ผู้เขียน หัวข้อ: ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ! คณะราษฎรคนไหน เคยเอาที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  (อ่าน 2636 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ!? คณะราษฎรคนไหน เคยเอาที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นของส่วนตัวบ้าง?/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งยังมีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้มีการแบ่งแยกที่ดินที่รวมกันอยู่ภายใต้การดูแลของพระมหากษัตริย์ออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรกคือทรัพย์สินของแผ่นดิน (Nation property)เช่นที่ดินราชพัสดุและที่ดินของรัฐทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของกรมธนารักษ์

ส่วนที่สอง คือ ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ (Royal property) ที่มีไว้เพื่อใช้ในการส่วนพระองค์โดยทรัพย์สินส่วนของพระองค์ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเป็น“กรมพระคลังข้างที่” และในเวลาต่อมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็ได้มีการแยกออกมาเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์

นั่นแสดงให้เห็นว่าทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ กับทรัพย์สินของแผ่นดินได้ถูกแบ่งแยกออกจากกันอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว

ในเวลาต่อมาภายหลังจากการที่“คณะราษฎร”ได้ทำการปฏิวัติสยามประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ 24มิถุนายน 2475แล้วประเทศไทยก็ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อวันที่ 15พฤศจิกายน 2476

การเลือกตั้งครั้งแรกนี้เป็นการเลือกตั้งแบบรวมเขต โดยมีวิธีการเลือกตั้งแบบทางอ้อม กล่าวคือ ประชาชนในพื้นที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนตำบลก่อน จากนั้นผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกในระดับตำบล จึงจะเป็นผู้ลงคะแนนเลือกตั้งผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง ได้ผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 จำนวน 78 คน ส่วนผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ซึ่งมีจำนวนเท่ากัน กลับกลายเป็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มาจากการคัดเลือกของคณะราษฎรกันเอง

6 มีนาคม 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ ก็เพราะอำนาจการปกครองกับผูกขาดอยู่กับคนก่อการปฏิวัติ 2475 ของคณะราษฎรโดยทรงให้เหตุผลความตอนหนึ่งว่า :

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจ อันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร์”

หลังจากนั้นคณะราษฎรจึงกราบบังคมทูลอัญเชิญ“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8” ขึ้นครองราชย์ แต่เนื่องจากในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันนทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงพระเยาว์และยังทรงศึกษาอยู่ต่างประเทศ จึงใช้มติสภาซึ่งคณะราษฎรกุมอำนาจเสียงข้างมาก ให้ความเห็นชอบคณะผู้สำเร็จราชการดำเนินการแทนพระองค์ในทุกเรื่อง

ต่อมาเกิดการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติเมื่อวันที่ 27 และ 28 กรกฎาคม 2480 จึงทำให้เกิดบันทึกในสภาว่ามีการอภิปรายทั่วไปเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลแบบไม่ลงมติเรื่อง“การจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์”

โดยนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีผู้ตั้งกระทู้ถาม และนายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครเป็นผู้ขอเปิดอภิปรายทั่วไป พร้อมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกหลายคนได้อภิปรายเรื่องนี้กล่าวสรุปความได้ว่า :

ในขณะระหว่างการจัดการโอนย้ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ในความรับผิดชอบของผู้สำเร็จราชการจากคณะราษฎรเกิดข้อสงสัยในเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์จากที่ดินพระคลังข้างที่และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อย่างที่ไม่มีมาก่อน
โดยส่วนของพระคลังข้างที่ ได้มีการให้กรมพระคลังข้างที่ซื้อที่ดินของผู้ที่มีอำนาจในรัฐบาลคณะราษฎรในราคาแพงๆ และมีการขายและเช่าที่ดินพระคลังข้างที่ในทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้กับหลายคนแก่ผู้ก่อการคณะราษฎรในราคาถูกๆ เพื่อไปขายต่อหรือเช่าต่อในราคาแพงต่างกันหลายเท่า

โดยในการอภิรายในครั้งนั้นได้มีการกล่าวถึงการตราพระราชบัญญัติให้ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปขึ้นอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นความพยายามเร่งเพื่อแก้ไขปัญหาบางประการ แต่กลับปรากฏว่ามีการยื้อหน่วงประกาศใช้ไปถึง 3 เดือน 20 วัน และในช่วงเวลานั้นก็เกิดการ“เร่งโอนขายที่ดินพระคลังช้างที่” อีกจำนวนมาก

โดยหนึ่งในการอภิปรายของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้การระบุชื่อนั้นยังรวมถึงคณะกรรมการกำหนดราคาที่ดิน อันได้แก่ขุนลิขิตสุรการ และนายประจวบ บุรานนท์ ก็ได้มีที่ดินในมือหมดแล้วเช่นกัน ปรากฏเป็นคำอภิปรายความตอนหนึ่งว่า:

“จะกล่าวถึงความคิดเห็นในเรื่องการตั้งคณะกรรมการราคา กรรมการที่ตั้งขึ้นในเวลานี้สำหรับราคาคือ“ขุนลิขิตสุรการ” และ“นายประจวบ บุรานนท์” คนทั้ง ๒ คนนี้ได้ซื้อที่ดินไว้ในมือแล้วทั้งหมด” [1]

ซึ่งจะเป็นความจริงหรือเท็จเพียงใดหรือไม่ สังคมไทยก็ควรจะแสวงหาความจริงทางประวัติศาสตร์นี้ให้ปรากฏต่อไปเช่นกัน

ในการอภิปรายเกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ในครั้งนั้นพันเอกพระยาพหลพลพยุหาเสนา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในที่ประชุมว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพราะสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกคณะผู้สำเร็จราชการเองจึงย่อมสามารถทำได้และทำอะไรก็ได้ แม้จะให้ที่ดินเปล่าๆกับใครก็ได้ไม่เป็นความผิด ดังคำอภิปรายของของพระยาพหลพลพยุหาเสนา นายกรัฐมนตรีความว่า :

“ข้าพเจ้าถือว่าท่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งสภาฯ นี้ได้เลือกไปแล้ว ได้ตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการมีอำนาจพอที่จะวินิจฉัยว่า ควรจะทรงพระมหากรุณาหรือไม่อันนี้เมื่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีหน้าที่ที่จะวินิจฉัยและจะให้เปล่าๆก็ได้ แต่ว่าจะให้เปล่าๆ หรือเอาแต่น้อยหรืออย่างไรนั้นอาจทำได้ ไม่ผิด”[1]

แม้ในการอภิปรายในครั้งนั้นอาจจะมี“บัญชีหลายชื่อ”ของคณะราษฎร ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้มีการเปิดเผยว่ามีใครในคณะราษฎรได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาใดบ้าง และที่ดินแปลงใดบ้าง แต่จากการอภิปรายในครั้งนั้นพระยาพหลพลพยุหาเสนานายกรัฐมนตรีแจ้งในที่ประชุมว่าตัวเองไม่ได้ซื้อที่ดินเอาไว้

ส่วนที่ถูกระบุในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนั้นว่าได้“ถูกเสนอขาย”ให้ซื้อที่ดินจากทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ประมาณครึ่งปีก่อนหน้าวันอภิปรายนั้น ก็คือนาวาตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) แต่หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ แม้จะยอมรับว่ามีคนเสนอมาขายที่ดิน แต่ก็แจ้งว่าไม่ได้ซื้อที่ดินนั้น และไม่สมัครใจจะแจ้งว่าใครเป็นคนนำมาเสนอขาย และถูกเสนอขายในราคาเท่าไหร่ ดังคำชี้แจงในการอภิปรายนาวาตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) ความตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้ามีอยู่บ้าง เป็นเวลาประมาณตั้งปีครึ่งมาแล้ว ไม่ได้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ และในการที่เขาจะขายนั้นก็เป็นเรื่องทั่วๆไป ซึ่งราคาเท่าไหร่ ข้าพเจ้าไม่สมัครใจจะกล่าว แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ซื้อ ไม่ใช่ว่าจะมีเรื่องอะไรเกี่ยวพาดพิงถึงในเรื่องนี้ไม่ ข้าพเจ้าขอชี้แจงเพียงเท่านี้” [1]

อีกคนหนึ่งที่นายไต๋ ปาณิกบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนคร ได้มีการการอภิปรายในครั้งนั้นก็คือพันเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

โดยนายไต๋ ปาณิกบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ได้อภิปรายโดยได้ทราบข่าวว่า พันเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ซื้อที่ดินดังกล่าวเช่นกันประมาณ 5 แปลง

แต่หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้โอนคืนกลับก่อนการอภิปรายในวันนั้นจะเกิดขึ้นประมาณ 2-3 เดือน

โดยการอภิปรายของนายไต๋ ปาณิกบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ความบางตอนที่น่าสนใจระบุว่า

“..ข้าพเจ้าเห็นว่าได้มีระเบียบแน่นอนแล้วว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รัฐบาลนี้มีนโยบายการเมือง โดยมีสำนักพระราชวังเป็นผู้จัดการควบคุม โดยขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีและมีรัฐมนตรีนายหนึ่งควบคุมสั่งการในสำนักนี้

ข้าพเจ้าอยากจะแยกกิจการนี้ออกเด็ดขาดจากรัฐบาลนี้ในส่วนอื่น และแยกกิจการนี้ออกจากอิทธิพลของคณะรัฐมนตรี ข้าพเจ้าเป็นห่วงเหตุว่าเราอยู่ในบทเฉพาะกาล และจะต้องอาศัยคณะนี้ดำเนินการปกครองต่อไปอีก 6-5 ปี

ข้าพเจ้าได้ทราบจากผู้ก่อการบางคนว่า บางคนเขาได้ซื้อไปโดยสุจริต ไม่รู้เรื่องราวอะไรเลย พอซื้อแล้วได้ยินเสียงโจษจันก็รีบเอามาคืนก็มี บางคนที่ซื้อไปแล้วเห็นว่าอาจจะมีมลทินด้วย บางท่านก็เลยเอามาคืน...

...ในการที่จะจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น จะจัดให้คงอยู่และเจริญขึ้น ไม่ใช่ทำให้เสื่อมลงหรือหมดไป...

..พระคลังข้างที่จะต้องโอนทรัพย์ส่วนพระมหากษัตริย์นี้มาให้แก่พระคลังมหาสมบัติดำเนินการต่อไป เพราะถือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือคราน์ ปรอบเปอร์ตี้ เรียกว่าเป็นของแผ่นดิน ก่อนที่จะโอนกิจการนี้มายังพระคลังมหาสมบัติ...

...เพราะฉะนั้นก่อนที่จะโอนมาท่านจะเห็นข้อเท็จจริงเป็นที่สังเกตุได้ว่ามีการรีบขายที่ดินอยู่เป็นอันมาก และข้าพเจ้าได้ทราบว่ามีผู้ดูเหมือนไปเที่ยวได้เร่ขายให้แก่ผู้ที่ได้กล่าวนามมาแล้วให้ไปขอที่ดินนี้ และดูเหมือนได้มีผู้ก่อการบางคนเข้าไปซื้อที่ดินนี้..

...อันหนึ่งที่ท่านได้กระทำภายหลังเมื่อขายกันแล้วก็ซู่ซ่าอยู่ในท้อง ตลาดที่ลือกันแซ่สำหรับรัฐมนตรีว่าการกลาโหม ดูเหมือนห้าแปลง แล้วท่านได้โอนกลับไปเสียเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา และมีท่านรัฐมนตรีบางคนได้ถูกเชิญให้ซื้อ ข้าพเจ้าขอเอ่ยนาม คือหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ แต่ท่านไม่ยอมเกี่ยวข้องด้วย”[1]

ในขณะที่นายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี ได้อภิปรายความบางตอนที่น่าสนใจว่า:
“เป็นการสมควรหรือไม่ ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์มีราคาหลายล้านบาท แล้วมาใช้วิธีปกครองแบบนี้ควรหรือยัง นี่เป็นเรื่องที่เราจะต้องพูดกัน...

...ตั้งเจ้าหน้าที่ชนิดไหน จริงอยู่เมื่อครั้ง“พระยามานวราชเสวี” เมื่อเป็นประธานกรรมการ พระยามานฯตั้งหลักวางไว้เป็นระเบียบเก่าว่าถ้าเกี่ยวกับราคาเกินกว่า 1,000 บาท ต้องผ่านคณะกรรมการ... แต่ในกรณีนี้พิจารณา 3 วันแล้วไปเลหลัง คล้ายเป็นว่าขายที่โดยไม่ผ่านกรรมการ เอาไปขายเดี๋ยวนี้ถ้าไม่ได้ 2 เท่า ข้าพเจ้าให้ตัดหัว แล้วน่าดูไหม ในฐานะที่เราควบคุมงานของแผ่นดิน ควบคุมทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์

นโยบายของพระคลังข้างที่ได้ทำนั้น คือ มีคนคนหนึ่งคือขุนลิขิตฯ เป็นผู้ถือบัญชีอยู่ในมืออยู่แล้วไปเร่ขายให้คนสำคัญๆซื้อไว้แล้วตัวจึงซื้อบ้างคือที่ดิน “บางลำภู” ราคาหลายหมื่นหลายพันบาท เก็บค่าเช่าผ่อนส่ง แล้วในเดือนหนึ่งยังเข้ากระเป๋าร้อยกว่าบาท

นี่หมายความว่ากระไรนี่ นี่หรือเรารักษาทรัพย์พระมหากษัตริย์ แล้วเกียรติยศอันนี้อยู่ที่ไหน ใครรับผิดชอบ งามไหม ใครจะไว้วางใจ สมมติว่าเราเป็นพระกษัตริย์ เราโตขึ้นมาจะรู้สึกอย่างไรบ้าง เมื่อเขาเล่นกันอย่างนี้ใช่ไหม นี่คือนโยบาย นโยบายอย่างนี้ไม่ควรเป็นอันขาด...

...ถ้าพูดตามท่านจะเห็นว่าผู้ที่มีอำนาจนั้นให้พระคลังข้างที่ ซื้อที่ของตนเก้าหมื่นบาทคิดเฉลี่ยตารางวา ๓๕ บาท ขณะเดียวกัน ที่ข้างเคียงตารางวาละ ๑๕ บาท หมายความว่าอย่างไร นี่หรือเป็นวิธีรักษาพระมหากษัตริย์ของพวกเรา ขายที่ดินราคาเก้าหมื่นบาท ราคาตารางวาละ ๓๕ บาท คือโรงเรียนการเรือน เราไว้วางใจได้หรืออย่างนี้...” [1]

นอกจากนั้นนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้อภิปรายในประเด็นที่น่าสนใจ ความบางตอนว่า:

“...และเมื่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นตัวแทนในการมอบอำนาจทั่วไป ไว้ในการจัดการขายอสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่ให้อสังหาริมทรัพย์ไป ข้าพเจ้าเข้าใจว่าไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นการกระทำที่กระทำมาแล้วจึงเป็นโมฆะทั้งนั้น...

...แทนที่รัฐบาลจะประกาศใช้พระราชบัญญัติทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปขึ้นอยู่ในความควบคุมของกระทรวงการคลังโดยรีบด่วนก็หาไม่ กลับได้หน่วงเหนี่ยวเอาไว้จนประกาศเมื่อวันที่ ๒๐ เดือนนี้ ซึ่งเป็นเวลาที่สภาลงมติไปแล้ว ๓ เดือนกับ ๒๐ วัน...

...ก่อนที่กฎหมายนั้นจะประกาศ ก็ได้มีการโอนที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้แก่บุคคลหลายคน การโอนนั้นเป็นการโอนโดยกะทันหัน และเป็นการโอนที่เรียกว่าไม่งาม

เป็นต้นว่าการโอนทรัพย์สิน เราน่าจะได้พิจารณาถึงการังวัดและการอะไรต่างๆ เช่นเราควรจะมีการโฆษณาและอื่นๆ เป็นเวลานานแต่ความจิงการโอนนี้ได้กระทำกันเพียงเวลาวันสองวัน...

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้นมีอยู่ ๓ ท่าน ใน ๓ ท่านนั้น ก็ได้รับประโยชน์บ้าง และท่านไม่ได้รับประโยชน์ดังที่สมาชิกได้กล่าวมา...ซึ่งในขณะเดียวกันนั้นเองพระคลังข้างที่กลับโอนที่ของตนเองอย่างกะเรี่ยกะราดไปให้แก่บุคคลหลายคนดังที่ปรากฏตามที่ได้โอนมาแล้วดังรายนามที่สมาชิกได้อ่าน” [1]

ผลการอภิปรายในวันที่ 27 กรกฎาคม 2480 ได้ส่งผลทำให้พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2480 แต่ต่อมาเนื่องจากอำนาจยังอยู่ในคณะราษฎรเป็นหลักพระยาพหลพลพยุหเสนา จึงกลับเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเหมือนเดิมในวันที่ 9 สิงหาคม 2480

โดยสิ่งที่ควรบันทึกอีกประการหนึ่งคือ ภายหลังจากการที่พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เพียง 3 วันก็ได้ปรากฏว่า ช่วงบ่ายของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรของวันที่ 12 สิงหาคม 2480 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ซึ่งเป็นพวกพ้องของคณะราษฎร 3 คน รวมทั้งคนที่มีชื่อว่าเป็นผู้ซื้อที่ดินของพระคลังข้างที่ด้วยได้กรูกันเข้าไปที่สโมสรรัฐสภา ยกเก้าอี้และตัวของนายเลียง ไชยกาล นำออกจากสโมสรรัฐสภา และนำนายเลียง ไชยกาล และเก้าอื้โยนลงน้ำ หน้าพระที่นั่งอัมพรสถาน จนตัวเปียกและเปื้อนโคลน [2]

อย่างไรก็ตาม ก็มีคำถามหนึ่งที่หลายคนสงสัยในเรื่องที่ว่าเหตุใดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2480พันเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในเวลานั้น ไม่ได้มีการตอบการพาดพิงในสภาผู้แทนราษฎรเลยพันเอก หลวงพิบูลสงครามซึ่งเป็นหนึ่งในคนสำคัญของคณะราษฎร ได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่เพื่อเป็นทรัพย์สมบัติส่วนตัวจริงหรือไม่ และเหตุใดถึงยอมคืนที่ดินพระคลังข้างที่

ซึ่งไม่ว่าความเป็นจริงจะเป็นอย่างไร แต่พันเอกหลวง พิบูลสงคราม ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อพร้อมกับการลาออกในวันที่ 28 กรกฎาคม2480 ความว่า:

“เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ข้าพเจ้ามีความคิดว่า เมื่อออกจากราชการแล้วก็ใคร่จะไปปลูกบ้านพักอาศัยตามควรแก่ฐานะจึงได้ให้ผู้ชอบพอไปหาซื้อที่ ขณะนั้นมีผู้แนะนำให้ซื้อที่ของพระคลังข้างที่บริเวณหน้าวังจิตรลดารโหฐานเพราะกำลังตัดขายอยู่

ข้าพเจ้าเห็นว่าพอสมควรแก่กำลังจะซื้อได้ จึงได้ตกลงซื้อไว้ ๒ ไร่ ราคาไร่ละ ๔,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๘,๐๐๐ บาท ทางพระคลังข้างที่ก็จัดการโอนที่ดินนั้นให้ข้าพเจ้า ประมาณเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐

ครั้นต่อมาเมื่อข้าพเจ้าได้ไปดูที่นั่นก็ปรากฏว่ามีบ้านเรือนราษฎรปลูกอยู่กันแน่นหนา จึงมาคิดว่าแม้ข้าพเจ้าเป็นเจ้าของที่ดินรายนี้ ก็ต้องขับไล่ราษฎรให้รื้อถอนไปเป็นการลำบาก จึงได้ขอคืนที่ทั้งหมดกลับไปพระคลังตามเดิมในเดือนนั้นเอง โดยเหตุนี้จึงได้ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์นี้ว่าข้าพเจ้าไม่เกี่ยวข้องด้วย

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีผู้คิดเอาว่าการที่ข้าพเจ้ากระทำไปอาจเป็นการผิดศีลธรรมอยู่ จึงได้มีผู้ยกเรื่องนี้ขึ้นมากล่าววิจารณ์กันขึ้นนั้น เพื่อเป็นการล้างมลทินของข้าพเจ้าๆ จึงได้ไปเสนอคณะรัฐมนตรี ขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตั้งแต่เช้าวันนี้

ทั้งนี้หวังว่าทหารทั้งหลาย คงให้อภัยแก่ข้าพเจ้าที่บังเอิญมาตกอยู่ในฐานะเช่นนี้ และข้าพเจ้าขอร้องเพื่อนทหารทั้งหลายเป็นครั้งสุดท้าย ให้ช่วยกันรักษาความสงบไว้ให้จงดีสืบไป” [3]

นั่นก็แสดงว่าในขณะที่พันเอก หลวงพิบูลสงครามได้คืนที่ดินพระคลังข้างที่นั้น อยู่บนเหตุผลของเรื่อง“ความยุ่งยากในการขับไล่ราษฎรและการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดิน”และไม่ได้เป็นไปด้วยความรู้สึกว่าเป็นความผิดหรือเป็นการกระทำไม่สมควร

และการ“ลาออก” จากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2480 นั้นก็เป็นการ“ลาออกเพียงชั่วคราว” เพราะในความเป็นจริง แล้วพันเอก หลวงพิบูลสงครามก็กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกเหมือนเดิมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2480 ภายหลังจากการที่พระยาพหลพลพยุหเสนากลับมาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงวันเดียว ด้วยอำนาจทั้งหลายยังอยู่ภายใต้การกำหนดโดยคณะราษฎร

คำถามมีอยู่ว่า บุคคลที่พันเอก หลวงพิบูลสงครามกล่าวถึงที่ว่าได้ให้“ผู้ชอบพอ”ไปหาซื้อที่ ขณะนั้นมี“ผู้แนะนำ”

ให้ซื้อที่ของพระคลังข้างที่บริเวณหน้าวังจิตรลดารโหฐานนั้นเป็นใคร และใครเป็นผู้กำหนดนโยบายในคณะผู้สำเร็จราชการตัดขายที่ดินพระคลังข้างที่เช่นนั้น

และข้อสำคัญขนาดที่ดินหน้าวังยังเอามาตัดแบ่งขายกันได้ จึงย่อมเกิดคำถามว่ามีใครในคณะราษฎรได้ประโยชน์ในการนำสมบัติของสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นประโยชน์และทรัพย์สินส่วนตัวบ้างหรือไม่

ส่วนจะมีคณะราษฎรคนใดจะถึงขั้นเปลี่ยนชื่อรับโอนเป็นคนอื่นเป็นหุ่นเชิดเพื่อปกปิดตัวเองหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าติดตามและต้องค้นหาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ตัวละครอีกคนหนึ่ง ที่น่าจับตาในบรรดาผู้ก่อการของคณะราษฎรซึ่งมีความใกล้ชิดกับพันเอกหลวงพิบูลสงคราม คือ พันตรีขุนนิรันดรชัย (สเหวก นีลัญชัย หรือ เสหวก นิรันดร)เป็นคณะราษฎรสายทหารบก กลุ่มเด็กรุ่นใหม่ ที่คอยช่วยเหลือสายทหารในการก่อการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 จนกระทั่งประสบความสำเร็จ

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า“ตระกูลนิรันดร”ซึ่งเป็นทายาทของ“ขุนนิรันดรชัย”กลายเป็นมหาเศรษฐีที่ดิน 90แปลงใจกลางกรุงเทพมหานคร เช่น สาทร วิทยุ ฯลฯ มูลค่าหลายหมื่นล้านบาทโดยมีส่วนหนึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจาก“ขุนนิรันดรชัย”

ซึ่งประชาชนทั่วไปคงไม่วันจะทราบว่าจะมีหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรจะเป็นอภิมหาเศรษฐีที่ดินในกรุงเทพมหานคร ถ้าไม่เกิดกรณีพิพาทเพราะลูกหลานทายาท กำลังมีการฟ้องร้องมรดกของขุนนิรันดรชัยกันอยู่จนปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้

“ที่ดินดังกล่าวยังรวมถึงที่ดินตรงข้ามด้านหน้าวังสวนจิตรลดาโดยระบุว่าเดิมรัชกาลที่ 8พระราชทานพื้นที่ให้ประมาณ 1ไร่ต่อมามีการซื้อเพิ่มเติมรวม 6-7แปลงประมาณ 10ไร่เศษโดยซื้อมาตารางวาละ 4บาท (ขณะนั้น)ส่วนบริเวณหน้าวังซื้อมาในตารางวาละ 250บาท (ขณะนั้น)อดีตเป็นสวนผักแต่ปัจจุบันราคาซื้อขายที่ดิน (ช่วงปี 2551)ตกอยู่ที่ 2.5แสนบาท/ตารางวาเพราะสามารถก่อสร้างตึกสูงได้เพียง 4ชั้นเท่านั้น”[4] [5]

ทั้งนี้ข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินของ“ขุนนิรันดรชัย”ที่กล่าวมาข้างต้นถูกระบุเอาไว้ในเว็บไซต์ของสำนักข่าวอิศราเมื่อวันที่ 12พฤศจิกายน 2561ซึ่งได้จัดทำรายงานความสัมพันธ์ของขุนนิรันดรชัยในคณะราษฎรและเป็นผู้ประสานระหว่างรัฐบาลและคณะผู้สำเร็จราชการความตอนหนึ่งว่า

“ขุนนิรันดรชัยอยู่ทำงานในสายรับใช้‘ผู้ใหญ่’มาโดยตลอดจนจอมพล ป.ไว้ใจเป็นอย่างมากกระทั่งถูกแต่งตั้งเป็นคนประสานระหว่างรัฐบาล (ช่วงจอมพลป.เป็นนายกรัฐมนตรี)กับคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (สมัยรัชกาลที่ 8ทรงครองราชย์)โดยมีนายปรีดี พนมยงค์เป็นแกนนำในกลุ่มคณะทำงานชุดนี้และมีขุนนิรันดรชัยเป็นเลขานุการคณะทำงานผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันททมหิดล รัชกาลที่ 8

โดยภายหลังมีการตั้งคณะทำงานผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไม่นานนัก คณะราษฎรบางสาย ได้ชวนกันจับจองกว้านซื้อที่ดินใจกลางเมือง ทำเลเลิศหรู ไม่ว่าจะเป็นที่ดินแถวถนนสาทร ถนนวิทยุ เป็นต้น...

ขุนนิรันดรชัย ฝากตัวรับใช้จอมพล ป. พิบูลสงครามอยู่หลายปี รวมถึงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทั่งสงครามสิ้นสุดลง ฝ่ายจอมพล ป. พิบูลสงคราม ระเห็จระเหินหนีขอลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ บทบาทของขุนนิรันดรชัยจึงหมดลงไปด้วยเช่นกัน”[3],[5]

บทเรียนข้างต้น มีสิ่งที่ต้องตั้งถามหาความจริงกันต่อไปว่า ยังมีใครในคณะราษฎรได้ที่ดินพระคลังข้างที่หรือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปบ้างหรือไม่ และจำนวนเท่าไหร่ และสามารถที่จะนำกลับคืนมาได้หรือไม่อย่างไร

นอกจากนั้น บทเรียนข้างต้น อาจจะทำให้ช่วยเตือนสติเป็นกรณีตัวอย่างคำอธิบายอีกมุมหนึ่งว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 มาตรา 17 ที่ได้ลงประชามติไปแล้วว่าในกรณีที่ต้องมีผู้สำเร็จราชการต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภานั้น แต่ต่อมาภายหลังต้องมีการแก้ไขว่าการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการหรือคณะผู้สำเร็จราชการไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภานั้น มีประโยชน์และโทษอย่างไร จากกรณีศึกษาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

แต่สิ่งที่ผู้อ่านจะเห็นด้วยหรือไม่ว่า ภารกิจอันสำคัญของคณะราษฎร น่าจะยังไม่เสร็จสิ้น และมีสิ่งที่ประชาชนจะต้องดำเนินการต่อไป ก็คือ...

“การปฏิรูปนักการเมือง” ที่ทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวงตลอดมา ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือการรัฐประหารก็ตาม
ข้อมูลข้างต้นเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์มีหลายมุม การศึกษารอบด้านในทัศนะที่แตกกันควรจะได้รับการแลกเปลี่ยนกันตั้งแต่สถาบันการศึกษาในห้องเรียนหรือไม่อย่างปลอดภัย แทนที่จะปล่อยให้มีการถูกนำเสนอและคุยกันเองผ่านโซเชียลมีเดียที่มีแต่ข้อมูลด้านเดียวจากคนกลุ่มเดิมๆ

ด้วยความปรารถนาดี

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง :
[1] บันทึกการอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 9 ของสภาผู้แทนราษฎร ญัตติด่วน เรื่อง ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในนโยบายของรัฐบาลว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์, 27 กรกฎาคม 2480
https://library2.parliament.go.th/giventake/content_debate/db2-09.pdf

[2] นรนิติ เศรษฐบุตร, เลียง ไชยกาล, เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า
http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=เลียง_ไชยกาล

[3] เว็บบอร์ดวิชาการ, หลวงอดุล-หลวงพิบูล คู่รัก, พล.ต.อ.อดุล-จอมพล ป. คู่แค้น
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3419.75

[4] หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ, เปิดกรุที่ดิน หมื่น ล.ตระกูล นิรันดร + ประกาศหาผู้ร่วมทุน ยันไม่ขาย/เตรียมเจรจากลุ่มอีวาแอร์ พัฒนาที, 2 กุมภาพันธ์ 2551
https://www.thaiproperty.in.th/board/คลังกระทู้/เปิดกรุที่ดิน-หมื่นล-ตระกูล-นิรันดร-ประกาศหาผู้ร่วมทุน-ยันไม่ขายเตรียมเจรจากลุ่มอีวาแอร์-พัฒนาที-23492

[5] Isranews, พลิกปูม‘ขุนนิรันดรชัย’คนสนิทจอมพล ป. เจ้าของที่ดินหมื่นล.ก่อนลูกหลานฟ้องแย่งมรดก, 12 พฤศจิกายน 2561
https://www.isranews.org/isranews-scoop/71075-isranews11-71075.html

30 ต.ค. 2563  ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ!? (ตอนที่ 2)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 09 มกราคม 2021, 12:30:28 »
ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ!? (ตอนที่ 2) กระทู้ประวัติศาสตร์ “ที่ดินของพระมหากษัตริย์” เพื่อประโยชน์ของใคร? / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

จากความตอนที่แล้วเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 ในบทความที่ชื่อว่า “ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? คณะราษฎรคนไหน เคยเอาที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นของส่วนตัวบ้าง” [1]

ซึ่งต้องทบทวนกันอีกครั้งหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงแบ่งแยกทรัพย์สินระหว่างทรัพย์สินของแผ่นดิน กับ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกจากกันเป็นที่เรียบร้อย ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองนานแล้ว

ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รัฐบาลภายใต้การนำของคณะราษฎรย่อมตระหนักรู้อยู่แล้ว จึงได้ตรากฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แยกออกมาต่างหากจากทรัพย์สินของรัฐทั่วไปโดยไม่ได้มีการควบรวมทรัพย์สินให้กลายเป็นของรัฐทั้งหมด เพียงแต่ในช่วงแรกในปี พ.ศ. 2479 มีความพยามในการตรากฎหมายเพื่อ แบ่งทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ส่วนสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน (เช่นพระราชวัง ให้สำนักพระราชวังดูแล) ทรัพย์สินส่วนพระองค์ และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้บริหารแยกออกจากกัน

จึงย่อมเป็นที่ยุติผ่านการยอมรับในการแบ่งแยกไปโดยปริยายว่าทรัพย์สินและที่ดินแปลงใดเป็นของแผ่นดินหรือรัฐ (เช่น ที่ดินราชพัสดุ ดูแลโดยกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง) ซึ่งได้มีการตรวจสอบอยู่แล้วทั้งงบประมาณและการบริหารทรัพย์สินโดยรัฐบาล กรรมาธิการงบประมาณ และรัฐสภา และทรัพย์สินใดเป็นของพระมหากษัตริย์ที่มีมาอยู่แต่เดิม

อย่างไรก็ตามในช่วงปี พ.ศ. 2480 ได้เกิดเงื่อนไขสำคัญดังนี้

ประการแรก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม ในขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มาจากการคัดเลือกของคณะราษฎรกันเองทั้งหมด จนเป็นสาเหตุที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงสละราชย์สมบัติ เพราะทรงเห็นว่าเป็นการนำพระราชอำนาจไปตกอยู่กับคณะบุคคลเพียงกลุ่มเดียว

ประการที่สอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ขึ้นครองราชย์แทน แต่ทรงเป็นยุวกษัตริย์ มีพระชนมายุเพียง 11 พรรษา และทรงศึกษาและประทับอยู่ต่างประเทศ จึงต้องมีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กระทำการแทนพระมหากษัตริย์ทั้งหมด

ประการที่สาม คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มาจากความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคณะราษฎรครองอิทธิพลเสียงข้างมาก และรัฐบาลอยู่ภายใต้พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นทั้งรัฐบาล สภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมาก และคณะผู้สำเร็จราชการ จึงย่อมมีที่มาจากเครือข่ายซึ่งเป็นที่ไว้วางใจของคณะราษฎรด้วยกันเองแล้ว

ประการที่สี่ มีการตราพระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 และตราไว้โดยคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เมื่อ วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2480 โดยมีคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน และกรรมการอีกไม่น้อยกว่า 4 คน แต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ (ซึ่งในเวลานั้นก็จะถูกแต่งตั้งโดยคณะผู้สำเร็จราชการซึ่งมาจากความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร)

จากเงื่อนไขทั้ง 4 ประการข้างต้น ได้เป็นผลทำให้ “เกิดเรื่อง” การกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือ ผลประโยชน์ทับซ้อน ในปี พ.ศ. 2480 สรุปได้ดังนี้

ประเด็นแรก มีการอภิปรายทั่วไปเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 เรื่อง สำนักพระราชวัง หรือ กรมพระคลังข้างที่โดยคณะผู้สำเร็จราชการ ได้ซื้อที่ดินจากพระวร วงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 โรงเรียนการเรือน (มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต) ในราคา 35 บาทต่อตารางวาง ในขณะที่ราคาที่ดินข้างเคียงราคาเพียง 15 บาทต่อตารางวา

ประเด็นที่สอง มีการตั้งกระทู้ถามและอภิปรายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ข้าราชการในกรมราชเลขานุการ สำนักพระราชวัง, คณะกรรมการกำหนดราคาที่ดิน สำนักพระราชวัง, ผู้ใกล้ชิดผู้สำเร็จราชการ และข้าราชการอื่นๆในสำนักพระราชวัง กลับซื้อที่ดินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นของตัวเองในราคาถูกๆ หรือเก็บค่าเช่ามาแล้วจ่ายผ่อนซื้อที่ดินในราคาถูกๆ บางรายยังเร่ขายที่ดินให้กับบุคคลสำคัญในรัฐบาลอีกด้วย

สำหรับในกลุ่มนี้ ไม่ใช่เฉพาะชื้อโฉนดที่ดินที่กรมพระคลังข้างที่เป็นเจ้าของเท่านั้น แต่ยังได้ซื้อโฉนดที่ดินซึ่งเป็นพระนามของพระมหากษัตริย์ด้วย เช่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ด้วย

ประเด็นที่สาม มีการตั้งกระทู้ถามและอภิปรายถึงเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ถึงรัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาล ผู้ก่อการคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หลายคน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 (ซึ่งมาจากคณะราษฎร) รวมถึงข้าราชการในเครือข่าย เร่งซื้อที่ดินจากพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ ไม่เว้นแม้แต่ที่ดินหน้าพระราวังจิตรลดารโหฐานด้วย

ประเด็นที่สี่ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีระบุว่า เป็นสิทธิของคณะผู้สำเร็จราชการที่จะให้ใครเปล่าๆ หรือขายให้ใคร ราคาใดก็ได้ เพราะคณะผู้สำเร็จราชการได้รับการแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรถูกต้องตามกฎหมายแล้ว และระบุว่ามีผู้ที่ซื้อที่ดินส่วนพระมหากษัตริย์มากกว่านี้ และเป็นช่วงเวลาก่อนหน้าวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ก่อนช่วงเวลาที่มีการกล่าวถึงในการตั้งกระทู้ถามด้วย

ประการที่ห้า แม้มีผู้ซื้อที่ดินไปขายคืนกลับสำนักพระคลังข้างที่ รวมถึงผู้ขายที่ดินซื้อคืนกลับจากสำนักพระคลังข้างที่ ด้วยเหตุผลต่างๆกันไป แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าผู้ซื้อที่ดินขายคืนกลับกี่ราย ไม่ขายคืนกลับกี่ราย หรือกลับไปซื้อที่ดินภายหลังอีกกี่ราย ซึ่งจะต้องทำการศึกษาและตรวจสอบความถูกต้องต่อไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีบางตระกูลดังเช่น “นิรันดร” ได้ปรากฏเป็นข่าวว่ามีทรัพย์สินเป็นที่ดินใจกลางกรุงเทพมหานครมากถึง 90 แปลง มูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท โดยระบุว่ามีที่ดินส่วนหนึ่งเป็นมรดกจาก “ขุนนิรันดรชัย” คณะราษฎรสายทหารบก ผู้ใกล้ชิด จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ซึ่งเคยเป็นราชเลขานุการในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ซึ่งระบุว่าได้ซื้อที่ดินตรงข้ามหน้าวังสวนจิตรลดารโหฐานในสมัยรัชกาลที่ 8 ด้วย [2],[3]

เพื่อประโยชน์ในการถอดบทเรียนประวัติศาสตร์ จึงขอนำการตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2480 ดังนี้



“ข้อ ๑ กรมพระคลังข้างที่เดิมขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี แต่โอนไปขึ้นกระทรวงการคลัง เริ่มโอนจริงๆเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. นี้ ก่อนใกล้ๆ จะโอนไปขึ้นกระทรวงการคลังนี้ได้มีการโอนขายอสังหาริมทรัพย์ของกรมพระคลังข้างที่มากที่สุด
ในระยะเวลานี้คือตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ถึงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม รวมกว่า ๒๕ ราย วันทำสัญญา ผู้ซื้อ ราคา รายนาม คือตามบัญชีในสำเนานั้นอย่างนี้

วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังข้างที่) เป็นเจ้าของ พระยาฤทธิ์อัคเนย์ เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๓๒๔๓ อำเภอบางรัก ราคา ๘,๐๐๐ บาท

(พันเอกพระยาฤทธิ์อัคเนย์ หรือ สละ เอมะศิริ เป็นหนึ่งในสี่ หัวหน้าคณะราษฎร ในการเปลี่ยนแปลงการการปกครอง 2475 ขณะถูกตั้งกระทู้ถามและถูกอภิปรายพาดพิง ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ : ผู้เขียน)

วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังข้างที่) เป็นเจ้าของ พระยาฤทธิ์อัคเนย์เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๓๑๓๐ อำเภอบางรัก ราคา ๗๐๐ บาท

วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังข้างที่) เป็นเจ้าของ พระยาฤทธิ์อัคเนย์เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๒๖๑๐ อำเภอบางรัก ราคา ๑,๓๐๐ บาท

วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๔๘๐ พระปกเกล้าฯเป็นเจ้าของ นายนเรศธิรักษ์เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๔๑๐๔ อำเภอบางซื่อ ราคา ๔,๐๐๐ บาท

(นายนเรศร์ธิรักษ์ หรือ นายแสวง ชาตรูปะวณิช ขณะถูกพาดพิงตั้งกระทู้ถาม เป็นปลัดกรม แผนกสารบรรณ สำนักพระราชวัง : ผู้เขียน)

วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ นายวิลาศ โอสถานนท์เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๓๘๔๕ อำเภอบางรัก ราคา ๖,๐๐๐ บาท

(นายวิลาศ โอสถานนท์เป็นผู้ก่อการของคณะราษฎร 2475 สายพลเรือน ขณะถูกพาดพิงตั้งกระทู้ถาม ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 : ผู้เขียน)

วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๘๐ พระมงกุฎเกล้าฯเป็นเจ้าของพระพิจิตรราชสาสน์ เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๔๒๔๓ อำเภอบางซื่อ ราคา ๕,๙๔๕ บาท

(พระพิจิตรราชสาสน์ หรือ สอน วินิจฉัยกุล ขณะถูกพาดพิงตั้งกระทู้ถาม เป็นข้าราชการในกรมเลขานุการในพระองค์ :ผู้เขียน

ต่อมาลูกหลานได้มีหนังสือชี้แจงว่า ไม่ได้เป็นการซื้อที่ดิน แต่เป็นการเช่าเดือนละ ๔ บาท และอยู่ระหว่างหาหลักฐานเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงนี้ต่อไป))

วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ หลวงนิเทศกลกิจ เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๕๘๖ อำเภอพระนคร ราคา ๗,๐๐๐ บาท

(หลวงนิเทศกลกิจ หรือ กลาง โรจนเสนา เป็นผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายทหารเรือ ขณะถูกตั้งกระทู้ถามพาดพิง ดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 : ผู้เขียน)

วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ นายเอก ศุภโปดก เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๑๓๓๖ อำเภอบางกอกใหญ่ ราคา ๒,๔๘๘ บาท

(นายเอก ศุภโปดก เป็นผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายพลเรือน :ผู้เขียน)

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ หลวงชำนาญนิติเกษตร์ เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๓๘๔๙ อำเภอบางรัก ราคา ๙,๒๓๑ บาท

(หลวงชำนาญนิติเกษตร์หรือ นายอุทัย แสงมณี เป็นผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายพลเรือน ขณะถูกตั้งกระทู้ถามพาดพิง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 และเป็น หัวหน้าสำนักโฆษณาการ : ผู้เขียน)

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ นายแสวง มหากายี เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๕๒๒ อำเภอบางรัก ราคา ๔,๐๗๐ บาท

(นายแสวง มหากายี เป็นบุตรชายคนโตของ มหาอำมาตย์ตรีพระยานครพระราม (สวัสดิ์) เลขานุการประจำพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 : ผู้เขียน)

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ นายสอน บุญจูง สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๒๓๘๓, ๒๓๙๕, ๒๔๐๐ อยู่ที่สำเพ็ง ราคา ๕,๕๘๔ บาท

(นายสอน บุญจูง เป็นผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายพลเรือน ขณะถูกอภิปราย ทำงานอยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี :ผู้เขียน)

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ นายนรราชจำนง(สิงห์ไรวา) เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๒๑๑๐ อำเภอบางรัก ราคา ๖,๖๑๔ บาท

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ หลวงอรรถสารประสิทธิ์ เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๓๔๗๓ อำเภอบางรัก ราคา ๑๐,๗๒๔ บาท

(หลวงอรรถสารประสิทธิ์หรือ ทองเย็น หลีละเมียร เป็นผู้ก่อการของคณะราษฎร 2475 สายพลเรือน ขณะถูกพาดพิงตั้งกระทู้ถาม ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี : ผู้เขียน)

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ พระมงกุฎเกล้าฯ เป็นเจ้าของนายประจวบ บุรานนท์สำนักพระราชวัง เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๖๙๔๓ อำเภอบางซื่อ ราคา ๑๑,๗๙๐ บาท

(นายประจวบ บุรานนท์ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการกำหนดราคาที่ดิน พระคลังข้างที่ สำนักพระราชวัง : ผู้เขียน )

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ นายจำนงค์ราชกิจ(อยู่กับพระองค์เจ้าอาทิตย์) เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๔๓๓ อำเภอพระนคร ราคา ๖,๑๓๔ บาท

(นายจำนงราชกิจหรือ นายจรัญ บุณยรัตพันธุ์ เป็นข้าราชการในกรมราชเลขานุการในพระองค์ อยู่กับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 : ผู้เขียน )

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ ร.อ.กระวี สวัสดิบุตร เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๓๘๐, ๔๘๙, ๕๓๐ อำเภอดุสิต ราคา ๕,๔๘๐ บาท

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ ร.อ.กุหลาบ กาญจนสกุล ร.น. เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๕๖๐, ๒๕๖๙ อยู่ที่สำเพ็ง ราคา ๖,๗๓๔ บาท

(ร.อ.กุหลาบ กาญจนสกุล ร.น. หรือ กำลาภ กาญจนสกุลเป็นผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายทหารเรือ: ผู้เขียน)

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ หลวงยุทธศาสตร์โกศล เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๖๑๒๘ อำเภอบางซื่อ ราคา ๑๐,๓๐๓ บาท

(หลวงยุทธศาสตร์โกศลหรือ ประยูร ศาสตระรุจิ ทหารเรือ ต่อมาในปี 2490 ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ : ผู้เขียน)

วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ พระดุลย์ธารณปรีชาไวท์ ทำหน้าที่ผู้สั่งราชการสำนักพระราชวัง เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๒๔๘๘๖ สำเพ็ง ราคา ๑๔,๐๐๐ บาท

(พระดุลย์ธารณปรีชาไวท์ หรือยม สุทนุศาสน์ ขณะถูกพาดพิงจากการตั้งกระทู้ถาม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ทำหน้าที่ผู้สั่งราชการสำนักพระราชวัง : ผู้เขียน)

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายราย แต่หาหลักฐานยังไม่ได้ ถามข้อ ๑ นี้ มีความจริงเพียงไร” [4]

การตั้งกระทู้ถามข้างต้น ยิ่งทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ก่อนที่จะมีใครคิดปฏิรูปนำทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปฝากเอาไว้กับนักการเมือง หนึ่งภารกิจที่คณะราษฎรทำแล้วเสร็จหรือยัง คือ ประเทศไทยได้มีการปฏิรูปนักการเมืองให้มีความซื่อสัตย์ สุจริตเพียงพอหรือยัง และกลไกการตรวจสอบทั้งรัฐสภาและองค์กรอิสระตรวจสอบ ขัดขวาง และปราบปรามการทุจริตได้จริงหรือไม่ และมีประสิทธิภาพเพียงใด

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง
[1] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์,ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? คณะราษฎรคนไหน เคยเอาที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นของส่วนตัวบ้าง? แฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, MGRonline, 6 พฤศจิกายน 2563
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3566001633459780/
https://mgronline.com/daily/detail/9630000112634

[2] หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ, เปิดกรุที่ดิน หมื่นล. ตระกูล นิรันดร + ประกาศหาผู้ร่วมทุน ยันไม่ขาย/เตรียมเจรจากลุ่มอีวาแอร์ พัฒนาที, 2 กุมภาพันธ์ 2551
https://www.thaiproperty.in.th/board/คลังกระทู้/เปิดกรุที่ดิน-หมื่นล-ตระกูล-นิรันดร-ประกาศหาผู้ร่วมทุน-ยันไม่ขายเตรียมเจรจากลุ่มอีวาแอร์-พัฒนาที-23492
[3] Isranews, พลิกปูม‘ขุนนิรันดรชัย’คนสนิทจอมพล ป. เจ้าของที่ดินหมื่นล.ก่อนลูกหลานฟ้องแย่งมรดก, 12 พฤศจิกายน 2561
https://www.isranews.org/isranews-scoop/71075-isranews11-71075.html

[4] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 กระทู้ถามเรื่อง ที่ดินของพระมหากษัตริย์ ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถามนายกรัฐมนตรี วันที่ 27 กรกฎาคม 2480

13 พ.ย. 2563 ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 3)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 09 มกราคม 2021, 12:31:59 »
ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 3) ลีลาเจ้าคุณพหลฯ ตอบกระทู้กรณีทีมคณะราษฎร แห่ซื้อที่ดินของพระมหากษัตริย์ราคาถูกๆ / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

จากกรณีที่นายเลียง ไชยกาล ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตั้งกระทู้ถาม พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ต่อกรณีที่มีบุคคลในรัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี ข้าราชในสำนักราชเลขาธิการ ข้าราชการในรัฐบาล ข้าราชการภายใต้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร) คณะกรรมการกำหนดราคาพระคลังข้างที่ ได้แห่เข้าซื้อที่ดินจากการตัดแบ่งข่ายที่ดินพระคลังข้างที่ สำนักพระราชวัง แล้วผ่อนในราคาถูกจริงหรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ยังทรงเป็นยุวกษัตริย์ ทรงศึกษาและประทับอยู่ต่างประเทศ ในขณะที่คณะผู้สำเร็จราชการพระองค์ก็มาจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรที่มีเสียงของสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มาจากการคัดเลือกจากคณะราษฎรกันเอง ปรากฏตามบทความตอนที่แล้วที่ชื่อว่า ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ (ตอนที่ 2) กระทู้ประวัติศาสตร์ “ที่ดินของพระมหากษัตริย์” เพื่อประโยชน์ของใคร? [1]

เหตุการณ์ดังกล่าว มีความจำเป็นที่จะต้องนำเสนอความจริงในประวัติศาสตร์ให้ปรากฏ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโลภ โกรธ หลง ของมนุษย์ที่อยู่ในกลุ่มการเมืองของคณะราษฎร ซึ่งเป็นกลุ่มนักการเมืองที่เข้าสู่อำนาจแล้วเข้ามาบริหารหรือเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ให้กลายมาเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่เป็นลักษณะ “การขัดกันแห่งผลประโยชน์” ของนักการเมือง นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อเวลาที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองโดยปราศจากพระมหากษัตริย์ซึ่งประทับอยู่ต่างประเทศ

โดยการถามและการตอบกระทู้ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 นั้น ได้รับอนุญาตจากประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ มี 3 กระทู้ โดยกระทู้แรก นายเลียง ไชยกาล ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตั้งกระทู้คำถามเอาไว้ 8 ข้อก่อน เมื่อตั้งคำถามครบทั้ง 8 ข้อแล้ว หลังจากนั้น พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นตอบคำถามทั้ง 8 ข้อรวดเดียวเช่นกัน และเพื่อความสะดวกในการพิจารณาในการเปรียบคำถามและคำตอบกระทู้ดังกล่าวนี้ จึงขอนำกระทู้และคำถามและคำตอบมาอยู่รวมกันทีละข้อดังนี้



ข้อ 1 สำหรับประเด็นที่นายเลียง ไชยกาล ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตั้งกระทู้ถามบุคคล แปลงที่ดิน ราคาที่ซื้อจากทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ ระหว่างวันที่ 1 ถึง 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 ว่าเป็นความจริงหรือไม่

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีได้ตอบคำถามนี้ว่า :

“ข้าพเจ้าขอตอบในข้อ 1 ว่า โอนในระยะนี้ก็มี โอนมาก่อนๆ ก็มี” [2]

(คำตอบนี้แสดงให้เห็นว่ามีรายชื่อและการโอนที่ดินมาก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2479 เสียอีก ซึ่งไม่รู้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ และเป็นใครบ้าง : ผู้เขียน)

ข้อ 2 นายเลียง ไชยกาล ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีถามต่อว่า “ราคาที่ขายให้นั้น โดยมากขายผ่อนชำระเป็นรายเดือนใช่หรือไม่” [2]

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามข้อ 2 นี้ว่า :

“ข้อ 2 ขอตอบว่า ขายผ่อนชำระตามสมควรเป็นรายๆไป” [2]

(คำตอบนี้แสดงให้เห็นว่ามีผู้ที่ซื้อที่ดินซึ่งมีแต่พวกพ้องของรัฐบาลนั้น เป็นการผ่อนซื้อ ไม่ใช่การจ่ายเงินสดเพื่อซื้ออันเป็นการเอื้อผลประโยชน์ในเรื่องกระแสเงินสด ซึ่งเป็นความจริงตามมีการตั้งกระทู้ถาม : ผู้เขียน)

ข้อ 3 นายเลียง ไชยกาล ตั้งกระทู้ถามกึ่งอภิปรายว่า:

“ราคาที่ขายนั้น ถูกมากใช่หรือไม่ ถ้าท่านตอบไม่ใช่ ท่านคงตอบว่าคิดราคาพอดี ข้าพเจ้าขอถามว่า เหตุไรจึงไม่ประกาศขายให้มหาชนรู้ เพื่อที่จะซื้อ เพราะเรื่องนี้ปรากฏว่าขายให้พวกกันเองแทบทั้งนั้น ทำไมจึงไม่ขายให้คนอื่นๆ ที่เขาจะซื้อได้ดียิ่งกว่านี้

ถ้าท่านตอบว่า เพราะไม่ทราบว่าจะมีผู้ซื้อ ข้าพเจ้าก็ขอถามต่อไปว่าท่านคิดหรือไม่ว่า เจ้าพนักงานก็อยู่ในกรุงเทพฯ หลายๆปี และทำการรักษาประโยชน์โดยเฉพาะ น่าจะมีความรู้ดีกว่าเด็กๆเช่นข้าพเจ้า ข้าพเจ้ายังประมาณราคาได้ว่าที่ขายกันนั้น ถูกอย่างน่าสงสัยนัก

และเรื่องนี้ท่านจะทำดังต่อไปนี้ได้หรือไม่ คือประกาศมหาชน ซื้อที่รายนี้โดยเงินสด ถ้าได้มากกว่านี้แล้วให้ไล่เจ้าหน้าที่ออกจากราชการและฟ้องลงโทษ ถ้าไม่ได้ราคาที่ดีกว่าที่ขายอยู่นั้น ข้าพเจ้าขอลาออกจากผู้แทนราษฎรโดยไม่สมัครอีกตลอดชีวิต เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกัน” [2]

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามข้อ 3 นี้ว่า :

“ข้อ 3 ขอตอบว่าจะนับว่าถูกก็ได้ และบางรายจะว่าไม่ถูกก็ได้ ที่ไม่ได้ประกาศขาย เพราะไม่ตั้งใจจะขาย ที่ขายไป ก็โดยทรงพระกรุณาเป็น รายๆไป เจ้าหน้าที่พระคลังข้างที่จะบอกขายอย่างนั้นไม่ได้” [2]

คำตอบดังกล่าวนี้เป็นการยอมรับว่ามีการซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ อันเป็นทรัพย์สินส่วนของพระมหากษัตริย์ในราคาถูกมีอยู่จริง แต่อ้างเรื่อง “ทรงพระกรุณา” โดยแท้ที่จริงมาจาก ความกรุณาของคณะผู้สำเร็จราชการที่ถูกแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งภายใต้อิทธิพลของผู้ก่อการของคณะราษฎรที่เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เองทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม นายเลียง ไชยกาล ยังไม่รู้สึกเพียงพอต่อคำตอบดังกล่าวของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีและเป็นผลทำให้ตั้งคำถามต่ออีกเป็นกระทู้ที่ 2 ต่อมา หลังจากได้รับคำตอบอื่นจนครบ 8 คำถามแล้ว ซึ่งจะกล่าวถึงกระทู้ที่ 2 ในลำดับต่อไป

ข้อ 4 นายเลียง ไชยกาล ตั้งกระทู้ถามว่า: “ค่าธรรมเนียมในการซื้อขายธรรมดาผู้ซื้อออก แต่การซื้อขายคราวนี้ พระคลังข้างที่ออกเองใช่หรือไม่” [2]

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามข้อ 4 นี้สั้นๆ ว่า :

“ข้อ 4 ขอตอบว่าไม่ทราบ” [2]

ข้อ 5 นายเลียง ไชยกาล ตั้งกระทู้ถามว่า “การสำรวจเพื่อแบ่งแยกที่ดิน ตามธรรมดาใช้เวลาเพียง 2 เดือน แต่การซื้อขายแบ่งแยกที่ดินรายนี้ ในคราว 2 วันเสร็จ เหตุไรจึงเป็นเช่นนี้”

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามข้อ 5 นี้สั้นๆ ว่า :

“ข้อ 5 ขอตอบว่า ไม่ทราบข้อเท็จจริง แล้วแต่เจ้าพนักงานที่ดินจะแบ่งแยกที่ดิน”

ข้อ 6 นายเลียง ไชยกาล ตั้งกระทู้ถามว่า “เหตุผลของการขายที่ดินคราวนี้มีอย่างไรขอให้อธิบาย และข้าพเจ้าขอทราบว่า เหตุไรจึงเผอิญมีแต่คนในวันปารุสฯบ้าง พระคลังข้างที่บ้าง เกษตร์ฯบ้าง รัฐมนตรีบ้าง และเหตุไรรัฐมนตรีอื่นๆ จึงไม่ได้ซื้อเผอิญไปถูกรัฐมนตรีผุ้ไปรักษาการในพระคลังข้างที่ นอกนี้ก็เป็นเลขานุการนายกรัฐมนตรี และราชเลขาธิการในพระองค์ เป็นผู้ซื้อขอให้อธิบายให้ข้าพเจ้าหายข้องใจ”

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามข้อ 6 นี้ว่า :

“ข้อ 6 ขอตอบว่า ข้าพเจ้าได้ตอบแล้วว่าการขายนั้น ขายแก่ผู้ที่ขอพระมหากรุณาเป็นรายๆไป และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้พิจารณาเห็นสมควรได้รับพระมหากรุณาแล้ว” [2]

(ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าคำตอบดังกล่าวข้างต้นนั้น ไม่ได้ตอบให้ตรงคำถามถึงเหตุผลที่แท้จริงของการขายที่ดิน และเหตุใดจึงมีเฉพาะกลุ่มในเครือข่ายพวกเดียวกันเองในการซื้อที่ดินในราคาถูกๆ อ้างเหตุผลปัดไปแต่เพียงว่าเป็นเรื่องพระมหากรุณาฯ: ผู้เขียน)

ข้อ 7 นายเลียง ไชยกาล ตั้งกระทู้ถามว่า “ตามเรื่องที่ปรากฏนี้ ท่านไม่สงสัยอะไรบ้างหรือ และเวลานี้เสียงโจษจรรย์ว่าในกรมพระคลังข้างที่เกิดทุจริตกันมาก ท่านจะตั้งกรรมการคนภายนอกจริงๆ ไม่เกี่ยวแก่ส่วนได้เสียชำระสะสางถึงเรื่องทุจริตเกี่ยวแก่ที่ดินได้หรือไม่” [2]

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามข้อ 7 นี้ว่า :

“ข้อ 7 ขอตอบว่า ข้าพเจ้าไม่สงสัยว่าเรื่องนี้จะได้มีการทุจริตในสำนักงานพระคลังข้างที่ เพราะปรากฏว่าได้กระทำไปโดยเปิดเผยแล้ว” [2]

ข้อ 8 นายเลียง ไชยกาล ตั้งกระทู้ถามว่า

“ท่านทราบหรือไม่ว่า ที่ดินแทบทุกแห่งที่ขายคราวนี้ มีลักษณะที่น่าสนใจอยู่ข้อหนึ่งคือ รายได้จากที่ดินไล่เรี่ยกันกับเงินค่าซื้อผ่อนส่ง หมายความว่าผู้ซื้อไม่ต้องลงทุนก็ได้ เช่น ที่ดินรายที่ขายให้พระดุลย์ธารณ์ปรีชาไวท์ ได้ค่าเช่าเดือนละ 150 บาท ผ่อนส่งเดือนละ 100 บาทเป็นต้น ถ้าท่านไม่ทราบ ขอเรียนข้อเท็จจริงให้ทราบดั่งกล่าวมานี้ และขอถามว่าท่านจะลงโทษผู้ทุจริตยิ่งกว่าไล่ออกเฉยๆ ได้ไหม เพราะไล่ออกเฉยๆ เขาไม่ทุกข์ร้อน เพราะเขาได้ทรัพย์คุ้มพอ” [2]

(พระดุลย์ธารณปรีชาไวท์ หรือ ยม สุทนุศาสน์ ขณะถูกพาดพิงจากการตั้งกระทู้ถาม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ทำหน้าที่ผู้สั่งราชการสำนักพระราชวัง : ผู้เขียน)

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามข้อ 8 นี้ว่า :

“ข้อ 8 ขอตอบว่า ข้อเท็จจริงนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ ที่ดินรายที่อ้างมานั้น ไม่เป็นความจริง” [2]

หลังจากได้รับคำตอบจากกระทู้ถามแรก ทั้ง 8 ข้อแล้ว นายเลียง ไชยกาล ได้ตั้งกระทู้ถามชุดที่ 2 ต่อเนื่องทันที ความว่า

“...รัฐบาลตอบอย่างนี้คลุมไป และตอบเลอะ เมื่อตอบเลอะไปแล้วก็ไม่เกิดผลในการถาม ข้าพเจ้าขอซักว่าอย่างนี้ การทีท่านตอบว่าการขายนี้เป็นการขายในราคาธรรมดาจะว่าถูกก็ได้แพงก็ได้ แต่เป็นการขายให้ผู้ขอพระมหากรุณาเป็นรายๆไป

การที่ท่านตอบเช่นนี้ ข้าพเจ้าขอทราบว่า ท่านทราบหรือไม่ว่าขณะนี้พระมหากษัตริย์ยังทรงพระเยาว์ การขอพระมหากรุณานั้นไม่เป็นการพระมหากรุณาจากพระมหากษัตริย์ ซึ่งเวลานี้มีความรู้สึกในทางพระกรุณาหรือไม่ และเหตุใดจึงมีพระมหากรุณาแก่บุคคลซื้อที่ดินเหล่านี้เท่านั้น…”[2]

หลังจากตอบกันหาความชัดเจนสักพักทั้งผู้ตั้งกระทู้ถามและผู้ตอบ นายเลียง ไชยกาล ได้ยกตัวอย่างให้มีความชัดเจน ความว่า :

“ ตัวอย่างขายให้ขุนลิขิตสุรการเป็นต้น ทำคุณอะไร ที่นี้เก็บค่าเช่าได้เดือนละ 150 บาท ผ่อนส่งเพียงเดือนละ 60บาท คงได้กำไรเปล่าๆ 90 บาท อย่างนี้ถามพระดุลย์ธารณ์ฯดูเดี๋ยวนี้ได้ โอนเงินเข้ากระเป๋าโอนในนามของพระดุลย์ธารณ์ หรือบิดาพระดุลย์ธารณ์ฯ นั้น พระดุลย์ธารณ์ทำคุณความดีให้แก่ประเทศดีไปกว่า หลวงประดิษฐ์ฯ หลวงธำรงฯ หลวงสินธุฯหรือ” [2]

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามนี้ต่อว่า

“ข้าพเจ้าจะไปรู้เรื่องในกระเป๋าของเขาอย่างไร ไม่รู้จริงๆ ในเรื่องกระเป๋าของเขาว่าจะมีอย่างไร ข้าพเจ้าตอบไม่ได้ในเรื่องนี้” [2]

นายเลียง ไชยกาล ได้ตั้งกระทู้ถามต่อเพราะ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้โยนทุกสิ่งทุกอย่างไปที่การตัดสินใจของคณะผู้สำเร็จราชการทั้งสิ้น จึงได้ตั้งกระทู้ถามต่อว่า

“ท่านไม่รู้ ท่านไม่ทราบหรือเปล่าว่า เวลานี้ท่านเป็นผู้คุ้มครองทรัพย์ของพระมหากษัตริย์ ข้าพเจ้าได้มีหนังสือไปทูลผู้สำเร็จราชการ พระองค์ก็ซัดมาว่าให้ไปถามเจ้าคุณพหลฯดูเถิด” [2]

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามนี้ต่อว่า

“ในระบอบรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้สนอง ท่านจึงว่าอย่างนั้น ที่จริงท่านไม่ซัดข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเห็นว่าท่านพูดถูกแล้ว” [2]

นายเลียง ไชยกาล ได้ตั้งกระทู้ถามจี้ต่อ เพราะไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนในข้อ 8 ความว่า

“ข้าพเจ้าขอให้ท่านประธานให้รัฐบาลชี้แจงให้ละเอียด คำถามที่ข้าพเจ้ายกมาถามนี้ บางรายท่านก็ว่าไม่ทราบ คือ รายหนึ่งในข้อ 8 ของกระทู้ของข้าพเจ้า ผู้ซื้อคือ พระดุลย์ธารณ์ฯ หรือ บิดาของพระดุลย์ธารณ์ฯ ซื้อหมื่นสี่พันได้ค่าเช่าเดือนละ 150 บาท แต่ผ่อนส่งเดือนละ 100 บาท จริงไหม

ถ้าหากท่านว่าไม่ทราบ ถามพระดุลย์ธารณ์ฯ ที่นั่งอยู่นั่นเดี๋ยวนี้ เป็นความจริงอย่างข้าพเจ้าถาม ท่านจะจัดการในเรื่องมลทินเหล่านี้อย่างไร เพื่อเกียรติยศของรัฐบาลและเกียรติยศของคณะท่าน” [2]

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามข้อ 8นี้ ปิดท้ายกระทู้ที่ 3 ว่า

“ข้าพเจ้าไม่เห็นมีมลทินอย่างไร เราอยากจะได้พระมหากรุณา เราก็ขอพระมหากรุณา ท่านจะพระราชทานให้หรือไม่ พระราชทานให้แล้วแต่ท่านผู้เป็นประมุขที่ผู้สำเร็จราชการจะทรงเห็นชอบด้วย เขาไม่ได้ตั้งผู้สำเร็จราชการมาสำหรับเป็นเจว็ตนี่ เขาตั้งมาให้สำหรับคิดตรองและสำหรับแทนพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงบอกว่า ท่านต้องตรึกตรองแล้วเห็นว่าสมควรให้หรือไม่สมควรให้” [2]

เนื่องจากการตั้งกระทู้ถามได้สิ้นสุดเพียงแค่ 3 กระทู้เท่านั้น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการยื่นอภิปรายทั่วไปในเรื่องเดียวกันนี้โดย นายไต๋ ปาณิกบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนคร และการอภิปรายจึงดำเนินต่อไปตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ในบทความ ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? คณะราษฎรคนไหน เคยเอาที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นของส่วนตัวบ้าง? [3],[4]

ในการอภิปรายเกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ในครั้งนั้นพันเอกพระยาพหลพลพยุหาเสนา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวยืนยันในที่ประชุมว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพราะสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกคณะผู้สำเร็จราชการเองจึงย่อมสามารถทำได้และทำอะไรก็ได้ แม้จะให้ที่ดินเปล่าๆกับใครก็ได้ไม่เป็นความผิด ดังคำอภิปรายของของพระยาพหลพลพยุหาเสนา นายกรัฐมนตรีความว่า :

“ข้าพเจ้าถือว่าท่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งสภาฯ นี้ได้เลือกไปแล้ว ได้ตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการมีอำนาจพอที่จะวินิจฉัยว่า ควรจะทรงพระมหากรุณาหรือไม่อันนี้เมื่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีหน้าที่ที่จะวินิจฉัยและจะให้เปล่าๆก็ได้ แต่ว่าจะให้เปล่าๆ หรือเอาแต่น้อยหรืออย่างไรนั้นอาจทำได้ ไม่ผิด” [3],[4]

หลังจากปิดประชุมในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 เพื่ออภิปรายต่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 แล้ว ปรากฏว่า พันเอกพระยาพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ชิงลาออกไป หลังจากนั้นพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้กลับเข้าสู่ตำแหน่งอีกครั้งในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2480 [3]

แม้ว่าจะเกิดกรณีการตั้งกระทู้ถามและการอภิปรายในเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของนักการเมืองภายใต้อิทธิพลของคณะราษฎรซึ่งอื้อฉาวที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่การอภิปรายในครั้งนั้นย่อมเป็นการยืนยันว่าแม้แต่รัฐบาลซึ่งมาจากคณะราษฎรซึ่งเป็นผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ก็ยังยอมรับการแบ่งแยกทรัพย์สินของรัฐและทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกจากกันตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ว่าทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้นเป็นเรื่องของพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ทรัพย์สินของรัฐบาล หรือทรัพย์สินของคณะราษฎรแต่อย่างใด

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง:
[1] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์,ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ (ตอนที่ 2) กระทู้ประวัติศาสตร์ “ที่ดินของพระมหากษัตริย์” เพื่อประโยชน์ของใคร?,แฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และMGRonline, เผยแพร่: 13 พ.ย. 2563 17:10 น.
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=3604434002949876&id=123613731031938&__tn__=%2As%2As-R
https://mgronline.com/daily/detail/9630000117339

[2] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 กระทู้ถามเรื่อง ที่ดินของพระมหากษัตริย์ ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถามนายกรัฐมนตรี วันที่ 27 กรกฎาคม 2480

[3] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์,ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? คณะราษฎรคนไหน เคยเอาที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นของส่วนตัวบ้าง? แฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, MGRonline, 6 พฤศจิกายน 2563
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3566001633459780/
https://mgronline.com/daily/detail/9630000112634

[4] บันทึกการอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 9 ของสภาผู้แทนราษฎร ญัตติด่วน เรื่อง ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในนโยบายของรัฐบาลว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์, 27 กรกฎาคม 2480
https://library2.parliament.go.th/giventake/content_debate/db2-09.pdf

20 พ.ย. 2563  ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 4)
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: 09 มกราคม 2021, 12:34:06 »
ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 4) มรดก “ขุนนิรันดรชัย” กับ ความลับของ “จอมพล ป.” ในทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ในบรรดาประเด็นในเรื่องการแห่กันเข้าซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ ซึ่งเป็นของพระมหากษัตริย์ระหว่างปี พ.ศ. 2479-2480 นั้น ประเด็นหนึ่งที่ยังคงน่าติดตามเพื่อหาความจริงกันต่อไปนั้น ก็คือ ความร่ำรวยของขุนนิรันดรชัยซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อการในคณะราษฎรสายทหารบกเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น มีความเกี่ยวพันกับทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์จริงมากน้อยเพียงใด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปรากฏเป็นข่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมาว่า มีการฟ้องร้องเป็นคดีความเพื่อแบ่งแยกมรดกของตระกูล “นิรันดร” โดยมีมรดกตกทอดส่วนหนึ่งมาจาก “ขุนนิรันดรชัย” อดีตสมาชิกผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 สายทหารบก ของคณะราษฎร และมีการลงทุนต่อๆกันมาจนเป็นที่ดินใจกลางกรุงเทพมหานคร อย่าง ถนนสาทร ถนนเจริญกรุง ถนนชิดลม ถนนเพลินจิต ถนนวิทยุ รวมถึงที่ดินย่านบางลำภู ย่านหัวลำโพง ย่านมหานาค ฯลฯ รวมกันมากถึง 90 แปลง โดยมีการประเมินมูลค่าว่าไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท [1]-[3]

แม้ว่าในความเป็นจริงทั้งการตั้งกระทู้ถามของ นายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี และการอภิปรายทั่วไปที่นำโดย นายไต๋ ปาณิกบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 จะไม่ได้กล่าวพาดพิงถึง “ขุนนิรันดรชัย” เลย [4]-[8] แต่ก็ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่ารายชื่อผู้ที่ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่มีใครอีกบ้างหรือไม่?

เพราะเหตุการณ์ในการตั้งกระทู้ถามและอภิปรายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 นั้น “จำกัดเวลา” อยู่เพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ถึง 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 เท่านั้น และเป็นการอภิปรายพาดพิง “จำกัดตัวบุคคลบางราย”เท่านั้นอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบกระทู้และการตอบอภิปรายทั่วไปในวันดังกล่าวของ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวยอมรับว่า “มีการโอนที่ดินก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2480” [7],[8]ด้วย

สำหรับ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาเป็นหนึ่งในผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลรัชกาลที่ 8 ซึ่งยังทรงพระเยาว์และประทับอยู่ต่างประเทศโดยการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในเวลานั้นต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจำนวนครึ่งหนึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 (ซึ่งมาจากคณะราษฎรเพียงกลุ่มเดียว)ด้วย

โดยก่อนที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาจะได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรให้มาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้นพบว่าในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมนั้นได้รับคำชมจากพระยาพหลพลพยุหเสนาเมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24มิถุนายนพ.ศ. 2475ด้วย

โดย ประวัติของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ได้อธิบายความตอนหนึ่งว่า :

“ด้วยพระองค์ท่านทรงทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7ได้เคยทรงพระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้วหากแต่คณะราษฎรได้ดำเนินการขอพระราชทานเสียก่อนเท่านั้นเมื่อเป็นเช่นนี้พระองค์ท่านก็พร้อมที่จะสนับสนุนกิจการของคณะราษฎรให้ดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญสืบไปเมื่อได้ทำความเข้าใจกัน (กับคณะราษฎร:ผู้เขียน)แล้วพระองค์ท่านก็เสด็จกลับไปรับราชการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมตามเดิม

เมื่อเสด็จกลับมาถึงจังหวัดนครปฐมแล้วอาศัยก็ได้เคยทรงศึกษาเล่าเรียนในวิชาการปกครองมาแล้วฉะนั้นจึงได้ทรงเรียบเรียงหัวข้อสำหรับจะได้ทรงอบรมชี้แจงแก่ราชการในจังหวัดนครปฐมให้เข้าใจซึมทราบถึงการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญและได้ทรงอบรมประทานพระโอวาทแก่ข้าราชการให้หายความตระหนกตกใจและมีความเข้าใจในการปกครองในระบอบนี้เป็นอย่างดี

ความทราบถึงพระยาพหลพลพยุหเสนาซึ่งได้ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้มีหนังสือมาชมเชยถึงการที่ได้ประทานพระโอวาทไปนี้และกระทรวงมหาดไทยได้สั่งให้จังหวัดต่างๆชี้แจงอบรมข้าราชการให้เข้าใจถึงการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญตามแนวที่ได้ประทานพระโอวาทแก่ข้าราชการในจังหวัดนครปฐมนั้น”[9]

สำหรับความสัมพันธ์ในเชิงผลประโยชน์ของพันเอก พิบูลสงครามกับขุนนิรันดรชัยนั้นก็น่าจะลองพิจารณาการซื้อขาย“ราคาที่ดินพระคลังข้างที่”ซึ่งเป็น“พื้นที่หน้าพระราชวังจิตรลดารโหฐาน”ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
โดยพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ภายหลังจากที่รัฐบาลถูกอภิปรายเรื่องการแห่กันซื้อที่ดินพระคลังข้างที่เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 แล้ว พันเอก หลวงพิบูลสงคราม ได้ยื่นหนังสือลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตามการลาออกของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนานายกรัฐมนตรี

โดยพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ได้ยอมรับในการเขียนจดหมายชี้แจงหนังสือพิมพ์เพื่อประกอบเหตุผลการลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 28กรกฎาคมพ.ศ. 2480ว่าเมื่อปีพ.ศ. 2479ได้มีผู้แนะนำให้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่หน้าพระราชวังจิตรลดารโหฐานเพื่อ“ปลูกบ้านส่วนตัว”แม้จะซื้อที่ดินจากพระคลังข้างที่จริงแต่ก็ได้ขายคืนที่ดินกลับไปเพราะไม่ต้องการให้เกิดความยุ่งยากในการขับไล่ราษฎรและการรื้อถอนของสิ่งปลูกสร้าง [7]โดยสำหรับประเด็นที่น่าวิเคราะห์จากการแถลงครั้งนั้นในเรื่อง“ราคาที่ดิน”ปรากฏความตอนหนึ่งว่า:

“ได้ตกลงซื้อไว้ 2ไร่ราคาไร่ละ 4,000บาทเป็นเงิน 8,000บาททางพระคลังข้างที่ก็จัดการโอนที่ดินนั้นให้ข้าพเจ้าประมาณเดือนมกราคมพ.ศ. 2480”[7]

ในขณะที่นายธรรมนูญ นิรันดร หนึ่งในทายาท“ขุนนิรันดรชัย”ได้เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ,ผ่านเว็บไซต์Thaipropertyเมื่อวันที่ 2กุมภาพันธ์พ.ศ. 2551ความตอนหนึ่งว่า:

“ยอมรับว่ามีที่ดินสะสมค่อนข้างเยอะโดยปัจจุบันนี้มีที่ดินอยู่ในกลางเมืองร่วม 90แปลงซึ่งส่วนหนึ่งเป็นมรดกตกทอดจากขุนนิรันดรชัยซึ่งในอดีตเป็นราชเลขานุการในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดลหรือรัชกาลที่ 8

โดยที่ดินแปลงสำคัญๆคือที่ดินที่อยู่ตรงข้ามด้านหน้าวังสวนจิตรลดาซึ่งเดิมรัชกาลที่ 8พระราชทานพื้นที่ให้ประมาณ 1ไร่ต่อมาได้มีการซื้อเพิ่มเติมร่วม 6-7แปลงประมาณ 10กว่าไร่โดยซื้อมาในราคาตารางวาละ 4บาทส่วนบริเวณหน้าวังนั้นซื้อมาในราคาตารางวา 2.50บาทซึ่งในอดีตนั้นเป็นสวนผักปัจจุบันนี้ราคาซื้อขายที่ดินอยู่ที่ 250,000บาทต่อตารางวาเพราะสามารถก่อสร้างตึกสูงได้เพียง 4ชั้นเท่านั้น” [10] ซึ่งหากเป็นความจริงก็มีข้อน่าสังเกตุดังนี้

ประการแรก“ขุนนิรันดรชัย” ได้ซื้อที่ดินหน้าพระราชวังจิตรลดาในราคาตารางวาละ 2.50 บาทต่อตารางวา จึงเท่ากับ 1,000 บาทต่อไร่ ซึ่ง “ต่ำกว่า 75 เปอร์เซนต์” เมื่อเทียบกับราคาหน้าพระราชวังเดียวกันที่“พันเอก หลวงพิบูลสงคราม”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เคยซื้อเอาไว้เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2480 ในราคา 4,000 บาทต่อไร่

ประการที่สอง ขุนนิรันดรชัยซื้อที่ดินบริเวณ“หน้าวัง” ในราคาถูกกว่าที่ซื้อพื้นที่เพิ่มเติม 62.5 เปอร์เซนต์ โดยจากราคาหน้าวังตารางวาละ 2.50 บาท (1,000 บาทต่อไร่) มาเป็นซื้อพื้นที่เพิ่มเติมตารางวาละ 4 บาท (1,600 บาทต่อไร่)

ประการที่สาม ตามที่นายธรรมนูญ นิรันดร อ้างว่าพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 พระราชทานพื้นที่ 1 ไร่ให้“ขุนนิรันดรชัย”นั้น เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าขุนนิรันดรชัยได้ลาออกจากราชเลขาธิการในพระบาทก่อนที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 จะทรงบรรลุนิติภาวะ และก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 จะทรงเสด็จนิวัติกลับประเทศไทยด้วย

ดังนั้นขุนนิรันดรชัยจึงได้เป็นข้าราชการในสำนักราชเลขานุการของ“คณะผู้สำเร็จราชการเท่านั้น” ดังนั้นจึงน่าสงสัยว่าการได้ที่ดินมาในครั้งนั้นได้มาจากใครระหว่าง ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 หรือได้จากคณะผู้สำเร็จราชการกันแน่

โดยสำหรับความสัมพันธ์ระหว่าง “ขุนนิรันดรชัย” กับ“พันเอก พิบูลสงคราม”นั้นสามารถสังเกตุได้จากการเขียนข้อความของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และ คุณหญิงละเอียด พิบูลสงคราม,เพื่อเคารพและไว้อาลัยแด่พันตรี สเหวก นิรันดร ในหนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพพันตรีสเหวกนิรันดรณเมรุวัดพระศรีมหาธาตุ เมือวันที่ 22พฤษภาคม 2499 ได้ระบุการที่มีการให้ความช่วยเหลือทางราชการและ“ทางส่วนตัว”ด้วยความตอนหนึ่งว่า :

“ครอบครัวของข้าพเจ้าและครอบครัวของท่านผู้ล่วงลับ มีความสนินสนมกันอย่างใกล้ชิดเหมือนเครือญาติสนิทได้ให้ความช่วยเหลือกันทั้งในราชการและทางส่วนตัวมาด้วยสม่ำเสมอ” [11]

ทั้งนี้พันตรีสเหวก นิรันดรหรือ“ขุนนิรันดรชัย”เป็นบุตรของนายปลั่งและนางวอนเกิดเมื่อวันที่ 26พฤศจิกายนพ.ศ. 2443สกุลเดิมคือ“นีลัญชัย”ต่อมาได้ขอรับพระราชทานนามสกุลใหม่ว่า“นิรันดร” เป็นสมาชิกคณะราษฎรสายทหารบกรุ่นน้องจอมพล ป.[12]

ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ร้อยโทขุนนิรันดรชัย อายุ 31 ปี 7 เดือน เข้าประจำแผนกโรงเรียนทหารปืนใหญ่ แล้วต่อมาได้เลื่อนยศทหารเป็นนายร้อยเอกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 [12]

ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2477นายร้อยเอกขุนนิรันดรชัยเข้าอยู่ในประเภทนายทหารนอกกองกองทัพบกประเภททหารกองหนุนไม่มีเบี้ยหวัดเพื่อไปเป็น“เลขานุการของนายกรัฐมนตรี”ตามมติคณะรัฐมนตรี [12]

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเพราะอำนาจการปกครองผูกขาดการตั้งสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 อยู่กับคนก่อการคณะราษฎรเพียงกลุ่มเดียวไม่กี่คนและมิได้ทรงสมมติเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นรัชทายาท

วันเดียวกันนั้นคณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจึงได้อัญเชิญเสด็จพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับพระราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 [13] ขึ้นทรงราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สืบพระราชสันตติวงศ์ต่อไปตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 [14]

แต่เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงมีพระชันษาเพียง 9 ปี รัฐบาลโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร (ซึ่งมีสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ซึ่งมีครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร) ว่ายังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะตามกฎมณเฑียรบาล [14] จึงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2478 [14],[15]

และนี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญของวิถีชีวิตของร้อยเอกขุนนิรันดรชัยนายทหารบกรุ่นน้องในคณะราษฎรสายทหารบกผู้ใกล้ชิดกับพันเอกหลวง พิบูลสงครามซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในยุคนั้นจากฝ่ายรัฐบาลก็ได้ถูกวางตัวให้ก้าวข้ามฟากเข้าสู่อำนาจในการประสานงานกับคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2478นายร้อยเอกขุนนิรันดรชัยเป็นผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์[12]

1 มีนาคม พ.ศ. 2480 พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479ซึ่งเตรียมมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2479ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้วในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2480

14 มิถุนายน พ.ศ. 2480พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479ซึ่งเตรียมมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2479“ตราไว้เสร็จแล้ว”แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้เพราะรอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

โดยกฎหมายดังกล่าวเตรียมโอนย้ายทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ สำนักพระคลังข้างที่ โอนมาที่สำนักงานทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ โดยให้กระทรวงการคลังดูแล (พระยาไชยยศสมบัติ หรือ เสริม กฤษณามระ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง)
โดยมาตรา 5พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479กำหนดให้มีกรรมการที่ปรึกษาโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานและกรรมการอีก 4คนโดยพระบรมราชานุมัติ (ในเวลาตอนนั้นเป็นอำนาจของคณะผู้สำเร็จราชการ)

แต่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กำหนดเอาไว้ในมาตรา 7 พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ว่าการโอนย้ายและจำหน่ายได้โดยพระบรมราชานุมัติ (ในเวลาตอนนั้นเป็นอำนาจของคณะผู้สำเร็จราชการ)เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 เป็นร่างที่จัดเตรียมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2479 จึงมีหลายคนรู้ว่าะมีการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวในปี 2480 จึงเริ่มเข้าซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2479 จนถึงต้นปี พ.ศ. 2480

จนเป็นที่แน่ชัดแล้วว่ามีการตราเสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2480 ด้วยแล้ว จึงมีการ “เร่งซื้อ”ที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ “ชิงตัดหน้า” ก่อนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480

14 มิถุนายน ถึง 19 กรกฎาคมพ.ศ. 2480ก่อนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาได้มีการตัดแบ่งขายที่ดินพระคลังข้างที่จำนวนมากให้กับรัฐมนตรี,สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2,ข้าราชการในพระองค์,ข้าราชการในคณะผู้สำเร็จราชการ,ข้าราชการในสำนักพระราชวัง,คณะกรรมการกำหนดราคารที่ดินพระคลังข้างที่,และเครือข่ายของผู้ก่อการในคณะราษฎรซึ่งแห่งเข้าไปซื้อที่ดินแบบผ่อนในราคาถูกๆจำนวนมาก

19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา หลังจากขายที่ดินพระคลังข้างที่ไปแล้วเป็นจำนวนมาก

27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480เกิดการตั้งกระทู้ถามประวัติศาสตร์ของนายเลียง ไชยกาลสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีและการเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมตินำโดยนายไต๋ ปาณิกบุตรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตพระนครเรื่องการโอนทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ให้กลายเป็นสมบัติส่วนตัวจำนวนมากให้กับพรรคพวกรัฐบาลและข้าราชบริพารระหว่างวันที่ 1ถึง 20กรกฎาคม พ.ศ. 2480[4]-[8]

หลังเหตุการณ์อื้อฉาวผ่านไป 7 เดือน

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 นายร้อยเอกขุนนิรันดรชัย ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น “ราชเลขานุการในพระองค์” และในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2481 นายร้อยเอกสเหวก นิรันดร ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทหาร เป็น นายพันตรี [12]

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481พันตรีขุนนิรันดรชัยเป็นกรรมการที่ปรึกษาจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ [12] จึงมีส่วนในการตัดสินใจในเรื่องพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายมากขึ้นกว่าเดิม

วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481จอมพล ป.พิบูลสงครามขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนพระยาพหลพลพยุหเสนาที่ได้ลาออกไปเมื่อวันที่ 11กันยายนพ.ศ. 2481และยุติบทบาททางการเมือง

วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้นายปรีดี พนมยงค์เป็นหนึ่งในผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แทนนาวาอากาศเอกเจ้าพระยายมราชซึ่งได้ถึงแก่อาสัญกรรม [16]และเป็นผลทำให้นายปรีดี พนมยงค์พ้นจากตำแหน่งทางการเมืองที่กำลังขัดแย้งกับการยืนข้างญี่ปุ่นของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม

วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2486พันตรีขุนนิรันดรชัยคณะราษฎรให้ความไว้วางใจ แต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2

ปลายเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2487จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังแพ้โหวตคะแนนในสภาผู้แทนราษฎร 48ต่อ 36เสียงในการขอความเห็นชอบพระราชกำหนดจัดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์พ.ศ. 2487เมื่อวันที่ 20กรกฎาคมพ.ศ. 2487และแพ้โหวตคะแนนในสภาผู้แทนราษฎร 43ต่อ 41เสียงในการขอความเห็นชอบพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑลพ.ศ. 2487เมื่อวันที่ 22กรกฎาคมพ.ศ. 2487

วันที่ 31 กรกฎาคม 2487 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงลาออกจากตำแหน่งประธานและคณะกรรมการผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ [17], [18]เพราะไม่ต้องการรับรองนายควง อภัยวงศ์ให้เป็นนายกรัฐมนตรีแทนจอมพล ป.ที่อาจเกิดการสู้รบนองเลือดกันระหว่างจอมพลป.กับนายควงและอาจทำให้ญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงจนเสียหายต่อชาติได้

วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487นายปรีดี พนมยงค์โดยความเห็นชอบจากรัฐสภาให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงคนเดียว [17]นายควง อภัยวงศ์ จึงเป็นนายกรัฐมนตรีแทนจอมพลป.พิบูลสงคราม โดยนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ลงนามในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงคนเดียว

วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2487พันตรีขุนนิรันดรชัยขอลาออกจากตำแหน่งเลขานุการในพระองค์ [12]ภายหลังจากจอมพลป.และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงลาออกจากตำแหน่งประธานและคณะกรรมการผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

รวมระยะเวลาที่ จอมพล ป. อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 เป็นวลาถึง 5 ปี 228 วัน โดยในเวลานั้นขุนนิรันดรชัยอยู่ในฐานะเป็น“ราชเลขานุการในพระองค์”และกรรมการที่ปรึกษาจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

คำถามมีอยู่ว่าในสถานการณ์ดังกล่าวสายสัมพันธ์เป็นอย่างไร ระหว่างจอมพล ป. พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรี,ขุนนิรันดรชัยราชเลขานุการในพระองค์และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาประธานและคณะกรรมการผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ว่ามีความไว้วางใจ เอื้อผลประโยชน์หรืออำนาจกันมากน้อยเพียงใดหรือไม่?

คำตอบนี้สามารถหาได้จากเหตุการณ์คำให้การของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ต่อศาลอาชญากรสงคราม ในคดีที่จอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะเป็นจำเลย หลังจากประเทศญี่ปุ่นแพ้สงครามโลก เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ความตอนหนึ่งว่า

“ตอนที่จอมพล ป.ฯนำให้มีการลาออกหรือให้พ้นจากบรรดาศักดิ์กันนั้นขุนนิรันดรชัยได้มาทาบทามข้าพเจ้าว่า จะได้มีการตั้งบรรดาศักดิ์กันใหม่ เป็นสมเด็จเจ้าพระยาชายบ้าง สมเด็จเจ้าพระยาหญิงบ้าง และขุนนิรันดรชัยถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ

โดยผู้ที่มีสายสพายนพรัตน์จะได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาชาย ซึ่งมี จอมพล ป.ฯ คนเดียวที่ได้สายสพายนั้น เมื่อตั้งสมเด็จเจ้าพระยาชายแล้ว เมียของผู้นั้นก็ได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาหญิงตามไปด้วย

และในปีนั้นก็ได้มีการขอพระราชทานสายสพายกันมากมาย ส่วนพวกเมียของข้าราชการก็ได้ตรากันด้วย ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าในประวัติศาสตร์ชาติไทย ไม่เคยมีการให้สายสพายผู้ชาย และให้ตราผู้หญิงกันมากมายถึงเช่นนี้ จนถึงกับข้าพเจ้าผู้คล้องสายสพายให้นั้นเป็นลมหน้ามืดไป

ข้าพเจ้ารู้สึกว่าจอมพล ป. นั้นกระทำการเพื่อจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง และภรรยาจอมพล ป. ก็มีความมักใหญ่ใฝ่สูงทำนองเดียวกัน เช่น เอารูปไปฉายในโรงหนัง ให้คนทำความเคารพโดยมีการบังคับ

ในการทำบุญวันเกิดก็ทำเทียมพระชนม์พรรษาของพระเจ้าแผ่นดิน เช่น มีตราไก่กางปีกประดับธงทิว ทำนองเดียวกันตราครุฑ หรือตราพระบรมนามภิธัยย่อ และได้สร้างโทรนขึ้นทำนองเดียวกับเก้าอี้โทรนของพระเจ้าแผ่นดิน เว้นแต่ใช้ตราไก่กางปีกแทนครุฑเท่านั้น

นอกจากนี้ยังได้นำเครื่องพระสำอางค์ของพระเจ้าแผ่นดินและของสมเด็จพระราชินีไปใช้โดยไม่ได้รับอนุมัติจากข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้ายืนยันว่าขุนนิรันดรชัยนำเอาให้ใช้ ข้าพเจ้าเคยขอเปลี่ยนตัวขุนนิรันดรชัย แต่จอมพลไม่ยอม ที่ขอเปลี่ยนเพราะขุนนิรันดรชัยฯไม่เป็นผู้ที่ไว้วางใจ...

เมื่อตอนที่จอมพล ป.ฯ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้มีการขอพระราชทานเงินกันหลายคราว ที่ขอเพื่อเป็นทุนเล่าเรียนของลูกก็ดี ขอให้เป็นทุนของคณะผู้ก่อการไปใช้จ่ายก็มี และขอเป็นส่วนตัวก็มี ในการที่ข้าพเจ้าสั่งพระราชทานนี้ ไม่ได้สั่งไปโดยเต็มใจ หากเป็นด้วยขุนนิรันดรฯ มาพูดเป็นทำนองข่มขู่บังคับกลายๆ”

[19]

หลังจาก“ขุนนิรันดรชัย”ได้ลาออกจากตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์แล้ว ก็ได้กลายเป็นนักธุรกิจเต็มตัว มีเงินลงทุนในกิจการที่ร่วมกับรัฐและเอกชนอีกมากมาย จนกลายเป็นมรดกอันมากมายมหาศาลของตระกูล“นิรันดร”ที่กำลังมีคดีความฟ้องร้องกันในวันนี้

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


27 พ.ย. 2563  ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
อ้างอิง
[1] Isranews, พลิกปูม‘ขุนนิรันดรชัย’คนสนิทจอมพล ป. เจ้าของที่ดินหมื่นล.ก่อนลูกหลานฟ้องแย่งมรดก, 12 พฤศจิกายน 2561
https://www.isranews.org/isranews-scoop/71075-isranews11-71075.html

[2] Isranews,ตั้งปี 60 ทุน 100ล.! เปิดตัว บ.31สาธร คดีลูกชาย ‘คณะราษฎร์’ ฟ้องแบ่งมรดกที่ดิน 4 หมื่นล., 10 พฤศจิกายน 2561 เวลา 09:00 น.
https://www.isranews.org/isranews-news/71014-news03_71014.html

[3]แนวหน้า, 4หมื่นล้าน! ลูกชาย‘คณะราษฎร์’ฟ้องพี่ชายต่างแม่ ขอแบ่งมรดกที่ดินกลางกรุง, สำนักข่าวอิศรา,วันศุกร์ ที่ 09 พฤศจิกายน 2561 เวลา 17:17 น.
https://www.isranews.org/isranews-other-news/71009-naew-71009.html

[4] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์,ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ (ตอนที่ 3)ลีลาเจ้าคุณพหลฯ ตอบกระทู้กรณีทีมคณะราษฎรแห่ซื้อที่ดินของพระมหากษัตริย์ราคาถูกๆแฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และMGRonline, เผยแพร่: 20 พ.ย. 2563 17:46 น.
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3624175410975735/
https://mgronline.com/daily/detail/9630000119805

[5] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์,ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ (ตอนที่ 2) กระทู้ประวัติศาสตร์ “ที่ดินของพระมหากษัตริย์” เพื่อประโยชน์ของใคร?,แฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และMGRonline, เผยแพร่: 13 พ.ย. 2563 17:10 น.
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=3604434002949876&id=123613731031938&__tn__=%2As%2As-R
https://mgronline.com/daily/detail/9630000117339

[6] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 กระทู้ถามเรื่อง ที่ดินของพระมหากษัตริย์ ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถามนายกรัฐมนตรี วันที่ 27 กรกฎาคม 2480

[7] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์,ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? คณะราษฎรคนไหน เคยเอาที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นของส่วนตัวบ้าง? แฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, MGRonline, 6 พฤศจิกายน 2563
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3566001633459780/
https://mgronline.com/daily/detail/9630000112634

[8] บันทึกการอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 9 ของสภาผู้แทนราษฎร ญัตติด่วน เรื่อง ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในนโยบายของรัฐบาลว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์, 27 กรกฎาคม 2480https://library2.parliament.go.th/giventake/content_debate/db2-09.pdf

[9] สำนักพระราชวัง,นะซีน, ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ณ วัดเมรุวัดเทพศิรินทราวาส หน้า 14-15

[10] หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ, ผ่านเว็บไซต์Thaiproperty, เปิดกรุที่ดิน หมื่น ล.ตระกูล นิรันดร + ประกาศหาผู้ร่วมทุน ยันไม่ขาย/เตรียมเจรจากลุ่มอีวาแอร์ พัฒนาที่ดิน, 2 กุมภาพันธ์ 2551
https://www.thaiproperty.in.th/board/คลังกระทู้/เปิดกรุที่ดิน-หมื่นล-ตระกูล-นิรันดร-ประกาศหาผู้ร่วมทุน-ยันไม่ขายเตรียมเจรจากลุ่มอีวาแอร์-พัฒนาที-23492

[11] จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ คุณหญิงละเอียด พิบูลสงคราม, เขียนเคารพไว้อาลัยแด่ พันตรี สเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499 แผ่นที่ 4

[12] ประวัติ พันตรี สเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499 หน้า (12)

[13] ราชกิจจานุเบกษากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2467/A/195.PDF

[14] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ สภาผู้แทนราษฎรรับทราบในการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติและลงมติเห็นชอบในการอัญเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นทรงราชย์, เล่ม 51, ตอน 0ก, 7 มีนาคม พ.ศ. 2477, หน้า 1330
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2477/A/1330.PDF

[15] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพิเศษ เรื่อง ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, เล่ม 51, ตอน 0ก, 7 มีนาคม พ.ศ. 2477, หน้า 1332
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2477/A/1332.PDF

[16] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพิเศษ เรื่อง ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, เล่ม 51, ตอน 0ก, 7 มีนาคม พ.ศ. 2477, หน้า 1332
https://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล_พระอัฐมรามาธิบดินทร

[17] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม), เล่ม 58, ตอน 0ก, 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484, หน้า 1821
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2484/A/1821.PDF

[18] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ , เล่ม 61, ตอน 45ก, 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487, หน้า 730
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2487/A/045/730.PDF

[19] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 122-124

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 5) กรณียิงตัวตายของประธานผู้สำเร็จราชการ กับเบื้องหลังคดีฟ้องยึดทรัพย์ในหลวงรัชกาลที่ 7 / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ภายหลังจากการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2มีนาคมพ.ศ. 2478แล้วก็ได้มีพระราชหัตถเลขาในวันที่ 7มีนาคมพ.ศ. 2478ความว่า

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจ อันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร์

บัดนี้ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริง ไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าอยู่ในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงอันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบไป” [1]

ภายหลังจากการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติแล้ว รัฐบาลภายใต้การนำของคณะราษฎร ก็ได้แต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอานันทมหิดล ที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรภายใต้การนำของคณะราษฎร ได้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากร อันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2477 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2478 [2]

โดย พระราชบัญญัติว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากร อันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2477 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2478 นี้มีความพยายามที่จะต้องการแบ่งแยกทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้แยกออกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์เป็นครั้งแรก

การให้ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีในเวลานั้นยังไม่มีความชัดเจนถึงวิธีการบริหารจัดการทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ว่าจะดำเนินการอย่างไรและด้วยอำนาจของใครซึ่งก็คือกฎหมายอีกหนึ่งฉบับที่กำลังจะตามมา และได้ใช้เป็นกฎหมายที่จะฟ้องร้องยึดทรัพย์ของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ให้กลับคืนมา

ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2478ขุนนิรันดรชัยได้ข้ามฟากจากเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมาเป็นผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์

หลังจากไม่นานเพียงแค่ 11 วัน นับแต่วันที่ขุนนิรันดรชัยมาเป็นผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์ ปรากฏว่า ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2478กรมหมื่นอนุวัฒน์จาตุรนต์ ซึ่งเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ปลงพระชนม์พระองค์เองด้วยการยิงพระแสงปืนเข้าไปในพระโอษฐ์ สิ้นพระชนม์บนที่บรรทม [3]

กรมหมื่นอนุวัฒน์จาตุรนต์
กรมหมื่นอนุวัฒน์จาตุรนต์

โดยกรมตำรวจในยุคนั้น ได้บันทึกรายงานการไต่สวนว่าสาเหตุมาจากทรงประสบกับเหตุลำบากพระทัยในการปฏิบัติงานในฐานที่ทรงเป็นผู้จัดการพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของพระปกเกล้าฯ [4]

หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรก็ได้เห็นชอบให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทน [5] ซึ่งเป็นผู้ที่เคยได้รับคำชมจากพระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อครั้งพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ได้ให้ความร่วมมือกับคณะราษฎรเป็นอย่างดีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

หลังจากนั้น พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 โดยกฎหมายดังกล่าวเตรียมโอนย้ายทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ สำนักพระคลังข้างที่ โอนมาที่สำนักงานทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ โดยให้กระทรวงการคลังดูแล

โดยมาตรา 5แห่งพระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479กำหนดให้มีกรรมการที่ปรึกษาโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานและกรรมการอีก 4คนโดยพระบรมราชานุมัติ (ในเวลาตอนนั้นเป็นอำนาจของคณะผู้สำเร็จราชการ)

แต่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กำหนดเอาไว้ในมาตรา 7 พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ว่าการโอนย้ายและจำหน่ายได้โดยพระบรมราชานุมัติ (ในเวลาตอนนั้นเป็นอำนาจของคณะผู้สำเร็จราชการ)เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์[6]

โดยก่อนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ร่วมกับรัฐบาล“ชิงตัดหน้า” แบ่งขายที่ดินพระคลังข้างที่จำนวนมากให้กับรัฐมนตรี,สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2,ข้าราชการในพระองค์,ข้าราชการในคณะผู้สำเร็จราชการ,ข้าราชการในสำนักพระราชวัง,คณะกรรมการกำหนดราคาที่ดินพระคลังข้างที่,และเครือข่ายของผู้ก่อการในคณะราษฎรซึ่งแห่งเข้าไปซื้อที่ดินแบบผ่อนจ่ายในราคาถูกๆ จำนวนมาก

หลังจากที่นักการเมืองและข้าราชการได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่กันในราคาถูกๆแล้ว วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 นายร้อยเอกขุนนิรันดรชัย ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น“ราชเลขานุการในพระองค์” และในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2481นายร้อยเอกสเหวก นิรันดร ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทหาร เป็นนายพันตรี [7]

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481พันตรีขุนนิรันดรชัยเป็นกรรมการที่ปรึกษาจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ [7] จึงมีส่วนในการตัดสินใจในเรื่องพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายมากขึ้นกว่าเดิม

ขุนนิรันดรชัย
ขุนนิรันดรชัย

วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481จอมพล ป.พิบูลสงครามขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนพระยาพหลพลพยุหเสนาที่ได้ลาออกไป ขุนนิรันดรชัยจึงได้ทำงานกับ จอมพล ป.พิบูลสงครามอย่างเต็มที่ยิ่งกว่าเดิม

โดยภายหลังจากการที่ ได้มีการตราพระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 แล้ว รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ฟ้องร้อง“เอาผิดย้อนหลัง” การโอนเงินจากพระคลังข้างที่ไปใช้ในช่วงปี “พ.ศ. 2475 - 2477” ซึ่งเป็นช่วงเวลา “ก่อน” ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จะสละราชสมบัติวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 และก่อนที่พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 จะบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2480 ด้วย

ทั้งนี้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยกระทรวงการคลังเป็นโจทก์ ได้ยื่นฟ้องสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นจำเลยที่ 1 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลแพ่งลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2482 และยื่นคำร้องขอแก้คำฟ้องในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2482 สรุปว่า

โดยในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จำเลยที่ 1 ได้เสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพระชายาทรงเป็นพระบรมราชินี พระองค์ได้โอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปเป็นพระนามของพระองค์เองโดยไม่มีพระราชอำนาจที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และโดยไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระราชโองการ ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินไทยชั่วคราว พุทธศักราช 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ซึ่งทรัพย์สินต่างๆที่รัฐบาลฟ้องเรียกคืนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรัพย์สินที่มีการโอนเงินจากกรมพระคลังข้างที่มาถือไว้ในนามพระองค์จำนวน 10 รายการ ระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.​2475 ถึงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2477

จอมพล ป.พิบูลสงคราม
จอมพล ป.พิบูลสงคราม

ในการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้มีคำสั่งให้บริษัทจ่ายเงินที่พระองค์ควรได้รับตามสัญญาเข้าไปในบัญชีเงินฝากของจำเลย ณ ธนาคารในกรุงลอนดอนและกรุงนิวยอร์ค เป็นการกระทำให้เกิดผลโอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์มาเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์โดยไม่มีอำนาจอันชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โอนและจ่ายไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ดังกล่าวทั้งหมดรวมแล้วเป็นเงิน 4,195,895 บาท 89 สตางค์

ซึ่งรัฐบาลเรียกให้พระองค์ต้องคืน หรือใช้ให้แก่รัฐบาล ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 และจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่รัฐบาลอีกร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โอนและจ่ายจนถึงวันฟ้อง เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,025,351 บาท 70 สตางค์ และให้เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินกับดอกเบี้ยที่ค้างถึงวันฟ้อง ตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จรวมเป็นเงินทั้งสิ้นถึงวันพิพากษาเป็นเงิน 6,272,712 บาท 92 สตางค์[8]

คดีดังกล่าวนี้นอกจากจะเป็นการนำ “กฎหมายที่ออกมาภายหลัง” มาลงโทษย้อนหลังกับจำเลยแล้ว ยังต้องถูกตั้งคำถามเทียบเคียงถึงกรณีที่ผู้คนในรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ภายใต้อิทธิพลของคณะราษฎรตลอดจนคนแวดล้อมประธานคณะผู้สำเร็จราชการ และข้าราชการในสำนักพระราชวัง ชิงตัดหน้าเพื่อซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ ด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในราคาถูกๆเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวว่าควรจะดำเนินการอย่างไร

เพราะการซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆของพวกพ้องในคณะราษฎร ก่อนพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ซึ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 เป็นการโอนย้ายหรือจำหน่ายเพื่อประโยชน์ผลส่วนตัวโดยปราศจากประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น สมควรที่จะถูกยึดทรัพย์ ด้วยเพราะเป็นการกระทำผิดกฎหมายด้วยหรือไม่

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นจุดเปลี่ยนของคดีนี้เช่นกัน คือการยื่นคำร้องของฝ่ายรัฐบาลให้อายัดและยึดทรัพย์ฝ่ายจำเลยทั้งหมดก่อนมีคำพิพากษา โดยเฉพาะการยึดทรัพย์วังศุโขทัยซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อนขึ้นครองราชย์ด้วย

โดยคดีนี้“ฝ่ายการเมือง” ได้การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม โดยหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในเวลานั้น ได้เปลี่ยนตัวโยกย้ายพระสุทธิอรรถนฤมนตร์ (สุทธิ เลขยานนท์)“อธิบดีศาลแพ่ง”ไปเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาเพื่อให้พ้นคดี หลังจากนั้นจึงตามมาด้วยการปลดออกจากราชการด้วย

โดยในเวลานั้นพระสุทธิอรรถนฤมนตร์ (สุทธิ เลขยานนท์)อธิบดีศาลแพ่งไม่เห็นชอบให้อายัดและยึดทรัพย์ฝ่ายจำเลยทั้งหมดก่อนคำพิพากษาโดยที่ฝ่ายรัฐบาลยื่นคำร้องถึง 2ครั้ง

ปรากฏหลักฐานในงานพระราชทานเพลิงศพของ“พระสุทธิอรรถนฤมนต์ (สุทธิ เลขยานนท์)”เมื่อวันที่ 18มีนาคมพ.ศ. 2521ได้มีการเผยแพร่หนังสือเบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าวเอาไว้ใน“บันทึกเรื่องการถูกให้ออกจากราชการและกลับเข้ารับราชการใหม่”ความบางตอนว่า

“...แต่ก่อนจะพิจารณาเนื้อหาของคดีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้มีหนังสือที่ 3068/2482 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2482 ถึงอธิบดีศาลฎีกาว่า ได้ให้ข้าพเจ้านำหนังสือนี้มาเพื่อให้ข้าพเจ้ามาช่วยราชการในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาชั่วคราว ข้าพเจ้าได้นำหนังสือนี้ไปรายงานตัวต่ออธิบดีศาลฎีกา ท่านก็จัดให้ข้าพเจ้าเข้ารับราชการในศาลฎีกา เป็นอันว่าข้าพเจ้าเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2481ถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2482 รวมเป็นเวลาเพียง 5 เดือนกับ 25 วัน ซึ่งนับว่าสั้นมาก

..ที่ว่ามีความเสียใจก็ด้วยเหตุว่าการย้ายข้าพเจ้าครั้งนี้ไม่เป็นไปโดยลักษณะหรือเหตุผลอันควร เป็นการเสียหลักอย่างมากในทางศาล เป็นความเสียใจอย่างมาก...

...จนถึงวันที่ 3 มกราคม 2484 ปลัดกระทรวงยุติธรรมจึงมีหนังสือที่ 2/2484 ถึงประธานศาลฎีกาว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้พิจารณาเห็นสมควรให้ข้าพเจ้าออกจากราชการ เพื่อรับบำเหน็จบำนาญฐานรับราชการนาน และให้ข้าพเจ้าออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2484 เป็นต้นไป...

...ด้วยมารยาทเมื่อข้าพเจ้าจะต้องออกจากงานในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ฉะนั้นในวันสิ้นเดือนมกราคม ข้าพเจ้าได้ไปหาท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อลา...ลงท้ายท่านรัฐมนตรีก็กล่าวออกมาตรงๆว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ทำผิดแต่ต้องออกจากราชการเพราะการเมือง”[9]

ภายหลังจากการที่ศาลอุทธรณ์ให้อายัดและยึดทรัพย์แล้วได้มีผลกระทบต่อความสามารถในการต่อสู้คดีของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯอย่างมาก เพราะไม่มีเงินที่จะไปสู้คดีต่อไปได้และต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุด ดังความปรากฏในบันทึกของ“คุณหญิงมณี สิริวรสาร”จดบันทึกเอาไว้เมื่อครั้งเป็นพระสุณิสา (ลูกสะใภ้)พระราชโอรสบุญธรรมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7ในขณะพำนักอยู่ที่ประเทศอังกฤษความตอนหนึ่งว่า

“คดีที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงถูกฟ้องจากรัฐบาลไทยว่าขณะที่ทรงดำรงพระฐานะเป็นพระมหากษัตริย์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของประเทศได้ทรงนำเงินจากพระคลังข้างที่ไปใช้จ่ายในการเสด็จฯ ต่างประเทศเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆและเพื่อรักษาพระเนตร

กรมพระคลังข้างที่นั้นเดิมเป็นสำนักงานจัดการผลประโยชน์ทั้งที่เป็นทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์รวมทั้งทรัพย์สินขอพระมหากษัตริย์ของเจ้านายในพระบรมราชวงศ์ด้วยพระคลังข้างที่เพิ่งจะมาแยกออกเป็นสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์และสำนักงานพระคลังข้างที่เมื่อปีพ.ศ. 2477ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากการเสด็จฯต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯเมื่อเดือนมกราคมพ.ศ. 2476

การฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯนั้นทุกคนทราบดีว่ามีการเมืองเป็นต้นเหตุคือรัฐบาลต้องการกลั่นแกล้งและให้ผู้ที่ไม่ทราบเรื่องราวเกลียดชังเจ้านายและระบอบกษัตริย์เพราะทุกคนที่มีความเกี่ยวข้องและกฎหมายย่อมทราบดีว่าพระมหากษัตริย์ย่อมจะทรงให้เงินจากกรมพระคลังข้างที่ได้เพราะทรงมีสิทธิและอำนาจที่จะใช้จ่ายในกรณีใดๆก็ได้หรือจะพระราชทานเงินแก่ผู้ใดก็ได้...

...เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยึดทรัพย์ของจำเลยจนหมดสิ้นแล้วฝ่ายจำเลยก็หมดกำลังทรัพย์ทางกรุงเทพฯที่จะต่อสู้คดีอีกต่อไป...” [10]

นอกจากนั้น“คุณหญิงมณี สิริวรสาร”ยังได้บันทึกคำตรัสสำคัญของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี พ.ศ. 2484 ความว่า

“อย่าหาว่าฉันเห็นแก่ตัวเลยนะแต่ถ้าหากฉันตายไปแล้วเล็กกับมณีกลับไปอยู่เมืองไทยเมื่อไหร่ฉันขอร้องขออย่าให้เล็กไปรับราชการหรือไปเกี่ยวข้องกับรัฐบาลไทยแต่อย่างใดตราบเท่าที่หลวงพิบูลสงครามยังเป็นใหญ่อยู่เพราะฉันถือว่าเขาเป็นผู้อยุติธรรมที่สุดทั้งเป็นศัตรูของฉันด้วย...” [11]

นอกจากนี้ยังเคยมีรับสั่งเรื่องที่น่าสะเทือนใจเพราะทรงยังมีความหวังในยามที่สถานการณ์ที่อยุติธรรมเช่นนี้ ในบันทึกข้อความว่า

“ในขณะนี้มีคนไทยประณามด่าว่ากล่าวให้ร้ายป้ายสีฉันทุกสิ่งทุกอย่างแต่สักวันหนึ่งในอนาคตประวัติศาสตร์ของประเทศไทยจะจารึกไว่ว่าฉันเป็นนักประชาธิปไตยฉันรักและหวังดีต่อประเทศไทยสักเพียงใด” [12]

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง
[1] สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ, จัดพิมพ์เนื่องในวโรกาสครบรอบ 100 ปี วันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 ISBN-974-8053-70-9 หน้า 141
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/463199/2536_ร7_สละราชสมบัติ_สผ.pdf?sequence=1

[2] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากร อันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2477, เล่ม 52, 21 เมษายน พ.ศ. 2478, หน้า 79
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/14869/SOP-DIP_P_401112_0001.pdf?sequence=1

[3] หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น (รวมเล่ม). พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ : มติชน, 2559. ISBN 978-974-02-1263-8 หน้า 188-189

[4] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2553. 544 หน้า. ISBN 978-616-90238-5-2 หน้า 70-71

[5] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และประกาศตั้งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใหม่, เล่ม 52 หน้า 1260
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2478/A/1260.PDF

[6] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479, เล่ม 54, ตอน 45ก, 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480, หน้า 778
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/17086/SOP-DIP_P_401313_0001.pdf?sequence=1

[7] ประวัติ พันตรี สเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499 หน้า (12)

[8] คำพิพากษาศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ 242/2482 คดีหมายเลขแดงที่ 404/2482

[9] พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ (สุทธิ เลขยานนท์) “บันทึกเรื่องการถูกให้ออกจากราชการและกลับเข้ามาใหม่”, ในหนังสือ “เที่ยวเมืองพระร่วง” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ พิมพ์ครั้งที่ 10, 1,000 เล่ม, พ.ศ. 2521 (โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ), เลขหมู่หนังสือ 915.9365 หน้า 61-65

[10] คุณหญิงมณี สิริวรสาร, ชีวิตนี้เหมือนฝัน ฉบับสมบูรณ์ เล่ม 1 และ เล่ม 2/ นรุตม์ เรียบเรียง, พิมพ์ครั้งที่ 2-กรุงเทพฯ, อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง,/2558 ISBN 978-616-18-0915-7 หน้า 306-307

[11] เรื่องเดียวกัน, หน้า 328

[12] เรื่องเดียวกัน, หน้า 335

4 ธ.ค. 2563  ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 6) เปิดบันทึกความทรงจำ “ก่อน”ประธานผู้สำเร็จราชการจะยิงตัวตาย / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

สองเหตุการณ์ในเรื่องพระคลังข้างที่ซึ่งคล้ายคลึงกัน แต่กลับมีการปฏิบัติตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง และเป็นเหตุการณ์ก่อนที่จะมีการประกาศใช้บังคับ พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 กล่าวคือ...

กรณีเงินพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นสมบัติตกทอดมาจากบูรพกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี สมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี กลับถูกรัฐบาลจอมพล ป.ฟ้องร้องเป็นคดีความเพื่อยึดทรัพย์ ทั้งๆที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7ได้ทรงใช้เงินพระคลังข้างที่ในขณะที่ทรงยังดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์โดยรัฐบาลฟ้องร้องว่าพระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจจะทำเช่นนั้นได้อีกทั้งรัฐบาลยังได้มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมโยกย้ายอธิบดีศาลแพ่งเพื่ออายัดทรัพย์ก่อนมีคำพิพากษาอีกด้วย

ตรงกันข้ามกับกรณีการรุมแย่งซื้อหรือเช่าที่ดินของพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆให้เป็นสมบัติหรือสิทธิส่วนตัวของพวกพ้องของคนในรัฐบาล เมื่อถูกตั้งกระทู้ถามและอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 แล้วพระยาพหลพลพยุหเสนานายกรัฐมนตรีกลับชี้แจงได้เพียงอย่างเดียวว่าเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายเพราะเป็นเรื่องของ“พระกรุณาฯ”ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลรัชกาลที่ 8ที่รัฐบาลจะก้าวล่วงมิได้ทั้งๆที่เดิมที่ดินในทรัพย์สินพระคลังข้างที่เหล่านี้ไม่ใช่ของพวกตัวเองเลย

องค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของสองเหตุการณ์ข้างต้นคือบทบาทของ“คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันท์มหิดล รัชกาลที่ 8 ที่ทรงเป็นยุวกษัตริย์ ยังไม่ได้บรรลุนิติภาวะ และประทับอยู่ต่างประเทศนั้น จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน และสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ก็มาจากการคัดเลือกของคณะราษฎรกันเองทั้งสิ้น

โดยในช่วงระหว่างการแสวงหาประโยชน์ต่อเงินและที่ดินพระคลังข้างที่ในยุคของคณะผู้สำเร็จราชการที่ว่านั้น ปรากฏว่ารายชื่อคณะผู้สำเร็จราชการในรัชกาลที่ 8 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรนั้น ไม่ตรงกับคำแนะนำของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่มีมาก่อนหน้านี้เลย

โดยหลักฐานปรากฏเป็นคำแนะนำครั้งแรกในบันทึกลับของเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์)ราชเลขาธิการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 30มิถุนายนพ.ศ. 2475ความว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯให้พระยามโนปกรณ์ฯ,พระยาศรีวิสารฯ,พระยาปรีชาชลยุทธ,พระยาพหลฯ,กับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมาเฝ้าที่วังศุโขทัย

ในบันทึกดังกล่าวได้ระบุถึง พระราชดำรัสความตอนหนึ่ง เกี่ยวกับการประกาศของคณะราษฎรฉบับแรกที่เป็นการเขียนประวัติศาสตร์โจมตีเหยียบย่ำพระองค์ท่าน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงรู้สึกว่าจะไม่รับเป็นกษัตริย์ต่อไปในภายภาคหน้า

อย่างไรก็ตามคณะราษฎรได้มีความพยายามคัดค้านมิให้พระองค์สละราชสมบัติ อีกทั้งคณะราษฎรยังสัญญาว่าจะไม่มีการริบทรัพย์ของพระองค์ หรือ ถอดฐานนันดรศักดิ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ เพราะมิเช่นนั้นจะทรงสละราชสมบัติก่อน [1]

ในการนี้พระยาพหลพลพยุหเสนาและหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษที่ได้กระทำล่วงเกินเมื่อวันที่ 24มิถุนายน 2475โดยมีการกระทำเป็นพิธีโดยนำดอกไม้ธูปเทียนทูลเกล้าฯถวายตามประเพณีด้วยซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดพระราชทานอภัยโทษให้ [2]

ข้อความในบันทึกลับของเจ้าพระยามหิธรได้ระบุถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7โดยความตอนหนึ่งทรงแนะนำสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทรพระราชโอรสองค์ที่ 58ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวีทรงเลี้ยงดูให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีที่พระราชโอรสสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์จะเสด็จขึ้นครองราชย์แทนความตอนหนึ่งในบันทึกว่า

“อยากจะแนะนำเรื่องสืบสันตติวงศ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าและพระพุทธเจ้าหลวงได้เคยทรงพระราชดำริจะออกจากราชสมบัติเมื่อทรงพระชราเช่นเดียวกันในส่วนพระองค์พระเนตรก็ไม่ปกติคงทนงานไปไม่ได้นานเมื่อการณ์ปกติแล้วจึงอยากจะลาออกเสียทรงมีพระราชดำริเห็นว่าพระราชโอรสสมเด็จเจ้าฟ้าขุนเพชรบูรณ์ก็ถูกข้ามมาแล้วผู้ที่จะสืบสันตติวงศ์ต่อไปก็ควรจะเป็นโอรสสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ตั้งขุนชัยนาทฯ เป็น Regent ก็สมควรจะให้เป็นการล้างเก่าตั้งต้นใหม่เพราะองค์ทรงเป็นกษัตริย์นานไปก็จะไม่มีผู้นับถือหรือคณะราษฎรจะเห็นควรกล่าวแก้ไขประกาศนั้นเสียเพียงใดหรือไม่ก็สุดแล้วแต่จะเห็นควร”[1]

ส่วนคำแนะนำอีกครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7มีความขัดแย้งกับรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรอย่างหนักโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีได้รับหนังสือจากพระยาราชวังสันอัครราชทูตสยามณกรุงปารีสเมื่อวันที่ 26กันยายนพ.ศ. 2477ซึ่งได้แนบพระราชบันทึกฉบับที่ 2ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวความตอนหนึ่งได้ทรงระบุถึงแนวทางในการสละราชสมบัติว่าจะมีทางเลือกใดได้บ้าง

โดยในทางเลือกพระองค์เจ้าอานันทมหิดลนั้นได้ทรงพระราชทานความเห็นในเรื่องผู้สำเร็จราชการเอาไว้ด้วยคือพลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 อยู่แล้ว หรือไม่ก็สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ซึ่งทรงเป็นพระปิตุจฉา(ป้า)ของพระองค์เจ้าอานันทมหิดลในเวลานั้น ความว่า

“พระองค์เจ้าอานันทมหิดลซึ่งอ้างได้ว่าให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ทางนี้มีผลดีอยู่มากคือเป็นทางที่ตรงตาม legalityแต่เสียที่ยังเป็นเด็กแม้การเป็นเด็กนั้นเองก็อาจจะเป็นของดีเพราะถ้ามีการอะไรผิดพลาดไปก็ไม่กระทบกระเทือนถึงองค์พระมหากษัตริย์ไม่มีใครซัดทอดไปถึงซึ่งจะเป็นของดีมาก

ข้อสำคัญอยู่ที่การเลือกผู้สำเร็จราชการซึ่งฉันเห็นว่าถ้าเจ้าฟ้าพระนริศหรือทูลกระหม่อมหญิงวลัยองค์ใดองค์หนึ่งทรงดำรงตำแหน่งนี้แล้วจะเป็นที่เคารพนับถือแก่คนทั่วไปและไม่น่าจะเป็นศูนย์กลางแห่งการแตกร้าวกันระหว่างคณะการเมืองต่างๆด้วย” [3]

วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2478สภาผู้แทนราษฎรได้อาศัยอำนาจตามความมาตรา 10แห่งรัฐธรรมนูญลงมติตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่ตรงกับคำแนะนำของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ก่อนหน้านั้นเลย ประกอบด้วย

“นายพันเอกพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์เป็นประธาน,นายนาวาตรีพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาร.น.,เจ้าพระยายมราช (ปั้นสุขุม)โดยมีข้อตกลงว่าในการลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษานั้นให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณและในการลงนามในเอกสารราชการนั้นให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่างน้อย 2ท่านเป็นผู้ลงนาม”[4]

ทั้งนี้นายปรีดี พนมยงค์ได้เคยเขียนบันทึกเอาไว้ในหนังสือ“บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2” สรุปความสัมพันธ์ของคณะผู้สำเร็จราชการกับผู้นำในฝ่ายรัฐบาลว่า

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนานายกรัฐมนตรีมีความคุ้นเคยกันกับ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์เพราะเคยรับราชการเป็นราชองครักษ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯมาด้วยกัน [5]

ในขณะที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภานั้นพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี เห็นว่าพระองค์ร่วมมือกับรัฐบาลเป็นอย่างดี[6]

ส่วน เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)นั้นเคยเป็นข้าราชการอาวุโสสูงสุดมาจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง เดิมพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาต้องการให้นายปรีดี พนมยงค์เป็นผู้ทาบทามแต่นายปรีดี พนมยงค์ได้ขอให้พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้ทาบทามแทนเพราะเกรงว่าจะมีคนครหาเพราะเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)นี้ เป็นญาติผู้ใหญ่ของนายปรีดี พนมยงค์เอง [7]

นอกจากนี้ตามบันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล เป็นพระธิดาในสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ระบุข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)ด้วยว่า

เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ได้เล่าให้หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุลฟังถึงการรับตำแหน่งเป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการว่า“จำเป็นต้องรับเพราะท่านมีหนี้สินพ้นกำลังเพราะลงทุนหากินกับลูกๆจนไม่มีทางจะใช้ได้นอกจากจะถูกริบทรัพย์ของหลวงจนหมดตัว”[8]

จากข้อมูลข้างต้นจึงเป็นที่น่าตั้งคำถามว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จนได้รับหนังสือคำชมเชยจากพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา[9]-[10]ในขณะที่เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจ ก็ไม่มีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลมากนัก ดังนั้นสถานภาพเสียงสองในสามของคณะผู้สำเร็จราชการจึงย่อมมีความโน้มเอียงไปในแนวทางความต้องการของรัฐบาลอยู่แล้ว จริงหรือไม่?

ต่อมาวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2478 พระราชบัญญัติว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากร อันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2477 มีผลบังคับใช้ และเป็นสัญญาณเร่ิมต้นของความพยายามจะแบ่งแยกทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์กับทรัพย์สินส่วนพระองค์เป็นครั้งแรกและกลายเป็นจุดเริ่มต้นก่อนที่คนในรัฐบาลและคณะราษฎรจะวางแผนรุมแย่งซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ และก่อนที่จะมีการวางแผนฟ้องร้องเพื่อยึดทรัพย์สมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ตามมา

วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2478ขุนนิรันดรชัย ได้ข้ามฟากจากเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มาเป็น ผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์ [11] โดยที่ขุนนิรันดรชัยนั้นเป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดจอมพลป.[12]ซึ่งกลายเป็นบุคคลสำคัญในการเชื่อมโยงและประสานกิจการในราชสำนัก โดยเฉพาะทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับคนในฝ่ายรัฐบาล

หลังจากไม่นานเพียงแค่ 11 วัน นับแต่วันที่ขุนนิรันดรชัยมาเป็นผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์ ปรากฏว่า ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2478กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ ซึ่งเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ปลงพระชนม์พระองค์เองด้วยการยิงพระแสงปืนเข้าไปในพระโอษฐ์ สิ้นพระชนม์บนที่บรรทม[13]

ซึ่งเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าเหตุใดและแรงกดดันเพียงใดที่จะทำให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นถึง“ประธานคณะผู้สำเร็จราชการ”แทนพระมหากษัตริย์ถึงขั้นจะต้องปลงพระชนม์เอง?

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีบันทึกเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง“ขุนนิรันดรชัย”ซึ่งเป็นคนฝ่ายรัฐบาลแล้วย้ายมาข้ามฟากมาเป็นผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์นั้นมีบทบาทอย่างไรกับกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

แต่อุปนิสัยและพฤติกรรมได้ถูกอธิบายเอาไว้ในคำให้การของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการองค์ต่อมาต่อศาลอาชญากรสงคราม ในคดีที่จอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะเป็นจำเลยหลังจากประเทศญี่ปุ่นแพ้สงครามโลก เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ได้ให้การสรุปความได้ว่า

“ขุนนิรันดรชัย” นั้นเป็นนอกจากจะเคยเป็นผู้นำเครื่องพระสำอางค์ของพระเจ้าแผ่นดินและพระราชินีไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานคณะผู้สำเร็จราชการแล้ว ยังเคยมีท่าทีพูดข่มขู่กลายๆต่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาเมื่อต้องการขอเงินไปให้จอมพล ป.ด้วย[10],[14]

ในขณะที่ “หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์” มิตรสหายของ“ขุนนิรันดรชัย”อีกท่านหนึ่งได้เขียนอธิบาย“อุปนิสัย” ในขณะที่เคยเป็นทหารมาด้วยกันปรากฏในคำไว้อาลัยในงานพระราชทานเพลิงศพให้กับ“ขุนนิรันดรชัย”ความตอนหนึ่งว่า

“อุปนิสสัยใจคอของพันตรีสเหวกนิรันดรในขณะนั้นเป็นผู้ที่ร่าเริงแจ่มใสแต่ออกจะมีความคิดเห็นรุนแรงอยู่บ้าง...”[15]

โดยย้อนกลับก่อนหน้านั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7เสวยราชย์แล้วกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ได้เข้าสังกัดอยู่ในกรมราชเลขาฯทรงไว้วางพระราชหฤทัยในฐานเป็นผู้ใหญ่และเป็นคนซื่อตรง จึงโปรดให้ดูแลพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในเวลาเสด็จไม่อยู่[13]

การที่กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์เป็นผู้ที่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และการใช้จ่ายทั้งปวงก่อนหน้านั้นย่อมเป็นกุญแจสำคัญสำหรับผู้ที่มีเป้าหมายที่จะริบทรัพย์สมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องตามมาด้วย

ตามบันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล สรุปว่าการที่รัฐบาลเลือกกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการเพราะฝ่ายรัฐบาลในเวลานั้นเห็นว่าท่านจะเป็นคนที่บอกแล้วจะทำตามอะไรโดยง่ายประการหนึ่งและอีกทั้งยังมีข้อสังเกตุว่าหม่อมเจ้าคัสตาวัส ลูกชายของกรมอนุวัตรจาตุรนต์นั้น เป็นทหารปืนใหญ่ชอบกับหลวงพิบูลสงครามมากเป็นอีกประการหนึ่ง [16]

โดยหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุลได้บันทึกว่าในช่วงแรกกรมอนุวัตน์จาตุรนต์ได้รับโทรเลขด่วนจากเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์เสนาบดีกระทรวงวังได้เรียกให้เข้ามาที่กรุงเทพฯจึงทราบว่าจะต้องไปเป็นผู้สำเร็จราชการฯท่านตอบปฏิเสธไปว่าไม่มีความรู้ความสามารถมากพอ [17]

แต่ปรากฏว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้มาวิงวอน ประกอบกับลูกเมียของท่านเห็นดีเห็นงาม จึงจำต้องรับตำแหน่งนี้ด้วยจำใจ [17]

ในประเด็นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนามีความไว้วางใจต่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาซึ่งได้รับการทาบทามในการเป็นผู้สำเร็จราชการก่อน อีกทั้งพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ก็ยังให้ความร่วมมือกับพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาในภารกิจในการเจรจาที่สำคัญย่ิงนี้ด้วย

หลังจากนั้นกรมอนุวัตน์จาตุรนต์ได้กราบทูลเรื่องราวไปยังสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงตอบกลับมาว่าทรงยินดีที่เขาเลือกกรมอนุวัตน์จาตุรนต์เพราะจะได้พอรู้เรื่องกับพระองค์ในหลวงได้ดีกว่าคนอื่นๆเหตุนี้ทำให้กรมอนุวัตน์จาตุรนต์แช่มชื่นขึ้นด้วยโล่งว่าไม่เป็นการอกตัญญู [17]

แต่เนื่องจากการที่กรมอนุวัตน์จาตุรนต์พอรู้เรื่องกับพระองค์ในหลวงได้ดีกว่าคนอื่นๆนี้เองย่อมมีแรงกดดันอันมหาศาลจากผู้ประสงค์ร้ายที่หวังจะเข้าควบคุมและแย่งผลประโยชน์ในทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์รวมถึงการแสวงหาข้อมูลและหลักฐานเพื่อฟ้องร้องยึดทรัพย์สมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีด้วย โดยภายหลังต่อมาได้มีตั้งกระทู้และอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรกรณีการนำทรัพย์สินเหล่านั้นบางส่วนมาเป็นเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องของรัฐบาลตามมาด้วย

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล ได้บันทึกว่าภายหลังจากการที่กรมอนุวัตน์จาตุรนต์ได้รับตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแล้ว ปรากฏว่ารัฐบาลก็ตั้งต้นเจรจาเรื่อง “ริบทรัพย์”ของสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระราชินี สะสางบัญชีและแยกทรัพย์ส่วนพระองค์กับของบ้านเมือง และซ้ำกลับหาว่าในหลวงโกงทรัพย์อย่างนั้นอย่างน้ีมากมาย ต้องสู้ความกันอย่างวกวนด้วยหลักกฎหมายอยู่หลายเดือน[17]

ส่วนสมเด็จพระปกเกล้าฯก็มีพยาน-ลายพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงและพยานว่าพระราชทานเป็นสิทธิส่วนพระองค์โดยกรมอนุวัตน์จาตุรนต์ในฐานะผู้รักษาทรัพย์สมบัติของสมเด็จพระปกเกล้าฯได้เคยเล่าให้หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุลฟังแล้วจึงได้จดบันทึกเอาไว้ว่า

“ถูกซักไซ้ไล่เลียงไต่สวนวกวนต่างๆ จนบางครั้งมาเป็นไข้ไปหลายวัน”[13]

นอกจากนั้นในบันทึกหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุลยังกล่าวถึงแรงกดดันสำคัญเพิ่มเติมอีกว่าในตอนหลังกรมอนุวัตน์จาตุรนต์ถูกบังคับให้เรียกตราจักรีคืนจากสมเด็จพระปกเกล้าฯแต่กรมอนุวัตน์จาตุรนต์ไม่ยอมทำตามหลังจากนั้นก็ไม่ทรงสบายบ่อยๆมีอาการนอนไม่หลับซูบผอมดำลงทุกทีๆลาพักไปตากอากาศทางเรือนถึงสิงคโปร์แต่พอกลับมาได้สักพักก็ยิงตัวตายในที่นอน

โดยหม่อมเจ้าอุลิสาณ์ ดิสกุล บุตรีคนเล็กของกรมอนุวัตน์จาตุรนต์ได้เล่าให้หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุลว่าได้เห็นปืนเล็กๆตกข้างเตียงกรมอนุวัฒน์จาตุรนต์บรรทมอยู่เหมือนหลับเป็นแต่มีเลือดไหลออกมาจากโอษฐ์มากองอยู่ใต้หมอนเป็นกองโตโดยการไต่สวนของเจ้าพนักงานว่ากรมอนุวัตน์จาตุรนต์ อมปากกระบอกปืนยิงเข้าไปในโอษฐ์ลูกปืนยังติดอยู่ในท้ายทอย[13]

นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตด้วยว่าก่อนที่ความจริงจะปรากฏเช่นนี้หม่อมเจ้าอุลิสาณ์ ดิสกุล ได้ส่งโทรเลขไปยังปีนังเพื่อแจ้งหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล โดยแจ้งอย่างไปอย่างน่าเคลือบแคลงสงสัยว่า

“กรมอนุวัฒน์จาตุรนต์สิ้นพระชนม์ด้วยโรคหัวใจพิการ”ซึ่งความจริงปรากฏต่อภายหลังว่าที่ได้โทรเลขแจ้งไปอย่างไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเช่นนั้นเพราะ...“รัฐบาลต้องการให้เป็นเช่นนั้น”[13]

แต่ข่าวนี้ก็ไม่ใช่ความลับอีกต่อไป เพราะหนังสือพิมพ์ในประเทศ ลงข่าวตรงกันว่ากรมอนุวัตน์จาตุรนต์ปลงพระชนม์เอง[18] (มีข้อสังเกตว่าในขณะเขียนบทความนี้หนังสือพิมพ์ข่าวเก่าและไมโครฟิลม์ของหนังสือพิมพ์เก่าที่หอสมุดแห่งชาติไม่ปรากฏหลักฐานในสิงหาคม 2478หลงเหลืออีกต่อไปแล้ว โดยระบุว่าต้นฉบับเสียหายมากจนไม่สามารถบันทึกไมโครฟิลม์ได้ทัน)

โดยในขณะนั้นนายปรีดี พนมยงค์อยู่บนเรือเดินทางไปยุโรปเพื่อไปเจรจาลดดอกเบี้ยเงินกู้ของรัฐบาลและทาบทามที่จะแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค เมื่อได้ทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเมื่อวันที่ 13สิงหาคมพ.ศ. 2478 แล้วนายปรีดี พนมยงค์ได้เขียนในบันทึกความรู้สึกขณะนั้นคือไม่เชื่อข่าวนี้เพราะเมื่อก่อนที่นายปรีดีจะได้เดินทางครั้งนี้ได้ไปทูลลาท่าน เพราะ

“ไม่เห็นท่านทรงมีพระอาการอย่างใดที่จะทำให้ท่านปลงพระชนม์” [18]

ต่อมานายปรีดี พนมยงค์ เมื่อได้มาถึงที่กรุงปารีสแล้ว ได้รับรายงานจากพันเอกหลวงอดุลเดชจรัสว่าหลวงอดุลฯเองได้เป็นผู้ทำการชันสูตรพระศพเสด็จกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ สรุปความว่า

“พระองค์ทรงใช้อาวุธปืนสั้นปลงพระชนม์เองโดยทรงอมปากกระบอกปืนไว้ที่พระโอษฐ์แล้วใช้นิ้วของพระองค์เองลั่นไกกระสุนเจาะเพดานพระโอษฐ์ทำให้สิ้นพระชนม์”[18]

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุใดบันทึกการสิ้นพระชนม์ของ 2 คนจึงไม่เหมือนกัน?

กล่าวคือบันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล ระบุการได้ข้อมูลจากบุตรสาวว่า เจ้าพนักงานไต่สวนระบุว่าการปลงพระชนม์ครั้งนี้ปืนยิงเข้าไปในโอษฐ์โดย“ลูกปืนยังติดอยู่ในท้ายทอย” [13]ในขณะที่บันทึกของนายปรีดี พนมยงค์ ระบุรายงานของพันเอกหลวงอดุลเดชจรัส กลับระบุว่า “กระสุนเจาะเพดาน”!?[18]

ซึ่งหมายถึงวิถีกระสุนยิงจากปากเข้าไปในทิศทางที่อาจไม่เหมือนกัน และอาจจะมีผลต่อการนำไปสู่ข้อสันนิษฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ของการส้ินพระชนม์แตกต่างกันออกไปได้ด้วย

ทั้งนี้ พันเอกหลวงอดุลเดชจรัส ได้รายงานต่อนายปรีดี พนมยงค์เพิ่มเติมว่าได้ทำการสอบสวนพระชายาและคนในวังได้ความว่า ก่อนสิ้นพระชนม์ เคยรับสั่งว่า

“เวลานี้เราจะทำอะไรแม้แต่กระดิกนิ้วก็มีคนเขาว่า”[18] และได้ความต่อไปว่า“มีเจ้าบางองค์ขอดท่านในการเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการโดยคณะราษฎรสนับสนุนมีคนเขียนบัตรสนเท่ห์ประณามท่านต่างๆ”[18]

ผ่านไป 7 วันนับจากวันเกิดเหตุวันสิ้นพระชนม์ของกรมหมื่นนิวัตจาตุรนต์ วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2478 กรมตำรวจในยุคนั้นได้ทำบันทึกรายงานการไต่สวน กรณีกรมหมื่นสิ้นพระชนม์ โดยเห็นว่าเกิดจากแรงบีบคั้นอย่างสำคัญในเรื่องที่พระองค์ทรง“ประสบกับเหตุลำบากพระทัยในการปฏิบัติงานในฐานที่ทรงเป็นผู้จัดการพระราชาทรัพย์ส่วนพระองค์พระปกเกล้า”[19]

ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อเปรียบเทียบ บันทึกของนายปรีดี พนมยงค์ว่าด้วยเรื่องการรายงานสอบสวนของพันเอกหลวงอดุลเดชจรัสกับบันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุลที่ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในเรื่องปัจจัยในเรื่องแรงกดดันที่มีต่อกรมอนุวัฒน์จาตุรนต์ เป็นมุมมองที่อยู่ตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง

โดยบันทึกฝ่ายพันเอกหลวงอดุลเดชจรัสสรุปในทำนองว่าน่าจะเป็นแรงกดดันมาจากฝ่ายเจ้า ในขณะที่บันทึกของฝ่ายหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล สรุปไปอีกทำนองหนึ่งว่าน่าจะเป็นแรงกดดันมาจากฝ่ายคณะราษฎรที่ต้องการจะริบทรัพย์สมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ

อย่างไรก็ตามภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์แล้วสภาผู้แทนราษฎรได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10แห่งรัฐธรรมนูญได้ลงมติเมื่อวันที่ 20สิงหาคมพ.ศ.2478ตั้งพลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) เป็นสมาชิกใหม่ของคณะผู้สำเร็จราชการและลงมติตั้งนายนาวาตรี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ ทิพอาภา ร.น. เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการต่อไป [20]

สำหรับพลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน)นั้น นายปรีดี พนมยงค์ ได้บันทึกความสัมพันธ์กับพระยาพหลพลพยุหาเสนา นายกรัฐมนตรี และคณะราษฎรสรุปความเอาไว้ว่า

“พลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธินนี้ได้บังเอิญในตอนเช้าวันที่ 24มิถุนายนพ.ศ. 2475ท่านซึ่งออกจากราชการแล้วได้ไปเดินเล่นเวลาเช้าตามปกติเมื่อท่านเดินมาถึงหน้ากำแพงรั้วเหล็กพระที่นั่งอนันตสมาคม

X

ท่านเห็นพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาที่ได้ประกาศยึดอำนาจในนามคณะราษฎรแล้วนั้นกำลังงัดโซ่ที่ล้อมประตูกำแพงรั้วเหล็กใส่กุญแจเหล็กไว้นั้นทั้งนี้เพราะพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนามีข้อกำยำแข็งแรงนักเจ้าพระยาพิชเยนทรจึงเดินเข้าไปดูพลางท่านปรารภว่า“พวกนี้มันสามารถ”แล้วท่านก็จากไปต่อมาเวลาคณะราษฎรมีงานบุญท่านก็อุตส่าห์มาร่วมบ่อยๆท่านจึงได้รับความนับถือจากคณะราษฎร” [17]

ภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์แล้วหลังจากนั้นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งคณะที่แต่งตั้งเพิ่มเติมภายใต้การนำของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาประธานคณะผู้สำเร็จราชการ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กับฝ่ายรัฐบาลในสมัยนั้น ไม่ปรากฏว่ามีข้อขัดแย้งกันเหมือนดังที่เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว [21]

จนเกิดเหตุการณ์ที่ตามมาเรื่องการตั้งกระทู้ถามและอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 กรณีคนในฝ่ายรัฐบาล ข้าราชการในวัง และข้าราชการสำนักเลขานุการในพระองค์ ได้รวมหัวแห่เข้าไปซื้อหรือเช่าที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ ส่วนพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา แม้เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการ ก็ได้ถูกอภิปรายพาดพิงในสภาผู้แทนราษฎรว่าได้ขายที่ดินส่วนตัวของตัวเองให้กับกรมพระคลังข้างที่ในราคาแพงกว่าตลาด

หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยคณะผู้สำเร็จราชการลงพระนามประกาศพระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480แล้วรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังก็อ้างกฎหมายฉบับนี้เอาผิดย้อนหลังฟ้องร้องอายัดและยึดทรัพย์สมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ตามมา

นอกจากนั้น ในบันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุลได้กล่าวถึง“ความดีใจ”ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาที่ได้รับตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการภายหลังการสิ้นพระชนม์ของกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์เอาไว้ด้วยเหมือนกัน เพียงแต่เป็นที่น่าเสียดายว่าทางสำนักพิมพ์มติชนได้มีการ“เซ็นเซอร์ เว้นว่างข้อความสำคัญ”ไปบางส่วนตั้งแต่การพิมพ์ครั้งที่ 1 ซึ่งท่านผู้อ่านคงต้องใช้จินตนาการเติมข้อความในวงเล็บเหล่านี้เองว่าเป็นอย่างไร ความว่า

“ในเวลาได้เลือกเป็นคณะผู้สำเร็จราชการ,พระองค์อาทิตย์ฯยินดีมากจริงๆยิ่งได้เป็นประธานผู้สำเร็จฯเมื่อกรมอนุวัตรฯสิ้นพระชนม์,ยิ่งแสดงกิริยา (........),ถึงเที่ยวอวดกับญาติวงศ์ว่าเขาจะให้เป็น (........)เลย,และตัวเองก็ออกท่าทางล้อเลียนต่างๆตามที่เห็นมา”[22]

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

11 ธ.ค. 2563  ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
อ้างอิง
[1]เจ้าพระยามหิธร,บันทึกลับ 30มิถุนายน 2475,เว็บไซต์สถาบันปรีดีพนมยงค์,บทความเกร็ดประวัติศาสตร์,เผยแพร่วันที่ 16มิถุนายน 2562
https://pridi.or.th/th/content/2020/06/305

[2]ภิญญาสันติพลวุฒิเรียบเรียง,จเรพันธุ์เปรื่องผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ,บันทึกการเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวของคณะราษฎร,เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า
http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=บันทึกการเข้าเฝ้าฯ_พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวของคณะราษฎร

[3]บันทึกรายงานการอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความเห็นครั้งที่ 2,ญัตติเรื่องพระราชบันทึกของพระมหากษัตริย์,นายไต๋ปาณิกบุตรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครเสนอญัตติต่อพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนานายกรัฐมนตรี, ในการประชุมครั้งที่ 16/2477 สมัยสามัญที่สอง, 31 มกราคม พ.ศ. 2478, หน้า 878
https://library2.parliament.go.th/giventake/content_debate/db2-02.pdf

[4] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพิเศษ เรื่อง ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, เล่ม 51, ตอน 0ก, 7 มีนาคม พ.ศ. 2477, หน้า 1332
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2477/A/1332.PDF

[5] ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, เผยแพร่ในเว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์, หน้า 28-30
https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/2515-64.pdf

[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 29

[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า 30

[8] หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น (รวมเล่ม). พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : มติชน, 2562. ISBN 978-974-02-1263-8 ,หน้า 194

[9] สำนักพระราชวัง,นะซีน, ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ณ วัดเมรุวัดเทพศิรินทราวาส หน้า 14-15

[10] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์,ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 4)มรดก“ขุนนิรันดรชัย”กับความลับของ ”จอมพลป. “ในทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์, เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ และแฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, 27 พฤศจิกายน 2563
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3642316549161621/
https://mgronline.com/daily/detail/9630000121997

[11] ประวัติ พันตรี สเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499 หน้า (12)

[12] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 226
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf

[13] หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น (รวมเล่ม). พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : มติชน, 2562. ISBN 978-974-02-1263-8 ,หน้า 188-189

[14]คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 122-124
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf

[15] พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ , เขียนคำไว้อาลัยเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2499, ในหนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499 หน้า (2)

[16] หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น (รวมเล่ม). พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : มติชน, 2562. ISBN 978-974-02-1263-8, หน้า189-190

[17] เรื่องเดียวกัน, หน้า 186

[18] ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, เผยแพร่ในเว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์, หน้า 31-32
https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/2515-64.pdf

[19] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2553. 544 หน้า. ISBN 978-616-90238-5-2 หน้า 70-71

[20] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และตั้งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใหม่, เล่ม ๕๒, ตอน ๐ก, ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘, หน้า ๑๒๖๐
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2478/A/1260.PDF

[21] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2553. 544 หน้า. ISBN 978-616-90238-5-2 หน้า 398

[22] หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น (รวมเล่ม). พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : มติชน, 2562. ISBN 978-974-02-1263-8 ,หน้า 192

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 7) ยึดวังศุโขไทย ซ่อนพระแก้วมรกต ทรัพย์สินส่วนพระองค์สูญหาย/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

"ณ บ้านพระอาทิตย์"
"ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์"

“ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามวัง ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมศุโขไทยธรรมราชา ว่า “วังศุโขไทย”” [1]

ข้อความข้างต้นคือประกาศของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามวัง เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 อันเนื่องมาจากที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าให้สร้างวังแห่งนี้เพื่อเป็นของขวัญในการอภิเษกสมรส ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมศุโขทัยธรรมราชา กับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์

หลักฐานข้างต้น จึงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า วังศุโขไทย เป็นวังที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระราชทานสร้างวังนี้ให้เป็น “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” ก่อนจะขึ้นครองราชย์เป็น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 อย่างชัดเจน

ภายหลังจากการที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้สละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 (นับ พ.ศ.แบบปฏิทินปัจจุบัน) รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยกระทรวงการคลังได้ทำการฟ้องร้องคดีความแพ่งต่อสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ที่มีการโอนเงินจากกรมพระคลังข้างที่มาถือไว้หรือใช้จ่ายในนามพระองค์จำนวน 10 รายการ ระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2475 ถึงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2477 รวมมูลค่าและดอกเบี้ยถึงวันพิพากษาเป็นเงินทั้งสิ้น 6,272,712 บาท 92 สตางค์ [2] 
ธุรกรรมทางการเงิน 10 รายการที่เป็นเหตุในคดีฟ้องร้องนั้น เป็นการใช้พระราชอำนาจในการใช้จ่ายเงินจากกรมพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ขณะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น โดยในขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายจำกัดการใช้พระราชอำนาจในทรัพย์สินของกรมพระคลังข้างที่ใดๆด้วย

แม้ประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ไปแล้ว แต่ความจริงทรัพย์สินของแผ่นดินเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการ และทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ในนามกรมพระคลังข้างที่ ได้มีการแบ่งแยกกันตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

เมื่อการใช้เงินพระคลังข้างที่เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ดังนั้นจากหลักฐานตามเวลา ชัดเจนว่าธุรกรรมทางการเงิน 10 รายการ เกิดขึ้น ระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2475 ถึงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นเหตุในคดีฟ้องร้องนั้น เป็นการใช้พระราชอำนาจ “ก่อน” ที่จะสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 อย่างชัดเจน

หลักฐานตามเวลา ยังชัดเจนด้วยว่า ธุรกรรมทางการเงิน 10 รายการ ระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2475 ถึงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2477 นั้น ก็เป็นช่วงเวลา “ก่อน” ที่จะมี พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ซึ่งประกาศบังคับใช้ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ด้วย [3]

ดังนั้นการใช้ พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ซึ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ที่ให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง จึงเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นในภายหลังธุรกรรมทางการเงินที่เกิดเหตุไปก่อนหน้านั้นแล้วทั้งสิ้น

การฟ้องร้องเป็นคดีความนี้ มีประเด็นที่น่าจะพิจารณา ดังต่อไปนี้

ประการแรก การฟ้องร้องคดีได้อาศัย พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 มีผลบังคับใช้เมื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 อันเป็นกฎหมายใช้บังคับให้โทษย้อนหลังธุรกรรมทางการเงินของสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีที่ได้เกิดไปแล้ว

ประการที่สอง เป็นการเลือกปฏิบัติ โดยในกรณีที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงโอนเงินพระคลังข้างที่โดยอาศัยพระราชอำนาจที่จะกระทำได้ตามกฎหมายในฐานะพระมหากษัตริย์ แต่กลับถูกรัฐบาลฟ้องร้องดำเนินคดีความเพื่อยึดทรัพย์คืน [2]

ตรงกันข้ามกับนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและเครือข่ายที่ถูกอภิปรายว่าได้รุมซื้อ เช่า หรือผ่อนซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆโดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ที่ทรงยังเป็นยุวกษัตริย์และประทับอยู่ต่างประเทศ นักการเมืองที่แสวงหาประโยชน์จากทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์เหล่านี้ นอกจากจะไม่ถูกดำเนินคดีฟ้องร้องหรือยึดทรัพย์ใดๆแล้ว ยังได้รับคำยืนยันจาก พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ว่าเป็นเรื่อง “พระกรุณาฯ” ของคณะผู้สำเร็จราชการฯ ที่รัฐบาลมิอาจก้าวล่วงได้

สองเหตุการณ์ข้างต้น แสดงให้เห็นว่าตรรกะเรื่องพระราชอำนาจขัดแย้งกันเอง ทั้งๆที่สองกรณีเกิดขึ้นก่อนที่พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 จะมีผลบังคับใช้ [4]

ประการที่สาม รัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงครามโดยกระทรวงการคลังได้ดำเนินการอายัดทรัพย์สินของสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีก่อนจะมีคำพิพากษาเป็นผลสำเร็จ โดยคำสั่งของศาลอุทธรณ์อันเป็นผลทำให้ไม่มีทรัพย์สินภายในประเทศไทยที่จะต่อสู้คดีในกรุงเทพต่อไปได้ [5]

ประการที่สี่ มีการใช้อำนาจทางการเมืองแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้โยกย้ายอธิบดีศาลแพ่ง ภายหลังศาลแพ่งยกคำร้องของรัฐบาลที่จะอายัดทรัพย์สมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ก่อนมีคำพิพากษาถึง 2 ครั้ง รวมถึงการปลดผู้พิพากษาคนเดียวกันนี้ให้ออกจากราชการ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมยอมรับกับผู้พิพากษาที่ถูกปลดออกจากราชการว่า ไม่ได้มีความผิดใดๆ แต่เป็นเรื่องการเมือง [6]

ประการที่ห้า เนื่องจากคดีดังกล่าวนี้ศาลให้พิจารณาลับ โดยอ้างว่าจำเลยเป็นถึงพระมหากษัตริย์ไทยอันเป็นที่เคารพสักการะของไทยจึงให้พิจารณาลับเพื่อรักษาพระเกียรติของพระองค์ รายละเอียดเนื้อหาและเหตุผลของคำพิพากษาจึงไม่สามารถเปิดเผยได้อย่างสมบูรณ์ [2]

อย่างไรก็ตามปรากฏในเวลาต่อมาว่า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้พระราชทานสัมภาษณ์นักข่าวเมื่อปี พ.ศ. 2516 ซึ่งได้ปรากฏในหนังสือ “เบื้องแรกประชาธิปตัย” ซึ่งได้รวบรวมและจัดพิมพ์โดยสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ซึ่งทำให้ได้ทราบข้อมูลอันเป็นประเด็นสำคัญเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

ประการที่หก ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเสด็จพระราชดำเนินไปยังอังกฤษ เพื่อผ่าตัดรักษาพระเนตรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏว่าเอกสารสำคัญในประเทศไทย “หายไป”

เอกสารดังกล่าวคือ หลักฐานหนังสือมอบให้เอา “เงินส่วนพระองค์” ที่สะสมมาทดแทนกับจำนวนที่จะทรงเบิกเงินแผ่นดินที่ทรงเบิกเงินแผ่นดินอยู่เมืองนอกเป็นการชดเชยกัน ความปรากฏในการพระราชบันทึก การสัมภาษณ์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ความตอนหนึ่งว่า

“ในการเสด็จพระราชดำเนินยังประเทศอังกฤษครั้งนั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงเล่าว่า มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เหมือนกัน โดยเท้าความเข้าใจแต่ต้นว่า

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศุโขทัยธรรมราชานั้น มีเงินที่เป็นส่วนพระองค์ที่ได้รับพระราชทานเป็นประจำอยู่ ซึ่งเป็นเงินทุนส่วนของวังศุโขทัย แต่เมื่อขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เงินส่วนที่ว่านี้ยังคงมีอยู่ แต่ไม่ค่อยได้เอามาใช้ คงสะสมเอาไว้ คงใช้เงินส่วนที่เป็นของพระมหากษัตริย์เท่านั้น

ก่อนที่จะเสด็จไปอังกฤษ ในหลวงจึงทำหนังสือมอบให้ว่า ให้เอาเงินที่สะสมไว้นั้นมาทดแทนกับจำนวนที่จะทรงเบิกเงินแผ่นดินที่มีอยู่ในเมืองนอกเป็นการชดเชยกัน เงินอยู่เมืองนอกนั้นเป็นเงินกองกลางสำหรับพระเจ้าแผ่นดินทุกองค์จะเบิกมาใช้ได้

ที่ในหลวงต้องทรงทำเช่นนั้น ก็เพราะไม่ทราบว่าจะต้องประทับอยู่นานเท่าใด เงินที่จะเอาติดตัวไปก็น้อย และเมื่อไปแล้วจะให้ส่งไปก็ส่งไม่ได้”

“เงินเมืองนอกที่ว่านี้มีมาแต่สมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้นเงินส่วนของวังศุโขทัยที่ว่านี้ก็เป็นเงินที่ใช้ทดแทนกันนั่นเอง แต่แล้วก็กลายเป็นถึงฟ้องร้องกันในเวลาต่อมา ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นแล้วเอกสารของในหลวงที่ทรงไว้เกี่ยวกับการทดแทนกันก็หากันไม่พบ ไม่มีใครรู้ว่ามันหายไปไหน” [7]

ซึ่งแน่นอนว่าในขณะที่มีการฟ้องร้องและทำการยึดทรัพย์นั้น คือช่วงเวลาที่สมเด็จพระปกเกล้าฯ สละราชสมบัติไปแล้ว การดูแลเรื่องเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และพระราชวังทั้งหมด จึงอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาล และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจโดยสภาผู้แทนราษฎรภายใต้การนำของผู้ก่อการคณะราษฎร โดยมี “ขุนนิรันดรชัย” เป็น “ราชเลขานุการในพระองค์”

ประการที่เจ็ด ไม่มีคนไทยยอมรับเป็นทนายให้ในฝ่ายสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี โดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้ทรงพระราชทานสัมภาษณ์ต่อในประเด็นนี้ว่า

“...พระราชวังไกลกังวลในหลวงพระราชทานให้ฉัน ข้าวของทุกชิ้นที่นั่นทรงให้จารึกอักษรย่อว่า ร.พ.ทั้งนั้น...

...ทีนี้เขาก็ฟ้องอีกหาว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเอาเงินของแผ่นดินที่เมืองนอกไปใช้ ซึ่งความจริงก็เป็นอย่างที่เล่าให้ฟังแล้วว่า เป็นเงินส่วนของพระเจ้าแผ่นดิน และในหลวงก็ทรงทำหนังสือทดแทนกันอย่างที่ว่าแล้วเกิดหนังสือนี้มันหายไป

ระหว่างนี้ก็ได้ทราบว่าได้มีการส่งคนไปยึดวังไกลกังวลกันเฉยๆ ในหลวงท่านรับสั่งว่าจะขอเข้ามาสู้คดี ทางนี้เขาก็ไม่ยอม ขอมาอยู่แค่อินเดียเพื่อจะได้ติดต่อได้ง่ายก็ไม่ยอมอีก ก็เลยติดต่อกันทางหนังสือ ทนายความฝ่ายเราน่ะเป็นบริษัทฝรั่ง ไม่มีคนไทยเขายอมรับเป็นทนายให้เพราะเขาไม่กล้ากัน” [7]

สมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี มิได้ทรงมีโอกาสต่อสู้คดีในศาลเนื่องจากประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ โดยในชั้นแรก ทรงมีพระราชดำริที่จะเสด็จมาประทับที่เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดียชั่วคราว เพื่อที่ได้ทรงติดต่อกับนาย วี.เอช.เจ็กส์ ทนายความชาวอังกฤษได้สะดวก ได้ทรงจองเรือเมล์ไว้แล้ว

แต่พอดีเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น จึงต้องกลับพระทัยงดมาประทับที่อินเดีย และเมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอายัดหรือยึดทรัพย์ของจำเลยหมดสิ้นแล้ว ฝ่ายจำเลยก็หมดกำลังทรัพย์ที่จะต่อสู้คดีต่อไป

จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่าฝ่ายสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ย่อมเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการต่อสู้คดี เพราะทนายความต่างชาติไม่สามารถจะมีข้อมูลหรือเข้าถึงหลักฐานข้อมูลเกี่ยวกับในสำนักพระราชวังได้โดยง่าย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่สมเด็จพระปกเกล้าฯ ไม่สามารถที่จะเข้ามาในประเทศไทยได้ด้วยพระองค์เอง ในช่วงการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกทั้งยังมีการอายัดทรัพย์สินในพระราชวังทั้งพระราชวังไกลกังวล และวังศุโขไทยเอาไว้แล้ว ล้วนแล้วแต่เป็นวังที่มีความสำคัญในค้นหาเอกสารและหลักฐานทั้งปวง และการติดต่อกันทางหนังสือในคดีสำคัญในยุคที่การสื่อสารยังไม่พัฒนานั้น ย่อมอยู่ในภาวะที่ยากลำบากในการต่อสู้คดี

ประการที่แปด สมเด็จพระปกเกล้าฯสิ้นพระชนม์ก่อนจะมีคำพิพากษาศาลแพ่ง โดยปรากฏว่าสมเด็จพระปกเกล้าฯสวรรคตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 แต่ในขณะที่ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2484 สมเด็จพระปกเกล้าฯจึงไม่สามารถจะไปต่อสู้คดีให้จบลงด้วยพระองค์เองได้

ประการที่เก้า เป็นการพิพากษาศาลเดียว จึงย่อมไม่มีการอุทธรณ์และฎีกา โดยหลังการอายัดทรัพย์ทำให้เงินทองไม่ค่อยมีเหลือ ทำให้จำเลยถูกยึดทรัพย์ไปในที่สุด ปรากฏตามการพระราชทานสัมภาษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ความตอนนี้ว่า

“แต่ผลที่สุดเราก็แพ้เขาไป คดีแค่ศาลเดียวเท่านั้น เขาตีราคาวัง 3 ล้าน รวมกับที่ดินแล้วก็เป็น 6 ล้านด้วยกัน”

ในช่วงเวลาที่ประทับอยู่ในอังกฤษนั้น ในหลวงทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ด้วยการเสด็จฯเที่ยวตามแต่โอกาสจะอำนวยให้ “ไปไหนไม่ค่อยสะดวกนักหรอก เพราะเงินทองก็ไม่ค่อยมี”” [8]

ประการที่สิบ นอกจากยึดวังไปแล้ว รัฐบาลยังได้ยึด “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” ที่ได้มา “ก่อน” ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จะขึ้นครองราชย์ไปด้วย และเตรียมขายทอดตลาด ปรากฏตามการพระราชทานสัมภาษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ความตอนนี้ว่า
“ระหว่างที่ในหลวงครองราชย์นั้น โดยตำแหน่งไม่มีเงินปีเป็นของพระองค์เอง เพราะถือว่าใช้ด้วยกันกับพระมหากษัตริย์ ตอนนั้นในหลวงได้อยู่ปีละ 6 ล้านบาท แต่ต่อมาเหลือ 3 ล้านบาท

ในหลวงท่านทรงตัดยอดเงินเอง เพราะทรงเห็นว่าเศรษฐกิจไม่ดี ตอนที่เป็นคดีกันนั้น เมื่อสิ้นสุดแล้ว และเมื่อทรงสละราชสมบัติทรัพย์สินส่วนพระองค์เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหลวงศุโขทัยธรรมราชา ก็พลอยถูกยึดไปด้วยหมด ทั้งๆที่พระองค์ท่านก็ได้ระบุไว้ชัดว่า สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงก่อนที่จะได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์” [8]

ต่อมากองบังคับคดีทางแพ่ง ได้ออกประกาศขายทอดตลาดกองบังคับคดีทางแพ่งเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2484 โดยนำทรัพย์สินในวังจำนวนกว่า 288 รายการ 14 หีบเพื่อมาขาย รวมถึง เครื่องประดับ อัญมณี เครื่องใช้ในวัง เป็นต้น

แต่ต่อมากรมบังคับคดีก็ได้มีหนังสือลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เพื่อระงับการขายเอาไว้ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศไทย และรัฐบาลไทยได้ทำพิธีลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 โดยประเทศไทยอยู่ในช่วงการถูกกดดันให้ลงนามทางการทหารฝ่ายอักษะและยกเลิกความสัมพันธ์กับประเทศกลุ่มฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งหมด
เหตุการณ์ การหยุดขายทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ยังควรต้องถูกบันทึกเอาไว้อีกด้วยว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีแผนโยกย้ายเมืองหลวงไปตั้งที่เพชรบูรณ์ เนื่องด้วยเพราะประเทศไทยอยู่ในภาวะสงคราม กรุงเทพมหานครจึงมีความเสี่ยงถูกโจมตีทิ้งระเบิดอย่างหนักจากฝ่ายสัมพันธมิตร [9]

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงปรากฏคำสัมภาษณ์ภายหลังต่อมาของ พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2552 โดยคณะผู้สัมภาษณ์นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ขอกราบเรียนสัมภาษณ์ในขณะที่หลวงปู่ มีอายุ 98 ปี

ซึ่งทำให้ทราบข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้มีการบันทึกมาก่อนหน้านั้นว่า เมื่อปี พ.ศ. 2489 พระอุดมญาณโมลีเป็นผู้ที่ได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ให้มาอัญเชิญพระแก้วมรกตจากถ้ำฤาษีสมบัติ ที่เมืองเพชรบูรณ์กลับไปยังกรุงเทพมหานคร ได้ความว่า

“…เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ มีพระบัญชาให้หลวงพ่อซึ่งในขณะนั้นสอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค จำพรรษาอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ให้เป็นผู้เดินทางไปอัญเชิญพระแก้วมรกตที่ได้อัญเชิญไปประดิษฐานอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

โดยเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปกับลูกศิษย์คนหนึ่งและหม่อมเจ้าหรือหม่อมราชวงศ์? จากสำนักพระราชวังคนหนึ่ง ซึ่งจำไม่ได้เพราะทุกคนเสียชีวิตหมดแล้ว เดินทางโดยรถไฟสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ไปลงที่สถานีรถไฟตะพานหิน จังหวัดพิจิตร แล้วนั่งรถยนต์ ซึ่งขณะนั้นใช้ฟืนถ่านต้มหม้อน้ำให้เดือด แล้วไอน้ำดันเครื่องยนต์ทำงานขับเคลื่อนล้อรถ เดินทางไปถึงเพชรบูรณ์หนทางลำบากมาก…

…การอัญเชิญพระแก้วมรกตในครั้งนี้มีทรัพย์สินอย่างอื่นด้วย คือ ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ และสมบัติอื่นๆ อันมีค่าของชาติ” [10]-[12]

จากข้อมูลดังกล่าวนี้ จึงทำได้รู้ว่าพระแก้วมรกตองค์จริงได้เคยถูกอัญเชิญย้ายจากกรุงเทพมหานครมาที่จังหวัดเพชรบูรณ์มาก่อนหน้านี้ พร้อมกับทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ที่มีค่าจำนวนมาก ซึ่งไม่มีใครรู้ว่ามีอะไรบ้าง มาจากสถานที่ใด พระราชวังใด และขนย้ายมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ไปถูกซ่อนเอาไว้ที่ถ้ำแห่งนี้เป็นเวลาหลายปี ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี [10]-[12]

ถ้าปราศจากบทสัมภาษณ์ของ พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) เมื่อปี พ.ศ. 2552 นี้ ก็คงจะไม่เหลือพยานสำคัญที่จะมาต่อจิ๊กซอว์ทางประวัติศาสตร์ในเรื่องประเด็นผลประโยชน์ในทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ที่สำคัญครั้งนี้ได้เลย

ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ให้กระทรวงสาธารณสุข ย้ายมาอยู่ที่ “วังศุโขทัย “ ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 โดยเช่าอาคาร ต่าง ๆ จาก สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท กระทรวงสาธารณสุข ตั้งอยู่ที่วังศุโขทัย เป็นเวลานานถึง 8 ปี [13]

จนกระทั่งวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 แผนการย้ายเมืองหลวงไปจังหวัดเพชรบูรณ์ต้องเป็นอันต้องยุติลงไป เพราะสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบด้วยเสียงข้างมาก 48 ต่อ 36 ในการลงมติเพื่อรับรอง พระราชกำหนดจัดระเบียบราชการบริหารนครบาล เพชรบูรณ์ พ.ศ. 2487 ด้วยเหตุผลว่า

“เพชรบูรณ์เป็นแดนกันดาร ภูมิประเทศเป็นป่าเขาและมีไข้ชุกชุม เมื่อเริ่มสร้างเมืองนั้นผู้ที่ถูกเกณฑ์ไปทำงานล้มตายลงนับเป็นพัน ๆ คน....” [9]

หลังจากนั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2487 และประเทศญี่ปุ่นได้ยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ภายหลังจากการที่สหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ แต่พระแก้วมรกตและทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ก็ยังคงอยู่ที่ถ้ำฤาษีสมบัติ จังหวัดเพชรบูรณ์ เหมือนเดิม
ความสามัคคีร่วมมือกันในการกอบกู้ชาติไม่ให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้แพ้สงครามกลายเป็นหลักการใหญ่ ภายใต้ขบวนการเสรีไทย ซึ่งนำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งได้ทำงานร่วมกับกลุ่มเจ้าซึ่งเป็นผู้นำเสรีไทยในหลายประเทศ จนสามารถฝ่าวิกฤติชาติได้

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีการปรับความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นเป็นลำดับ และมีข้อตกลงที่หาทางคลี่คลายความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตอีกด้วย โดยเฉพาะข้อตกลงการออกกฎหมายนิรโทษกรรมปลดปล่อยนักโทษการเมืองให้กับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาขุนชัยนาทนเรนทรและคนอื่นๆด้วย [14]

วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ออกประกาศสันติภาพ ใจความว่าการประกาศสงครามต่อสหรัฐและบริเตนใหญ่เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 เป็นโมฆะ และประเทศไทยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติ ในการสถาปนาสันติภาพในโลกนี้

ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง เพื่อที่จะไม่ต้องทำให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, หลวงวิจิตรวาทการ, พลตรีประยูร ภมรมนตรี, และนายสังข์ พัธโนทัย ต้องถูกฝ่ายสัมพันธมิตรบังคับนำส่งอาชญากรสงครามในประเทศไทยไปขึ้นศาลต่างประเทศ

รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ร่วมกับนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงได้เร่งผลักดันให้มี พระราชบัญญัติ อาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2488 [15] เพื่อที่ประเทศไทยจะได้มีศาลอาชญากรสงครามในการพิจารณาพิพากษาคดีอาชญากรสงครามในประเทศไทยได้เอง

วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัตประเทศไทย และเนื่องจากพระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงสามารถบริหาราชการแผ่นดินโดยไม่ต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอีก [16] โดยการเสด็จนิวัติประเทศไทยครั้งนี้ ทางราชการได้จัดพระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมหาราชวังเป็นที่ประทับ

ต่อมาวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2489 ศาลฎีกาคดีอาชญากรสงคราม ได้มีคำพิพากษา เลขที่ 1/2489 สรุปความว่า พระราชบัญญัติ อาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 ไม่สามารถเอาผิดจำเลยทั้งสี่คนได้ เพราะเป็นการกระทำทีเกิดขึ้นก่อนกฎหมายประกาศบังคับใช้วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2488 จอมพลป. พิบูลสงคราม และคณะจึงรอดพ้นการลงโทษคดีอาชญากรสงครามไปได้ [17]

อย่างไรก็ตามจากคำให้การในศาลอาชญากรสงครามของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ในฐานะประธานคณะผู้สำเร็จราชการในช่วงเกิดเหตุก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการได้ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยสาระสำคัญสรุปได้ 2 ประเด็นสำคัญว่า

ประเด็นแรก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในขณะที่เป็นนายกรัฐมนตรีได้เคยมาขอเงินพระราชทานจากประธานคณะผู้สำเร็จราชการไปใช้ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวและครอบครัวหลายครั้ง ซึ่งไม่ได้ระบุว่าเป็นจำนวนเงินเท่าใด และประธานคณะผู้สำเร็จราชการก็ได้ยินยอมให้เงินพระราชทานไปด้วยความไม่เต็มพระทัย โดยขุนนิรันดรชัย ราชเลขานุการ ที่มาติดต่อนั้นใช้การพูดที่เป็นการข่มขู่กลายๆ [18]

ประเด็นที่สอง “ขุนนิรันดรชัย” ได้เคยนำเครื่องพระสำอางค์ของพระเจ้าแผ่นดินและสมเด็จพระราชินี ซึ่งไม่ได้อยู่ที่พระราชวังศุโขไทย ไปให้ครอบครัวจอมพล ป.ใช้โดยไม่ได้รับการอนุมัติจากประธานคณะผู้สำเร็จราชการอีกด้วย [18]

ซึ่งถ้าทำให้การนี้เป็นจริง ก็แปลว่ามีบัญชีทรัพย์สินอย่างน้อยก็ “เครื่องพระสำอางค์” และ “เงิน” ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ และหรือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ย่อมสูญหายไปด้วยเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและครอบครัวของจอมพล ป.พิบูลสงครามหรือไม่ และจะมีทรัพย์สินอื่นสูญหายไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของคนในรัฐบาลจะมีมากกว่านี้อีกหรือไม่

(มีต่อ)

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์



18 ธ.ค. 2563 ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2489 หลังคำพิพากษาศาลอาชญากรสงครามผ่านไป 1 วัน นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 7


โดยมติเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร แทนนายควง อภัยวงศ์ ที่ลาออกไปเพราะแพ้มติสภาที่เสนอกฎหมายที่รัฐบาลรับไม่ได้

โดยหลังจาก นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี แล้ว จึงเกิดการขนย้ายพระคลังสมบัติและอัญเชิญพระแก้วมรกตจากถ้ำฤาษีสมบัติ จังหวัดเพชรบูรณ์ที่ถูกนำไปซ่อนไว้ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับคืนมาที่ กรุงเทพมหานคร เสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2489 ตามหนังสือแจ้งของ พันเอกหาญ อุดมสรยุทธ์ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 [10]-[12]

โดยปรากฏคำสัมภาษณ์ของ พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) เมื่อปี พ.ศ. 2552 ในขั้นตอนการขนย้ายกลับพระแก้วมรกต และทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ความตอนหนึ่งว่า

“โดยมีพิธีการอัญเชิญ มีทหารยืนเข้าแถวเป็นระเบียบ ตั้งแถวเป็นแนวยาวรอรับ มีนายทหาร มีทหารฝรั่งต่างชาติด้วย และมีทหารผิวดำคล้ายๆ ทหารจากแอฟริการ่วมในพิธีด้วย

โดยการอัญเชิญกลับในครั้งนั้น บรรทุกเดินทางโดยขบวนรถยนต์ของทางการทหารกลับกรุงเทพฯ ซึ่งหลวงพ่อก็ไม่ได้กลับพร้อมขบวนรถนั้น โดยในระหว่างนั้นหลวงพ่อได้ไปพักที่วัดมหาธาตุ ในตัวเมืองเพชรบูรณ์ พักอยู่เป็นเวลาประมาณ 7 วัน…” [10]-[12]

อย่างไรก็ตาม ก็มีเสียงเล่าลือในหมู่ชาวบ้านละแวกนั้นว่า ยังมีสมบัติอีกส่วนหนึ่งถูกซ่อนไว้ไม่ได้ขนกลับไป หรือว่าทหารลืมขนสมบัติกลับไป [10]

หนึ่งเดือนเศษผ่านไป นับแต่วันเสร็จสิ้นภารกิจอัญเชิญพระแก้วมรกต และทรัพย์สินอื่นๆกลับกรุงเทพ ก็เกิดเหตุโศกนาฏกรรมขึ้น เพราะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 สวรรคตด้วยพระแสงปืน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในตอนเช้าวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489

ในขณะเดียวกันก็มีการปล่อยข่าวโจมตีให้ร้ายเพื่อกำจัด นายปรีดี พนมยงค์ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการลอบปลงพระชนม์ จนเป็นเหตุทำให้นายปรีดี พนมยงค์ ต้องตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 2 ครั้ง และการลาออกในครั้งหลังนี้ จึงได้ส่งไม้ต่อไปให้ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ให้ความไว้วางใจขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในลำดับต่อมาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2498

นับเวลาได้ 7 เดือน ภายหลังจากการเสร็จภารกิจในการย้ายพระแก้วมรกต และทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์จากถ้ำฤาษีสมบัติ จังหวัดเพชรบูรณ์กลับมาที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่มีใครทราบว่ามีความครบถ้วนเพียงใด แต่ก็ได้เกิดสัญญาที่สำคัญในการ “เลิกแล้วต่อกัน” ในการคืนวังศุโขทัย ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินส่วนพระองค์ “ที่ยังเหลือ” คืนให้กับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีตามมา

โดยวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489 พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้ทำสัญญาประนีประนอมระหว่างรัฐบาลกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี โดยมีสาระสำคัญสรุปว่า

บรรดาทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหลายที่ผูกพันกันอยู่นั้น เป็นอันให้เลิกแล้วต่อกัน รัฐบาลได้มาแล้วเท่าไรก็เอาเท่านั้น ส่วนวังศุโขไทยจะให้แก่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีประทับอยู่ไปจนกว่าจะสวรรคต (ซึ่งหมายความว่าไม่ยอมคืนให้) และรวมถึงการเจรจาที่มีมาก่อนหน้านี้ที่จะอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับคืนประเทศไทย

ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2490 พลโทผิน ชุณหะวัณ ซึ่งสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และเป็นผลทำให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ได้อีก 150 วัน

หลังจากนั้น นายควง อภัยวงศ์จึงถูกคณะรัฐประหารบังคับให้ลาออกภายใน 24 ชั่วโมง และทำให้จอมพล ป.พิบูลสงครมกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2491 และรอบนี้เป็นนายกรัฐมนตรียาวนานถึง 9 ปี 161 วัน

หลังจากนั้นกว่าที่ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี จะเสด็จกลับมาประทับยังวังศุโขไทยอีกครั้ง ก็ยังไม่ใช่เรื่องง่าย โดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้ทรงพระราชทานสัมภาษณ์เมื่อปี พ.ศ. 2516 ความตอนนี้ว่า

“ตอนที่ญี่ปุ่นบุกเมืองไทยนั้น ในหลวงสวรรคตแล้ว ทางรัฐบาลก็มีหนังสือไปอัญเชิญเสด็จฯกลับ แต่ฉันก็ไม่เคยนึกว่าจะได้กลับเมืองไทยหรอก จนกระทั่งเสร็จสงครามแล้ว ตอนกลับมาไม่มีบ้านอยู่หรอก เพราะวังศุโขทัยเขาใช้เป็นที่ตั้งกระทรวงสาธารณสุข ก็เลยต้องไปอาศัยอยู่วังสระปทุมถึง 2 ปี ถึงจะได้กลับมาอยู่ที่นี่ (วังศุโขทัย)ก่อนจะเข้าอยู่ต้องซ่อมเสียยกใหญ่”[8]

อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีก็ยังได้ทรงเล่าตัวอย่างเพิ่มเติมว่ามี “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” บางอย่างที่มีคุณค่าแก่ความทรงจำและจิตใจในงานแต่งงาน แต่ก็ไม่ได้กลับคืนมาหรือหายไป ความว่า

“แม้แต่เครื่องยศ หีบทองอันหนึ่งที่พระมงกุฎฯพระราชทานให้ฉันในวันแต่งงาน ก็เก็บเอาไป จนเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ได้คืน”[8]

อ้างอิง
[1] “ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระราชทานนามวัง, เล่ม ๓๕, ตอน ๐ก, ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๑, หน้า ๒๔๗
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2461/A/247.PDF

[2] คำพิพากษาศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ 242/2482 คดีหมายเลขแดงที่ 404/2482

[3] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479, เล่ม 54, ตอน 45ก, 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480, หน้า 778
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/17086/SOP-DIP_P_401313_0001.pdf?sequence=1

[4] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 กระทู้ถามเรื่อง ที่ดินของพระมหากษัตริย์ ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถามนายกรัฐมนตรี วันที่ 27 กรกฎาคม 2480

[5] คุณหญิงมณี สิริวรสาร, ชีวิตนี้เหมือนฝัน ฉบับสมบูรณ์ เล่ม 1 และ เล่ม 2/ นรุตม์ เรียบเรียง, พิมพ์ครั้งที่ 2-กรุงเทพฯ, อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง,/2558 ISBN 978-616-18-0915-7, หน้า 306-307

[6] พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ (สุทธิ เลขยานนท์) “บันทึกเรื่องการถูกให้ออกจากราชการและกลับเข้ามาใหม่”, ในหนังสือ “เที่ยวเมืองพระร่วง” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ พิมพ์ครั้งที่ 10, 1,000 เล่ม, พ.ศ. 2521 (โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ), เลขหมู่หนังสือ 915.9365 หน้า 61-65

[7] พระราชบันทึก ทรงเล่าของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี, เบื้องแรกประชาธิปตัย เล่ม 1, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, พิมพ์ครั้งที่ 3 มิถุนายน 2560, ISBN: 978-616-91915-8-2, หน้า 30-31

[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า 32

[9] จุฑามาศ ประมูลมาก เรียบเรียง, นรนิติ เศรษฐบุตร และนิยม รัฐอมฤตผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ, การเตรียมการย้ายเมืองหลวงไปจังหวัดเพชรบูรณ์, เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า
http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=การเตรียมการย้ายเมืองหลวงไปจังหวัดเพชรบูรณ์

[10] ธีระวัฒน์ แสนคำ, อัญเชิญ “พระแก้วมรกต” หนีสงครามไปประดิษฐานในถ้ำพร้อมสมบัติอีกอื้อ ?!?,ศิลปวัฒนธรรม, ฉบับมิถุนายน 2558, เผยแพร่ในเว็บไซต์วันที่ 17 สิงหาคม 2563
https://www.silpa-mag.com/history/article_17347

[11] วีรยุทธ วงศ์อุ้ย. “ย้อนอดีต…‘พระอุดมญาณโมลี’ อัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ จากเพชรบูรณ์กลับกรุงเทพฯ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ตอนที่ 1),” ใน หนังสือพิมพ์เสียงเพชร. ปีที่ 4 ฉบับที่ 38, สิงหาคม 2552

[12] วีรยุทธ วงศ์อุ้ย. “ย้อนอดีต…‘พระอุดมญาณโมลี’ อัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ จากเพชรบูรณ์กลับกรุงเทพฯ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ตอนที่ 2),” ใน หนังสือพิมพ์เสียงเพชร, ปีที่ 4 ฉบับที่ 38 พฤศจิกายน 2552

[13] ประวัติกระทรวงสาธารณสุข, เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข
https://www.moph.go.th/index.php/about/moph

[14] ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์, บริษัท บพิธการพิมพ์ จำกัด, จำหน่ายโดย บริษัท เคล็ดไทย จำกัด, พิมพ์ครั้งที่สอง, เมษายน พ.ศ. 2526 หน้า 550-551

[15] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ อาชญากรสงคราม พุทธศักราช 2488, ตอนที่ 58, เล่มที่ 62, หน้า 591, วันที่ 11 ตุลาคม 2488
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/13367/SOP-DIP_P_401936_0001.pdf?sequence=1

[16] ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, เล่ม 62, ตอน 52ก, 20 กันยายน พ.ศ. 2488, หน้า 559
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/A/052/559.PDF

[17] ธโนชัย ปรพัฒนชาญ ผู้เรียบเรียง, จเร พันธุ์เปรื่อง ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ, อาชญากรสงคราม, เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า
http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=อาชญากรสงคราม

[18] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 122-124

18 ธ.ค. 2563 ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 8) จากข่าวปล่อย “ขายพระแก้วมรกต” ถึงพระราชบันทึกลับในศึกนิติสงครามชิงพระราชทรัพย์ / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ในปลายปี พ.ศ. 2563 ได้มีความพยายามอีกครั้งหนึ่ง จากคนบางกลุ่มที่ปล่อยข่าวให้ร้ายว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีความคิดจะขายพระแก้วมรกต

โดยข่าวดังกล่าวนี้เป็นการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ เมื่อวันอังคารที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1935 (พ.ศ. 2478) ซึ่งเป็นอ้างแหล่งข่าวจากสำนักข่าวเอพีอีกทอดหนึ่ง โดยข่าวดังกล่าวนั้นแปลเป็นภาษาไทยมีดังนี้

พาดหัวว่า “กษัตริย์สยามทรงขู่ว่าจะขายทั้งหมด”

และโปรยข่าวว่า “พระองค์ตรัสว่าพระองค์จะละทิ้งทรัพย์สมบัติอันมหาศาลในการเคลื่อนไหวครั้งใหม่เพื่อพระราชอำนาจอันสมบูรณ์” หลังจากนั้นก็ได้ลงรายละเอียดของเนื้อข่าวว่า เป็นรายงานที่ไม่ได้สัมภาษณ์จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยตรง หากแต่เป็นการได้รับรายงานจากข่าวปล่อยที่อ้างเอาว่าเป็นข่าวที่น่าเชื่อถือได้ ทั้งๆ ที่ข่าวนี้มีวัตถุประสงค์อย่างชัดเจนว่าต้องการทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีคำแปลเนื้อความดังนี้

“กรุงเทพ, สยาม, วันอังคารที่ 22 มกราคม (AP) - พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (King Prajadhipok) ได้ทรงขู่ว่าจะขายทรัพย์สินที่ทรงครอบครองอยู่ในสยามอย่างมากมายในนาทีสุดท้าย เพื่อเคลื่อนไหวนำรัฐบาลให้อยู่ในร่องในรอย รายงานในวันนี้จากสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือได้
มีรายงานว่าพระองค์ทรงเคยตรัสว่าจะลาออกไปนอกประเทศตลอดกาล เว้นเสียแต่ว่าถ้ารัฐบาลจะยอมทำตามข้อเรียกร้องของพระองค์เมื่อเดือนตุลาคม (ผู้แปล-พ.ศ. 2477) ในการคืนพระราชอำนาจในการควบคุมเกี่ยวกับการลงโทษประหารชีวิต

มีรายงานว่า อังกฤษแสดงความสนใจในการซื้อทรัพย์สินของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่เพียงพระราชวัง วัด (shrine) ที่เต็มไปด้วยความงดงามของอารยธรรมตะวันออก และที่ดินอันอุดมสมบูรณ์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง "พระแก้วมรกต" อัญมณีอันมีชื่อเสียง และเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิ และความยิ่งใหญ่ของชาติสยาม พระแก้วมรกตเป็นหินสุกใสขนาดใหญ่ที่มีด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธเจ้า และถือเป็นทรัพย์สินของกษัตริย์

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับผลตอบแทนจากทรัพย์สินของพระองค์ปีละ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

พระองค์ประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่การผ่าตัดพระจักษุเมื่อฤดูร้อนที่แล้ว โดยคณะผู้แทนทางการทูตของสยามเดินทางมายังกรุงลอนดอนเพื่อโน้มน้าวให้พระองค์กลับประเทศ ขณะที่ยังมีอีกหลายกลุ่มที่กระจายตัวไปยังแหล่งพักผ่อนอื่น ๆ ในยุโรป ขณะที่รัฐบาลในสยามก็กำลังร่างคำตอบสำหรับข้อเรียกร้องของพระองค์

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้กำลังระหว่างที่พระมหากษัตริย์ประทับอยู่นอกประเทศบังคับให้พระญาติบางส่วนออกจากตำแหน่งราชการและแก้ไขรัฐธรรมนูญ พระญาติเหล่านั้นได้ร่วมกับกองกำลังอีกส่วนหนึ่งพยายามที่จะต่อต้านโดยไม่ประสบผลสำเร็จ

เกิดข่าวลือกันมากมายเกี่ยวกับการคาดเดาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งต่อไปหากพระมหากษัตริย์ทรงสละราชสมบัติตามคำขู่จริง มีตัวเลือกอยู่สองสามทาง ทายาทโดยชอบธรรม คือหนึ่งในพระราชนัดดา (ไม่มีมงกุฎราชกุมาร) จะไม่ยอมรับตำแหน่ง ส่วนพระราชนัดดาอีกพระองค์ คือพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์นั้น เป็นที่ยอมรับ แต่มีพระมารดาเป็นชาวรัสเซีย จึงทำให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้” [1]

นอกจากเนื้อข่าวจะได้อ้างพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยไม่ได้เป็นการสัมภาษณ์พระองค์โดยตรง แม้จะมีความจริงที่ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอาจจะทรงความคิดที่ว่าจะสละราชสมบัติ แต่ข่าวที่มีการอ้างเรื่องชาวอังกฤษจะซื้อทรัพย์สินรวมถึงพระแก้วมรกตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในเนื้อข่าวเดียวกันเป็นคนละเรื่องกัน

เพราะไม่เคยมีข้อความว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเคยมีพระราชประสงค์ขายทรัพย์สินของชาติเช่นนั้นเลย อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่าเนื้อหาในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวนี้ มีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญหลายเรื่อง เช่น การสละราชสมบัติ ข่าวการสืบสันตติวงศ์ ข่าวเรื่องพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษนักโทษการเมือง รวมถึงการอ้างถึงเหตุการณ์ข้อเรียกร้องในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2477 นั้นมาจากแหล่งข่าวอย่างไร

เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า ข่าวทั้งหมดเป็นการบิดเบือนโดยดัดแปลงต่อเติมเสริมแต่งจาก “พระราชบันทึกลับ” ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่มีต่อรัฐบาลภายใต้การนำของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีที่มีมาก่อนหน้านี้

คำถามต่อมามีอยู่ว่า เหตุการณ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาล ซึ่งมีมาตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2477 นั้นมีอะไรเกิดขึ้น สำนักข่าวดังกล่าวจึงได้นำมาเสนอข่าวในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2478

โดยข่าวดังกล่าวนี้ได้มีการเผยแพร่ประมาณ 9 วัน “ก่อน” ที่สภาผู้แทนราษฎรจะได้มีการจัดประชุมครั้งที่ 16/2477 (สามัญ) สมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2478 โดยเป็นการประชุม “ด่วนและลับ” เพื่อเปิดเผยเอกสารเรื่องพระราชบันทึกของพระมหากษัตริย์นี้ [2]

เป็นไปได้หรือไม่ว่าในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ข่าวดังกล่าวนี้เป็นการเผยแพร่นำ “ข่าวด่วนและลับ” ซึ่งเป็นเอกสารเตรียมการประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปดัดแปลงต่อเติมแล้วปล่อยข่าวดักหน้า เพื่อทำลายชื่อเสียงของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อน และปูพื้นให้สังคมมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการขายสมบัติของชาติ หรือไม่

การปล่อยข่าวเช่นนี้ เพื่อนำไปสู่การแสวงหาความชอบธรรมที่จะทำ “นิติสงคราม” ย้ายอำนาจของทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ให้มาอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของนักการเมืองในเวลาต่อมา ก่อนที่จะมีเหตุการณ์ที่นักการเมืองแห่รุมซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ ตามมา จนกลายเป็นการกระทู้ตั้งคำถามและการอภิปรายที่อื้อฉาวที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์คณะราษฎร เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี ใช่หรือไม่

ทั้งนี้ เพราะไม่ปรากฏข้อความใดเลย ในพระราชบันทึกลับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าทรงขายทรัพย์สมบัติ ไม่ว่าพระราชวัง วัด หรือพระแก้วมรกต ฯลฯ [2]

ในทางตรงกันข้าม “พระราชบันทึกลับ” กลับระบุถึงความคิดที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสละราชสมบัติ หากนักการเมืองคิดผูกขาดอำนาจสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 ไปเป็นของคณะราษฎรกันเอง

โดยก่อนหน้านั้น ทรงเคยมีพระราชบันทึกว่าจะสละราชสมบัติ หากรัฐบาลมีความคิดจะชิงทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ไปบริหารกันเองและจัดสรรเงินประจำปีให้กับองค์พระมหากษัตริย์แบบอังกฤษ หรือมีความคิดของรัฐบาลยกเลิกทหารพระราชวังจนเกิดความไม่ปลอดภัยต่อองค์พระมหากษัตริย์ รวมทั้งการลงโทษ

นักการเมืองโดยการตั้งศาลพิเศษขึ้นมากันเอง ตลอดจนความคิดที่จะจับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นองค์ประกันเพื่อบังคับให้พระองค์ทำตามที่รัฐบาลต้องการ

เนื้อหาในพระราชบันทึกลับตามที่ระบุข้างต้นนี้อยู่ในการประชุมลับในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2478 แต่กลับไม่มีเนื้อหาเหล่านี้เผยแพร่ในสำนักข่าวต่างประเทศเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2478 เลย

เนื้อหาที่ทรงไม่เห็นด้วยกับเรื่องการเลือกสภาผู้แทนราษฎรโดยคณะราษฎรกันเอง โดยไม่มีการเพิ่มพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการคัดค้านกฎหมาย มีข้อความบางตอนในพระราชบันทึกลับเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2477 [2] ที่ทรงมีต่อคณะรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรดังต่อไปนี้

“...ประเทศเรายังไม่คุ้นเคยกับการปรึกษาราชการในสภา จึงควรให้มีสมาชิกประเภทที่ 2 ซึ่งเลือกตั้งโดยคุณวุฒิเป็นผู้มีวิชาสูง หรือเคยชินกับงานแผ่นดิน เพื่อเป็นผู้นำทางให้แก่สมาชิกประเภทที่ 1 ที่ราษฎรเลือกตั้งขั้นมา หลักการอันนี้พอฟังได้ ถ้าได้ทำกันตามนั้นจริง [3]

แต่เมื่อได้ตั้งกันขึ้นแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ กลับกลายเป็นเลือกตั้งแต่พวกที่อยู่ในคณะผู้ก่อการเป็นส่วนมาก และความจริงหาได้มีคุณวุฒิ หรือความเคยชินกับการงานดีไปกว่าสมาชิกประเภทที่ 1 เลย [3]

เมื่อการเป็นดังนี้ ก็จำเป็นอยู่เองที่จะมีผู้กล่าวว่า คณะรัฐบาลเลือกตั้งคนเหล่านั้น เพื่อความประสงค์ที่จะกุมอำนาจไว้ให้ได้เท่านั้น แม้ราษฎรจะเห็นด้วยกับนโยบายของตนหรือไม่ก็ตามที ข้อความในมาตรา 2 แห่งรัฐธรรมนูญก็เป็นหมันไปทันที เป็นการเขียนเพื่อตบตา เพื่อหลอกกันเล่นเท่านั้นเอง [3],[4]

...สมบูรณาญาสิทธิของคณะ ย่อมไม่มีใครนับถือ มีแต่ต้องทนไป เพราะกลัวอาชญา และกลัวรถเกราะและปืนกล น่ากลัวว่าความไม่พอใจจะมีอยู่เรื่อยไป ข้าพเจ้าต้องขอให้แก้ไข [5]

ข้าพเจ้าได้พูดไว้นานแล้วว่า ข้าพเจ้ายอมสละอำนาจของข้าพเจ้าให้ราษฎรทั้งปวง แต่ไม่สมัครที่จะสละอำนาจให้แก่บุคคลใด บุคคลหนึ่ง หรือคณะใดคณะหนึ่ง เว้นแต่จะรู้แน่ว่าเป็นความประสงค์ของประชาชนอันแท้จริงเช่นนั้น” [5]

ส่วนในประเด็นการเพิ่มพระราชอำนาจในการคัดค้านกฎหมาย ก็เพราะเนื่องด้วยมีสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มาจากคณะราษฎรเลือกกันเองทั้งหมดถึงครึ่งหนึ่ง จึงควรต้องเพิ่มพระราชอำนาจในการถ่วงดุลกันให้ได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกของประชาชน ถ้าทำไม่ได้ก็ควรให้เลือกตั้งทางตรงไปให้หมด ปรากฏในพระราชบันทึกลับฉบับเดียวกันความบางตอนว่า

“...ถ้าจะให้โอกาสให้ประมุขของประเทศคัดค้าน (Veto) ได้แล้ว ก็มักจะต้องให้สภาลงมติเสียงข้างมาก 2 ใน 3 หรือ 3 ใน 4 แล้ว จึงจะลบล้างเสียงคัดค้านของประมุขได้ (ดูตัวอย่างสหปาลี-รัฐอเมริกา) ในประเทศสยามก็เช่นเดียวกัน มีผู้ที่เห็นควรให้มีเสียงข้างมากอย่างน้อย 2 ใน 3 เพื่อลบล้างคำคัดค้านของพระมหากษัตริย์จึงจะควร การนับเอาเสียงข้างมากเฉยๆ (Simple majority) เช่นที่เป็นอยู่นี้ เท่ากับไม่ได้ถวายพระราชอำนาจในทางคัดค้านเลย

และเมื่อสภาฯ มีสมาชิกซึ่งรัฐบาลเลือกตั้งขึ้นเองถึงครึ่งหนึ่งเช่นนี้ แปลว่าสภาฯอาจลบล้างคำคัดค้านของพระมหากษัตริย์ได้ โดยเสียงของสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งจริงๆเพียง 1 เสียง

ซึ่งแปลว่า สภาฯอาจสนับสนุนนโยบายซึ่งราษฎรไม่ได้เห็นด้วยจริงๆ หรือไม่ต้องการเลยจนนิดเดียวถ้าจะให้เป็นว่าเอาเสียงราษฎรเป็นใหญ่จริงๆ จะต้องให้มีเสียงข้างมาก 3 ใน 4 เพื่อลบล้างคำคัดค้านจึงจะควร แปลว่าอย่างน้อยต้องมีเสียงสมาชิกที่ราษฎรเลือกจริงๆ ครึ่งหนึ่งเห็นด้วยกับการลบล้างนั้น โดยเหตุเหล่านี้ ข้าพเจ้าเห็นควรแก้รัฐธรรมนูญในข้อนี้ให้เป็นว่า “ถ้าและสภาฯลงมติตามเดิมโดยมีเสียงข้างมาก 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด” ฯลฯ หรือจะเติมข้อความให้ได้ผลเช่นนั้นลงไปใน “บทฉะเพาะกาล”ก็ได้ คือถ้าเลิกใช้บทฉะเพาะกาลเมื่อไหร่ ก็ให้เลิกข้อความนั้นได้
เพราะถ้าสภาฯเป็นสภาที่ราษฎรเลือกเองทั้งหมดแล้ว ข้อรังเกียจตามที่กล่าวแล้วย่อมหมดไป ถึงกระนั้นก็ดี การเหนี่ยวรั้งการออกกฎหมายหรือดำเนินนโยบายนั้นก็ยังควรมีอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ในประเทศอื่นๆเขาก็เห็นความจำเป็นจึงมีสภาสูง (Senate) เพื่อเหนี่ยวรั้งเป็นต้น โดยฉะเพาะในประเทศสยาม เรายังไม่คุ้นเคยแก่วิธีการปกครองอย่างใหม่นี้ ทำให้รู้สึกความจำเป็นในข้อนี้มากขึ้น

การที่ข้าพเจ้าร้องขอให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อนี้ ไม่ใช่เพราะข้าพเจ้าต้องการอำนาจ เพราะข้าพเจ้าเบื่อหน่ายต่อการเมืองเต็มที ที่ร้องขอให้แก้ ก็เพราะข้อนี้เป็นข้อที่ทำให้คนไม่พอใจในรัฐธรรมนูญตามที่เป็นอยู่นี้

นอกจากนี้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ต้องรับบาป รับความซัดทอดและรับผิดชอบโดยไม่มีอำนาจเลย จะเหนี่ยวรั้งการกระทำของรัฐบาลหรือของสภาฯมิได้เลย แต่ถ้ารัฐบาลทำอะไรที่ไม่ถูกใจคน ข้าพเจ้าก็ถูกติเตียนว่า “ทำไมปล่อยให้ทำไปได้ ทำไมไม่ห้าม” ซึ่งเป็นของที่น่ารำคาญเต็มทน

และบางครั้งหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนรัฐบาลก็ชอบพูดซัดทอดด้วย เช่นว่า “ทรงเห็นด้วยและทรงยอมแล้ว” และเมื่อคัดค้านให้เป็นผลจริงๆ ไม่ได้แล้ว ยังซัดทอดกันอยู่อย่างนี้ ก็เป็นการหนักมือมาก

ถ้าไม่อยากจะถวายอำนาจในการคัดค้านแก่พระมหากษัตริย์ให้มากขึ้น จะเปลี่ยนว่าถ้าพระมหากษัตริย์ทรงคัดค้านกฎหมายใดๆแล้ว ต้องให้มีการเลือกตั้งกันใหม่ แล้วเปลี่ยนวิธีเลือกสมาชิกประเภทที่ 2 หรือกำหนดวิธีการให้ราษฎรออกเสียโดยตรงก็ดีเหมือนกัน แต่ถ้าปล่อยให้เป็นอยู่อย่างเดี๋ยวนี้ ย่อมมีเสียงอยู่ได้เสมอว่า การปกครองตามที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นลัทธิเผด็จการทางอ้อมๆ ไม่ใช่ “democracy” จริงๆเลย”[6]

นอกจากนั้นในพระราชบันทึกลับในเรื่องที่มีความสำคัญอีกหลายเรื่อง ได้แก่ ทรงขอให้รัฐบาลให้เสรีภาพในการพูดการเขียนโฆษณาจริงๆ ,ทรงขอให้เสรีภาพในการประชุมโดยเปิดเผยและการตั้งสมาคม

ทรงขอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญ เพราะขัดกับหลักเสรีภาพในร่างกายของบุคคล เพราะผู้ที่ถูกข้อกล่าวหาจะถูกนำตัวขึ้นพิจารณาโดยคณะกรรมการที่ไม่ใช่ศาล และควรจะให้พิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและให้โอกาสจำเลยมีทนายต่อสู้ในคดีอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ตัดสินกันอย่างงุบงิบที่อาจขาดความยุติธรรม อันเป็นการกดขี่อย่างร้ายแรง

ทรงขอให้ลดและอภัยโทษนักการเมือง โดยนักโทษประหารชีวิตให้เปลี่ยนเป็นโทษเนรเทศ 10 ปี, นักโทษทางการเมืองจำคุกตลอดชีวิตให้เปลี่ยนเป็นโทษเนรเทศ 5 ปี, ส่วนนักโทษทางการเมืองอื่นๆ ให้พ้นโทษทั้งหมด

ในขณะที่ข้าราชการที่ถูกลงโทษทางการเมืองเพราะกล่าวร้ายรัฐบาล หลายร้อยหลายพันคน ขอให้ได้กลับได้รับบำเหน็จบำนาญตามเกณฑ์ในวันที่ถูกปลด ในขณะที่ข้าราชการที่ “ถูกสงสัย” ว่าเกี่ยวข้องกับ “กบฏ”ครั้งใดๆ ก็ตาม ขอให้งดการฟ้องร้องจับกุมและอภัยโทษให้หมดและตั้งต้นกันใหม่

ส่วนอีกประการหนึ่งขอให้รัฐบาลให้คำมั่นเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะไม่ตัดกำลังและงบประมาณของทหารรักษาวังให้น้อยกว่าเท่าที่มีอยู่ความในพระราชบันทึกความตอนหนึ่งว่า

“ในการที่ข้าพเจ้าร้องขอให้มีทหารรักษาวังไว้ตามเดิมนี้ ก็เพราะว่าบ้านเมืองยังอยู่ในเขตต์เปลี่ยนแปลง ยังไม่มีอะไรแน่นอน ความคิดความเห็นของคนและคณะต่างๆยังพลุกพล่านเต็มที จึงอยากให้มีกรมทหารที่พอจะควบคุมมิให้ยุ่งเหยิงในการเมืองได้ เอาไว้รักษาพระราชวัง และรักษาพระองค์โดยใกล้ชิดเท่านั้น เพื่อเป็นการอุ่นใจ สำหรับข้าพเจ้าเองและเจ้านายพอสมควร

ถ้าหากเหตุการณ์ในบ้านเมืองสงบเรียบร้อย และการปกครองแบบรัฐธรรมนูญเข้าสู่ฐานะปกติ และประชาชนเคยชินและเข้าใจในวิธีกาปกครองแบบใหม่นี้ดีแล้ว ก็อาจเปลี่ยนแปลงฐานะของกรมทหารนี้ไปได้ ตามแต่จะเห็นสมควรในเวลานั้น

ข้อไขต่างๆ นี้ ถ้ารัฐบาลตกลงจะรับรองแล้ว ขอให้เสนอสภาฯให้ลงมติรับรองด้วยทุกข้อ

ข้อไขต่างๆ นี้ ต้องให้ข้าพเจ้าพอใจว่าได้จัดการให้เป็นไปตามที่ร้องขอมาจริงๆแล้ว ข้าพเจ้าจึงจะกลับเข้าไปในประเทศสยาม” [7]

ในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ ยังทำให้ทราบว่า ก่อนที่จะได้พระราชทานบันทึกฉบับลงวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2477 นั้น พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้รับหนังสือจากอัครราชทูตสยาม ณ กรุงปารีส ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2477 กับพระราชบันทึกอีก 2 ฉบับ ที่ได้พระราชทานให้แก่อัครราชทูตสยาม ณ กรุงปารีส เพื่อทรงใช้เป็นคนกลาง เพราะทรงปรารภว่า การที่จะพระราชทานตรงมายังรัฐบาลนั้น จะหาทางไกล่เกลี่ยกันยาก [8]

กล่าวโดยสรุปในพระราชบันทึก 2 ฉบับ ที่ได้ส่งมายังรัฐบาลเมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2477 มีดังรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งมีเนื้อหากล่าวโดยสรุปดังนี้

ในพระราชบันทึกฉบับที่ 1 นั้นได้ทรงขอร้อง 3 เรื่อง ได้แก่ ให้งดไม่ว่ากล่าวคดีกบฏสำหรับหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ และนายทหารรักษาวัง, งดการเลิกทหารรักษาวัง, และให้งดเปลี่ยนแปลงรูปโครงสร้างของกระทรวงวังใหม่ [9]

ส่วนพระราชบันทึกฉบับที่ 2 ทรงขอร้อง 4 เรื่องได้แก่ ให้ยอมตามข้อขอร้อง 3 ข้อในพระราชบันทึกฉบับที่ 1, ให้บุคคลต่างๆในรัฐบาลเลิกกล่าวร้ายทับถมการงานของพระราชวงศ์จักรี และของรัฐบาลเก่า และขอให้ปราบปรามผู้ที่ดูถูกพระราชวงศ์อย่างเข้มงวด, ขอให้แสดงความเคารพนับถือในองค์พระมหากษัตริย์โดยชัดเจน, และพยายามระงับความไม่สงบต่างๆ โดยตัดต้นไฟ คือ การไม่ดำเนินโครงการเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมอย่างสุดโต่ง และให้ลดหย่อนผ่อนโทษทางการเมือง [9]

อย่างไรก็ตาม พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้กราบทูตตอบผู้สำเร็จราชการ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2477 ว่ารัฐบาลพร้อมจะทำตามพระราชประสงค์ และมีข้อความบางประการที่ทรงเข้าพระทัยผิด

โดยเฉพาะในพระราชบันทึกฉบับที่ 1 นั้น ได้แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชบันทึกถึงความไม่น่าไว้วางใจในสถานการณ์ที่มีความอันตรายส่วนพระองค์ ภายใต้บรรยากาศรัฐบาลที่เป็นเผด็จการทางอ้อม รวมถึงความไม่น่าไว้วางใจต่อรัฐบาลมาก่อนหน้านี้ ความตอนหนึ่งว่า

“1. รัฐบาลขอปลด ม.จ.ศุภสวัสดิ์ และนายทหารรักษาวังอีกหลายนายออกจากตำแหน่ง โดยหาว่ามัวหมองเกี่ยวกับการกบฏ เรื่องนี้เป็นการผิดไปจากความตกลงที่ฉันได้ทำไว้กับพระยาพหลฯ และพระยาพหลฯ กับ หลวงพิบูลฯ ได้รับคำไว้ว่าจะไม่ทำอะไรกับนายทหารเหล่านั้น

การที่เปลี่ยนไปเช่นนี้เป็นการกลับคำ และไม่เชื่อคำพูดของฉันที่ได้ยืนยันว่านายทหารเหล่านี้ ไม่ได้ติดต่อกับบวรเดช แต่ที่ได้ติดต่อกับพระยาสุรพันธ์ฯ และนายทหารที่เมืองเพ็ชรบุรีจริง เพื่อเป็นการรักษาพระองค์ เรื่องนี้จำต้องขอให้รัฐบาลถอนคำขอปลดนายทหารเหล่านี้ และขอให้สัญญาว่าจะไม่รื้อฟื้นขึ้นมาเอาโทษภายหลัง
ถ้าไม่ยอมข้อนี้ ฉันเห็นว่าเป็นการกระทบกระเทือนต่อตัวฉันมาก เท่ากับว่าฉันอุดหนุนบวรเดชทั้งอัน และถ้าเป็นเช่นนั้นฉันควรลาออก
2. มีข่าวว่าจะให้เลิกทหารรักษาวัง เรื่องนี้ฉันได้ชี้แจงหลายครั้งแล้วว่ายังยอมไม่ได้ เพราะเหตุการณ์ในบ้านเมืองยังไม่ปกติ ถ้าเรียบร้อยอย่างแน่นอนแล้ว จะเลิกหรือเปลี่ยนรูปไปบ้างก็ควร

ในเวลานี้ภายในทหารบก ทหารเรือ ก็ยังมีความแตกพวกแตกเหล่าอยู่บ้าง อาจตีกันเมื่อไรก็ได้ ถ้าไม่มีทหารรักษาวัง ฉันรู้สึกว่าไม่มีความปลอดภัยเสียเลย เพราะฉะนั้นในขณะนี้ต้องขอให้มีทหารรักษาวังตามรูปเดิม และขอให้ยอมให้มีอาวุธพอสมควรทำการระวังรักษาได้พอใช้

ทหารรักษาวังมีนิดเดียวจะรบกับกองทัพบก กองทัพเรือทั้งหมดอย่างไรได้ ถ้าไม่ยอมในข้อนี้ฉันต้องถือว่าฉันไม่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาล และถูกสงสัยว่าจะต้องการเอาอำนาจคืนโดยกำลังเสมอ ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วรัฐบาลควรจัดการถอดฉันเสียดีกว่า หรือมิฉะนั้นฉันก็ควรลาออก

3.มีข่าวว่าจะเปลี่ยนรูปโครงการณ์ของกระทรวงวังใหม่ให้เหมือนราชสำนักอังกฤษ เรื่องนี้ได้ยินว่ารัฐบาลจะเก็บเป็นความลับ จนกว่าฉันจะกลับถึงกรุงเทพฯแล้วจึงดำเนินการ ซึ่งเดาได้ว่าการเปลี่ยนเหล่านี้คงจะเป็นไปในทางที่ฉันไม่พอใจ จึงต้องรอให้ได้ตัวไปขังไว้ในเมืองไทยเสียก่อนจึงจะดำเนินการ

เรื่องนี้ต้องขอให้รัฐบาลเลิกล้มความดำริ หรือมิฉะนั้นต้องส่งโครงการณ์ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงนี้มาให้ทราบเสียก่อนฉันกลับ มิฉะนั้นจะไม่กลับ ฉันจะไม่ยอมให้ถูกจับขังเป็นเชลย หรือเป็นตัวประกัน (hotage)

และขอบอกอย่างแน่ชัดว่า ถ้ารัฐบาลคิดจะดำเนินวิธีอย่างนี้แล้ว ฉันจะไม่ยอมเป็นอันขาด จะยอมตายดีกว่า ถ้ารู้สึกว่าถูกขังเมื่อใด จะลาออกทันที หรือพยายามหนี แต่จะไม่ยอมให้ขังไว้ทำเล่นตามชอบใจเป็นอันขาด

คนใช้ใกล้ชิดจำเป็นต้องคนที่ฉันไว้ใจได้ และถ้าจะถูกห้อมล้อมไปด้วย spies (สายลับ)หรือผู้คุมแล้ว ทนไม่ได้ เพราะฉะนั้นการตั้งแต่ข้าราชการในราชสำนัก ต้องได้รับการยินยอมของฉันก่อนเสมอ และขออย่าให้รัฐบาลมายุ่งเหยิงนัก

ใน 3 ข้อนี้ ฉันขอให้รัฐบาลให้คำมั่นเป็นลายลักษณ์อักษร และลงนามรัฐมนตรีทุกคน ถ้าไม่ได้รับคำมั่นนี้ ภายในเดือนพฤศจิกายนเป็นอย่างช้า จะได้ถือว่ารัฐบาลประสงค์ให้ฉันลาออก และจะได้ส่งหนังสือลาออกจากตำแหน่งเข้าไปให้”[9]

เมื่อถึงความตอนนี้แล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่า พระราชบันทึกทั้งหลายนั้น ไม่ปรากฏข้อความใดๆเกี่ยวกับการขายทรัพย์สมบัติเลย มีแต่เรื่องหลักประกันความเป็นประชาธิปไตยต้องไม่อยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการที่อำพรางโดยอ้างประชาธิปไตยครึ่งใบในเวลานั้น

จะเห็นได้ว่าประเด็นเรื่องทหารรักษาวังที่จะปกป้องพระมหากษัตริย์ และปัญหาการบริหารทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ที่ฝ่ายรัฐบาลภายใต้การนำในการปกครองที่เป็นเผด็จการทางอ้อมของคณะราษฎรที่จะนำไปบริหารจัดการเองนั้น เป็นประเด็นความขัดแย้งในเรื่อง”หลักการ”ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ทรงมีพระราชบันทึกที่จะสละราชสมบัติ เพราะทรงไม่เห็นด้วยกับการยึดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นอำนาจเผด็จการทางอ้อมของสมบูรณาญาสิทธิของคณะ

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้สละราชสมบัติ และทำให้สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2478[10] ที่ทรงเป็นยุวกษัตริย์ ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ โดยทรงศึกษาและประทับอยู่ต่างประเทศ

โดยภายหลังจากการสละราชสมบัติไปแล้ว ปรากฏว่ารัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรได้เริ่มออกแบบกฎหมายใหม่ในเรื่องสำคัญๆได้แก่ การยกเลิกกรมทหารพระราชวังทั้งหมด การให้งานเอกสารทั้งหมดของพระมหากษัตริย์ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี ส่งคนไปดูแลด้านงานสารบรรณและเอกสารในสำนักราชเลขานุการในพระองค์ และการดูแลทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ให้นายกรัฐมนตรีดูแล เป็นต้น

การแก้ไขกฎหมายต่างๆข้างต้น เป็นไปตามที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชบันทึกคาดการณ์มาก่อนหน้านั้นแล้วทั้งสิ้น อันสะท้อนให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงเข้าพระทัยผิด

แต่ความจริงภายหลังต่อมากลายเป็นว่า สถานการณ์เลวร้ายกว่าที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เข้าพระทัยและคาดการณ์

เพราะฝ่ายการเมืองมีเป้าหมายไปถึงไม่เพียงการแย่งชิงที่ดินพระคลังข้างที่ให้มาเป็นของพรรคพวกนักการเมืองเท่านั้น แต่ยังไปไกลถึงขั้นออกกฎหมายเอาผิดย้อนหลังยึดพระราชทรัพย์ของสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีด้วย ตามลำดับของเวลาเป็น บันได 10 ขั้น ดังนี้


ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


(มีต่อ)
25 ธ.ค. 2563  ผู้จัดการออนไลน์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 มกราคม 2021, 12:51:22 โดย story »

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
บันไดขั้นที่หนึ่ง วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2478 รัฐบาลพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ดำเนินการโดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร แก้ไขตัดอำนาจของกระทรวงวัง โดย อาศัย พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช 2476 (ฉบับที่ 2)

นั่นคือ การแก้ไขมาตรา 18 ตัด “กรมทหารรักษาวัง กรมมหาดเล็กหลวง และกรมวังออกไปจากหน้าที่ในราชการในกระทรวงวัง”

คงเหลือแต่เพียง “1. สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี, 2. สำนักงานปลัดกระทรวง, 3.กรมพระคลังข้างที่ และ 4.กรมราชเลขานุการในพระองค์”[11]
บันไดขั้นที่สอง วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2478 ขุนนิรันดรชัย ได้ข้ามฟากจากเลขาธิการนายกรัฐมนตรีของพระยาพหลพลพยุหเสนา มาเป็น ผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์ [12] โดยปราศจากอุปสรรค ทหารรักษาวัง ปราศจากกรมมหาดเล็กหลวง และปราศจากกรมวังที่เป็นเครือข่ายเดิมซึ่งได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

บันไดขั้นที่สาม วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2478 รัฐบาลได้ผ่านความเห็นชอบ พระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงวัง แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2478 แก้ไขมาตรา 22 และมาตรา 23 ให้เรื่องผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ และบรรดาเอกสารในงานสารบรรณทั้งปวงอยู่ภายใต้การดูแลของนายกรัฐมนตรี ความว่า

“หมวดที่ 11 สำนักพระราชวัง

มาตรา 22 ให้สำนักพระราชวังเป็นทะบวงการเมือง มีอำนาจหน้าที่จัดการพระราชวัง ตลอดจนการดูแลรักษาทรัพย์สินและผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ และให้อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี”

หมวดที่ 12 สำนักราชเลขานุการในพระองค์

มาตรา 23 ให้สำนักราชเลขานุการในพระองค์เป็นทะบวงการเมือง มีอำนาจหน้าที่จัดการสารบรรณ และการในพระองค์พระมหากษัตริย์ และให้อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี” [13]

ในบันไดขั้นที่สามนี้ ส่งผลทำให้ “การดูแลทรัพย์สินและผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี” และ สำนักราชเลขานุการที่เพิ่งให้ขุนนิรันดรชัยมาอยู่ในสำนักราชเลขานุการในพระองค์นั้น ดูแลเรื่องการจัดการงานสารบรรณ (หรืองานเอกสารทั้งหมด) และอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ขึ้นตรงกับพระมหากษัตริย์ หรือคณะผู้สำเร็จราชการอีกต่อไป
บันไดขั้นที่สี่ วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2478 พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ปลงพระชนม์ด้วยพระแสงปืน[14]
ซึ่งเป็นเวลาเพียง 1 คืนเท่านั้น หลังจาก พระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงวัง แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2478 ประกาศบังคับใช้ จึงเป็น “กฎหมายฉบับสุดท้าย” ที่มีการลงพระนามโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์

โดยหม่อมเจ้าอุลิสาณ์ ดิสกุล บุตรีคนเล็กของกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ ได้เล่าให้หม่อมเจ้าพูนพิศมัน ดิสกุล ถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2478 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่มีการลงพระนามในการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ พระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงวัง แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2478 ความว่า

“ลูกกรมอนุวัตรฯทั้ง 4 คน ไปหาพ่อพร้อมกันโดยมิได้นัดแนะ ไปถึงเห็นพ่อบรรทมอยู่บนเก้าอี้ยาว ท่าทางไม่ค่อยทรงสบาย ก็นึกกันว่าเป็นเช่นนั้นตามเคย

เห็นแปลกอยู่แต่ก่อนเวลาจะกลับกรมอนุวัตรฯ เรียกลูกเข้าไปจูบทุกคน และเรียกหม่อมเจ้าดิศานุวัติ ดิศกุล ลูกเขยเข้าไปว่าจะวานให้เขียนจดหมายถวายสมเด็จพระพันวสาฉบับหนึ่ง แต่แล้วบอกว่า “ไม่เขียนละ เพราะไม่ต้องก็ได้” แล้วหม่อมเจ้าอุลิสาณ์ ดิสกุลก็กลับ พอรุ่งเช้าก็มาตามว่า กรมอนุวัตรฯสิ้นพระชนม์เสียแล้ว”[14]

บันไดขั้นที่ห้า วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2478 สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งซ่อม พลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) เป็นสมาชิกใหม่ของคณะผู้สำเร็จราชการ และลงมติตั้ง นายนาวาตรี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ ทิพอาภา ร.น. เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการต่อไป [15] และกลายเป็นกลุ่มคณะผู้สำเร็จราชการที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มที่

บันไดขั้นที่หก ระหว่าง 20 สิงหาคม พ.ศ. 2478 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลแห่รุมซื้อหรือผ่อนซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ ในขณะที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการก็ขายที่ดินของพระองค์เองให้กับกรมพระคลังข้างที่ในราคาแพงกว่าที่ดินบริเวณใกล้เคียง ทำให้นายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานีได้ตั้งกระทู้ถามและมีการอภิปรายการทุจริตเชิงนโยบายที่อื้อฉาว เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480

โดยพันเอกพระยาพหลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้แต่ตอบกระทู้และอภิปรายว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายเพราะเป็น “พระกรุณาฯ”ของคณะผู้สำเร็จราชการ [16]

บันไดขั้นที่เจ็ด วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ราชกิจจานุเบกษาประกาศบังคับใช้ พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 โดยแบ่งแยกทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และทรัพย์สินส่วนพระองค์ออกจากกัน โดยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง
โดยกฎหมายฉบับนี้ได้ถูกออกแบบมา เพื่อใช้สำหรับการฟ้องร้องเอาผิดย้อนหลังการโอนและใช้จ่ายในธุรกรรมการเงินของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ในช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ด้วย [17]

บันไดขั้นที่แปด วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 นายร้อยเอกขุนนิรันดรชัย ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น “ราชเลขานุการในพระองค์” และในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2481 นายร้อยเอกสเหวก นิรันดร ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทหาร เป็น นายพันตรี [12]

จึงเท่ากับ “ราชเลขานุการในพระองค์” เข้าควบคุมเอกสารในงานสารบรรณทั้งปวงอย่างสมบูรณ์

ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าตั้งคำถามว่า หลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่ง ของสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี คือ หนังสือมอบให้เอา “เงินส่วนพระองค์” ที่สะสมมาทดแทนกับจำนวนที่จะทรงเบิกเงินแผ่นดินที่ทรงเบิกเงินแผ่นดินอยู่เมืองนอกตามพระราชอำนาจที่จะทรงกระทำได้เป็นการชดเชยกัน ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญในการต่อสู้คดียึดทรัพย์ “สูญหายไป”นั้น[18] จะเกี่ยวข้องกับสำนักราชเลขานุการในพระองค์ที่ถูกส่งตัวมาจากรัฐบาล หรือไม่อย่างไร

บันไดขั้นที่เก้ารัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยกระทรวงการคลังเป็นโจทก์ ได้ยื่นฟ้องสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นจำเลยที่ 1 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลแพ่งลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2482 และยื่นคำร้องขอแก้คำฟ้องในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2482 [19]
ต่อมา กระทรวงการคลังฟ้องร้องและอายัดทรัพย์สมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณียึดวังก่อนมีคำพิพากษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเข้าแทรกแซงโยกย้ายอธิบดีศาลแพ่งแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมให้ออกจากคดีความ [20]
ส่งผลทำให้สมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีหมดพระราชทรัพย์ที่จะต่อสู้คดี[21] การเข้าถึงเอกสารหลักฐานได้ยาก อีกทั้งหลักฐานหนังสือมอบให้เอา “เงินส่วนพระองค์” ที่สะสมมาทดแทนกับจำนวนที่ทรงเบิกเงินแผ่นดินในขณะที่อยู่เมืองนอกเป็นการชดเชยกันสูญหาย[17] ทำให้แพ้คดีความในศาลเดียว ไม่ได้อุทธรณ์หรือฎีกาอีกต่อไป [22]

บันไดขั้นที่สิบ เมื่อยึดวังได้แล้ว มีการนำทรัพย์สินส่วนพระองค์และเงินในทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปใช้เพื่อประโยชน์ของครอบครัวจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ตามคำให้การของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา อดีตประธานคณะผู้สำเร็จราชการ ในศาลอาชญากรสงคราม เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ความว่า

“นอกจากนี้ (จอมพล ป.)ยังได้นำเครื่องพระสำอางค์ของพระเจ้าแผ่นดินและของสมเด็จพระราชินีไปใช้โดยไม่ได้รับอนุมัติจากข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้ายืนยันว่าขุนนิรันดรชัยนำเอาให้ใช้ ข้าพเจ้าเคยขอเปลี่ยนตัวขุนนิรันดรชัย แต่จอมพลไม่ยอม ที่ขอเปลี่ยนเพราะขุนนิรันดรชัยฯไม่เป็นผู้ที่ไว้วางใจ...
...เมื่อตอนที่จอมพล ป.ฯ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้มีการขอพระราชทานเงินกันหลายคราว ที่ขอเพื่อเป็นทุนเล่าเรียนของลูกก็ดี ขอให้เป็นทุนของคณะผู้ก่อการไปใช้จ่ายก็มี และขอเป็นส่วนตัวก็มี ในการที่ข้าพเจ้าสั่งพระราชทานนี้ ไม่ได้สั่งไปโดยเต็มใจ หากเป็นด้วยขุนนิรันดรฯ มาพูดเป็นทำนองข่มขู่บังคับกลายๆ”[23]
จึงเป็นเรื่องที่น่าสังเกตว่าจากการปล่อยข่าวเรื่องการขายพระแก้วมรกตที่ไม่มีหลักฐาน และไม่มีมูลความเป็นจริงเลยนั้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับพระราชบันทึกลับ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภายหลังแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นการตั้งใจวางแผนชิงอำนาจในสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เพื่อทำนิติสงครามชิงพระราชทรัพย์เพื่อประโยชน์ของพรรคพวกผู้ก่อการในคณะราษฎรกันเองตั้งแต่ต้น

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง
[1] The New York Times Archives, KING OF SIAM MAKES THREAT TO SELL OUT; He Says He Will Dispose of Vast Property in New Move for Absolute Power., The New York Times, January 22, 1935, Section BOOKS ART-BOOKS, Page 21
https://www.nytimes.com/1935/01/22/archives/king-of-siam-makes-threat-to-sell-out-he-says-he-will-dispose-of.html?searchResultPosition=1

[2] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พุทธศักราช 2478, หน้า 831-1078
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383561/16_24770131_wb.pdf?sequence=1

[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า 840-841

[4] “มาตรา 2 อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”, ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม, เล่ม 49, 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475, หน้า 534
https://library2.parliament.go.th/giventake/content_thcons/2cons2475.pdf

[5] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พุทธศักราช 2478, หน้า 842
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383561/16_24770131_wb.pdf?sequence=1

[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 843-845

[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า 846- 850

[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า 852

[9] เรื่องเดียวกัน, หน้า 868-870

[10] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพิเศษ เรื่อง ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, เล่ม 51, ตอน 0ก, 7 มีนาคม พ.ศ. 2478, หน้า 1332
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2477/A/1332.PDF

[11] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช 2476, เล่ม 51, 31 มีนาคม พ.ศ. 2478 (ฉบับที่ 2), หน้า 1441-1442
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2477/A/1440.PDF

[12] ประวัติ พันตรี สเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499 หน้า (12)

[13] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงวัง แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2478, เล่ม 52, วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2478, หน้า 1232-1233
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2478/A/1229.PDF

[14] หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น (รวมเล่ม). พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ : มติชน, 2559. ISBN 978-974-02-1263-8
หน้า 188-189

[15] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และตั้งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใหม่, เล่ม ๕๒, ตอน ๐ก, ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘, หน้า ๑๒๖๐
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2478/A/1260.PDF

[16] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 กระทู้ถามเรื่อง ที่ดินของพระมหากษัตริย์ ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถามนายกรัฐมนตรี วันที่ 27 กรกฎาคม 2480
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383977/12_24800727_wb.pdf?sequence=1

[17] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479, เล่ม 54, ตอน 45ก, 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480, หน้า 778
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/17086/SOP-DIP_P_401313_0001.pdf?sequence=1

[18] พระราชบันทึก ทรงเล่าของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี, เบื้องแรกประชาธิปตัย เล่ม 1, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, พิมพ์ครั้งที่ 3 มิถุนายน 2560, ISBN: 978-616-91915-8-2, หน้า 30-31

[19] คำพิพากษาศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ 242/2482 คดีหมายเลขแดงที่ 404/2482

[20] พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ (สุทธิ เลขยานนท์) “บันทึกเรื่องการถูกให้ออกจากราชการและกลับเข้ามาใหม่”, ในหนังสือ “เที่ยวเมืองพระร่วง” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ พิมพ์ครั้งที่ 10, 1,000 เล่ม, พ.ศ. 2521 (โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ), เลขหมู่หนังสือ 915.9365 หน้า 61-65

[21] คุณหญิงมณี สิริวรสาร, ชีวิตนี้เหมือนฝัน ฉบับสมบูรณ์ เล่ม 1 และ เล่ม 2/ นรุตม์ เรียบเรียง, พิมพ์ครั้งที่ 2-กรุงเทพฯ, อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง,/2558 ISBN 978-616-18-0915-7 หน้า 306-307

[22] พระราชบันทึก ทรงเล่าของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี, เบื้องแรกประชาธิปตัย เล่ม 1, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, พิมพ์ครั้งที่ 3 มิถุนายน 2560, ISBN: 978-616-91915-8-2, หน้า 32

[23] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 122-124
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf

25 ธ.ค. 2563 17:08   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่ต้องถูกจารึกเอาไว้ โดยเมื่อเวลา 13.30 น. ของวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โรงแรม INTERCONTINENTAL BANGKOK พลโทสรภฎ นิรันดร บุตรชายของ พันตรีสเหวก นิรันดร หรือ ขุนนิรันดรชัย สมาชิกคณะราษฎรสายทหารบก ซึ่งได้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ได้แถลงข่าวสำนึกผิดแทนบิดาที่ได้กระทำการมิบังควร นำทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาเป็นของตนเองโดยมิชอบ

โดย พลโทสรภฎ นิรันดร กล่าวว่า

“บิดาของผมได้รับพระราชทานราชทินนามว่า “ขุนนิรันดรชัย” จบจากโรงเรียนนายร้อย รับราชการเป็นทหารปืนใหญ่ สังกัดปืน 1 รักษาพระองค์ ขณะที่มียศเป็นร้อยโทได้ร่วมกับผู้บังคับบัญชา คือ พันตรีแปลก พิบูลสงคราม ซึ่งก็คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม และพระยาฤทธิอัคเนย์ ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในนามของคณะราษฎร 2475 สายทหารบก

ต่อมาเมื่อรับราชการมียศเป็นพันตรี ได้ลาออก เนื่องจากคณะราษฎรได้แต่งตั้งให้เป็นแม่กองสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และอาคารสองฟากถนนราชดำเนิน ผลจากการทำงานนี้ก็ได้สร้างตึกที่อยู่อาศัยของท่านเองเป็นตึก 4 ชั้น อยู่ตรงข้ามวังสวนจิตรลดา ปัจจุบันตระกูลนิรันดรได้ให้โรงเรียนเซนต์แอนดรูว์เช่า

บิดาของผมได้เป็นคณะกรรมการตรวจสอบสมบัติของพระคลังข้างที่และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475-2491 ในขณะที่เป็นคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น ผู้แทนราษฎรในสมัยนั้นของจังหวัดอุบลราชธานีได้อภิปรายในสภาถึงความไม่โปร่งใสของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บิดาของตนและพรรคพวกก็จับ ส.ส.คนนั้นโยนน้ำหน้าตึกรัฐสภาเลย

ต่อมาคุณพ่อก็ได้ร่วมกับ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และเป็นคณะราษฎรสายทหารเรือ ได้ก่อตั้งธนาคารนครหลวงไทยขึ้นมา และต่อมาคุณพ่อก็ได้เป็นประธานธนาคารนครหลวงฯ

ประเด็นสำคัญที่อยากเรียนให้ทราบก็คือว่า ก่อนเสียชีวิต คุณพ่อได้สำนึกในความผิดว่า เรื่องแรกที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตของท่าน คือ ท่านเป็นข้าราชการทหาร ท่านได้เสียน้ำพิพัฒน์สัตยาต่อพระมหากษัตริย์

ประการต่อไป ท่านเป็นกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ท่านก็ได้ทำเรื่องบางเรื่องที่มิบังควร ท่านก็สั่งเสียว่าท่านต้องการที่จะขอพระราชทานอภัยโทษ แต่คุณพ่อไม่มีโอกาส ปรากฏว่าท่านได้เสียชีวิตไปก่อนด้วยโรคความดันโลหิตสูง แล้วก็เป็นอัมพาต

เวลาก็ผ่านไป ผมก็นำเรื่องนี้ปรึกษากับพี่ชายต่างมารดา คือ คุณธรรมนูญ นิรันดร พี่ธรรมนูญก็บอกว่า ดีนะ เป็นโอกาสอันดีที่เราควรจะทำการ แม้แต่นามสกุลนิรันดรก็เป็นนามสกุลที่ได้รับพระราชทาน แต่ท่านไม่มีโอกาส ท่านได้เสียชีวิตเมื่อกลางปี 63 นี่เอง ด้วยโรคคล้ายๆ คุณพ่อ

ลูกคุณพ่อขณะนี้เหลืออยู่ 4 คน 3 ท่านนี่ก็นั่งรถเข็นแล้ว เหลือผมที่ยังพอไปได้อยู่ ก็เลยรั้งรอไม่ได้แล้ว ประกอบกับผมเป็นทายาทบุตรชายซึ่งเป็นนายพลของกองทัพบก เป็นคนเดียวในตระกูลนิรันดร เพราะฉะนั้นผมก็ต้องทำตามความประสงค์ของบิดาซึ่งได้สั่งเสียไว้ก่อนชีวิต” [1]

หลังจากนั้น พล.ท.สรภฎ นิรันดร ได้ประกอบพิธีขอพระราชทานอภัยโทษแทนบิดา โดยได้กล่าวขอพระราชพระบรมราชานุญาตกล่าวขอพระราชทานอภัยโทษแทนบิดา คือ พันตรีสเหวก นิรันดร สมาชิกคณะราษฎร 2475 ต่อเบื้องพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้วิญญาณขุนนิรันดรชัยจะได้ไปสู่สุคติ และความเป็นสิริมงคลจะได้มาสู่ตระกูลนิรันดร

เมื่อถามว่าที่ดินพระคลังข้างที่ที่ขุนนิรันดรชัย ได้ซื้อมามีที่ใดบ้าง พล.ท.สรภฏ กล่าวว่า

“บิดาได้บอกแต่เพียงสำนึกผิด แต่เมื่อผมโตขึ้นจนจึงเห็นโฉนดจากการเปิดเผยของนายธรรมนูญ โดยที่ดินใน กทม.มีเกือบ 80 แปลง ที่สำคัญๆ คือ ถ.สาทร 3 ไร่กว่า, ที่ดินตรงข้ามพระราชวังสวนจิตรลดาอีก 3 ไร่กว่า และที่ดินติดพระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 3 ไร่ครึ่ง

ผมในฐานะเป็นลูก ถ้าจะชี้แจงอันนี้ต้องคุยกันส่วนตัว ถ้าอยู่ๆ เอาคุณพ่อมาพูดในทางลบ มันเป็นเรื่องที่บุตรไม่ควรทำแต่เราก็ทราบตอนคุณพ่อยังมีชีวิตอยู่ คุณพ่อบอกว่าได้สำนึกผิดในการที่ได้กระทำในขณะที่เป็นกรรมการของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

แต่คุณพ่อไม่ได้บอกรายละเอียด เราไม่รู้ แต่เมื่อเราโตขึ้นและมีพี่ชายคือพี่ธรรมนูญเป็นผู้จัดการมรดก เราก็เห็นโฉนดซึ่งจากการสัมภาษณ์ของพี่ธรรมนูญซึ่งท่านได้เสียชีวิตไปแล้วก็หาอ่านได้จากหนังสือ ผมไม่ก้าวล่วงที่จะพูดเอง

ที่ดินของตระกูลนิรันดรในกรุงเทพมีอยู่เกือบ 80 แปลง แล้วก็แปลงที่สำคัญๆ คือแปลงที่ถนนสาทรจำนวน 3 ไร่กว่าซึ่งขณะนี้ที่ดินบริเวณสาทรไม่มีที่ดินที่ไหนจะใหญ่เท่านี้แล้วและที่ดินบางแปลงอยู่ตรงข้ามพระราชวังสวนจิตรลดา ก็ 3 ไร่กว่าๆ อีกแปลงหนึ่งเป็นที่ดินติดพระราชวังไกลกังวลด้านฝั่งทะเล 3 ไร่ครึ่ง ก็เรียนให้ทราบตามนั้น” [1]

เมื่อถามว่า ครอบครัวขุนนิรันดรชัย มีความเห็นอย่างไรบ้าง พล.ท.สรภฏ กล่าวว่า
“ผมไม่ทราบความเห็นโดยเฉพาะหลานเนื่องจากยังมีความเกี่ยงงอนกันอยู่ แต่ถ้าเขามีความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ผมว่าไม่มีอะไรที่จะมาขัดข้องหรอก” [1]

เมื่อถามถึงการคืนทรัพย์สินดังกล่าว พล.ท.สรภฏ กล่าวว่า:

“โดยส่วนตัวก็ควรจะกลับไป แต่ต้องบริสุทธิ์ผ่องใส จะกลับไปผมไม่ได้ขัดข้องแต่ตนต้องถามความเห็นของหลานๆ



คือขณะนี้ลูกของคุณพ่อเหลือกันเพียง 4 คน เป็นผู้หญิง 2 ผู้ชาย 2 ทั้ง 3 ท่านนั่งรถเข็นหมดแล้ว และก็เหลือผม ซึ่งยังพอไปได้อยู่ นอกนั้นก็มีรุ่นหลาน 12 คน หลานนี่ก็เราไม่ทราบจิตใจเขา ก็ยังมีการเกี่ยงงอนอะไรกันอยู่ แต่ถ้าเขามีความเข้าใจในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ไม่มีอะไรขัดข้อง นี่ผมอาจจะคิดไปเอง เอาตัวผมเป็นไม้บรรทัด ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้อง

ในส่วนตัวผมกับญาติพี่น้องบางคนนี่ ก็เห็นว่าควรจะกลับไป แต่ของที่กลับไปควรบริสุทธิ์ผ่องใส หมายความว่าอนาคตเรื่องที่ดินสำหรับผมจะกลับไปผมไม่ได้ขัดข้องอะไรเลย แต่ผมจะต้องถามความเห็นของหลานๆ เพราะในส่วนตัวของผมอย่าว่าแต่ที่ดินที่จะกลับไปเลย แม้แต่ชีวิตผมก็สละได้

เพราะในอดีตผมผ่านมา 2 ศึก 4 ปีรบอยู่ในลาว อีก 1 ปีเป็นผู้การทหารพราน รบอยู่ชายแดนด้านเขมร ตาพระยาจดจังหวัดตราด และมีโอกาสรู้จักคนดีๆ หลายคน อ้างในที่นี้ก็ได้ ในสมัยที่ท่านพลากร (พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี) เป็นนายอำเภออยู่ตาพระยา ท่านเป็นลูกผู้ใหญ่แต่ท่านก็เป็นนายอำเภอนักบู๊ อยู่ชายแดนด้วยกันมา”[1]

หลังจากการแถลงข่าวแล้ว พลโทสรภฏ นิรันดร ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้เขียนเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง โดยครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2563 และครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยการสัมภาษณ์ครั้งนี้ได้มีบันทึกเทปโทรทัศน์โดยส่วนใหญ่ ยกเว้นความบางตอนที่เห็นว่ามีความละเอียดอ่อนจึงไม่ให้บันทึก หรือมีการบันทึกแต่ยังไม่ให้เปิดเผย โดยปรากฏประเด็นที่สำคัญซึ่งสามารถเปิดเผยได้ มีดังต่อไปนี้

ประการแรก บทบาทของ “ขุนนิรันดรชัย” ในฐานะท่อน้ำเลี้ยงนำผลประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์มาให้กับ จอมพล ป.พิบูลสงคราม

พลโทสรภฏ นิรันดร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ขุนนิรันดรชัย” หรือ พันตรีสเหวก นิรันดร มีความสัมพันธ์ได้รับความไว้วางใจจากจอมพล ป.มากที่สุด การที่เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พระยาพหลพลพยุหเสนานั้น แท้ที่จริงเป็นเด็กฝากของจอมพล ป.เอง

จอมพลป.ทำธุรกิจไม่เป็น จึงได้อาศัย ขุนนิรันดรชัย เป็น “ท่อน้ำเลี้ยง” หรือหาผลประโยชน์ให้กับจอมพลป. และติดต่อนักธุรกิจในการนำเงินไปให้ จอมพล ป. ด้วย โดยในช่วงแรกนั้นมาจากทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ที่ขุนนิรันดรชัยได้จัดหามาให้ [2]

ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นมีความสอดคล้องกับ คำให้การของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา อดีตประธานคณะผู้สำเร็จราชการ ต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ความตอนหนึ่งว่า

“นอกจากนี้ (จอมพล ป.)ยังได้นำเครื่องพระสำอางค์ของพระเจ้าแผ่นดินและของสมเด็จพระราชินีไปใช้โดยไม่ได้รับอนุมัติจากข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้ายืนยันว่าขุนนิรันดรชัยนำเอาให้ใช้ ข้าพเจ้าเคยขอเปลี่ยนตัวขุนนิรันดรชัย แต่จอมพลไม่ยอม ที่ขอเปลี่ยนเพราะขุนนิรันดรชัยฯไม่เป็นผู้ที่ไว้วางใจ...

...เมื่อตอนที่จอมพล ป.ฯ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้มีการขอพระราชทานเงินกันหลายคราว ที่ขอเพื่อเป็นทุนเล่าเรียนของลูกก็ดี ขอให้เป็นทุนของคณะผู้ก่อการไปใช้จ่ายก็มี และขอเป็นส่วนตัวก็มี ในการที่ข้าพเจ้าสั่งพระราชทานนี้ ไม่ได้สั่งไปโดยเต็มใจ หากเป็นด้วยขุนนิรันดรฯ มาพูดเป็นทำนองข่มขู่บังคับกลายๆ”[3]

และข้อความข้างต้นยังได้สอดคล้องกับคำให้การของ “นายทวี บุณยเกตุ” ในฐานะอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ให้การต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 ระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ถึงวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ในเรื่องการทำหน้าที่ของ ขุนนิรันดรชัย ในขณะดำรงตำแหน่งราชเลขานุการเป็นผู้ “นำเงินไปให้” จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี

โดยในบันทึกดังกล่าว ได้ระบุว่า นายทวี บุณยเกตุ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีบทสนทนากับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ความตอนหนึ่งว่า

“..นายกยังคงจะจำได้ดีว่า ผู้สำเร็จฯ ได้ใช้ให้ผมกับขุนนิรันดรฯ ไปพบท่านนายกที่ทำเนียบสามัคคีชัย เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ตอนบ่าย แต่นายกก็ไม่ให้ผมพบ คงให้แต่ท่านขุนนิรันดรฯคนเดียว”

จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้กล่าวตอบว่า

“ก็ไม่รู้นี่ว่าจะมาเรื่องนี้ ที่ผมให้ขุนนิรันดรฯพบนั้น ก็เพราะเข้าใจว่าเขาจะเอาเงินมาให้ผม เพราะได้สั่งเอาไว้”[4]

ข้อความข้างต้น ทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่า เหตุใด จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ คุณหญิงละเอียด พิบูลสงคราม, เพื่อเคารพและไว้อาลัยแด่ พันตรี สเหวก นิรันดร ในหนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ เมือวันที่ 22 พฤษภาคม 2499 ได้ระบุการที่มีการให้ความช่วยเหลือทางราชการและ “ทางส่วนตัว” ด้วยความตอนหนึ่งว่า :

“ครอบครัวของข้าพเจ้าและครอบครัวของท่านผู้ล่วงลับ มีความสนิทสนมกันอย่างใกล้ชิดเหมือนเครือญาติสนิท ได้ให้ความช่วยเหลือกันทั้งในราชการและทางส่วนตัวมาด้วยสม่ำเสมอ” [5]

ประการที่สอง บทบาทของ “ขุนนิรันดรชัย” ในฐานะราชเลขานุการในพระองค์

โดยหลังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติและ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 จะทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากนั้น “ขุนนิรันดรชัย” ได้มีโอกาสร่วมขบวนไปอัญเชิญในหลวงรัชกาลที่ 8

โดย “ขุนนิรันดรชัย” และคณะราษฎรได้รับปากกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีว่าจะถวายอารักขาให้ความปลอดภัยให้กับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 อย่างเต็มที่ และจะไม่เป็นอันตราย หลังจากนั้น “ขุนนิรันดรชัย” จึงได้ย้ายมาที่สำนักราชเลขานุการในพระองค์ [2]

ทั้งนี้ “ขุนนิรันดรชัย” ได้เป็นผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2478 และเป็นราชเลขานุการในพระองค์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 [6]

โดย พลโทสรภฏ นิรันดร ได้อธิบายเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่า แม้ “ขุนนิรันดรชัย”จะอยู่ในฐานะลูกน้องและนายทุนให้กับจอมพล ป.พิบูลสงคราม และทำตามทุกอย่างที่จอมพล ป. พิบูลสงครามต้องการ แม้ขุนนิรันดรชัยอาจจะเคยเบียดบังทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ให้มาเป็นของตนเองหรือให้กับจอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่ไม่เคยคิดรังแกหรือทำร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ เพราะได้เคยรับปากกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเอาไว้ ในทางตรงกันข้ามพยายามผ่อนผันความต้องการของจอมพล ป.พิบูลสงครามในหลายเรื่องที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เท่าที่จะทำได้ [2]

นอกจากนั้น “ขุนนิรันดรชัย” ยังได้เคยกล่าวกับภรรยา (แม่ของพลโทสรภฏ นิรันดร)ว่า ถ้าขุนนิรันดรชัยยังคงเป็นราชเลขานุการในพระองค์อยู่ จะไม่มีทางเกิดเรื่องการสวรรคตด้วยพระแสงปืนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 อย่างแน่นอน [2]

ประการที่สาม บทบาทของ “ขุนนิรันดรชัย” ในกรณีการตัดแบ่งขายที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ ให้กับนักการเมืองหลายคนในฝ่ายรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา

พลโทสรภฏ นิรันดร แจ้งว่า การซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ ให้กับเครือข่ายทางการเมืองนั้น เป็นเรื่องจริง และรายชื่อผู้ที่ได้ซื้อที่ดินนั้นเป็นไปตามบัญชาการของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งอิทธิพลมากที่สุดหลังการปราบกบฏบวรเดช

อย่างไรก็ตาม พลโทสรภฏ นิรันดร แจ้งว่าการตัดขายแบ่งที่ดินพระคลังข้างที่ช่วงปี พ.ศ.2479-2480 นั้น ไม่เกี่ยวกับพระยาพหลพลพยุหเสนา และไม่เกี่ยวกับนายปรีดี พนมยงค์แต่ประการใด

โดยการขายที่ดินพระคลังข้างที่ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม คืนกลับให้กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้นเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับจอมพล ป.เท่านั้น และภายหลังการอภิปรายเมื่อ

วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 แล้ว พลโทสรภฏ นิรันดร เปิดเผยว่า ขุนนิรันดรชัยและพวกได้นำนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ตั้งกระทู้ถามในเรื่องดังกล่าวโยนลงในสระน้ำหน้าอาคารสโมสรสภาผู้แทนราษฎร [2]

ประการที่สี่ บทบาทของ “ขุนนิรันดรชัย” ในกรณีการได้มาซึ่งที่ดินพระคลังข้างที่ให้มาเป็นของตัวเอง

พลโทสรภฏ นิรันดร ชี้แจงว่า ขุนนิรันดรชัย เป็นนายกองสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และมีเงินไปสร้างอาคาร 4 ชั้น เป็นที่พักอาศัยที่ดินหน้าวังสวนจิตรฯ ที่ได้มาจากพระคลังข้างที่ให้มาเป็นของขุนนิรันดรชัย (ปัจจุบันให้เซนต์ แอนดรูว์ เช่าอยู่) [1],[2]

และยังมีที่ดินสำคัญอีก 2 แปลง ได้แก่ ที่ดินหัวหินที่ดินติดกับพระราชวังไกลกังวล และที่ดินบนถนนสาทรอีก 3 ไร่กว่า ซึ่งความประสงค์ส่วนตัวต้องการที่ดินส่วนที่เป็นของพระคลังข้างที่คืนกลับให้สถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสมาชิกของทายาทผู้ได้ที่ได้รับมอบมรดกตามกฎหมายที่เหลือว่าจะมีความเห็นยินยอมหรือไม่ อย่างไร [1],[2]

ประการที่ห้า บทบาทของ “ขุนนิรันดรชัย” ในกรณีการใช้ชื่อผู้อื่น เป็นผู้ถือครองโฉนดที่ดินพระคลังข้างที่ให้มาเป็นของตัวเอง

พลโทสรภฏ นิรันดร ได้ชี้แจงว่าสาเหตุที่ “ขุนนิรันดรชัย” ไม่ได้ถูกนายเลียง ไชยกาล พาดพิงในการตั้งกระทู้ถามและการอภิปรายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 นั้น ก็เพราะเหตุว่า พันตรีสเหวก นิรันดร หรือ ขุนนิรันดรชัย ได้ใช้วิธีการซื้อที่ดินพระคลังข้างที่อำพรางในนามบุคคลอื่น

เช่น ที่ดินหัวหินซึ่งติดพระราชวังไกลกังวล และที่ดินหน้าวังสวนจิตรฯ ขุนนิรันดรชัย ได้ใส่ชื่อบุตรสาว (เด็กหญิงสุจิตรา นิรันดร)เป็นเจ้าของโฉนดที่ซื้อมา ซึ่งในขณะนั้นเด็กหญิงสุจิตรา นิรันดร มีอายุเพียง 6 ขวบโดยมีเงื่อนไขท้ายโฉนดว่าเมื่อเด็กหญิงสุจิตรา นิรันดร บรรลุนิติภาวะแล้วก็ให้โอนที่ดินกลับคืนมา [2] ซึ่งพลโทสรภฏ นิรันดร คาดว่าเฉพาะที่ดิน 2 แปลงนี้มูลค่าไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท [2]

ประการที่หก บทบาทของ “ขุนนิรันดรชัย”กับ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

พลโทสรภฏ นิรันดร แจ้งว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อยู่ในสถานภาพที่ต้องทำตามความต้องการของขุนนิรันดรชัย ด้วยเพราะในเวลานั้น อิทธิพลของคณะราษฎรอยู่เหนือฝ่ายเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม และขุนนิรันดรชัย ได้ร่วมมือในการนำทหารปราบ “กบฏบวรเดช”เป็นผลสำเร็จ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงมีอิทธิพลและอำนาจที่เรียกร้องได้ในสิ่งที่ต้องการทั้งเครื่องราชย์ ฐานันดรศักดิ์ และเงิน [2]

ประการที่เจ็ด บทบาทและความสัมพันธ์ ของ “ขุนนิรันดรชัย”กับ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) ในการตั้งธนาคารพาณิชย์

พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้เขียนคำไว้อาลัยในงานพระราชทานเพลิงศพ แด่พันตรีสเหวก นิรันดร ที่บ้านธำรงสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2499โดยได้เล่าความสัมพันธ์ระหว่าง ขุนนิรันดรชัย กับ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ตั้งแต่ยังเป็นทหารชั้นผู้น้อย ความตอนหนึ่งว่า

“พันตรีสเหวก นิรันดร กับข้าพเจ้า (พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) ได้เป็นเพื่อนเกลอกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่เราทั้งสองต่างก็ยังเป็นนายทหารชั้นผู้น้อยด้วยกัน

กล่าวคือ เมื่อราว พ.ศ. 2469 ขณะที่พันตรีสเหวก นิรันดร ดำรงยศร้อยตรีแห่งกองทัพบก และข้าพเจ้าเป็นเรือโท สังกัดกองทัพเรือ เราทั้งสองได้มารับราชการร่วมกันในกรมอากาศยานที่ดอนเมือง โดยได้เป็นนักศึกษาในวิชาผู้ตรวจการณ์จากเครื่องบิน

เราได้เรียนและฝึกร่วมกันทั้งภาคพื้นดินและการทำงานในอากาศ และเป็นครั้งคราวก็ได้ทำการฝึกในเครื่องบินลำเดียวกัน ฉะนั้น เราจึงมีความรักใคร่สนิทสนมกันอย่างสหายร่วมตาย...

เมื่อเราทั้งสองต่างก็สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแล้ว เราก็แยกย้ายกันไปรับราชการตามสังกัดของตน และในปีหนึ่งๆ เราจึงมีโอกาสกลับมาเรียนและฝึกร่วมกันอีกประมาณสามเดือนในระยะ 2-3 ปีต่อมา”[7]

ต่อมาวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 พันตรีสเหวก นิรันดร ได้ร่วมกับพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จัดตั้งธนาคารที่ชื่อว่า “ธนาคารนครแห่งประเทศไทยจำกัด” (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารนครหลวงไทย[8] และได้ขอให้ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นประธานกรรมการ [9]

ในปี พ.ศ. 2489 พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี จึงต้องลาออกจากการเป็นกรรมการในธนาคาร และพันตรีสเหวก นิรันดร ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการสืบแต่นั้นมาจนถึงแก่กรรม [9]

นอกจากนั้น “พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” ยังได้เขียนคำไว้อาลัยในงานพระราชทานเพลิงศพ แด่พันตรีสเหวก นิรันดร ที่บ้านธำรงสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 ความตอนหนึ่งอีกว่า

“ภายหลังที่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาชั่วระยะหนึ่ง พันตรีสเหวก นิรันดร ก็ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์...และได้ประสานการงานระหว่างรัฐบาลกับสำนักราชเลขานุการให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยดีทุกประการ...”[10]

“...โดยพันตรีสเหวก นิรันดร ได้รับหน้าที่เป็นเลขานุการนายกรัฐมนตรี และข้าพเจ้า (พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในระยะนี้เราได้รับราชการร่วมกันอย่างใกล้ชิด...”[7]

นอกจากนั้นพลโทสรภฏ นิรันดร ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ขุนนิรันดรชัย”ยังเป็นผู้ก่อตั้ง “ธนาคารไทยทนุ” อีกด้วย [2]

สำหรับประเด็นนี้ เมื่อสอบถามพลโทสรภฏ นิรันดร เพิ่มเติมว่า การตั้งธนาคารพาณิชย์นั้นจะต้องใช้เงินทุนมากมายมหาศาล ถ้าเช่นนั้นพันตรีสเหวก นิรันดร ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นราชเลขานุการนั้น ได้นำเงินมาจากที่ไหน ก็ได้รับคำตอบว่า

“เป็นเงินทุนที่ได้มาจากทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์” [2]

ส่วนคำถามที่ว่าพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในฐานะเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้เงินลงทุนในธนาคารมาจากแหล่งใด พลโทสรภฏ นิรันดร แจ้งว่าไม่ทราบว่าได้เงินมาจากแหล่งใด ทราบแต่ว่าเป็นเพื่อนสนิทของ “ขุนนิรันดรชัย”[2]

นอกจากนั้น พลโทสรภฏ นิรันดร ได้อธิบายว่า “ขุนนิรันดรชัย” ไม่ใช่ท่อน้ำเลี้ยงของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แต่มีฐานะเป็นเพื่อนและหุ้นส่วนมากกว่า[2]

นอกจากนั้นพลโทสรภฏ นิรันดร ได้แจ้งให้ทราบเพิ่มเติมว่า การเป็นเจ้าของธนาคารพาณิชย์ทำให้มีสถานภาพการเป็น “ท่อน้ำเลี้ยง” ให้กับจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่มีประสิทธิภาพ เพราะสามารถจัดการธุรกรรมการเงินให้กับกลุ่มทุนของรัฐบาลได้[2]

ประการที่แปด ธุรกิจเครือข่ายอื่นๆ ของขุนนิรันดรชัยเพื่อเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2487 พันตรีสเหวก นิรันดร ได้ขอลาออกจากตำแหน่งเลขานุการในพระองค์[6] ตามจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงลาออกจากตำแหน่งประธานและคณะกรรมการผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

หลังจากนั้นพันตรีสเหวก นิรันดร ก็ได้มาเป็นนักธุรกิจเต็มตัว ซึ่งนอกจากธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารไทยทนุแล้ว ยังปรากฏมีการประกอบธุรกิจอีกจำนวนมาก

โดยพันตรีสเหวก นิรันดร หรือ ขุนนิรันดรชัย ได้เคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการในวงการค้าต่างๆ โดยเมื่ออ่านรายชื่อธุรกิจต่อไปนี้ให้พลโทสรภฏ นิรันดรฟัง พลโทสรภฏ นิรันดรแจ้งว่าธุรกิจส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดในรายชื่อต่อไปนี้เป็นกิจการของ “ขุนนิรันดรชัย”เอง ทั้งเป็นเจ้าของเองโดยตรง หุ้นส่วนใหญ่ ผู้ร่วมลงทุน หรือมีนอมินีมาเป็นผู้ถือหุ้น อาทิเช่น

“บริษัท ห้องเย็นไทย จำกัด
บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด
บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด
บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด
บริษัท นครหลวงประกันภัย จำกัด
บริษัท สหประกันภัย จำกัด
บริษัท ไทยนิยมประกันภัย จำกัด
บริษัท ไทยพาณิชประกันภัย จำกัด
บริษัท ประกันสรรพภัยแห่งประเทศไทย จำกัด
บริษัท สหศินิมา จำกัด
บริษัท แองโกลไทย มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
บริษัท ยูไนเต็ด มอเตอร์ จำกัด
บริษัท ศรีกรุง จำกัด
บริษัท สหอุปกรณ์ จำกัด
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (เป็นกรรมการ)
ฯลฯ เป็นต้น” [7]

ความร่ำรวยของ พันตรีสเหวก นิรันดร (ขุนนิรันดรชัย) นั้นได้ถูกกล่าวถึงและบันทึกเอาไว้ในคำไว้อาลัยในงานพระราชทานเพลิงศพของ พันตรีสเหวก นิรันดร ซึ่งเขียนโดย พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 ความตอนหนึ่งว่า

“พันตรีสเหวก นิรันดร ยังได้ร่วมมือกับบุคคลอื่นจัดตั้งบริษัทจำกัด กิจการและค้าขึ้นอีกมากมายหลายแห่ง ซึ่งกิจการของบริษัทต่างๆ เหล่านี้ก็ได้เจริญรุ่งเรืองมาจนกระทั่งทุกวันนี้ในระยะนี้เอง

ได้มีเสียงโจทก์จรรย์ว่า พันตรีสเหวก นิรันดร ได้มีฐานะมั่งคั่งสมบูรณ์ขึ้นเหยียบเข้าขั้นมหาเศรษฐีคนหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งในเรื่องนี้ก็พอจะมีความจริงอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากมายใหญ่โตดังที่ล่ำลือกัน และถ้าหากจะนำมาเปรียบเทียบกับพวกมหาเศรษฐีคนไทยในสมัยนี้แล้ว พันตรีสเหวก นิรันดร ก็เป็นเพียงเศรษฐีขนาดย่อมๆ คนหนึ่งซึ่งไม่มีความสำคัญอะไรนักเท่านั้น” [9]

อย่างไรก็ตามพลโทสรภฏ นิรันดร ได้ให้ข้อมูลในส่วนนี้ว่าการเป็นกรรมการในหลายบริษัทเช่นนี้ ขุนนิรันดรชัยเปรียบเสมือนเป็นผู้แทนจากฝ่ายรัฐบาลที่จะสามารถใช้นโยบายหรืออำนาจฝ่ายการเมืองเพื่ออำนวยธุรกิจให้กับนักธุรกิจในบริษัทต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นตัวแทนนำเงินจากกลุ่มทุนต่างๆมาเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับ จอมพล ป.พิบูลสงครามด้วย [2]

ประการที่เก้า บทบาทของ “ขุนนิรันดรชัย”ในฐานะกลุ่มทุนเบื้องหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

พลโทสรภฏ นิรันดร ได้กล่าวถึงการรัฐประหารของพลโทผิน ชุณหะวันและคณะ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นั้นเพื่อโค่นล้มรัฐบาลของ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์นั้น แท้ที่จริงผู้ที่อยู่เบื้องหลัง คือ จอมพลป. พิบูลสงคราม โดยอาศัยท่อน้ำเลี้ยงจาก “ขุนนิรันดรชัย” มาให้กับคณะรัฐประหารชุดดังกล่าว [2]

หลังจากนั้นกลุ่มซอยราชครูได้พยายามเป็นผู้ต่อท่อน้ำเลี้ยงของผลประโยชน์จากภาคเอกชนอื่นๆโดยตรงมาให้กับกลุ่มอำนาจของซอยราชครูในรัฐบาลชุดใหม่แทนขุนนิรันดรชัย แต่ถึงกระนั้นขุนนิรันดรชัยก็ยังคงมีบทบาทเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามต่อไป [2]

พลโทสรภฏ นิรันดร ได้แสดงความเห็นว่า การที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตถ์ ทำการรัฐประหารสำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในเวลานั้น “ขุนนิรันดรชัย” ได้เสียชีวิตไปแล้ว จึงทำให้กลุ่มทุนของจอมพล ป.พิบูลสงคราม กระจัดกระจายเป็นหลายสาย ประสานผลประโยชน์ได้ยาก และไม่มีกำลังต้านรัฐประหารได้ [2]

หากข้อมูลดังกล่าวมีความถูกต้อง ย่อมแสดงให้เห็นว่าบทบาทของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่ได้เป็นเพียงผู้รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารแห่งชาติ หรือภายหลังต่อมาเป็นนายรัฐมนตรีตามความต้องการของคณะรัฐประหารเท่านั้น หากแต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเพื่อการกลับเข้าสู่อำนาจของตัวเองอีกครั้ง ภายหลังได้หมดบทบาทไปในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2

(มีต่อ)
1 ม.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ประการที่สิบ ความเจ็บป่วยของขุนนิรันดรชัยอันเป็นสาเหตุของการสำนึกในความผิดเสียใจ และต้องการขอพระราชทานอภัยโทษ

โดยในหนังสือพระราชทานเพลิงศพของ “พันตรีสเหวก นิรันดร” หรือ “ขุนนิรันดรชัย” ได้อธิบายในเรื่องของความเจ็บป่วยที่ต้องวิ่งแสวงหาการรักษาถึงต่างประเทศ และได้รับผ่าตัดสมองโดยที่ไม่ได้เป็นโรคตามที่วินิจฉัย แม้เป็นมหาเศรษฐีแต่ก็ไม่สามารถเพื่อรักษาตัวเองให้หายจากความเจ็บป่วยนี้ได้ แม้ว่าจะใช้เงินเพื่อหาสถานพยาบาลชั้นนำ หรือหาหมอที่เก่งที่สุดในโลกเพียงใดก็ตาม ความตอนหนึ่งว่า :

“พันตรีสเหวก นิรันดร ได้เริ่มป่วยเป็นโรคเกี่ยวแก่ความดันโลหิตสูง และต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2495 ก็ได้ไปรักษาตัวที่ เมโยคลีนิค Mayo Clinic และที่โรงพยาบาลเซนต์ แมรี่ St. Mary ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับการผ่าตัดศีรษะ เพราะนายแพทย์สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคเนื้องอกในสมอง แต่ก็ปรากฏว่ามิได้เป็นโรคนั้น จึงได้แต่เพียงทำการรักษาโดยทางยา

ต่อมาจึงได้ไปรักษาตัวที่ประเทศอังกฤษ โดยนายแพทย์ เซอร์ เอช อีแวน Sir H.Evans ซึ่งเป็นนายแพทย์ประจำพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบทที่ 2 ตรวจแล้วลงความเห็นว่า ควรให้กลับไปพักรักษาตัวที่ประเทศไทยจะเหมาะกว่า เพราะขณะนั้นพันตรีสเหวก นิรันดร มีร่างกายอ่อนแอมาก

หลังจากกลับมาประเทศอังกฤษแล้ว ก็ได้รับการรักษาพยาบาลเป็นอย่างดียิ่ง รู้สึกว่าอาการเกี่ยวกับความดันโลหิตดีขึ้นบ้าง ทรุดลงบ้าง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2498 เส้นโลหิตในสมองข้างขวาแตกเลยทำให้เป็นอัมพาต ทำให้อาการป่วยทวีขึ้น แต่ภรรยาและบุตรก็ได้ช่วยกันรักษาพยาบาล อย่างเต็มความสามารถตลอดมา

จนกระทั่งถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2499 เวลา 17.35 น. ก็ได้ถึงแก่กรรมลงท่ามกลางภรรยาและบุตรธิดา ทั้งนี้ทำให้เกิดความวิปโยคเป็นอย่างยิ่ง คำนวณอายุได้ 56 ปี” [6]

สำหรับเหตุการณ์ในช่วงนี้ พลโทสรภฏ นิรันดร ได้อธิบายเหตุการณ์ประวัติความเสียใจ และสำนึกความผิด ที่ไม่ได้บันทึกเอาไว้ในหนังสือพระราชทานเพลิงศพว่า

“เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2496- 2499 ขุนนิรันดรชัย ได้ล้มป่วยเป็นโรคเส้นโลหิตสมองและเป็นอัมพาต โดยในระหว่างนั้นได้กล่าวด้วยน้ำตากับ เด็กชายสรภฏ นิรันดร ในขณะที่อายุ 14 ปี ว่าที่พ่อป่วยเป็นเช่นนี้เพราะผิดต่อคำสาบานในการดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา และเบียดบังพระราชทรัพย์ในพระคลังข้างที่ และทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์มาเป็นของตัวเอง

อยากจะขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ก็ไม่สามารถทำได้แล้วเพราะพ่อล้มป่วยเป็นอัมพาต ได้แต่น้ำตาไหลร้องไห้ เป็นเช่นนี้หลายครั้ง ทำให้พลโทสรภฏ นิรันดร จำภาพได้ติดตา และเป็นบาดแผลฝังอยู่ภายในใจมาหลายสิบปี” [2]

สำหรับพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยานั้น เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีพระราชพิธีใหญ่และศักดิ์สิทธ์ของแผ่นดิน

โดยพิธีถือน้ำ หมายถึง “พระราชพิธีอันเป็นมงคลแห่งความซื่อสัตย์ที่ใช้น้ำเป็นเครื่องกำหนด”

เป็นพิธียิ่งใหญ่ที่สืบทอดมาแต่โบราณที่แสดงถึงความจงรักภักดีอย่างหนักแน่น ต่อองค์พระเจ้าแผ่นดินผู้เปรียบเป็นสมมติเทพ จัดขึ้นเพื่อให้บรรดาทหารและข้าราชการใต้ปกครองเข้าร่วม เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน โดยการดื่มน้ำที่ผ่านพิธีปลุกเสกแล้ว พร้อมกล่าวคำสาบานตนว่าจะซื่อสัตย์ไม่คดโกง จงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์และบ้านเมือง อันเป็นแผ่นดินแม่แดนกำเนิดของตน

โดยพิธีกรรมที่ทำคือทำพิธีให้น้ำศักดิ์สิทธิ์ (น้ำพิพัฒน์สัตยา) แล้วนำน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้มาตั้งในพิธี แทงอาวุธคมหอกคมดาบลงในน้ำ ให้บรรดาผู้ที่ทำพิธีดื่มน้ำเพื่อสาบานตนว่า จะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ หากผู้ใดมิได้รักษาคำสัตย์ปฏิญาณที่ได้กล่าวไว้ ก็ให้มีอันเป็นไปด้วยอาวุธหอกดาบอันใช้จุ่มในน้ำที่ตนดื่ม

พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยายังคงปฏิบัติมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรให้ยกเลิกการพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาหรือพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล เช่นเดียวกับพระราชพิธีอื่นๆ เนื่องจากคณะราษฎรเห็นว่าเป็นพิธีกรรมที่แสดงถึงความไม่เท่าเทียมไม่เสมอภาคกันของคนในสังคม [11] แต่ต่อมาก็มีการนำพิธีดังกล่าวกลับมาอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2512 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 [12]

อย่างไรก็ตาม “ขุนนิรันดรชัย” ก็ได้เคยถือน้ำพิพัฒน์สัตยาก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเช่นกัน

ประการที่สิบเอ็ด สาเหตุที่เพิ่งจะมาขอพระราชทานอภัยโทษในปี พ.ศ. 2563

พลโทสรภฏ นิรันดร ได้ปรึกษาพี่ชายต่างมารดาคือ นายธรรมนูญ นิรันดร ว่าสมควรที่จะต้องดำเนินขอพระราชทานอภัยโทษ ปรากฏว่านายธรรมนูญ นิรันดร ก็เห็นดีด้วย

แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 นายธรรมนูญ นิรันดร ได้ล้มป่วยด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก ต้องเข้ารับการรักษาอาการที่โรงพยาบาล ก่อนออกมาอยู่ภายใต้การดูแลของพยาบาลโดยตลอด และเสียชีวิตลงเมื่อปี พ.ศ. 2563 จึงไม่ทันที่จะขอพระราชทานอภัยโทษอีก

พลโทสรภฏ นิรันดร อธิบายว่า ปัจจุบันบุตรของ “ขุนนิรันดรชัย” ได้เหลือเพียง 4 คน แต่ 3 คนที่เหลือต่างต้องนั่งรถเข็นและพิการด้วยโรคเดียวกันเช่นกัน ในฐานะที่ พลโทสรภฏ นิรันดร เป็นบุตรชายคนสุดท้ายที่ยังมีสุขภาพดีอยู่ จึงตัดสินใจทำพิธีของพระราชทานอภัยโทษในครั้งนี้ [2]

ประการที่สิบสอง พลโทสรภฏ นิรันดร ได้เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า บุตรชายของหลวงเชวงศักดิ์สงคราม ซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนเซนต์คาเบรียลด้วยกัน บอกว่าหลวงเชวงศักดิ์สงครามมีความคิดจะขอทำพิธีพระราชทานอภัยโทษเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้ทำ [2] และเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่มีความคิดแบบนี้

ประการที่สิบสาม อยากฝากให้คนรุ่นใหม่ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ จะต้องศึกษาให้ละเอียดถี่ถ้วน เพราะไม่มีใครต้องการเผยแพร่ด้านลบในประวัติศาสตร์ของตัวเอง จึงควรพิจารณาข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติไม่ให้ใครนำไปชักจูงได้โดยง่าย [2]

ประการที่สิบสี่ พลโทสรภฏ นิรันดร กล่าวด้วยน้ำตาหลายครั้งในการแถลงข่าวว่ารู้สึกโล่งอก เหมือนยกภูเขาออกจากอก ที่เก็บบาดแผลเป็นปมในใจติดค้างมาหลายสิบปี และได้มาทำหน้าที่ตามที่ “ขุนนิรันดรชัย” มีความประสงค์แล้ว [2]

ในทัศนะของผู้เขียนจากการสัมภาษณ์ครั้งนี้ พลโทสรภฏ นิรันดร มีความต้องการดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษตามวัตถุประสงค์ของขุนนิรันดรชัยที่ไม่ได้ทำในขณะที่มีชีวิตอยู่ ประกอบกับพลโทสรภฏ นิรันดร เป็นทหารที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงต้องการให้สังคมเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง และเชื่อว่าพลโทสรภฏ นิรันดร อาจจะคาดหวังที่จะไม่ได้รับผลกรรมเหมือนกับคนอื่นๆในตระกูลที่ผ่านมา

แต่ในขณะเดียวกันผู้เขียนเชื่อว่าการได้ใช้โอกาสการขอพระราชทานอภัยโทษครั้งนี้ย่อมมีผลทำให้สังคมได้รับรู้การกระทำที่ไม่ถูกต้องในอดีต ซึ่งอาจจะมีผลต่อทายาทและหลานๆ คนอื่นๆ ที่มีส่วนในมรดกตามกฎหมาย จะได้ตัดสินใจการถวายคืนทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ในโอกาสต่อไป

ผู้เขียนได้ทราบจากพลโทสรภฏ นิรันดร ว่า “ขุนนิรันดรชัย” ได้เขียนมอบมรดกบางส่วนให้กับพลโทสรภฏ นิรันดร ด้วยการประกอบเหตุผลเป็นจดหมายและถ่ายเก็บไว้ในไมโครฟิลม์ว่า “เพราะเป็นผู้ที่มีคุณธรรม”

พลโทสรภฏ นิรันดร จึงเป็นทายาทของ ขุนนิรันดรชัย “เพียงคนเดียว” ที่ได้ทำภารกิจ “ปลดปล่อยมลทินในจิตวิญญาณ”ของตัวเองและบิดาในครั้งนี้

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นแม้จะไม่ใช่ความผิดของพลโทสรภฏ นิรันดร แต่ผู้เขียนขอชื่นชมความกล้าหาญของพลโทสรภฏ นิรันดร ในการแถลงข่าวครั้งนี้ และสัญญาจะนำเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษ และเรื่องราวเหล่านี้ให้สังคมไทยได้เข้าใจอย่างถูกต้องต่อไป

ด้วยจิตคารวะ
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง
[1] ผู้จัดการออนไลน์, ทายาท “ขุนนิรันดรชัย” ขอพระราชทานอภัยโทษแทนบิดากระทำมิบังควรสมัยร่วมคณะราษฎร 2475 เตือนเยาวชนศึกษาประวัติศาสตร์ อย่าเชื่อใครง่าย, เผยแพร่: 26 ธ.ค. 2563 เวลา 13:43 น.
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000131996

[2] ผู้จัดการออนไลน์, คำสัมภาษณ์พิเศษเพิ่มเติมของพลโทสรภฏ นิรันดร, โดยปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, สัมภาษณ์ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ณ โรงแรม INTERCONTINENTAL BANGKOK, สัมภาษณ์เพิ่มเติมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยเปิดเผยเฉพาะครั้งที่ 1, ส่วนครั้งที่ 2 ยังไม่เปิดเผยในเวลานี้รอเวลาอันเหมาะสม)
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3727071230686152/
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000133139

[3] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 122-124
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf

[4] เรื่องเดียวกัน, หน้า 156

[5] จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ คุณหญิงละเอียด พิบูลสงคราม, เขียนเคารพไว้อาลัยแด่ พันตรี สเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499 แผ่นที่ 4

[6] ประวัติ พันตรี สเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499 หน้า (10)-(12)

[7] พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, เขียนคำไว้อาลัยแด่พันตรีสเหวก นิรันดร ที่บ้านธำรงสวัสดิ์ วันที่ 10 พฤษภาคม 2499 หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรีสเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499, หน้า (2)-(3)

[8] ประวัติ พันตรี สเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499, หน้า (20)-(23)

[9] คำไว้อาลัยของคณะกรรมการ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด, กฎหมายเกี่ยวแก่การธนาคาร ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรีสเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, 22 พฤษภาคม 2499, หน้า ข

[10] พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, เขียนคำไว้อาลัยแด่พันตรีสเหวก นิรันดร ที่บ้านธำรงสวัสดิ์ วันที่ 10 พฤษภาคม 2499 หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรีสเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499, หน้า (4)-(5)

[11] ธัญญ์พิชา โรจนะ, “พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยากับสังคมไทยจนถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พ.ศ. 2475,” หน้า 148

[12] ธัญญ์พิชา โรจนะ, “พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยากับสังคมไทยจนถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พ.ศ. 2475,” หน้า 150.
 
1 ม.ค. 2564 ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

 ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2469 ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั้นได้มีการประชุมกันครั้งแรกของคณะราษฎรติดต่อกัน 5 วัน 4 คืน ที่ประเทศฝรั่งเศส

ร้อยโทแปลก พิบูลสงคราม ได้เสนอว่าหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วให้สำเร็จโทษพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ (ยิงให้หมดเลย)ไม่เช่นนั้นจะเหมือนตีงูให้หลังหักจะแว้งกัดได้ในภายหลัง [1],[2]

ในขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนได้คัดค้าน โดยยกเหตุผลว่าทำเช่นนั้นไม่ได้เพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ[1] หากกระทำเช่นนั้นแล้ว จะทำให้เกิดความวุ่นวายและความรุนแรงขึ้นทั่วประเทศเหมือนการปฏิวัติรัสเซีย[2] และการปฏิวัติที่อังกฤษ

โดยช่วงเวลาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ยังไม่ได้สละราชสมบัตินั้น ปรากฏว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ได้จัดทำหนังสือเรื่องประวัติศาสตร์ สมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส และสมัยนโปเลียน โบนาปาร์ต และตีพิมพ์เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2477 เพื่อใช้ไว้สอนแก่นิสิตและนิสิตาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยหนังสือดังกล่าวนี้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ก็ได้เขียนคำนำเอาไว้ตอกย้ำแนวคิดและจุดยืนของตนเองเอาไว้เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2477 ว่าไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ฆ่ากษัตริย์และเปลี่ยนแบบการปกครอง ซึ่งไม่ควรนำมาใช้กับประเทศสยาม ความตอนท้ายว่า

“เมื่อจุดหมายแห่งการปฏิวัตร์ในประเทศฝรั่งเศสมีในเรื่องแบบ เมื่อเปลี่ยนแบบแล้ว ปัญหาบุคคลที่จะเป็นประมุขหรือหัวหน้าการปกครองก็ย่อมเกิดขึ้นไม่รู้จักจบ และนำความหายนะมาสู่ประเทศชาติได้ ตัวอย่างอันไม่ดีแห่งการปฏิวัตร์อย่างไม่สมบูรณ์ (Revolution imparfaite) เช่นนี้ ไม่ควรนำมาใช้สำหรับประเทศสยาม”[3]  แนวคิด ลัทธิชาตินิยมนำโดยทหารของ “หลวงพิบูลสงคราม” กับ แนวคิดประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมของ “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” แม้จะมีเป้าหมายเบื้องต้นเพื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเหมือนกัน และเป็นเพื่อนเสี่ยงตายมาด้วยกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันในแนวคิด โดย “หลวงพิบูลสงคราม” มีความเชื่อในลัทธิชาตินิยมที่อาจมีอิทธิพลอยู่เหนือกว่าพระมหากษัตริย์ ในขณะที่ “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” ก็ถูก “ระแวง” ความคิดในระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์ในท้ายที่สุดหรือไม่

อย่างไรก็ตามในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ยังไม่สงบนิ่ง บทบาทโดยอาศัยกำลังทหารของ “หลวงพิบูลสงคราม”มีความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพของคณะราษฎรมากกว่าสายพลเรือนในช่วงแรก โดย “หลวงพิบูลสงคราม”นั้นได้ผ่านสมรภูมิทหารสำคัญหลายเหตุการณ์ ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 และอาจเป็นส่วนหนึ่งของการที่ทำให้ “อัตตา” ของ “หลวงพิบูลสงคราม” เพิ่มมากขึ้น หรือมองอีกด้านหนึ่งต้องการเอกภาพในภาวะการนำสูงสุดให้มากขึ้น กล่าวคือ 

วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 คณะทหารบก, ทหารเรือ กองทัพอากาศ และพลเรือน นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา, หลวงพิบูลสงคราม, และหลวงศุภชลาศัย ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดาประธานคณะกรรมการราษฎร (นายกรัฐมนตรี) โดยระบุเหตุผลว่าเพราะรัฐบาลกระทำการเป็นเผด็จการ ทำลายระบอบใหม่

แต่เบื้องหลังที่มีการรัฐประหารในครั้งนั้น เพราะมีรายงานลับมาถึงพันโทหลวงพิบูลสงครามในขณะนั้น ว่าพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม เจ้ากรมยุทธการทหารบก เตรียมโยกย้ายนายทหารสายคณะราษฎรออกจากตำแหน่งคุมกำลังทั้งหมด จึงทำการชิงตัดหน้ารัฐประหารเสียก่อน ดังความปรากฏของในการเขียนคำไว้อาลัยและเบื้องหลังชีวิตการเมืองของ ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ โดย พลโทประยูร ภมรมนตรี ความตอนหนึ่งว่า

“รุ่งขึ้นข้าฯ ไปพบท่านจอมพล ป. พิบูลสงครามที่วังปารุสก์ ท่านกอดคอข้าฯ น้ำตานองบอกว่ายูรจำเป็นต้องทำ ไม่มีทางหลีกเลี่ยงเพราะเจ้าคุณศรีสิทธิสงครามเล่นไม่ซื่อ หักหลังเตรียมสั่งย้ายนายทหารผู้คุมกำลังทั้งกองทัพ พวกก่อการจะถูกตัดตีนตัดมือและถูกฆ่า” [4]

วันที่ 12-25 ตุลาคม พ.ศ. 2476 นายพันโทหลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสม ได้ยกทัพไปปราบ พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และพระยาศรีสิทธิสงคราม หรือที่รู้จักในนาม “กบฏบวรเดช” เป็นผลสำเร็จ ทำให้ฐานะทางการเมืองเพิ่มสูงขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้

โดยภายหลังปราบ “กบฏบวรเดช” สำเร็จ ในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2476 รัฐบาลตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาและพิพากษาคดีเกี่ยวกับกบฏและจลาจล โดยไม่มีอุทธรณ์และฎีกา และได้จับกุมคนกว่าหกร้อยคน พบว่ามีความผิดต้องโทษ 296 คน และมีโทษประหารชีวิต 6 คน และจำคุกตลอดชีวิต 244 คน[5]

อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงปฏิเสธการลงพระนามให้ประหารชีวิตตามคำพิพากษาที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการตัดสินกันเอง จึงไม่สามารถนำตัวไปประหารได้ และเป็นชนวนสาเหตุหนึ่งในความขัดแย้งและระแวงกันอย่างรุนแรงตามมาอีกหลายประเด็น ระหว่างรัฐบาลกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

โดยนับตั้งแต่เหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช หลวงพิบูลสงครามได้มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลทางการทหารในยุคนั้นอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้ จนเวลาผ่านไป 5 เดือนหลังจากนั้น วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477 นายพันโทหลวงพิบูลสงคราม ได้เลื่อนยศจากนายพันโท[6] เป็นนายพันเอก[7]

และในปีนั้นเอง วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2477 นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ก็ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีกตำแหน่งหนึ่ง ในรัฐบาลพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา จากนั้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479 ก็ได้ยศทหารเรือเพิ่ม เป็นนายนาวาเอก[8] และได้ยศทหารอากาศเป็น นายนาวาอากาศเอก เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2480 [9]

สำหรับท่านผู้อ่านที่อาจเกิดคำถามว่า เหตุใดจึงไม่เลื่อนชั้นยศของ “หลวงพิบูลสงคราม” และคณะให้สูงขึ้นไปมากกว่าพันเอก คงได้แต่เพียงยศพันเอกจากเหล่าทัพอื่นๆ ก็ได้คำตอบจากนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งได้เขียนบทความเรื่อง “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ความตอนหนึ่งว่า

“...เจตนารมณ์ของนายทหารผู้ใหญ่ในคณะราษฎรนั้นต้องการให้กองทัพไทยดําเนินเยี่ยงกองทัพสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งพลเมืองชายเป็นทหารรักษาท้องถิ่น คือ เป็นกองทัพของราษฎร ในการนั้นได้เริ่มทําไปเป็นเบื้องแรกแล้ว โดยกองทัพไทยในยามปกตินั้น นายทหารมียศสูงสุดเพียงนายพันเอก คงมีนายพลเพียงคนเดียวซึ่งเป็นสมุหราชองครักษ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และได้จัดระเบียบกองทัพตามเขตมณฑลและจังหวัด มิใช่ในรูปกองพล กองทัพน้อย กองทัพเหมือนสมัยระบอบสมบูรณาฯ...” [10]

ต่อมาวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 พันเอกหลวงพิบูลสงคราม ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อจากพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา โดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร

หลังจากนั้นไม่ถึง 1 เดือน ด้วยความระแวงต่อพันเอกพระยาทรงสุรเดช วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2482 จึงได้ทำการปลดพันเอกพระยาทรงสุรเดช (อดีตผู้ก่อการคนสำคัญในเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475) ให้พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนรบ และให้ออกจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ และบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศที่ประเทศกัมพูชา

ในขณะที่ หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จับตายนายทหารคนสนิทของพระยาทรงสุรเดช 3 คน และจับกุมผู้ต้องสงสัยอีกจำนวน 51 คน และ พันเอกหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาคดีโดยไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกา เช่นเดียวกัน

การพิจารณาคดีโดยศาลพิเศษครั้งนั้น เป็นผลทำให้มีนักโทษจำคุกตลอดชีวิต 25 คน มีโทษประหาร 21 คน แต่ให้คงเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต 3 คนเนื่องจากเคยประกอบคุณความดีให้แก่ประเทศชาติ (นายพันโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร, นายพลโทพระยาเทพหัสดิน, และนายพันเอก หลวงชำนาญศิลป์) และได้ทำการประหารนักโทษ 18 คนทั้งหมด ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน- 3 ธันวาคม พ.ศ. 2482 จนได้เรียกว่า “กบฏพระยาทรงสุรเดช” หรือ “กบฏ 18 ศพ”

ต่อมาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482 กระทรวงกลาโหม ได้ออกประกาศ เรื่องพระราชทานยศทหาร, ให้นายพล แด่ พันเอก นายนาวาเอก นายนาวาอากาศเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) เป็นพลตรี นายพลเรือตรี นายพลอากาศตรี [11]
แต่ก็เพื่อไม่ให้น่าเกลียดจึงได้มีเพื่อนร่วมเป็นนายพล 3 เหล่าทัพ อีก 2 คนได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และพระยาพหลพลพยุหเสนาด้วย ในขณะที่ นายนาวาเอก หลวงสินธุสงครามชัย เป็นนายพลเรือตรี [11]

ในช่วงเวลานี้ “หลวงพิบูลสงคราม” เริ่มแสดงตนเป็นผู้เลื่อมใสความเป็นผู้นำในลัทธิชาติอำนาจนิยม หรือรูปแบบฟาสซิสต์ ดังเช่น เบนิโต มุสโสลินี และฮิตเลอร์ โดย “หลวงวิจิตรวาทการ” รับหน้าที่เป็น โฆษกด้านอุดมการณ์ของรัฐบาล ได้มีส่วนสำคัญในการดำเนินการโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำของหลวงพิบูลสงครามอย่างต่อเนื่อง
โดยสำหรับประเด็นนี้ นายปรีดี พนมยงค์ ได้เคยให้ข้อสังเกตนี้เอาไว้ผ่านบทความเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ความตอนหนึ่งว่า

“...ในระยะแรกที่พันเอก หลวงพิบูลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้ดําเนินกิจการบ้านเมืองตามระบอบประชาธิปไตย มีอยู่อย่างหนึ่งที่ปฏิบัติผิดไปจากอุดมคติเดิมของคณะราษฎร ที่นายทหารในยามปกติมียศอย่างสูงเพียงชั้นนายพันเอกเท่านั้น แต่หลวงพิบูลฯ ได้รับแต่งตั้งจากคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็น นายพลตรี” [10]
จากนั้นในบทความเดียวกัน นายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้กล่าวถึงบรรดาผู้คนที่แวดล้อมของหลวงพิบูลสงคราม ที่ประจบประแจงเอาอกเอาใจจนทำให้หลวงพิบูลสงครามเคลิบเคลิ้มจนเสียคนและหลงในอำนาจ ความว่า

“ครั้นอยู่ต่อมาไม่นานก็มีบุคคลที่มีทรรศนะสืบเนื่องจากระบบทาสสนับสนุนให้หลวงพิบูลฯ ปกครองประเทศตามระบอบเผด็จการนาซีและฟาสซิสต์ ซึ่งเป็นการปกครองราษฎรอย่างทาส...

ในค่ำวันหนึ่งมีการแสดงละครที่วังสวนกุหลาบในโอกาสวันเกิดของหลวงพิบูลฯ ข้าพเจ้ากับเพื่อนก่อการหลายคนได้รับเชิญไปในงานนั้นด้วย ซึ่งผู้ที่มีชีวิตอยู่ในขณะนี้ยังคงจํากันได้ว่า

หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้นําละครมาแสดงและในบางฉาก ท่านผู้นี้ก็แสดงเองด้วย มีฉากหนึ่งแสดงถึงระบํา - ฝูงไก่ (หลวงพิบูลฯ เกิดปีระกา) ระบําฝูงนั้นแสดงว่า คนมีบุญได้มาจุติมาเกิดในปีระกา ซึ่งเป็นมิ่งขวัญของชาติไทย

อีกฉากหนึ่งหลวงวิจิตรวาทการ แสดงเป็นชายชราง่อยเปลี้ย เมื่อได้ออกมาเห็นหลวงพิบูลฯ ผู้มีบุญได้กราบอภิวาทวันทา ความง่อยเปลี้ยของชายชรานั้นก็หมดสิ้นไป หลวงพิบูลฯ ได้หันหน้ามาทางข้าพเจ้าแสดงอาการขวยเขิน แล้วได้หันไปประณมมือรับไหว้หลวงวิจิตรวาทการ...”[10]

ไม่เพียงแต่หลวงวิจิตรวาทการเท่านั้น แต่นายปรีดี พนมยงค์ ยังได้กล่าวถึงคนอีก 4 คน ในบทความเดียวกันที่เรียกว่า “จตุสดมภ์” ที่ช่วยกันประจบสอพลอ ความว่า

“...ข้าพเจ้าเห็นว่า ขณะนั้นหลวงพิบูลฯ ก็ยังไม่คิดที่จะเป็นผู้เผด็จการ แต่ต่อมาเมื่อซากทรรศนะเก่าของบุคคลอีกหลายคนได้สนับสนุนบ่อย ๆ ครั้งเข้า รวมทั้งมีพวกที่ได้ฉายาว่า จตุสดมภ์ ที่คอยยกยอปอปั้น ก็ทําให้หลวงพิบูลฯ ซึ่งเดิมเป็นนักประชาธิปไตยได้เคลิบเคลิ้มเปลี่ยนจากแนวทางเดิมไปได้...”[10]

อย่างไรก็ตามแม้นายปรีดี พนมยงค์ จะไม่ได้กล่าวถึงว่าใครคือจตุสดมภ์ที่คอยยกยอปอปั้น “หลวงพิบูลสงคราม” แต่ พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ ได้เคยให้การต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม เมื่อ วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2488 เรื่องรายชื่อผู้ที่ประจบสอพลอและเป็นผู้ที่จอมพล ป.ไว้เนื้อเชื่อใจ ความตอนหนึ่งว่า

“ผู้ที่ประจบสอพลอและเป็นผู้ที่จอมพล ป.ฯไว้เนื้อเชื่อใจนั้น เท่าที่ข้าฯได้สังเกตพบเห็นมี พล.ท.พระวิชัยยุทธเดชคนี พล.ท.พระประจนปัจนึก หลวงวิจิตรวาทการ หลวงสารนุประพันธ์ หลวงยุทธศาสตร์โกศล เป็นต้น” [12]

แต่การยกยอ จอมพล ป.นั้นไม่ได้จบเพียงแค่ ”พลตรี” เท่านั้น แต่ได้ก้าวกระโดดจาก “พลตรี” กลายเป็น “จอมพล” โดยไม่ต้องผ่านจาก “พลโท” หรือ “พลเอก”เสียก่อนด้วย

โดยเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ไทยกับฝรั่งเศสภายหลังมีการต่อสู้รบกัน ก็ได้มีลงนามในอนุสัญญาโตเกียว โดยประเทศญี่ปุ่นได้เป็นตัวกลางในการเจรจาในข้อพิพาทเรื่องดินแดนในอินโดจีนที่สยามถูกยึดไปตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5ในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112

อนุสัญญาโตเกียวนั้น ได้เป็นผลทำให้ดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ได้แก่ หลวงพระบาง จำปาศักดิ์ ศรีโสภณ พระตะบอง และดินแดนในกัมพูชาคืนจากฝรั่งเศส และได้นำมาแบ่งเป็น 4 จังหวัด คือ จังหวัดพระตะบอง จังหวัดพิบูลสงคราม จังหวัดจัมปาศักดิ์ และจังหวัดลานช้าง ยิ่งเป็นผลทำให้ชื่อเสียงและภาวะความเป็นผู้นำทางการทหารของหลวงพิบูลสงครามเพิ่มสูงขึ้นไปอีก

วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 ได้มีประกาศพระบรมราชโองการ (คณะผู้สำเร็จราชการ)โปรดเกล้าฯพระราชทานยศ จอมพล จอมพลเรือ และจอมพลอากาศ แก่นายพลตรี หลวงพิบูลสงครามพร้อมด้วยคธาจอมพล และสายประคำทองคำอันคู่ควรแก่ตำแหน่งแม่ทัพสูงสุดเป็นเกียรติสืบไป [13]

โดยความตอนหนึ่งในเรื่องนี้ได้ให้เหตุผลในพระบรมราชโองการคราวนั้นว่า คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ออกหน้าแทนด้วยข้อความในราชกิจจานุเบกษาฉบับนั้นว่า

“คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ทราบอยู่แล้วว่า นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า ในกรณีที่ได้ปฏิบัติการไปในครั้งนี้จะไม่ยอมขอรับความชอบตอบแทน แต่ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เห็นว่า การพระราชทานความชอบครั้งนี้ หาใช่เป็นฉะเพาะตัวนายพลตรี หลวงพิบูลสงครามไม่ แต่เพื่อเป็นเกียรติศักดิ์ของกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ซึ่งได้ทำการมีชัย” [14]

สำหรับการพระราชทานยศ “จอมพล” ครั้งนี้ นายปรีดี พนมยงค์ ได้ตั้งข้อสังเกตในบทความเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ความว่า

“เมื่อได้มีการสงบศึกกับอินโดจีนฝรั่งเศสแล้ว มีผู้สนับสนุนให้หลวงพิบูลฯ ขอพระราชทานเลื่อนยศสูงขึ้น หลวงพิบูลฯ ได้พูดกับข้าพเจ้าและอีกหลายคนว่า จะคงมียศเพียงนายพลตรีเท่านั้น แต่คณะผู้สําเร็จราชการซึ่งเวลานั้นประกอบด้วยพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ และเจ้าพระยาพิชเยนทร์ฯ ในพระปรมาภิไธยพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เลื่อนยศหลวงพิบูลฯ จากนายพลตรีเป็นจอมพล โดยขอให้หลวงอดุลเดชจรัสช่วยเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

เรื่องนี้หลวงพิบูลฯ มิได้รู้ตัวมาก่อน แต่เมื่อได้ทราบจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็ยังไม่สมัครใจที่จะรับยศจอมพลนั้น และไม่ยอมไปรับคทาจอมพลจากคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์เป็นเวลาหลายเดือน

ต่อมาพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ จึงได้นําคทาจอมพลไปมอบให้จอมพล ป. ที่ทําเนียบวังสวนกุหลาบ ต่อมาคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด อันเป็นโอกาสให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดําเนินการปกครองประเทศตามระบอบเผด็จการยิ่งขึ้น แล้วได้นําประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2

เราสังเกตได้ว่า ถ้าคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ไม่ยอมลงนามตั้งหลวงพิบูลฯ เป็นจอมพลและผู้บัญชาการทหารสูงสุดแล้ว หลวงพิบูลฯ จะมียศและมีตําแหน่งนั้นได้อย่างไร แม้จะมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คณะผู้สําเร็จฯ ก็ปฏิเสธได้ เพราะร่างพระราชบัญญัติก็สามารถยับยั้งไม่ยอมลงนามได้ ปัญหาอยู่ที่คณะผู้สําเร็จฯ จะถือเอาประโยชน์ของชาติเหนือกว่าความเกรงใจหลวงพิบูลฯ หรือไม่” [10]

ข้อความข้างต้นคือเบื้องหน้าที่เห็นดูสวยงามและเต็มไปด้วยความเกรงใจที่ไม่กล้าจะรับยศอันสูงส่งของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่เบื้องหลังนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ในฐานะอดีตประธานคณะผู้สำเร็จราชการในช่วงเวลาดังกล่าว ได้ให้การต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ความตอนนี้ว่า

“ตอนที่ตั้งจอมพล ป.ฯ เป็นจอมพลนั้น นายประยูร ภมรมนตรี มาหาถามว่าเมื่อนายกมีความชอบมากมายเช่นนี้จะตั้งเป็นอะไร ข้าพเจ้าบอกว่าเมื่อเป็นพลตรีอยู่ก็ตั้งเป็นพลโท นายประยูรฯบอกว่าไม่ได้ ทางกองทัพไม่ยอม ต้องตั้งเป็นจอมพล และต้องให้สายสพายนพรัตน์ด้วย ข้าพเจ้าจึงว่าเมื่อกองทัพต้องการอย่างนั้นก็ตามใจ ผลสุดท้ายก็จึงแต่งตั้งให้เป็นจอมพล ป.ฯเป็นจอมพล ให้สายสพายนพรัตน์ตามที่กองทัพต้องการ การใช้อำนาจกองทัพมาขู่ข้าพเจ้านี้ใช้บ่อยเหลือเกิน” [15]

ข้อความข้างต้นสอดคล้องกับ พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ ได้เคยให้การต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม เมื่อ วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ในทำนองเดียวเช่นกันว่าได้เคย พูดคุยกับ พลเอกเจ้าพระยาพิชาเยนทร์โยธิน คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ในเวลานั้นมีคณะผู้สำเร็จราชการเหลือเพียง 2 คน) ความว่า
“ท่านเจ้าพระยาพิชาเยนทร์โยธิน ได้ปรารภกับข้าฯ สองต่อสองว่า รู้สึกเป็นห่วงแผ่นดินและราชบัลลังก์ ขอให้ข้าฯช่วยระมัดระวัง แล้วท่านกล่าวเสริมต่อไปว่า หลวงพิบูลสงครามยังไม่ควรจะได้รับยศถึงขั้นจอมพล ควรจะเป็นแต่เพียงพลเอกเป็นอย่างสูง เมื่อสงครามคราวนี้เสร็จแล้ว จะให้เป็นจอมพลก็เป็นการสมควร” [16]

ต่อมาอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้หลายคนชื่นชมรัฐบาลของจอมพล ป. ก็คือการที่จอมพล ป. เป็นผู้นำคณะรัฐมนตรีถวายบังคมในการลาออกจากบรรดาศักดิ์ทั้งหมด เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2484 [17]

ทำให้นามสกุลของคนในคณะราษฎรหลายคนได้เปลี่ยนไป เช่น จอมพล หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) เลือกเปลี่ยนมาเป็น จอมพลแปลก พิบูลสงคราม และขอพระบรมราชานุญาตใช้ราชทินนามเป็นนามสกุล “พิบูลสงคราม”, นายพลตำรวจตรี หลวงอดุลเดชจรัส (อดุล พึ่งพระคุณ) เลือกเปลี่ยนเป็นนายพลตำรวจตรีอดุล อดุลเดชจรัส และขอพระบรมราชานุญาตใช้ราชทินนามเป็นนามสกุล “อดุลเดชจรัส”, นายนาวาเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) เลือกเปลี่ยนเป็น นายนาวาเอกถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และขอพระบรมราชานุญาตใช้ราชทินนามเป็นนามสกุล “ธำรงนาวาสวัสดิ์” ฯลฯ [17]

ส่วนผู้ที่เลือกจะไม่มีแม้แต่ราชทินนามแล้วกลับไปใช้ชื่อและนามสกุลเดิม ได้แก่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็น นายปรีดี พนมยงค์, หลวงนฤเบศร์มานิต เป็น นายสงวน จูฑะเตรมีย์, หลวงชำนาญนิติเกษตร์ เป็น นายอุทัย แสงมณี ฯลฯ [17]

ทำให้หน้าฉากดูเหมือนว่า จอมพล ป.นั้นต้องการให้ยกเลิกความเหลื่อมล้ำในความเป็นศักดินาทั้งหลาย แต่ความจริงได้ปรากฏต่อมาว่า จอมพล ป.ยังต้องการบรรดาศักดิ์ให้เหลือ “สมเด็จเจ้าพระยา”ให้แก่จอมพล ป. เพียงคนเดียว และมีท่าทีจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง ดังปรากฏคำให้การ ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา อดีตประธานคณะผู้สำเร็จราชการ ได้ให้การต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ความตอนนี้ว่า
“ตอนที่จอมพล ป.ฯนำให้มีการลาออกหรือให้พ้นจากบรรดาศักดิ์กันนั้น ขุนนิรันดรชัยได้มาทาบทามข้าพเจ้าว่า จะได้ทีการตั้งบรรดาศักดิ์กันใหม่ เป็นสมเด็จเจ้าพระยาชายบ้าง สมเด็จเจ้าพระยาหญิงบ้าง และขุนนิรันดรชัยถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ โดยผู้ที่มีสายสพายนพรัตน์จะได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาชาย ซึ่งมีจอมพล ป.ฯคนเดียวที่ได้สายสพายนั้น

เมื่อตั้งสมเด็จเจ้าพระยาชายแล้ว เมียของผู้นั้นก็ได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาหญิงตามไปด้วย และในปีนั้นก็ได้มีการขอพระราชทานสายสพายกันมากมาย ส่วนพวกเมียของข้าราชการก็ได้ตรากันด้วย ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าในประวัติศาสตร์ชาติไทย ไม่เคยมีการให้สายสพายผู้ชาย และให้ตราผู้หญิงกันมากมายถึงเช่นนี้ จนถึงกับข้าพเจ้าผู้คล้องสายสพายให้นั้น เป็นลมหน้ามืดไป


(มีต่อ)

 8 ม.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์