ผู้เขียน หัวข้อ: บ่ซื่อน้ำตัดคอ : โทษทัณฑ์ผู้ผิดน้ำพระพิพัฒน์สัตยาใน โองการแช่งน้ำ  (อ่าน 397 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ดร.สายป่าน ปุริวรรณชนะ
อักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (คติชนวิทยา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิชาการอิสระ

๑.
เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ พลโทสรภฎ นิรันดร บุตรชายขุนนิรันดรชัย (พันตรีสเหวก นิรันดร) หนึ่งในคณะผู้ก่อการการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ออกมาแถลงข่าวขอพระราชทานอภัยโทษแทนบิดา โดยกล่าวถึงวาระสุดท้ายของขุนนิรันดรชัยไว้ว่า “ก่อนเสียชีวิต คุณพ่อได้สำนึกในความผิดว่าเรื่องแรกที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตของท่าน คือ ท่านเป็นข้าราชการทหาร ท่านได้เสียน้ำพิพัฒน์สัตยาต่อพระมหากษัตริย์ ประการต่อไป ท่านเป็นกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ท่านก็ได้ทำเรื่องบางเรื่องที่มิบังควร ท่านก็สั่งเสียว่าท่านต้องการที่จะขอพระราชทานอภัยโทษ แต่คุณพ่อไม่มีโอกาส ปรากฏว่าท่านได้เสียชีวิตไปก่อนด้วยโรคความดันโลหิตสูง แล้วก็เป็นอัมพาต” ถ้อยความดังกล่าวตรงกับความรับรู้ของคนไทยโดยทั่วไปว่า น้ำพิพัฒน์สัตยา คือ น้ำสาบานศักดิ์สิทธิ์ของข้าราชการผู้ได้ถวายสัตย์ต่อพระพักตร์พระเจ้าแผ่นดินว่าจะจงรักภักดีต่อเบื้องพระยุคลบาทตราบเท่าชีวิตหาไม่ หากผู้ใดคิดคดทรยศย่อมต้องมีอันเป็นไปด้วยเดชะแห่งน้ำสาบานนั้น น้ำพิพัฒน์สัตยาที่ว่านี้มิใช่ว่าจะดื่มเมื่อไรก็ได้ แต่ต้องกระทำเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ชื่อ “พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา” หรือที่โบราณเรียกว่า “พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล” กำหนดให้ประกอบขึ้นปีละ ๒ ครั้ง ได้แก่ วันขึ้น ๓ ค่ำ เดือนห้า และแรม ๑๓ ค่ำ เดือนสิบ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชาธิบายว่าสาเหตุของการถือน้ำในวันเวลาดังกล่าวไว้ว่าการถือน้ำในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๕ เป็นพิธีอันเนื่องมาแต่พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (พระราชพิธีตรุษสิ้นปี) ส่วนในวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือนสิบนั้นเนื่องมาแต่พระราชพิธีสารท

ในแง่ที่มาของพิธีกรรม จิตร ภูมิศักดิ์ สันนิษฐานว่าพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยามีต้นเค้ามาจากราชสำนักเขมร โดยอ้างถึงข้อความในจารึกบนกรอบประตูปราสาทพิมานอากาศว่าด้วยพิธีกรรม “กัดไดถวายอายุ” หรือการเชือดแขนให้เลือดไหลลงผสมกับน้ำแล้วดื่มเพื่อเป็นการกระทำสัตย์สาบาน ส่วนในประเทศไทยสันนิษฐานว่าพระราชพิธีนี้กระทำกันมาตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา ศาสตราจารย์ ดร.ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต แสดงหลักฐานในพงศาวดารเหนือที่กล่าวถึงพระเจ้าสินธพอำมรินทร์แห่งอาณาจักรละโว้ - อโยธยา มีรับสั่งให้ข้าราชการทั้งส่วนกลางและหัวเมืองต่าง ๆ มารับพระราชทาน “น้ำพระพิพัฒนสัจจา” หลังจากพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ได้ ๓ ปี ในสมัยกรุงศรีอยุธยาพระราชพิธีนี้ประกอบขึ้นในวัดพระศรีสรรเพชญ์ จากนั้นย้ายมาเป็นวัดมงคลบพิตร ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์ประกอบขึ้นในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ยิ่งไปกว่านั้น ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา พระมหากษัตริย์จะร่วมเสวยน้ำพระพิพัฒน์สัตยากับบรรดาข้าราชการด้วย จึงเท่ากับว่าพลานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ของน้ำพระพิพัฒน์สัตยาย่อมจะยิ่งเพิ่มเป็นเท่าทวี ด้วยว่าเป็นน้ำสาบานที่ดื่มร่วมกับพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นองค์แห่งการผูกสัตย์สาบานนั้น

อนึ่ง เหตุว่าพระราชพิธีดังกล่าวกระทำต่อเนื่องกันมาตลอดจนถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ (รื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งใน พ.ศ. ๒๕๑๒ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช) ขุนนิรันดรชัยซึ่งรับราชการเป็นทหารมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๒๕๗๕ ย่อมต้องเคยดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในฐานะ “ข้าใต้เบื้องพระยุคลบาท” มาก่อน จึงไม่แปลกที่ตัวท่านจะรู้สึกสำนึกในบั้นปลายชีวิตว่าตน “เสียสัตย์ต่อพระเจ้าแผ่นดิน” และได้รับโทษทัณฑ์จากการกระทำของตน

ทั้งนี้สิ่งที่สร้างความศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อำนาจลงทัณฑ์” ให้แก่น้ำพระพิพัฒน์สัตยา นอกจากจะมาจากเดชานุภาพของพระแสงศรศักดิ์สิทธิ์ ๓ องค์ ได้แก่ พระแสงศรพรหมาสตร์ พระแสงศรประลัยวาต พระแสงศรอัคนิวาต ตลอดจนพระแสงสำคัญต่าง ๆ อาทิ พระแสงขรรค์ชัยศรี พระแสงหอกเพชรรัตน พระแสดงดาบคาบค่ายแล้ว ยังมาจาก “โองการศักดิ์สิทธิ์” สำหรับอ่านในพิธีกรรมที่เรียกชื่อว่า “โองการแช่งน้ำ” อีกด้วย

ในตอนหน้าผู้เขียนจะกล่าวถึงข้อสันนิษฐานว่าด้วยการใช้น้ำในฐานะองค์ประกอบสำคัญแห่งพิธีกรรมการสาบาน ตลอดจนเนื้อหาและ “ลักษณะโทษทัณฑ์” ของผู้ผิดน้ำพระพิพัฒนสัตยาซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนในเนื้อหาของโองการแช่งน้ำ ขอได้โปรดติดตามต่อไป

บรรณานุกรม

ภาษาไทย
จิตร ภูมิศักดิ์. โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา. กรุงเทพฯ: ดวงกมล, ๒๕๒๔.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชกรัณยานุสร พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ ตอนว่าด้วยพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล. พระนคร: โรงพิมพ์ไทย (พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตน ราชกุมารี โปรดให้พิมพ์ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าจอมมารดามรกฎ รัชกาลที่ ๕ เมื่อปีวอก ๒๔๖๓), ๒๔๖๓.
ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต. อ่านโองการแช่งน้ำ ฉบับวิเคราะห์และถอดความ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์
แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๗.
ปิ่น มาลากุล, หม่อมหลวง (๒๕๑๒). พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พ.ศ. ๒๕๑๒. กรุงเทพฯ: มปท. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพลโท อ่อง โพธิกนิษฐ ม.ว.ม, ป.ช., ท.จ.ว ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๒), ๒๕๑๒.

ฐานข้อมูลอิเลกทรอนิกส์
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=3719079344818674&id=123613731031938&__tn__=K-R (เข้าถึงเมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๔)

[1] บทสัมภาษณ์นำมาจากเฟซบุ๊กส่วนตัวของปานเทพ พัวพงษ์พัน หัวข้อ “ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 9) เบื้องลึกกว่าที่เป็นข่าว กรณีบุตรชาย “ขุนนิรันดรชัย” ขอพระราชทานอภัยโทษ” โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๒๖ น.


 8 ม.ค. 2564 ดร.สายป่าน ปุริวรรณชนะ

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ในตอนที่ผ่านมาผู้เขียนได้กล่าวถึงข้อสันนิษฐานเรื่องที่มาของพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการไทยไว้คร่าว ๆ แล้ว จึงใคร่ขอนำเสนอความคิดเห็นว่าเหตุใด “น้ำ” จึงถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของพิธีกรรมการกระทำสัตย์สาบานเป็นลำดับต่อมา ทั้งนี้จะพิเคราะห์จากมุมมองทางวัฒนธรรมของชนชาติไท คติความเชื่อของพราหมณ์-ฮินดู และธรรมชาติของน้ำที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับความเป็นสัญลักษณ์ในพิธีกรรมเป็นสำคัญ เหตุเพราะส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่าคติว่าด้วยน้ำในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเกิดขึ้นจากการผสมผสานทางความเชื่อ ไม่ต่างจากที่มาของคติความเชื่ออื่น ๆ ในสังคมไทย

สำหรับข้อสันนิษฐานที่ว่าด้วยความสำคัญของน้ำในมุมมองทางวัฒนธรรมของชนชาติไท ผู้เขียนขออ้างถึงงานศึกษาของศาสตราจารย์ ดร.ปฐม หงษ์สุวรรณ เมื่อครั้งท่านยังเป็นนิสิตปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาภาษาไทยของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เรื่อง ตำนานพระธาตุของชนชาติไท: ความสำคัญและปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับความเชื่อดั้งเดิม อาจารย์วิเคราะห์ว่าชนชาติไทยคิดและเชื่อว่าน้ำมีสภาวะเป็น “สิ่งธรรมชาติที่มีพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ” เนื่องจากน้ำเกิดขึ้นมาตั้งแต่ครั้งสร้างโลก มีพลังอำนาจในการชำระมลทินต่าง ๆ มาตั้งแต่ก่อนการถือกำเนิดของมนุษยชาติ ตลอดจนเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีพ สอดคล้องกับที่ในโองการแช่งน้ำระบุถึงน้ำในตอนกล่าวถึงการกำเนิดโลกว่า “กล่าวถึงน้ำฟ้าฟาด ฟองหาว ฟองหาวดับเดโช ฉ่ำหล้า” แปลความว่ามีเหตุการณ์น้ำท่วมโลกเพื่อดับไฟบรรลัยกัลป์ก่อนที่ทวีปทั้ง ๔ อันหมายถึงแผ่นดินโลกจะเกิดมีขึ้น ผู้เขียนจึงคิดว่าไม่น่าแปลกใจที่คนไท-ไทย จะมองว่าน้ำเป็น “ธาตุศักดิ์สิทธิ์” สมควรแก่การนำมาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของพิธีกรรมกระทำสัตย์สาบาน

ส่วนในคติพราหมณ์-ฮินดู น้ำมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับ “พระวรุณ” หนึ่งในเทพกลุ่ม “อาทิตย์” (วรุณาทิตย์) ซึ่งเป็นเทพสำคัญยิ่งในสมัยพระเวท ชาวอารยันโบราณนับถือพระวรุณว่าเป็นเทพผู้รักษากฎแห่งจักรวาล ในหัตถ์ของพระองค์ถือบ่วงบาศก์สำหรับลากคอผู้กระทำผิดไปลงทัณฑ์ อีกทั้งยังประทับอยู่ในวิมานอันมีประตูนับพัน สามารถเสด็จมาหามนุษย์ได้โดยง่าย มีสายพระเนตรว่องไวแหลมคม ไม่ว่ามนุษย์ผู้ใดรู้สึกนึกคิดเช่นไรก็ทรงทราบโดยฉับพลันทันที ทำให้ไม่มีผู้ใดสามารถต้านทานเดชานุภาพทัณฑกรรมแห่งพระวรุณได้เลย จึงเป็นไปได้มากที่ความสัมพันธ์ระหว่างน้ำ-พระวรุณ-และการลงทัณฑ์จะเป็นต้นเค้าหนึ่งของการแช่งน้ำสาบาน นอกจากนี้แล้วพระวรุณยังเป็นเทพแห่งลมและฝน ในโองการแช่งน้ำจึงอัญเชิญพระองค์มาเป็นองค์พยานคอยจับตาดูผู้คิดคดต่อพระมหากษัตริย์ด้วยในความตอนที่ว่า “ลมฝนฉาวทั่วฟ้า ช่วยดู”ร่วมกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนา เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูพระองค์อื่นๆ และปวงผีทั้งหลายด้วย
นอกเหนือจากความคิดความเชื่อทั้งของชนชาติไทและชาวอารยันโบราณ ผู้เขียนคิดว่าธรรมชาติของน้ำก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้ำถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ประการแรกด้วยเหตุว่าน้ำเป็นของเหลวที่มนุษย์สามารถดื่มเข้าไปในร่างกายได้โดยตรง อีกทั้งยังมีลักษณะเป็นของไหลคล้ายกับ “เลือด” ในร่างกาย วิธีคิดเบื้องหลังการกระทำสัตย์สาบานด้วยการดื่มน้ำจึงน่าจะมาจากคุณสมบัติของน้ำนั้นเอง นำมาซึ่งทัณฑทรมานของผู้ทรยศอันเนื่องมาแต่การดื่มน้ำ ได้แก่ “บ่ซื่อน้ำตัดคอ ตัดคอเร็วให้ขาด”หมายถึง น้ำล่วงผ่านลำคอเมื่อใดก็ให้กลายเป็นของมีคมตัดคอเมื่อนั้น อีกทั้งเมื่อน้ำตกถึงท้องก็ขอให้ “บ่ซื่อน้ำหยาดท้อง เป็นรุ้ง”คือให้น้ำกลายเป็นเหยี่ยวจิกกินอวัยวะภายใน และยังขอให้น้ำกลายเป็นสิ่งแหลมคม “เจาะพุงใบแบ่ง”ให้ได้รับความเจ็บปวดทรมานด้วยการถูกน้ำเจาะทะลวงผ่าแบ่งท้องออกเป็นส่วน ๆ

อีกประการหนึ่ง จากการที่น้ำเป็นหนึ่งในปัจจัยการดำรงชีวิตอันจะขาดเสียมิได้ ในโองการแช่งน้ำได้กล่าวว่าหากใครดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาแล้วกระทำการไม่ซื่อก็จะมีทุกข์เดือดร้อนจนถึงแก่ชีวิตด้วยไม่สามารถอุปโภคบริโภคน้ำได้ตามปกติตามความกล่าวว่า “อย่าอาศัยแก่น้ำ จนตาย”

ซ้ำยังมีอันตรายเพราะ “น้ำคลองกรอกเป็นพิษ”ซึ่งขยายความให้เห็นว่าไม่ใช่เฉพาะ “น้ำพระพิพัฒน์สัตยา” ที่ดื่มเข้าไปเท่านั้นที่จะเป็นโทษเป็นภัยแก่ผู้ตระบัดสัตย์ แม้กระทั่ง “น้ำที่มิใช่น้ำสาบาน” ก็จะกลายเป็นอาวุธลงทัณฑ์ไม่ต่างจากน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเลยแม้แต่น้อย

ในตอนหน้าซึ่งจะเป็นตอนจบของข้อเขียนชุดนี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงโทษทัณฑ์ประการอื่น ๆ นอกเหนือจาก “ทัณฑ์จากน้ำ” ที่ได้กล่าวแล้ว ขอท่านผู้อ่านได้โปรดติดตามต่อไป

บรรณานุกรม
ภาษาไทย
ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต. อ่านโองการแช่งน้ำ ฉบับวิเคราะห์และถอดความ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์
แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๗.
ปฐม หงษ์สุวรรณ. ตำนานพระธาตุของชนชาติไท: ความสำคัญและปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับความเชื่อดั้งเดิม. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๘.

ภาษาอังกฤษ
Van Gennep, Arnold. The Rites of Passage. Chicago: The University of Chicago Press, 1960.
Wilkins. W.J. Hindu Mythology. New Delhi: Rupa Publications, 2018.

12 ม.ค. 2564 19:51   โดย: ดร.สายป่าน ปุริวรรณชนะ
https://mgronline.com/daily/detail/9640000003136

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
โทษทัณฑ์ของผู้ตระบัดสัตย์ไม่เพียงแต่จะมาจากฤทธานุภาพของน้ำพระพิพัฒน์สัตยาบันดาลให้เป็นไปเท่านั้น หากยังเนื่องด้วยอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ซึ่งในโองการแช่งน้ำได้โอมอ่านอัญเชิญให้มาเป็นองค์พยานการกระทำสัตย์สาบานแต่ละครั้งด้วย ได้แก่ พระวิษณุ (พระนารายณ์) พระศิวะ (พระอิศวร) พระพรหม อันเป็นเทพเจ้าสูงสุดทั้ง ๓ ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พระรัตนตรัย พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๕๐๐ พญาวสวดีมาร (ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นพระโพธิสัตว์) พระอินทร์ พระสกันธกุมาร พระยม ท้าวจตุโลกบาล เทวดาทั้งปวงในฉกามาวจรสวรรค์ เทพเจ้าประจำภูเขาสำคัญ ๆ ของจักรวาล ปู่เจ้าสมิงพราย พระพนัสบดีหรือผีเจ้าป่า ศรีพรหมรักษ์ ยักษ์กุมาร ผีด้ำหรือผีบรรพบุรุษ ตลอดจนฝูงผีทั้งหลายที่สถิตอยู่ทั้งบนบก ในน้ำ และในอากาศ

เหล่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากความเชื่อ “พราหมณ์-พุทธ-ผี” ได้กลายเป็น “ผู้จับตาดู” การกระทำของข้าราชการผู้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาว่าสุจริตหรือไม่ จึงยากที่การกระทำทรยศจะหลุดรอดสายตาของเทพเจ้า พระ และผีทั้งหลายไปได้ ในโองการแช่งน้ำระบุอย่างชัดเจนว่าผู้ใดก็ตามที่บังอาจคิดร้ายต่อเบื้องพระยุคลบาทหากไม่ถูกสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น “พาจกจากซึ่งหน้า” หมายถึงลากตัวไปลงนรกในทันทีด้วยลักษณาการอันน่าอนาถ คือ “ควานแควนมัดศอก หอกดิ้นเด้าเท้าถก หลกเท้าให้ไปมิทันตาย หงายระงมระงม ยมบาลลากไป ไฟนรกปลาบปลิ้นดิ้นพลาง เขาวางเหนืออพิจี” แล้ว ก็จะมีภยันตรายกล้ำกรายชีวิตเป็นนานัปการ ได้แก่ ถูกแร้งกาบินมาจิกลูกนัยน์ตาแตก อยู่บนบกได้รับอันตรายจากเสือ หมี แรด หมา งูพิษ อยู่ในน้ำมีภัยด้วยจระเข้ ซ้ำคลื่นน้ำยังจะกลายเป็นเปลวไฟไหม้ผลาญ มิฉะนั้นก็ตายด้วยคมหอกดาบอาวุธ ถูกไฟไหม้ตาย ต้องกินไฟต่างอาหาร นอนในเรือนก็หาได้เป็นสุขไม่เพราะหลังคากลายเป็นดาบลงทิ่มแทง ถูก “ฟ้ากระทุ่มทับลง แผ่นดินปลงเอาชีพไป” หรือก็คือถูกฟ้าผ่า-ธรณีสูบ ไม่ว่าจะเงยหน้าขึ้นฟ้าหรือก้มหน้าลงดินก็ขอให้ตายทั้งสิ้นในระยะเวลาอันสั้น “ให้ตายในสามวัน อย่าให้ทันในสามเดือน อย่าให้เคลื่อนในสามปี” ตลอดจน “อย่าให้มีสุขสวัสดีเมื่อใด”

อนึ่ง เรื่องโทษทัณฑ์จากการผิดต่อน้ำพระพิพัฒน์สัตยา โดยเฉพาะที่เกิดแก่ผู้คิดคดทรยศต่อพระบรมราชจักรีวงศ์นี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ศรีศักร วัลลิโภดม เคยตั้งข้อสังเกตว่านอกเหนือจาก “แรงแช่ง” ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งระบุชื่อในโองการแช่งน้ำแล้ว ยังมาจากความศักดิ์สิทธิ์ของพระแก้วมรกต และจากพระบรมเดชานุภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่ละรัชกาลซึ่งทรงเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่น่าสนใจ คือ อาจารย์ได้อ้างถึงชะตากรรมของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๕๗๕ ไว้ดังนี้ว่า “มีผู้กล่าวอ้างบ่อยๆ ทั้งจากการเล่าขานและการตีพิมพ์เป็นบทความว่า คณะราษฎรที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นล้วนมีอันเป็นไปแทบทุกคน โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ที่ตายในต่างประเทศ”

นอกจากประเด็นนี้แล้ว อาจารย์ยังกล่าวเลยไปถึงนักวิชาการ-นักการเมืองบางจำพวกที่เรียกร้องให้พระมหากษัตริย์ต้องสาบานตนต่อรัฐสภาด้วยโดยเรียกคนกลุ่มนั้นว่า “นักวิชาการเด็กทารก” เพราะหารู้ไม่ว่าพระมหากษัตริย์ไทยนับแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ทุกพระองค์ล้วนเสวยน้ำพระพิพัฒน์สัตยาร่วมกับข้าราชบริพารทั้งสิ้น (ดังมีหลักฐานกล่าวไว้ใน พระราชกรัณยานุสร และ พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และหนังสือ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พ.ศ. ๒๕๑๒ ของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล แม้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเองก็เคยเสวยน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในพระราชพิธีสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ด้วยเช่นกัน - ผู้เขียน)

ในประการดังกล่าวผู้เขียนเห็นพ้องกับอาจารย์ศรีศักรเรื่อง “แท้จริงแล้วเหนือพระองค์ท่าน (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว - ผู้เขียน) ยังมีอำนาจสูงสุดขึ้นไปอีก คืออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เหนือธรรมชาติและเหนือความเป็นพระสมมติเทวราช” จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ “ลดพระองค์” ลงมาสาบานกับอำนาจทางโลกย์ (secular power) อย่างรัฐสภาแต่ประการใด ในเมื่อทรงถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ถวายสัจจาธิษฐานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชอาณาจักรแล้ว

ท้ายที่สุดนี้ไม่ว่า “คำแช่ง” จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจะมีจริงหรือไม่อย่างไรก็ตาม ผู้เชียนเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าเจตนาและการกระทำของบุคคลใดบุคคลหนึ่งย่อมจะต้องส่งผลต่อบุคคลนั้นอยู่แล้วไม่ช้าก็เร็ว ผู้ใดก็ตามที่ “ทำผิดคิดคด” ทรยศต่อชาติบ้านเมือง มีมิจฉาทิฏฐิมุ่งร้ายต่อพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ย่อมจะประสบแต่ความวิบัติเสื่อมทรามในอนาคตอย่างแน่นอน

บรรณานุกรม
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชกรัณยานุสร พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ ตอนว่าด้วยพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล. พระนคร: โรงพิมพ์ไทย (พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตน ราชกุมารี โปรดให้พิมพ์ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าจอมมารดามรกฎ รัชกาลที่ ๕ เมื่อปีวอก ๒๔๖๓), ๒๔๖๓.
ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต. อ่านโองการแช่งน้ำ ฉบับวิเคราะห์และถอดความ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์
แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๗.
ปิ่น มาลากุล, หม่อมหลวง (๒๕๑๒). พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พ.ศ. ๒๕๑๒. กรุงเทพฯ: มปท. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพลโท อ่อง โพธิกนิษฐ ม.ว.ม, ป.ช., ท.จ.ว ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๒), ๒๕๑๒.
ศรีศักร วัลลิโภดม. “เปิดประเด็น: เหนือในหลวงยังมีพระแก้วมรกต.” ใน จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๙๕ (กรกฎาคม-กันยายน ๒๕๕๕).

13 ม.ค. 2564  ดร.สายป่าน ปุริวรรณชนะ
https://mgronline.com/daily/detail/9640000003253