได้เพิ่ม แต่ยังขาดทุน
เมื่อพิจารณาผลประกอบการที่ผ่านมา ดูเหมือนจะเป็นไปตามที่อดีตผู้บริหารได้กล่าวไว้ว่า เป็นธุรกิจที่ไม่ได้มุ่งแสวงหากำไร

จากข้อมูลที่สยามไบโอไซเอนซ์รายงานต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ผลประกอบการปี 2556 - 2562 ขาดทุนอย่างต่อเนื่องหลายสิบล้านบาท แม้ว่าจะมีรายได้รวมที่เข้ามาเพิ่มขึ้นในแต่ละปีก็ตาม

โดยในปี 2562 บริษัทรายงานว่ามีรายได้รวม 157 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนหน้า 35.05% แต่ยังขาดทุนสุทธิ 69.4 ล้านบาท ขาดทุนน้อยลงจากปีก่อนหน้าราว 9%

ในขณะที่บริษัท เอเพ็กซ์เซล่า จำกัด ซึ่งทำหน้าที่ขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ให้กับสยามไบโอไซเอนซ์ เพิ่งรับรู้กำไรเพียง 2 ปีเท่านั้น คือ ในปี 2561 และ 2562 ก่อนหน้านั้นประสบภาวะขาดทุน

ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตาว่า ภายหลังจากได้รับผิดชอบโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยการจองล่วงหน้าของรัฐบาลแล้ว สยามไบโอไซเอนซ์จะมีผลอย่างไรต่อประกอบการในอนาคต

วัชชิรานนท์ ทองเทพ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย   15 มกราคม 2021