ผู้เขียน หัวข้อ: ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ! คณะราษฎรคนไหน เคยเอาที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  (อ่าน 2684 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

“ข้าพเจ้าและเพื่อนคณะราษฎรหลายคน รู้สำนึกความพลาดพลั้งบกพร่องอันเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯต้องสละราชสมบัติ ดังนั้นเราจึงยอมรับสภาพและได้พยายามแก้ไขความพลั้งพลาดบกพร่อง”

นี่คือข้อความสำคัญของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ได้เขียนเอาไว้ในหนังสือ “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นอกจากความรู้สึกผิดหรือพลาด ต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มิได้มีเพียงแค่ “ขุนนิรันดรชัย” ตามคำสัมภาษณ์ของพลโทสรภฏ นิรันดร ผู้เป็นบุตรชายเท่านั้น แต่ความจริงแล้วยังมีผู้ก่อการคนอื่นรู้สึกเช่นนี้ด้วย แต่เป็นความรู้สึกผิดหรือพลาดที่มีประเด็นต่างกันออกไป

จากบันทึกพระราชทานสัมภาษณ์ของ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้พระราชทานสัมภาษณ์นักข่าวเมื่อปี พ.ศ. 2516 ซึ่งได้ปรากฏในหนังสือ “เบื้องแรกประชาธิปตัย” ซึ่งได้รวบรวมและจัดพิมพ์โดยสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ในเรื่องการสำนึกผิดของคนสองคนกล่าวคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม พระยามานวราชเสวี ต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เอาไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

“จอมพล ป. เคยมาเฝ้า เขาพูดว่าอยากจะล้างบาปเพราะทำกับท่านไว้มากเหลือเกินจากนั้นก็เลยไปสร้างโรงพยาบาลพระปกเกล้าไว้ให้ที่จันทบุรีดูเหมือนจะสร้างไปทั้งหมด 5 ล้านบาท”[2]

สำหรับการพระราชทานสัมภาณ์ของ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีประเด็นนี้แม้จอมพล ป.จะไม่ได้ระบุว่าได้ทำบาปอะไรไว้ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าการแสดงสำนึกดังกล่าวนี้น่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามสมัยที่ 2 แล้ว

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมพ.ศ. 2484 ก่อนประมาณ 4 เดือนที่ศาลแพ่งจะมีคำพิพากษาคดีให้สมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีชำระหนี้ ในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2484

ต่อมาหลังจากนั้นอีก 8 ปีต่อมา พ.ศ. 2492 จอมพล ป.พิบูลสงคราม (ได้ยึดอำนาจจากพันตรีควง อภัยวงศ์เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2491) ได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ขอพระราชทานให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่สยาม เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ร่วมกับสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมมหาราชวัง และการเข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีของจอมพล ป. พิบูลสงคราม น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้

โดยโรงพยาบาลพระปกเกล้า เดิมชื่อ โรงพยาบาลจันทบุรี คณะรัฐมนตรีมีมติให้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลพระปกเกล้าเพื่อน้อมเกล้าถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2496 นอกจากนี้ ยังมีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและตึกต่างๆ เช่นอาคารประชาธิปก อาคารประชาธิปกศักดิเดชน์ ภายในโรงพยาบาล

นอกจากนั้นมีการจัดตั้งโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยขึ้นที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า ปัจจุบัน คือ วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์จัดตั้ง “ทุนประชาธิปก” (ต่อมาเปลี่ยนเป็น มูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี) เพื่อสนับสนุนกิจการของโรงพยาบาลพระปกเกล้า, วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี

ส่วนการกระทำดังกล่าวนั้นจะมีผลทำให้ล้างบาปให้กับจอมพล ป.ที่ได้กระทำไว้ต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้จริงหรือไม่ และได้จริงมากน้อยเพียงใด ไม่มีใครทราบได้ แต่คำพูดถึงความต้องการล้างบาปนั้นไม่ได้ออกมาจากปากของจอมพล ป.โดยตรงในทางสาธารณะ หากแต่เป็นการบันทึกทรงเล่าของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และประเด็นล้างบาปของจอมพล ป.ที่คิดได้นั้นก็ไม่ใช่พระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อนจะสละราชสมบัติ

ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อย้อนเวลากลับไปก่อนที่จะเสด็จกลับประเทศไทย อันเป็นเวลา “ก่อน” ที่จอมพล ป.พิบูลสงครามจะได้แสดงความรู้สึกถึงสำนึกอยากจะล้างบาปนั้น ได้ปรากฏบันทึกพระราชทานสัมภาษณ์ของ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้พระราชทานสัมภาษณ์นักข่าวเมื่อปี พ.ศ. 2516 ในหนังสือ “เบื้องแรกประชาธิปตัย”อีกถึงนายปรีดีพนมยงค์ และพระยามานวราชเสวีที่ขอเข้าเฝ้าที่อังกฤษ ความว่า

“หลวงประดิษฐ์มนูธรรม พระยามานวราชเสวี เคยไปขอเข้าเฝ้าฯ บอกว่า ข้าพระพุทธเจ้าตอนนั้นยังเด็ก คิดอะไรหัวมันรุนแรงเกินไป ไม่นึกว่าจะลำบากยากเย็นถึงเพียงนี้ ถ้ารู้ยังงี้ก็ไม่ทำ”[2]

แต่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้ทรงเล่าต่อว่า
“ฉันก็ไม่ได้ว่าอะไรเขา เรื่องมันแล้วไปแล้วไม่เคยเก็บเอามาคิด”[2]

แม้จะไม่มีใครทราบได้ว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้กราบบังคมทูลเช่นนั้น หมายถึงเรื่องอะไรบ้าง แต่สิ่งที่หลายคนได้จากบันทึกของนายปรีดี พนมยงค์นั้น มีความรู้สึกถึงความพลั้งพลาดบกพร่องตั้งแต่มีเหตุที่ทำให้สมเด็จพระปกเกล้าฯสละราชสมบัติ จึงได้พยายามแก้ไขความพลั้งพลาดบกพร่องนั้น

“ข้าพเจ้าและเพื่อนคณะราษฎรหลายคน รู้สำนึกความพลาดพลั้งบกพร่องอันเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯต้องสละราชสมบัติ ดังนั้นเราจึงยอมรับสภาพและได้พยายามแก้ไขความพลั้งพลาดบกพร่อง

อาทิเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เริ่มเกิดขึ้นในยุโรปก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ สวรรคตนั้น พระองค์ก็เคยได้มีพระราชหัตถเลขาถึงรัฐบาลในขณะนั้นที่มีพระราชประสงค์ จะเสด็จกลับมาประทับที่จังหวัดตรัง ตามฐานะแห่งพระอิสริยยศสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกซึ่งพระองค์ได้สงวนไว้ในการสละสมบัติ

คณะรัฐบาลกำลังพิจารณาพระราชประสงค์นั้นแต่ก็มิทันกราบบังคมทูลไป ครั้นแล้วพระองค์ก็เสด็จสวรรคต จึงเป็นที่น่าเสียดายของข้าพเจ้าและเพื่อนหลายคนในคณะราษฎร มหาดเล็กชั้นต่ำที่มิได้ตามเสด็จไปอยู่กับพระองค์ในอังกฤษไม่มีทางรู้เรื่องนี้ข้าพเจ้าจำได้ว่าพระราชหัตถเลขานั้นเป็นลายพระหัตถ์ของพระองค์เองมีถึงจอมพล ป. ที่ได้นำมาอ่านในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

เมื่อเสร็จสงครามแล้ว ข้าพเจ้าได้สถาปนาพระเกียรติของพระองค์ท่านให้คืนคงเป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยอย่างเต็มที่ ดังปรากฏในลายพระหัตถ์ของหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์และพระกระแสรับสั่งของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี...

...การสละราชสมบัติของพระปกเกล้าฯนั้น พระองค์ได้ทรงชี้แจงไว้ในเอกสารสละราชสมบัติแล้วว่าพระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยกับรัฐบาลสมัยนั้นอย่างไรบ้าง รัฐบาลได้พยายามที่จะกราบบังคมทูลชี้แจงข้อข้องพระทัยของพระองค์ จึงได้แต่งตั้งเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ รัฐมนตรีในรัฐบาลนั้น ซึ่งเคยเป็นเสนาบดีของพระองค์มาก่อนให้เป็นตัวแทนรัฐบาลไปกราบบังคมทูลแต่พระองค์ก็ได้ตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ

มีผู้วิจารณ์ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ไม่ควรสละราชสมบัติ เพราะพระองค์ไม่ทรงต้องรับผิดชอบอย่างใดในการลงพระปรมาภิไธยตามที่รัฐบาลเสนอมา ข้าพเจ้าตอบผู้วิจารณ์ว่ารัฐบาลนั้นก็เสียดายเป็นอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงสละราชสมบัติ

แต่ถ้าคิดทางด้านพระองค์แล้ว เราก็ควรเคารพสักการะพระองค์ท่านที่มีพระราชประสงค์รักษาศักดิ์ศรีแห่งราชขัตติยะไว้ คือเมื่อทรงเห็นว่ารัฐบาลสมัยนั้นทำการที่ไม่ต้องด้วยพระราชประสงค์ พระองค์ก็ทรงสละความสุขสำราญส่วนพระองค์ในการสละราชสมบัติยิ่งกว่าจะต้องลงพระปรมาภิไธยในเรื่องขัดต่อความบริสุทธิ์ใจของพระองค์ดั่งนี้ปวงชนชาวไทยต้องเคารพสักการะ และเทิดพระเกียรติ ศักดิ์ศรีอันสูงยิ่งขอพระองค์ไว้ชั่วกาลนาน”[2]

 จอมพล ป.พูลสงคราม
จอมพล ป.พูลสงคราม

 หนังสือ “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย” 
หนังสือ “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย”

อย่างไรก็ตามนายปรีดี พนมยงค์ ได้ดำเนินการแก้ไขสิ่งที่ติดค้างถึงสาเหตุของการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มาก่อนหน้านี้ด้วย ให้นายทวี บุณยเกตุ เสนอให้พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจราจล พุทธศักราช 2488 [3] เพื่อให้นายควง อภัยวงศ์ รับสนองพระบรมราชโองการ ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ให้ความเห็นชอบพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบถและจราจล พุทธศักราช 2488 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2488 [4]
ทั้งนี้การนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทั้งหมดในคราวนั้น ก็สอดคล้องเป็นไปตามพระราชประสงค์ในข้อเรียกร้องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ก่อนที่จะสละราชสมบัติ [5]

นอกจากนั้นนายปรีดี พนมยงค์ก็ยังได้แสดงความจงรักภักดีในการถวายความปลอดภัยให้กับพระบรมวงศานุวงศ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างชัดเจน จนไม่มีใครอาจทราบมาก่อนได้ว่านายปรีดี พนมยงค์ได้ตระหนักความพลั้งพลาดต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่เกิดเหตุการสละราชสมบัติแล้ว และพยายามหาทางแก้ไขมาเป็นลำดับ

และอีกประเด็นหนึ่งคือการคืนพระราชวังศุโขทัย โดยหนังสือเจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ ของนายหนหวย ได้กล่าวถึงนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการความตอนหนึ่งว่า

“นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน รัฐบุรุษอาวุโส ยังได้แสดงความจริงใจเปิดเผยต่อบุคคลหลายคนและหนังสือพิมพ์ว่า จะคืนวังศุโขทัยที่ตกเป็นของรัตามคำพิพากษาคืนให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ ย่ิงไปกว่านี้ในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน นายปรีดี พนมยงค์ ดำริจะอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกลับคืนประเทศไทย ได้มีการติดต่อเป็นทางการสมานรอยร้าวในอดีตกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเป็นที่เรียบร้อย และรู้กันทั่วไป”[6]

แต่ยังคงเหลืออีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญก็คือ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2” ซึ่งมาจากการคัดเลือกของคณะราษฎรกันเองเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไม่เห็นด้วยเพราะเท่ากับเป็นการนำพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไปให้คณะบุคคลหนึ่ง ทรงเรียกว่าเป็นสมบูรณาญาสิทธิของคณะ ซึ่งไม่ได้เป็นวิถีทางของประชาธิปไตย และทรงเห็นว่าควรจะให้มีเลือกตั้งหมดยังจะดีกว่า [5]

ซึ่งแน่นอนว่าถ้าจะแก้ไขข้อบกพร่องพลั้งพลาดในเรื่องการยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 นั้นก็ต้องมีการ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ”อย่างแน่นอน และจะต้องเป็นการแก้ไขเพื่อยกเลิกอำนาจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เองด้วย

อย่างไรก็ตาม ในการที่จะหาจังหวะการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น รัฐบาลจะต้องดำเนินการรักษาเอกราชและผลประโยชน์ของชาติหลังสงครามโลกให้สำเร็จเสียก่อน ซึ่งปญหามิใช่มีแรงเสียดทานจากนอกประเทศเท่านั้น แต่ยังมีความผิดหวังจากทหารในประเทศผู้ที่มีอำนาจอยู่แต่เดิมด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลดประจำการทหารจำนวนมากหลังสงครามโลกเสร็จ ย่อมนำไปสู่ความโกรธแค้นของทหารจำนวนมากได้ และไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะออกแบบมาดีเพียงใดก็ตาม แต่ความโกรธแค้นก็สามารถนำไปสู่ทำการรัฐประหารในเวลาต่อมาได้เช่นกัน

ทั้งนี้ภายหลังพันตรีควง อภัยวงศ์ ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อประเทศไทยได้ประกาศสันติภาพให้การประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นโมฆะ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488[7] แล้ว นายทวี บุณยเกตุ จึงเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประมาณ 17 วัน และผู้ที่มารับช่วงต่อก็คือม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน หัวหน้าเสรีไทย สายสหรัฐอเมริกา ซึ่งเดินทางมารับช่วงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488

ทั้งนี้ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองจบลง ฝ่ายสัมพันธมิตรได้จัดตั้งศาลอาชญากรสงครามขึ้น เพื่อพิจารณาความผิดของฝ่ายอักษะที่ได้ทำไป ที่เมืองนูเรมเบิร์กประเทศเยอมนี และกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลทำให้ทหารนาซีของเยอรมนีถูกแขวนคอจำนวน 12 คน และทหารญี่ปุ่นถูกแขวนคอจำนวน 7 คน รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีโตโจด้วย

ปรากฏว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะนำอาชญากรสงครามในประเทศไทยไปขึ้นศาลต่างประเทศได้แก่ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม, หลวงวิจิตรวาทการ, พล.ต.ประยูร ภมรมนตรี, และนายสังข์ พัธโนทัย

จากเหตุผลดังกล่าว ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้สั่งให้พระยาอรรถการีย์(สิทธิ จุณณานนท์) ร่าง พระราชบัญญัติ อาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 ให้ความเห็นชอบจากสภาและประกาศใช้อย่างรวมเร็วในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2488[8]

การจัดตั้งศาลอาชญากรสงครามโดยที่ไม่ต้องส่งตัวนักโทษทั้ง 4 คน ไปศาลต่างประเทศได้สำเร็จ จึงเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นการยอมรับไปโดยปริยายว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศผู้แพ้สงคราม และสามารถพิจารณาคดีอาชญากรสงครามในประเทศไทยเองได้

นอกจากนั้นในระหว่างที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น สามารถเจรจาให้ประเทศไทยหลุดพ้นในการเป็นอาณัติอังกฤษได้สำเร็จ ภายหลังต่อมาจึงเป็นผลทำให้อังกฤษและไทยได้ลงนามใน “ความตกลงสมบูรณ์แบบเพื่อยุติภาวะสงคราม ระหว่างไทยกับบริเตนใหญ่และอินเดีย” ที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489 โดยไทยต้องคืนดินแดนในมลายู และรัฐฉาน ที่ได้มาระหว่างสงครามให้แก่อังกฤษ และต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่อังกฤษด้วยข้าวสาร 1.5 ล้านตัน

จากนั้นประเทศไทยได้ทำความตกลงกับฝรั่งเศสที่เรียกร้องให้ไทยมอบพระแก้วมรกตและพระบางให้กับฝรั่งเศส แต่ฝ่ายไทยได้แสดงหลักฐานการค้นพบครั้งแรกพระแก้วมรกตว่าเป็นของไทยอย่างไร จึงทำให้ข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสตกไป ส่วนพระบางนั้นไทยก็ได้คืนลาวไปตามข้อเรียกร้อง

อย่างไรก็ตามเมื่อเสร็จสงครามแล้ว ก็ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ส่งผลทำให้ต้องปลดข้าราชการทหารในสนามออกซึ่งได้สร้างความโกรธแค้นให้กับทหารจำนวนมาก

โดย พล.อ.จิร วิชิตสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกคำสั่งที่9/13324/2488 เรื่องคำชี้แจงทหาร เฉพาะข้าราชการกลาโหมชั้นสัญญาบัตร เมื่อวันที่13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488 อธิบายความบางตอนว่า

“นับแต่ พ.ศ. 2480 เป็นต้นมา เมื่อเร่ิมรู้สึกว่าจะมีภัยมาสู่ประเทศ เพื่อรักษาไว้ซึ่งเอกราชอธิปไตยและความเป็นกลางของประเทศ กระทรวงกลาโหมจึงได้รับงบประมาณทวีขึ้นทุกปีตามโครงการป้องกันประเทศของทหารจนถึง พ.ศ. 2488 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของสงครามโลกนี้ ได้ใช้จ่ายเงินไปรวมทั้งสิ้นประมาณ 812 ล้านบาท

และในระยะ 9 ปีนี้ ประเทศเรามีเงินงบประมาณรายได้เพียง 1,255 ล้านบาทเท่านั้น ตามตัวเลขนี้จะเห็นได้ว่าในระยะเวลา 9 ปีนี้ รัฐบาลได้ใช้จ่ายเงินในการทหารถึง 2 ใน 3 แห่งเงินรายได้ของประเทศทั้งหมด

นอกจากนี้รัฐบาลยังจะจ่ายให้กระทรวง ทบวง กรมอื่นในการบำรุงประเทศอีกด้วยเหมือนกัน เมื่อรัฐบาลต้องจ่ายเกินตัวเช่นนี้จะได้เงินจากไหนมาจ่าย เงินจำนวนนี้ก็จำต้องเจียดมาจากเงินคงคลัง เงินกู้ และเงินภาษีอากรจากราษฎรนั่นเอง

ในระหว่างเวลาที่กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาอยู่ในประเทศเรา ได้มีการแลกเปลี่ยนเงินเยนกับเงินบาท เพื่อให้กองทัพญี่ปุ่นได้มีเงินบาทใช้จ่ายในประเทศเรา จำนวนเงินที่แลกเปลี่ยนประมาณ 2,000 ล้านบาท และเวลานี้เรามีเงินเยนอยู่ในประเทศญี่ปุ่น 1,500 ล้านเยน แต่เงินจำนวนนี้จะมีค่าเพียงใดยังไม่ทราบได้

ถ้ารัฐบาลยังจะต้องใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมากเช่นนี้ต่อไปโดยไม่มีทางจะเพิ่มพูนรายได้เพียงพอ ก็จำเป็นต้องออกธนบัตรเป็นจำนวนมากๆ และการออกธนบัตรโดยไม่มีทุนสำรองเป็นมาตรฐานตามส่วนสัมพันธ์กันแล้ว ผลร้ายที่จะได้รับก็คือทำให้ค่าของธนบัตรลดลง ถ้าค่าของธนบัตรลดต่ำลงมากเกินขีดแล้ว ก็จะเกิดวิกฤตกาลในการคลังซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดความปั่นป่วนในทางเศรษฐกิจและกระทบกระเทือนถึงการครองชีพของราษฎรได้ โดยเหตุนี้รัฐบาลจึงไม่ทำวิธีนี้”[9]

พล.อ.จิร วิชิตสงคราม ยังได้เขียนบทความเอาไว้เรื่อง “การเลิกระดมพล ภายหลังสงครามสงครามมหาเอเชียบูรพา”อธิบายถึงสถานกาณ์ค่าเงินว่า

“เงินบาทของเราเคยมีค่า 11 บาทต่อ 1 ปอนด์ ขณะนั้นลดลงเกินกว่า 80 บาทต่อ 1 ปอนด์ เราต้องให้เงินเป็นค่าใช้จ่ายของกองทหารยึดครอง จัดการเลี้ยงดูทหารเหล่านั้นรวมทั้งเชลยศึก ทหารญี่ปุ่น และคนงานที่ญี่ปุ่นขนมาจากทางภาคใต้เป็นจำนวนแสนทั้งชดใช้ค่าเสียหายในทรัพย์สินของฝ่ายสหประชาชาติอีก คำนวณแล้วเป็นจำนวนพันๆล้านบาท นอกจากนี้ยังมีอื่นๆอีก”[9]

คำสั่งของ พล.อ.จิร วิชิตสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยังมีข้อความบางตอนต่อไปอีกว่า

“นอกจากรัฐบาลจะต้องใช้จ่ายตามที่ชี้แจงมาแล้ว ยังให้ข้าวสารแก่สหรประชาชาติอีก1,500,000 ตัน เป็นการช่วยเหลือในฐานะที่เขาทำให้สงครามพ้นไปจากบ้านเมืองเรา ซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ 700 ล้านบาท...

...เมื่อฐานะการเงินของประทศเป็นเช่นนี้ ย่อมเป็นวิสัยปกติธรรมดาที่ทางทหารจะหวังได้รับเงินจากประเทศเป็นจำนวนมากเหมือนแต่กาลก่อนย่อมไม่ได้ และตามหลักการสำหรับกิจการทหารนั้น เมื่อประเทศมีแววแห่งภัยใกล้เข้ามา การทหารก็จะแบ่งตัวขึ้นเพื่อป้องกันหรือบรรเทาภัยนั้นๆ เมื่อภัยน้อยลงหรือหมดภัยแล้วก็ย่อมต้องลดกำลังลงตามส่วน...

...สำหรับประเทศเราก็อยู่ในฐานะที่จะต้องลดกำลังลงเช่นเดียวกัน เพื่อกลับเข้าสู่อัตราปกติตามกำลังเงินที่ประเทศจะให้ได้”[9]

พล.อ.จิร วิชิตสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังได้แสดงตัวเลขที่บันทึกไว้มีนายทหารและนายสิบถูกปลดออกโดยสรุปดังนี้

“นายพล มีจำนวนรวมทั้งกระทรวงฯ 81 นาย ถูกปลด 11 นาย คิดเป็นร้อยละ 13.5, นายพัน มีจำนวนรวมทั้งกระทรวงฯ 1,035 นาย ถูกปลด 303 นาย คิดเป็นร้อยละ 29.3, นายร้อย มีจำนวนรวมทั้งกระทรวงฯ 3,845 นาย ถูกปลด 1,455 นาย คิดเป็นร้อยละ 37.5, จ่านายสิบ มีจำนวนทั้งกระทรวงฯ 2,577 นาย ถูกปลด 730 นาย คิดเป็นร้อยละ 28.7 และนายสิบ จำนวนทั้งกระทรวงฯ 24,545 นาย ถูกปลด 3,905 นาย คิดเป็นร้อยละ 15.5”[9]

หลังจากนั้นอีก 20 ปีต่อมาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เมื่อปี พ.ศ. 2508 ได้มีการเขียนบทความในหัวข้อ “สารพัดปัญหา” โดยเสียดสีว่า เมื่อเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว ทางการได้สั่งปลดทหารในสนามและให้เดินทางนับไม้หมอนจากเชียงตุงถึงกรุงเทพนั้น พล.อ.จิร วิชิตสงคราม ได้เขียนบทความอธิบายเหตุการณ์ในเรื่องนี้ว่า

“ด้วยการขาดแคลนเครื่องมือในการขนส่ง และความจำเป็นที่กองทัพของเราจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงทางการทหารดังกล่าวแล้ว ทหารจำต้องอาศัยการเดินช่วย มิฉะนั้นแล้วก็จะต้องรอคอยกันเป็นเวลาแรมเดือน ผมเชื่อว่าได้มีการเดินกันนับตั้งแต่วันที่ประกาศสันติภาพ เพราะรู้ตัวอยู่แล้วว่าเป็นฝ่ายแพ้ ขณะนั้นมีหน่วยทหารของเราได้ปฏิบัติการอยู่นอกดินแดน การกล่าวว่ามีการแกล้งให้ทหารเดินนั้น ผมไม่คิดว่าจะมีผู้บังคับบัญชาทหาไทยคนใดใจเหี้ยมโหดที่กระทำเช่นนั้นได้”[9]

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ชีวิตทหารต้องถูกปลดประจำการและยากลำบากจำนวนมากแต่กลับตรงกันข้ามกับบริษัทที่มีหุ้นนักการเมืองรวมอยู่ยังคงมีกำไรอย่างต่อเนื่องแม้ในภาวะเสร็จสิ้นสงครามยากลำบากทั่วประเทศ

ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2489 บริษัท ข้าวไทย จำกัด ยังคงมีกำไรสุทธิ 5,699,120 ล้านบาท มีเงินปันผลได้ 375,000 ล้านบาทและยังมีเงินบำเหน็จกรรมการ 217,270 บาท แม้ในปี พ.ศ. 2490 ก็ยังมีกำไรสุทธิสูงถึง 5,699,120 ล้านบาท ในขณะที่ในปี พ.ศ. 2489 บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ยังมีกำไรสุทธิ 692,275 ล้านบาท มีผลตอบแทนกรรมการ 100,000 บาท และในปี พ.ศ. 2490 ก็ยังมีกำไรสุทธิ 101,945 บาท และมีผลตอบแทนกรรมการ 50,000 บาท

ทหารและกองกำลังทั้งหลายที่ถูกปลดประจำการ จะไม่เกิดการเปรียบเทียบได้อย่างไร?

อย่างไรก็ตาม หลังจากเจรจากับอังกฤษจนสำเร็จ ประเทศไทยพ้นสถานะประเทศผู้แพ้สงครามแล้ว ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ยุบสภาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2488 เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ผลปรากฏว่าการเลือกตั้งมีขึ้นในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 พันตรีควง อภัยวงศ์ ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ สนับสนุนให้นายดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรีแต่ไม่ประสบความสำเร็จ

แต่พันตรีควง อภัยวงศ์ ก็ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรอบที่สอง ได้เพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น เพราะสภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขัน (พ.ร.บ.ปักป้ายราคาสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ “พ.ร.บ.ปักป้ายข้าวเหนียว”)ที่เสนอโดย นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดกับนายปรีดี พนมยงค์ในฐานะที่นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย เขตอุบลราชธานี โดยกฎมายฉบับนี้พันตรีควง อภัยวงศ์ไม่เห็นด้วยในหลักการเนื่องจากไม่มีมาตรการในการควบคุมราคา แต่สภาฯได้ลงมติรับหลักการด้วยคะแนน65 ต่อ 63 เสียง รัฐมนตรีทั้งคณะจึงได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง

 มีต่อ

19 มี.ค. 2564   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
ต่อมาวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2489 ศาลฎีกาได้ตัดสินคดีอาชญากรสงครามในคดีอาชญากรสงครามที่ 1/2489 ยกฟ้องปล่อยตัวจำเลยทั้ง 4 คน จอมพลแปลก พิบูลสงคราม, หลวงวิจิตรวาทการ, พล.ต.ประยูร ภมรมนตรี, และนายสังข์ พัธโนทัย

เพราะพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามโลกไม่สามารถลงโทษจำเลยย้อนหลังในการกระทำก่อนวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2489

ต่อมาในวันรุ่งขึ้น วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2489 นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับการสนับสนุนจากพรรคสหชีพและพรรคแนวรัฐธรรมนูญให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นเพียง 2 เดือน รัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้กราบบังคมทูลโปรดเกล้ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 อันเป็นการยุติสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนี้ เหลือเพียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว[10]

ทั้งนี้เป็นที่ชัดเจนว่าการยกเลิกบทเฉพาะกาลในเรื่องผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 นั้น ได้ถูกริเริ่มโดยนายปรีดี พนมยงค์ ดังปรากฎในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ความตอนหนึ่งว่า

“ต่อมานายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น ได้ปรารภกับนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานแก่ชนชาวไทยมาแล้วเป็นปีที่ 14 ถึงแม้ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักนี้จะได้ยังความเจริญให้เกิดแก่ประเทศชาตินับอเนกประการ ทั้งประชาชนจะได้ทราบซึ่งถึงคุณประโยชน์ของการปกครองระบอบนี้เป็นไปอย่างดีแล้วก็จริง

แต่เหตุการณ์บ้านเมืองก็ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก ถึงเวลาแล้วที่ควรจะได้เลิกบทฉะเพาะกาลอันมีอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้น และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นายกรัฐมนรีจึ่งนำความนั้นปรึกษาหารือกับสมาชิกผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 พร้อมกับคณะผู้ก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ...”[10]

ทั้งนี้นายปรีดี พนมยงค์ ได้อธิบายในเรื่องยุบเลิกผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เอาไว้ว่า

“ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คณะราษฎรได้ปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้แก่ราษฎรเพื่อให้ราษฎรมีสิทธิประชาธิปไตยสมบูรณ์ ดังนั้นผู้แทนราษฎรประเภท 2 ซึ่งส่วนมากเป็นสมาชิกคณะราษฎรจึงได้ร่วมมือกับผู้แทนราษฎรประเภท 1 ซึ่งได้รับการเลือกโดยตรงจากราษฎรจัดร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันท์มหิดลได้ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 แทนฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

รัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ให้สิทธิประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ที่สุดแก่ปวงชนชาวไทย คือ

มาตรา 13 ให้มีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาหรือลัทธินิยมใดๆ

มาตรา 14 ให้เสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย เคหสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา การศึกษาอบรม การชุมนุมสาธารณะ การตั้งสมาคม การตั้งคณะพรรคการเมือง การอาชีพ

แม้มีข้อกำหนดภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย แต่บทกฎหมายนั้นก็ไม่ล่วงล้ำสิทธิประชาธิปไตย คือ เพียงกำหนดให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมของประชาชนดังนั้นหนังสือพิมพ์จึงออกกันแพร่หลาย พรรคการเมืองก็ตั้งกันได้อย่างแพร่หลายโดยไม่จำกัดความนิยมลัทธิการเมืองของพรรคนั้นๆ

รัฐสภาซึ่งประกอบไปด้วยพฤติสภา (SENATE) และสภาผู้แทนสมาชิกของทั้งสองสภาเป็นไปได้โดยการเลือกตั้ง มิใช่โดยการแต่งตั้ง คือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนให้ราษฎรลงคะแนนออกเสียงโดยตรงและลับ การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาให้ใช้วิธีลงคะแนนออกเสียงโดยทางอ้อมและทางลับซึ่งเป็นหลักที่นิยมกันทั่วไปซึ่งเรียกกันว่าการลงคะแนนสองชั้น คือราษฎรลงคะแนนตั้งตัวแทนของตน (ซึ่งอาจเป็นสมาชิกสภาผู้แทน) มาขั้นหนึ่งก่อน แล้วตัวแทนของราษฎรลงมติเลือกพฤฒสมาชิกอีกขั้นหนึ่ง” [11]

สถานการณ์ในเวลานั้นได้ทำให้สถานภาพของนายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี ได้รับการยกย่องในหลายมิติรอบด้าน เพราะได้นำพาทำให้ประเทศไทยให้พ้นจากประเทศผู้แพ้สงคราม เป็นผู้นำในการทำให้นิรโทษกรรมทางการเมืองในอดีต นำพาทำให้จอมพล ป. พิบูลสงครามและพวกรอดพ้นจากคดีอาชญากรสงคราม อีกทั้งยังเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญที่ทำให้เกิดผู้แทนราษฎรและพฤฒสมาชิกที่มาจากประชาชนโดยตรง และเป็นผู้อธิบายชำระประวัติศาสตร์ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย

อย่างไรก็ตามยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่นายปรีดี พนมยงค์ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้มีความพยายามเสนอสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และพระยามานนวราชเสวี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8มีพระราชประสงค์จะแต่งตั้งกรมขุนชัยนาทนเรนทร และพระองค์เจ้าธานีนิวัติ (กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร)เป็นผู้สำเร็จราชการ [12]

แต่ในที่สุดเหตุการณ์สวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่8 ก็ได้ตามมาในเวลาเพียง 1 เดือนนับแต่วันที่ประกาศรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2489 ได้เป็นจุดเปลี่ยนของสถานการณ์ของนายปรีดี พนมยงค์ และได้ถูกระบอบ”อนาธิปไตย” เข้ามาทำลาย จนถึงขั้นไม่สามารถรักษารัฐธรรมนูญเอาไว้ได้ และถูกฉีกไปในท้ายที่สุด

อ้างอิง
[1] ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย, อนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท.อู๊ด นิตยสุทธิ ต.ช.ต.ม., อดีตผู้แทนราษฎร จังหวัดนคราราชสีมา ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมาพ.ศ. 2517, เผยแพร่เว็บไซต์สถาบันปรีดี, หน้า 123-127
https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/2515-66.pdf

[2] พระราชบันทึกทรงเล่าของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี, เบื้องแรกประชาธิปตัยเล่ม 1, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, พิมพ์ครั้งที่ 3 มิถุนายน 2560, ISBN: 978-616-91915-8-2, หน้า 32

[3] ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องนายทหารออกจากประจำการ, เล่ม 62 ตอนที่ 9, วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 หน้า 148-149
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/D/009/148.PDF

[4] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจราจล พุทธศักราช 2488, เล่ม 62 ตอนที่ 27, วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 หน้า 337-341
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/A/027/337.PDF

[5] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พุทธศักราช 2478, หน้า 488-489
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383561/16_24770131_wb.pdf?sequence=1

[6] สุพจน์ แจ้งเร็ว, คดียึดพระราชทรัพย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ,ศิลปวัฒนธรรมลำดับที่ 272 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8 มิถุนายน 2545, หน้า 62-80

[7] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสันติภาพ, เล่มที่ 62 ตอนที่ 44 วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 หน้า 503-506
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/235501/SOP-DIP_P_419966_0001.pdf?sequence=1

[8] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ อาชญากรสงคราม พุทธศักราช 2488,เล่มที่ 62 ตอนที่ 591 วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2488, หน้า 591-596
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/13367/SOP-DIP_P_401936_0001.pdf?sequence=1

[9] พล.อ.จิร วิชิตสงคราม, การเลิกระดมพลภายหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา, หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ พลเอกจิร วิชิตสงคราม ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ.ว. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2522 หน้า 243-253

[10] ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489,เล่มที่ 63 ตอนที่ 30 วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489, หน้า 318-324
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2489/A/030/318.PDF

[11] ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย, อนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท.อู๊ด นิตยสุทธิ ต.ช.ต.ม., อดีตผู้แทนราษฎร จังหวัดนคราราชสีมา ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมาพ.ศ. 2517, เผยแพร่เว็บไซต์สถาบันปรีดี, หน้า 128
https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/2515-66.pdf

[12] สรรใจ แสงวิเชียร และวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย, กรณีสวรรคต 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489, พิมพ์โดยแหล่งพิมพ์เรือใบ, ศิริราชมูลนิธิสงวนลิขสิทธิ์, พิมพ์ครั้งที่ 3, 17 มิถุนายน พ.ศ. 2517 หน้า 163

19 มี.ค. 2564 โดย: ผู้จัดการออนไลน์
https://mgronline.com/daily/detail/9640000026572