ผู้เขียน หัวข้อ: ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ! คณะราษฎรคนไหน เคยเอาที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  (อ่าน 2640 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ข้าพเจ้ารู้สึกว่าจอมพล ป.ฯนั้น กระทำการเพื่อจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง แล้วภรรยาจอมพล ป.ฯก็มีความมักใหญ่ใฝ่สูงทำนองเดียวกัน เช่น เอารูปไปฉายในโรงหนังให้คนทำความเคารพโดยมีการบังคับ ในการทำบุญวันเกิดก็ทำเทียมวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของพระเจ้าแผ่นดิน เช่น มีตราไก่ปีกประดับธงทิว ทำนองเดียวกับตราครุฑ หรือตราพระบรมนามาภิธัยย่อ

และได้สร้างเก้าอี้โทรน(บัลลังก์)ขึ้นทำนองเดียวกับเก้าอี้โทรนของพระเจ้าแผ่นดิน เว้นแต่ใช้ตราไก่กางปีกแทนตราครุฑเท่านั้น”[18]

โดยเฉพาะตราสัญลักษณ์ประจำตัวของจอมพล ป.นั้น เป็นรูป ไก่กางปีกคล้ายครุฑพ่าห์ แต่ตราไก่ดังกล่าวนี้ได้มีคธาหัวครุฑไว้อยู่เบื้องล่างของเท้าไก่ด้วย

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้การว่า จอมพลป. กระทำการเพื่อจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง ในขณะที่พลเอกเจ้าพระยาพิชาเยนทร์โยธิน คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกท่านหนึ่ง ก็ห่วงราชบัลลังก์ต่อท่าทีและการกระทำของจอมพล ป.พิบูลสงคราม

โดยวันที่ 14 กรกฎาคม อันเป็นวันคล้ายวันเกิดของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดงาน และมีการชักชวนให้ประชาชน ชักธงชาติขึ้นเสาตามข้อเสนอของหลวงวิจิตรวาทการ [19] นอกจากนั้น ก่อนหรือหลังการฉายภาพยนตร์ทางโรงภาพยนตร์จะต้องเปิดเพลงมหาฤกษ์มหาชัย และให้ผู้ชมทุกคนยืนตรงเพื่อทำความเคารพรูปของท่านผู้นำ [20]

ซึ่งต่อมาภายหลังถึงกับมีการแต่งเพลงประจำตัวของท่านผู้นำขึ้นชื่อเพลง “สดุดีพิบูลสงคราม” โดยมีนายสง่า อารัมภีร์ เป็นผู้ประพันธ์ เนื้อร้อง และพระเจนดุริยางค์ เป็นผู้ใส่ทำนอง ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า “เพลงสดุดีพิบูลสงคราม” นั้นได้แต่งเนื้อร้องยาวกว่า “เพลงสรรเสริญพระบารมี”ที่ให้ลดทอนตัดย่อลงเพื่อความกะทัดรัด ตามประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 8 หรือไม่ ท่านผู้อ่านก็ลองเปรียบเทียบดูดังนี้

เพลงสรรเสริญพระบารมี ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยมฉบับที่ 8 เรื่อง “เพลงสรรเสริญพระบารมี” วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2483 มีเนื้อร้องลดทอนย่อลงเหลือเพียงว่า

“ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน
นบพระภูมิบาล บรมกษัตริย์ไทย
ขอบรรดาล ธ ประสงค์ใด
จงสิทธิดั่ง หวังวรหฤทัย
ดุจถวายไชย ชโย” [21]

ในขณะที่เพลง “สดุดีพิบูลสงคราม” เมื่อปี พ.ศ. 2486 มีเนื้อร้องที่ยาวกว่าว่า

“ไชโย วีรชนชาติไทย ตลอดสมัยที่ไทยมี
ประเทศไทย คงชาตรี ด้วยคนดีพยองไชย
ท่านผู้นำพิบูลสงคราม ขอเทอดนามให้เกริกไกร
ขอดำรงคงคู่ชาติไทย นำชาติให้ไพบูลย์เทอญ"[22]

โดยเพลง “สดุดีพิบูลสงคราม” นี้จะถูกเปิดทุกครั้งที่ท่านผู้นำปรากฏตัวต่อสาธารณชน หรือปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงและตามโรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ต่าง ๆ [23]

นอกจากนี้ยังปรากฏรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 20/2485 เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2485 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้กล่าวอธิบายในที่ประชุมความตอนหนึ่งการให้ประชาชนยึดมั่นในนายกรัฐมนตรีเสียยิ่งกว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ความตอนหนึ่งว่า

“...ญี่ปุ่นมีเครื่องยึดมั่นอยู่กับพระเจ้าแผ่นดินของเขา เราไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึดแน่นอน ที่มีอยู่ก็คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ชาติก็ยังไม่มีตัวตน ศาสนา ก็ไม่ได้ทำให้คนเลื่อมใสถึงยึดมั่น พระมหากษัตริย์ก็ยังเป็นเด็กเห็นแต่รูป รัฐธรรมนูญก็เป็นหนังสือ เวลาบ้านเมืองคับขัน จะเอาอะไรเป็นเครื่องยึดไม่ได้ ผมจึงให้ตามนายกรัฐมนตรี...”[24]

สำหรับเรื่องการทำตัวเทียมกษัตริย์ในทัศนะของนายปรีดี พนมยงค์ ได้ถูกบันทึกเอาไว้ผ่านคำฟ้องต่อศาลแพ่ง ในคดีหมายเลขดำที่ 4226/2521 วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2521 ของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นโจทก์ โดยนายปาล พนมยงค์ ผู้รับอำนาจ ซึ่งได้ฟ้องนายรอง ศยมานนท์ และพวกในข้อหา ละเมิด หมิ่นประมาท ไขข่าว แพร่พลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียง และเกียรติคุณของโจทก์ ที่ได้พิมพ์หนังสือชื่อ “ประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ” ที่มีการจัดทำเนื้อหาอย่างไม่ถูกต้อง โดยคดีดังกล่าวนี้จำเลยได้ยอมรับความไม่ถูกต้องในหนังสือ
โดยคดีดังกล่าวข้างต้นนี้ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อสู้ของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งต่อต้านการทำตัวเทียมกษัตริย์ของ จอมพล ป.ความบางตอนที่น่าสนใจดังนี้

“สมเด็จเจ้าพระยา มีฐานะเท่ากับ “เจ้า” คือบุคคลใช้ราชาศัพท์ให้เกียรติแก่สมเด็จเจ้าพระยา เช่น กินว่า “เสวย” นอนว่า “บรรทม” ฯลฯ ลูกชายสมเด็จเจ้าพระยาเรียกว่า “เจ้าคุณชาย” ลูกหญิงสมเด็จเจ้าพระยา เรียกว่า “เจ้าคุณหญิง”
รัฐมนตรีที่เป็นผู้ก่อการฯ จำนวนหนึ่งรวมทั้งนายปรีดี พนมยงค์ ด้วยนั้นได้คัดค้าน จอมพล พิบูลฯ ว่าขัดต่ออุดมคติของคณะราษฎร อันเป็นสาเหตุให้จอมพลพิบูลฯไม่พอใจ ท่านจึงเสนอให้ที่ประชุมเลือกเอาสองทาง คือ ทางหนึ่งตกลงตามแผนสถาปนาฐานันดรเจ้าศักดินาอย่างใหม่ ทางที่สองเวนคืนบรรดาศักดิ์เดิมทุกคน รัฐมนตรีส่วนมากจึงลงมติในทางเวนคืนบรรดาศักดิ์เดิม

เมื่อจอมพล พิบูลฯแพ้เสียงข้างมากในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว ท่านจึงเสนอว่าเมื่อเวนคืนบรรดาศักดิ์เก่าแล้ว ผู้ใดจะใช้ชื่อและนามสกุลเดิม หรือจะเปลี่ยนนามสกุลตามชื่อบรรดาศักดิ์เดิมก็ได้” [25]

และนี่คือ “เบื้องหลัง” การยกเลิกบรรดาศักดิ์ของทุกคนที่เหลืออยู่ทั้งหมดในประเทศไทย เพื่อแลกกับการไม่ให้จอมพล ป.เพียงคนเดียว ได้มาเป็น “สมเด็จเจ้าพระยา”ในการสถาปนาฐานันดรเจ้าศักดินาอย่างใหม่ โดยความตอนหนึ่งในประกาศเรื่องการยกเลิกบรรดาศักดิ์ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2485 ความตอนหนึ่งระบุว่า

“ในเวลานี้ได้มีข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์ทั้งที่อยู่ในราชการและนอกราชการ ตั้งแต่ผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นสูงลงมาจนถึงผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นผู้น้อยได้ลาออกจากระบบบรรดาศักดิ์เป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังคงมีผู้มีบรรดาศักดิ์บางคนยังคงดำรงอยู่ในบรรดาศักดิ์ยังมิได้ขอคืน จึงเป็นการลักลั่นไม่เป็นระเบียบ ทั้งยังจะทำให้เข้าใจผิดไปว่า ผู้มีบรรดาศักดิ์นั้นจะได้มีสิทธิพิเศษดีกว่าผู้อื่นด้วย เหตุนี้จึงเป็นการสมควรที่จะยกเลิกบรรดาศักดิ์ที่พระราชทานไปแล้วนั้นเสีย”[26]

ส่วนที่เกี่ยวกับการฉายภาพจอมพล พิบูลฯ พร้อมบรรเลงเพลงสดุดี จอมพล พิบูลฯที่โรงภาพยนตร์ และบังคับให้คนต้องยืนขึ้นทำความเคารพนั้น นายปรีดี พนมยงค์ ไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุผลว่า

“ เพราะจะทำให้ประชาชนเห็นว่าท่านจอมพล พิบูลฯ ทำตนเทียบเท่าพระมหากษัตริย์ วิธีการเช่นนี้ก็มีแต่ในอิตาลีเท่านั้น ซึ่งในโรงภาพยนตร์ถูกบังคับให้ฉายภาพมุสโสลินีและให้คนยืนขึ้นทำความเคารพ” [27]

ส่วนกรณีที่นักศึกษาเตรียมปริญญากลุ่มหนึ่งได้ไปดูภาพยนตร์แล้วไม่ยืนทำความเคารพจอมพล ป. และทหารกลุ่มนั้นมาคุกคามว่าจะพิจาณาโทษนักศึกษานั้น นายปรีดี พนมยงค์ได้ทราบอยู่แล้วถึงบทเรียนที่อยากมีอำนาจของโปเลียน โบนาปาร์ตในการปฏิวัติฝรั่งเศสจนขึ้นเป็นพระมหาจักรพรรดิเสียเอง

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้เขียนเอาไว้ใน “คำนำ” ในหนังสือประวัติศาสตร์ สมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส และสมัยนโปเลียน โบนาปาร์ต ซึ่งเรียบเรียงโดย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ซึ่งตีพิมพ์ เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2477 ด้วยเหตุผลดังกล่าว นายปรีดี พนมยงค์ จึงได้เข้าไปคัดค้านและขอให้นายทหารผู้นั้นเรียนแก่จอมพล พิบูลฯว่า

“ขอให้ถอนคำสั่งที่ให้โรงภาพยนตร์ฉายภาพท่าน และเรียนจอมพลฯ ด้วยว่า นักเรียนที่ศึกษาประวัติ นายพลโบนาปาร์ต ก็รู้กันอยูว่า นายพลโบนาปาร์ตได้ขยับทีละก้าวๆ จากการเป็นผู้บัญชาการกองทัพ แล้วเป็นกงสุลคนหนึ่งในคณะกงสุลที่ปกครองประเทศฝรั่งเศส ต่อมาก็ขยับขึ้นเป็นกงสุลผู้เดียว แล้วก็ขยับขึ้นเป็นกงสุลตลอดกาล หรือกงสุลตลอดชีวิต มีสิทธิตั้งทายาทได้ แล้วก็ขยับเป็นพระมหาจักรพรรดิ
หลายคนก็ปรารภกับนายปรีดี พนมยงค์ว่า ท่านจอมพลฯ เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดแล้ว ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาให้ท่านมีอำนาจสิทธิขาด และต่อมาเมื่อท่านจอมพลฯได้เสนอคณะรัฐมนตรีที่จะสถาปนาฐานันดรเจ้าศักดินาให้มีสมเด็จเจ้าพญานั้น เมื่อท่านได้แพ้มติข้างมากในคณะรัฐมนตรีแล้ว ท่านก็ควรระงับเพียงนั้น ท่านไม่ควรที่จะให้โรงภาพยนตร์ฉายภาพของท่าน”[27]
นอกจากนั้นนายปรีดี พนมยงค์ ยังได้ขอให้นายทหารผู้นั้นเรียนเตือนท่านจอมพลฯว่า

“อย่าหลงเชื่อนักประวัติศาสตร์สอพลอที่อ้างว่าเห็นแสงรัศมีออกจากตัวท่านจอมพลฯ... และที่คัดค้านนี้ก็เพราะเห็นว่าทำไม่ถูกต้องตามอุดมคติของคณะราษฎร”[27]

ในเวลาต่อมาระหว่างวันที่ 20-22 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากทั้งประเภทที่ 1 และ 2 ได้พร้อมใจกันลงมติ “คัดค้าน” ร่างพระราชบัญญัติเพื่อพระราชกำหนดของรัฐบาลจอมพล ป.พร้อมกันถึง 2 ฉบับติดกันภายใน 2 วัน อันเป็นผลทำให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2487 และหลังจากนั้นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน

รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แพ้คะแนนเสียงการรับรองพระราชกำหนด 2 ฉบับติดกันใน 2 วัน คือ
ฉบับแรก คือ วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบด้วยเสียงข้างมาก 48 ต่อ 36[28] ในการลงมติเพื่ออนุมัติร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดจัดระเบียบราชการบริหารนครบาล เพชรบูรณ์ พ.ศ. 2487[29]

และฉบับที่สองคือ วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบด้วยเสียงข้างมากแบบฉิวเฉียดด้วยคะแนนเสียง 43 ต่อ 41[30] ในการลงมติเพื่ออนุมัติร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธมณฑล พ.ศ. 2487[31]
ภายหลังต่อมา นายปรีดี พนมยงค์ ได้เขียนบทความเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ได้ “เฉลย” เหตุการณ์เบื้องหลังการจัดการให้ จอมพล ป. ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในครั้งนั้นว่า

“เมื่อการปฏิบัติของจอมพล ป. นําความเสียหายทั้งภายในและภายนอกมาสู่ประเทศชาติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ซึ่งมีสมาชิกคณะราษฎรที่รักษาอุดมคติประชาธิปไตยอยู่ด้วยนั้น ได้พร้อมใจกันจัดการโดยวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้จอมพล ป. ออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้าในฐานะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ได้ปฏิบัติตามความต้องการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น” [10]

แล้วต่อมาข้าพเจ้าในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ประกาศพระบรมราชโองการปลดจอมพล ป. จากตําแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด แล้วได้ยุบตําแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดโดยตั้งตําแหน่งแม่ทัพใหญ่อันเป็นตําแหน่งที่ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก และตั้งให้พระยาพหลฯ ดํารงตําแหน่งแม่ทัพใหญ่นี้ เพื่อบังคับบัญชาทหารตามหลักประชาธิปไตย” [10]

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง
[1] สุลักษณ์ ศิวรักษ์, เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ตอนที่ 1 เหตุปัจจัยสู่อภิวัติสยาม 2475, ให้สัมภาษณ์, โดยผู้นำกระบวนทัศน์ใหม่ พิเคราะห์สังคมไทย เผยแพร่ในยูทูปเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2563
https://youtu.be/mspj0efRvmE

[2] สองฝั่งประชาธิปไตย, "2475" สารคดีทางไทยพีบีเอส: 26 กรกฎาคม 2555

[3] คำนำของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม, ในหนังสือ ประวัติศาสตร์ สมัยการปฏิวัตร์ฝรั่งเศส และ สมัยนโปเลียน โบนาปาร์ตี้ ภาคที่ 1, เรียบเรียงโดย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา, วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2477 หน้า (6)

[4] หนังสือที่ระลึกในงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ ร้อยโทจงกล ไกรฤกษ์ ณ เมรุ วัดมกุฏกษัตริยารามวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2513 หน้า 39

[5] ภูธร ภูมะธน, ศาลพิเศษ พ.ศ. 2476-พ.ศ.2478 และ พ.ศ. 2481 วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2521, หน้า 150

[6] ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศพระราชทานยศทหาร, เล่มที่ 50, วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2476 หน้า 260, นายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) เป็น นายพันโท ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2476/D/260.PDF

[7] ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศพระราชทานยศทหารบก, เล่มที่ 51, วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2477 หน้า 377, นายพันโท หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) เป็น นายพันเอก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2477/D/376.PDF

[8] ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศพระราชทานยศทหาร, เล่มที่ 52, วันที่ 8 มีนาคม 2479 (ปฏิทินปัจจุบัน) หน้า 3733, นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) เป็น นายนาวาเอก ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2479 (ปฏิทินปัจจุบัน)
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2478/D/3733.PDF

[9] ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศพระราชทานยศทหาร, เล่มที่ 53, วันที่ 14 มีนาคม 2480 (ปฏิทินปัจจุบัน) หน้า 4193, นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) เป็น นายนาวาอากาศเอก ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2480 (ปฏิทินปัจจุบัน)
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2479/D/4093_1.PDF

[10] คัดจากตอนที่ 3 ในบทความเรื่อง “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม” ของนายปรีดี พนมยงค์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ 10 ธันวาคม 2516
https://pridi.or.th/th/content/2020/10/456

[11] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่องพระราชทานยศทหาร, เล่มที่ 55 วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2482 (ปฏิทินปัจจุบัน)หน้า 4398-4399 ให้นายพันเอก นายนาวาเอก นายนาวาอากาศเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) เป็นพลตรี นายพลเรือตรี นายพลอากาศตรี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/D/4398.PDF

[12] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 181
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf

[13] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าพระราชทานยศ จอมพล จอมพลเรือและจอมพลอากาศ แก่นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ด้วยคธาจอมพล, เล่มที่ 58 วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 หน้า 981-984
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2484/A/981.PDF

[14] เรื่องเดียวกัน, หน้า 983

[15] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 122
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf

[16] เรื่องเดียวกัน, หน้า 183

[17] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ข้าราชการกราบถวายบังคมลาออกจากบรรดาศักดิ์, เล่ม 58, 6 ธันวาคม 2484, หน้า 4525 ก.
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2484/D/4525_1.PDF

[18] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 123-124
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf

[19] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 33/2485 วันที่ 1 กรกฎาคม 2485

[20] ศรีกรุง วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2485

[21] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยมฉะบับที่ 8 เรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมี, เล่ม 57, วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2483, หน้า 788
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2483/A/78.PDF

[22] เนื้อเพลงสดุดีพิบูลสงคราม, ตอนที่ 43 เพลงคำนับของไทย ตอนที่ 2 เพลงชาติและเพลงคำนับอื่น ๆ, เว็บไซต์ห้องสมุดดนตรีสมเด็จเทพรัตน์ มหาวิทยาลัยมหิดล
https://sirindhornmusiclibrary.li.mahidol.ac.th/thai_contemporary_mu/plengthaisakol-43/

[23] สง่า อารัมภีร์ "ท่านเป็น-ครูพักลักจำ-ของผม ท่านขุนวิจิตมาตรา หรือท่าน ส. กาญจนาคพันธุ์", หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ (สง่า กาญจนาคพันธุ์" 80 ปี ในชีวิตของข้าพเจ้า" ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม พฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม 2523 (มปท. มปป.) หน้า 459

[24] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 20/2485 เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2485

[25] ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ, พิมพ์ครั้งที่ 4 กรุงเทพฯ, สยามปริทัศน์ พ.ศ. 2563, ISBN: 978-616-486-022-3 หน้า 76-77

[26] ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศเรื่องการยกเลิกบรรดาศักดิ์,
เล่ม 59, ตอนที่ 33, 19 ธันวาคม พ.ศ. 2485, หน้า 1089
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2485/A/033/1089.PDF

[27] ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ, พิมพ์ครั้งที่ 4 กรุงเทพฯ, สยามปริทัศน์ พ.ศ. 2563, ISBN: 978-616-486-022-3, หน้า 79-80

[28] บันทึกรายงานการประชุมสภาผู้แทนราสดร, ครั้งที่ 4/2487 (สามัญ) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3, วันพรึหัสบดีที่ 20 กรกดาคม พุทธสักราช 2487, นะ พระที่นั่งอนันตสมาคม
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/73316/4_24870720_wb.pdf?sequence=1

[29] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกำหนดจัดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรน์ พุทธสักราช 2487, ตอนที่ 33, เล่มที่ 61 หน้าที่ 512, วันที่ 30 พรึสภาคม 2487
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/290830/SOP-DIP_P_400671_0001.pdf?sequence=1

[30] บันทึกรายงานการประชุมสภาผู้แทนราสดร, ครั้งที่ 5/2487 (สามัญ) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3, วันพรึหัสบดีที่ 22 กรกดาคม พุทธสักราช 2487, นะ พระที่นั่งอนันตสมาคม
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/73317/5_24870722_wb.pdf?sequence=1

[31] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระราชกําหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล, เล่ม 61 ตอนท่ี 34, 5 มิถุนายน 2487, หน้า 538-541

8 ม.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 11) “บันทึกลับ” ผลการตั้งกรรมการตรวจสอบการซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่ / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

หลังเกิดเหตุการณ์ตั้งกระทู้ถามโดยนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานีเรื่องการที่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและข้าราชการ แห่รุมซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ และรวมถึงเข้าชื่อเพื่อการอภิปรายทั่วไปกรณีเดียวกันของ นายไต๋ ปาณิกบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 นั้น ได้เป็นมลทินอีกครั้งหนึ่งของคณะราษฎรที่ไม่อาจมองข้ามในบันทึกประวัติศาสตร์ไปได้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 [1]

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้เคยทรงนิพนธ์บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เอาไว้ความตอนหนึ่งในหนังสือเจ้าชีวิต พงศาวดาร 9 รัชกาลแห่งราชวงศ์จักรีว่า

“...ในตอนต้น พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937) เกิดเรื่องไม่งามขึ้นในวงการเมือง เกี่ยวกับที่ดินอันเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งคณะผู้สำเร็จราชการฯ มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย คือ ที่ดินอันเคยเป็นของพระคลังข้างที่ บัดนั้น นับว่าเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งแม้จะมีสำนักงานดูแลก็จริง แต่ความรับผิดชอบในการควบคุมยังอยู่ในคณะผู้สำเร็จราชการฯ

ขณะนั้นมีข่าวปรากฏออกมาว่า สมาชิกคณะผู้ก่อการเดิมที่เรียกกันว่า “ดีหนึ่ง” 34 คน สามารถซื้อที่ดินของทรัพย์สินฯ นี้ได้โดยราคาอันต่ำที่สุด ทั้งยังได้โอกาสผ่อนชำระค่าซื้อที่ดินอย่างสะดวกง่ายดายยิ่ง จนการซื้อครั้งนั้นเกือบจะเท่ากับได้เปล่าๆ

เมื่อเป็นที่ทราบกันทั่วไปก็เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง จนเป็นเรื่องครึกโครม นายปรีดีนั้นปรากฏว่าไม่มีส่วนเสียหาย เพราะไม่มีชื่อว่าเป็นผู้ซื้อ มีข่าวลือว่าหลวงพิบูลฯ ได้ซื้อไว้บ้าง แต่พอมีท่าทางว่าผู้คนไม่พอใจ หลวงพิบูลฯ ก็บอกคืนเสียโดยเร็ว

เมื่อเห็นว่าประชาชนไม่พอใจในการซื้อขายที่ดินทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ สมาชิกประเภท 1 ซึ่งราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นมา ก็ถือโอกาสโจมตีคณะผู้สำเร็จราชการและรัฐบาลในสภา ใช้ถ้อยคำอันรุนแรง จนทำให้คณะผู้สำเร็จราชการฯ กับนายกรัฐมนตรี (พระยาพหลฯ) ต้องขอลาออกจากตำแหน่ง..”[2]

โดยการอภิปรายในครั้งนั้นได้พาดพิงไปถึงพฤติการณ์ในการขายที่ดินส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการ (โรงเรียนการเรือน)ให้กับสำนักพระคลังข้างที่ในราคาที่แพงกว่าที่ดินใกล้เคียงด้วย ดังปรากฏในการตั้งกระทู้ถามของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ความตอนหนึ่งว่า

“ผู้มีอำนาจนั้นให้พระคลังข้างที่ซื้อที่ดินของตน 9 หมื่นบาท คิดเฉลี่ยตารางวา 35 บาท ขณะเดียวกันที่ดินข้างเคียงราคาตารางวาละ 15 บาท นี่หมายความว่าอย่างไรกัน แล้วจะไม่ให้ผู้เยาว์ยื่นมือเข้าเกี่ยวข้องหรือ นี่หรือเป็นวิธีรักษาพระมหากษัตริย์ของพวกเรา ขายที่ดินราคา 9 หมื่นบาท ราคาตารางวาละ 35 คือโรงเรียนการเรือน”[3]

สอดคล้องกับคำอภิปรายของนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้อภิปรายความตอนหนึ่งถึงการขายที่ดินโรงเรียนการเรือนให้กับพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆว่าเป็นที่ดินของผู้สำเร็จราชการ ความตอนหนึ่งว่า

“ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้นมีอยู่ 3 ท่าน ใน 3 ท่านนั้นได้รับประโยชน์บ้าง และท่านไม่ได้รับประโยชน์ดังที่สมาชิกได้กล่าวมาแล้วว่าที่โรงเรียนการเรือนนั้นได้โอนขายให้แก่พระคลังข้างที่เป็นเงิน 9 หมื่นบาท ถ้าคิดเฉลี่ยเป็นตารางวาละ 35 บาท ซึ่งขณะเดียวกันนั้นเองพระคลังข้างที่กลับโอนที่ของตนอย่างกะเรี่ยกราด ไปให้แก่บุคคลหลายคนดังที่ปรากฏตามที่ได้โอนมาแล้วดังรายสามที่สมาชิกได้อ่าน”[4]

การอภิปรายดังกล่าวได้ยุติลงในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ต่อมากำหนดการอภิปรายต่อมาในวันรุ่งขึ้น วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา)ได้แจ้งต่อที่ประชุมให้ทราบ 2 เรื่อง เรื่องที่ 1 คือ ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขอลาออกจากตำแหน่ง และเรื่องที่สอง คือ นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะขอลาออกจากตำแหน่ง



โดยเนื้อความหนังสือขอลาออกของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการ มีเนื้อความว่า

“วันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2480

เรียน พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร

เนื่องจากได้มีการอภิปรายกันในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร อันเกี่ยวถึงเรื่องการซื้อชายที่ดินของพระคลังข้างที่เมื่อวานนี้ มีท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางท่านได้อภิปรายพาดพิงมาถึงประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือตัวข้าพเจ้าอันมีถ้อยคำรุนแรง เป็นเหตุให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเป็นการเสื่อมเสียเกียรติยศและตำแหน่งในหน้าที่ราชการ

ทั้งนี้ ข้าพเจ้ามั่นอยู่ในระบอบประชาธิปไตยโดยแท้ ยึดถือเสียงของประชาชนคือ สภาผู้แทนราษฎรเป็นใหญ่ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ได้กระทำการซึ่งเป็นที่ข้องใจของประชาชนเช่นนี้แล้ว ข้าพเจ้าใคร่ขอลาออกเสียจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
(ลงพระนาม) อาทิตย์ทิพอาภา”[5]

หลังจากนั้น พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้อ่านหนังสืออีกฉบับหนึ่ง เรื่อง การลาออกของนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ความว่า

“วันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2480

ถึง พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ด้วยวันนี้ข้าพเจ้าได้รับหนังสือนายกรัฐมนตรีว่า โดยที่ควรจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในเรื่องที่เกี่ยวกับที่ดินบางราย ซึ่งสำนักพระราชวังได้กระทำไปปรากฏเป็นที่ข้องใจสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในราชการสำนักพระราชวัง เห็นสมควรจะได้มีโอกาสสอบสวนเพื่อความชอบธรรมด้วยกันทุกฝ่าย จึ่งขอพระราชทานลาออกจากตำแหน่ง และคณะรัฐมนตรีได้ขอพระราชทานลาออกด้วยความรับผิดชอบร่วมกันด้วย

ฉะนั้น จึงขอแจ้งมาทางสภาผู้แทนราษฎรได้ทราบ เพื่อจักได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญต่อไป

(ลงพระนาม) อาทิตย์ทิพอาภา
(ลงนาม) ยมราช
(ลงนาม) พล.อ.พิชเยนทรโยธิน
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” [6]

และภายในวันเดียวกันนั้นเองผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเหลืออีก 2 ท่านก็ได้ลาออกด้วยเหตุผลซึ่งมีเนื้อหาเดียวกันกับประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดย พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้อ่านหนังสือดังกล่าวในช่วงบ่ายของวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 ความว่า

“วันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2480

ถึง พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ด้วยวันนี้ข้าพเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แสดงพระประสงค์มาว่า โดยที่ได้อภิปรายกันในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรอันเกี่ยวถึงเรื่องการซื้อขายที่ดินของพระคลังข้างที่เมื่อวานนี้ มีท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางท่านได้อภิปรายด้วยถ้อยคำแรงเป็นเหตุให้พระองค์ท่านเสื่อมเสียพระเกียรติยศและตำแหน่งในหน้าที่ราชการเป็นไปถึงเช่นนี้ พระองค์ท่านจึงเห็นว่า เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าพระองค์ท่านเป็นผู้ที่ได้กระทำการซึ่งเป็นที่ข้องใจของประชาชนเช่นนี้แล้ว ก็ใคร่ขอลาออกจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

“คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึ่งปรึกษาพร้อมกันเห็นว่า เมื่อประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทรงขอลาออกจากตำแหน่ง คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ขอลาออกด้วยความรับผิดชอบร่วมกันด้วย

(ลงนาม) ยมราช
(ลงนาม) พล.อ.พิชาเยนทรโยธิน
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”[7]

โดยในการประชุมครั้งนี้ มีข้อถกเถียงกันในสภาว่าหนังสือเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการตีความว่า “ใคร่ขอลาออก” นั้นหมายถึงได้ลาออกหรือยังกันแน่

โดยในระหว่างการหาข้อยุติดังกล่าว พันตรีหลวงเชวงศักดิ์สงคราม ได้ขอให้ พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร อ่านพระหัตถเลขาคำชี้แจงอีกฉบับหนึ่งของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาด้วย โดยพันตรีหลวงเชวงศักดิ์สงคราม ได้กล่าวในสภาผู้แทนราษฎรความตอนหนึ่งว่า

“คือข้าพเจ้าได้ทราบว่าลายพระหัตถเลขาที่ส่งมาได้มีคำชี้แจงของท่านด้วย บอกว่าถ้าสภาฯมีความข้องใจและถ้าสภาฯจะทำให้หายไม่ได้จริงๆ แล้วก็ใคร่จะลาออกเสียจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่อยากจะฟอกความบริสุทธิ์ของท่าน ท่านจึงได้มีพระหัตถเลขามาฉบับหนึ่ง ข้าพเจ้าคิดว่าเจ้าคุณประธานฯควรอ่านให้ที่ประชุมฟัง เมื่อเป็นข้อแก้ของพระองค์ท่าน และจะทำให้พระองค์ท่านและคณะผู้สำเร็จราชการหายมลทินได้”[8]

หลังจากนั้น พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงได้อธิบายเนื้อความในคำชี้แจงความว่า

“...หนังสือนั้นเป็นหนังสือที่มีมาถึงข้าพเจ้า บอกว่าลับ ไม่ใช่เปิดเผย ในวันนั้นเราประชุมโดยเปิดเผย แต่วันนี้เราประชุมกันเป็นการภายใน ข้าพเจ้าพูดได้ ท่านชี้แจงว่าเหตุที่ท่านขายวังของท่านคือวังกรมหลวงชุมพรนั้น เพราะเหตุว่าต้องมีการใช้จ่ายรับรองอะไรต่างๆมาก เพราะฉะนั้นก็ใคร่จะขายเสีย”[8]

อย่างไรก็ตามผลการประชุมผ่านไปอีก 1 วันก็ยังไม่มีข้อยุติอยู่ดี สถานการณ์ดังที่กล่าวมาข้างต้น ได้ทำให้รัฐบาลได้ลาออกทั้งหมด ในขณะเดียวกันคณะผู้สำเร็จราชการก็ลาออกอีก จึงไม่มีผู้กระทำการแทนพระมหากษัตริย์ในการโปรดเกล้าแต่งตั้งรัฐบาล และก็ไม่มีรัฐบาลซึ่งทำหน้าที่ผู้รับสนองพระบรมราชโองการตามรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน

แต่ท่านผู้อ่านลองพิจารณาว่าการกระทำของคณะผู้สำเร็จราชการที่นำเอาที่ดินพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นของพระมหากษัตริย์มาตัดแบ่งขายให้กับนักการเมืองในราคาถูกๆ นั้น เป็นเรื่องที่มีความอื้อฉาวและเป็นมลทินครั้งสำคัญหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คำถามมีอยู่ว่าคนที่พร้อมที่จะเข้ามาคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกครั้ง จะต้องเป็นคนลักษณะแบบใด

ต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 คณะผู้สำเร็จราชการจึง “เปลี่ยนใจ” ทำหนังสือ“ถอน”หนังสือลาออก โดยอ้างว่าหนังสือเดิมที่เขียนว่า “ใคร่ขอลาออก” นั้นดัดแปลงเนื้อความอธิบายเป็นว่า ใคร่“จะ”ขอลาออก โดยพ่วงเงื่อนไขว่าถ้าสภาเห็นว่าคณะผู้สำเร็จราชการปฏิบัติการเป็นที่ข้องใจของประชาชน

ทั้งนี้ พระยามานวราชเสวี ประธานผู้แทนราษฎร ได้แจ้งต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2480 ถึงหนังสือของคณะผู้สำเร็จราชการซึ่งลาออกไปแล้ว แต่เปลี่ยนใจมีเนื้อความว่า

“พระที่นั่งบรมพิมาน

วันที่ 30 กรกฎาคม พุทธศักราช 2480

ถึง พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ด้วยตามที่ข้าพเจ้าทั้งสาม ได้แสดงความประสงค์ว่าถ้าสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่า ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติการเป็นที่ข้องใจของประชาชน ในเรื่องการซื้อขายที่ดินของพระคลังข้างที่แล้ว ข้าพเจ้าใคร่จะขอลาออกจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ข้าพเจ้าคอยมติของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อรับตอบในเรื่องนี้อยู่จนบัดนี้ก็ยังหาได้รับตอบเป็นการเด็ดขาดประการใดไม่

บัดนี้ ทหารบก, ทหารเรือ, ทหารอากาศ, ตำรวจ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 และบรรดาข้าราชการทั้งในพระนครและต่างจังหวัดเป็นส่วนมาก ต่างได้มาร้องขอให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คณะนี้ได้คงดำรงตำแหน่งนี้สืบต่อไปอีก เพราะปรากฏว่าในขณะที่มีเหตุนี้ขึ้น การเงินและการค้าของประเทศระส่ำระสายและตกต่ำลงทันที โดยเหตุที่ประเทศนี้ไม่มีผู้แทนพระองค์พระมหากษัตริย์ และไม่มีรัฐบาลอันแน่นอนที่จะบริหารราชการต่อไป กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศต่างมีความวิตกในเหตุการณ์นี้เป็นอย่างยิ่ง เมื่อสภาพการณ์เป็นดั่งนี้ หากมีการฉุกเฉินประการใดเกิดขึ้นแล้ว ข้าพเจ้าทั้งสามก็ย่อมไม่พ้นความรับผิดชอบในเรื่องนี้เป็นแน่แท้

ฉะนั้น เพื่อเห็นแก่ความสงบสุขและความเรียบร้อยของประเทศชาติและประชาชนชาวสยาม ข้าพเจ้าทั้งสามจำต้องขอถอนหนังสือแสดงความประสงค์ที่จะลาออกนั้นเสียจนกว่าจะได้ตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ และเมื่อเหตุการณ์ได้สงบเรียบร้อยเป็นปกติดีแล้ว ถ้าสภาผู้แทนราษฎรยังมีความข้องใจในตัวข้าพเจ้าทั้งสาม และสมควรจะดำเนินการต่อไปประการใดอีกก็แล้วแต่จะเห็นควร

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
(ลงพระนาม) อาทิตย์ทิพอาภา
(ลงนาม) ยมราช
(ลงนาม) พล.อ.พิชเยนทรโยธิน” [9]

ปรากฏว่าหลังจากการอ่านหนังสือดังกล่าว ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ถกเถียงกันในการตีความและวินิจฉัยในหนังสือการลาออกที่ผ่านมากันอย่างหนัก ระหว่างคำว่า “ใคร่”ขอลาออก ในหนังสือฉบับแรก และ “ใคร่จะขอลาออก” ในหนังสือครั้งหลัง จะมีผลทำให้การลาออกที่ผ่านมามีผลหรือไม่ โดยมีการเทียบเคียงกับการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่ไม่ได้มีผู้สนองพระบรมราชโองการในการสละราชสมบัติเช่นกัน

ผลปรากฏว่าภายหลังมีการถกเถียงกันอยู่นาน ที่ประชุมสภาจึงได้มี “การประชุมภายในระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2” ซึ่งมาจากการคัดเลือกของคณะราษฎรกันเอง (ไม่เปิดเผย) จนเลิกการประชุมเวลา 21.10 น.[10]

ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2480 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติเห็นชอบให้คณะผู้สำเร็จราชการออกได้ 47 คะแนน และฝ่ายที่เห็นว่าให้คณะผู้สำเร็จราชการลาออกไม่ได้ 29 คะแนน [11]

ต่อมาที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการเสนอชื่อ “เจ้า” ผู้ที่จะมาเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการ ได้แก่ พระองค์เจ้าอาทิตย์, พระองค์เจ้าอลงกฏฯ, หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย และพระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ฯ

หลังจากนั้นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงคะแนนผู้ที่จะมาเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการ (ตามการพูดคุยเป็นการภายใน) ตามลำดับ ดังนี้ พระองค์อาทิตย์ฯ ที่ 1 ได้ 40 คะแนน, พระองค์เจ้าอลงกฏฯ ได้ 24 คะแนน, หม่อมเจ้าวิว้ฒน์ไชย 1 คะแนน, และพระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ 3 คะแนน ดังนั้นที่ประชุมได้เลือกพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ เป็นประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกวาระหนึ่ง [12]

ส่วนคนที่สอง ที่จะต้องพิจารณาจากทหารนั้น ที่ประชุมเสนอชื่อ โดยตกลงกันว่าถ้าคะแนนคนที่หนึ่งไม่รับก็ให้ได้แก่คนที่ได้คะแนนเป็นที่สองตามลำดับ

ผลการลงคะแนนของสภาผู้แทนราษฎรสำหรับผู้สำเร็จราชการคนที่ 2 ซึ่งต้องเป็นทหาร ตามลำดับคือ เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) ได้คะแนนมากที่สุด 37 คะแนน, เจ้าพระยาพิชเยนทร 26 คะแนน และพระยาพหลพลพยุหเสนา 2 คะแนน[13]

ส่วนคะแนนเลือกผู้สำเร็จราชการคนที่ 3 ซึ่งต้องมาจากผู้ที่เคยเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงคะแนนเรียงลำดับจากมากที่สุด คือ เจ้าพระยามหิธร 26 คะแนน, เจ้าพระยายมราช 23 คะแนน และเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ 20 คะแนน [14]

ภายหลังการลงมติแล้ว พลโทพระยาเทพหัสดิน ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครได้รับมอบหมายจากสภาผู้แทนราษฎรให้ไปทาบทามผู้ที่ถูกเลือกเป็นผู้สำเร็จราชการให้มาดำรงตำแหน่ง ปรากฏว่า พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯได้ปรึกษากับพวกแล้วว่าจะรับตำแหน่ง แต่อยากจะขอให้ได้คณะผู้สำเร็จราชการชุดเดิมเท่าที่จะเป็นได้ โดยที่จะขอมีเจ้าพระยาพิชเยนทรร่วมด้วยเป็นอย่างน้อย ในขณะที่เจ้าพระยามหิธรฯได้ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งเพราะท่านแจ้งว่าอายุ 72 ปี ชราแล้ว [15]

ในค่ำวันนั้นเดียวกันภายหลังจากได้ทราบความประสงค์ของพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯแล้ว สภาผู้แทนราษฎรจึงได้มาประชุมกันอีกครั้ง ผลปรากฏว่าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรยังคงเปิดโอกาสให้มีการเสนอชื่อผู้สำเร็จราชการที่เหลือและลงมติกันอีกครั้ง

โดยคราวนี้สภาผู้แทนราษฎรได้ลงคะแนนให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้คะแนน 42 คะแนน มากกว่าเจ้าพระยายมราช ซึ่งได้ 37 คะแนน [16] ในขณะที่ผู้สำเร็จราชการที่เป็นทหารนั้น เจ้าพระยาพิชเยนทรฯ ได้ 50 คะแนน มากกว่าหลวงพิบูลสงครามซึ่งได้ 16 คะแนน ในขณะที่พระยาพหลฯ ได้เพียง 2 คะแนน[17]

ต่อมาในวันรุ่งขึ้นวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2480 ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แจ้งว่า

“ตามที่ประชุมได้ตกลงให้เลือกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธินเป็นผู้สำเร็จราชการคนหนึ่งนั้น บัดนี้ข้าพเจ้าได้ทราบจากเจ้าคุณเทพหัสดิน ซึ่งไปทาบทามแล้ว ท่านก็รับ เพราะฉะนั้นข้อนี้ไม่เป็นการขัดข้อง”[18]

แต่ด้วยการสื่อสารในยุคนั้นยังล่าช้า เมื่อพระยาธรรมศักดิ์มนตรีไม่ได้อยู่ที่พระนคร การทาบทามจึงใช้วิธีการสื่อสารด้วยโทรเลข โดย พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แจ้งต่อที่ประชุมโทรเลขของพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ฉบับหนึ่งที่ตอบโทรเลขกลับมาความว่า

“ข้าพเจ้าได้รับโทรเลขของท่านกับได้ทราบจากหนังสือพิมพ์ว่า คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ถอนใบลาแล้ว เรื่องคงสวนกัน อนึ่งหน้าที่สำคัญนี้ ข้าพเจ้าวิตกว่าข้าพเจ้าจะทำไม่ได้ โปรดนำเสนอสภาฯว่าข้าพเจ้าจะทำไม่ได้ โปรดนำเสนอสภาฯว่าข้าพเจ้าขอขอบใจ”[18]

ปรากฏว่าที่ประชุมได้ตีความโทรเลขดังกล่าวไปในทิศทางต่างๆกัน บางคนก็ตีความว่าเป็นเพราะพระยาธรรมศักดิ์มนตรีคงจะไม่ทราบความเป็นไปในสภาในสถานการณ์ล่าสุด บางคนก็ตีความว่าคงเป็นการปฏิเสธไม่รับตำแหน่ง คราวนี้ที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงได้ลงมติ 41 คะแนนว่าไม่ต้องโทรเลขไปสอบถามอีกหน ในขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติ 32 คะแนนว่าต้องโทรเลขสอบถามไปอีกครั้งเพื่อความชัดเจน [19]

แต่ในที่สุดภายหลังการถกเถียงกันอีกก็ได้ปรากฏว่าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติในการเสนอชื่อเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีให้เข้ามาเป็นตัวเลือกอีกจำนวน 36 คะแนน ในขณะที่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยจำนวน 28 คะแนน ทำให้ชื่อของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีกลับมาถูกเสนอเป็นคู่แข่งกับเจ้าพระยายมราชอีกครั้งหนึ่ง [20]

และผลการลงคะแนนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ปรากฏว่าเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้มีคะแนนมากกว่าเป็น 42 คะแนน มากกว่าแบบฉิวเฉียดเมื่อเทียบกับเจ้าพระยายมราชซึ่งได้ 39 คะแนน คราวนี้ พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร แจ้งว่าจะเป็นผู้เขียนโทรเลขไปสอบถามเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีด้วยตัวเอง [20]

2 ทุ่มของคืนเดียวกันนั้น พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าได้รับโทรเลขจากเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีแล้วความว่า

“เมื่อบ้านเมืองเรียกใช้จริงๆ ข้าพเจ้าไม่มีหนทางปฏิเสธเลย และรับสนองคุณตามสติปัญญาและความสามารถ ข้าพเจ้าจะกลับพรุ่งนี้”[21]

หลังจากนั้น พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร แจ้งว่าจำเป็นต้องขอพบเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีอีกครั้งหนึ่งก่อนเพื่อความชัดเจน (ทั้งๆที่ข้อความในโทรเลขดังกล่าวมีความชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว) จนเป็นที่สงสัยของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนและเห็นว่าควรจะยุติและประกาศได้แล้ว

ต่อมาเช้าวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2480 พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แจ้งต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่าได้พบกับ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี แล้วเมื่อประมาณบ่ายสามของ วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2480 ว่า

“ท่านแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า ท่านเป็นผู้ที่ไม่ปรารถนาสิ่งใดๆ นี่ข้อที่หนึ่ง ข้อที่สอง เมื่อสภาฯกรุณาเชิญท่านเป็นครั้งที่สอง ท่านก็ยังไม่รับจะทำ ถ้าแม้ว่าบ้านเมืองต้องการท่านจริงๆ ท่านจึงจะทำ”[22]

พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ถามเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ต่อหน้าคุณหลวงคหกรรมฯ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งไปด้วยว่า คำว่าบ้านเมืองนั้นคือใคร เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ตอบว่า

“บ้านเมืองคือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และอำนาจทุกฝ่าย คือคณะรัฐมนตรี อำนาจทางศาล และอำนาจทางสภาฯ”[22]

ซึ่งความหมายข้างต้นก็น่าจะแปลความได้ว่าเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีต้องการจะส่งสัญญาณว่าการจะรับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการจะต้องเป็นความต้องการของทุกฝ่ายโดยไม่มีการขัดแย้งกัน

จากนั้นพระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงได้สรุปแปลความหมายของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีให้ที่ประชุมวินิจฉัยว่า

“ข้าพเจ้าเห็นว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงพระเยาว์ คณะรัฐมนตรีก็ลาออกไปแล้ว เพราะฉะนั้นที่จะหวังให้มีอำนาจอย่างนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าเห็นว่าท่านปฏิเสธไม่ยอมรับโดยโทรเลขฉบับนี้ ประกอบกับที่ข้าพเจ้าและหลวงคหกรรมไปพบกับท่าน เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีอะไรแล้ว ขอให้เลือกกันใหม่ดีกว่า ใครจะเสนอใครก็เสนอมา”[22]

จากนั้นที่ประชุมเห็นชอบให้ไม่ต้องมีการโหวตอะไรแล้ว 25 คะแนน มากกว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วย 20 คะแนน โดยอาศัยข้อบังคับการประชุมข้อที่ 2 ที่ว่าถ้ามีข้อเสนอเพียงคนเดียวก็ให้ได้รับเลือกโดยใช้อำนาจของประธานสภาผู้แทนราษฎร [23]

จึงเป็นอันยุติของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 8 วัน จบลงที่การเลือกคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ “กลับมาเหมือนเดิมทุกประการ” คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการ, โดยมีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และพลเอก พระยาพิชเยนทร์โยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน)ร่วมเป็นผู้สำเร็จราชการ

แต่ “เบื้องหลัง” การกลับเข้าสู่อำนาจดังเดิมได้นั้น ปรากฏเป็นบันทึกของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้เคยทรงนิพนธ์บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เอาไว้ความตอนหนึ่งในหนังสือเจ้าชีวิต พงศาวดาร 9 รัชกาลแห่งราชวงศ์จักรี ว่า

“ดังเป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไปในขณะนั้น คณะผู้สำเร็จราชการฯและเจ้าคุณพหลฯ ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งแรงจากทหาร ฉะนั้น เมื่อลาออกพร้อมกันเช่นนี้ ฝ่ายพลเรือนในรัฐบาลคงจะคิดว่าจะได้อิทธิพลมากขึ้น จึงขอให้รีบรับใบลาออกโดยเร็ว โดยหวังว่าจะเสนอผู้อื่นเป็นคณะผู้สำเร็จราชการฯ และนายกรัฐมนตรีแทน

แต่หลวงพิบูลฯ ดำเนินการให้ฝ่ายทหารรีบให้กำลังสนับสนุนคณะผู้สำเร็จราชการฯ และพระยาพหลฯมากขึ้น ฉะนั้นทุกๆอย่างก็กลับไปเป็นอย่างเรียบร้อย” [24]

ถ้าเป็นจริงตามนี้ ประกอบกับข้อมูลการลงคะแนนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในช่วงที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่ามีความพยายามต่อต้านของ “คณะราษฎรสายพลเรือน”ที่เป็นเหมือนคลื่นใต้น้ำ ที่จะพยายามจะเปลี่ยนตัวผู้สำเร็จราชการ แต่อาจไม่สามารถทัดทานอิทธิพลคณะราษฎรสายทหารในเวลานั้นได้

หลังจากนั้นวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2480 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้มีหนังสือถึงพระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร แจ้งการแต่งตั้งนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไปตามเสียงส่วนมากในสภาผู้แทนราษฎร โดยสรุปเอาไว้ตอนท้ายว่า

“สภาผู้แทนราษฎรเป็นที่พอใจในความบริสุทธิ์ของนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา และเมื่อหลักฐานเช่นนี้แล้ว คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็จะได้ดำเนินการจัดตั้งนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

จึ่งขอแจ้งมาให้ท่านทราบ เพื่อจักได้ดำเนินการต่อไป

(ลงพระนาม) อาทิตย์ทิพอาภา
(ลงนาม) ยมราช
(ลงนาม) พล.อ.พิชเยนทรโยธิน
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” [25]

วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2480 สภาผู้แทนราษฎรเปิดวาระการลงมติความไว้วางใจในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งแม้ที่ประชุมจะยังคงติดใจในเรื่องการซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ แต่พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ยืนยันว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมา โดยไม่ใช่คนของรัฐบาลแต่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมจึงลงมติเสียงข้างมากไว้วางใจรัฐบาลชุดใหม่นี้ [26]

ต่อมาวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2480 คณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่ ประกอบด้วย เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) เป็นประธานกรรมการ และพระยานลราชสุวัจน์ (ทองดี นลราชสุวัจน์) พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์) พระยาอัครราชทรงสิริ (แม้น อรุณลักษณ์) และพระยาสารคามคณาภิบาล (ทิพย์ โรจน์ประดิษฐ์) [27]

(มีต่อ)
15 ม.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 มกราคม 2021, 10:58:24 โดย story »

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
แต่ต่อมาเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ (จิตร ณ สงขลา) ได้ขอถอนตัวออกจากการเป็นประธานกรรมการ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติแต่งตั้งพระยานลราชสุวัจน์ (ทองดี นลราชสุวัจน์) เป็นประธานกรรมการแทน และแต่งตั้งพระยาพลางกูรธรรมพิจัย (เผดิม พลางกูร) เป็นกรรมการเพิ่มอีกตำแหน่งหนึ่ง

ผ่านไปเกือบ 6 เดือนปรากฏว่าเมื่อ วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2481 (ปฏิทินปัจจุบัน) นายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี ได้ตั้งกระทู้ถาม พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เพื่อติดตามผลการสอบสวนเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่ ซึ่งรัฐบาลเคยแจ้งว่าจะแถลงให้สภาฯทราบ จึงขอให้รัฐบาลตอบเป็นการด่วน โดยถามทั้งสิ้น 4 ข้อ กล่าวคือ

“1.ผลการสอบสวนของคณะกรรมการเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่ รัฐบาลจะแถลงให้สภาฯทราบโดยวิธีใด

2.คำวินิจฉัยของคณะกรรมการนั้น รัฐบาลนี้ได้ปฏิบัติตามหรือไม่ประการใด ขอให้แจ้งเป็นรายละเอียด

3.ทราบว่าบางส่วนคณะกรรมการไม่กล้าวินิจฉัย เช่นในเรื่องการกระทำของส่วนของท่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ บางอย่างคณะกรรมการอ้างว่า เกรงจะเป็นการหมิ่นประมาท สำนวนเช่นนี้ทำให้เห็นโน้มเอียงไปว่าพระองค์ท่านมัวหมองอยู่ในตัวซึ่งหน้าที่รัฐบาลจะหาทางให้วินิจฉัย ให้กระจ่างได้โดยวิธีหนึ่ง จึงจะควรเพื่อรักษาพระเกียรติของพระองค์ท่าน ขอทราบว่ารัฐบาลดำริหรือไม่ประการใด

4.รัฐบาลคิดว่าเป็นการชอบธรรมถูกต้องดีแล้วหรือยัง มีอะไรที่ควรวินิจฉัยอีกในเรื่องพระคลังข้างที่ตามที่รัฐบาลตอบกระทู้ และกล่าวในการเปิดอภิปรายเมื่อปีกลายเรื่องนี้ ข้าพเจ้าขอทราบโดยละเอียด เพราะข้าพเจ้าข้องใจอยู่เป็นอันมาก” [28]

พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบว่า

“ข้อ 1 และข้อ 2 ขอตอบรวมกันว่า รัฐบาลชุดเก่าได้มีหนังสือนำส่งสำเนารายงานของคณะกรรมการไปยังประสานสภาผู้แทนราษฎร และได้เรียนไปด้วยว่า ได้ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแล้ว

ส่วนข้อ 3 พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้อธิบายว่า คณะกรรมการก็ได้พิจารณาเสร็จแล้วเรื่องก็เป็นอันเสร็จสิ้นไป การที่คณะกรรมการไม่ได้วินิจฉัยถึงการกระทำของประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามเหตุผลที่คณะกรรมการให้ไว้ในรายงาน ซึ่งรัฐบาลได้โฆษณาแล้วนั้น ไม่ได้แปลว่าพระองค์ท่านมีความมัวหมองแต่อย่างใด

ข้อ 4 เมื่อคณะกรรมการได้วินิจฉัยตามความชอบธรรมแล้ว รัฐบาลชุดปัจจุบันนี้จึงไม่เห็นมีอะไรต้องวินิจฉัยอีก”

แต่นายเลียง ไชยกาล เห็นว่าคำตอบดังกล่าวนั้นยังไม่ชัดเจน จึงได้ขอให้ชี้แจงรายละเอียดว่าคณะกรรมการได้ระบุให้คืนที่ดินที่ใดและจำนวนเงินเท่าใด และได้ดำเนินการทำไปแล้วทุกกรณีหรือไม่อย่างไร และคณะกรรมการยังไม่ได้วินิจฉัยเรื่องการกระทำของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จริงหรือไม่อย่างไร

ปรากฏว่า พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ตอบว่า ตามที่คณะกรรมการวินิจฉัยไปนั้น รัฐบาลได้กระทำไป “เกือบหมดแล้ว”

แต่นายเลียง ไชยกาล เห็นว่ายังไม่ชัดเจนอีกและเรียกร้องให้ชี้แจงรายละเอียด ว่ารายไหนที่ยังไม่ได้ทำ และรายไหนทำไปแล้ว ปรากฏว่า พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี บอกว่าจำไม่ได้ในเวลานี้

สำหรับประเด็นนี้มีข้อน่าสังเกตว่า พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี แจ้งต่อที่ประชุมสภาว่าได้กระทำตามคณะกรรมการวินิจฉัยไป “เกือบหมดแล้ว” แต่กลับ “จำไม่ได้”นั้น มีความหมายว่าอย่างไรระหว่าง จำไม่ได้เพราะมีจำนวนที่ยังไม่ได้คืนหลายรายเกินกว่าที่จะจำได้ หรือ เป็นเพราะว่ามีจำนวนที่ดินที่ยังไม่คืนนั้นไม่มากแต่ไม่ต้องการจะแจ้งที่ประชุม?

นายเลียง ไชยกาล ได้ตั้งกระทู้ถามต่อเป็นครั้งที่สองว่า ให้ทำการโฆษณาเผยแพร่รายงานผลการสอบสวนจะทำได้หรือไม่ สำหรับประเด็นนี้ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ระบุว่า แล้วแต่สภาฯ

สุดท้ายคือ นายเลียง ไชยกาล เสนอให้เสนอกฎหมายสู่สภาฯ ให้อำนาจกรรมการวินิจฉัยในเรื่องนี้ เพราะคณะกรรมการชุดเดิมอ้างว่าไม่กล้าวินิจฉัย พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ตอบว่า รัฐบาลไม่เห็นเหตุผลที่จะทำไปเช่นนั้น

เมื่อถามกระทู้ครบสามหนแล้ว พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงได้ตัดบทและแจ้งว่าจะไม่แจกรายงานฉบับเต็มนี้ในที่ประชุม โดยอ้างว่าเป็นสภาคนละชุดกัน ให้อ่านตามที่รัฐบาลได้ส่งไปลงหนังสือพิมพ์แบบสรุปตามข้างต้น ความว่า

“ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นประธานสภาฯ ข้าพเจ้าได้รับรายงานก่อนใครๆหมด เมื่อกรรมการพิจารณาเสร็จแล้ว รัฐบาลชุดเก่าได้ส่งมาให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้อ่านเสร็จแล้วก็เก็บใส่ตู้ลั่นกุญแจไว้ และคอยฟังว่าเขาจะเปิดเผยแค่ไหน

แต่เมื่อได้ทราบว่ารัฐบาลได้ส่งไปลงหนังสือพิมพ์ รายงานของกรรมการนี้และได้เปิดเผยโดยทางหนังสือพิมพ์แล้ว มาถึงสภาฯชุดนี้ข้าพเจ้าถือว่าเป็นคนละชุดแล้ว ก็ท่านที่ตั้งกระทู้นี้ก็ทราบแล้วจากหนังสือพิมพ์ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงไม่ได้แจก หรือไม่ได้พิมพ์รายงานของกรรมการแจก เพราะเป็นคนละชุดที่จะต้องรายงาน ถ้าสภาฯชุดเดิมยังอยู่ก็จำเป็นจะต้องชี้แจงให้สภาฯทราบ แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนบุคคลจึงไม่ได้แจ้ง แต่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ชี้แจงก็ถือว่าได้ทราบแล้ว” [28]

แต่เหตุการณ์ผ่านไป 83 ปี จึงได้คำชี้แจงของ พลโทสรภฏ นิรันดร ทายาทของขุนนิรันดรชัย อดีตราชเลขานุการในพระองค์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการจัดสรรที่ดินพระคลังข้างที่ตามความต้องการของหลวงพิบูลสงครามเฉลยว่า

ในความเป็นจริงไม่ได้มีการคืนที่ดิน เพราะแม้แต่ที่ดินหน้าวังสวนจิตรฯ และที่ดินติดพระราชวังไกลกังวล ที่ขุนนิรันดรชัยได้มาจากที่ดินของพระมหากษัตริย์ก็ได้ใส่ไว้ในชื่อบุตรสาวคนหนึ่งตอนอายุ 6 ขวบ และเขียนบันทึกให้ส่งคืนขุนนิรันดรชัยเมื่อบรรลุนิติภาวะแล้ว โดยที่ดิน 2 แปลงนี้ยังคงเป็นมรดกของตระกูลนิรันดรจนถึงปัจจุบัน [29]
และจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีใครทราบด้วยซ้ำไปว่าที่ดิน 90 แปลง ในกรุงเทพมหานคร ของตระกูลนิรันดรนี้[29] เป็นที่ดินพระคลังข้างที่และทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์กี่แปลง

ยังไม่รวมถึงคนอื่นๆอีกกี่คน ที่ได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ไป แต่ไม่ได้คืนทรัพย์สินจนถึงปัจจุบัน หรือมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาจากผ่อนซื้อเป็นเช่า หรือได้ที่ดินไปโดยไม่ต้องซื้อ เพราะรายงานของคณะกรรมการดังกล่าว ไม่ได้ถูกเผยแพร่ให้มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใส จึงทำให้ยังคงเป็นรายงานซึ่งเป็นความลับอันมืดดำที่ไม่มีใครให้คำตอบได้ มาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง
[1] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง) กระทู้ถามเรื่อง ที่ดินของพระมหากษัตริย์ ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ถามนายกรัฐมนตรี และญัตติด่วน เรื่องขออภิปรายทั่วไปในนโนบายของรัฐบาลว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ โดยนายไต๋ ปาณิกบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนคร,วันที่ 27 กรกฎาคม 2480 หน้า 301-347
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383977/12_24800727_wb.pdf?sequence=1

[2] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิต พงศาวดาร 9 รัชกาลแห่งราชวงศ์จักรี,พิมพ์และจัดจำหน่ายโดย บริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด, พิมพ์ครั้งที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562, พิมพ์ที่บริษัท โรงพิมพ์กรุงเทพ (1984) จำกัด, ISBN 978-616-451-038-8 หน้า 397

[3] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง) กระทู้ถามเรื่อง ที่ดินของพระมหากษัตริย์ ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ถามนายกรัฐมนตรี และญัตติด่วน เรื่องขออภิปรายทั่วไปในนโนบายของรัฐบาลว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ โดยนายไต๋ ปาณิกบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนคร,วันที่ 27 กรกฎาคม 2480, หน้า 316

[4] เรื่องเดียวกัน, หน้า 319

[5] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 13 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง), ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และ นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะขอลาออกจากตำแหน่ง วันที่ 28 กรกฎาคม 2480 หน้า 349
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383978/13_24800728_wb.pdf?sequence=1

[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 350

[7] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 14 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง), ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และ นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะขอลาออกจากตำแหน่ง วันที่ 29 กรกฎาคม 2480 หน้า 356
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383979/14_24800729_wb.pdf?sequence=1

[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า 361

[9] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 15 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง),เรื่องหนังสือที่ได้รับจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลาออก, วันที่ 31 กรกฎาคม 2480 หน้า 366-367
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383980/15_24800731_wb.pdf?sequence=1

[10] เรื่องเดียวกัน, หน้า 412

[11] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง),เรื่องหนังสือที่ได้รับจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลาออก, วันที่ 1 สิงหาคม 2480 หน้า 435
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383981/16_24800801_wb.pdf?sequence=1

[12] เรื่องเดียวกัน, หน้า 447

[13] เรื่องเดียวกัน, หน้า 448

[14] เรื่องเดียวกัน, หน้า 450

[15] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 17 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง),เรื่องเลือกคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ต่อ), วันที่ 1 สิงหาคม 2480 หน้า 455
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383982/17_24800801_wb.pdf?sequence=1

[16] เรื่องเดียวกัน, หน้า 460

[17] เรื่องเดียวกัน, หน้า 464

[18] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 18 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง),เรื่องเลือกคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ต่อ), วันที่ 2 สิงหาคม 2480 หน้า 466
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383983/18_24800802_wb.pdf?sequence=1

[19] เรื่องเดียวกัน, หน้า 469

[20] เรื่องเดียวกัน, หน้า 472-473

[21] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 19 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง),เรื่องเลือกคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ต่อ), วันที่ 2 สิงหาคม 2480 หน้า 474
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383984/19_24800802_wb.pdf?sequence=1

[22] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 20 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง),เรื่องเลือกคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ต่อ), วันที่ 4 สิงหาคม 2480 หน้า 479
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383986/20_24800804_wb.pdf?sequence=1

[23] เรื่องเดียวกัน, หน้า 480

[24] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิต พงศาวดาร 9 รัชกาลแห่งราชวงศ์จักรี,พิมพ์และจัดจำหน่ายโดย บริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด, พิมพ์ครั้งที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562, พิมพ์ที่บริษัท โรงพิมพ์กรุงเทพ (1984) จำกัด, ISBN 978-616-451-038-8 หน้า 397-398

[25] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 21 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง),เรื่องหนังสือของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตั้งนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี, วันที่ 8 สิงหาคม 2480 หน้า 484-485
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383987/21_24800808_wb.pdf?sequence=1

[26] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 22 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง),เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติความไว้วางใจในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่, วันที่ 11 สิงหาคม 2480 หน้า 500-501
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383988/22_24800811_wb.pdf?sequence=1

[27] มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2480

[28] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 24 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง),เรื่องการสอบสวนเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่ โดยนายเลียง ไชยกาล, วันที่ 8 มีนาคม 2481 (ปฏิทินปัจจุบัน) หน้า 1551-1556
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/384455/24_24800308_wb.pdf?sequence=1

[29] ผู้จัดการออนไลน์, คำสัมภาษณ์พิเศษเพิ่มเติมของพลโทสรภฏ นิรันดร, โดยปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, สัมภาษณ์ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ณ โรงแรม INTERCONTINENTAL BANGKOK, สัมภาษณ์เพิ่มเติมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยเปิดเผยเฉพาะครั้งที่ 1, ส่วนครั้งที่ 2 ยังไม่เปิดเผยในเวลานี้รอเวลาอันเหมาะสม)
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3727071230686152/
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000133139

15 ม.ค. 2564 ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ก่อนที่คณะราษฎรได้เข้าเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในเวลานั้นภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ตกต่ำอย่างหนัก อีกทั้งระบบเศรษฐกิจก็ได้ถูกครอบงำโดยชาวต่างชาติ ซึ่งมีทั้งนายทุนตะวันตกและนายทุนเชื้อสายจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของนายทุนจีนนั้นได้มีอิทธิพลต่อธุรกิจที่มีความสำคัญเหนือกว่าชนชาติอื่น ได้แก่ ธุรกิจโรงสีข้าว ธุรกิจพ่อค้าคนกลางในนามสมาคมพ่อค้าข้าว เรือลำเลียงลากจูง การส่งออกข้าว ซึ่งธุรกิจที่ต่อเนื่องจากกลุ่มนี้ก็คือการประกันภัย ธนาคาร ธุรกิจการเดินเรือ และธุรกิจแลกเงินใต้ดินหรือโพยก๊วน [1]

สำหรับนายทุนจีนแล้วได้พึ่งพานายทุนตะวันตกด้วยการช่วยขยายทุนนิยมภายในประเทศสยาม กลุ่มทุนจีนนี้ได้พึ่งพาเจ้านายหรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่คนใดคนหนึ่งหรือมากกว่าในระบบราชการภายใต้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีระบบราชการที่เข้มแข็ง
ด้วยเหตุผลดังกล่าวชนชั้นนายทุนสัญชาติจีนจึงได้ยอมรับเอาอุดมการณ์ของเครือข่ายศักดินาในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยเพราะพึ่งพาอาศัยกัน การเจริญเติบโตขึ้นของชนชั้นนายทุนกลุ่มนี้จึงไม่เป็นปรปักษ์กับระบบเดิม แต่ก็ไม่อาจเป็นชนชั้นนำในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยได้ [2] 

อย่างไรก็ตามในเค้าโครงเศรษฐกิจในสมุดปกเหลืองของ นายปรีดี พนมยงค์ นั้น ได้กล่าวเอาไว้เกี่ยวกับ “เอกราชในทางเศรษฐกิจ” ความตอนหนึ่งว่า

“เมื่อเราจัดทำสิ่งที่จะอุปโภคบริโภคและสิ่งจำเป็นแห่งการที่จะดำรงชีวิตได้เอง และรัฐบาลควบคุมการกดราคาหรือขึ้นราคา โดยที่เอกชนได้ทำเล่นตามชอบใจในเวลานี้ได้แล้ว เราก็ย่อมเป็นเอกราช ไม่ต้องถูกบีบคั้นหรือกดขี่จากผู้อื่นในทางเศรษฐกิจ ตราบใดที่เอกชนยังต่างคนต่างทำอยู่แล้ว ตราบนั้นเราจะสลัดจากแอกแห่งความกดขี่ทางเศรษฐกิจไม่ได้”[3]

ส่วน “หลวงพิบูลสงคราม” ซึ่งมีแนวคิดลัทธิชาตินิยม เมื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ได้มีแนวคิดการส่งเสริมกิจการของคนไทย ผ่านคำขวัญที่ว่า “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ" ซึ่งนอกจากจะพยายามส่งเสริมให้มีอาชีพสงวนสำหรับคนไทยแล้ว ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2482 หลวงพิบูลสงครามยังได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และคำชักชวนให้ปฏิบัติตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ 5 เรื่องให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทยอีกด้วย [4],[5]

โดยหลวงพิบูลสงคราม ได้ประกาศชักชวนเอาไว้ในความคาดหวังชาตินิยมตามรัฐนิยมฉบับที่ 5 นี้ว่า

“ขอได้โปรดเข้าใจว่ารัฐนิยมฉะบับนี้แหละ เป็นกุญแจที่จะไขเข้าไปสู่ความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ และถ้าพี่น้องชาวไทยทั้งหลาย พร้อมกันปฏิบัติตามรัฐนิยมฉะบับที่ 5 นี้อย่างเคร่งครัดแล้ว เราจะได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของชาติและชาวไทยในไม่ช้า...”[5]

จึงเห็นได้ว่าแกนนำคนสำคัญในสายทหารอย่าง หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งมีแนวคิดใช้ลัทธิชาตินิยมนำชาติ กับ แนวคิดของสายพลเรือนอย่าง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) กับการปลดแอกทางเศรษฐกิจจากกลุ่มทุนเอกชน (ซึ่งในเวลานั้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของต่างชาติ) เป็นแนวคิดที่ไปด้วยกันได้ โดยใช้ภาครัฐเป็นผู้สถาปนา“กลุ่มทุนธุรกิจไทย” ฝ่าการครอบงำของกลุ่มทุนต่างชาติในเวลานั้น 

ทั้งนี้ ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว รัฐบาลไทยได้มีนโยบายที่ควบคุมกลุ่มทุนชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เอาเปรียบคนยากจนหรือเป็นผู้กำหนดชี้นำกลไกตลาด 

โดยในขั้นตอนแรกรัฐบาลที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของคณะราษฎร ได้ดำเนินการในการตราพระราชบัญญัติหลายฉบับเพื่อลดบทบาทและอิทธิพลของกลุ่มทุนชาวจีน เช่น

วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ได้มีการตรา พระราชบัญญัติภาษีการธนาคารและประกันภัย พ.ศ. 2475 รับสนองพระบรมราชโองการโดย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งเป็นนโยบายภาษีในกิจการธนาคารและเครดิตฟองซีเอร์ ประธานคณะกรรมการราษฎร โดยด้านหนึ่งเป็นการหารายได้เข้ารัฐ ในขณะอีกด้านหนึ่งเป็นการลดบทบาทบรรดาธนาคารเล็กๆ ที่ไม่สามารถจะจ่ายภาษีตามที่รัฐบาลกำหนดได้ [6]

วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2475 ได้มีการตรา พระราชบัญญัติว่าด้วยการยึดทรัพย์สินของกสิกร พ.ศ. 2475 รับสนองพระบรมราชโองการโดย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เพื่อแก้ไขปัญหามิให้เจ้าหนี้ยึดสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพกสิกรรม ได้แก่ พืชผลที่ยังไม่เก็บเกี่ยว, เมล็ดพันธุ์ที่จะใช้ในปีการผลิตต่อไป, พืชผลในการเลี้ยงตัวเองและครอบครัว และสัตว์และเครื่องมือสำหรับการประกอบอาชีพ [7] 

วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2475 ได้มีการตรา พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 รับสนองพระบรมราชโองการโดย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เพื่อแก้ไขปัญหาการกู้หนี้ยืมสินในชนบทที่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยเกินสมควร หรือใช้นิติกรรมอำพรางปกปิดจำนวนเงินกู้ที่แท้จริงเพื่อคิดอัตราดอกเบี้ยและเงินต้นเกินสมควร หรือการได้มาของเจ้าหนี้ที่ได้เงินทองหรือทรัพย์สินเพื่อไถ่หนี้มากเกินสมควร ฯลฯ [8] 

วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2477 ได้มีการตรา พระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิจับสัตว์น้ำในเขตต์จับสัตว์น้ำสยาม พ.ศ. 2477 รับสนองพระบรมราชโองการโดย พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี เพื่อสงวนการจับสัตว์น้ำให้กับคนไทยและนิติบุคคลไทย และควบคุมคนจีนที่ประมูลเขตน่านน้ำในการจับสัตว์น้ำ [9]

วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2480 ได้มีการตรา พระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2480 รับสนองพระบรมราชโองการโดย หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรี โดยมติคณะรัฐมนตรีเพื่อป้องกันการฉวยกำไรเกินควรจากผู้บริโภค [10]

และส่วนที่สำคัญของกลุ่มทุนธนาคารพาณิชย์ ก็คือ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2480 ได้มีการตรา พระราชบัญญัติควบคุมกิจการธนาคาร พุทธศักราช 2480 รับสนองพระบรมราชโองการโดย หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรี โดยมีสาระสำคัญหลายประการ เช่น การกำหนดทุนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาท, หลักประกันของธนาคารที่ต้องมีไว้ให้กับรัฐบาลตามสัดส่วนของทุน, การกันกำไรของธนาคารมาเป็นทุนสำรองเพิ่มเติม ฯลฯ [11]

นอกจากนั้น พระราชบัญญัติควบคุมกิจการธนาคาร พุทธศักราช 2480 มีข้อกำหนดให้อำนาจแก่กระทรวงการคลังในการควบคุมธนาคารพาณิชย์ รวมถึงข้อห้ามตามมาตรา 8 อีกหลายประการ เช่น การห้ามปันผลแล้วมีผลทำให้เงินชำระทุนลดลง การห้ามมิให้มีอสังหาริมทรัพย์อันมิจำเป็นเพื่อใช้ในกิจการธนาคาร การห้ามจ่ายเงินให้กรรมการธนาคารกู้ยืมโดยทางตรงหรือทางอ้อม ฯลฯ [11]

โดยหลังจากการตรา พระราชบัญญัติควบคุมกิจการธนาคาร พุทธศักราช 2480 แล้ว ปรากฏว่าธนาคารที่ไม่เข้าข่ายและไม่สามารถปฏิบัติตามกฎข้อบังคับต่างๆของพระราชบัญญัตินี้ ต้องเลิกกิจการไป หรือบางแห่งก็โดนรัฐบาลยึดไป เนื่องจากขัดขืนคำสั่งห้ามส่งเงินไปต่างประเทศ

ส่งผลทำให้คงเหลือกลุ่มทุนธนาคารจีนที่สามารถดำเนินงานต่อไปได้เพียง 2 ธนาคารเท่านั้น คือ ธนาคารหวั่งหลี และธนาคารตันเปงชุน เท่านั้น[12]

สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ได้กำเนิดขึ้นภายหลังได้ตรากฎหมายควบคุมธนาคารพาณิชย์แล้วนั้น ยังพบการก่อตั้งธนาคารพาณิชย์ใหม่ก็ยังต้องอาศัยกลุ่มทุนชาวจีนบางกลุ่มที่ใกล้ชิดกันมาเป็นแนวร่วมอยู่ดี

โดยเมื่อผนวกกับการสัมภาษณ์ของพลโทสรภฏ นิรันดร บุตรชายของขุนนิรันดรชัย จึงสามารถแบ่งเป็นกลุ่มทุนธนาคารพาณิชย์ในช่วงเวลาที่หลวงพิบูลสงครามมาเป็นนายกรัฐมนตรี แบ่งออกได้ เป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่ได้อาศัยทุนจากพระคลังข้างที่หรือทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ ได้แก่ “ธนาคารไทยพาณิชย์” กับ อีกธนาคารหนึ่งที่พลโทสรภฏ นิรันดร ระบุว่าเป็นเงินมาจากการเบียดบังพระราชทรัพย์มาลงทุนเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ซึ่งก็คือ “ธนาคารนครหลวงไทย” โดยมีขุนนิรันดรชัยเป็นกรรมการและหุ้นส่วนธนาคารทั้งสองแห่ง โดยขุนนิรันดรชัยมีสถานภาพเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับ หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี [13],[14] ซึ่งเป็นผู้นำที่มีความเชื่อเรื่องลัทธิชาตินิยมหรือฟาสซิสต์

กลุ่มที่สอง คือธนาคารที่กำเนิดขึ้นโดยทุนของรัฐบาล ได้แก่ “ธนาคารเอเซียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชย์ (ธนาคารเอเซีย)”ซึ่งก่อตั้งโดย “นายปรีดี พนมยงค์” โดยอาศัยเงินทุนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และอีกธนาคารหนึ่งคือ “ธนาคารมณฑล” ซึ่งถือหุ้นส่วนใหญ่โดยกระทรวงการคลัง

และกลุ่มที่สาม คือธนาคารที่จัดตั้งโดยเงินทุนของเอกชน ได้แก่ “ธนาคารกรุงศรีอยุธยา” โดยครอบครัว “พนมยงค์”

สำหรับการก่อตั้งธนาคารที่มาจากเงินของทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ทั้งที่เคยลงทุนมาก่อน หรือการเบียดบังโดยขุนนิรันดรชัยนั้น พลโทสรภฏ นิรันดร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ขุนนิรันดรชัย ได้ดำเนินการเป็นราชเลขานุการในพระองค์ และนำเงินจากทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับหลวงพิบูลสงคราม[13],[14] อีกทั้ง ขุนนิรันดรชัยได้นำเงินของพระมหากษัตริย์ไปร่วมตั้งธนาคารนครหลวงไทย[13],[14] และในอีกด้านหนึ่งก็สามารถเข้าควบคุมเป็นกรรมการในธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งมีเงินจากพระคลังข้างที่และกระทรวงการคลังอีกด้วย

สำหรับ ธนาคารไทยพาณิชย์ แต่เดิมนั้นผู้ถือหุ้นใหญ่คือพระคลังข้างที่และราชวงศ์ แต่เมื่อรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามได้มาเป็นรัฐบาลแล้วจึงสามารถส่งตัวแทนเป็นกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลัง

ดังจะเห็นได้จากการประชุมวิสามัญของผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 มีมติเปลี่ยนชื่อ “ธนาคารสยามกัมมาจล” เป็น “ธนาคารไทยพาณิชย์” ปรากฏรายชื่อผู้ถือหุ้นเข้าประชุมดังนี้

1.พระยาไชยยศสมบัติ ผู้แทนกระทรวงการคลัง (ประธานกรรมการอำนวยการ) ถือหุ้น 6,286 หุ้น
2.พระยาไชยศสมบัติ ถือหุ้น (ส่วนตัว) 20 หุ้น
3.พระยานวราชเสวี ถือหุ้น 27 หุ้น
4.พระยาปรีดานฤเบศร์ ถือหุ้น 100 หุ้น
5.พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ถือหุ้น 22 หุ้น
6.พันตรีขุนนิรันดรชัย ผู้แทนกระทรวงการคลัง ถือหุ้น 18,022 หุ้น
7.พันตรีขุนนิรันดรชัย ถือหุ้น (ส่วนตัว) 20 หุ้น
8.นายเรือเอกวัน รุยาภรณ์ ร.น. ผู้แทนสำนักพระราชวัง ถือหุ้น 1,760 หุ้น
9.นายเรือเอกวัน รุยาภรณ์ ร.น. ถือหุ้น (ส่วนตัว) 10 หุ้น
10.พระยาประดิพัทธภูบาล ถือหุ้น 601 หุ้น
11.นายดับเบิ้ลยู. เค. เลอคานต์ ถือหุ้น 120 หุ้น

รวม 26,997 หุ้น [15]

บุคคลสำคัญของคณะราษฎร ได้แก่ พันตรีขุนนิรันดรชัย ซึ่งอยู่ในฐานะราชเลขานุการในพระองค์ กลับกลายเป็นผู้แทนกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนมากที่สุด ในขณะที่เรือเอกวัน รุยาภรณ์ ร.น. ผู้อำนวยการพระคลังข้างที่ เป็นตัวแทนสำนักพระราชวัง โดยทั้งสองคนนี้ยังได้มี “หุ้นส่วนตัว” ในธนาคารไทยพาณิชย์อีกด้วย

โดยในเวลาต่อมากลุ่มคนที่เคยเป็นสมาชิกของคณะราษฎร ก็ได้เข้าไปเป็นกรรมการในธนาคารแห่งนี้แทนกรรมการชุดเดิม ได้แก่ นายวิลาศ โอสถานนท์ (พ.ศ. 2482) พันเอกประยูร ภมรมนตรี (พ.ศ. 2484) นายเล้ง ศรีสมวงศ์ (พ.ศ. 2484) หลวงอรรถสารประสิทธิ์ (ทองเย็น ลีห์ละเมียร) เป็นต้น [16]

โดยเป็นที่น่าสังเกตว่ามี “บางคน” ที่ได้เป็นกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ต่อมาเหล่านี้ได้เคยถูกพาดพิงจากการตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ว่าได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ไปในราคาถูกๆด้วย ดังเช่น

วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 นายวิลาศ โอสถานนท์ เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ 3845 อำเภอบางรัก ราคา 6,000 บาท สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังข้างที่เป็นเจ้าของ)

วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 หลวงอรรถสารประสิทธิ์ (ทองเย็น หลีละเมียร) เป็นผู้ซื้อโฉนดเลขที่ 3473 อำเภอบางรัก ราคา 10,724 บาท จากสำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ)[17]

สำหรับอีกธนาคารหนึ่งซึ่ง พลโทสรภฏ นิรันดร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ขุนนิรันดรชัยได้นำเงินจากสถาบันพระมหากษัตริย์ไปลงทุนก่อตั้ง “ธนาคารนครหลวงไทย” นั้น[13],[14] ธนาคารดังกล่าวได้จัดตั้งเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2484 ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท 

โดยกรรมการชุดแรกของ “ธนาคารนครหลวงไทย” ได้แก่ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) ประธานกรรมการ, ขุนนิรันดรชัย (สะเหวก นิรันดร), นายเรือเอกวัน รุยาพร ร.น. , ขุนวิมลธรกิจ (วิมล เก่งเรียน), นายชุณห์ บิณฑนนท์, นายโล่ง เตี๊ยกชวน บูลสุข, นายจุลินทร์ ล่ำซำ, พระทำนุนิธิผล (เพ็ญ เศาภายน) และพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภานุพันธ์ยุคล โดยธนาคารนี้ เป็นธนาคารที่มีสมาชิกของคณะราษฎรร่วมมือกับพ่อค้าชาวจีน และเชื้อพระวงศ์ [18],[19]

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าทั้ง “ขุนนิรันดรชัย” และ “นายเรือเอกวัน รุยาพร” เป็นทั้งกรรมการและหุ้นส่วนใหญ่ในธนาคารนครหลวงไทย และเป็นกรรมการและหุ้นส่วนในธนาคารไทยพาณิชย์ด้วย อันจะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ เพราะเท่ากับคนๆ เดียวกันเป็นเจ้าของธนาคารแห่งหนึ่ง แต่สามารถเป็นกรรมการล่วงรู้ข้อมูลภายในคู่แข่งอีกองค์กรหนึ่ง

สำหรับ “ธนาคารเอเชียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชย์” นั้น ก่อตั้งเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2482 ด้วยเงินทุน 1,000,000 บาท เนื่องจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้สั่งปิดธนาคาร โอเวอร์ซีไชนีส (Chinese Oversea Banking) สาเหตุจากธนาคารได้ฝ่าฝืนคำสั่งของรัฐบาลโดยการส่งเงินกลับไปประเทศจีน [18]

นายปรีดี พนมยงค์ จึงได้มอบหมายให้นายหลุย พนมยงค์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการดำเนินการจัดตั้งธนาคารแห่งนี้ โดยมี ดร.เดือน บุนนาค เลขาธิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดสรรเงินสวัสดิการของมหาวิทยาลัยมาซื้อหุ้นใหญ่ของธนาคารเอาไว้ในชื่อ “ธนาคารเอเชียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชย์” ส่วนหุ้นที่เหลือของผู้ใกล้ชิดกับคณะราษฎร รวมทั้งพ่อค้าชาวจีนด้วย [18]

คณะกรรมการชุดแรกประกอบด้วย พระยาพิพัฒน์ธนากร (ฉิม โปษยานนท์) เป็นประธาน, พระสุธรรมวินิจฉัย (ชม วณิกเกียรติ), นายยูมิน จูตระกูล (แห่งบริษัทยิบอินซอย), นายเดือน บุนนาค, นายโล่วเตี๊ยกชวน บูลสุข, หลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก), หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ (สมโภช อัศวนนท์)[18],[20]

นอกจากนั้นยังมีบรรดาพ่อค้าจีนที่ให้การสนับสนุนจัดตั้งธนาคารนี้ แต่ไม่ได้เข้าเป็นกรรมการด้วย ได้แก่ นายจุลินทร์ ล่ำซำ, นายตันซิวเม้ง หวั่งหลี, นายตันเคี๊ยกบุ้น, นายเต็ก โกเมศ เป็นต้น [18],[21]

ในปี พ.ศ. 2491 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่ในธนาคารเอเชียฯ เป็นจำนวน 6,210 หุ้น จากจำนวน 10,000 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 62 ของหุ้นทั้งหมด ผู้ถือหุ้นที่เหลือเป็นบุคคลของคณะราษฎร และพ่อค้าชาวจีน เช่น นายเดือน บุนนาค, นายวิจิตร ลุลิตานนท์, หลวงประเจิดอักษรลักษณ์, นายจุลินทร์ ล่ำซำ และนายตันสิวติ่น หวั่งหลี เป็นต้น[22][23]

อย่างไรก็ตามการที่ “ธนาคารเอเชียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชย์” เป็นกิจการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองนั้น ย่อมส่งผลทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะได้มีกิจการธนาคารพาณิชย์อันเป็นรายได้ของมหาวิทยาลัยเอง เพื่อจะได้ช่วยลดภาระค่าเทอมให้กับนักศึกษาในการศึกษาของมหาวิทยาลัย หรือไม่ก็สามารถพัฒนามหาวิทยาลัยโดยพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้นและพึ่งพาเงินทุนจากรัฐบาลน้อยลง

นอกจากนั้น “ธนาคารเอเชียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชย์” ยังเป็นแหล่งการเรียนรู้อันสำคัญทางด้านพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี ตลอดจนการศึกษาเรียนรู้ทางการเงินและการธนาคารของมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังมีข้อสำคัญคือเป็นกิจการธนาคารของรัฐไทยที่จะได้ช่วยส่งเสริมกิจการของคนไทยให้สามารถปลดแอกจากการเอาเปรียบของกลุ่มทุนต่างชาติได้

ส่วนธนาคารของรัฐอีกแห่งหนึ่งคือ “ธนาคารมณฑล” นั้น ได้จัดตั้งต่อมาเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2485 อันเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยได้ร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ธนาคารมณฑลนี้ ก่อตั้งด้วยเงินทุนจดทะเบียนมากถึง 10,000,000 บาท เดิมชื่อธนาคารไทย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารมณฑล

โดยกรรมการชุดแรกของ ธนาคารมณฑล ได้แก่ พระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป) ประธานกรรมการ, นายวณิช ปานะนนท์, นายมา บูลกุล, พระยาทรงสุรัชฏ์ (อ่อน บุนนาค), นายแนบ พหลโยธิน, นายยล สมานนท์, นายพลตรีจรูญ รัตนกลุ่ม, เสรีเริงฤทธิ์, นายสง่า วรรณดิษฐ์, นายประมวล บูรณะโชติ

โดย “ธนาคารมณฑล” แห่งนี้ ได้ใช้เป็นฐานการเงินสนับสนุนบริษัทข้าวไทยจำกัด ในการส่งข้าวขายให้แก่ญี่ปุ่น ผู้ถือหุ้นใหญ่ได้แก่ กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 50,650 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 50.65 โดยมีบริษัทข้าวไทยจำกัด ถือหุ้น 45,172 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 45.17 [18],[24]

ส่วนอีกธนาคารหนึ่งที่ก่อตั้งในเวลาต่อมาด้วยทุนของเอกชนก็คือ “ธนาคารกรุงศรีอยุธยา” เป็นธนาคารที่นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าสำคัญของคณะราษฎรเป็นคนจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 ด้วยเงินทุน 1,000,000 ล้านบาท

พรรณี บัวเล็ก ผู้เขียนวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ระบุเอาไว้ในหนังสือ “วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516” ซึ่งจัดพิมพ์ในโครงการหนังสือเล่มสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ ปี พ.ศ. 2529 เอาไว้ความตอนหนึ่งว่า

“ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้ถูกใช้เป็นแหล่งหนุนช่วยทางการเงินของกลุ่มนายปรีดี คณะกรรมการบริหารธนาคารนี้ประกอบด้วยบุคคลใกล้ชิดกับนายปรีดี โดยคณะกรรมการชุดแรกได้แก่ หลวงประเจิดอักษรลักษณ์, นายลออเดช ปิ่นสุวรรณ, นางสาวพงศ์จันท์ เก่งระดมยิง, นายอุดม จันทรสมบัติ, นายจรูญ กิจจาทร, นายสุภาพ เขมาภิรักษ์, และนายชำนาญ ลือประเสริฐ

ธนาคารกรุงศรีอยุธยานี้เติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2489 ในปีต่อมาได้ทำการเพิ่มทุนขึ้นเป็น 4,000,000 บาท ในการดำเนินงานบริหารธนาคารนี้ นายปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้เข้ามามีบทบาทโดยตรง แต่อาศัยนายหลุย พนมยงค์ น้องชายเข้าควบคุมแทน

แต่อย่างไรก็ตามนายหลุย พนมยงค์ก็ไม่ได้เข้าเป็นกรรมการเอง ถึงแม้จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคาร แต่จะมีบทบาทในการประชุมธนาคารแต่ละครั้ง ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการคือ นายชำนาญ ลือประเสริฐ ผู้ถือหุ้นใหญ่คือตระกูลพนมยงค์ ถือหุ้น 6,640 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 66.4 (โดยมีนายหลุย พนมยงค์ ถือหุ้น 4,200 หุ้น) ที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยๆ” [25],[26]

ในอีกด้านหนึ่ง นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้เขียนหนังสือชุดประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย ทุนนิยมขุนนางไทย ( พ.ศ. 2475-2503) ซึ่งจัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2526 อธิบายบทบาทของธนาคารเอเชียฯ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่มาจากการก่อตั้งของนายปรีดี พนมยงค์ ความตอนหนึ่งว่า

“กล่าวได้ว่า ธนาคารเอเซียฯ เป็นฐานอำนาจทางเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของคณะราษฎร เพราะเหตุว่า ผู้บริหารงานของธนาคารส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับนายปรีดีทั้งสิ้น เช่น หลวงประเจิดอักษรลักษณ์, นายหลุย พนมยงค์, นายสวัสดิ์โสตถิทัต, นายวิจิตร ลุลิตานนท์, นายทวี ตะเวทิกุล และนายเดือน บุนนาค เป็นต้น

ในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมสถาบันการเงินที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยในขณะนั้น คณะราษฎรใช้ธนาคารเอเซียฯ เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่สนับสนุนทางด้านการเงินให้แก่บริษัทผู้ก่อการฯ คือบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ (จะได้กล่าวถึงต่อไป) จนกระทั่งกลายเป็นบริษัทที่มีความมั่นคงและเป็นฐานอำนาจทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของคณะราษฎรในขณะนั้น

(มีต่อ)

22 ม.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 มกราคม 2021, 19:56:27 โดย story »

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
คณะราษฎรได้ใช้ธนาคารเอเซียฯ เป็นเครื่องมือในการขยายอำนาจทางเศรษฐกิจของตนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เช่น ไปก่อตั้งบริษัทประกันคุ้มภัย จำกัด ปี พ.ศ. 2484 บริษัทนี้มีธนาคารเอเชียฯ เป็นผู้ทดรองจ่ายเงินล่วงหน้าในการดำเนินการจัดตั้งทั้งหมด และมีบุคคลใกล้ชิดกับสมาชิกของคณะราษฎรเป็นผู้บริหารงานคือ นายหลุย พนมยงค์, นายเดือน บุนนาค, หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ (สมโภชน์ อัศวนนท์) นายโล่วเต๊ะชวน บูลสุข, และนายตันจินเก่ง หวั่งหลี” [27],[28]

นอกจากนั้นในปี พ.ศ. 2526 นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ยังได้เขียนวิเคราะห์ในเรื่องความสัมพันธ์ของธนาคารพาณิชย์กับนายทุนชาวจีนและกลุ่มการเมือง โดยการสัมภาษณ์ นายเสวต เปี่ยมพงศานต์ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2522 และอ้างอิงการอภิปรายของ สุพัฒน์ สุคนธาภิรมย์ “การอภิปรายเรื่องกลุ่มอิทธิพลทางเศรษฐกิจหลังปี พ.ศ. 2475” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2522 ความว่า

“คณะราษฎรยังได้ใช้ธนาคารเอเชียฯ เป็นกลไกทางเศรษฐกิจที่จะดึงพ่อค้าชาวจีนชั้นสูงที่จำเป็นต้องพึ่งพาสถาบันการเงินทุนของตนให้มาอยู่ภายใต้ร่มธงของคณะราษฎร เช่น นายโล่วเตี๊กชวน บูลสุข, นายจุลินทร์ ล่ำซำ, นายมา บูลกุล เป็นต้น และคณะราษฎรยังได้ใช้ธนาคารเอเชียฯ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นเครื่องมือหาความสนับสนุนทางการเมืองจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยการให้กู้ยืมเงินโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน”[27],[29]

ในปี พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นระยะที่เปิดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเป็นระยะที่ความขัดแย้งภายในคณะราษฎรใกล้จะถึงจุดแตกหักแล้ว นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำปีกซ้ายของคณะราษฎร ที่มีพรรคสหชีพ พรรคแนวรัฐธรรมนูญ และพรรคอิสระสนับสนุน กับนายควง อภัยวงศ์ อดีตผู้ก่อการฯของฝ่ายอนุรักษ์นิยม (Conservative) พรรคประชาธิปัตย์ ได้ดำเนินการต่อสู้ทางการเมืองกันอย่างจริงจัง เพราะว่ามีแนวคิดที่แตกต่างกันอย่างชัดแจ้ง

23)



ในการเลือกตั้งคราวนั้นฝ่ายอนุรักษ์มีนายควง อภัยวงศ์ และพระยาศรีวิศาลวาจา เป็นแกนกลางโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะล้มอิทธิพลทางการเมืองของกลุ่มปีกซ้ายของคณะราษฎรและฟื้นฟูอิทธิพลของระบบเดิมบางส่วนให้กลับคืนมา[27],[30]

นายปรีดี พนมยงค์ ได้ตระหนักถึงความเข้มแข็งของพลังปฏิกิริยาเป็นอย่างดี และเกรงว่าสังคมจะถูกชุดรั้งให้เสื่อมทรามลงไปอีกวาระหนึ่ง ฉะนั้นจึงมีคำสั่งให้ธนาคารเอเชียฯสนับสนุนผู้สมัคร ส.ส.ของฝ่ายตน โดยให้กู้ยืมคนละ 2,000 บาท โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์มาค้ำประกันแต่ประการใด[27],[30]

เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม, พลโทผิน ชุณหะวัณ, พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์, และคณะนายทหารร่วมกันทำตัวรัฐประหารสำเร็จ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 แล้ว จึงได้มอบให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศอยู่จนกระทั่งวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2491

ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2491 คณะรัฐประหาร ได้บังคับให้นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีลาออกแล้วให้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีชุดต่อมา [27],[31]

โดยในระหว่างที่นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีหม่อมเจ้าวิวัฒน์ไชย ไชยยันต์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐบาลได้มีคำสั่งปิดธนาคารเอเชียฯ และธนาคารศรีอยุธยา อยู่ชั่วระยะหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากเห็นว่าธนาคารทั้งสองแห่งเป็นฐานอำนาจของกลุ่มนายปรีดี มาก่อน [27],[32]

และเพื่อที่จะบั่นทอนฐานอำนาจทางเศรษฐกิจของกลุ่มนายปรีดี พนมยงค์ ลงไปให้ถึงที่สุด เผ่า ศรียานนท์ จึงได้จับ นายหลุย พนมยงค์ และนายเดือน บุนนาค ในข้อหาทางการเมือง

หลังจากที่นำตัวไปทรมานอยู่ระยะหนึ่งแล้ว เผ่า ศรียานนท์ จึงบังคับให้นายหลุย พนมยงค์ โอนหุ้นใน ธนาคารศรีอยุธยาให้แก่ตนและตระกูลชุณหะวัณ[27],[33] และบังคับให้นายเดือน บุนนาคให้โอนหุ้นทั้งหมดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในธนาคารเอเชียฯ ให้แก่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก[27],[34]

หลังจากที่นายปรีดี พนมยงค์ ประสบความล้มเหลวจากการก่อกบฏวังหลวง ในปี พ.ศ. 2492 แล้ว บุคคลที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจอย่างรวดเร็วในฐานะผู้นำในการปราบกบฏก็คือ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

ในระยะเวลาต่อมา สฤษดิ์ได้โอนหุ้นขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในธนาคารเอเชียเป็นของตน [27],[35] โดยถือในนามส่วนตัว และในนามของบริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจ [27],[36] ซึ่งเป็นบริษัทที่สฤษดิ์ เป็นผู้ก่อตั้ง และเป็นประธานกรรมการบริษัทอยู่ในขณะนั้น[27],[37]

ฉะนั้นภายหลังจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2494 แล้ว ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารศรีอยุธยาจึงกลายเป็นกลุ่มซอยราชครู(จอมพลผิน ชุณหะวัณ-พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์) และธนาคารเอเชียฯ เป็นของกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) [27]

หลังสิ้นสุดอำนาจการปกครองของคณะราษฎรแล้ว ธุรกิจต่างๆ เกือบทั้งหมดที่คณะราษฎรก่อตั้งขึ้นก็ถูกแปรเป็นฐานอำนาจทางเศรษฐกิจของคณะรัฐประหารปี พ.ศ. 2490 และปี พ.ศ. 2494 [27] ภายใต้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ และ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

หลังจากนั้นคณะรัฐประหารได้แตกเป็น 2 กลุ่ม อย่างเด่นชัด ในเวลาต่อมา คือกลุ่มของจอมพลผิน ชุณหะวัณ-พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ (กลุ่มซอยราชครู) และกลุ่มของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (กลุ่มสี่เสาเทเวศร์) นายทหารทั้งสองกลุ่มต่างเข้าไปควบคุมสถาบันการเงินที่สำคัญของประเทศในขณะนั้นเอาไว้ กล่าวคือ

“ขณะที่กลุ่มซอยราชครูเข้าควบคุมธนาคารศรีอยุธยา ธนาคารกรุงเทพฯ และธนาคารไทยพาณิชย์นั้น กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ก็มีธนาคารเอเซียฯ สหธนาคารกรุงเทพฯ ธนาคารแหลมทองฯ เป็นฐานของกำลังตนเช่นกัน ทหารทั้งสองกลุ่มต่างแข่งขันกันสร้างธุรกิจส่วนตัวของตนขึ้น” [38]


X


ส่วนกลุ่มทุนของ “ขุนนิรันดรชัย” ซึ่งเป็นนายทุนที่ได้แสวงหาประโยชน์จากทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ ก็ยังคงดำเนินธุรกิจ “ธนาคารนครหลวงไทย” ต่อไปได้ เพราะยังคงมีสถานภาพเป็นท่อน้ำเลี้ยงส่งผลประโยชน์ให้กับจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี แต่ก็ต้องจ่ายผลประโยชน์ให้กับ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ด้วย [14]

โดย “ขุนนิรันดรชัย” เป็นนักธุรกิจที่สามารถนำทุนตั้งต้นจากสถาบันพระมหากษัตริย์ไปต่อยอดธุรกิจอีกจำนวนมาก โดยเป็นทั้งผู้ถือหุ้น ประธานกรรมการ และกรรมการในหลายบริษัท เช่น บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด, บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด, บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด, บริษัท นครหลวงประกันภัย จำกัด, บริษัท สหประกันภัย จำกัด, บริษัท ไทยนิยมประกันภัย จำกัด, บริษัท ไทยพาณิชประกันภัย จำกัด, บริษัท ประกันสรรพภัยแห่งประเทศไทย จำกัด, บริษัท สหศินิมา จำกัด, บริษัท แองโกลไทย มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด,บริษัท ยูไนเต็ด มอเตอร์ จำกัด, บริษัท ศรีกรุง จำกัด, บริษัท สหอุปกรณ์ จำกัด,ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (เป็นกรรมการ) ฯลฯ [39]

ตำนานธนาคารพาณิชย์สาย “พนมยงค์ ”จึงได้ปิดฉากลง ไปตามการหมดอำนาจทางการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง
[1] พรรณี บัวเล็ก, วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์วิชาการจำกัด ร่วมกับ โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2529, จำนวน 1,000 เล่ม, ISBN 974-567-234-2, หน้า 32-40

[2] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 74-75

[3] หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์), เค้าโครงเศรษฐกิจ, จัดพิมพ์โดย โครงการจัดทำสื่อเผยแพร่เกียรติคุณ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส สำหรับเด็กและเยาวชน, และร่วมจัดพิมพ์โดย สถาบันปรีดี พนมยงค์, ดำเนินการผลิตโดย สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน พ.ศ. 2542 จำนวน 2,000 เล่ม, ISBN 974-7833-11-5, หน้า 39
http://www.openbase.in.th/files/puey014.pdf

[4] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยมฉะบับที่ 5, เรื่อง ให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย, เล่มที่ 56, วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482, หน้า 2359-2482
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/213651/SOP-DIP_P_810241_0001.pdf?sequence=1

[5] ราชกิจจานุเบกษา, คำชักชวนของรัฐบาล ขอให้พี่น้องชาวไทยร่วมใจ พยายามปฏิบัติตามรัฐนิยม ฉะบับที่ 5 ด้วยดี, เล่มที่ 56, วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482, หน้า 5434-5436
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2482/D/3434.PDF

[6] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติภาษีการธนาคารและการประกันภัย พุทธศักราช 2475, เล่มที่ 49, วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2475, หน้า 239-252
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/13702/SOP-DIP_P_400881_0001.pdf?sequence=1

[7] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติว่าด้วยการยึดทรัพย์สินของกสิกร พุทธศักราช 2475, เล่ม 49, วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2475, หน้า 396-398
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/15035/SOP-DIP_P_400893_0001.pdf?sequence=1

[8] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475, เล่ม 49, วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2475, หน้า 461-465
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/15924/SOP-DIP_P_400901_0001.pdf?sequence=1

[9] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิจับสัตว์น้ำในเขตต์จับสัตว์น้ำสยาม พุทธศักราช 2477, เล่ม 51, วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2477, หน้า 795-802
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/14525/SOP-DIP_P_401081_0001.pdf?sequence=1

[10] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พุทธศักราช 2480, เล่ม 54, วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2480, หน้า 1230-1240
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/17124/SOP-DIP_P_401347_0001.pdf?sequence=1

[11] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติควบคุมกิจการธนาคาร พุทธศักราช 2480, เล่มที่ 54, วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2480, หน้า 1203-1210
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/17122/SOP-DIP_P_401346_0001.pdf?sequence=1

[12] พรรณี บัวเล็ก, วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์วิชาการจำกัด ร่วมกับ โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2529, จำนวน 1,000 เล่ม, ISBN 974-567-234-2, หน้า 42

[13] ผู้จัดการออนไลน์, ทายาท “ขุนนิรันดรชัย” ขอพระราชทานอภัยโทษแทนบิดากระทำมิบังควรสมัยร่วมคณะราษฎร 2475 เตือนเยาวชนศึกษาประวัติศาสตร์ อย่าเชื่อใครง่าย, เผยแพร่: 26 ธ.ค. 2563 เวลา 13:43 น.
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000131996

[14] ผู้จัดการออนไลน์, คำสัมภาษณ์พิเศษเพิ่มเติมของพลโทสรภฏ นิรันดร, โดยปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, สัมภาษณ์ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ณ โรงแรม INTERCONTINENTAL BANGKOK, สัมภาษณ์เพิ่มเติมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยเปิดเผยเฉพาะครั้งที่ 1, ส่วนครั้งที่ 2 ยังไม่เปิดเผยในเวลานี้รอเวลาอันเหมาะสม)
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3727071230686152/
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000133139

[15] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมวิสามัญของธนาคารไทยพาณิชย์ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482

[16] พรรณี บัวเล็ก, วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์วิชาการจำกัด ร่วมกับ โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2529, จำนวน 1,000 เล่ม, ISBN 974-567-234-2, หน้า 51-52

[17] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 กระทู้ถามเรื่อง ที่ดินของพระมหากษัตริย์ ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถามนายกรัฐมนตรี วันที่ 27 กรกฎาคม 2480, หน้า 302
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383977/12_24800727_wb.pdf?sequence=1

[18] พรรณี บัวเล็ก, วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์วิชาการจำกัด ร่วมกับ โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2529, จำนวน 1,000 เล่ม, ISBN 974-567-234-2, หน้า 49-50

[19] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายชื่อคณะกรรมการธนาคารนครหลวงแห่งประเทศไทยจำกัด เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2484

[20] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายชื่อคณะกรรมการธนาคารเอเชียฯ จำกัด เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2482

[21] เรื่องเดียวกัน, รายงานการประชุมจัดตั้งธนาคารเอเชียฯ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2482

[22] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 128-131

[23] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของธนาคารเอเชียฯ จำกัด เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2491

[24] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานประชุมจัดตั้งธนาคารไทยจำกัด เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2485

[25] พรรณี บัวเล็ก, วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์วิชาการจำกัด ร่วมกับ โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2529, จำนวน 1,000 เล่ม, ISBN 974-567-234-2, หน้า 50-51

[26] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานประชุมจัดตั้งธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488

[27] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 129-133

[28] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมก่อตั้งบริษัทประกันคุ้มภัย จำกัด, 8 กันยายน พ.ศ. 2488 ณ ธนาคารเอเชีย

[29] เสวต เปี่ยมพงศานต์, สัมภาษณ์, 22 กันยายน พ.ศ. 2522 และสุพัฒน์ สุคนธาภิรมย์ “การอภิปรายเรื่องกลุ่มอิทธิพลทางเศรษฐกิจหลังปี พ.ศ. 2475” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2522

[30] สุพัฒน์ สุคนธาภิรมย์, เรื่องเดียวกัน

[31] สุชิน ตันติกุล, รัฐประหาร พ.ศ. 2490 (กรุงเทพ:สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2515), หน้า 2, ; ประชัน รักพงษ์, “การศึกษาบทบาททางการเมืองในระบบรัฐสภาของรัฐบาลทหารและรัฐบาลพลเรือนในประเทศไทย (พ.ศ. 2481-2500)” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520 หน้า 240-255

[32] สุพัฒน์ สุคนธาภิรมย์, การอภิปรายเรื่องกลุ่มอิทธิพลทางเศรษฐกิจหลังปี พ.ศ. 2475

[33] เรื่องเดียวกัน, เผ่า ศรียานนท์ เข้าเป็นกรรมการของธนาคารศรีอยุธยาฯ เมื่อปี พ.ศ. 2491 กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, หนังสือรับรองรายนามกรรมการธนาคารศรีอยุธยา 13 ตุลาคม พ.ศ. 2491 กรรมการส่วนหนึ่งของธนาคารศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2499 ได้แก่ พล.ต.หลวงชำนาญศิลป์, พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ, พ.ท.ประกอบ ประยูรโภคลาภ, พ.ต.ต.ชลิต ปราณีประชาชน ฯลฯ กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, หนังสือขอเลื่อนการจดทะเบียนกรรมการธนาคารศรีอยุธยา 18 กันยายน พ.ศ. 2499

[34] สุพัฒน์ สุคนธาภิรมย์, เรื่องเดิม; ดูเอกสารอ้างอิงลำดับที่ [36] ประกอบด้วย

[35] สุพัฒน์ สุคนธาภิรมย์, สัมภาษณ์ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2522 ; เสวต เปี่ยมพงศานต์, สัมภาษณ์ 19 กันยายน พ.ศ.2522

[36] สุพัฒน์ สุคนธาภิรมย์, สัมภาษณ์, 29 ธันวาคม พ.ศ. 2522
“จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เข้าถือหุ้นธนาคารเอเชียฯ เมื่อ 29 มีนาคม พ.ศ. 2494 จนกระทั่งถึงปี 2508 ในขั้นแรก (29 มีนาคม 2494) ถือหุ้นจำนวน 50 หุ้น หมายเลข 5961-6010 และตั้งแต่ 3 มิถุนายน 2507 จนถึงปี 2508 ถือหุ้นจำนวน 3,435 หมายเลข 1-3435

หุ้นหมายเลข 5961-6010 จำนวน 50 หุ้นนั้น เดิมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นผู้ถือหุ้น (ก่อนมาเป็นของจอมพลสฤษดิ์) ต่อมาปรากฏชื่อขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเป็นผู้ถือ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2493 ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 บริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจ จำกัด เป็นผู้ถือ

หุ้นหมายเลข 1-3435 จำนวน 3435 หุ้นนั้น เดิมองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเป็นผู้ถือ (ตอนที่จอมพลสฤษดิ์เร่ิมเข้าเป็นผู้ถือหุ้น) ต่อมาเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2495 ได้เปลี่ยนเป็นชื่อบริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นจนถึงวันที่ 23 มีนาคม 2503 (หลักฐานระหว่าง 23 มีนาคม 2503 จนถึงก่อน 3 มิถุนายน 2507 ไม่ปรากฏ) แล้วจึงปรากฏว่าเป็นชื่อของจอมพลสฤษดิ์ เป็นผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 3 มิถุนายน 2507 จนถึงปี 2509”. กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, จดหมายรยงานเรื่องการอายัดหุ้นของธนาคารเอเชียฯ ของนายสมจิตต์ จรณี หัวหน้ากองหุ้นส่วนและบริษัท ทูลท่านอธิบดี 22 มกราคม 2508

จากหลักฐาน “จดหมายรายงานเรื่องอายัดหุ้น...” ระบุว่าในปี 2494 สฤษดิ์ ถือหุ้นอยู่ในธนาคารเอเชียฯ ในนามส่วนตัวจำนวน 50 หุ้น ปี 2495 สฤษดิ์โอนหุ้นขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกจำนวน 3,435 หุ้น มาเป็นของตนโดยถือเอาไว้ในนามบริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจ ปี 2496 บริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารเอเชียฯ โดยถือหุ้นจำนวน 6,110 หุ้น จากจำนวนหุ้นทั้งหมด 10,000 หุ้น กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานการประชุมของธนาคารเอเชียฯ 22 ธันวาคม 2496

[37] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, เอกสารการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจ จำกัด 3 มกราคม 2492

[38] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 282-283

[39] ประวัติ พันตรี สเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499, หน้า (20)

22 ม.ค. 2564 17:12   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงแรก ธุรกิจข้าวซึ่งเป็นสินค้าสำคัญของประเทศไทย ได้ถูกควบคุมอยู่ในมือชาวจีน รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามได้จัดตั้งบริษัทข้าวไทย ขึ้นมาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 โดยมีพระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป) เป็นผู้จดทะเบียนก่อตั้งด้วยทุน 500,000 บาท

โดยในระยะแรกใช้ชื่อบริษัทข้าวสยาม แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “บริษัท ข้าวไทย จำกัด” ถือหุ้นโดยรัฐบาลในนามกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง คณะกรรมการบริหารชุดแรกเป็นคนในคณะราษฎรเอง ได้แก่

1.พระยาดุลยธรรมธาดา (เลียง ดุลย์จินดา)
2.พระกิสการบัญชา (เล็ก บุรวาศ)
3.พระยาวิสุทธากร (แม้น ทรานนท์)
4.หลวงอัมพิลพิทักษเขตร์ (เยี่ยม บุรานนท์)
5.พ.อ.หลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์)
6.นายวณิช ปานะนนท์
7.นายอนุกูลกสิการ (เปลื้อง บุณยทรรศนีย์)
8.นายขวัญ จารุรัตน์
9.พระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป)
10.พระประมนต์ปัญญา (ประมนต์ เนตรศิริ)[1],[2]

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งที่สำคัญมี 4 ประการคือ

“1.ผดุงฐานะของชาวนาให้ดีขึ้น
2.ระวังรักษาประโยชน์ของผู้บริโภคข้าว
3.เพื่อทำการค้าข้าวโดยตรงกับตลาดต่างประเทศ และเพื่อรักษาชื่อเสียงและควบคุมคุณภาพข้าวไทยไว้
4.ฝึกคนไทยให้มีความรู้ความสามารถในงานอุตสาหกรรมสีข้าวและการค้าข้าว” [1],[3]

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้เขียนหนังสือชุดประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย ทุนนิยมขุนนางไทย ( พ.ศ. 2475-2503) ซึ่งจัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2526 โดยการสัมภาษณ์ นายสมบุญ ไผทฉันท์, ผู้จัดการสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ (อดีตเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทข้าวไทย ปี พ.ศ. 2482-2515 ซึ่งตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายปกครองและเลขนุการของบริษัทข้าวไทย) เอาไว้อย่างน่าสนใจหลายประการความบางตอนดังนี้

รัฐบาล “หลวงพิบูลสงคราม” ได้แถลงถึงสาเหตุและวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งบริษัทข้าวไทยไว้ว่า
“1.เนื่องจากบริษัทค้าข้าวในยุคนั้น ล้วนเป็นของชาวต่างด้าว อาทิเช่น ของชาวอังกฤษ จีน และอินเดีย ในการส่งข้าวออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ บริษัทเหล่านี้ได้ทำการปลอมแปลงข้าว ซึ่งทำให้ประเทศไทยต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงในต่างประเทศเป็นอันมาก[4],[5] ฉะนั้นบริษัทข้าวไทยจึงมุ่งที่จะสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับตลาดฮ่องกง สิงคโปร์และมาเลเซีย ให้เป็นตลาดข้าวที่สำคัญของไทย[4]
2.พ่อค้าข้าวกดราคารับซื้อข้าวของชาวนาไว้ในระดับที่ต่ำมาก จนเป็นเหตุให้ชาวนาเกิดความเดือดร้อนอยู่ทั่วไป ราคาข้าวเปลือกที่ซื้อขายกันที่กรุงเทพฯ ในขณะนั้น ตกเพียงเกวียนละ 18-20 บาทเท่านั้น (1 เกวียน = 1 ตัน) ในขณะที่ราคาตลาดโลกสูงถึงตันละ 36-40 บาท[4],[6]
เพราะฉะนั้นวัตถุประสงค์เบื้องแรกอันหนึ่งของบริษัทข้าวไทยก็คือ จะช่วยยกระดับราคาข้าวเปลือกของชาวนา ให้เหมาะสมกับราคาที่จำหน่ายให้กับตลาดต่างประเทศ [4],[7] และ

3.ช่วยฝึกฝนให้คนไทยมีความรู้ในเรื่องการซื้อขายข้าวเปลือก การโรงสี และค้าข้าว”[4]

เพื่อให้สามารถกิจการของบริษัทข้าวไทยเข้าควบคุมการค้าข้าวไว้ในมือได้ รัฐบาลเริ่มแรกด้วยการใช้มาตรการทางการเมืองและภาษีบีบให้โรงสีของพ่อค้าชาวจีนพากันหยุดกิจการ[8],[9] เพื่อเป็นการช่วยเหลือบริษัทข้าวไทยโดยตรง

ดังนั้นเจ้าของโรงสีจึงอยู่ในสภาพจึงต้องเอาโรงสีมาให้บริษัทข้าวไทยเช่าไปดำเนินการแทน[8],[10]

ในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีของการดำเนินงาน บริษัทข้าวไทยก็กลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีโรงสีเกือบ 50 โรง ทว่าการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของบริษัทข้าวไทยนั้น เป็นการเติบโตที่ผิดลักษณะธรรมชาติทางการค้า

กล่าวคือ การที่บริษัทข้าวไทยสามารถเอาชนะคู่แข่งทางการค้าของตนได้นั้น มิได้เกิดจากสถานะที่เข้มแข็งทางเศรษฐกิจของบริษัทฯอย่างแท้จริง หากเกิดจากการใช้อิทธิพลทางการเมืองของบริษัทมากกว่า [11]

โดยกรรมการของบริษัทข้าวไทยจำนวนมากเป็นข้าราชการที่กำลังทรงอิทธิพลทางการเมืองอยู่ในขณะนั้น เพราะนอกจากจะมีสถานะเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ก็ยังมีฐานะเป็นรัฐบาลที่กำลังบริหารประเทศอยู่ในขณะนั้นด้วย โดยกรรมการของบริษัทข้าวไทยที่เป็น “รัฐมนตรี” ในระหว่าง พ.ศ. 2485-2490 ได้แก่ นายควง อภัยวงศ์, นายทวี บุณยเกตุ, พลโทจรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์, นายวณิช ปานะนนท์, นายทวี ตะเวทิกุล และนายดิเรก ชัยนาม เป็นต้น [11]

สำหรับช่วงเวลา “รัฐมนตรี” แล “นายกรัฐมนตรี” เข้ามาเป็นกรรมการบริษัทข้าวไทยระหว่างปี พ.ศ.2485-2490 มีสถานภาพทางการเมืองที่ช่วยเอื้ออำนวยทำให้เกิดความได้เปรียบของบริษัทข้าวไทยเหนือเอกชน และนำไปสู่การผูกขาดในที่สุด รวมถึงบางคนที่เริ่มต้นจากการเป็นกรรมการบริษัท ข้าวไทย จำกัดก่อน แล้วจึงได้มากเป็นรัฐมนตรีในเวลาต่อมา ได้แก่

นายควง อภัยวงศ์ เป็นกรรมการ บริษัท ข้าวไทย จำกัด ในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีด้วย โดยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2485-8 กันยายน พ.ศ.2485, เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2485-19 กุมภาพันธ์ 2486, เป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487-31 สิงหาคม พ.ศ. 2487

นายทวี บุณยเกตุ เป็นกรรมการ บริษัท ข้าวไทย จำกัด ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีด้วย โดยเป็นรัฐมนตรีระหว่างวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2485-19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486, เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2488 - 17 กันยายน พ.ศ. 2488, และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระหว่างวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488-24 มกราคม พ.ศ. 2489
พลโทจรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ เป็นกรรมการ บริษัท ข้าวไทย จำกัด ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีด้วย โดย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ ระหว่างวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2485-1 สิงหาคม พ.ศ. 2487, เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2485- 8 กันยายน พ.ศ. 2485 และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระหว่างวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2485-1 สิงหาคม พ.ศ. 2487
นายวณิช ปานะนนท์ เป็นกรรมการ บริษัท ข้าวไทย จำกัด ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีด้วย โดยเป็นรัฐมนตรีคลัง ระหว่างวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2485 - 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487

นายทวี ตะเวทิกุล เป็นกรรมการ บริษัท ข้าวไทย จำกัด ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีด้วย โดยเป็นรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488 - 17 กันยายน พ.ศ. 2488 และเป็นรัฐมนตรีระหว่างวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488-24 มกราคม พ.ศ. 2489

นายดิเรก ชัยนาม เป็นกรรมการ บริษัท ข้าวไทย จำกัด ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีด้วย โดยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488 - 17 กันยายน พ.ศ. 2488 และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระหว่างวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488-24 มกราคม พ.ศ. 2489 [11]-[13]

นอกจากนั้นรัฐบาลก็ได้จ้าง นายมา บูลกุล พ่อค้าชาวจีน ซึ่งเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ในการค้าข้าวเป็นอย่างดีและยังเป็นผู้ที่กว้างขวางในวงการค้าข้าวทั้งในและนอกประเทศมาเป็น “ผู้จัดการ” ของบริษัทฯ

ฉะนั้นภายใต้การบริหารงานของพ่อค้าที่มีความสามารถสูงและมีรัฐเป็นเกราะคุ้มครองให้และเอื้ออำนวยความสะดวกต่างๆโดยนโยบายของภาครัฐ ผลจึงปรากฏว่าในชั่วระยะเวลาเพียงปีเดียวเท่านั้น กิจการบริษัทข้าวไทยก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นไปอย่างเห็นได้ชัด [11]

บริษัท ข้าวไทย จำกัด เป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จทางการค้า มีผลกำไรจากการดำเนินการงานอยู่ในขั้นที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง โดยปลายปี พ.ศ. 2482 บริษัทได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 500,000 บาท เป็น 1,500,000 บาท [11],[14] และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าถือหุ้นของบริษัทได้เป็นจำนวนร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด หุ้นที่เหลือร้อยละ 75 เป็นของรัฐบาล โดยถือในนามของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง [11],[15]

อย่างไรก็ตามการจำหน่ายหุ้นของบริษัทข้าวไทยให้แก่เอกชนทั่วไปในคราวนั้น มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากกว่า ได้ถูกทหาร[11],[16] และบุคคลใกล้ชิดของคณะราษฎร [11],[17] ซื้อเอาไปจนหมดสิ้น สำหรับเอกชนโดยทั่วไปแล้ว ไม่มีโอกาสที่จะซื้อหุ้นของบริษัทข้าวไทยได้เลย [11],[18]



โดยในระหว่างปี พ.ศ. 2482-2483 ได้เกิดภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ขยายขอบเขตออกไปทั่วโลก
“การขยายตัวของภาวะสงครามที่กำลังเพิ่มขึ้นตามภูมิภาคต่างๆของโลก โดยเฉพาะแถบเอเซีย ทำให้แหล่งผลิตอื่นๆไม่สามารถส่งข้าวออกสู่ตลาดโลกได้ ไทยจึงเป็นพ่อค้าข้าวรายใหญ่แต่ผู้เดียว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 เป็นต้นมา” [11],[19]

ในระยะดังกล่าวนี้ บริษัทส่งข้าวออกต่างก็มีกำไรจากการส่งข้าวออกกันเป็นจำนวนมาก บริษัทข้าวไทยก็มีกำไรในอัตราที่สูงมากจากส่งข้าวไปขายที่ประเทศสิงคโปร์ เช่นเดียวกัน [11],[20] กล่าวคือ ในขณะที่ราคาภายในประเทศตันละ 30 บาท ราคาตลาดโลกสูงถึงตันละ 200 กว่าบาท [11],[21]

และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น รัฐบาลก็มีคำสั่งให้ปิดกิจการโรงสีของเอกชนทั้งหมด คงเหลือไว้แต่เพียงบริษัทข้าวไทยเท่านั้น บริษัทข้าวไทยจึงได้เสนอต่อรัฐบาลขอเช่าโรงสีของเอกชนจำนวนมากมาดำเนินการเสียเอง อาทิเช่น โรงสีของบริษัทหวั่งหลี บริษัทอิ๊สเอเซียติ๊ก เป็นต้น [11],[22]

ผลของการประกอบการปรากฏตามหลักฐานของกรมทะเบียนการค้า (แม้จะไม่สมบูรณ์เพราะมีหลักฐานเพียงบางปี) ประกอบกับข้อมูลของนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สัมภาษณ์ นายสมบุญ ไผทฉันท์ อดีตเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทข้าวไทย ปี พ.ศ. 2482-2515 จึงเพียงพอที่จะยืนยันได้ว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 -2492 บริษัท ข้าวไทย จำกัด “มีกำไรเป็นประจำทุกปี”...

“โดยผลกำไรที่เกิดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ ได้ถูกนำไปแจกจ่ายให้ผู้ถือหุ้นในรูปของเงินปันผล และบำเหน็จกรรมการ ซึ่งเป็นการตอบแทนให้แก่กรรมการอีกต่างหาก นอกเหนือจากเงินเดือนค่ารับรอง และอื่นๆที่ได้รับเป็นประจำอยู่แล้ว” [23] ดังตัวอย่างเช่น

พ.ศ. 2482 บริษัท ข้าวไทย จำกัด กำไรสุทธิ 1,481,400 บาท, มีเงินปันผล 180,000 บาท และเงินบำเหน็จกรรมการ 32,570 บาท

พ.ศ. 2483 บริษัท ข้าวไทย จำกัด กำไรสุทธิ 2,514,400 บาท, มีเงินปันผล 225,000 บาท และมีเงินบำเหน็จกรรมการ 105,975 บาท

พ.ศ. 2486 บริษัท ข้าวไทย จำกัด กำไรสุทธิ 5,567,055 บาท, มีเงินปันผล 375,000 บาท และมีเงินบำเหน็จกรรมการ 278,353 บาท

พ.ศ. 2489 บริษัท ข้าวไทย จำกัด กำไรสุทธิ 5,699,120 บาท, มีเงินปันผล 375,000 บาท และมีเงินบำเหน็จกรรมการ 217,270 บาท

พ.ศ. 2490 บริษัท ข้าวไทย จำกัด กำไรสุทธิ 5,699,120 บาท แต่ไม่สามารถหาข้อมูลได้ว่ามีเงินปันผลและเงินบำเหน็จกรรมการเท่าไหร่

ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2526 นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ผู้เขียนหนังสือ ทุนนิยมขุนนางไทย ( พ.ศ. 2475-2503) ได้ตั้งข้อเกตุในประเด็นนี้ว่า
“ในปี พ.ศ. 2482 บริษัทมีทุนจดทะเบียน 500,000 บาท แต่ก็มีกำไรสุทธิประมาณ 1.5 ล้านบาท นั่นหมายความว่าเงินทุนทุกๆ 1 บาท บริษัท ข้าวไทย จำกัด สามารถจะสร้างกำไรเพิ่มขึ้นได้ถึง 3 บาท

และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 เมื่อบริษัทเพิ่มทุนจดทะเบียนขึ้นเป็น 1.5 ล้านบาท เงินทุน 1 บาท ก็ยังให้ผลตอบแทนสูงถึง 1.7 บาท, 3.7 บาท และ 5.1 บาท ในปี พ.ศ. 2483, 2489 และ 2490 ตามลำดับอีกด้วย”[23]

ที่น่าสนใจในธุรกิจที่เป็นการดำเนินการผูกขาดและกำไรมากเช่นนี้ รัฐบาลไม่ได้ให้กิจการของสำนักทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์มีส่วนมาลงทุนร่วมด้วยแต่ประการใด คงเหลือแต่เอาไว้การลงทุนและได้หุ้นไป สำหรับพรรคพวกและข้าราชการที่ใกล้ชิดรัฐบาลเท่านั้น

อย่างไรก็ตามนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ยังได้วิเคราะห์ว่ารัฐบาล “หลวงพิบูลสงคราม” ยังได้ก่อตั้งกิจการเกี่ยวเนื่องเพื่อสนับสนุนกิจการของ บริษัท ข้าวไทย จำกัด ให้มีความมั่นคงระยะยาวอีกด้วย ซึ่งได้แก่ กิจการขนส่งทางเรือ, กิจการธนาคาร และกิจการประกันภัย [23],[18] ภายใต้การเสนอแนะของนายมา บูลกุล[24]

พ.ศ. 2483 รัฐบาลก่อตั้งบริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 10,000,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทเพียงรายเดียว [23],[25] คณะกรรมการชุดแรกของบริษัทมาจากคณะราษฎรทั้งสิ้น อาทิ เช่น นาวาเอกหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์, พลเรือตรีหลวงสินธุสงครามชัย, หลวงเสรีเริงฤทธิ์, พันเอกหลวงพรหมโยธี, และนายดิเรก ชัยนาม [23],[26]

พ.ศ. 2484 รัฐบาลก่อตั้ง ธนาคารมณฑล ด้วยเงินทุนจดทะเบียนมากถึง 10,000,000 บาท เดิมชื่อธนาคารไทย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารมณฑล โดยกรรมการชุดแรกของ ธนาคารมณฑล ได้แก่ พระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป) ประธานกรรมการ, นายวณิช ปานะนนท์, นายมา บูลกุล, พระยาทรงสุรัชฏ์ (อ่อน บุนนาค), นายแนบ พหลโยธิน, นายยล สมานนท์, นายพลตรีจรูญ รัตนกลุ่ม, เสรีเริงฤทธิ์, นายสง่า วรรณดิษฐ์, นายประมวล บูรณะโชติ

กิจการของ ธนาคารมณฑล นี้เป็นฐานการเงินสนับสนุน บริษัท ข้าวไทย จำกัด ในการส่งข้าวขายให้แก่ญี่ปุ่น ผู้ถือหุ้นใหญ่ได้แก่ กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 50,650 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 50.65 โดยมีบริษัทข้าวไทยจำกัด ถือหุ้น 45,172 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 45.17 [27],[28]

พ.ศ. 2485 รัฐบาลก่อตั้งบริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด [23] ก่อตั้งด้วยเงินทุน 4,000,000 บาท แบ่งออกเป็น 40,000 หุ้น มีบริษัทข้าวไทยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท จำนวน 15,310 หุ้น หรือตกราวร้อยละ 38 ของหุ้นทั้งหมด[29],[30] กรรมการของบริษัททั้งหมดมาจากคณะผู้ก่อการฯ มีนายชุนห์ ปิณฑานนท์ เป็นกรรมการคนแรกของบริษัท [29],[31]

โดยหลังจากการก่อตั้งกิจการบริษัท ไทยเดินเดรือทะเล จำกัด กับธนาคารมณฑล ในช่วงแรกนั้น ได้เป็นปัจจัยเอื้ออำนวยที่ทำให้กิจการของบริษัท ข้าวไทย จำกัด ประสบความสำเร็จก่อนปี พ.ศ. 2490 [22],[23] รวมถึงบริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด ได้สนับสนุนในการให้บริษัท ข้าวไทย จำกัด ก็ให้การสนับสนุนบริษัทข้าวไทย มาโดยตลอดด้วย

แต่ภายหลังจากการที่ “คณะทหารแห่งชาติ” นำโดย พลโทผิน ชุณหะวัณ ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาล พลตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์)เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 แล้ว รัฐบาลชุดใหม่ได้แต่งตั้งให้ทหารกลุ่มซอยราชครู เข้าไปเป็นกรรมการของบริษัท ไทยเดินเรือทะเลแทนกรรมการชุดเก่าที่หมดอำนาจไป เช่น พลตรี ศิริ สิริโยธิน, พันเอกประมาณ อดิเรกสาร และ พันเอก วรการบัญชา เป็นต้น [23]

สำหรับในเรื่องนี้ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้ตั้งอธิบายในหนังสือ ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504 ว่า

“เป็นที่น่าสังเกตว่าคณะกรรมการของบริษัทชุดใหม่มิได้ยึดถือวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้การสนับสนุนการค้าของบริษัทข้าวไทยโดยเฉพาะอีกต่อไป การเข้ามาเป็นกรรมการของบริษัทไทยเดินเรือทะเลของกรรมการชุดใหม่จึงมีความเอนเอียงไปในทำนองที่ว่าจะเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากบริษัท เพื่อหมู่คณะของตนมากกว่าที่จะยึดถือเจตน์จำนงค์ดั้งเดิมของคณะราษฎรเอาไว้”[23]

สำหรับประเด็นนี้ ได้ปรากฏคำสัมภาษณ์ของ นายสมบุญ ไผทฉันท์ อดีตเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ข้าวไทย จำกัด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 ความตอนหนึ่งในช่วงหลังการรัฐประหาร 2490 ว่า

“กิจการเดินเรือทะเลของรัฐบาล ไม่มีส่วนเกื้อหนุนกิจการของบริษัทข้าวไทยแต่อย่างใดเลย ดังนั้นบริษัทข้าวไทยจึงต้องเช่าเรือจากบริษัทโหงวฮกซึ่งเป็นเจ้าของ นายมา บูลกุลบ้าง บริษัทหวั่งหลีบ้าง ถ้าไปแถบยุโรปก็เช่าจากบริษัทเอเซียตี๊ก และบริษัทบอร์เนียว

การที่รัฐบาลจัดตั้งบริษัทไทยเดินเรือทะเลขึ้นมา แทนที่จะเกื้อหนุนให้กิจการของบริษัทข้าวไทย ซึ่งก็เป็นของรัฐบาลเหมือนกัน กลับไม่สามารถกระทำได้ เพราะไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินการเลย” [22],[23]

ส่วนธนาคารมณฑล หลังการรัฐประหาร ก็ถูกแปรให้กลายเป็นฐานเศรษฐกิจของคณะรัฐประหารอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหารได้แต่งตั้งสมาชิก และสมัครพรรพวกของตนที่มาจากกลุ่ม ผิน ชุณหะวัณ-เผ่า ศรียานนท์ (“กลุ่มซอยราชครู”) และกลุ่มสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (“กลุ่มสี่เสาเทเวศร์”) เข้าไปเป็นกรรมการบริหารงานในธนาคารมณฑล [23]

โดยกรรมการชุดใหม่ ได้แก่ พันตำรวจเอกลม้าย อุทยานานนท์, นายอดีศร โฆวินทะ, นายบุญวงศ์ อมาตยกุล [23],[32], พลตรีประภาส จารุสเถียร [31],[34], และพลตำรวจ ไสวไสวแสนยากร [33],[35]

เช่นเดียวกับกรณีของบริษัทไทยเดินเรือทะเล ผู้บริหารงานชุดใหม่ของธนาคารมณฑลก็มิได้ยึดถือวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของธนาคารที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อที่จะสนับสนุนธุรกิจของคนไทย และบริษัทข้าวไทยโดยเฉพาะ ดังปรากฏวัตถุประสงค์ที่แปรเปลี่ยนไปนี้อยู่ในบันทึกรายงานการประชุมของธนาคารมณฑล เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2494 ความว่า

นายมนู ยูประพันธ์ ถามว่า :

“ธนาคารนี้เป็นธนาคารไทยซึ่งรัฐบาลถือหุ้นใหญ่ นโยบายดั้งเดิมของการตั้งธนาคารนี้ ก็เพื่อช่วยเหลือคนไทยโดยเฉพาะ เพื่อประคับประคองส่งเสริมพ่อค้าไทยให้มีรากฐานมั่นคง และให้ดึงการค้าเข้ามาอยู่ในมือคนไทย

แต่ในขณะนี้กลับมีเสียงเล่าลือในท้องตลาอดว่าธนาคารนี้ช่วยเหลือพ่อค้าต่างชาติมากกว่าพ่อค้าไทย ทั้งนี้มีความจริงเพียงใดหรือไม่?”

ประธานกรรมการ (พระยาโกมารกุลมนตรี) ตอบว่า :

“เสียงลือในเรื่องนี้ก็เห็นจะเหมือนเสียงลือในเรื่องอื่นๆ ที่มีอยู่ในกรุงเทพฯเวลานี้ นโยบายของคณะกรรมการนี้มุ่งไปในทางที่จะจัดให้ธนาคารนี้เก็บเป็นธนาคารพาณิชย์ จะช่วยเหลือการพาณิชย์ของประเทศไทย ไม่เลือกว่าผู้ค้าจะเป็นชาติใด ภาษาใด

อนึ่ง จะลืมเสียมิได้ว่าเราจะต้องเลี้ยงตัวเอง และต้องรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเจ้าของธนาคาร เรายินดีช่วยพ่อค้าไทยที่ดี และตั้งใจค้าจริงๆทุกคน เราได้ช่วยและกำลังช่วยพ่อค้าไทยอยู่เป็นจำนวนมากทีเดียว

แต่การกู้ยืมโดยเสียดอกเบี้ยถูกเอาไปให้กู้เพื่อขูดดอกเบี้ยแพง การกู้ยืมเวลายาวอันมิใช่กิจที่ธนาคารพาณิชย์ควรกระทำ การกู้ยืมที่มีท่าทีว่าจะไม่มีการเคลื่อนไหวในบัญชีเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราไม่เต็มใจช่วย แม้ผู้ขอกู้ยืมจะเป็นคนไทย”[33], [36]

หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 แล้ว คงเหลือแต่ บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัดยังคงสนับสนุนธุรกิจการค้าของบริษัทข้าวไทยต่อมา

ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2491 บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด ได้ให้บริษัทข้าวไทยกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าท้องตลาด กล่าวคือ ในขณะที่ดอกเบี้ยท้องตลาดตกราวร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด จะคิดดอกเบี้ยจากบริษัทข้าวไทยเพียงร้อยละ 4.5 ต่อปีเท่านั้น[33],[37]

กล่าวโดยสรุปแล้ว การตกต่ำของ บริษัท ข้าวไทย จำกัด เกิดขึ้นในช่วงหลังที่เกิดการรัฐประหาร ปี พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา ทั้งนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจากองค์ประกอบทางการค้าของบริษัทข้าวไทย ซึ่งได้แก่ บริษัทไทยเดินเรือทะเล ธนาคารมณฑล และบริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัยมิได้ทำงานประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับบริษัทข้าวไทย ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาในระยะแรก

ประกอบกับในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลอังกฤษได้บีบรัฐบาลไทยให้รื้อฟื้นบริษัทค้าข้าวของอังกฤษที่ถูกรัฐบาลไทยห้ามมิให้ดำเนินการกิจการในระหว่างสงครามโลกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง[18],[33]

บริษัทค้าข้าวของอังกฤษเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทบอร์เนียว บริษัทแองโกลหรือ บริษัทอิสเอเซียตี๊ค ก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทที่มีความชำนาญในการค้าข้าวมาเป็นเวลานาน มีกิจการประกันภัย และบริษัทเดินเรือของตนเองทั้งยังมีธนาคารต่างประเทศที่คอยให้การสนับสนุนในการดำเนินงานอีกด้วย[33]

ฉะนั้นเมื่อกิจการค้าข้าวของบริษัทต่างประเทศกลับมาดำเนินงานอีกวาระหนึ่ง บริษัทข้าวไทยจึงต้องเผชิญกับคู่แข่งที่มีความสามารถและทุนในการดำเนินงานสูงกว่ามาก ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่บริษัทข้าวไทยมิได้อยู่ในสถานะที่มีความเข้มแข็งเหมือนดังในอดีตอีกต่อไปแล้ว[33]

นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2500 รัฐบาลได้ใช้มาตรการควบคุมการส่งข้าวออกไปจำหน่ายต่างประเทศอย่างเข้มงวด ที่เรียกกันว่า “นโยบายโควตาข้าว” นโยบายดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งที่ทำให้ บริษัทข้าวไทยประสบภาวะตกต่ำทางการค้าอย่างรุนแรงยิ่งขึ้นเป็นลำดับ[33]

ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างก็ใช้อภิสิทธิ์ให้ใบอนุญาตส่งข้าวออกแก่บุคคลต่างๆ ซึ่งมิใช่พ่อค้า หากแต่เป็นคนที่ “วิ่งเต้น” หาประโยชน์จากการได้ใบอนุญาตเพื่อเอาไปขายช่วงให้แก่พ่อค้า จนกลายเป็นเรื่องปกติวิสัย[33],[38]

บริษัทที่มิได้ทำการค้าข้าวหรือบริษัทที่มีอิทธิพลก็ยังได้รับโควตาส่งข้าวออก อาทิเช่น ร้านตัดผมจารุ ของตระกูลกรรณสูตร [33],[39] บริษัทบางกอกสากลการค้าของสฤษดิ์ [33],[40] บริษัทสหพาณิชย์สามัคคีของประภาส จารุเสถียร[33],[41] บริษัท พิทักษ์สามัคคีของกรมตำรวจ[33],[42] บริษัทเหล่านี้หากำไรจากการนำโควตาของคนไปขายให้แก่พ่อค้าส่งออกอีกทอดหนึ่ง

สำหรับพ่อค้าข้าวที่มิได้มีอิทธิพลทางการเมืองหนุนหลังอยู่เลย ก็จะหาโควตาข้าวได้จากการไปเสียการพนันให้แก่นายอดิศร โฆวินทะ ซึ่งจะเปิดให้มีการเล่นการพนันกันเป็นประจำปีที่สำนักงานจัดสรรโควตาข้าว[33],[43] โดยนายอดิศรจะเป็นผู้จัดใบอนุญาตส่งออกทั้งหมดให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พันเอก นายวรการบัญชา) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่เพียงประการเดียวคือเซ็นอนุมัติ[18],[33]

ในทางตรงกันข้าม หลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2490 บริษัท ข้าวไทย จำกัด ตกต่ำลงเรื่อยๆ กรรมการที่เข้ามาในบริษัทข้าวไทยนั้นมักจะเกิดจาการอุปถัมภ์ของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เสียมากกว่า เพราะฉะนั้นบุคคลเหล่านี้จึงเข้ามาในบริษัทข้าวไทยเพียงเพื่อจะรับเบี้ยประชุมกรรมการซึ่งได้จากการประชุมในสมัยนั้นคราวละ 250-300 บาท และยังได้รับเงินโบนัสเป็นประจำทุกปีอีกด้วย[18],[33]

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้ตั้งให้ความเห็นในหนังสือ ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504 โดยสรุปบทเรียนจากการศึกษากรณีบริษัท ข้าวไทย จำกัดนี้ว่า

“ในท้ายที่สุดแล้ว นโยบายของคณะราษฎรที่จะให้คนไทยเป็นผู้ประกอบการค้าข้าวนั้น มิได้บรรลุวัตถุประสงค์แต่ประการใดเลย เพราะเหตุว่า การค้าข้าวยังตกอยู่ในมือพ่อค้าชาวจีน และนายทุนขุนนางต่างๆ ที่ทรงอิทธิพลทางการเมือง ในแต่ละยุคแต่ละสมัยนั่นเอง

สำหรับบริษัทข้าวไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่คณะราษฎรก่อตั้งขึ้น เพื่อให้มีบทบาทในด้านธุรกิจค้าข้าวนั้น นับตั้งแต่คณะราษฎร จนกระทั่งถึงยุคจอมพลสฤษดิ์ก็ตกอยู่ภายใต้การบริหารของข้าราชการที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองมาโดยตลอด

และยังเป็นแหล่งสนองผลประโยชน์ให้แก่ข้าราชการเหล่านั้นเสมอมา ที่สำคัญก็คือ บริษัทข้าวไทยไม่เคยแสดงบทบาทอย่างเด่นชัดที่จะตอบสนองหรือพิทักษ์ผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนเลย

ทั้งนี้ ก็เพราะเหตุว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงนับตั้งแต่เริ่มแรกของการก่อตั้งบริษัทข้าวไทยขึ้น รัฐบาลมิได้ประสงค์ให้รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ เป็นเครื่องมือที่จะใช้ลดช่องว่างทางด้านรายได้ของบุคคลกลุ่มต่างๆในสังคม รัฐวิสาหกิจแห่งนี้จึงมิใช่รัฐวิสาหกิจที่เป็นไปเพื่อประชาชนผู้ทำการผลิตและผู้บริโภคทั่วไป หากแต่เป็นไปเพื่อนายทุนขุนนางโดยตรง”[33]

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

29 ม.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
อ้างอิง
[1] พรรณี บัวเล็ก, วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์วิชาการจำกัด ร่วมกับ โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2529, จำนวน 1,000 เล่ม, ISBN 974-567-234-2, หน้า 42-43

[2] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมจัดตั้งบริษัท ข้าวไทย จำกัด 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481

[3] อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายมา บูลกุล ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2507

[4]. สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 94-96

[5] สมบุญ ไผทฉันท์, ผู้จัดการสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ (อดีตเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทข้าวไทย ปี พ.ศ. 2482-2515 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายปกครองและเลขนุการของบริษัทข้าวไทย), สัมภาษณ์วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2522

[6] สมบุญ ไผทฉันท์, สัมภาษณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2523

[7] สมบุญ ไผทฉันท์, สัมภาษณ์วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2523

[8] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 97

[9] ผาณิต รวมศิลป์, “นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ถึง พ.ศ. 2487” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2521 หน้า 113

[10] สมบุญ ไผทฉันท์, ผู้จัดการสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ (อดีตเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทข้าวไทย ปี พ.ศ. 2482-2515 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายปกครองและเลขนุการของบริษัทข้าวไทย), สัมภาษณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2523

[11] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 100-106

[12] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของบริษัทข้าวไทย พ.ศ. 2485-2490

[13] มนูญ บริสุทธิ์ “คณะรัฐมนตรี” ในอนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพของนายมนูญ บริสุทธิ์ (พระนคร: โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2521), หน้า 117-133

[14] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, งบดุลของบริษัท ข้าวไทย จำกัด, 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 บริษัทข้าวไทยได้เพิ่มทุนขึ้นเป็น 6,000,000 บาท ในปี พ.ศ. 2489 กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของบริษัท ข้าวไทย จำกัด พ.ศ. 2489

[15] สมบุญ ไผทฉันท์, สัมภาษณ์วันที่ 26 ตุลาคม 2522

[16] ผาณิต รวมศิลป์, เรื่องเดิม, หน้า 115

[17] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายนามผู้ถือหุ้นของบริษัท ข้าวไทย จำกัด 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2593-30 มิถุนายน พ.ศ. 2494

[18] สมบุญ ไผทฉันท์, สัมภาษณ์วันที่ 26 ตุลาคม 2522

[19] ผาณิต รวมศิลป์, เรื่องเดิม, หน้า 114

[20] ผาณิต รวมศิลป์, เรื่องเดิม, หน้า 116

[21] สมบุญ ไผทฉันท์, สัมภาษณ์วันที่ 26 ตุลาคม 2523

[22] สมบุญ ไผทฉันท์, สัมภาษณ์วันที่ 2 พฤศจิกายน 2522

[23] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 107-113

[24] ผาณิต รวมศิลป์, เรื่องเดิม, หน้า 118

[25] ในการดำริก่อตั้งบริษัทไทยเดินเรือทะเลนั้น เดิมบริษัทข้าวไทยต้องการให้บริษัทเดินเรือทะเลเป็นกิจการของบริษัทข้าวไทยโดยตรง แต่เนื่องจากมีนักการเมืองบางคนที่ต้องการหาผลประโยชน์จากกิจการเดินเรือ ฉะนั้นบริษัทไทยเดินเรือทะเลจึงมีรัฐบาลถือหุ้นเพียงรายเดียว, สมบุญ ไผทฉันท์, สัมภาษณ์ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2522, ดังนั้นธุรกิจที่ประสานกับบริษัทข้าวเป็นอย่างดีคือ ธนาคารมณฑล และบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย ประธานกรรมการและผู้จัดการของบริษัทข้าวไทยคือ พระยาเฉลิมอากาศ และนายมา บูลกุล ได้เป็นกรรมการอยู่ในกิจการทั้งสองแห่งนี้ด้วย กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, นายนามกรรมการชุดแรกของธนาคารมณฑล จำกัด พ.ศ. 2484 รายนามกรรมการชุดแรกของบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด พ.ศ. 2485

[26] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมก่อตั้งบริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัด วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2493

[27] พรรณี บัวเล็ก, วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์วิชาการจำกัด ร่วมกับ โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2529, จำนวน 1,000 เล่ม, ISBN 974-567-234-2, หน้า 49-50

[28] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานประชุมจัดตั้งธนาคารไทยจำกัด เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2485

[29] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 116

[30] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, ราบงานการประชุมของบริษัทข้าวไทย จำกัด 9 มีนาคม พ.ศ. 2492

[31] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 376

[32] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของธนาคารมณฑล จำกัด วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2500

[33] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 114-127

[34] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของธนาคารมณฑล จำกัด วันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499

[35] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของธนาคารมณฑล จำกัด วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2501

[36] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของธนาคารมณฑล จำกัด วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2494

[37] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมก่อตั้งบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด พ.ศ.2485

[38] ป๋วย อึ้งภากรณ์, เหลียวหลังแลหน้า (กรุงเทพฯ: สำนักศูนย์บัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2519) หน้า 9

“เรื่องสำนักงานข้าวเมื่อเป็นของรัฐบาลก็มีการทุจริตและใช้อำนาจแอบอ้างกันได้ง่าย นอกจากทุจริตธรรมดาแล้ว ทางธรรมเนียมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นๆยังได้ใช้อภิสิทธิ์ให้ใบอนุญาตแก่คนนั้นคนนี้ ซึ่งไม่ใช่พ่อค้า แต่เป็นคนที่วิ่งเต้นหาผลประโยชน์จากการได้ใบอนุญาตเอาไปขายช่วงให้แก่พ่อค้า”

[39] ยงยุทธ กุลนรรัตน์, ผู้จัดการบริษัทสหการข้าวไทย, สัมภาษณ์, 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522

[40] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานการประชุมประจำปีของบริษัทบางกอกสากลการค้า จำกัด พ.ศ. 2497-2499

[41] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานการประชุมประจำปีของบริษัท สหพาณิชย์สามัคคี จำกัด วันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2500

[42] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานการประชุมประจำปีของบริษัทพิทักษ์สามัคคี จำกัด วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2494

[43] สมบุญ ไผทฉันท์, สัมภาษณ์วันที่ 19 ตุลาคม 2522

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง กลุ่มการเมืองบางส่วนที่มีรากฐานมาจากคณะราษฎร นอกจากจะมีการก่อตั้งรัฐวิสาหกิจ บริษัทกึ่งราชการ เพื่ออุปถัมภ์พวกพ้องแล้ว ยังได้มีการก่อตั้งธุรกิจของพวกพ้องเองโดยตรงขึ้นมาอีกด้วย เช่น ในปี พ.ศ.2482 มีการก่อตั้งบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด, ในปี พ.ศ. 2483 ได้มีการก่อตั้ง บริษัท ไทยนิยมประกันภัย, ในปี พ.ศ. 2484 ก่อตั้งธนาคารนครหลวงแห่งประเทศไทย เป็นต้น [1]

อย่างไรก็ตามมีข้อน่าสังเกตประการหนึ่ง คือ ในขณะที่รัฐบาลดำเนินนโยบายชาตินิยม และต้องการที่จะลดบทบาทของพ่อค้าชาวจีนในหลายกิจการอย่างต่อเนื่องในหลายกิจการ แต่ก็ได้ปรากฏว่านักการเมืองซึ่งเป็นอดีตผู้ก่อการในคณะราษฎรหลายคน ก็ได้ไปลงทุนประกอบการค้ากับพ่อค้าชาวจีนเสียเอง

ตัวอย่างเช่น บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัดโดยนายวิจิตร ลุลิตานนท์ได้ร่วมกับนายโล่วเตี๊ยกชวนบูลสุข,นายตันจิวเก่ง,นายหวั่งหลีและนายเชวงเคียงศิริ[2],[3] บริษัท สากลการค้า จำกัด มีพลโทจรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ร่วมกับนายเอื้อนกำปั่นทอง,นายประสิทธิ์พุ่มชูศรี,นายจุลินทร์ล่ำซำ,และนายมาบูลกุลเป็นต้น[2],[4]

นอกจากนี้พ่อค้าชาวจีนยังคงนิยมประเพณีทำการค้าที่มีมาแต่เดิม คือ การพึ่งพิง หรืออาศัยผู้ปกครองที่มีอำนาจเป็นผู้อุปถัมภ์ในธุรกิจการค้าของตนซึ่งก็คือคนในรัฐบาลขณะนั้น เช่น เมื่อปี พ.ศ.2489 นายจุลินทร์ ล่ำซำ ได้เชิญ พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการบริษัท คลังสินค้าแม่น้ำ จำกัด[2],[5] และก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. 2488 นายจุลินทร์ ล่ำซำ ก็ได้เชิญอดีตผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ คือ นายทองเปลว ชลภูมิ, นายสงวน จูฑะเตมีย์, นายสวัสดิ์ โสตถิทัต ไปป็นกรรมการของธนาคารกสิกรไทย เป็นต้น[2],[6]

ในขณะที่กลุ่มนักการเมืองได้รับผลประโยชน์จากพ่อค้าชาวจีนทั้งหลายแล้ว ก็ยังได้ปรากฏธุรกิจของกลุ่มนักการเมืองได้ร่วมทุนกันเพื่อก่อตั้งบริษัทของกลุ่มตัวเองขึ้น และขยายผลกลายเป็นหน่วยธุรกิจเครือข่ายทั่วประเทศไทย โดยมีการนำเงินจากสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์มาร่วมหุ้นแต่เพียงส่วนน้อย และได้เงินกู้จากสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์เป็นส่วนใหญ่เพื่อเป็นเงินทุนให้กับกิจการของนักการเมืองขยายหน่วยธุรกิจเครือข่ายทั่วประเทศด้วย

นั่นก็คือ“บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด”!!!!

ในปี พ.ศ. 2482 ในขณะที่รัฐบาล “หลวงพิบูลสงคราม”กำลังรณรงค์นโยบายรัฐนิยมภายใต้ลัทธิชาตินิยมนั้นกลุ่มนักการเมืองซึ่งเป็นอดีตผู้ก่อการในคณะราษฎร ได้ก่อตั้งบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 1,000,000บาทในจำนวนนี้กลุ่มนักการเมืองซึ่งมาจากคณะราษฎรถือหุ้นร้อยละ 70 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 30 เป็นเงินลงทุนจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ [1],[7]

โดยในขณะที่มีการลงทุนในกิจการบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ยังทรงเป็นยุวกษัตริย์และประทับอยู่ต่างประเทศ ประกอบกับในเวลานั้นได้มีการตราพระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ซึ่งประกาศบังคับใช้ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480แล้วสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงอยู่ในความควบคุมของกระทรวงการคลัง ซึ่งในขณะนั้นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยมีนายชุณห์ ปิณฑานนท์อดีตผู้ก่อการคณะราษฎรเป็นผู้อำนวยการ[1]

คณะกรรมการชุดแรกของบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด มาจากผู้ที่เคยเป็นผู้ก่อการในคณะราษฎรทั้งสิ้น มีหลวงเชวงศักดิ์สงครามเป็นประธานและมีกรรมการประกอบไปด้วยพลโทประยูร ภมรมนตรี,นายตั้ว ลพานุกรม, พันตรีขุนนิรันดรชัย, นายเล้ง ศรีสมวงศ์, นายวิลาศ โอสถานนท์, นายชุนห์ ปิณฑานนท์, เรือเอกวัน รุยาพร, พันเอกหลวงเสรีเริงฤทธิ์
โดยในจำนวนนี้มีกรรมการ 5 คนจาก 9 คน เป็นรัฐมนตรีที่กำลังบริหารประเทศอยู่ในขณะนั้นด้วยได้แก่หลวงเชวงศักดิ์สงคราม,พลโทประยูรภมรมนตรี,นายวิลาศโอสถานนท์,และพันเอกหลวงเสรีเริงฤทธิ์ทั้งนี้บริษัทไทยนิยมพาณิชย์จำกัดมีวัตถุประสงค์ตามที่ปรากฏในหนังสือบริคนสนธิของบริษัทดังต่อไปนี้คือ

ก. ทำการค้าสรรพสินค้าทุกชนิด เช่น เครื่องอุปโภคบริโภค ฯลฯ ตลอดจนการขายปลีกและขายส่ง

ข. รับทำการส่งสินค้าจากต่างประเทศทุกชนิด และรับส่งสินค้าในประเทศออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ
ฯลฯ[1],[7]

ทั้งนี้รัฐบาลชาตินิยมได้เสนอมาตรการที่จะส่งเสริมให้การค้าภายในประเทศแปรจากมือของชาวต่างประเทศให้มาตกอยู่ในมือคนไทย[1],[8] ทั้งยังต้องการที่จะฝึกฝนให้คนไทยเกิดความชำนิชำนาญทางการค้า และจะเผยแพร่สินค้าพื้นเมืองโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางอีกด้วย[1],[9] ฉะนั้นคณะราษฎรจึงได้ก่อตั้งบริษัทพาณิชย์จังหวัด (หรือที่เรียกว่าบริษัทจังหวัด) ขึ้นตามจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ

โดยในการดำเนินการขั้นแรกรัฐบาลได้มอบหมายให้บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทพาณิชย์จังหวัดต่างๆ ร้อยละ 51 โดยไม่ต้องลงทุนเอง เพราะ“ใช้เงินที่กู้จากสำนักงานทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์”ส่วนหุ้นที่เหลือจะเปิดโอกาสให้ราษฎรสัญชาติไทยในท้องที่จังหวัดนั้นเข้าจองหุ้นได้แต่ต่อมาดูเหมือนว่ารัฐบาลจะเข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทพาณิชย์จังหวัดแทน[1],[10] ซึ่งโดยทั่วไปแล้วประธานกรรมการบริษัทแต่ละจังหวัดจึงมักจะเป็นข้าหลวง และข้าราชการของจังหวัดนั้นๆเป็นกรรมการ[1], [11]

เพื่อการนี้ รัฐบาลได้ให้คณะกรรมการของจังหวัดต่างๆ ดำเนินการชักชวนราษฎรให้เข้าจองหุ้นและก่อตั้งบริษัทจังหวัดขึ้นทั่วทุกจังหวัด[1],[12] ผลของการรณรงค์เพียงชั่วระยะเวลาประมาณ 2 ปี บริษัทจังหวัดก็สามารถก่อตั้งได้ทั่วประเทศถึง 67 จังหวัดในปี พ.ศ. 2484 ยกเว้นเพียงจังหวัดพระนคร ธนบุรี และแม่ฮ่องสอนเท่านั้น [1],[11]

การที่“บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด”ได้ถูกก่อตั้งมาในสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามแต่ก็เป็นกิจการที่ผู้ก่อการของคณะราษฎรได้รวมตัวกันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ฝ่ายการเมืองจึงย่อมเป็นผู้กุมสภาพในอำนาจการบริหารทั้งหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8ทรงเป็นยุวกษัตริย์ที่ประทับอยู่ต่างประเทศอำนาจการบริหารเงินทุนของสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ย่อมตกอยู่ภายใต้อำนวยของฝ่ายการเมืองเช่นกัน

และเมื่อ“บริษัทจังหวัด”ถูกจัดตั้งขึ้นโดยให้“บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด”ถือหุ้นใหญ่เกินครึ่งหนึ่งอำนาจของบริษัทจังหวัดจึงย่อมถูกกำหนดตัวผู้บริหารและทิศทางจากผู้มีอำนาจใน“บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด”เท่านั้น ผู้ถือหุ้นรายย่อยย่อมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายและเปลี่ยนแปลงค่าใช้จ่ายในบริษัทจังหวัดได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่“บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด”ได้ลงทุนใน “บริษัทจังหวัด”ในจังหวัดต่างในสัดส่วนหุ้นร้อยละ 51ไม่ต้องใช้เงินของตัวเองแต่เป็นการใช้“เงินกู้”จากสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ฝ่ายเดียวนั้นกลายเป็นฐานทุนให้ฝ่ายการเมืองมีอำนาจในเครือข่าย“บริษัทจังหวัด” ทั่วประเทศไทยเหนืออำนาจของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดยไม่ต้องใช้เงินของฝ่ายนักการเมืองเพิ่มเติมอีกแต่ประการใด

คำถามมีอยู่ว่าสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยกว่าคณะฝ่ายการเมืองใน “บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด” แต่กลับต้องเป็นฝ่าย “ปล่อยเงินกู้ฝ่ายเดียว” เพื่อไปลงทุนในบริษัทจังหวัดซึ่งเป็นบริษัทลูกของ “บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด” อันกิจการส่วนตัวของโดยเสียงข้างมากของคณะนักการเมืองในยุคนั้น มีความเป็นธรรมในทางธุรกิจจริงหรือไม่

เพราะถ้าหาก “บริษัทจังหวัด” จะมีการขาดทุนหรือทุจริตจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ หรือแม้ไม่มีการทุจริตแต่มีการใช้จ่ายเงินเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองมากเกินสมควร จะมีหลักประกันใดที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์จะเป็นฝ่ายทวงหนี้หรือได้รับการปันผลตามความเหมาะสมอย่างแท้จริง เมื่อคณะผู้สำเร็จราชการซึ่งมาจากเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรในระบอบกึ่งสมบูรณาญาสิทธิของคณะ คือมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 จำนวนครึ่งหนึ่ง ซึ่งมาจากการคัดเลือกของคณะราษฎรกันเอง และเป็นฝ่ายเดียวกันกับผู้ถือหุ้นที่เป็นฝ่ายรัฐบาลเอง อีกทั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งก็เป็นฝ่ายการเมืองอีกเช่นกัน

ในขณะที่“ขุนนิรันดรชัย”ซึ่งเป็นราชเลขานุการก็เป็นผู้หาผลประโยชน์และส่งเงินเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับนายกรัฐมนตรีและอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามด้วย [13],[14]

และเนื่องด้วยการที่เงินทุนของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ต้องถูกฝ่ายการเมืองดึงมาลงทุนในกิจการของกลุ่มนักการเมืองใน“บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด”อีกทั้งยังต้องปล่อยเงินกู้ให้กับ“บริษัทจังหวัด”ซึ่งเป็นบริษัทลูกโดยไม่มีอำนาจบริหารมากถึง 67จังหวัดดังนั้นจึงต้องใช้“เงินกู้อย่างมหาศาล”จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ช่วงเวลาที่ต้องใช้เงินจากสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์มาลงทุนทั้งในบริษัท“บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด” รวมถึงการนำเงินจากสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ไปปล่อยกู้เพื่อการลงทุนก่อตั้ง “บริษัทจังหวัด” จำนวน 67 จังหวัดซึ่งเป็นบริษัทลูกของ“บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด”คือช่วงเวลา ปี พ.ศ. 2482-2484

และช่วงเวลา พ.ศ.2482-2484 ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่รัฐบาล“หลวงพิบูลสงคราม”โดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นโจทก์ ได้ยื่นฟ้องสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นจำเลยที่ 1และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เป็นจำเลยที่ 2ต่อศาลแพ่งลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2482 และยื่นคำร้องขอแก้คำฟ้องในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2482

โดย คดีดังกล่าวนี้มีศาลแพ่งคำพิพากษาให้สมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นจำเลยที่ 1 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงินถึงวันพิพากษารวมมูลค่าและดอกเบี้ยถึงวันพิพากษาเป็นเงินทั้งสิ้น6,272,712 บาท 92 สตางค์เมื่อวันที่ 30กันยายนพ.ศ. 2484 [15]

อย่างไรก็ตามในคดีนี้ได้ปรากฏว่า“หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ทำการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม โดยการโยกย้ายอธิบดีศาลแพ่ง[16] ในขณะเดียวกันได้มีการนำพระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 บังคับใช้ย้อนหลังเพื่อเอาผิดอายัด ยึดทรัพย์ และยึดวังของสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทั้งๆ ที่ทรงใช้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในขณะที่ทรงยังดำรงตำแหน่งฐานะพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีของประเทศไทยจึงย่อมมีสิทธิ์ใช้ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ได้เพราะมิใช่เป็นทรัพย์สินของรัฐบาล

อย่างไรก็ตามเมื่อ“บริษัทจังหวัด”จะเป็นศูนย์กลางของการค้าขนาดใหญ่ที่สุดของแต่ละจังหวัดกล่าวคือบริษัทจังหวัดจะเป็นแหล่งรับซื้อพืชผลและสินค้าอุตสาหกรรมในครัวเรือนทุกประเภทเป็นแหล่งขายสินค้าจำเป็นทุกชนิดเป็นเอเย่นต์ส่งสินค้าให้แก่ร้านค้าย่อยๆที่รัฐบาลจะสนับสนุนให้จัดตั้งขึ้นและเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการผลิตอุตสาหกรรมในครัวเรือนของแต่ละจังหวัดอีกด้วย[1],[10]

ในส่วนของสัมพันธ์ทางการค้า ระหว่างบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดกับบริษัทจังหวัดนั้นนักการเมืองผู้ถือหุ้นกำหนดให้บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดเป็นตัวแทนติดต่อสั่งสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาให้บริษัทต่างๆจำหน่ายส่วนบริษัทจังหวัดต่างๆก็ส่งพืชผลทางการเกษตรและสินค้าพื้นเมืองทั้งหมดให้แก่บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดเป็นตัวแทนส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ [1],[9]

หากสามารถปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผลก็จะเป็นการขจัดอิทธิพลของพ่อค้าคนกลางและพ่อค้าชาวต่างประเทศได้ แต่โดยสาระของการดำเนินงานแล้ว ก็เป็นแต่เพียงการเปลี่ยนแปลงกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์จากพ่อค้าชาวจีนมาเป็นนักการเมืองซึ่งเคยเป็นผู้ก่อการของคณะราษฎรเท่านั้นเอง[1]

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ผู้เขียนทุนนิยมขุนนางไทยพ.ศ. 2475-2504ได้ให้ความเห็นวิเคราะห์เอาไว้เมื่อปีพ.ศ. 2526ความตอนหนึ่งว่า

“เมื่อพิจารณาบทบาทของ“บริษัทไทยนิยมพาณิชย์จำกัด”แล้วก็มีส่วนละม้ายคล้ายคลึงกับพระคลังสินค้าในสมัยเดิมเป็นอย่างมากแต่เดิมนั้นพระมหากษัตริย์ใช้เจ้าเมืองต่างๆและบรรดาเจ้าขุนมูลนายเป็นกลไกในการรวบรวมผลผลิตส่วนเกินของสังคมจากไพร่และทาสมาไว้ที่พระคลังสินค้าเพื่อนำไปใช้ในการแลกเปลี่ยนกับสินค้าต่างประเทศ

ใน ”ยุคประชาธิปไตย”คณะราษฎรก็ใช้ข้าหลวงนายอำเภอและข้าราชการของแต่ละจังหวัดเป็นกลไกการวบรวมผลผลิตของสังคมจากชาวนา-ชาวไร่มาไว้ที่บริษัทไทยนิยมพาณิชย์จำกัดเพื่อส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศเช่นเดียวกัน

ข้อแตกต่างอยู่ที่ว่าในขณะที่พระมหากษัตริย์ทรงเก็บส่วยอย่างเปิดเผยแต่คณะราษฎรต้องใช้การตั้งบริษัทซึ่งเป็นวิธีการที่แยบยลและอำพรางสูงกว่าแต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นมีค่าอันเดียวกันคือส่วนเกิน(Surplus)”[17]

นโยบายการค้าเสรีนิยมที่มีผลกำไรเป็นแรงจูงใจในการประกอบการ ช่วยกระตุ้นให้ชนชั้นนายทุนมีจิตใจแห่งความมานะพยายามที่จะปรับปรุงเทคนิคการผลิต การบริหารงานและการบริการลูกค้าอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

แต่สำหรับบริษัทจังหวัดที่บริหารงานโดยบุคคลที่อยู่ภายใต้ระบบราชการ ซึ่งเป็นองค์กรทางการปกครองที่มีอำนาจทางการเมือง กลับไม่สามารถยึดกุมปรัชญาแห่งการประกอบธุรกิจของชนชั้นนายทุนได้

ข้าราชการเหล่านี้ยังมีสำนึกของการเป็น “ผู้ปกครอง”ที่นิยมการข่มขู่ราษฎรอย่างไม่เปลี่ยนแปลง ฉะนั้นในการดำเนินงานของบริษัทจังหวัด จึงปรากฏว่า ข้าราชการมักจะข่มขู่และบังคับราษฎรที่เป็นลูกค้าของตน จนเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนแก่ราษฎรทั่วไป ดังที่หนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษได้เคยรายงานวิธีการดำเนินงานของบริษัทจังหวัดเอาไว้ว่า:

“การดำเนินงานของบริษัทจังหวัดหลายจังหวัดได้ผันแปรไปจากประสงค์เดิมของทางราชการโดยแทนที่ราษฎรที่หาเลี้ยงชีพด้วยการค้าขายจะได้รับความสะดวกสบายกลับมาได้รับความลำเค็ญในการค้าขึ้นเช่นถูกคุกคามมิให้นำสินค้าไปจำหน่ายให้แก่ใครนอกจากบริษัทพาณิชย์จังหวัด

และหากจะติดต่อค้าขายกับบริษัทโดยตรงก็ถูกกดราคาโดยเฉพาะสำนักงานนี้ก็เคยได้รับการร้องทุกข์ทำนองนี้ครั้งหนึ่งมาจากพ่อค้าเกลือจังหวัดสมุทรสาครอีกครั้งหนึ่งจากพ่อค้ามะพร้าวจังหวัดสมุทรสงคราม

และหนังสือพิมพ์บางฉบับเมื่อเร็วๆนี้ก็เคยได้นำจดหมายร้องทุกข์ของเจ้าของไร่ยาสูบในจังหวัดอุตรดิตถ์ลงพิมพ์ข้อความที่ร้องมาคงเป็นไปในทำนองเดียวกันทั้งสิ้นคือไม่ได้รับความพึงพอใจในการติดต่อกับบริษัทพาณิชย์จังหวัดซึ่งมีท่านพวกข้าราชการเป็นผู้ถือบังเหียนอยู่

จดหมายร้องทุกข์ที่มาถึงเราครั้งหลังคือคำร้องทุกข์ของราษฎรที่ค้ามะพร้าวที่จังหวัดสมุทรสงครามเราได้นำเสนอไปยังหลวงเชวงศักดิ์สงครามรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้ควบคุมกิจการของบริษัทเหล่านี้ซึ่งการสอบสวนในเวลาต่อมาปรากฏว่าทางการของบริษัทได้กะเกณฑ์ให้ราษฎรนำเอามะพร้าวมาขายให้แก่บริษัทของตนเท่านั้นถึงแม้ผู้ขายจะไม่พอใจราคาที่บริษัทตั้งให้ก็จะขายให้แก่คนอื่นไม่ได้[8],[17]

รัฐบาลจึงได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าว ในที่สุดแล้วหลวงเชวงศักดิ์สงครามต้องยอมรับกับหนังสือพิมพ์ว่า
“การใช้อิทธิพลและการหาเศษหาเลยได้มีอยู่เป็นความจริง”[8],[17]

อย่างไรก็ตามปรากฏว่ารัฐบาลก็มิได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในเรื่องนี้มากนัก บริษัทจังหวัดมา “เลิกกิจการ”เอาในปี พ.ศ. 2484 เพราะมีสาเหตุมาจากความขาดแคลนสินค้าอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะสงครามโลกโดยตรง มิใช่เพราะเหตุแห่งความเดือดร้อนของราษฎรแต่อย่างใด[17],[18]

ซึ่งการเลิกกิจการของบริษัทจังหวัดซึ่งได้เงินทุนมาจากบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ซึ่งใช้เงินกู้จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น ไม่ปรากฏข้อมูลที่ชัดเจนว่าได้มีการคืนเงินกู้จาก 67 จังหวัดให้กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือไม่และด้วยอัตราดอกเบี้ยเท่าใด หรือไม่ได้มีการคืนเงินกู้แต่ประการใด

อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2484 ที่บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ตัดสินใจเลิกกิจการ “บริษัทพาณิชย์จังหวัด”ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ก็เป็นเวลาเดียวกัน ที่รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามซึ่งชนะคดีการฟ้องร้องสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี มาตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2484 แต่กรมบังคับคดีได้ “เปลี่ยนใจ”ยุติการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ได้ยึดมาจากคดีการฟ้องร้องสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จนางเจ้ารำไพพรรณีในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ซึ่งเป็นเวลา 9 วันภายหลังจากการที่รัฐบาลไทยได้ทำพิธีลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484

แม้ว่าบริษัทพาณิชย์จังหวัดจะได้เลิกกิจการไปในปี พ.ศ. 2484 แต่ถึงกระนั้นบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ก็ยังมีผลกำไรจากการดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ [17]

ทั้งนี้ปรากฏข้อมูลว่าบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์​ จำกัดนั้นนอกจากจะมีกรรมการที่เป็นรัฐมนตรีถึง 5 คนจาก 9 คนแล้ว ก็ยังมีกรรมการที่อยู่ 2 บริษัท คือทั้งบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด และบริษัท ไทยนิยมประกันภัยจำกัดในคราวเดียวกันถึง 8คนได้แก่พันเอกหลวงเสรีเริงฤทธิ์ (รัฐมนตรี),นายวิลาศ โอสถานนท์ (รัฐมนตรี),พันโทประยูร ภมรมนตรี (รัฐมนตรี),นายตั้ว พลานุกรม (รัฐมนตรี),พันตรีขุนนิรันดรชัย (รับราชการ),นายเล้ง ศรีสมวงศ์ (รับราชการ) ,นายชุณห์ ปิณฑานนท์(รับราชการ),และเรือเอกวัน รุยาพรร.น. (รับราชการ) [17],[19],[20]ซึ่งทำให้บริษัท ไทยนิยมประกันภัย จำกัด เอื้อประโยชน์สนับสนุนกิจการของบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดได้

ในขณะเดียวกันกรรมการ 2 คนในบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์​ จำกัดก็เป็นกรรมการธนาคารของรัฐด้วย คือธนาคารเอเซียเพื่ออุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ซึ่งจัดตั้งด้วยเงินทุนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองได้แก่นายวิลาศ โอสถานนท์(รัฐมนตรี)และนายเล้ง ศรีสมวงศ์(รับราชการ) [17],[19]​,[21] กิจการธนาคารของรัฐจึงได้สนับสนุนกิจการของบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์​ จำกัด เช่นเดียวกัน

การที่บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์​ จำกัด มีเครือข่ายกิจการธนาคารของรัฐและประกันภัยของพวกตนเอง คอยให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก จึงช่วยให้บริษัทไทยนิยมพาณิชย์​ จำกัดอยู่ในสถานะที่มั่นคงมาก ประกอบกับแบบแผนการดำเนินงานของบริษัทไทยนิยมพาณิชย์​ จำกัดที่อาศัยการอิงระบบราชการเป็นสำคัญ โดยมีเครือข่ายบริษัทจังหวัดเป็นกลไกบริวารทำงานให้อีกด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์​ จำกัดซึ่งถือหุ้นส่วนใหญ่โดยนักการเมืองยังได้รับสิทธิพิเศษจากรัฐบาลให้เป็นผู้ผูกขาดจำหน่ายสุราของกรมสรรพสามิตอีกด้วย[17],[22]

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นได้ส่งผลทำให้ระหว่างปี พ.ศ. 2483-2492 บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์​ จำกัด ได้มีผลประกอบการมีกำไรสุทธิต่อเนื่องกันถึง 10 ปี จึงมีการนำเงินตอบแทนคณะกรรมการบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ เงินปันผล, โบนัส, เบี้ยประชุมประจำเดือน โดยปรากฏเป็นบันทึกรายงานการประชุมประจำปีของบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ดังนี้ [23],[24]

พ.ศ. 2483 กำไรสุทธิ 112,017 บาท (ไม่ปรากฏเงินผลตอบแทนคณะกรรมการ)
พ.ศ. 2484 กำไรสุทธิ 502,649 บาท, ผลตอบแทนคณะกรรมการ 160,000 บาท
พ.ศ. 2485 กำไรสุทธิ 658,342 บาท, ผลตอบแทนคณะกรรมการ 450,342 บาท
พ.ศ. 2486 กำไรสุทธิ 748,640 บาท, ผลตอบแทนคณะกรรมการ 233,000 บาท
พ.ศ. 2487 กำไรสุทธิ 1,189,448 บาท, ผลตอบแทนคณะกรรมการ 350,000 บาท
พ.ศ. 2488 กำไรสุทธิ 851,346 บาท, ผลตอบแทนคณะกรรมการ 230,000 บาท
พ.ศ. 2489 กำไรสุทธิ 692,274 บาท, ผลตอบแทนคณะกรรมการ 100,000 บาท
พ.ศ. 2490 กำไรสุทธิ 101,945 บาท, ผลตอบแทนคณะกรรมการ 50,000 บาท
พ.ศ. 2491 กำไรสุทธิ 461,809 บาท, ผลตอบแทนคณะกรรมการ 200,000 บาท
พ.ศ. 2492 กำไรสุทธิ 352,867 บาท, ผลตอบแทนคณะกรรมการ 200,000 บาท

(มีต่อ)
 12 ก.พ. 2564 ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
อย่างไรก็ตามภาวะการตกต่ำของบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2492ภายหลังจากนายปรีดี พนมยงค์ประสบความพ่ายแพ้จากการก่อกบฏวังหลวงพวกกบฏถูกปราบลงอย่างรวดเร็วและมีผู้เสียชีวิตและถูกคุมขังบางส่วนหนีไปอยู่ต่างประเทศและบางส่วนยังดำเนินบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดต่อไป

ในช่วงนี้เองที่เผ่า ศรียานนท์ผู้นำคนหนึ่งของคณะรัฐประหารปีพ.ศ. 2490ได้เข้าไปเป็นกรรมการบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดในปีพ.ศ. 2493[23],[24]เพื่อคอยควบคุมบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดไม่ให้เป็นอันตรายต่อรัฐบาลใหม่ ทั้งๆที่กิจการบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด เป็นกิจการที่ถือหุ้นโดยเอกชน

ส่วน ธนาคารเอเซียเพื่ออุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ซึ่งเป็นกิจการของรัฐอันเกิดจากการลงทุนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองซึ่งเคยเป็นแหล่งอุดหนุนทางการเงินของบริษัทฯ ก็ถูกเผ่า ศรียานนท์ โอนไปเป็นขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และกลายโอนหุ้นให้เป็นกิจการในบริษัทของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในเวลาต่อมา

นอกจากนี้สถาบันการเงินอื่นๆที่เคยเป็นของอดีตผู้ก่อการคณะราษฎรซึ่งอาจช่วยเหลือบริษัทได้ เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารมณฑล, บริษัท ประกันคุ้มภัย จำกัด, ฯลฯ ก็ตกไปอยู่ในมือของคณะรัฐประหารจนหมดสิ้น

ด้วยเหตุผลนี้บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดได้เริ่มประสบปัญหาเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานซึ่งพลอยทำให้ธุรกิจการค้าของบริษัทเร่ิมฝืดเคืองมากยิ่งขึ้นผลที่ตามมาก็คือบริษัทกู้ยืมเงินได้เรียกชำระเงินคืน อีกทั้งงานชิ้นใหญ่ประมูลไม่ได้จึงต้องแยกบริษัทออกไปเป็นส่วนๆเพื่อให้แต่ละส่วนเลี้ยงตัวเองได้อันได้แก่แยกบริษัทไทยนิยมบางรักจำกัดทำการค้าสรรพสินค้าและแยกบริษัทไทยนิยมผ่านฟ้าจำกัดทำการจัดสถานที่ให้เช่าเหล่านี้เป็นต้น[23],[26]

โดยในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2496 - 2505 บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ต้องกู้เงินเบิกเกินบัญชีมาแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน จนมีภาวะทั้งขาดทุนสะสมและกู้เงินมากขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ [23]

โดยในปี พ.ศ. 2497 ค่าดอกเบี้ย 599,652 บาท คิดเป็นร้อยละ 34 ของค่าใช้จ่ายประจำปีจำนวน 1,765,703 บาท โดยมีภาระเงินกู้และเงินเบิกเกินบัญชีธนาคารเป็นจำนวนเงิน 10,132,411 บาท

แต่ในปี พ.ศ. 2505 ค่าดอกเบี้ยได้เพิ่มเป็น 1,330,975 บาท คิดเป็นร้อยละ 79 ของค่าใช้จ่ายประจำปีจำนวน 1,695,210 บาท โดยมีภาระเงินกู้และเงินเบิกเกินบัญชีธนาคารเพิ่มเป็นจำนวนเงิน 12,576,497 บาท [23]

ซึ่งจะเห็นได้ว่ารายงานค่าดอกเบี้ยได้กลายเป็นรายจ่ายที่สำคัญที่สุดของบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดและเป็นปัจจัยที่สำคัญอันหนึ่งที่กำหนดให้บริษัทตกอยู่ภายใต้ภาวะการขาดทุนอย่างเรื้อรังโดยตลอดนอกจากนี้บริษัท ไทยนิยมบางรัก จำกัด และบริษัท ไทยนิยมผ่านฟ้า จำกัดก็ประสบกับภาวะขาดทุนอย่างหนักเพราะค่าดอกเบี้ยเป็นค่าใช้จ่ายที่มากเช่นเดียวกับบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดเช่นกัน[23],[27],[28] เพราะความจริงแล้วที่ผ่านมาบริษัทเหล่านี้อยู่ได้ด้วยอำนาจรัฐ ไม่ได้มีความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริงในทางธุรกิจแบบเอกชนทั่วไป

ฉะนั้นบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด,บริษัท ไทยนิยมบางรัก จำกัดและบริษัท ไทยนิยมผ่านฟ้า จำกัดจึงต้องปิดกิจการไปในท้ายที่สุด[23]

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง
[1] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 134-139

[2] สังศิต พิริยะรังสรรค์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 157-158

[3] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมก่อตั้งบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด, วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2485

[4] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมก่อตั้งบริษัท สากลการค้า จำกัด, พ.ศ. 2486

[5] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมก่อตั้งบริษัท คลังสินค้าแม่น้ำ จำกัด, พ.ศ. 2482

[6] สุภัทร สุคนธาภิรมย์, สัมภาษณ์ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2522, และ กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายนามคณะกรรมการชุดแรกของธนาคารกสิกรไทย พ.ศ. 2488

[7] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมก่อตั้งบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด, พ.ศ. 2482

[8] หนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ, วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2484

[9] หนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ, วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2482

[10] ผาณิต รวมศิลป์, “นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ถึง พ.ศ. 2487” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2521 หน้า 107-108

[11] หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ, วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2484

[12] หนังสือพิมพ์​สุภาพบุรุษ, ฉบับเดือน สิงหาคม พ.ศ. 2492

[13]ผู้จัดการออนไลน์, ทายาท “ขุนนิรันดรชัย” ขอพระราชทานอภัยโทษแทนบิดากระทำมิบังควรสมัยร่วมคณะราษฎร 2475 เตือนเยาวชนศึกษาประวัติศาสตร์ อย่าเชื่อใครง่าย, เผยแพร่: 26 ธ.ค. 2563 เวลา 13:43 น.
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000131996

[14] ผู้จัดการออนไลน์, คำสัมภาษณ์พิเศษเพิ่มเติมของพลโทสรภฏ นิรันดร, โดยปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, สัมภาษณ์ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ณ โรงแรม INTERCONTINENTAL BANGKOK, สัมภาษณ์เพิ่มเติมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยเปิดเผยเฉพาะครั้งที่ 1, ส่วนครั้งที่ 2 ยังไม่เปิดเผยในเวลานี้รอเวลาอันเหมาะสม)
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3727071230686152/
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000133139

[15] คำพิพากษาศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ 242/2482 คดีหมายเลขแดงที่ 404/2482

[16] พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ (สุทธิ เลขยานนท์) “บันทึกเรื่องการถูกให้ออกจากราชการและกลับเข้ามาใหม่”, ในหนังสือ “เที่ยวเมืองพระร่วง” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ พิมพ์ครั้งที่ 10, 1,000 เล่ม, พ.ศ. 2521 (โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ), เลขหมู่หนังสือ 915.9365 หน้า 61-65

[17] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 140-145

[18] ผาณิต รวมศิลป์,เรื่องเดิม, หน้า 111-112

[19] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด พ.ศ. 2483

[20] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของบริษัท ไทยนิยมประกันภัย จำกัด พ.ศ. 2483

[21] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของธนาคารเอเซียเพื่ออุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม พ.ศ. 2483

[22] ผาณิต รวมศิลป์,เรื่องเดิม, หน้า 130

[23] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 147-156

[24] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมประจำปีของบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด พ.ศ. 2483-2492

[25] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมประจำปีของบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด, วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2493

[26] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมประจำปีของบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด, วันที่ 27 กุมภาพันธ์​พ.ศ. 2494

[27] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมประจำปีของบริษัทไทยนิยมบางรัก จำกัด พ.ศ.2493-2500
โดย บริษัทไทยนิยมบางรักจำกัดเร่ิมขาดทุนตั้งแต่ปีพ.ศ. 2497ในระหว่างปีพ.ศ. 2497-2500บริษัทมียอดขาดทุนสุทธิประจำปีพ.ศ. 2497เท่ากับ 83,065บาท,พ.ศ. 2498ขาดทุนสุทธิ 1,382,236บาท,พ.ศ. 2499ขาดทุนสุทธิ 1,518,682บาทและพ.ศ. 2500ขาดทุนสุทธิ 557,632บาท
บริษัท ไทยนิยมบางรัก จำกัด ปี พ.ศ. 2496 จ่ายดอกเบี้ย 513,089 บาท, พ.ศ.2497 จ่ายดอกเบี้ย 550,202 บาท, พ.ศ. 2499 จ่ายดอกเบี้ยง 238,127 บาท, และ พ.ศ. 2500 จ่ายดอกเบี้ย 250,514 บาท

[28] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมประจำปีของบริษัทไทยนิยมผ่านฟ้า จำกัด พ.ศ.2494-2502
บริษัท ไทยนิยมผ่านฟ้า จำกัด เริ่มขาดทุนตั้งปี พ.ศ. 2501 โดยพ.ศ. 2497 บริษัทฯต้องชำระดอกเบี้ย 98,397 บาท, พ.ศ. 2498 ต้องชำระดอกเบี้ย 140,478 บาท, พ.ศ. 2499 ต้องชำระดอกเบี้ย 136,837 บาท, พ.ศ. 2500 ต้องชำระดอกเบี้ย 131,371 บาท, พ.ศ. 2501 ต้องชำระดอกเบี้ย 109,931 บาท
ค่าดอกเบี้ยเฉลี่ยของบริษัท ปี พ.ศ. 2497-2502 เท่ากับร้อยละ 15 ของค่าใช้จ่ายอำนวยการในแต่ละปี

 12 ก.พ. 2564 17:18   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปีพ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้มีความสัมพันธ์ที่กระชับแน่นแฟ้นขึ้นกับประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 ในการประชุมใหญ่สันนิบาตชาติเพื่อประณามญี่ปุ่นที่ได้รุกรานแมนจูเรีย ปรากฏว่าตัวแทนประเทศไทยได้สละสิทธิ์ในการลงมติประณามญี่ปุ่น สวนมติของสมาชิกสันนิบาตชาติ 42 ประเทศ หลังจากนั้นทั้งรัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งข้าราชการได้เดินทางไปเยือนที่ประเทศญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าลัทธิชาตินิยมของประเทศนั้น ได้อิทธิพลส่วนสำคัญจากประเทศญี่ปุ่น

สำหรับในเรื่องดังกล่าวนี้ บุคคลหนึ่งที่กลายเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญการเจรจาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นจนได้ดิบได้ดีมากลายเป็นรัฐมนตรีของประเทศไทยได้ก็คือ“นายวนิช ปานะนนท์”ซึ่งสวมบทบาทเป็นรัฐมนตรีที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนในขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ได้ถูกยกฐานะให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อให้ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรี แต่นายวนิช ปานะนนท์ กลับมีจุดจบด้วยความตายอย่างมีปริศนายิ่ง

ทั้งนี้นายวนิช ปานะนนท์เกิดที่จังหวัดชลบุรีได้สอบเข้าเป็นนักเรียนนายเรือได้เมื่อปีพ.ศ. 2463ต่อมาในปีพ.ศ. 2467ได้ลาออกจากโรงเรียนนายเรือเพราะสนใจที่จะทำการค้าด้วยเพราะเวลานั้นพี่ชายคือนายขจร ปานะนนท์ได้เริ่มเปิดร้านในกรุงเทพ

นายวนิช ปานะนนท์ร่วมเป็นหุ้นส่วนกับพี่ชายทั้งสองชื่อเอส.วี.บราเดอร์สตั้งอยู่ที่ถนนมหาราชใกล้ตลาดท่าเตียนเร่ิมดำเนินการค้าเมื่อพ.ศ. 2468ผลการค้าดำเนินไปด้วยดีเมื่อดำเนินการค้าได้ประมาณ 2ปีก็เริ่มติดต่อสั่งสินค้าเองจากต่างประเทศโดยนายวนิช ปานะนนท์สนใจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นพิเศษถึงกับสั่งซื้อและรับเป็นสมาชิกหนังสือข่าวเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมและการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงในต่างประเทศหลายแห่ง

โดยน้ำมันที่นายวนิช ปานะนนท์สนใจมากเป็นพิเศษก็คือน้ำมันแก๊สโซลินเข้ามาจำหน่ายในตลาดประเทศไทยทำให้การค้าขายก้าวหน้ายิ่งขึ้นเป็นลำดับ

พ.ศ. 2475 ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองนายวนิช ปานะนนท์ได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือในการเปลี่ยนแปลงผู้หนึ่ง รัฐบาลคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงดำริจัดตั้งองค์การน้ำมันขึ้น นายวนิชจึงเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการนั้น และได้ถอนหุ้นและถอนตัวออกไปจากห้างหุ้นส่วน“เอส.วี.บราเดอร์ส์”ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[1]

ในปลายปี พ.ศ. 2475 นี้เอง รัฐบาล ได้จัดส่งน.ท.หลวงจำรัสจักราวุธ, ดร.ตั้ว พลานุกรม และนายวนิช ปานะนนท์ไปดูงานตามประเทศใกล้เคียงเพื่อจัดการกับเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิงจึงได้ไปราชการพิเศษที่สิงคโปร์,สุมาตราและยะวา

วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476นายวนิช ปานะนนท์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “หัวหน้าแผนกน้ำมันเชื้อเพลิง”ขึ้นอยู่ในกองบังคับการกระทรวงกลาโหมในบังคับบัญชาของปลัดกระทรวงมีหน้าที่สั่งซื้อและขายน้ำมันต่างๆให้แก่กรมกองในกระทรวงทะบวงกรมต่างๆและยังเป็นผลทำให้ราคาน้ำมันตามท้องตลาดในประเทศก็ลดถูกลงในระดับสมควรและเมื่อได้ซื้อขายแล้วจึงได้มีการสร้างถังน้ำมันขนาดใหญ่ที่ทันสมัยที่ช่องนนทรี[1]

อีก 4 ปีต่อมา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2480นายวนิช ปานะนนท์ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้ากรมเชื้อเพลิงกระทรวงกลาโหม [1]

แต่แล้วก็ได้เกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้นเกี่ยวกับปัญหาการฉ้อโกงในกรมเชื้อเพลิงขึ้น โดยพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสรองนายกรัฐมนตรีอธิบดีกรมตำรวจได้ให้การต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามเมื่อวันที่ 14ธันวาคมพ.ศ. 2488ความตอนหนึ่งว่า

“ในฐานะที่จอมพลป.พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจึงได้เขียนคำสั่งให้นายวนิชฯออกจากราชการพลโทมังกรพรหมโยธีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้นได้ทำคำสั่งเสนอให้รัฐมนตรีลงชื่อคำสั่งปลดแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคือจอมพลป.พิบูลสงครามหาได้ลงชื่อไม่นายวนิชฯจึงอยู่ในกรมเชื้อเพลิงต่อมา”[2]

สำหรับสาเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสให้การว่า“ทั้งนี้จะเป็นด้วยเหตุผลประการใดจอมพลป.ฯจึงกลับความเห็นที่ได้สั่งไปแล้วข้าฯไม่ทราบ”[2]

อีกเกือบ 1 ปีต่อมา วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2481นายวนิช ปานะนนท์ได้มีบทบาทเรื่องการค้าน้ำมันกับต่างประเทศมากขึ้นโดยเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยประชุมเรื่อง World Oil Conferenceที่เมืองโอกลาโฮมาสหรัฐอเมริกาและไปดูงานในสหรัฐอเมริกาและที่ประเทศอังกฤษ,ฝรั่งเศส,เยอรมัน,เชคโกสโลวัคเกีย,สวิสเซอร์แลนด์,เดนมาร์ค

หลังจากนั้นวันที่17 เมษายน พ.ศ. 2481รัฐบาลก็ได้ตราพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ. 2481ขึ้นโดยให้อำนาจรัฐในการเข้าควบคุมกิจการน้ำมันเชื้อเพลิงอีกทั้งยังกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงต้องมีน้ำมันสำรองไว้กึ่งหนึ่งของจำนวนที่ขายได้ในปีหนึ่งและรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดราคาขายน้ำมันเอง [3]

นอกจากนั้นนายวนิช ปานะนนท์ก็ให้ความสนใจในเรื่องธุรกิจข้าวด้วยโดยวันที่ 25พฤศจิกายนพ.ศ. 2481นายวนิช ปานะนนท์เป็นหัวแรงสำคัญผู้หนึ่งร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิและความสามารถรับมอบหมายจากรัฐบาลเป็นกรรมการจัดตั้งบริษัท ข้าวไทย จำกัดขึ้น(เดิมชื่อบริษัทข้าวสยาม)และต่อมาวันที่ 13กุมภาพันธ์พ.ศ. 2482ก็ได้นายวนิช ปานะนนท์ได้เดินทางไปดูงานตลาดข้าวและการพาณิชย์ณเมืองแรงกูนรวมถึงการทำกระสอบป่านในกัลกัตตา [1]

ต่อมาวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2482นายวนิช ปานะนนท์ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมพาณิชย์กระทรวงเศรษฐกิจการ [1]

โดยในช่วงนี้เองด้วยมาตรการภาษีของรัฐบาล ได้บีบให้ธุรกิจโรงสีข้าวของชาวจีนต้องปิดตัวลง พ่อค้าข้าวชาวจีนจึงปล่อยเช่าโรงสีข้าวประมาณ 50 โรงให้บริษัท ข้าวไทย จำกัดดำเนินการแทน บริษัท ข้าวไทย จำกัด จึงเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จทางการค้า มีผลกำไรมาก

โดยปลายปี พ.ศ. 2482 บริษัทได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 500,000 บาท เป็น 1,500,000 บาท [4],[5] และเปิดโอกาสให้เอกชนในเครือข่ายของนักการเมืองอดีตผู้ก่อการคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เข้าถือหุ้นของบริษัทได้เป็นจำนวนร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด หุ้นที่เหลือร้อยละ 75 เป็นของรัฐบาล โดยถือในนามของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง [4],[6] และทำให้ผลประโยชน์การผูกขาดค้าข้าวของบริษัท ข้าวไทย จำกัดกลายเป็นผลประโยชน์สำคัญของกรรมการและผู้ถือหุ้นของนักการเมืองยุคนั้น

อีกด้านหนึ่งในปีเดียวกันนั้นเอง รัฐบาลพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาได้จัดตั้งโรงกลั่นน้ำมันสังกัดกระทรวงกลาโหมโดยรัฐบาลได้ว่าจ้างบริษัทมิตซุย บุซซัน ไคชาเข้าดำเนินการอีกทั้งรัฐบาลไทยยังทำการตกลงกับรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นให้ข้าราชการไทยได้ไปเรียนรู้กระบวนกลั่นน้ำมันในประเทศญี่ปุ่นจำนวน 16คนอีกด้วย[7] จึงทำให้เห็นบทบาทของนายวนิช ปานะนนท์กับประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น

หลังจากนั้นวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2483นายวนิช ปานะนนท์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมพาณิชย์กระทรวงเศรษฐการปรากฏว่านายวนิช ปานะนนท์ได้เดินทางไปหาตลาดสำหรับจำหน่ายข้าวในต่างประเทศได้อีกหลายแห่งตลาดข้าวกรุงเทพฯแต่เดิมมีฐานะเพียงตลาดรองราคาข้าวจะขึ้นหรือลงต้องแล้วแต่ตลาดสิงคโปร์ราคาข้าวในกรุงเทพฯก็ขึ้นตามถ้าลงก็ลงตาม

แต่ในปี พ.ศ. 2483 และ 2484 ตลาดกรุงเทพฯ กลับเป็นตลาดนำ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งสิงคโปร์และฮ่องกง ตรงกันข้ามตลาดนั้นกลับต้องฟังราคาข้าวจากตลาดกรุงเทพ [1]

ในบทบาททางการค้าระหว่างประเทศที่ก้าวหน้าขึ้นทั้งน้ำมันและข้าวซึ่งเป็นยุทธปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในยามสงครามโลกครั้งที่ 2 ในระหว่างปี พ.ศ. 2483-2484 บทบาทของนายวนิช ปานะนนท์จึงมีความสำคัญมากขึ้นในการเจรจาระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศและเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศญี่ปุ่นอย่างแน่นแฟ้นกล่าวคือ

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483นายวนิช ปานะนนท์ได้เดินทางไปราชการดูการจัดการเศรษฐกิจในญี่ปุ่นแมนจูก๊กและจีน

วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2484นายวนิช ปานะนนท์เป็นผู้แทนในคณะผู้แทนฝ่ายไทยลงนามสงบศึกกับฝรั่งเศสบนเรือรบ “นาโตริ”ที่เมืองไซ่ง่อน

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2484นายวนิช ปานะนนท์เป็นผู้มีอำนาจเต็มแทนรัฐบาลไทยในการประชุมสันติภาพ (ระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีน)ณกรุงโตเกียวโดยฝ่ายฝรั่งเศสได้มอบดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงบางส่วนคืนให้แก่ไทยฝ่ายไทยจึงจัดการปกครองเป็น 4จังหวัดคือจังหวัดพิบูลสงครามจังหวัดพระตะบองจังหวัดนครจัมปาศักดิ์และจังหวัดลานช้างหลังสงครามมีการสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิขึ้นเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนี้และเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้หลวงพิบูลสงครามได้เลื่อนยศเป็น “จอมพล”ในวันที่ 28กรกฎาคมพ.ศ. 2484 [8]

ความพึงพอใจต่อผลงานความสำเร็จของนายวนิช ปานะนนท์ในครั้งนั้นปรากฏว่าจอมพล ป.พิบูลสงครามได้มอบซองบุหรี่นาคให้นายวนิช ปานะนนท์เป็นที่ระลึกพร้อมลายเซ็นซี่งมีจารึกข้อความว่า “เจรจาดีที่โตเกียว”[9]

หลังจากนั้นวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2484นายวนิช ปานะนนท์ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตประจำกระทรวงกระทรวงการต่างประเทศ

ต่อมาประมาณเดือนต้นเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2484 ก็ได้ปรากฏว่ารัฐบาลไทยได้ดำเนินการซื้อ “ทองคำ” จากรัฐบาลญี่ปุ่นจำนวน 145 หีบ เป็นทองคำจำนวน 288 แท่ง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 10,000,000 บาท โดยกระทรวงการคลังได้ตั้งคณะกรรมการในการรับมอบขึ้น [10] ทั้งนี้เพราะในเวลานั้นประเทศไทยอิงค่าเงินบาทกับเงินปอนด์เสตอริงของอังกฤษ จึงต้องมีการซื้อทองคำจากญี่ปุ่นเพื่อหนุนหลังคำ้เงินบาทที่ตกต่ำลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง



เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีคำแถลงของคณะอิสระไทยเขียนจดหมายสนเท่ห์กล่าวหานายวนิช ปานะนนท์ในกรณีขายชาติต่อประเทศญี่ปุ่นและยังได้พาดพิงไปถึงจอมพล ป.พิบูลสงครามในทำนองว่านายกรัฐมนตรีไม่รู้เท่าทันการขายชาติของผู้ใต้บังคับบัญชา[11],[12]จนรัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่แทนที่จะปล่อยไปตามขั้นตอนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้เอาตัวเองออกหน้านายวนิช ปานะนนท์โดยกล่าวว่าอยากจะลาออกจากนายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22ตุลาคมพ.ศ. 2484ว่า

“เรื่องนี้มีประเด็นพาดพิงมาถึงผมด้วยผมเป็นคนใช้ให้นายวนิชปานะนนท์ติดต่อกับญี่ปุ่นในเรื่องต่างๆ…เมื่อเป็นเช่นนี้เครดิตของผมก็ไม่มีฉะนั้นผมจึงอยากจะขอถอนตัวจากนายกรัฐมนตรีและมอบตำแหน่งนี้ให้เพื่อนฝูงคนอื่นทำต่อไป…

ผมก็รู้ว่าพวกเราทุกคนคงไม่อยากให้ผมออกแต่เมื่อมันมีเรื่องเช่นนี้ผมก็ไม่อยากอยู่ตั้งแต่เกิดมาผมไม่เคยโกงใครเมื่อครั้งอยู่โรงเรียนเพียงแต่ก๊อปปี้ผมยังไม่เอาเลยฉะนั้นผมจึงไม่อยากจะให้ชื่อเสียงของผมต้องมาเสียเพราะเรื่องนี้”[13]

โดยในช่วงนี้เองพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสรองนายกรัฐมนตรีอธิบดีกรมตำรวจได้ให้การต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามเมื่อวันที่ 13ธันวาคมพ.ศ. 2488ความตอนหนึ่งว่า

“เรื่องนายวนิชฯขายชาติซึ่งทางการตั้งกรรมการสอบสวนนั้นใจความในบัตรสนเท่ห์เป็นทำนองว่านายวนิชฯฉ้อโกงและเป็นสปายให้ญี่ปุ่นเรื่องนี้ทางการตำรวจได้สืบสวนอย่างเต็มที่แต่ไม่ได้พยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องร้องนายวนิชฯในขณะนั้นมาภายหลังเมื่อญี่ปุ่นบุกรุกเข้าเมืองไทยแล้วจึงทราบได้แน่ชัดว่านายวนิชฯเป็นสปายให้ญี่ปุ่น

ทั้งนี้ได้สังเกตว่าการประชุมปรึกษาหารือรายงานลับของรัฐบาลนั้นญี่ปุ่นมักรู้เสมอได้ทราบระแคะระคายว่านายวนิชฯนำข่าวไปแจ้งให้ญี่ปุ่นทราบแต่จะจับกุมในขณะนั้นยังไม่ได้เพราะญี่ปุ่นจะแทรกแซงเป็นเมืองขึ้น

ก่อนที่ญี่ปุ่นจะรุกรานประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคมพ.ศ. 2484สัก 3เดือน..ข้าพเจ้าได้สังเกตมีนายทหารญี่ปุ่นและคณะทูตญี่ปุ่นเข้ามาติดต่อจอมพลป.ฯอยู่บ่อยๆบางคราวนายวนิชฯก็มาด้วยบางคราวก็ไม่ได้มาการติดต่อนี้จะพูดว่ากระไรข้าฯไม่ทราบ”[14]

นายสุพจน์ ด่านตระกูลได้เขียนในบทนำในหนังสือคำให้การต่อศาลอาชญากรสงครามเอกสารประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 5ธันวาคมพ.ศ. 2544ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเคลื่อนกำลังกองทัพของญี่ปุ่นเข้ามายังประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 นั้นเป็นการรุกรานประเทศไทย หรือว่าเข้ามาตามความตกลง (เป็นการส่วนตัว) กับจอมพล ป.พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรีและมีใครบ้างรู้เห็นเป็นใจกันแน่นั้นมีดังนี้

วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เวลา 6.50 น.จอมพล ป.พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรีได้เดินทางกลับจากพระตะบองเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสรองนายกรัฐมนตรีอธิบดีกรมตำรวจได้รายงานเหตุการณ์และปฏิบัติการของคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมาให้ทราบรวมทั้งคณะรัฐมนตรีคนอื่นๆก็ได้รายงานความรับผิดชอบของตนจอมพล ป.พิบูลสงครามได้ชิงตัดบทก่อนที่นายปรีดี พนมยงค์จะได้แสดงเหตุผลในที่ประชุมความว่า

“ประเดี๋ยวผมอยากจะพูดเสียก่อนคือเวลานี้กำลังรบกันอยู่เราจะให้รบต่อไปหรือจะให้หยุดเพราะที่เราพูดกันอยู่ทุกวินาทีนี้คนต้องตายเราจะให้หยุดหรือจะให้รบต่อไปส่วนเรื่องอื่นนั้นเอาไว้ทีหลังไม่อย่างั้นทหารรบกันตายนี่ก็ละลายไปกองพันหนึ่งแล้วที่ปัตตานี”

ทั้งนี้พลตรีชาย อุบลเดชประชารักษ์อดีตนายทหารกองข่าวทหารบกได้ระบุตัวเลขความเสียหายในการปกป้องปิตุภูมิของทหารหาญแห่งปัตตานีว่าดังนี้

“ญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกเข้ายึดศาลาลกลางและสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่เวลา 04.00 น. ของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ทั้งนี้เพราะหน่วยทหารตั้งห่างจากตัวเมืองออกไปตั้ง 16 กิโลเมตร ดังนั้นน.อ.หลวงสุนาวินวัฒน์ข้าหลวงประจำจังหวัดจึงส่งตำรวจและลูกเสือเข้าต่อต้านญี่ปุ่นก่อนในระยะแรก

อีกหนึ่งชั่วโมงต่อมาจึงได้ปะทะกับกองกำลังทหารไทยหน่วยทหารราบ ร.พัน 42 ภายใต้บังคับบัญชาของพ.อ.ขุนอิงคยุทธบริการ (ซึ่งตายในที่รบ)ร่วมด้วยเยาวชนทหารหน่วยที่ 55ปัตตานีซึ่งรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองพันทหารราบผลปรากฏว่านายทหารนายสิบและพลทหารตาย 24คนเยาวชนตาย 6คนบาดเจ็บ 30คน”

ซึ่งสำหรับประเด็นนี้แสดงเป็นที่น่าสังเกตว่าคำกล่าวของจอมพลป.พิบูลสงครามอ้างในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า“ละลายไปกองพันหนึ่ง”นั้นเป็นตัวเลขที่มากเกินเลยไปกว่าสถานการณ์ที่เป็นจริงราวกับเป็นอุบายกดดันต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ตกใจและยอมจำนนแก่ญี่ปุ่นหรือไม่

ในขณะที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่อ้างถึงข้างต้นนั้นพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ได้อ่านโทรเลขของพระรามอินทราให้ที่ประชุมฟังว่า

“ได้รับโทรศัพท์จากตำรวจสวายดอนแก้วแจ้งว่า 7.00น.เศษมีทหารญี่ปุ่นมีรถรบประมาณ 100คันพร้อมด้วยปืนใหญ่บุกเข้ามาในสวายดอนแก้วแล้วมาหยุดที่เครื่องกีดขวางยังไม่มีการยิงกันแปลว่ายังไม่ได้ล้ำเข้ามา”

แต่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีจอมพลป.พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรีกลับกล่าวตัวเลขรถรบของญี่ปุ่นมากกว่าที่ได้รับรายงาน ปรากฏหลักฐานเป็นบันทึกในการประชุมความว่า

“นี่เราจะต้องบอกให้ประชาชนทราบไหม? ประเดี๋ยวเขาจะตกใจกันรถรบเข้ามาตั้ง 500-600คันนี่เราเห็นจะต้องออกแถลงการณ์”

และในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีบันทึกต่อไปถึงคำกล่าวของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี พูดกับนายวนิชปานะนนท์ความว่า

“โทรศัพท์พูดกับสถานทูต (สถานทูตญี่ปุ่น-ผู้เขียน)ซิรถรบเข้ามาที่พระตะบองจะให้หยุดที่ไหนกำลังเคลื่อนที่เข้ามาเรื่อยๆราว 600คัน”

หลังจากนั้นนายวนิชปานะนนท์ได้ออกไปโทรศัพท์แต่ก็ไม่ปรากฏในบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรีว่าญี่ปุ่นตอบว่าอย่างไร

สำหรับประเด็นนี้นายปรีดี พนมยงค์ได้บันทึกในหนังสือหลักฐานสำคัญบางประการในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2ว่าดังนี้

“นายวนิชปานะนนท์ออกไปโทรศัพท์แต่ไม่ปรากฏในบันทึกการประชุมครม.ว่าฝ่ายทูตญี่ปุ่นตอบว่าอย่างไรเพราะฝ่ายญี่ปุ่นย่อมรู้จำนวนทหารที่เขาใช้ในการรุกรานประเทศไทยด้านพระตะบองวันนั้นยิ่งกว่าที่นายวนิชฯจะไปบอกเขาเพราะถ้าบอกจำนวนถูกต้องก็เป็นการแสดงว่านายวนิชฯรู้จำนวนรถได้เท่ากับญี่ปุ่นแต่ถ้านายวนิชฯบอกจำนวนผิดไปมากญี่ปุ่นก็จะวินิจฉัยความสามารถของนายวนิชฯในกิจการสงคราม”

ทั้งนี้นายวนิช ปานะนนท์เป็นน้องเขยของพล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน (ขณะเกิดเหตุดำรงยศเป็นพล.ร.ท.)หรือหลวงสินธุสงครามซึ่งเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลจอมพลป.ฯเช่นกันและยังดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพเรืออีกด้วย

ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวินได้เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีฉุกเฉินเมื่อเวลา 10.00น.นายกรัฐมนตรีถามว่า “ถูกจับหรือ” (มาเข้าร่วมประชุมช้าเพราะถูกญี่ปุ่นจับ)

พล.ร.อ.สินธุ์ฯตอบว่า“ครับถูกจับที่บางปูตี 5มีเรือใหญ่เข้ามาจอดที่หน้าสะพานทีเดียวเข้าใจว่าจะเข้ามาในสันดอนแล้วหรือจะยังไม่เข้าก็ไม่ทราบ”

สำหรับกรณีการอ้างว่าถูกจับของพล.ร.อ.สินธุ์ฯนั้นพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ได้ตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นการสมยอมให้จับ เพื่อให้ความสะดวกในทางการทหารแก่ญี่ปุ่นพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสให้การต่อคณะกรรมการตามตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามด้วยว่าพล.ร.ท.สินธุ์ฯมีความสนิทสนมกับชายญี่ปุ่นเป็นที่ทราบกันทั่วไปทั้งภายในและภายนอกประเทศโดยสหประชาชาติลงความเห็นว่าพล.ร.ท.สินธุ์ฯเป็นหัวหน้าในการสนับสนุนญี่ปุ่นเพราะพล.ร.ท.สินธุ์ซึ่งอยู่ที่สัตหีบแทนที่จะกลับด้วยเครื่องบินที่กองทัพอากาศไปรับแต่กลับเดินทางโดยรถยนต์แล้วถูกทหารญี่ปุ่นจับที่บางปู

เช่นเดียวกับกรณีที่จอมพล ป.ไม่อยู่ในพระนครในวันที่ญี่ปุ่นบกพลขึ้นประเทศไทยซึ่งจอมพลป.ก็ไม่กลับโดยเครื่องบินที่คณะรัฐมนตรีส่งไปรับการกลับล่าช้าก็ทำให้เกิดการสู้รบไปก่อนสักช่วงเวลาหนึ่ง

นายสุพจน์ ด่านตระกูลได้วิเคราะห์ในบทนำของหนังสือคำให้การต่อศาลอาชญากรสงครามว่ากรณีที่จอมพล ป.ฯไม่อยู่ในพระนครในวันที่ญี่ปุ่นยกลพลขึ้นประเทศไทยมีผลดีแก่ตัวจอมพล ป.ฯดังนี้

1.ประวัติศาสตร์ไม่ตำหนิจอมพล ป.ฯว่าไม่ต่อสู้ญี่ปุ่น
2.ญี่ปุ่นไม่ตำหนิจอมพล ป.ว่าไม่ซื่อสัตย์

ในกรณีกระแสข่าวที่ว่าจอมพล ป.ฯร่วมมือกับโตโจนายกรัฐมนตรีญีปุ่นอย่างลับๆนั้นได้เปิดเผยในเวลาต่อมาในคำฟ้องของอัยการโจทก์ต่อจอมพล ป.ฯในข้อหาอาชญากรสงครามมีความบางตอนดังนี้

“(1) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2484 และเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2484 เวลากลางวัน จำเลยได้กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ชักจูงอุบายด้วยประการต่างๆ ให้รัฐมนตรีเห็นดีเห็นชอบกับความคิดของจำเลยในการที่จะให้ประเทศไทยเข้าร่วมทำสงครามเข้าข้างญี่ปุ่น โดยจำเลยได้อ้างเหตุจูงใจเป็นใจความว่า ถ้าเข้ากับญี่ปุ่นรบอังกฤษจะเสียหายน้อยกว่า ถ้ารบชนะจะได้ดินแดนเก่าที่เสียไปกลับคืนมาด้วย”[15]

ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ฝ่ายไทยได้ยินยอมลงนามในข้อตกลงระหว่างไทยและญี่ปุ่น คือ ฝ่ายไทยจะอนุญาตให้กองทหารญี่ปุ่นผ่านดินแดนของประเทศไทยไปได้ ให้ความสะดวกและหลีกเลี่ยงการเป็นปฏิปักษ์ต่อกันโดยการตกลงกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทั้งสองประเทศ โดยที่ญี่ปุ่นให้ประกันเอกราช อธิปไตย และเกียรติยศของประเทศจะได้รับความเคารพ[16]

นอกจากนั้นนายทวี บุณยเกตุเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นได้บันทึกเหตุการณ์ความตอนหนึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10ธันวาคมพ.ศ.​2484ความว่า

“นายกรัฐมนตรี:ใคร่จะชี้แจงเป็นเรื่องลับอย่างไรก็ตามญี่ปุ่นไม่ได้บังคับแค่ในการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีนั้นตามนโยบายเดิมเราตั้งตัวเป็นกลางรัฐมนตรีก็ดีเจ้าหน้าที่ก็ดีต้องทำให้สมนโยบาย

แต่เดี๋ยวนี้นโยบายของเราได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วเราจำเป็นจะต้องปรับปรุงให้เข้ากับฝ่ายญี่ปุ่นได้ผู้ที่เข้ากับเขาไม่ได้คือคุณวิลาศ (นายวิลาศโอสถานนท์)มีพี่เมียเป็นอธิบดีกรมโฆษณาการจุงกิงเมียเป็นลูกเซียวฮวดเส็งได้เรียกมาชี้แจงก็บอกว่าไม่มีอะไรยินดีจะพ้นตำแหน่งไปเพื่อชาติและได้ยื่นใบลาแล้ว

ส่วนคุณหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเขาก็เคารพในส่วนตัวและความรู้แค่พูดกันไม่ใคร่ลงตัวต้องพูดกันยืดยาวต่างมีเทียวโอรี(หลักการ,ทฤษฎี)เขาไม่ได้บอกให้ออกแค่ผมเห็นว่าควรปรับปรุง”[15]

นั่นย่อมแสดงอย่างชัดเจนว่า ณ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ฝ่ายญี่ปุ่นยังไม่ได้มีเงื่อนไขให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์ออกจากตำแหน่งทางการเมืองในคณะรัฐมนตรี

ถ้าเช่นนั้น อะไรคือสาเหตุที่ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ต้องออกไปจนพ้นจากคณะรัฐมนตรีหลังจากนั้น

ปรากฏว่านายทวี บุณยเกตุเลขาธิการคณะรัฐมนตรีๆในขณะนั้น ได้บันทึกเหตุการณ์สำคัญไว้มีความตอนหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับนโบายการกู้เงินและการพิมพ์ธนบัตรของญี่ปุ่นของกระทรวงการคลังดังนี้

“ระหว่างวันที่11-12ธันวาคมพ.ศ.2484คือภายหลังจากการที่ประเทศไทยได้เซ็นสัญญายอมให้ญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยได้ไม่กี่วันรัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้เริ่มเจรจาขอกู้เงินจากไทยงวดแรกเพื่อใช้จ่ายในกิจการทหารของญี่ปุ่นนายปรีดีพนมยงค์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า

การที่จะให้รัฐบาลญี่ปุ่นกู้เงินไปใช้จ่ายในกิจการทหารของเขานั้นเข้าใจว่าคงจะไม่กู้เพียงแค่จำนวนนี้แต่จะขอกู้มาอีกเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุดตามความจำเป็นในทางการทหารของเขา

หากเราให้ก็ต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้นทำให้มีธนบัตรหมุนเวียนในท้องตลาดมากขึ้นอย่างรวดเร็วจะเป็นผลเสียหายทางเศรษฐกิจคือจะทำให้เกิดเงินเฟ้อจึงเห็นว่าควรให้ทหารญี่ปุ่นพิมพ์ธนบัตรของเขาขึ้นใช้เองในกองทัพของเขาเรียกว่าInvasion Notes(ธนบัตรที่ฝ่ายเข้ายึดครองพิมพ์ออกมาใช้)จะดีกว่า

ทั้งนี้เพื่อว่าเมื่อสงครามเสร็จสิ้นลงแล้วเราจะได้ประกาศยกเลิกธนบัตรเหล่านี้เมื่อเสร็จสงครามแล้วการเงินและการเศรษฐกิจของประเทศก็ะจะได้ไม่ถูกกระทบกระเทือนและจะได้ไม่เกิดเงินเฟ้อขึ้น

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแย้งว่าการที่จะปฏิบัติตามความเห็นและตามข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้นแม้จะเป็นการป้องกันมิให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นได้ก็ตามแต่ก็เท่ากับเป็นการแสดงว่าเราได้เสียเอกราชและอธิปไตยไปแล้วจึงไม่เห็นด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงแถลงค้านว่าก็การที่เรายอมให้ทหารญี่ปุ่นเข้ามาอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองและทำอะไรได้ต่างๆนั้นไม่ได้แปลว่าเราได้เสียเอกราชและอธิปไตยไปแล้วหรือ

ในเรื่องนี้มีการถกเถียงกันอย่างรุนแรงระหว่างนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่ในที่สุดนายกรัฐมนตรีก็ได้ยืนยันในความเห็นที่จะให้ญี่ปุ่นยืมเงินบาทโดยพิมพ์ธนบัตรออกใช้ให้มากขึ้นตามความจำเป็น”[15]

(มีต่อ)

19 ก.พ. 2564 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
นอกจากนั้นยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนอให้รัฐบาลไทยรับหลักการในเรื่องเงินตราสามประการคือ

(ก) ให้กำหนดค่าเงินบาทเท่ากับเงินเยน คือในอัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท ต่อ 1 เยน

(ข) การชำระเงินระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยให้ชำระเงินด้วยเงินเยน และ

(ค) ให้ตั้งธนาคารกลางขึ้นเป็นเจ้าหน้าที่เงินตรา โดยให้มีที่ปรึกษาและหัวหน้าหน่วยงานต่างๆเป็นชนชาติญี่ปุ่น[17]

ปรากฏว่าพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาการคลัง ของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทรงเห็นว่าข้อเสนอแรกของญี่ปุ่นเป็นการกำหนดค่าเงินบาทให้ต่ำกว่าความเป็นจริงไปกว่าร้อยละ 33 เพราะในขณะนั้นเงินบาทมีค่าสูงกว่าเงินเยน (คือ 1 บาทแลกได้ 1.5507 เยน) แต่เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันเป็นเด็ดขาดในข้อเสนอนี้รัฐบาลก็ต้องยอมรับไป

สำหรับข้อเสนอข้อสองนั้นรัฐบาลต้องยอมรับโดยปริยาย เพราะการสงครามในขณะนั้นบังคับมิให้มีการค้าขายติดต่อกับประเทศใดอีกได้นอกจากประเทศญี่ปุ่น

แต่สำหรับข้อเสนอข้อที่สามนั้นรัฐบาลไทยมิได้ยอมรับในทันที เพราะจะเท่ากับว่ายอมให้ญี่ปุ่นเข้ามาควบคุมเงินตราและเครดิตขอไทยโดยตรง อันเป็นความประสงค์ของญี่ปุ่นในขณะนั้น โดยพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงวางแผนร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 อย่างเร่งด่วนพระองค์เองให้เป็นผลสำเร็จ เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นเข้ามาแทรกแซงการเงินของประเทศไทย [17]

อย่างไรก็ตามการเจรจาที่รุกคืบฝ่ายไทยนั้นนายวนิช ปานะนนท์ได้กลายเป็นบุคคลที่มีความสำคัญในการเจรจาร่วมกับไทยญี่ปุ่นโดยเมื่อวันที่ 11ธันวาคมพ.ศ. 2484นายวนิช ปานะนนท์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผสมระหว่างไทย-ญี่ปุ่น [1]

หลังจากนั้นเพียงวันเดียวปรากฏว่าวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2484นายปรีดี พนมยงค์ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติเงินตรา (ฉบับที่ 8)พ.ศ. 2484ที่กำหนดให้ค่าเงินบาทไทยนั้นจะต้องเทียบกับทองคำหรือเงินตราต่างประเทศที่หนุนหลังไม่ใช่พิมพ์ธนบัตรโดยไร้กฎเกณฑ์ใดๆ [18]

การวางรากฐานกฎหมายดังกล่าวเอาไว้ล่วงหน้า เป็นผลทำให้ในเวลาต่อมาพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ได้ทรงเจรจากับฝ่ายญี่ปุ่นจนยอมตกลงให้ฝ่ายไทยใช้เงินเยนซึ่งญี่ปุ่นเครดิตบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทยไว้นั้น ซื้อทองคำเก็บไว้ได้เป็นครั้งคราว ทำให้ทุนสำรองเงินตราของไทยมีค่าสูงขึ้นยิ่งกว่าที่จะเก็บไว้เป็นเงินเยน และก็ได้มาบางส่วนเท่าที่การขนส่งในระหว่างสงครามจะอำนวยให้ ส่วนที่เหลือตกค้างอยู่ในประเทศญี่ปุ่นนั้น เมื่อเสร็จสงครามแล้วทางไทยก็ได้รับคืนมาในที่สุด แทนที่จะได้เงินเยนซึ่งแทบไร้ค่าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

อย่างไรก็ตามความขัดแย้งในด้านการเงินและการคลัง เป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งต่อการเอื้อประโยชน์ของการเข้ามาของญี่ปุ่น จากคำให้การของพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสรองนายกรัฐมนตรีอธิบดีกรมตำรวจ พบว่าหลังจากนั้นญี่ปุ่นไม่พอใจในบทบาทของนายปรีดี พนมยงค์ และอาจมีการรายงานเรื่องภายในคณะรัฐมนตรีไปให้ฝ่ายญี่ปุ่นได้รับทราบ ดังปรากฏคำให้การของพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสคณะกรรมการตามตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม ความว่า

“ข้าพเจ้าได้ไปที่วังสวนกุหลาบ ซึ่งเป็นที่พักของนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ได้พบนายกรัฐมนตรีกับนายวนิช ปานะนนท์ นายวนิชฯได้พูดว่าทางฝ่ายญี่ปุ่น มีความรังเกียจหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และนายวิลาศ โอสถานนท์ เพราะสองคนนี้มีความคิดเอนเอียงไปทางอังกฤษ คณะรัฐมนตรีมีความคิดเห็นว่าร่วมกับญี่ปุ่นด้วยประการใดๆก็ทำไปไม่สะดวก เพราะสองคนนี้มีความคิดเห็นไม่ตรงกับญี่ปุ่น

เขาจะให้สองคนนี้ออกจากคณะรัฐมนตรีเฉพาะหลวงประดิษฐ์มนูธรรมนั้นฝ่ายญี่ปุ่นเสนอว่าควรแต่งตั้งให้เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินที่ญี่ปุ่นมีความประสงค์จะให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคณะผู้สำเร็จราชการนั้นข้าพเจ้าคิดว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมยังเป็นผู้มีอิทธิพลข้าราชการและประชาชนนับถืออยู่มากถ้าให้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้วจะได้พ้นจากหน้าที่การเมืองและญี่ปุ่นคงคิดว่าจะไม่ทำให้ประชาชนเห็นว่าญี่ปุ่นรังแกหลวงประดิษฐ์มนูธรรม”[15]

วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามความเห็นของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และเป็นผลทำให้นายปรีดี พนมยงค์ ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยทันที [19]

17 ธันวาคม พ.ศ. 2484นายวนิช ปานะนนท์ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ [1] โดยต่อมาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2484น.อ.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้แจ้งผลการสอบสวนความบริสุทธิ์ของนายวนิช ปานะนนท์ต่อกรณีมีจดหมายสนเท่ห์ที่ได้มาตั้งแต่เดือนตุลาคมพ.ศ. 2484ความตอนหนึ่งว่า

“มีกิจการที่ควรจะกล่าวอยู่ 2ประการก็คือในระหว่างที่นายวนิชไปดำเนินการเจรจาในเรื่องการไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทกับอินโดจีนนั้นประการหนึ่งและอีกประการหนึ่งก็คือรัฐบาลไทยได้ซื้อทองจากประเทศญี่ปุ่นอีกส่วนหนึ่ง

ทั้งสองอย่างนี้มีการกล่าวหาและกรรมการได้สอบสวนแล้วปรากฏจากผลของกรรมการสอบสวนว่าเท่าที่ในระหว่างการกระทำการไปนั้นก็ได้กระทำไปภายในกรอบคำสั่งของผู้บังคับบัญชา...ส่วนเกี่ยวกับทางกรมตำรวจนั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีเรื่องราวอะไรที่ต้องดำเนินการต่อไป” [20]

ต่อมาวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 รัฐบาลไทยได้ทำพิธีลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นที่อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากนั้นสถานการณ์ผลจากสงครามรุนแรงขึ้น วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 รัฐบาลไทยจึงได้ถลำลึกลงไปลงนามเป็นพันธมิตรทางการทหารกับฝ่ายอักษะอย่างเต็มตัว โดยมีการลงนามโดยผ่านสถานทูตญีปุ่นและเยอรมันประจำกรุงเทพมหานคร และได้ยกเลิกความสัมพันธ์กับประเทศกลุ่มฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งหมด

หลังจากนั้นอีกหนึ่งเดือนนายวนิช ปานะนนท์ จนได้รับเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ซุยโฮ ชั้นหนึ่งจากญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485

นับจากนั้นเป็นต้นมานายวนิช ปานะนนท์ได้เป็นบุคคลสำคัญในการเจรจาระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในหลายมิติเป็นลำดับ กล่าวคือ

เมื่อวันที่ 28มีนาคมพ.ศ. 2485นายวนิช ปานะนนท์ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะทูตเศรษฐกิจไทยไปเจรจาการเศรษฐกิจและการคลังกับรัฐบาลญี่ปุ่นณกรุงโตเกียวต่อมาในวันที่ 22พฤษภาคมพ.ศ. 2485นายวนิช ปานะนนท์ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการพิจารณาการเงินของชาติและวันที่25พฤษภาคมพ.ศ. 2485นายวนิช ปานะนนท์ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ [1]

นอกจากนั้น ตามคำให้การของนายทวี บุณยเกตุในฐานะอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสมัยนั้นได้ให้การไว้ต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามเมื่อวันที่ 23ตุลาคมพ.ศ. 2488ความตอนหนึ่งว่า

“ตามปกติจอมพลป.พิบูลสงครามมักใช้หลวงวิจิตรวาทการนายวนิชปานะนนท์นายพลตรีประยูรภมรมนตรีนายพลตรีไชยประทีปเสนพระบริภัณฑ์ยุทธกิจพลเรือโทสินธุ์กมลนาวินไปติดต่อกับฝ่ายญี่ปุ่นและฝ่ายอักษะท่าทีของพวกนี้รับใช้อยู่นี้นิยมชอบชอบฝ่ายญี่ปุ่นแต่พระบริภัณฑ์ยุทธกิจท่าทีไม่ปรากฏชัด” [21]

สอดคล้องกับคำให้การของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ทรงให้การเอาไว้ต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามเมื่อวันที่ 19ตุลาคมพ.ศ. 2488ความตอนหนึ่งถึงคนในรัฐมนตรีหรือบุคคลที่สนิทชิดชอบกับจอมพลป.ที่มีความนิยมชอบชอบฝ่ายญี่ปุ่นและอักษะความตอนหนึ่งว่า

“ฝ่ายที่นิยมอักษะและพูดว่าฝ่ายอักษะจะต้องชนะสงครามแน่นอนและฝ่ายอังกฤษและอเมริกาจะต้องพ่ายแพ้แน่มี 1)นายประยูรภมรมนตรี 2)หลวงพรหมโยธี 3)หลวงสินธุสงครามชัย 4)หลวงวิจิตรวาทการ 5)ขุนนิรันดรชัย 6)พลตรีไชยประทีปเสนผู้ที่นิยมญี่ปุ่นออกหน้าออกตาก็มีหลวงวิจิตรวาทการนายวนิชปานะนนท์หลวงสินธุสงคราม...ส่วนขุนนิรันดรชัยนั้นต้องการให้สงครามยืดเยื้อไปอีกนานๆจะได้ทำการค้าขายได้ต่อไปอีก”[22]

โดยเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นแล้ว รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ดำเนินนโบายที่เอื้ออำนวยต่อญี่ปุ่นหลายประการ ดังเช่น

ดำเนินการควบคุมและยึดบริษัทน้ำมันที่สำคัญ 2 บริษัทคือ บริษัท สแตนดาร์ด แวคัม ออยส์ (Standard Vacum Oil Co., Ltd.) และบริษัท เชลล์ (Shell Co., Ltd.) และรัฐบาลเข้าทำการกลั่นเอง[16] และทำการขยายโรงกลั่นทั้ง 2 ให้ทันสมัยได้รับความช่วยเหลือจากญี่ปุ่น โดยแห่งหนึ่งอยู่ที่ตำบลช่องนนทรี อีกแห่งหนึ่งอยู่ที่บางจาก ปรากฏว่าน้ำมันจากโรงกลั่นทั้ง 2 นี้ถูกนำมาใช้ในการทหารซึ่งญี่ปุ่นต้องการมากในขณะนั้น[23]

เช่นเดียวกับธุรกิจค้าข้าว ภายหลังจากการที่เจ้าของโรงสีข้าวต้องถูกบีบด้วยมาตรการทางภาษีจนต้องปิดกิจการ และบังคับปิดกิจการ จนโรงสีข้าวทั้งหลายต้องเอาโรงสีมาให้บริษัท ข้าวไทย จำกัดเช่าไปดำเนินการแบบผูกขาดกิจการค้าข้าวแทน [24] และต่อมารัฐบาลได้ตกลงใจให้ “สิทธิการส่งข้าวออกนอกประเทศแก่ญี่ปุ่น” คือ บริษัทมิตซุยและบริษัทมิตซูบิชิ [25]

นอกจากนั้นสำนักงานธนาคารไทย ได้มีส่วนในการจัดให้ธนาคารไทย 3 ธนาคาร อันได้แก่ ธนาคารเอเซียเพื่ออุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม (จัดตั้งด้วยเงินทุนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง, ธนาคารนครหลวงไทย (จัดตั้งด้วยเงินทุนของขุนนิรันดรชัยและคณะ), และธนาคารมณฑล (จัดตั้งด้วยเงินทุนของรัฐบาลและบริษัท ข้าวไทย จำกัด)ได้ร่วมกันให้ธนาคารโยโกฮามาสเปซี กู้เงินจำนวนมากถึง 10,000,000 บาท เพื่อช่วยส่งเสริมการค้ากับญี่ปุ่นมิให้ติดขัด[26]

โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารมณฑล

ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 17มกราคมพ.ศ. 2485นั้นมีทุนจดทะเบียนก่อตั้งด้วยทุนมากถึง 10,000,000บาทโดยกระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ 50.65และบริษัทข้าวไทยจำกัดถือหุ้นร้อยละ 45.17มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นฐานการเงินให้บริษัท ข้าวไทย จำกัด ในการส่งข้าวขายให้กับญี่ปุ่น[27]

โดยฐานสำคัญของทั้งบริษัท ข้าวไทย จำกัด และธนาคารมณฑลนั้นล้วนแล้วแต่มีนายวนิช ปานะนนท์เป็นกรรมการบริษัททั้งสิ้นยังไม่นับว่านายวนิช ปานะนนท์นั้นเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุนน้ำมันสำหรับการเป็นยุทธปัจจัยให้กับญี่ปุ่นอีกด้วย

จนในที่สุดวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2486นายวนิช ปานะนนท์ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง [1]

ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487พล.ต.อ.อดุลฯรองนายกรัฐมนตรีและอธิบดีกรมตำรวจได้สั่งจับกุมนายวนิชฯในข้อหาทุจริตควบคุมตัวไว้สอบสวนที่กองตำรวจสันติบาลโดยที่จอมพล ป.พิบูลสงครามไม่สามารถจะช่วยอะไรได้ ซึ่งต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมาที่จอมพล ป.พิบูลสงครามออกหน้ารับแทนเองทั้งหมด

ส่วนนายพลอาเคโตะ นากามูระตำแหน่งแม่ทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยได้บันทึกถึงสาเหตุของการที่นายวนิช ปานะนนท์ถูกสอบสวนด้วยข้อหาการกระทำความผิดทางกฎหมายเกี่ยวกับ“การค้าทองคำ”ซึ่งทางฝ่ายญี่ปุ่นได้พากเพียรขอร้องต่อฝ่ายไทยให้ปฏิบัติกับนายวนิช ปานะนนท์อย่างมีเมตตาธรรม[28]

โดยในระหว่างการสอบสวนนั้นเองจากบันทึกข้อความของร.ต.อ.เฉียบ ชัยสงค์ได้ระบุถึงช่วงเวลาการสอบสวนของนายวนิช ปานะนนท์ความตอนหนึ่งว่า

นายวนิช ปานะนนท์ส่ายหน้าแล้วหยิบซองบุหรี่นาค ซึ่งเป็นของที่ระลึกจากจอมพลป.พิบูลสงครามว่า“เจรจาดีที่โตเกียว”แล้วกล่าวว่า

“ผมได้ซองบุหรี่นี้เป็นที่ระลึกพิเศษทีเดียวแต่ลายเซ็นอันนี้ก็ช่วยอะไรผมไม่ได้“[9]

โดยร.ต.อ.เฉียบ ชัยสงค์เจ้าพนักงานสอบสวนยังได้บันทึกต่ออีกว่า

“ข้าพเจ้าสงสารเขาแต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้เสียจริงๆแม้แต่เขาจะร้องขอให้ข้าพเจ้าโทรศัพท์ไปที่บ้านเพื่อขอร้องให้ภรรยาสุดที่รักของเขาตำน้ำพริกส้มมะขามส่งไปให้กินในเย็นวันนั้นข้าพเจ้าผู้มีวินัยจัดก็มิได้ผ่อนผันให้เขาเสียเลยและต่อมาไม่นานนักเขาก็จากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันจะฟื้นขึ้นมาอีก”[9]

ภายหลังจากการที่นายวนิช ปานะนนท์ถูกคุมขังเพื่อทำการสอบสวนอยู่ประมาณปีเศษต่อมาวันที่ 21พฤษภาคมพ.ศ. 2487นายวนิชฯได้ถึงแก่กรรมโดยรัฐบาลประกาศอย่างเป็นทางการว่าเป็นการฆ่าตัวตายด้วยการแขวนคอซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายญี่ปุ่นไม่มีใครเชื่อจึงได้ยื่นเรื่องขอเข้าทำงานสอบสวน

อย่างไรก็ดีนายพลอาเคโตะ นากามูระ ได้กล่าวว่าเรื่องจบลงโดยที่ฝ่ายครอบครัวของนายวนิช คือ “หลวงสินธุ์สงครามชัย” ในฐานะพี่เขยของนายวนิชได้มีหนังสือตอบทุกฝ่ายว่า ทางครอบครัวของนายวนิชไม่มีอะไรติดใจ และไม่มีความประสงค์ให้มีการพิสูจน์ความจริงใดๆเพิ่มเติม[28]

ข้อสังเกตประการหนึ่งที่ควรบันทึกเอาไว้คือนายวนิช ปานะนนท์เสียชีวิตวันที่ 21พฤษภาคมพ.ศ. 2487 (ในสมัยรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม)แต่กว่าจะได้จัดงานในฌาปนกิจศพคือวันที่ 27มีนาคมพ.ศ. 2490 (ในสมัยรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ธำรงนาวาสวัสดิ์)หรือเวลาห่างกันประมาณ 2ปี 10เดือน

ด้วยเพราะระยะเวลานานมากนับจากวันเสียชีวิตของนายวนิช ปานะนนท์ ถึงวันจัดงานฌาปนกิจศพแต่กลับไม่ปรากฏคำไว้อาลัยในหนังสืองานฌาปนกิจศพลจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในขณะนั้นและรวมถึงไม่มีคำไว้อาลัยจากอดีตนายกรัฐมนตรีคนใดในหนังสืองานฌาปนกิจศพเล่มดังกล่าวนี้เลยคงมีแต่คำไว้อาลัยและขอบคุณจากนายสิงห์ ไรวาหรือพระนรราชจำนงปลัดกระทรวงเศรษฐการที่เคยทำงานร่วมกันมาเท่านั้น[1]

ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงนั้นไม่มีใครทราบ แต่นายพลอาเคโตะ นากามูระก็ได้บันทึกสันนิษฐานว่าพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส น่าจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง[28]

และหากสมมุติว่าจะเป็นกรณีการฆาตกรรมก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าในความเป็นจริงแล้วใครจะได้ประโยชน์มากที่สุดจากบุคคลที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำและกำลังถูกสอบสวนในเรื่องการทุจริตค้าทองคำที่เกิดขึ้นแต่ถูกอำพรางว่าเป็นการฆ่าตัวตาย

เพราะข้อสันนิษฐานที่ว่ารัฐบาลอยู่เบื้องหลังการฆาตกรรมนายวนิช ปานะนนท์ เพื่อกำจัดสายลับญี่ปุ่นนั้นมีความสมเหตุสมผลมากเพียงใดหรือไม่ เพราะอย่างไรเสียนายวนิช ปานะนนท์ ก็อยู่ในเรือนจำอยู่แล้วไม่สามารถก่อให้เกิดอันตรายกับรัฐบาลหรือขบวนการเสรีไทยได้ ดังนั้นจึงยังไม่สามารถดตัดข้อสันนิษฐานอีกเรื่องหนี่งคือ “การถูกฆ่าตัดตอน” มิให้สาวถึงผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆได้ด้วยเช่นกัน

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง
[1] ประวัตินายวนิช ปานะนนท์, ประชุมพงศาวดารภาคที่ 39 เรื่องจดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ กับครั้งกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทรตอนต้น ภาค 6, พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพ นายวนิช ปานะนนท์, ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2490

[2] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 166
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf

[3] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พุทธศักราช 2481, เล่ม 56, วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2481, หน้า 327-333
https://dl.parliament.go.th/backoffice/viewer2300/web/previewer.php

[4] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 100-106

[5] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, งบดุลของบริษัท ข้าวไทย จำกัด, 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 บริษัทข้าวไทยได้เพิ่มทุนขึ้นเป็น 6,000,000 บาท ในปี พ.ศ. 2489 กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของบริษัท ข้าวไทย จำกัด พ.ศ. 2489

[6] สมบุญ ไผทฉันท์, ผู้จัดการสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ (อดีตเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทข้าวไทย ปี พ.ศ. 2482-2515 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายปกครองและเลขนุการของบริษัทข้าวไทย), สัมภาษณ์วันที่ 26 ตุลาคม 2522

[7] รัศมี ชาตะสิงห, “บทบาทของพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาในระยหกปีแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. 2476-2481),วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตยวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521 หน้า 490

[8] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าพระราชทานยศ จอมพล จอมพลเรือและจอมพลอากาศ แก่นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ด้วยคธาจอมพล, เล่มที่ 58 วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 หน้า 981-984
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2484/A/981.PDF

[9] บันทึกข้อความของ ร.ต.อ.เฉียบ ชัยสงค์ ภายหลังถูก พ.ท.ผิน ชุณหะวัณ มีคำสั่งปลดอออกจากราชการเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

[10] หนังสือพิมพ์ศรีกรุง, ข่าวทองคำจะถึงแล้ว ทางการญี่ปุ่นให้ความอารักขาในการนำส่ง ทางเราได้จัดตั้งคณะกรรมการรับมอบแล้ว, ปีที่ 22 ฉะลับที่ 4774 วันพุธที่ 8 ตุลาคม 2484,หน้า 11 ต่อหน้าหลัง

[11] พีระ เจริญวัฒนนุกูล, การ(บ่น)ลาออกแต่ไม่ยอมออก เครื่องมือทางการเมืองของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2559, เผยแพร่ลงเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม,วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2563
https://www.silpa-mag.com/history/article_43489

[12] บัตรสนเท่ห์และการตั้งการสืบสวนกรณีดังกล่าวได้จาก (3) สร. 0201.2.7/49 เรื่อง นายวนิช ปานะนนท์, นายยล สมานนท์ กับพวกทุจริตเรื่องขายทองของธนาคารไทยจำกัด (14 ก.ย.-20 มี.ค. 2488). ทั้งนี้ ดูความร้อนรนใจของญี่ปุ่นที่จะช่วยเหลือนายวนิชในกรณีดังกล่าวได้จากเอกสารชุดเอกสารที่ฝ่ายอเมริกันตัดสัญญาณได้จาก Tsubokami Teiji (19 September 1941). in The “Magic” Background of Pearl Harbour. (Washington, D.C. : Department of Defense, 1977), V. 3 Appendix, p. A-649.

[13] รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 56/2484 วันที่ 22 ตุลาคม 2484

[14] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 165

[15] สุพจน์ ด่านตระกูล, บทนำวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2544 หนังสือคำการต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสพิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 1-25

[16] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 64
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf

[17] วิวัฒนไชยานุสรณ์, ธนาคารแห่งประเทศไทย พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ณ เมรุ วัดเทพศิรินทราวาส , วันเสาร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ.2505, หน้า 29-33

[18] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร, ครั้งที่ 2/2484 (วิสามัญครั้งที่ 3) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 วันอังคารที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 36-38
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/73406/2_24841212_wb.pdf?sequence=1

[19] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร, ครั้งที่ 3/2484 (วิสามัญครั้งที่ 3) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 46-49
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/73407/3_24841216_wb.pdf?sequence=1

[20] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร, ครั้งที่ 4/2484 (วิสามัญครั้งที่ 3) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 วันอังคารที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 61-63
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/73408/4_24841223_wb.pdf?sequence=1

[21] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 138-139
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf

[22] เรื่องเดียวกัน, หน้า 124-125

[23] ผาณิต รวมศิลป์, “นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ถึง พ.ศ. 2487” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2521 หน้า 372-375

[24] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 97

[25] ผาณิต รวมศิลป์, “นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ถึง พ.ศ. 2487” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2521 หน้า 76

[26] ธนาคารแห่งประเทศไทย, “ประวัติธนาคารแห่งประเทศไทย”(พระนคร:ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2513), อนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ พลเอกเภา บริภัณฑ์ยุทธกิจ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523, หน้า 2

[27] พรรณี บัวเล็ก, วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์วิชาการจำกัด ร่วมกับ โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2529, จำนวน 1,000 เล่ม, ISBN 974-567-234-2, หน้า 49-50

[28] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ไทย-ญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง จากสายตาของแม่ทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, นำเสนอในงานวิชาการในปี พ.ศ. 2532 จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ปี 2534,หน้า 39-40
https://so02.tci-thaijo.org/index.php/japanese/article/download/52233/43310

 19 ก.พ. 2564  โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
จากบันทึกของนายปรีดี พนมยงค์ ในเรื่องบางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเรื่องการได้รับเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ความตอนหนึ่งว่า

“ฝ่ายญี่ปุ่นที่เข้ายึดประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 นั้น ได้แจ้งต่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ขัดขวางไมตรีระหว่างญี่ปุ่นกับไทย โดยให้ไปอยู่ในตำแหน่งอื่นที่ไม่มีอำนาจบริหาร

จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ให้ พล.ต.อ.อดุลเดชจรัส แจ้งแก่ข้าพเจ้าว่า ขอให้ข้าพเจ้าลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถ้าข้าพเจ้าเห็นชอบด้วย ก็จะเสนอสภาผู้แทนราษฎรให้ลงมติแต่งตั้งข้าพเจ้าเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในตำแหน่งที่ว่างอยู่

ข้าพเจ้าจึงตกลงยอมให้เสนอชื่อข้าพเจ้าต่อสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวนั้น เพราะข้าพเจ้าเห็นว่า ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยเนื้อแท้แล้วไม่มีภาระมาก จึงต้องช่วยให้ข้าพเจ้ามีเวลาที่จะจัดขบวนต่อต่านญี่ปุ่นเป็นการลับ ซึ่งต่อมามีชื่อว่า “ขบวนการเสรีไทย” และข้าพเจ้าก็ได้พ้นจากการอยู่ในรับบาลที่ร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่น”[1]

โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ทรงมอบหมายให้นายปรีดี พนมยงค์ ช่วยเป็นภาระถวายความปลอดภัยแด่สมเด็จพระพันวัสสาพระบรมอัยยิกาเจ้า

จากคำของหม่อมเจ้าหญิงอัปภัศราภา เทวกุล ปรากฏในบันทึกบางตอนในหนังสือสมเด็จพระศรีวรินทิราฯ สมเด็จพระพันวัสสาพระบรมอัยยิกาเจ้า ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ในการถวายความปลอดภัยของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ได้อัญเชิญเสด็จอพยพไปที่พระราชวังบางปะอิน จังหวัดอยุธยา ความตอนหนึ่งว่า

“ไม่มีใครเข้าใจว่า เหตุใด ดร.ปรีดี ซึ่งเป็นหัวหน้าคนสำคัญในการบั่นทอนอธิปไตยของพระมหากษัตริย์กลับมาขออาสาเป็นธุระในการที่ถวายความปลอดภัยความสะดวกแด่สมเด็จพระอัยยิกาเจ้าหลายคนแคลงใจ หลายคนชื่นชม แต่จะแคลงใจหรือชื่นชมก็ตาม ความปลอดภัยของสมเด็จพระอัยยิกาเจ้าอยู่เหนือสิ่งใด สำหรับผู้ที่มีหน้าทีรับผิดชอบในขบวนเสด็จอพยพ”[2]

หม่อมเจ้าหญิงอัปภัศราภา เทวกุล ยังได้ทรงเล่าท่าทีของนายปรีดี พนมยงค์และภรรยา ถึงการพบกันครั้งแรกว่า

“ที่อยุธยา ดร.ปรีดี และภรรยาได้เข้าเฝ้า กราบทูลซักถามถึงความสะดวกสบายอยู่เป็นเนืองนิจ จนคนที่คลางแคลงอยู่บางคนชักจะไม่แน่ใจ เพราะกิริยาพาทีในเวลาเข้าเฝ้านั้นเรียบร้อนนุ่มนวลนัก นัยตาก็ไม่มีแววอันควรจะระแวง”[2]

หม่อมเจ้าหญิงอัปภัศราภา เทวกุล ได้ทรงเล่าว่า สมเด็จฯ ทรงมีพระราชปฏิสันฐานกับนายปรีดี พนมยงค์ ด้วยดี เมื่อทรงทราบว่าพักอยู่ที่คุ้มขุนแผน ก็ทรงหันไปทางข้าหลวงตรัสสั่งว่า “ดูข้าวปลาไปให้เขากินนะ” เวลาเย็นๆ ผู้สำเร็จราชการฯก็เชิญเสด็จประทับรถยนต์ประพาสรอบๆ เกาะ จนครั้งหนึ่งสมเด็จฯมีกระแสพระราชดำรัสครั้งหนึ่งว่า “หลานฉันยังเด็กนะ ฝากด้วย” ผู้สำเร็จราชการฯ ก็กราบทูลสนองพระราชประสงค์เป็นอย่างดีด้วยความเคารพ ทำให้ผู้ที่ชื่นชมก็ทวีความชื่นชมยิ่งขึ้น ผู้ที่คลางแคลงใจก็เริ่มจะไม่แน่ใจตนเอง

อีกเหตุการณ์หนึ่ง ที่หม่อมเจ้าหญิงอัปภัศราภา เทวกุล ได้ทรงเล่าเอาไว้คือ

วันหนึ่งที่วัดมงคลบพิตร จังหวัดอยุธยาสมเด็จฯ ตรัสว่า “ฉันจะไปปิดทอง” ตรัสแล้วเสด็จไปทรงซื้อทางที่วางขายอยู่ในบริเวณนั้น เมื่อเสด็จไปถึงองค์พระปรากฏว่าทรงปิดไม่ถึง ผู้สำเร็จราชการฯ จึงกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าจะไปปิดถวาย” สมเด็จฯจึงประทานทองให้ไปพร้อมตรัสว่า “เอาไปปิดเถอะ คนที่ทำบุญด้วยกัน ชาติหน้าก็จะเป็นญาติกัน”

เล่าลือกันว่ากระแสพระราชดำรัสนั้น ทำให้ผู้สำเร็จราชการฯซาบซึ้งมาก พวกที่ชื่นชมก็สรรเสริญพระปรีชาสามารถในสมเด็จฯ ว่าทรงเปลี่ยนใจคนที่เคยเขียนประกาศประณามพระราชวงศ์อย่างตรงไปตรงมา พวกที่เคลือบแคลงอยู่ก็ยังคงเฝ้าดูต่อไป

หม่อมเจ้าหญิงอัปภัศราภา เทวกุล ยังได้ทรงเล่าต่อไปว่า

“ประทับอยู่อยุธยาได้ 3 เดือน ก็ต้องทรงอพยพใหม่เพราะเกิดพายุใหญ่พัดเอาหลังคาที่ประทับพัง ต้องเสด็จคืนสู่พระนคร แต่มิได้ไปประทับที่วังสระปทุม เพราะบริเวณนั้นมีสภาพเป็นดงญี่ปุ่นเสด็จประทับที่พระตำหนักในพระบรมมหาราชวัง

สมเด็จฯ ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังได้ 6 เดือน ก็ต้องตกพระทัยอย่างยิ่ง เพราะวันหนึ่ง ได้มีการทิ้งระเบิดในพระนครครั้งใหญ่ลูกระเบิดลงที่บางกอกน้อย วัดสุทัศน์ และในพระบรมมหาราชวังลงที่พระที่นั่งบรมพิมาน และพระที่นั่งพิมานรัถยา อันอยู่ขวาซ้ายของพระตำหนักที่ประทับไม่กี่เส้น

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงเชิญเสด็จหลบภัยไปประทับอยู่ที่พระราชวังบางปะอิน โดยทอดเรือพระที่นั่งประพาสแสงจันทร์ให้เป็นที่ประทับอยู่หน้าพระที่นั่งวโรภาศ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ประทับที่ตำหนักของสมเด็จฯ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารีประทับที่ตำหนักพระราชชายา ข้าราชบริพารก็พักตามเรือเล็กตำหนักน้อยทั่วกันไป ม.จ.พูนพิศมัน ดิศกุล, และ ม.จ.พัฒนายุ ดิศกุล ประทับที่วัดนิเวศธรรมประวัติตรงข้ามพระราชวัง

พระราชวังบางปะอินก็กลับคืนสู่สภาพมีชีวิตขึ้นบ้าง ผู้สำเร็จราชการจอดเรือตะวันส่องแสงอยู่ที่หน้า “สภาคารราชประยูร” อันเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมงกุฎราชกุมาร เขตพระราชวังบางปะอินก็เป็นเขตพระราชฐานโดยแท้จริง ผู้ใจะกล้ำกลายเข้าไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นพลเรือนหรือทหารทั้งไทยญี่ปุ่น พระบารมีของสมเด็จฯแผ่ครอบบางปะอินเป็นที่ร่มรื่นอยู่นานถึงเก้าเดือน

ชาวบ้านในแถบนั้นก็กลับมีขวัญดีชวนกันมาเฝ้า หาอะไรมาแสดงถวายให้ทอดพระเนตรเพื่อทรงสำราญดังที่บรรพบุรุษเคยปฏิบัติมาในกาลก่อน บางวันก็มาแข่งเรือถวายให้ทอดพระเนตร บางวันก็มาเล่นเพลงเรือถวายให้ทรงฟัง บางคืนก็มารำวงถวาย...

...ผู้สำเร็จราชการก็หมั่นเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท จนเจ้านายที่ตามเสด็จที่เคยไม่โปรดก็เริ่มจะโปรด เสด็จพระองค์ประดิษฐาเคยเล่าให้ผู้เขียนวันหนึ่งว่า “ผู้สำเร็จฯนี่เขาดีนะ เมื่อวานเดินผ่านมาเห็นขุดดินปลูกต้นไม่อยู่ เขาว่าดีได้ออกกำลัง”

วันเกิดผู้สำเร็จฯ ผู้คุมกระบวนเสด็จก็จัดให้มีการแสดงละครสิ่งละอันพันละน้อยให้เป็นการตอบแทนน้ำใจ พวกที่ชื่นชมยินดีในการกลับใจของ ดร.ปรีดีก็ชื่นชมไป ฝ่ายที่คลางแคลงและหัวแข็งก็ยังไม่ยอมลงใจสนิท เก้าเดือนในบางปะอินเป็นเก้าเดือนแห่งความสุขของทุกคนที่บางปะอินอย่างดีที่สุดที่จะหาได้ในยามสงคราม”

หม่อมเจ้าหญิงอัปภัศราภา เทวกุล ได้ทรงเล่าต่อว่าผู้สำเร็จราชการนั้นทุกคราวที่มาเฝ้า สมเด็จฯ จะทรงต้อนรับอย่างดี เคยตรัสด้วยว่า

“พ่อคุณเถอะ ฝากหลานด้วยนะ พ่อมาทำบุญกับคนแก่นี่ พ่อได้กุศล”

ผู้สำเร็จฯ ก็รับพระราชเสาวณีย์ด้วยกิริยามารยาทอันงดงาม เจ้านายทั้งหลายเห็นใจในการที่ผู้สำเร็จฯ มาอยู่ใกล้ชิดเป็นประจำทำให้อุ่นพระทัยกันทั่ว

แต่ไม่มีสักพระองค์หรือสักคนจะทราบว่าภายใน “สภาคารราชประยูร” อันเป็นที่พักของผู้สำเร็จฯนั้น คือสถานที่บัญชาการเสรีไทยในประเทศ มีเครื่องรับ-ส่งวิทยุอันทันสมัยอยู่ชั้นล่างอย่างมิดชิด [2]

และการที่เป็นสถานที่ถวายความอารักขาความปลอดภัยให้กับสมเด็จพระพันวัสสาพระบรมอัยยิกาเจ้าทำให้ “สภาคารราชประยูร” จึงกลายเป็นสถานที่บัญชาการทางวิทยุของขบวนการเสรีไทย ซึ่งฝ่ายการเมืองมองข้ามไป และไม่สามารถเข้ามาก้าวก่ายหรือแทรกแซงได้ โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย

นายป๋วย อึ้งภากรณ์ หนึ่งในขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษ (ใช้รหัสนามแฝงว่า “ร.ต.เข้ม เย็นยิ่ง”) ได้เป็นผู้ริเร่ิมที่ทำให้บันทึกการติดต่อทางวิทยุระหว่างอังกฤษกับขบวนการเสรีไทยในประเทศไทยเกิดขึ้นได้เป็นผลสำเร็จเป็นครั้งแรก กล่าวคือ

ในเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 นายป๋วย อึ้งภากรณ์ (เข้ม), ประทาน เปรมกมล (แดง), สำราญ วรรณพฤกษ์ (เค็ง) [3]ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยการกระโดดร่มลงที่จังหวัดชัยนาท แต่ถูกเจ้าหน้าที่ไทยและชาวบ้านช่วยกันล้อมจับกุมตัวไว้ และถูกตั้งข้อหาว่า “ทรยศต่อชาติ และทำจารกรรม” ร.ต.เข้ม เย็นยิ่ง ถูกซ้อมและผลักเข้าสู่กอหนาม และนำตัวมาขังล่ามโซ่ไว้บนศาลาวัดวังน้ำขาว อำเภอวัดสิงห์ เป็นเวลาหลายวัน ก่อนถูกส่งมาลงเรือยนตร์ลำน้ำเจ้าพระยาเข้ามาที่ตึกสันติบาลในกรุงเทพฯ[4],[5]

แต่ด้วยความช่วยเหลือของตำรวจที่เคยเป็นนักเรียนอัสสัมชัญด้วยกัน ร.ต.เข้ม จึงได้มีโอกาสเข้าพบนายปรีดี พนมยงค์ ทำให้ฝ่ายเสรีไทยเริ่มส่งวิทยุไปยังกองทัพอังกฤษที่อินเดียสำเร็จเป็นครั้งแรก เป็นเหตุให้หน่วยทหารจากอังกฤษและสหรัฐอเมริการสามารถลอบเข้ามาปฏิบัติงานในแผ่นดินไทยได้สะดวกขึ้น[4],[5]

นายป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้บันทึกเอาไว้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างเสรีไทยกับพระบรมวงศานุวงศ์ความตอนหนึ่งว่า

ระหว่างที่นายป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้ส่งวิทยุดังกล่าวข้างต้นนั้น ทางการทหารอังกฤษได้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดในประเทศเป็นระยะๆ หัวหน้าเสรีไทยจึงได้มีโทรเลขแจ้งไปยังอังกฤษว่า บางทีเครื่องบินทหารอังกฤษมาทิ้งระเบิดเปะปะ ขอให้ระมัดระวังให้ดี เฉพาะอย่างยิ่งอย่าทิ้งที่พระบรมมหาราชวัง หรือวังของเจ้านายต่างๆ ให้หลีกเลี่ยงพระบรมวงศานุวงศ์ และที่ตั้งรัฐบาลกับที่ทำการเสรีไทยต่างๆ ได้แจ้งสถานที่ต่างๆ ที่ควรเลี่ยงไปอย่างชัดเจน ทางอังกฤษก็ตอบรับว่าจะปฏิบัติตาม[5]

บังเอิญในระยะนั้น มีเครื่องบินของอังกฤษบินไปทางบางปะอิน จังหวัดอยุธยา และทิ้งระเบิดด้วยแต่เคราะดีที่ไม่มีผู้ใดเป็นอันตราย รุ่งขึ้นนายป๋วยได้รับคำต่อว่าอย่างรุนแรงจากหัวหน้าเสรีไทยในเรื่องนี้ และได้ส่งคำประท้วงไปอย่างดุเดือดต่อกองบัญชาการทหารอังกฤษ ทางการอังกฤษจึงมีโทรเลขตอบขอโทษและรับรองว่าจะพยายามมิให้เกิดความพลาดพลั้งอย่างนี้ขึ้นอีก[5]

การที่เสรีไทยโดยเฉพาะหัวหน้าเสรีไทย ได้แสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ถวายความอารักขาให้พ้นภัยสงครามครั้งนั้น สมเด็จพระพันวัสสาพระบรมอัยยิกาเจ้าได้ทรงซาบซึ้งพระทัยดี และเมื่อสิ้นสงคราม ได้รับสั่งเรียกนายปรีดี พนมยงค์ไปที่ประทับและขอบใจ ซึ่งคณะเสรีไทยถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง[5]

แต่ความสัมพันธ์กลับตรงกันข้ามกัน เมื่อความขัดแย้งของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี กับ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการนั้น ก็เริ่มมีให้เห็นเป็นระยะๆ เริ่มต้นด้วย “การลาออก” ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเมืองทดลองใจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม กล่าวคือ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยื่นใบลาออกตรงมายังประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายปรีดี พนมยงค์จึงเขียนความเห็นในบันทึกหน้าปกใบลานั้นว่า “ใบลานั้นถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแล้วอนุมัติให้ลาออกได้” หลังจากนั้น พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯทรงลงพระนามตาม หลังจากนั้นจึงเชิญนายทวี บุณยเกตุ ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีและเลขาธิการให้วิทยุของกรมโฆษณาการประกาศการลาออกของจอมพล ป.

จอมพล ป.เมื่อทราบจากการประกาศลาออก จึงโกรธมากและเรียกใบลาออกกลับคืนสำเร็จ แล้วสั่งให้วิทยุกระจายเสียงด้วยใจความว่าการลาออกนั้นคลาดเคลื่อนไป ทำให้จอมพล ป.ฯยังครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปเพราะหลักฐานการลาออกสูญหายไป จอมพล ป. จึงตำหนินายทวี บุณเกตุ ที่ให้วิทยุกระจายเสียงประกาศลาออก จึงเป็นผลทำให้นายทวี บุณยเกตุตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีและเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

นอกจากนั้นจอมพล ป.ยังอ้างตำแหน่งผู้บังคับบัญชาการทหารสูงสุด ออกคำสั่งให้พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ และนายปรีดี พนมยงค์ มาประจำกองบัญชาการทหารสูงสุด คือ เท่ากับให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บัญชาการทหารสูงสุดและให้ไปรายงานตัวภายใน 24 ชั่วโมง

ปรากฏว่าพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ได้เสด็จไปรายงานพระองค์ต่อจอมพล ป. ตามคำสั่ง แต่นายปรีดี ไม่ยอมไปโดยให้เหตุผลว่า นายปรีดีมีตำแหน่งเป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นจอมทัพตามรัฐธรรมนูญ ถ้าไปรายงานตนก็เท่ากับเป็นการลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ลงอยู่ภายใต้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ปรากฏว่ามีรัฐมนตรีบางคนได้ชี้แจงและขอร้องให้จอมพล ป.ฯ ถอนคำสั่งที่ว่านั้น ทำให้นายปรีดีรอดตัวไปอีกครั้งหนึ่ง [6]

แต่เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ ทาบทามนายทวี บุณยเกตุ ซึ่งได้ลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองมาได้เข้าร่วมเป็นกำลังสำคัญให้กับขบวนการเสรีไทยได้ในเวลาต่อมาไม่นานหลังจากนั้น [7]

ต่อมาประมาณเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2486 ได้เกิดเรื่องอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีข่าววิทยุต่างประเทศกระจายข่าวว่า พระเจ้าวิคตอร์เอมมานูเอล แห่งอิตาลีไม่อาจทรงเพิกเฉยต่อการดำเนินการรของมุสโสลินีที่ทำให้ชาติประสบความพ่ายแพ้ในสงคราม และนำอิตาลีไปสู่ความหายนะ พระองค์จึงรับสั่งให้มุสโสลินีเข้าเฝ้าที่พระราชวังกิรินัล แล้วผู้ที่ร่วมคิดกับพระองค์ทำการจับกุมมุสโสินีใส่รถพยาบาลจนนำตัวไปสู่ที่คุมขังแห่งหนึ่ง ครั้นแล้วพระมหากษัตริย์องค์นั้นทรงแต่งตั้งจอมพลบาโดกลิโอเป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลใหม่แห่งชาติอิตาเลียนขึ้น

ปรากฏว่านายปรีดี พนมยงค์ ได้ทูลพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาเพื่อสนุกๆ (หรืออาจทดลองใจ)ว่า ต้องหาคนแก่ๆ อย่างบาโดกลิโอ แล้วทูลต่อไปว่าเมื่อตอนบ่ายที่รถไฟซึ่งนายปรีดีโดยสารมาหัวหินนั้น เห็น พล.ท.พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร ซึ่งยืนอยู่ที่ห้วยทราย ท่านผู้ที่ชราพอๆ กับจอมพล บาโดกลิโอน่าจะทำได้ ครั้นแล้วเราก็เสสรวลกันเป็นเรื่องสนุกไม่จริงจัง[6]

ต่อมา จอมพล ป.จึงได้เรียกประชุมผู้ก่อการ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นการด่วน แจ้งว่าพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาได้รายงานว่า นายปรีดีคิดจับตัว จอมพล ป.ฯ เหมือนที่มุสโสลินีถูกจับ โดยนายปรีดีจะให้ พล.ท.พระยาวิชิตฯเป็นผู้นำจับ จึงตั้งกรรมการสอบสอบสวนเบื้องต้นขึ้น

นายปรีดีจึงแจ้งต่อกรรมการสอบสวนว่าเป็นการพูดเล่นสนุกๆ เพราะถ้าจะจับจอมพล ป.จริงแล้วก็ไม่บอกพระองค์อาทิตย์ฯ เพราะนายปรีดียังมีเพื่อนที่ไว้ใจได้ยิ่งกว่าพระองค์อาทิตย์ฯมากนัก อีกทั้ง พล.ท.พระยาวิชิตฯนั้นชราแล้ว จะทำการอย่างที่กล่าวหาได้อย่างไร หลังคำชี้แจงดังกล่าวเรื่องนี้ก็ได้ระงับไป พระองค์เจ้าอาทิตย์ก็ทรงเจื่อนๆ กับนายปรีดี และตั้งแต่นั้นมานายปรีดีก็ต้องระวังการพูดกับพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ มากขึ้น[6]

ต่อมาวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2486 รัฐบาลไทย-ญี่ปุ่น ได้ลงนามในสัญญาว่าด้วยอาณาเขตประเทศไทย ทำให้ไทยได้รัฐกลันตัน ตรังกานู เคดะ ปลิส เชียงตุง เมืองพาน มาเป็นของไทย[8]

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การก่อตัวและการขยายตัวของขบวนการเสรีไทยได้เติบโตขึ้น นายปรีดี พนมยงค์ กับเพื่อนผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งมีประสบการณ์กันมาแล้วในด้านการรักษาความลับ ได้วางแผนต่อต้านญี่ปุ่น โดยยึดหลักการเดียวกับที่ใช้ในการปฏิวัติ 2475 คือให้ผู้ร่วมใจรับผิดชอบในสายงานด้านต่างๆ โดยแต่ละสายไม่รู้เรื่องของสายอื่น นายปรีดีแต่ผู้เดียวรู้แผนรวม

ผู้ร่วมงานในขั้นต้นเป็นผู้ที่เข้าไปหานายปรีดีเอง มิได้รับการชักชวน กลุ่มผู้ก่อการฝ่ายพลเรือนที่ร่วมงานก็มี นายดิเรก ชัยนาม, นายสงวน ตุลารักษ์, นายจรูญ สืบแสง, ม.ล.กรี เดชาติวงศ์, นายสะพรั่ง เทพหัสดิน, หลวงบรรณกรโกวิท (เปาว์ จักกะพาก) นอกนั้นก็มีนายจำกัด พลางกูร, หัวหน้าคณะกู้ชาติ (ตั้งขึ้นก่อนญี่ปุ่นเข้าเมืองไทย) นายทองเปลว ชลภูมิ, นายทวี ตะเวทิกุล, นายวิจิตร ลุลิตานนท์, นายเตียง ศิริขันธ์, นายถวิล อดุล [9]

ต่อมานายทหารในคณะปฏิวัติ 2475 ได้ทยอยกันเข้าร่วมขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น ได้แก่ พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส, นาวาเอกผัน นาวาจิตร, นาวาเอกสังวร สุวรรณชีพ, นาาวเอกบุง ศุภชลาศัย, นาวาเอกทหาร ขำหิรัญ, นาวาเอกชลิต กุลกำธร และภายหลังก็มีทหารและตำรวจเข้าร่วมงานมากขึ้นตามลำดับ

ในที่สุด นายปรีดี ได้มอบหน้าที่สำคัญแก่บุคคลต่อไปนี้
1) พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส รองหัวหน้าใหญ่ และผู้ควบคุมสายตำรวจ
2)นายดิเรก ชัยนาม หัวหน้ากองกลาง
3)นายวิจิตร ลุลิตานนท์ เลขาธิการ
4)นายทวี บุณยเกต หัวหน้าพลพรรคและผู้ติดต่อกับรัฐบาล
5)นายชาญ บุนนาค หัวหน้าหน่วยสืบราชการลับ วิทยุสื่อสาร หน่วยรับส่งคนเข้าออก หน่วยจ่ายอาวุธ
6)พลโทชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ หัวหน้าฝ่ายทหารบก
7)พลเรือตรีสังวร สุวรรณชีพ หัวหน้าฝ่ายทหารเรือและหน่วยสารวัตรทหาร
8)นายทวี ตะเวทิกุล หัวหน้ากองการคลัง
9)หลวงบรรณกรโกวิท หัวหน้าการรับส่งทางเรือ
10)นายสะพรั่ง เทพหัสดิน หัวหน้าการรับส่งทางบก
11)นาวาเอกบุง ศุภชลาศัย หัวหน้าอาสาพลเรือน[9]

5 มี.ค. 2564 ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
เสรีไทยยังได้ร่วมมือขยายผลของเชื่อมไปถึงแนวร่วมที่อังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดยนายป๋วย อึ้งภากรณ์ ซึ่งเป็นสมาชิกเสรีไทย ประเทศอังกฤษได้บันทึกว่า

“เมื่อเราติดต่อทางวิทยุกับสหประชาชาติได้ไม่ช้า ทางกองบัญชาการอังกฤษก็ปรารภว่าอยากจะส่งพลจัตวาเจ๊กส์ และ พันตรี ฮอบบส์เข้ามา มาหารือและเจรจากับหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ซึ่งหัวหน้าเสรีไทยก็ได้ตอบเชื้อเชิญให้เข้ามา

ในโทรเลขฉบับต่อมาทางอังกฤษได้ถามต่อมาว่า ในคณะของพลจัตวาเจ็กส์นั้น อยากจะให้หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ ซึ่งทรงยศเป็นร้อยเอกในกองทัพอังกฤษขณะนั้นเข้ามาด้วย ไม่ทราบว่าหัวหน้าเสรีไทยจะยินดีต้อนรับหรือไม่

การที่อังกฤษมีโทรเลขถามเรื่องหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์(ท่านชิ้น) นี้ ผู้ที่ไม่ทราบเรื่องอาจจะประหลาดใจ เพราะท่านชิ้นก็เป็นคนไทยทำไมจะต้องถามกันด้วย น่าจะส่งเข้ามาได้ดีกว่าส่งนายทหารฝรั่งด้วยซ้ำ

คำอธิบายขก็คือ ด้านอังกฤษเข้าใจดีว่านายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ก่อการในคณะราษฎร เปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 ผู้หนึ่ง ซึ่งเปลี่ยนระบบจากสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบบรัฐธรรมนูญ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

และต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่พอพระทัยในการดำเนินงานของคณะราษฎรถึงกับทรงสละราชสมบัติ ส่วนท่านชิ้นนั้นเป็นพระเชษฐาของสมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 กับเป็นราชเลขานุการใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯด้วย ทางอังกฤษเกรงว่าท่านหัวหน้าเสรีไทยจะรังเกียจหรือเข้าใจผิดด้านการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงต้องถามก่อน

หัวหน้าเสรีไทย ได้ตอบโทรเลขไปทันทีว่าขอเชิญท่านชิ้นเสด็จเข้ามาด้วยความยินดี ใจความในโทรเลขนั้นตอนหนึ่งว่า

“เรื่องการเมืองภายในประเทศนั้นเป็นอันยุติไม่มีปัญหาอีกต่อไป เสรีไทยมีความมุ่งหมายอยู่อย่างเดียวที่จะรักษาเอกราชและอิสระภาพของประชาชาติไทยฉะนั้น คนไทยทุกคนไม่ว่าจะเป็นเจ้านายหรือราษฎรธรรมดาที่มีความรักชาติอย่างเดียวกัน ต้องถือเป็นคณะเดียวกัน มีความสามัคคีกัน เป็นหลักการใหญ่”[3]

ต่อมาท่านชิ้นได้ทรงส่งวิทยุโทรเลขของท่านเองมาอีกหนึ่งฉบับ ตรงถึงนายปรีดี พนมยงค์ ขอบใจที่หัวหน้าเสรีไทยยินดีต้อนรับ และทรงแสดงเจตนาว่าจะร่วมงานด้วยอย่างจริงใจ แต่ใคร่จะขอถามว่าเพื่อนฝูงของท่านชิ้นหลายท่านต้องโทษการเมืองอยู่ที่ เกาะตะรุเตาบ้าง บางขวางบ้าง ที่อื่นๆ บ้างนั้น นายปรีดี พนมยงค์ จะกระทำอย่างไร[3]

หัวหน้าเสรีไทยตอบไปโดยฉับพลันว่า กรมขุนชัยนาทฯ และผู้อื่นๆ ต้องโทษการเมืองอยู่ที่ตะรุเตา บางขวาง และที่อื่นนั้น ทางกรุงเทพฯ จะหาทางปลดปล่อย และมิใช่จะปลดปล่อยอย่างเดียว จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมด้วย โอกาสที่จะกระทำได้ก็คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องกลให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วผู้สำเร็จราชการฯ แต่งตั้งนายควง อภัยวงศ์ ผู้ร่วมงานอยู่ในขณะนั้นขึ้นเป็นหัวหน้าเป็นรัฐบาลแทน”[3]

นี่คือความชัดเจนก่อนการร่วมมือระหว่างอดีตผู้นำก่อการของคณะราษฎรกับพระบรมวงศานุวงศ์เพื่อรักษาเอกราชและอิสระภาพของชาติไทยเป็นเป้าหมายสูงสุด ยุติความขัดแย้งและเยียวยาบาดแผลเรื่องราวอดีต

ท่านชิ้นและทางราชการอังกฤษ ก็มีความพอใจ คณะของพลจัตวาเจ็กส์ และท่านชิ้นจึงได้เข้ามกรุงเทพฯ และได้เข้าพบบรรดาหัวหน้าเสรีไทยหลายครั้ง

นายป๋วย อึ้งภากรณ์ บันทึกการพบกันเอาไว้บางครั้งก็คือ บนเรือซึ่งลอยลำวิ่งขึ้นลงอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา (ซึ่งปลอดจากญี่ปุ่น) และที่ตึกโดมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชั้นสอง ซึ่งใช้เป็นที่ทำการแห่งหนึ่งของขบวนการเสรีไทย (ศาสตราจารย์วิจิตร ลุลิตานนท์ เป็นเลขาธิการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองอยู่ในขณะนั้น)[3]

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง
[1] ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นไปภายในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, หนังสือบางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, หน้า 32
https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/2515-64.pdf

[2] คำของหม่อมเจ้าหญิง อัปภัศราภา เทวกุล, บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้ง 2, “สมเด็จพระศรีสวรินทิรา”, อนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท.อู๊ด นิตยสุทธิ ต.ช.ต.ม., อดีตผู้แทนราษฎร จังหวัดนคราราชสีมา ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา, หน้า 39-44

[3] ทศ พันธุมเสน และจินตนา ยศสุนทร, จากมหาสงครามสู่สันติภาพ, คณะกรรมการดำเนินงานโครงการฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส (11 พฤษภาคม 2443-11 พฤษภาคม พ.ศ. 2543), ผู้จัดพิมพ์ร่วม สถาบันปรีดี พนมยงค์, ดำเนินการผลิตโดย โครงการจัดทำสื่อเผยแพร่เกียรติคุณ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุดสสำหรับเด็กและเยาวชน และสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, ISBN 974-7833-35-2 พิมพ์ครั้งที่ 2 16 สิงหาคม พ.ศ. 2552 หน้า 63
http://www.openbase.in.th/files/pridibook013.pdf

[4] ดร.อัศวิน จินตกานนท์, สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำไมไทยจึงไม่แพ้, วีรชนเสรีไทยกับบทบาทในการรักษาเอกราชของชาติไทย เว็บไซต์ของบริษัททีมกรุ๊ป
https://www.teamgroup.co.th/downloads/publications/book221211.pdf

[5] ป๋วย อึ้งภากรณ์, พระบรมวงศานุวงศ์ และขบวนการเสรีไทย, ธันวาคม ค.ศ. 1971,จากหนังสืออนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท.อู๊ด นิตยสุทธิ ต.ช.ต.ม., อดีตผู้แทนราษฎร จังหวัดนคราราชสีมา ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2517, หน้า 45-48

[6] ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นไปภายในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, หนังสือบางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, หน้า 41-49
https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/2515-64.pdf

[7] ทวี บุณยเกตุ, ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศไทยระหว่างมหาสงครามโลกครั้งที่ 2, หนังสือ คำบรรยายและบทความบางเรื่องของนายทวี บุณยเกตุ, คุรุสภาจัดพิมพ์เป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ นายทวี บุณยเกตุ ม.ป.ช., ท.จ.ว., ท.ม. ณ เมรุหน้าพลับพลา อิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพุธที่ 8 มีนาคม พุทธศักราช 2515,หน้า 17-19

[8] ทศ พันธุมเสน และจินตนา ยศสุนทร, เรื่องเดียวกัน หน้า 143-144
http://www.openbase.in.th/files/pridibook013.pdf

[9] ทศ พันธุมเสน และจินตนา ยศสุนทร, เรื่องเดียวกัน หน้า 19-20

[10] ปรีดี พนมยงค์, คำปรารภตามคำร้องขอของนายกนธีร์ ศุภมงคล อดีตเลขาธิการ ส.ป.อ. และอดีตที่ปรึกษาของรัฐบาลจอมพลถนอม เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2514, อนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท.อู๊ด นิตยสุทธิ ต.ช.ต.ม., อดีตผู้แทนราษฎร จังหวัดนคราราชสีมา ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา, หน้า 84

[11] ทศ พันธุมเสน และจินตนา ยศสุนทร, เรื่องเดียวกัน หน้า 73-74

[12]โรม บุนนาค, นักการเมืองไร้แผ่นดิน, คอลัมน์ เรื่องเก่าเล่าใหม่ หน้า 65-66 นิตยสาร all ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ. 2550

[13] ตอนที่ 5 กบฏพระยาทรงสุรเดช, "ย้อนรอยรัฐประหารไทย" สารคดีทางดีเอ็นเอ็น: ศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2554

[14] ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องนายทหารออกจากประจำการ, เล่ม 62 ตอนที่ 9, วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 หน้า 148-149
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/D/009/148.PDF

[15] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจราจล พุทธศักราช 2488, เล่ม 62 ตอนที่ 27, วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 หน้า 337-341
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/A/027/337.PDF

[16] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบถและจราจล พุทธศักราช 2488, เล่ม 62 ตอนที่ 42, วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2488, หน้า 479-480
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/A/042/479.PDF

[17] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พุทธศักราช 2478, หน้า 488-489
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383561/16_24770131_wb.pdf?sequence=1

[18] สุพจน์ แจ้งเร็ว, คดียึดพระราชทรัพย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ,ศิลปวัฒนธรรม ลำดับที่ 272 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8 มิถุนายน 2545, หน้า 62-80

[19] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสันติภาพ, เล่มที่ 62 ตอนที่ 44 วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 หน้า 503-506
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/235501/SOP-DIP_P_419966_0001.pdf?sequence=1

[20] ปรีดี พนมยงค์,คัดลอกบางตอนจาก สุนทรพจน์ ของนายปรีดี พนมยงค์ แสดงให้สภาผู้แทนราษฎร วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 , อนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท.อู๊ด นิตยสุทธิ ต.ช.ต.ม., อดีตผู้แทนราษฎร จังหวัดนคราราชสีมา ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2517, เผยแพร่เว็บไซต์สถาบันปรีดี, หน้า 11
https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/2515-66.pdf

5 มี.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ถ้าเช่นนั้น อะไรคือสาเหตุที่ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ ต้องออกไปจนพ้นจากคณะรัฐมนตรีหลังจากนั้น

ปรากฏว่า นายทวี บุณยเกตุ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ๆในขณะนั้น ได้บันทึกเหตุการณ์สำคัญไว้มีความตอนหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับนโยบายการกู้เงินและการพิมพ์ธนบัตรของญี่ปุ่นของกระทรวงการคลัง ดังนี้

“ระหว่างวันที่ 11-12 ธันวาคม พ.ศ. 2484 คือภายหลังจากการที่ประเทศไทยได้เซ็นสัญญายอมให้ญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยได้ไม่กี่วัน รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้เริ่มเจรจาขอกู้เงินจากไทยงวดแรก เพื่อใช้จ่ายในกิจการทหารของญี่ปุ่น นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า
การที่จะให้รัฐบาลญี่ปุ่นกู้เงินไปใช้จ่ายในกิจการทหารของเขานั้น เข้าใจว่าคงจะไม่กู้เพียงแค่จำนวนนี้ แต่จะขอกู้มาอีกเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด ตามความจำเป็นในทางการทหารของเขา
หากเราให้ก็ต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้น ทำให้มีธนบัตรหมุนเวียนในท้องตลาดมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จะเป็นผลเสียหายทางเศรษฐกิจ คือจะทำให้เกิดเงินเฟ้อ จึงเห็นว่าควรให้ทหารญี่ปุ่นพิมพ์ธนบัตรของเขาขึ้นใช้เองในกองทัพของเขา เรียกว่า Invasion Notes (ธนบัตรที่ฝ่ายเข้ายึดครองพิมพ์ออกมาใช้)จะดีกว่า
ทั้งนี้เพื่อว่าเมื่อสงครามเสร็จสิ้นลงแล้ว เราจะได้ประกาศยกเลิกธนบัตรเหล่านี้ เมื่อเสร็จสงครามแล้ว การเงินและการเศรษฐกิจของประเทศก็จะได้ไม่ถูกกระทบกระเทือนและจะได้ไม่เกิดเงินเฟ้อขึ้น

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแย้งว่า การที่จะปฏิบัติตามความเห็นและตามข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น แม้จะเป็นการป้องกันมิให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นได้ก็ตาม แต่ก็เท่ากับเป็นการแสดงว่าเราได้เสียเอกราชและอธิปไตยไปแล้ว จึงไม่เห็นด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงแถลงค้านว่า ก็การที่เรายอมให้ทหารญี่ปุ่นเข้ามาอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองและทำอะไรได้ต่างๆนั้น ไม่ได้แปลว่าเราได้เสียเอกราชและอธิปไตยไปแล้วหรือ

ในเรื่องนี้มีการถกเถียงกันอย่างรุนแรง ระหว่างนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ในที่สุดนายกรัฐมนตรีก็ได้ยืนยันในความเห็นที่จะให้ญี่ปุ่นยืมเงินบาท โดยพิมพ์ธนบัตรออกใช้ให้มากขึ้นตามความจำเป็น”[15]
นอกจากนั้นยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนอให้รัฐบาลไทยรับหลักการในเรื่องเงินตราสามประการคือ

(ก) ให้กำหนดค่าเงินบาทเท่ากับเงินเยน คือในอัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท ต่อ 1 เยน
(ข) การชำระเงินระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยให้ชำระเงินด้วยเงินเยน และ
(ค) ให้ตั้งธนาคารกลางขึ้นเป็นเจ้าหน้าที่เงินตรา โดยให้มีที่ปรึกษาและหัวหน้าหน่วยงานต่างๆเป็นชนชาติญี่ปุ่น[17]

ปรากฏว่าพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาการคลัง ของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทรงเห็นว่าข้อเสนอแรกของญี่ปุ่นเป็นการกำหนดค่าเงินบาทให้ต่ำกว่าความเป็นจริงไปกว่า 33 เปอร์เซ็นต์ เพราะในขณะนั้นเงินบาทมีค่าสูงกว่าเงินเยน (คือ 1 บาทแลกได้ 1.5507 เยน) แต่เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันเป็นเด็ดขาดในข้อเสนอนี้รัฐบาลก็ต้องยอมรับไป

สำหรับข้อเสนอข้อสองนั้นรัฐบาลต้องยอมรับโดยปริยาย เพราะการสงครามในขณะนั้นบังคับมิให้มีการค้าขายติดต่อกับประเทศใดอีกได้นอกจากประเทศญี่ปุ่น

แต่สำหรับข้อเสนอข้อที่สามนั้นรัฐบาลไทยมิได้ยอมรับในทันที เพราะจะเท่ากับว่ายอมให้ญี่ปุ่นเข้ามาควบคุมเงินตราและเครดิตขอไทยโดยตรง อันเป็นความประสงค์ของญี่ปุ่นในขณะนั้น โดยพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงวางแผนร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 อย่างเร่งด่วนพระองค์เองให้เป็นผลสำเร็จ เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นเข้ามาแทรกแซงการเงินของประเทศไทย [17]

อย่างไรก็ตามการเจรจาที่รุกคืบฝ่ายไทยนั้น นายวนิช ปานะนนท์ ได้กลายเป็นบุคคลที่มีความสำคัญในการเจรจาร่วมกับไทยญี่ปุ่น โดยเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2484 นายวนิช ปานะนนท์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผสมระหว่างไทย-ญี่ปุ่น [1]

หลังจากนั้นเพียงวันเดียวปรากฏว่าวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2484 นายปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติเงินตรา (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2484 ที่กำหนดให้ค่าเงินบาทไทยนั้นจะต้องเทียบกับทองคำหรือเงินตราต่างประเทศที่หนุนหลัง ไม่ใช่พิมพ์ธนบัตรโดยไร้กฎเกณฑ์ใดๆ [18]

การวางรากฐานกฎหมายดังกล่าวเอาไว้ล่วงหน้า เป็นผลทำให้ในเวลาต่อมาพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ได้ทรงเจรจากับฝ่ายญี่ปุ่นจนยอมตกลงให้ฝ่ายไทยใช้เงินเยนซึ่งญี่ปุ่นเครดิตบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทยไว้นั้น ซื้อทองคำเก็บไว้ได้เป็นครั้งคราว ทำให้ทุนสำรองเงินตราของไทยมีค่าสูงขึ้นยิ่งกว่าที่จะเก็บไว้เป็นเงินเยน และก็ได้มาบางส่วนเท่าที่การขนส่งในระหว่างสงครามจะอำนวยให้ ส่วนที่เหลือตกค้างอยู่ในประเทศญี่ปุ่นนั้น เมื่อเสร็จสงครามแล้วทางไทยก็ได้รับคืนมาในที่สุด แทนที่จะได้เงินเยนซึ่งแทบไร้ค่าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง



อย่างไรก็ตามความขัดแย้งในด้านการเงินและการคลัง เป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งต่อการเอื้อประโยชน์ของการเข้ามาของญี่ปุ่น จากคำให้การของ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส รองนายกรัฐมนตรี อธิบดีกรมตำรวจ พบว่าหลังจากนั้นญี่ปุ่นไม่พอใจในบทบาทของนายปรีดี พนมยงค์ และอาจมีการรายงานเรื่องภายในคณะรัฐมนตรีไปให้ฝ่ายญี่ปุ่นได้รับทราบ ดังปรากฏคำให้การของพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส คณะกรรมการตามตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม ความว่า

“ข้าพเจ้าได้ไปที่วังสวนกุหลาบ ซึ่งเป็นที่พักของนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ได้พบนายกรัฐมนตรีกับนายวนิช ปานะนนท์ นายวนิชฯ ได้พูดว่าทางฝ่ายญี่ปุ่น มีความรังเกียจหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และนายวิลาศ โอสถานนท์ เพราะสองคนนี้มีความคิดเอนเอียงไปทางอังกฤษ คณะรัฐมนตรีมีความคิดเห็นว่าร่วมกับญี่ปุ่นด้วยประการใดๆก็ทำไปไม่สะดวก เพราะสองคนนี้มีความคิดเห็นไม่ตรงกับญี่ปุ่น

เขาจะให้สองคนนี้ออกจากคณะรัฐมนตรี เฉพาะหลวงประดิษฐ์มนูธรรมนั้น ฝ่ายญี่ปุ่นเสนอว่าควรแต่งตั้งให้เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ที่ญี่ปุ่นมีความประสงค์จะให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นคณะผู้สำเร็จราชการนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมยังเป็นผู้มีอิทธิพล ข้าราชการและประชาชนนับถืออยู่มาก ถ้าให้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้ว จะได้พ้นจากหน้าที่การเมือง และญี่ปุ่นคงคิดว่าจะไม่ทำให้ประชาชนเห็นว่าญี่ปุ่นรังแกหลวงประดิษฐ์มนูธรรม”[15]

วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามความเห็นของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และเป็นผลทำให้นายปรีดี พนมยงค์ ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยทันที [19]

17 ธันวาคม พ.ศ. 2484 นายวนิช ปานะนนท์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี และรัฐมนตรีสั่งราชการ กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ [1] โดยต่อมาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2484 น.อ.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้แจ้งผลการสอบสวนความบริสุทธิ์ของนายวนิช ปานะนนท์ ต่อกรณีมีจดหมายสนเท่ห์ที่ได้มาตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2484 ความตอนหนึ่งว่า

“มีกิจการที่ควรจะกล่าวอยู่ 2 ประการ ก็คือ ในระหว่างที่นายวนิช ไปดำเนินการเจรจาในเรื่องการไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทกับอินโดจีนนั้นประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งก็คือรัฐบาลไทยได้ซื้อทองจากประเทศญี่ปุ่นอีกส่วนหนึ่ง

ทั้งสองอย่างนี้ มีการกล่าวหาและกรรมการได้สอบสวนแล้ว ปรากฏจากผลของกรรมการสอบสวนว่า เท่าที่ในระหว่างการกระทำการไปนั้น ก็ได้กระทำไปภายในกรอบคำสั่งของผู้บังคับบัญชา... ส่วนเกี่ยวกับทางกรมตำรวจนั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีเรื่องราวอะไรที่ต้องดำเนินการต่อไป” [20]

ต่อมาวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 รัฐบาลไทยได้ทำพิธีลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นที่อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากนั้นสถานการณ์ผลจากสงครามรุนแรงขึ้น วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 รัฐบาลไทยจึงได้ถลำลึกลงไปลงนามเป็นพันธมิตรทางการทหารกับฝ่ายอักษะอย่างเต็มตัว โดยมีการลงนามโดยผ่านสถานทูตญี่ปุ่นและเยอรมันประจำกรุงเทพมหานคร และได้ยกเลิกความสัมพันธ์กับประเทศกลุ่มฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งหมด

หลังจากนั้นอีกหนึ่งเดือน นายวนิช ปานะนนท์ จนได้รับเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ซุยโฮ ชั้นหนึ่งจากญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485

นับจากนั้นเป็นต้นมา นายวนิช ปานะนนท์ ได้เป็นบุคคลสำคัญในการเจรจาระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในหลายมิติเป็นลำดับ กล่าวคือ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2485 นายวนิช ปานะนนท์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะทูตเศรษฐกิจไทยไปเจรจาการเศรษฐกิจและการคลัง กับรัฐบาลญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว ต่อมาในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 นายวนิช ปานะนนท์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการพิจารณาการเงินของชาติ และวันที่25 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 นายวนิช ปานะนนท์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ [1]

นอกจากนั้น ตามคำให้การของนายทวี บุณยเกตุ ในฐานะอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสมัยนั้น ได้ให้การไว้ต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ความตอนหนึ่งว่า

“ตามปกติ จอมพล ป.พิบูลสงคราม มักใช้หลวงวิจิตรวาทการ นายวนิช ปานะนนท์ นายพลตรีประยูร ภมรมนตรี นายพลตรีไชย ประทีปเสน พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ พลเรือโทสินธุ์ กมลนาวิน ไปติดต่อกับฝ่ายญี่ปุ่นและฝ่ายอักษะ ท่าทีของพวกนี้รับใช้อยู่นี้นิยมชอบชอบฝ่ายญี่ปุ่น แต่พระบริภัณฑ์ยุทธกิจท่าทีไม่ปรากฏชัด” [21]

สอดคล้องกับคำให้การของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ทรงให้การเอาไว้ต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ความตอนหนึ่งถึงคนในรัฐมนตรีหรือบุคคลที่สนิทชิดชอบกับจอมพล ป. ที่มีความนิยมชอบชอบฝ่ายญี่ปุ่นและอักษะความตอนหนึ่งว่า

“ฝ่ายที่นิยมอักษะและพูดว่า ฝ่ายอักษะจะต้องชนะสงครามแน่นอน และฝ่ายอังกฤษและอเมริการจะต้องพ่ายแพ้แน่ มี 1) นายประยูร ภมรมนตรี 2) หลวงพรหมโยธี 3) หลวงสินธุสงครามชัย 4) หลวงวิจิตรวาทการ 5) ขุนนิรันดรชัย 6)พลตรีไชย ประทีปเสน ผู้ที่นิยมญี่ปุ่นออกหน้าออกตาก็มี หลวงวิจิตรวาทการ นายวนิช ปานะนนท์ หลวงสินธุสงคราม... ส่วนขุนนิรันดรชัยนั้นต้องการให้สงครามยืดเยื้อไปอีกนานๆจะได้ทำการค้าขายได้ต่อไปอีก”[22]

โดยเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นแล้ว รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ดำเนินนโบายที่เอื้ออำนวยต่อญี่ปุ่นหลายประการ ดังเช่น

ดำเนินการควบคุมและยึดบริษัทน้ำมันที่สำคัญ 2 บริษัทคือ บริษัท สแตนดาร์ด แวคัม ออยส์ (Standard Vacum Oil Co., Ltd.) และบริษัท เชลล์ (Shell Co., Ltd.) และรัฐบาลเข้าทำการกลั่นเอง[16] และทำการขยายโรงกลั่นทั้ง 2 ให้ทันสมัยได้รับความช่วยเหลือจากญี่ปุ่น โดยแห่งหนึ่งอยู่ที่ตำบลช่องนนทรี อีกแห่งหนึ่งอยู่ที่บางจาก ปรากฏว่าน้ำมันจากโรงกลั่นทั้ง 2 นี้ถูกนำมาใช้ในการทหารซึ่งญี่ปุ่นต้องการมากในขณะนั้น[23]

เช่นเดียวกับธุรกิจค้าข้าว ภายหลังจากการที่เจ้าของโรงสีข้าวต้องถูกบีบด้วยมาตรการทางภาษีจนต้องปิดกิจการ และบังคับปิดกิจการ จนโรงสีข้าวทั้งหลายต้องเอาโรงสีมาให้บริษัท ข้าวไทย จำกัดเช่าไปดำเนินการแบบผูกขาดกิจการค้าข้าวแทน [24] และต่อมารัฐบาลได้ตกลงใจให้ “สิทธิการส่งข้าวออกนอกประเทศแก่ญี่ปุ่น” คือ บริษัทมิตซุยและบริษัทมิตซูบิชิ [25]

นอกจากนั้นสำนักงานธนาคารไทย ได้มีส่วนในการจัดให้ธนาคารไทย 3 ธนาคาร อันได้แก่ ธนาคารเอเซียเพื่ออุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม (จัดตั้งด้วยเงินทุนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง, ธนาคารนครหลวงไทย (จัดตั้งด้วยเงินทุนของขุนนิรันดรชัยและคณะ), และธนาคารมณฑล (จัดตั้งด้วยเงินทุนของรัฐบาลและบริษัท ข้าวไทย จำกัด)ได้ร่วมกันให้ธนาคารโยโกฮามาสเปซี กู้เงินจำนวนมากถึง 10,000,000 บาท เพื่อช่วยส่งเสริมการค้ากับญี่ปุ่นมิให้ติดขัด[26]

โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารมณฑล ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2485 นั้น มีทุนจดทะเบียนก่อตั้งด้วยทุนมากถึง 10,000,000 บาท โดยกระทรวงการคลังถือหุ้น ร้อยละ 50.65 และบริษัท ข้าวไทย จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 45.17 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นฐานการเงินให้บริษัท ข้าวไทย จำกัด ในการส่งข้าวขายให้กับญี่ปุ่น[27]

โดยฐานสำคัญของทั้งบริษัท ข้าวไทย จำกัด และธนาคารมณฑล นั้นล้วนแล้วแต่มีนายวนิช ปานะนนท์ เป็นกรรมการบริษัททั้งสิ้น ยังไม่นับว่านายวนิช ปานะนนท์ นั้นเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุนน้ำมันสำหรับการเป็นยุทธปัจจัยให้กับญี่ปุ่นอีกด้วย

จนในที่สุดวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2486 นายวนิช ปานะนนท์ ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง [1]

ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 พล.ต.อ.อดุลฯ รองนายกรัฐมนตรี และอธิบดีกรมตำรวจ ได้สั่งจับกุมนายวนิชฯ ในข้อหาทุจริต ควบคุมตัวไว้สอบสวนที่กองตำรวจสันติบาล โดยที่จอมพล ป.พิบูลสงครามไม่สามารถจะช่วยอะไรได้ ซึ่งต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมาที่จอมพล ป.พิบูลสงครามออกหน้ารับแทนเองทั้งหมด

ส่วนนายพลอาเคโตะ นากามูระ ตำแหน่งแม่ทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยได้บันทึกถึงสาเหตุของการที่นายวนิช ปานะนนท์ถูกสอบสวนด้วยข้อหาการกระทำความผิดทางกฎหมายเกี่ยวกับ “การค้าทองคำ” ซึ่งทางฝ่ายญี่ปุ่นได้พากเพียรขอร้องต่อฝ่ายไทยให้ปฏิบัติกับนายวนิช ปานะนนท์ อย่างมีเมตตาธรรม[28]

โดยในระหว่างการสอบสวนนั้นเองจากบันทึกข้อความของ ร.ต.อ.เฉียบ ชัยสงค์ ได้ระบุถึงช่วงเวลา การสอบสวนของนายวนิช ปานะนนท์ ความตอนหนึ่งว่า

นายวนิช ปานะนนท์ส่ายหน้าแล้วหยิบซองบุหรี่นาค ซึ่งเป็นของที่ระลึกจากจอมพล ป. พิบูลสงครามว่า “เจรจาดีที่โตเกียว” แล้วกล่าวว่า

“ผมได้ซองบุหรี่นี้เป็นที่ระลึกพิเศษทีเดียว แต่ลายเซ็นอันนี้ก็ช่วยอะไรผมไม่ได้ “[9]

โดย ร.ต.อ.เฉียบ ชัยสงค์ เจ้าพนักงานสอบสวนยังได้บันทึกต่ออีกว่า

“ข้าพเจ้าสงสารเขา แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้เสียจริง ๆ แม้แต่เขาจะร้องขอให้ข้าพเจ้าโทรศัพท์ไปที่บ้าน เพื่อขอร้องให้ภรรยาสุดที่รักของเขาตำน้ำพริกส้มมะขามส่งไปให้กินในเย็นวันนั้น ข้าพเจ้าผู้มีวินัยจัดก็มิได้ผ่อนผันให้เขาเสียเลย และต่อมาไม่นานนักเขาก็จากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันจะฟื้นขึ้นมาอีก”[9]

ภายหลังจากการที่นายวนิช ปานะนนท์ ถูกคุมขังเพื่อทำการสอบสวนอยู่ประมาณปีเศษ ต่อมาวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 นายวนิชฯได้ถึงแก่กรรม โดยรัฐบาลประกาศอย่างเป็นทางการว่าเป็นการฆ่าตัวตายด้วยการแขวนคอ ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายญี่ปุ่นไม่มีใครเชื่อ จึงได้ยื่นเรื่องขอเข้าทำงานสอบสวน

อย่างไรก็ดี นายพลอาเคโตะ นากามูระ ได้กล่าวว่าเรื่องจบลงโดยที่ฝ่ายครอบครัวของนายวนิช คือ “หลวงสินธุ์สงครามชัย” ในฐานะพี่เขยของนายวนิชได้มีหนังสือตอบทุกฝ่ายว่า ทางครอบครัวของนายวนิชไม่มีอะไรติดใจ และไม่มีความประสงค์ให้มีการพิสูจน์ความจริงใดๆเพิ่มเติม [28]

ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงนั้นไม่มีใครทราบ แต่นายพลอาเคโตะ นากามูระก็ได้บันทึกสันนิษฐานว่าพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส น่าจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง[28] และหากสมมุติว่าจะเป็นกรณีการฆาตกรรม ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าในความเป็นจริงแล้วใครจะได้ประโยชน์มากที่สุดจากบุคคลที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำและกำลังถูกสอบสวนในเรื่องการทุจริตค้าทองคำที่เกิดขึ้น แต่ถูกอำพรางว่าเป็นการฆ่าตัวตาย

ข้อสังเกตประการหนึ่งที่ควรบันทึกเอาไว้คือ นายวนิช ปานะนนท์ เสียชีวิตวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 (ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม) แต่กว่าจะได้จัดงานในฌาปนกิจศพ คือวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2490 (ในสมัยรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) หรือเวลาห่างกันประมาณ 2 ปี 10 เดือน

ด้วยเพราะระยะเวลานานมากนับจากวันเสียชีวิตของนายวนิช ปานะนนท์ ถึงวันจัดงานฌาปนกิจศพ แต่กลับไม่ปรากฏคำไว้อาลัยในหนังสืองานฌาปนกิจศพลจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในขณะนั้น และรวมถึงไม่มีคำไว้อาลัยจากอดีตนายกรัฐมนตรีคนใดในหนังสืองานฌาปนกิจศพเล่มดังกล่าวนี้เลย คงมีแต่คำไว้อาลัยและขอบคุณจากนายสิงห์ ไรวา หรือ พระนรราชจำนง ข้าราชการกระทรวงเศรษฐการที่เคยทำงานร่วมกันมาเท่านั้น[1]

ส่วนพระนรราชจำนงซึ่งเป็นคนเดียวที่ได้เขียนคำไว้อาลัยถึงนายวนิช ปานะนนท์นั้น ก็เป็นผู้หนึ่งซึ่งได้เคยถูกพาดพิงในการตั้งกระทู้ถามโดยนายเลียง ไชยกาล เมื่อคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง) ซึ่งเป็นการตั้งกระทู้ถามพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เรื่อง ผู้ที่ดินของพระมหากษัตริย์ในราคาถูกๆ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 พาดพิงว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 นั้น พระนรราชจำนง ได้ซื้อ โฉนดของสำนักพระคลังข้างที่ เลขที่ 2110 อำเภอบางรัก ราคา 6,614 บาท[29] จริงหรือไม่


26 ก.พ. 2564  ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

สำหรับขบวนการเสรีไทยนั้น ได้ตั้งหน่วยกองพลส่วนหน้า 24 แห่ง มีพลพรรคเข้าฝึกอบรมประมาณ 500 คน รวมจำนวนประมาณ 10,000 คน และถ้าจะรวมจำนวนสำรองที่จะระดมเมื่อลงมือปฏิบัติต่อสู้ญี่ปุ่นอย่างเปิดเผยแล้ว ก็จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นรวมเป็นพลพรรคที่สามารถต่อสู้ทางอาวุธประมาณ 80,000 คน และถ้ารวมทั้งผู้ที่ประจำกองบัญชาการและธุรการอื่นๆด้วยแล้ว จำนวนก็จะมีมากกว่านั้น[10]

ทั้งนี้ หน่วยเสรีไทยในประเทศไทยได้แยกออกเป็น 2 ฝ่าย

ฝ่ายที่หนึ่ง คือ พลพรรคพวกซึ่งมีหน้าที่ฝึกหัดอาวุธ หัดให้รู้จักการใช้อาวุธชนิดต่างๆ ฝึกรบแบบกองโจรเพื่อเตรียมรบเมื่อถึงเวลาและเมื่อได้รับคำสั่ง

ฝ่ายที่สอง คือ ฝ่ายสืบราชการลับอีกพวกหนึ่ง หน่วยสืบราชการลับนี้ได้รับความร่วมมือกับตำรวจดีมากเพราะพลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส เป็นหัวหน้าเสรีไทยด้วยผู้หนึ่ง จึงทำให้การสืบสวนเป็นที่พอใจและถูกต้องตรงกับความจริง[7]

ทั้งนี้ หน่วยพลพรรคบางหน่วยของเสรีไทย ต้องการทำลายทหารญี่ปุ่นที่เข้าไปในเขตหวงห้ามอันเป็นที่ตั้งของเสรีไทยแล้วก็ทำการฝังเพื่อทำลายหลักฐานเสีย เช่น ที่จังหวัดกาญจนบุรี และที่จังหวัดสุโขทัย เป็นต้น การลักขโมยและทำลายทรัพย์สินตลอดจนยุทโธปกรณ์ของทหารญี่ปุ่น ก็มีอยู่เป็นการประจำ เช่น ขโมยน้ำมันเชื้อเพลิง ขโมยปืนและกระสุนปืน ขโมยวัตถุระเบิด ขโมยรถยนต์ ฯลฯ[7]

การกระทำเหล่านี้ได้ล่วงรู้ไปถึงกองบัญชาการทหารหน่วย 136 ของอังกฤษที่เมืองแคนดี ประเทศอินเดีย ทำให้กองบัญชาการทหารอังกฤษและอเมริกันเชื่อถือและไว้วางใจในความร่วมมือของเสรีไทยในประเทศมาก

จนในระยะหลังๆ ขบวนการเสรีไทยขาดยารักษาโรคจึงได้ติดต่อขอไปที่เมืองแคนดี เขาก็นำหีบยารักษาโรคที่เสรีไทยขอไปผูกติดกับร่มชูชีพบรรทุกเครื่องบินมาทิ้งให้ที่ท้องสนามหลวงหลายหีบในเวลากลางวันแสกๆ ทำเอากองทหารญี่ปุ่นโกรธและสงสัยมากขึ้นถึงกับประท้วงรัฐบาล

รวมถึงการทิ้งระเบิดของเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรในระยะหลังๆ นี้ก็แม่นยำและทิ้งลงยังเป้าหมายเฉพาะที่ตั้งของญี่ปุ่นทั้งนั้น จาการที่ขบวนการเสรีไทยบอกเป้าหมายไปบ้าง หรือทางอังกฤษสอบถามมาบ้าง [7]

ในขณะที่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดปัญหาค่าครองชีพแพง เครื่องอุปโภคบริโภคอัตคัดขาดแคลน ในขณะที่จอมพล ป.ยังได้บังคับชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรทางวัฒนธรรมผ่านรัฐนิยม อีกทั้งยังทำตัวเทียมกษัตริย์ให้ผู้ชมภาพยนตร์ยืนทำความเคารพในการฉายภาพ จอมพล ป. ส่งผลทำให้ความไม่พอใจของราษฎรส่วนมากถึงขีดสุดที่ต้องการให้เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ทำให้ผู้แทนราษฎรทั้งประเภทที่หนึ่งและประเภทที่สองส่วนมากได้ตระหนักถึงกระแสของประชาชนในครั้งนั้น[6]

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ญี่ปุ่นมีความคิดจะเปลี่ยนตัวจอมพล ป. ซึ่งย่อมทำให้จอมพล ป.เกิดความหวาดระแวงญี่ปุ่น แต่ในขณะเดียวกันฝ่ายญี่ปุ่นเองก็เริ่มไม่ไว้วางใจต่อจอมพล ป.มากขึ้น ถึงขนาดที่นายพลญี่ปุ่นประจำอินโดจีนพร้อมนายทหารญี่ปุ่นอีก 4 คน ได้เดินทางไปกรุงพนมเปญเพื่อทาบทาม พันเอกพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน)ทหารไทยอดีตผู้ก่อการคนสำคัญของคณะราษฎรให้มารับตำแหน่งสำคัญในประเทศไทย เพราะมีผู้นับถือว่ามีความรู้และความจริงใจ และมีลูกศิษย์เป็นนายทหารจำนวนมาก

โดยพันเอกพระยาทรงสุรเดช ผู้นี้ ได้ถูกจอมพล ป.บังคับเนรเทศไปอยู่ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 เนื่องจากรัฐบาลจอมพล ป.ระแวงว่าพันเอกพระยาทรงสุรเดชมีแผนจะยึดอำนาจการปกครอง พันเอกพระยาทรงสุรเดชจึงต้องย้ายไปอยู่ที่กัมพูชาอย่างยากจนประกอบอาชีพขนายขนมและรับซ่อมจักรยานเล็กๆ น้อย

อย่างไรก็ตามพันเอกพระยาทรงสุรเดช ได้ปฏิเสธนายทหารญี่ปุ่นอย่างหนักแน่นที่จะรับตำแหน่งโดยการสนับสนุนจากญี่ปุ่น ฝ่ายทหารญี่ปุ่นจึงแสดงความเคารพเดินทางกลับไป [11]

แต่หลังจากนั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อำนาจของจอมพล ป.สั่นคลอน วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2487 พันเอกพระยาทรงสุรเดชก็ได้เสียชีวิตด้วยอาการโลหิตเป็นพิษ แต่ก็มีข้อสงสัยจากคำบอกเล่าของบุตรชายว่าได้ถูกวางยาพิษจนเสียชีวิตที่กัมพูชา [12],[13]

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น จอมพล.ป ได้จัดพิธีชวนญี่ปุ่นให้ไปร่วมสาบานต่อหน้า “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกต” ว่าจะซื่อสัตย์ต่อกันไปจนถึงที่สุด[6] แต่พิธีดังกล่าวก็กลับเป็นสัญญาณที่ทำให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายมีความไม่ไว้วางใจต่อกันมากขึ้น

ในขณะเดียวกันวิทยุนิวเดลลีฮ์ของอังกฤษก็ใช้กลยุทธ “เสี้ยม” เพื่อทำให้ญี่ปุ่นระแวงจอมพล ป.ยิ่งขึ้น โดยกระจายคำกลอนซ้ำๆ หลายวันและบอกช้าๆ ขอให้ผู้ฟังจดไว้ ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นก็ได้จดไว้ด้วย คำกลอนนั้นนายปรีดี ได้บันทึกเอาไว้ในหนังสือบางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ความว่า

“เป็นจอมพลไฉนยอมเป็นจอมแพ้
ทำผิดแล้วคิดแก้ไม่ได้หรือ
เกิดเป็นชายชาตรีมีฝีมือ
ใยจึงดื้อให้ไพรีนั่งขี่คอ”[6]
นายปรีดี ได้บันทึกในเรื่องผลกระทบของบทกลอนนี้ว่า

“ข้าพเจ้าทราบจากคนไทยที่ติดต่อกับญี่ปุ่นว่า กลอนบทนี้ญี่ปุ่นจดไว้แล้ว ระแวงจอมพล ป.ยิ่งขึ้น ประกอบด้วย พ.อ.กาจ กาจสงคราม ได้เดินทางไปเมืองจีน โดยทางจีนให้นายพลไตลี-นายใหญ่เกสตาโปจีนที่จุงกิงรับรองในการสนทนานั้นมีล่ามที่เป็นคนเกิดในเมืองไทย ข่าวนี้วี่แววไปถึงฝ่ายญี่ปุ่น แม้ พ.อ.กาจฯ จะบอกนายพลไตลีว่าตนเดินทางมาเอง แต่ญี่ปุ่นรู้วี่แววก็สงสัยว่า จอมพล ป.คงใช้มา คนไทยที่ติดต่อกับญี่ปุ่นรีบมาบอกข้าพเจ้าว่า ทหารญี่ปุ่นตระเตรียมที่จะเข้ายึดรัฐบาลไทย”[6]

จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2487 จอมพล ป. เสนอร่างพระราชบัญญัติให้รับรองพระราชกำหนดระเบียบบริหารนครเพชบูรณ์และพุทธบุรีมณฑล ซึ่งจอมพล ป.ดำริสร้างเป็นนครขึ้นในบริเวณป่าที่มีไข้จับสั่นระบาดร้ายแรง ในการนั้นก็จะต้องเกณฑ์ราษฎรไปทำงานโยธา ผู้แทนราษฎรทั้งประเภทหนึ่งและประเภทสองส่วนมาก ซึ่งตระหนักถึงความไม่พอใจของราษฎรอยู่แล้วได้ลงมติไม่อนุมัติร่างกฎหมายนั้น[6]

ต่อมารัฐมนตรีส่วนมากยืนยันในคณะรัฐมนตรีว่า ตามมารยาทรัฐบาลต้องลาออก แต่สภาผู้แทนราษฎรอาจแนะนำคณะผู้สำเร็จราชการให้ตั้งใหม่ได้ จอมพล ป.จึงได้ยื่นใบลาออกต่อคณะผู้สำเร็จราชการ ในขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นได้เข้าพบนายปรีดีสอบถามถึงเรื่องการตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ควรเป็นใคร นายปรีดีจึงยืนยันไปว่าควรเป็นไปตามระบบรัฐธรรมนูญของไทย และตอบคำถามฝ่ายญี่ปุ่นถึงเรื่องนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งนายปรีดีก็ได้ตอบไปว่า “เขาเป็นคนร่าเริง นิสัยดี หวังว่าเขาจะร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่นได้” [6]

ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนายควง อภัยวงศ์ ได้รับเงื่อนไขจากนายปรีดีว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อตีหน้าเข้าข้างญี่ปุ่น ส่วนการงานขอรัฐบาลให้นายทวี บุณยเกตุเป็นผู้สั่งราชการสำนักนายกรัฐมนตรี จนในที่สุดเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีตามที่ตกลงกัน[6]

แต่ฝ่ายพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาทรงยืนกรานไม่ยอมลงพระนามตั้งนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในที่สุด พระองค์ได้ทรงขอลาออกจากตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยเข้าพระทัยว่า นายควงฯ จะไปไม่ตลอดรอดฝั่ง ไม่ช้าจอมพล ป.ก็จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก ซึ่งนายปรีดีจะต้องออกไปโดยพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาจะทรงกลับมาเป็นผู้สำเร็จราชการอีก[6]

จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรจึงลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 ตั้งให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว ในวันเดียวกันนั้นนายปรีดีจึงได้ลงนามประกาศพระบรมราชโองการในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ตั้งพันตรีควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการตามระเบียบ[6]

หลังจากนั้นปรากฏว่าจอมพล ป. ได้ไปรวบรวมทหารตั้งมั่นอยู่ที่ลพบุรีซึ่งเป็นการคุกคามใหม่ต่อรัฐบาล พล.ร.ท.สินธุ กมลนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งเป็นพี่เขยของนายวนิช ปานะนนท์นั้น โดยภายหลังจากการที่ นายวนิช ปานะนนท์ ได้เสียชีวิตในเรือนจำอย่างมีพิรุธแล้ว พล.ร.ท.สินธุ กมลนาวิน เปลี่ยนใจย้ายมาอยู่ฝ่ายต่อต้านญี่ปุ่น โดยพล.ร.ท.สินธุ กมลนาวิน ได้เข้าพบนายปรีดี พนมยงค์ และเสนอว่าต้องปลดจอมพล ป.จากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยขอให้ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นแม่ทัพใหญ่ และ พล.ท.ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ เป็นรองแม่ทัพใหญ่[6]

เมื่อนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี ได้รับสนองพระบรมราชโองการปลดออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นแม่ทัพใหญ่ และ พลโทชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ เป็นรองแม่ทัพใหญ่แล้ว พอถึงรุ่งเข้าก็ได้ให้วิทยุกระจายเสียงประกาศพระบรมราชโองการดังกล่าว จึงเป็นผลทำให้จอมพล ป.ต้องปฏิบัติตามพระบรมราชโองการอย่างไม่มีทางเลือกและได้ย้ายจากลพบุรีไปอยู่ที่อำเภอลำลูกกาจนตลอดสงคราม[6]

นอกจากนั้นในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ปลดพลโทผิน ชุณหะวัณ ประจำเสนาธิการทหารบก ออกจากประจำการ[14] โดยพลโทผิน ชุณหะวัณ คือแม่ทัพเข้ายึดครองเมืองเชียงตุง ได้เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 ตามคำสั่งจัดตั้งกองทัพพายัพของ จอมพล ป. และยังเป็นข้าหลวงใหญ่เมืองเชียงตุงอีกด้วย โดยหลังพลโทผิน ชุณหะวัณถูกปลดออกจากราชการแล้ว พลโทผินก็อพยพครอบครัวไปทำไร่ ทำสวนอยู่ที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา

อย่างไรก็ตามนายทวี บุณยเกตุ เมื่อได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของคณะรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ จึงได้มีโอกาสรวบรวมบรรดานิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาฝึกอาวุธและคัดเลือกส่งไปเป็นเสรีไทยประจำค่ายที่ลพบุรี จังหวัดเขาบางทราย ภายใต้การควบคุมของพลเรือตรีสังวรณ์ สุวรรณชีพ ซึ่งนับว่าเป็นค่ายที่มีจำนวนพลพรรคมากที่สุดแลมีสมรรถภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่ง คือ มีทั้งพวกนิสิตซึ่งล้วนเป็นผู้ที่มีการศึกษาอยู่ในระดับสูง และมีทั้งทหารเรือฝ่ายพรรคนาวิกโยธินด้วย[7]

ในระหว่างที่สงครามใกล้จะเสร็จสิ้นลงนี้สถานการณ์ภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พระนครได้ตึงเครียดมากเกือบจะถึงจุดระเบิดแล้ว เพราะทหารญี่ปุ่นมีความมั่นใจว่า ไทยจะหักหลัง

ในช่วงนั้นเองวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 นายทวี บุณยเกตุ ได้ดำเนินการเสนอร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจราจล พุทธศักราช 2488 [15] เพื่อให้นายควง อภัยวงศ์ รับสนองพระบรมราชโองการ ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ให้ความเห็นชอบพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบถและจราจล พุทธศักราช 2488 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2488 [16] อันเป็นผลทำให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมดตามคำมั่นสัญญาของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ได้ให้ไว้ต่อหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์(ท่านชิ้น)

ไม่เพียงเป็นการทำตามสัญญาต่อหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์(ท่านชิ้น) เท่านั้น แต่ความจริงยังเป็นไปตามข้อเรียกร้องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7[17] ก่อนที่จะทรงสละราชสมบัติเสียอีก

นอกจากนั้นในหนังสือเจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ ของนายหนหวย ได้กล่าวถึงความพยายามที่จะเยียวยาบาดแผลของความขัดแย้งในอดีตความตอนหนึ่งว่า

“นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน รัฐบุรุษอาวุโส ยังได้แสดงความจริงใจเปิดเผยต่อบุคคลหลายคนและหนังสือพิมพ์ว่า จะคืนวังศุโขทัยที่ตกเป็นของรัตามคำพิพากษาคืนให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ ย่ิงไปกว่านี้ในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน นายปรีดี พนมยงค์ ดำริจะอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกลับคืนประเทศไทย ได้มีการติดต่อเป็นทางการสมานรอยร้าวในอดีตกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเป็นที่เรียบร้อย และรู้กันทั่วไป”[18]

ก่อนที่ไทยจะลุกขึ้นญี่ปุ่นจะต้องพุ่งรบกันซึ่งกำหนดเอาไว้วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2488 ปรากฏว่าวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมือง ฮิโรชิม่า คนตาย 66,000 คน บาดเจ็บ 69,000 คน ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองนางาซากิ บาดเจ็บ 25,000 คน รวมทั้งสองครั้งตายมากกว่า 250,000 คน ในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488 และเป็นผลทำให้ประเทศญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ไปเสียก่อนในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 [8]

วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ประเทศไทยจึงประกาศสันติภาพ โดยพระบรมราชโองการว่า การประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกาเป็นโมฆะไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย[19] พันตรีควง อภัยวงศ์ จึงได้ลาออกจากนายกรัฐมนตรีในวันรุ่งขึ้น และเปิดทางให้นายทวี บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อให้เกิดการเจรจาและทำความเข้าใจอันดีกับฝ่ายพันธมิตร

แต่การจับมือร่วมงานระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้ก่อการคณะราษฎร กับพระบรมวงศานุวงศ์ในการกอบกู้เอกราชในภารกิจขบวนการเสรีไทยครั้งนี้ ยังไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังต้องอาศัยศิลปการทูตเจรจาต่อรอง ผ่านดุลอำนาจระหว่างประเทศเพื่อลดความเสียหายให้น้อยที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยต้องเข้าสู่ภาวะปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุนแรง จึงต้องปลดทหารออกจำนวนมาก ชีวิตของเหล่าวีรบุรุษที่เคยได้ยึดดินแดนกลับมาในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. ซึ่งรวมถึง พลโทผิน ชุณหะวัณ มีความโกรธแค้น เพราะนอกจากเหล่าทหารหาญต้องเดือดร้อนทางฐานะการเงินและสูญเสียเกียติยศแล้ว ดินแดนทั้งหลายที่เคยประเทศไทยเคยยึดมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังจะต้องส่งมอบคืนกลับให้หมด นอกจากนั้นผู้นำทางการทหารอย่างจอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะ ก็ยังต้องถูกจับไปขึ้นศาลอาชญากรสงครามอีกด้วย

ตรงกันข้ามกับสถานภาพทางการเมืองของนักการเมืองในเวลานั้น ไม่ว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจจะแย่งเพียงใด แต่บริษัททั้งหลายของนักการเมืองที่มีหุ้นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ข้าวไทย จำกัด และ บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด รวมถึงธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายที่ได้มาจากการลงทุนของรัฐบาล ของส่วนตัว หรือการเบียดบังมาจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก็ยังมีกำไรอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือกันทำงานอย่างระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ กับเจ้านายซึ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทำไปเรื่องรักษาเอกราชและผลประโยชน์ของชาติในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้น นายปรีดี พนมยงค์ ในเวลาต่อมาเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วได้กล่าวในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 สุนทรพจน์ความตอนหนึ่งเรื่อง “ประชาธิปไตยที่มีสามัคคีธรรม” อันประกอบไป กฎหมาย ศีลธรรม และความซื่อสัตย์สุจริตความตอนหนึ่งเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ข้าพเจ้าเชื่อว่าถ้าต่างฝ่ายต่างสุจริตมุ่งส่วนรวมของประเทศชาติ ไม่ใช่มุ่งหวังส่วนตัว แม้แนวทางที่จะเดินไปสู่จุดหมาย จะเป็นคนละแนว แต่ในอวสานต์เราก็พบกันได้

ข้าพเจ้าขออ้างเจ้านายหลายพระองค์นั้น ท่านก็มีจุดหมายเพื่อส่วนรวมของประเทศชาติ ไม่ใช่ส่วนพระองค์ ผลสุดท้ายเราก็ร่วมมือทำงานด้วยกันมาเป็นอย่างดีในการรับใช้ประเทศชาติ และรักใคร่สนิทสนมยิ่งเสียกว่าผู้ซึ่งเอาประเทศชาติป็นสิ่งกำบัง แต่ความจริงมุ่งหวังในประโยชน์ส่วนตัวมาก ผู้ที่คอยอิจฉาริษยาเมื่อไม่ได้ผลสมหวังแล้ว ก็ทำลายกิจการอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ แทนที่จะเสริมก่อให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติอันเป็นส่วนรวม

ผู้ที่ทำการปฏิปักษ์ต่อคณะราษฎรแต่โดยมีอุดมคติซื่อสัตย์ต่อองค์พระมหากษัตริย์ ข้าพเจ้าเคารพในความซื่อสัตย์ ซึ่งมีตัวอย่างอยู่มากหลายที่ผู้ซื่อสัตย์เหล่านี้ได้ร่วมกิจการรับใช้ชาติกับข้าพเจ้า ท่านเหล่านี้ไม่ต้องวิตกกังวล

แต่ผู้ซึ่งแสดงว่าซื่อสัตย์ต่อองค์พระมหากษัตริย์ในภายนอก ส่วนภายในหวังผลส่วนตัวหรือมูลสืบเนื่องมาแต่ความไม่พอใจเป็นส่วนตนเช่นนี้แล้ว ก็เกรงว่าผู้นั้นก็อาจหันเหไปได้สุดแต่ว่าตนจะได้รับประโยชน์ส่วนตนอย่างไหนมากกว่า” [20]

อ้างอิง
[1] ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นไปภายในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, หนังสือบางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, หน้า 32
https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/2515-64.pdf

[2] คำของหม่อมเจ้าหญิง อัปภัศราภา เทวกุล, บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้ง 2, “สมเด็จพระศรีสวรินทิรา”, อนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท.อู๊ด นิตยสุทธิ ต.ช.ต.ม., อดีตผู้แทนราษฎร จังหวัดนคราราชสีมา ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา, หน้า 39-44

[3] ทศ พันธุมเสน และจินตนา ยศสุนทร, จากมหาสงครามสู่สันติภาพ, คณะกรรมการดำเนินงานโครงการฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส (11 พฤษภาคม 2443-11 พฤษภาคม พ.ศ. 2543), ผู้จัดพิมพ์ร่วม สถาบันปรีดี พนมยงค์, ดำเนินการผลิตโดย โครงการจัดทำสื่อเผยแพร่เกียรติคุณ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุดสสำหรับเด็กและเยาวชน และสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, ISBN 974-7833-35-2 พิมพ์ครั้งที่ 2 16 สิงหาคม พ.ศ. 2552 หน้า 63
http://www.openbase.in.th/files/pridibook013.pdf

[4] ดร.อัศวิน จินตกานนท์, สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำไมไทยจึงไม่แพ้, วีรชนเสรีไทยกับบทบาทในการรักษาเอกราชของชาติไทย เว็บไซต์ของบริษัททีมกรุ๊ป
https://www.teamgroup.co.th/downloads/publications/book221211.pdf

[5] ป๋วย อึ้งภากรณ์, พระบรมวงศานุวงศ์ และขบวนการเสรีไทย, ธันวาคม ค.ศ. 1971,จากหนังสืออนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท.อู๊ด นิตยสุทธิ ต.ช.ต.ม., อดีตผู้แทนราษฎร จังหวัดนคราราชสีมา ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2517, หน้า 45-48

[6] ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นไปภายในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, หนังสือบางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, หน้า 41-49
https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/2515-64.pdf

[7] ทวี บุณยเกตุ, ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศไทยระหว่างมหาสงครามโลกครั้งที่ 2, หนังสือ คำบรรยายและบทความบางเรื่องของนายทวี บุณยเกตุ, คุรุสภาจัดพิมพ์เป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ นายทวี บุณยเกตุ ม.ป.ช., ท.จ.ว., ท.ม. ณ เมรุหน้าพลับพลา อิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพุธที่ 8 มีนาคม พุทธศักราช 2515,หน้า 17-19

[8] ทศ พันธุมเสน และจินตนา ยศสุนทร, เรื่องเดียวกัน หน้า 143-144
http://www.openbase.in.th/files/pridibook013.pdf

[9] ทศ พันธุมเสน และจินตนา ยศสุนทร, เรื่องเดียวกัน หน้า 19-20

[10] ปรีดี พนมยงค์, คำปรารภตามคำร้องขอของนายกนธีร์ ศุภมงคล อดีตเลขาธิการ ส.ป.อ. และอดีตที่ปรึกษาของรัฐบาลจอมพลถนอม เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2514, อนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท.อู๊ด นิตยสุทธิ ต.ช.ต.ม., อดีตผู้แทนราษฎร จังหวัดนคราราชสีมา ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา, หน้า 84

[11] ทศ พันธุมเสน และจินตนา ยศสุนทร, เรื่องเดียวกัน หน้า 73-74

[12]โรม บุนนาค, นักการเมืองไร้แผ่นดิน, คอลัมน์ เรื่องเก่าเล่าใหม่ หน้า 65-66 นิตยสาร all ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ. 2550

[13] ตอนที่ 5 กบฏพระยาทรงสุรเดช, "ย้อนรอยรัฐประหารไทย" สารคดีทางดีเอ็นเอ็น: ศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2554

[14] ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องนายทหารออกจากประจำการ, เล่ม 62 ตอนที่ 9, วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 หน้า 148-149
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/D/009/148.PDF

[15] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจราจล พุทธศักราช 2488, เล่ม 62 ตอนที่ 27, วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 หน้า 337-341
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/A/027/337.PDF

[16] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบถและจราจล พุทธศักราช 2488, เล่ม 62 ตอนที่ 42, วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2488, หน้า 479-480
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/A/042/479.PDF

[17] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พุทธศักราช 2478, หน้า 488-489
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383561/16_24770131_wb.pdf?sequence=1

[18] สุพจน์ แจ้งเร็ว, คดียึดพระราชทรัพย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ,ศิลปวัฒนธรรม ลำดับที่ 272 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8 มิถุนายน 2545, หน้า 62-80

[19] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสันติภาพ, เล่มที่ 62 ตอนที่ 44 วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 หน้า 503-506
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/235501/SOP-DIP_P_419966_0001.pdf?sequence=1

[20] ปรีดี พนมยงค์,คัดลอกบางตอนจาก สุนทรพจน์ ของนายปรีดี พนมยงค์ แสดงให้สภาผู้แทนราษฎร วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 , อนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท.อู๊ด นิตยสุทธิ ต.ช.ต.ม., อดีตผู้แทนราษฎร จังหวัดนคราราชสีมา ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2517, เผยแพร่เว็บไซต์สถาบันปรีดี, หน้า 11
https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/2515-66.pdf

12 มี.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์