ผู้เขียน หัวข้อ: สาธารณสุขเห็นชอบมาตรการ "ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท" แบบออนไลน์  (อ่าน 342 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เห็นชอบมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ ป้องกันผู้บริโภคเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่าย

วานนี้ (2 กรกฎาคม 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ครั้งที่ 17 (ครั้งที่ 1/2563) โดยมีนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นายสาธิต กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีการขายเครื่องดื่มทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์มีการขายพร้อมโปรโมชั่นพิเศษและจัดส่งให้ถึงหน้าบ้าน โดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านอายุ เวลา และสถานที่ ส่งผลให้ผู้บริโภคเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่าย และทำให้การบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เป็นไปได้ยาก และยังเป็นการทำลายกรอบการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกรูปแบบ อาทิ เด็ก/วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี สามารถสั่งซื้อได้, สั่งซื้อในเวลาและสถานที่ที่ห้ามขาย ทำให้รัฐเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี เพราะตรวจสอบยอดขายยาก

ร่างประกาศฯ ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันผู้บริโภคเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย ซึ่งต้องมีมาตรการควบคุมเน้นไปที่วิธีการและลักษณะการขาย อาศัยอำนาจตามมาตรา 30 (6) เพื่อออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดลักษณะและวิธีการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื้อหาจะมุ่งเน้นไปที่กระบวนการทำนิติกรรมสัญญาเป็นหลัก โดยเริ่มตั้งแต่การทำคำเชิญชวน การทำคำเสนอซื้อ และการสนองรับการขาย เพื่อเป็นการควบคุมในเรื่องวิธีการและลักษณะการขาย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวเสริมว่า สำหรับข้อยกเว้นของประกาศฯ ฉบับนี้ ในอนาคตร้านค้า/ร้านอาหารอาจมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการภายในร้าน มีการสั่งเครื่องดื่มผ่านทางหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ จะไม่ถือว่าเป็นความผิดตามประกาศฯ ฉบับนี้ เนื่องจากเป็นการซื้อขายโดยตรง ที่ร้านค้า ร้านอาหาร หรือสถานที่ที่ให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ได้เป็นการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีระบบเฝ้าระวังการละเมิดกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (TAS) ประชาชนสามารถร้องเรียนผ่านระบบดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ https://tas.go.th หากมีข้อสงสัยสามารถโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนบุหรี่และสุรา โทร. 0 2590 3342

3 ก.ค. 63
https://www.sanook.com/news/8200306/

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ค้านร่างประกาศห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์ ชี้ซ้ำเติมผู้ประกอบการรายย่อย ละเมิดสิทธิประชาชน

สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) ประกาศจุดยืนหลังรัฐบาลเห็นชอบร่างประกาศห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยระบุว่า ร่างประกาศดังกล่าวไม่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ส่งเสริมการเว้นระยะห่างทางสังคมท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สวนทางกับความต้องการของผู้บริโภคในยุค New Normal อีกทั้งยังเป็นการซ้ำเติมและสร้างความเดือดร้อนต่อผู้ประกอบการที่ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวจากการหยุดดำเนินธุรกิจชั่วคราวในช่วงก่อนหน้านี้

โดยระบุว่า ทั้งหมดนี้จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยิ่งกว่าเดิม พร้อมเรียกร้องให้มีการพิจารณายกเลิกร่างประกาศดังกล่าว ซึ่งสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อป้องกันเยาวชนไม่ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย และเพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือบริการที่เกี่ยวข้องกับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์ให้กับผู้บริโภคโดยตรงนั้น

ทางสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA มีความเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศฯ ดังกล่าวว่า การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์นั้นเป็นมาตรการที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ จำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

นายธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA กล่าวว่า (ร่าง) ประกาศฯ ดังกล่าว ไม่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์และมาตรการของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่รณรงค์ให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางสังคม ลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น อีกทั้งยังขัดต่อแนวทางการส่งเสริมนวัตกรรมและการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่หลายธุรกิจหันมาให้ความสำคัญ ซึ่งไม่เพียงเป็นหนึ่งในรูปแบบการใช้ชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal แต่ยังเป็นทิศทางที่หลายประเทศให้ความสำคัญ

ไม่เพียงเท่านี้ TABBA ยังเห็นว่า การเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศฯ ดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจอย่างสุจริตและถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเมื่อไม่สามารถจำหน่ายทางออนไลน์ได้ ธุรกิจเหล่านี้ก็ต้องปิดตัวลง กลายเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

อีกทั้ง ผู้ประกอบการที่ลักลอบดำเนินธุรกิจแบบผิดกฎหมาย ทั้งการจำหน่ายสินค้าปลอมหรือสินค้าหนีภาษี ก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากการปิดกิจการของผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องอีกด้วย

นอกจากนี้ การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์ ยังถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริโภคในการเลือกหาสินค้าและบริการ สิทธิในการได้รับความปลอดภัยจากการซื้อสินค้าและบริการ สิทธิที่จะได้รับบริการที่ดีที่สุด และสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการหลีกเลี่ยงการเดินทาง

ส่วนข้ออธิบายของรัฐบาลที่ว่า (ร่าง) ประกาศห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกฮอล์ ผ่านช่องทางออนไลน์จะช่วยป้องกันเยาวชนไม่ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่ายนั้น ทาง TABBA เห็นว่า การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปได้ โดยผู้ประกอบการต้องดำเนินการให้มีตรวจสอบอายุผู้ซื้อ การบันทึกข้อมูลผู้ซื้อ เวลาทำธุรกรรมซื้อขาย และการจัดส่งสินค้า ซึ่งไม่ตรงกับเหตุผลของการออก (ร่าง) ประกาศฯ ที่ว่า การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์นั้นยากต่อการควบคุมเกี่ยวกับเรื่องวัน เวลา สถานที่ และบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด รัฐบาลจึงไม่มีความจำเป็นในการออก (ร่าง) ประกาศฯ ดังกล่าว

ยืนยันภาคเอกชนยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการปฎิบัติตามกฎหมาย หากตัวกฎหมายมีความยุติธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ทางสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณายกเลิก (ร่าง) ประกาศฯ ดังกล่าว เพราะไม่มีความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม แต่ในทางกลับกัน ภาครัฐควรดำเนินการกับผู้ประกอบการที่ลักลอบดำเนินธุรกิจออนไลน์อย่างผิดกฎหมาย ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปลอมหรือหนีภาษีอย่างเปิดเผย พบเห็นได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งสร้างปัญหาการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน มีผลต่อสุขภาพ

ตลอดจนเป็นสาเหตุให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี ซึ่งมิใช่มาออกมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามร่างประกาศฉบับนี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการลงโทษผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจโดยสุจริตนอกจากนี้ รัฐบาลควรพิจารณาการบังคับใช้พระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่มีอยู่แล้วให้เกิดประสิทธิภาพ และควรช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและเข้าใจกฎหมายได้โดยง่าย เพื่อที่ประชาชนจะได้ปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง มีการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการสร้างองค์ความรู้และการตระหนักรู้เกี่ยวกับโทษของการดื่มอย่างเป็นอันตราย หรือ Harmful Use of Alcohol ให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ซึ่งภาคเอกชนยินดีให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในเรื่องดังกล่าว

4 ก.ค. 63
https://www.sanook.com/news/8201390/