ผู้เขียน หัวข้อ: ผนึกกำลังเสริมแกร่งบุคลากรทางการแพทย์ รพ.สต.- อสม.- อสส.ในชุมชนกลุ่มเสี่ยง  (อ่าน 288 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
เครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย “THOHUN” ร่วมกับ “ไฟเซอร์” จับมือกับกลุ่มพันธมิตร วางแผนมาตรการเชิงรุกทุกมิติ เตรียมพร้อมรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง เผยตอนนี้ยังไม่เป็นระลอกใหม่ ชี้ยังคุมสถานการณ์ได้อยู่

วันนี้ (12 พ.ย.) เครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย (THOHUN) ร่วมกับบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผนึกกำลังพันธมิตร แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เดินหน้ามาตรการเชิงรุกทุกมิติ เตรียมพร้อมรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ หลังรัฐบาลเปิดประเทศเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ร่วมดำเนินโครงการ “ส่งต่อความช่วยเหลือด้วยสถานการณ์ COVID-19 ให้กับโรงพยาบาลและชุมชนในกลุ่มเสี่ยง” โดยส่งมอบชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หน้ากาก N95 และ Face shield ราว 5,000 ชุด พร้อมผลิตสื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่ COVID-19 และสาธิตเพื่อป้องกันตนเองของบุคลากรทางแพทย์ในโรงพยาบาลระดับภูมิภาค และอาสาสมัครสาธารณสุข รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานในชุมชนกลุ่มเสี่ยง

ผศ.ดร.แสงเดือน มูลสม ผู้ประสานงานเครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย (THOHUN) กล่าวว่า “สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังคงเป็นปัญหาที่มีผลกระทบทางสุขภาพและเศรษฐกิจเป็นวงกว้างทั่วโลก ประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จสูงในการควบคุมและรับมือกับโรค COVID-19 ในระลอกที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม. และ อสส.) เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่กระจายอยู่ในกรุงเทพมหานคร และชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศล้านคน บุคลากรทางแพทย์และอาสาสมัครเหล่านี้ ถือเป็นกำลังสำคัญด่านหน้า ที่ช่วยประเทศในการตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังผู้ป่วยระดับชุมชน จนได้รับยกย่องจากองค์กรอนามัยโลก ว่าประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพราะจิตอาสาในการเอาใจใส่สอดส่องดูแลคนในชุมชนของอาสาสมัครสาธารณสุขเหล่านี้

จากการลงพื้นที่ชุมชนต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า อาสาสมัครสาธารณสุขเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เนื่องจากขาดความรู้ในการใช้ สวมใส่ และถอดทิ้งอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลอย่างถูกต้องและครบถ้วน และยังขาดสื่อความรู้ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับบริบทการทำงานจริงในชุมชน นอกจากนี้ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อยังมีไม่เพียงพอสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานทางการแพทย์ในโรงพยาบาลระดับภูมิภาคที่ให้การดูแลและรักษาผู้ป่วยโรค COVID-19 และเมื่อประเทศไทยจะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว ทำให้มีการหลั่งไหลของผู้มาเยือนจากต่างชาติไปยังชุมชนทั่วประเทศ จึงจำเป็นที่ทุกภาคควรมีการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ดังนั้น THOHUN และเครือข่ายพันธมิตร จึงได้จัดทำสื่อให้ความรู้เรื่องการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันตนเองของอาสาสมัครสาธารณสุขที่ง่ายและเหมาะสมกับบริบทการทำงานของอาสาสมัครเหล่านี้ โดยจะเผยแพร่ไปทั่วประเทศ เพื่อผู้ปฏิบัติงานหน้าด่านเหล่านี้ ให้มีความพร้อมและปลอดภัยในการรับมือกับการระบาดระลอกต่อไปของ COVID-19”

ดร.นพ.นิรุตติ์ ประดับญาติ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “โควิด-19 คือปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงกับวิถีชีวิต และสุขภาพอนามัยของมนุษยชาติ รวมถึงเศรษฐกิจในระดับโลก ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตดังกล่าวไปได้ ประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการรับมือกับโรคโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตาม การเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดระลอกสองที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไฟเซอร์ ได้ใช้วิทยาศาสตร์และทรัพยากรความรู้ที่มีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วโลก เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ไฟเซอร์จึงทำทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะวิกฤตครั้งนี้ ทั้งการร่วมพัฒนาวัคซีนต้านโรคโควิด-19 และการมอบความช่วยเหลืออื่นๆ ที่ทำได้อย่างเต็มความสามารถ โดยมั่นใจอย่างยิ่งว่าวิทยาศาสตร์จะสามารถเอาชนะวิกฤตในครั้งนี้ได้แน่นอน (‘Science Will Win’)

สำหรับมาตรการการช่วยเหลือในประเทศไทย ตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 ระยะแรก มูลนิธิไฟเซอร์ ประเทศไทยได้บริจาคชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และหน้ากาก N95 ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศผ่านโครงการของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ครั้งนี้ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังคงส่งต่อความช่วยเหลือร่วมกับแพทยสมาคมฯ โดยการมอบเงินสนับสนุนการจัดซื้อชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลและหน้ากาก N95 ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์บริเวณชายแดนซึ่งเป็นพื้นที่ในกลุ่มเสี่ยง และได้ร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย (THOHUN) และมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาสื่อการสอนเพื่ออบรมบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลท้องถิ่นให้สามารถรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสองที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภาแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการสำนักงานแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “การรับมือจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ขณะนี้ถือว่าทำได้ในระดับที่ดีมาก เป็นผลมาจากการช่วยเหลือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน รวมถึงกลุ่มแพทย์ในประเทศไทยมีความรู้ความสามารถ เรียกได้ว่าประเทศไทยสามารถเอาชนะโควิด-19 ได้ในระดับที่น่าพอใจ แต่ก็อย่าประมาทเพราะวัคซีนป้องกันโรคยังอยู่ระหว่างการดำเนินการค้นคว้าวิจัย ดังนั้น วัคซีนที่ดีที่สุดของบุคคลทั่วไปในตอนนี้ คือ “การสวมหน้ากากอนามัย” และ “การเว้นระยะห่าง” ส่วนวัคซีนที่จะช่วยป้องกันชุมชนและประเทศให้พ้นจากวิกฤตนี้ คือการให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนปฏิบัติงานด่านหน้า ให้มีความพร้อม มีเกราะป้องกันที่ดี”

ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “นอกเหนือจากการเสริมความแข็งแกร่งให้กับกลุ่ม อสม. ที่เป็นด่านหน้าของชุมชนแล้ว มูลนิธิศุภนิมิตฯ ยังได้เล็งเห็นความสำคัญของชนกลุ่มน้อยและกลุ่มแรงงานอพยพที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ถูกจัดเป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมที่ต้องเร่งได้รับการดูแลช่วยเหลือ และเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อได้ตลอดเวลา เนื่องจากขาดอุปกรณ์ป้องกัน อีกทั้งยังขาดสิทธิ์ในการดูแลรักษาพยาบาลเหมือนคนทั่วไป ดังนั้น หากติดเชื้อจึงย่อมมีโอกาสแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้โดยง่าย โดยในระยะที่ผ่านมา ทางมูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้เตรียมถุงยังชีพที่บรรจุสิ่งของดำรงชีวิตที่จำเป็นและอุปกรณ์ป้องกัน นำไปมอบให้เพื่อบรรเทาผลกระทบเฉพาะหน้า รวมทั้งวางแผนดำเนินการในระยะยาวเพื่อมอบความช่วยเหลืออื่นๆ ต่อไป”

สำหรับการดำเนินโครงการ “การส่งต่อความช่วยเหลือด้วยสถานการณ์ COVID-19 ให้กับโรงพยาบาลและชุมชนในกลุ่มเสี่ยง” ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่าง THOHUN บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เป็นการส่งต่อความช่วยเหลือในทุกมิติ มิติองค์ความรู้ ได้แก่ จัดให้มีการอบรม และการผลิตสื่อให้ความรู้ในรูปแบบวิดีโอคลิป (VDO Clip) แก่บุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเนื้อหาของสื่อนี้จะมีความสอดคล้องกับบริบทการปฏิบัติงานจริงของประเทศไทย ตั้งแต่การประเมินว่าตนเองมีความใกล้ชิดผู้ป่วยมากน้อยเพียงใด หรือมีความเสี่ยงระดับใด เพื่อให้สามารถเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองได้อย่างเหมาะสม รวมถึงแนวทางการปฏิบัติในการสวม-ใส่-ถอด-ทำลาย อุปกรณ์ป้องกันที่ถูกต้อง ซึ่งมีความสำคัญในการช่วยป้องกันและลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสสู่ชุมชน โดยวิดีโอคลิปดังกล่าวจะถูกเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ thohun.org และเว็บไซต์ของเครือข่ายพันธมิตร และ มิติอุปกรณ์ป้องกันโรค ได้มีการจัดหาและส่งมอบชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) หน้ากาก N95 และ Face shield จำนวน 5,000 ชุด ผ่านแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ สู่ 40 โรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และชุมชนในกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ รวมถึงมิติความช่วยเหลือเฉพาะหน้า ได้มีการจัดเตรียมถุงยังชีพที่บรรจุสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตและอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ มอบผ่านมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยฯ สู่ผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นชนกลุ่มน้อยและกลุ่มแรงงานอพยพที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เริ่มต้น 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนตลาดไท จังหวัดปทุมธานี ชุมชนบางขุนเทียน กรุงเทพฯ และชุมชนห่างไกลความเจริญในพื้นที่จังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง

12 พ.ย. 2563 ผู้จัดการออนไลน์