ผู้เขียน หัวข้อ: นำร่อง! รพ.โพธาราม จ.ราชบุรี เปิดบริการรับยาผ่านบริการ "Drive Thru Medicine  (อ่าน 308 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยโรงพยาบาลโพธาราม จังหวัดราชบุรี เปิดบริการรับยาแบบ Drive Thru ช่วยลดเวลารอคอยจาก 1-2 ชั่วโมงเหลือเพียง 5 นาที ลดความแออัดร้อยละ 50 ในคลินิกเบาหวาน ความดัน จักษุ จิตเวช และโรคกระดูก ชูเป็น New Normal ลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19

วันนี้ (11 ต.ค.) แพทย์หญิงพรรณประภา ยงค์ตระกูล โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรงพยาบาลโพธาราม จังหวัดราชบุรี ได้พัฒนาระบบบริการ "Drive Thru Medicine รับยาบนรถไม่พบแพทย์" เพื่อลดความเสี่ยงจากการระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงที่ผ่านมา ที่ต้องมีมาตรการเว้นระยะห่าง ในการลดความแออัดและลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อภายในโรงพยาบาล จากการให้บริการพบว่า ช่วยลดความแออัดลงได้ร้อยละ 50 ในกลุ่มโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ขณะนี้มีการขยายผลการรับยาด้วยวิธี Drive Thru ไปยังคลินิกจักษุ คลินิกจิตเวช และคลินิกกระดูก ผู้รับบริการมีความพึงพอใจร้อยละ 96 เนื่องจากลดเวลารอคอยจากเดิมใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง แต่ใช้เวลารับยาเพียง 5 นาที และลดความเสี่ยงในการมารับเชื้อภายในโรงพยาบาล ถือเป็นการให้บริการวิถีใหม่หรือ New Normal เพื่อลดความเสี่ยงโรคโควิด-19

ด้านแพทย์หญิงถิรนัน สาสุนีย์ หัวหน้ากลุ่มงานผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลโพธาราม จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ผู้ป่วยที่จะเข้าร่วมโครงการต้องเป็นผู้ป่วยเก่าที่รับการรักษาอยู่ก่อนและมีอาการคงที่ โดยพยาบาลจะติดต่อว่า สนใจรับยาด้วยวิธี Drive Thru หรือไม่ หากคนไข้สะดวกรับยาด้วยวิธีนี้ พยาบาลจะนัดหมายวันและเวลาในการมารับยา และส่งข้อมูลไปยังเภสัชกร เพื่อจัดยาตามลำดับคิวไว้เป็นชุดๆ และติดใบนัดหมายไว้ที่ถุงยา เมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลสามารถแจ้ง รปภ.ว่ามารับยาด้วยวิธีดังกล่าว รปภ.จะติดบัตรคิวไว้ที่หน้ารถ เมื่อขับเข้ามาในเส้นทางที่กำหนดไว้จนถึงจุดรับบริการ ก็จะรับยาที่จัดเตรียมไว้จากเภสัชกร ซึ่งจะมีการสอบถามและตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดการจ่ายยาที่ผิดพลาด ให้คำแนะนำเรื่องของการใช้ยา และนัดหมายการรับบริการในครั้งต่อไป เมื่อรับยาเสร็จก็สามารถขับรถกลับบ้านได้ทันที โดยไม่ต้องลงจากรถ ใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 3-5 นาทีต่อคัน ญาติผู้ป่วยสามารถขับรถมารับยาแทนได้ แต่จะมีการตรวจสอบความถูกต้องด้วย

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ดำเนินการเรื่องนี้ได้ เนื่องจากการจราจรไม่ติดขัด ประกอบกับโรงพยาบาลมีพื้นที่ แต่จะต้องจัดบริการในช่วงเวลาบ่าย เพื่อหลีกเลี่ยงความหนาแน่นจากการมีผู้ป่วยมาพบแพทย์และรักษาในช่วงเช้า โดยเฉลี่ยมีผู้ป่วยรับยาด้วยวิธีนี้ 40 รายต่อวัน ใช้เวลาดำเนินการให้ยาผู้ป่วยจนครบทุกรายประมาณ 1-2 ชั่วโมง

11 ต.ค. 2563  ผู้จัดการออนไลน์