หมวดหมู่ทั่วไป > ข่าวสมาพันธ์

แถลงการณ์สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปฯ กรณี รพ.ขอนแก่น

(1/13) > >>

story:


                                          แถลงการณ์สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปฯ
                                                                       ๑  มิถุนายน  ๒๕๖๓
                          จากกรณีที่คณะแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และสหสาขาวิชาชีพโรงพยาบาลขอนแก่น ได้ทำหนังสือขอเรียกร้องให้มีการตรวจสอบอย่างเป็นธรรม
 
 
                       สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปฯ ขอเรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขได้ใช้หลักธรรมาภิบาลโดยเฉพาะหลักคุณธรรม และความโปร่งใสในการตรวจสอบ เพื่อไม่ให้มีคำครหาว่า การพิจารณาคำร้องเรียนตามบัตรสนเท่ห์นี้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม เพื่ออำนาจของคนบางคนที่ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร และประชาชนแต่อย่างใด
                      สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปฯขอเรียกร้องให้องค์กรแพทย์ทั่วประเทศสนับสนุน และให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลขอนแก่น เพื่อให้เพื่อนๆของเราได้ปฏิบัติงานดูแลรักษาประชาชนในสิ่งแวดล้อมที่มีคุณธรรมและมีหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงาน
…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………….


story:
รองปลัดสธ. แจงหลักการสอบสวนฯ “นพ.ชาญชัย” ผอ.รพ.ขอนแก่นเป็นไปตามระเบียบ ขณะที่กก.สอบฯ ยืนยันบัตรสนเท่ห์นำไปสู่การตรวจสอบได้ เพราะมีหลักฐาน หนำซ้ำสอบพยานแล้ว 11 ปาก ด้านหมอชาญชัย พร้อมให้ข้อมูลกก. ยืนยันปฏิบัติตามระเบียบ
ตามที่บุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลขอนแก่นออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมกรณีนพ.ชาญชัย จันทร์วรขัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น หลังถูกตั้งกรรมการทั้งสืบข้อเท็จจริง จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงกรณีมีผู้ร้องเรียนกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบ และระเบียบของราชการเรื่องเรียกรับเงินจากบริษัทยา และร้านค้าร้อยละ 5 เข้าบัญชีกองทุนพัฒนา รพ.ขอนแก่น จนเกิดกระแส SAVE หมอชาญชัย

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีการสอบสวนนพ.ชาญชัย สืบเนื่องจากปลายปี 2562 มีผู้ร้องเรียนส่งมาที่ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต พร้อมแนบหลักฐานส่งมาที่ศูนย์ฯ โดยศูนย์ฯจึงพิจารณา โดยผู้ร้องเรียนไม่ได้ลงนาม เพราะถ้าลงนามก็จะมีคณะกรรมการอีกชุดหนึ่ง แต่เมื่อเป็นการร้องเรียนปกติ จึงมอบให้กลุ่มเสริมสร้างและระบบคุณธรรมทำการตรวจสอบตามระบบปกติ โดยประมาณปลายเดือนตุลาคม ทางกลุ่มเสริมสร้างวินัยและระบบคุณธรรมจึงทำหนังสือจากการตรวจสอบมาว่า ต้องไปสอบข้อเท็จจริงว่า มีมูลหรือไม่อย่างไร ซึ่งร้องเรียนมาหลายประเด็นมาก มีการร้องเรียนทั้งผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่การเงิน ซึ่งประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมาพบว่ามีบางประเด็นที่มีหลักฐานเชื่อได้ว่ารพ.ขอนแก่นทำไม่ถูกต้องในเชิงหลักการที่เราได้ถือปฏิบัติ ซึ่งหลักเกณฑ์นี้เราได้ปฏิบัติมาตลอด ไม่ใช่แค่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขท่านนี้เท่านั้น จริงๆการตรวจสอบครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก็เคยมีกระบวนการเช่นนี้เหมือนกัน เป็นกระบวนการปกติไม่มีใคร
นพ.อภิชาติ รอดสม สาธารณสุขนิเทศก์ที่ 6 กล่าวว่า ตนได้เป็นกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. 2562 โดยเราได้เรียกพยานบุคคล และพยานเอกสาร ทั้งรัฐและเอกชน จากนั้นรวบรวมสรุปผลเพื่อเสนอผู้มี่อำนาจต่อไป ซึ่งกระบวนการดำเนินการนั้นเราได้ดำเนินการตามปกติ โดยได้รวบรวมหลักฐานมาตลอด โดยเราพบว่ามีมูลหลักฐานความผิดของกฎหมาย ป.ป.ช. เพื่อเสนอผู้มีอำนาจ โดยมูลนั้น คือ การรับเงินเข้าสู่กองทุนที่ขัดต่อกฎหมายป.ป.ช. และมีการรับทราบในการลงรับเรื่องมาตลอด

“ขอย้ำว่า กรณีการสอบสวนที่ผ่านมาทำตามกฎหมายทั้งหมด โดยเป็นไปตามกฎ กพ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ.2556 ข้อ 4 (1) (2) ว่า หากการร้องเรียนเป็นบัตรสนเท่ห์ที่ไม่มีการลงชื่อ แต่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ และเป็นเบาะแสได้นั้น ก็ต้องตรวจสอบ และทางคณะกรรมการสอบสวนก็มีการสอบพยานประมาณ 11 ปาก เอกสารไม่ต่ำกว่า 18 ชุด ทั้งหมดมีหลักฐานเป็นไปตามกฎหมาย” นพ.อภิชาติ กล่าว
น.ส.ยุพิน ตันวิสุทธิ ผอ.กลุ่มเสริมสร้างวินัยและระบบคุณธรรม กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่กฎหมาย ป.ป.ช. โดยตรง แต่ป.ป.ช. มีข้อเสนอให้ครม. ให้ความเห็นชอบว่า ต่อไปนี้ส่วนราชการจะรับเงินเปอร์เซ็นต์ยา ไม่ได้ หากมีกรณีเช่นนี้อีก ให้ถือว่าผู้ฝ่าฝืนทำผิดความผิดวินัย ซึ่งก็จะเข้าเรื่องไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบราชการ จึงเป็นได้ทั้งวินัยร้ายแรงและไม่ร้ายแรง ซึ่งขัดต่อมติ ครม. ที่ป.ป.ช.เสนอเรื่องนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่าปกติการสอบสวนบัตรสนเท่ห์ทำได้ตลอดหรือไม่ น.ส.ยุพิน กล่าวว่า กรณีบัตรสนเท่ห์ที่ไม่แสดงแต่ส่งเอกสาร หรือชี้เบาะแสทำให้ตรวจสอบต่อไปได้ จำเป็นต้องตรวจสอบ แต่หากเป็นบัตรสนเท่ห์ที่เขียนมาลอยๆ ก็ไม่ต้องดำเนินการ แต่หากมีพยานหลักฐานดำเนินการสอบสวนได้
เมื่อถามว่าผู้ถูกสอบสวนวินัยร้ายแรงต้องย้ายออกจากพื้นที่หรือไม่ น.ส.ยุพิน กล่าวว่า ตามกฎหมายหากผู้ถูกสอบสวนมีเหตุให้มีผลขัดขวางการสอบสวน ก็สามารถย้ายออกได้ แต่ต้องมีพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งแสดงออกมาก่อน ทั้งก่อน ระหว่างก็ได้ ซึ่งหากทำให้การสอบสวนไม่สามารถดำเนินไปได้ตามปกติ ก็ย้ายได้ อย่างไรก็ตาม การสอบสวนทางวินัยร้ายแรงต้องไม่เกิน 180 วัน แต่หากมีเหตุจำเป็นขยายเวลาได้ แต่ไม่ควรเกินทั้งหมด 270 วัน
นพ.ยงยศ กล่าวเพิ่มเติมว่า มติครม.มีมาตั้งแต่ปลายปี 2560 ถึงต้นปี 2561 โดยกระทรวงสาธารณสุขมีหนังสือแจ้งเมื่อวันที่  2 มี.ค.2561  เกี่ยวกับข้อปฏิบัติตามครม. ที่ป.ป.ช.เสนอ แต่ในสส่วนของรพ.ขอนแก่นนั้น จากการตรวจสอบพบว่า มี.ค. รับเงิน 1.5 ล้านบาท และยังรับอีก 2 -3 เดือนต่อเนื่อง การรับตรงนี้เมื่อตรวจสอบยังพบว่า จำนวนเงินที่แตกต่างกันนั้น ขึ้นอยู่กับ รพ.ซื้อยาเท่าไหร่ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่างตอบแทน อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนต่อไปในการตรวจสอบวินัยร้ายแรง ก็ต้องไปดูว่าทุจริตหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทุจริต แต่ถูกสงสัยว่าอาจกระทำผิดระเบียบในเรื่องผลประโยชน์ต่างตอบแทนด้วย อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงที่มี นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 6
เมื่อถามว่ากรณีที่เกิดขึ้นเกิดคำถามว่าต้องการโยกย้ายผู้อำนวยการรพ.ขอนแก่น นพ.ยงยศ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการทำตามหนังสือร้องเรียน พร้อมหลักฐาน ซึ่งมีการตรวจสอบตามหนังสือทั้งหมด ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายข้าราชการแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม การสอบสวนตามบัตรสนเท่ห์นั้น ปกติมีมากกว่ามีการลงชื่อ เพราะต้องเข้าใจว่า อำนาจของผู้ถูกร้องมีมากกว่าผู้ร้อง จึงไม่ลงชื่อกัน

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้โทรไปสัมภาษณ์ นพ.ชาญชัย เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ตนพร้อมให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการทั้งหมด เนื่องจากยืนยันว่าไม่ได้มีการกระทำใดๆที่ไปในทางทุจริต โดยหลังจากกระทรวงสาธารณสุขมีหนังสือให้ปฏิบัติตามข้อสั่งการตั้งแต่ช่วงมี.ค. 2561 ที่ผ่านมาเกี่ยวกับทางการเงินดังกล่าวนั้น ตนได้ทำหนังสือเวียนให้รองบริหารของทางรพ.ขอนแก่น และได้เรียกประชุมเมื่อช่วงปลายเดือนมี.ค.โดยให้ทุกฝ่ายถือปฏิบัติ
เมื่อถามถึงข้อกล่าวหารับเงินบริจาคจากบริษัทยา นพ.ชาญชัย กล่าวว่า ทางการเงินได้รวบรวมส่งให้ฝ่ายบัญชี และฝ่ายบัญชีส่งให้รองบริหาร และมีตนในฐานะผอ.รพ.ลงนามเกี่ยวกับเงินบริจาค ซึ่งเงินบริจาคเป็นเงินที่เปิดให้ประชาชนสามารถบริจาคเข้ากองทุนพัฒนารพ.ขอนแก่น โดยจำนวนเงินบริจาคไม่ได้มีการแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับรายชื่อผู้บริจาคส่งขึ้นมา ซึ่งคาดว่าที่เป็นเช่นนั้นน่าจะอยู่ที่กำลังปรับระบบอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ตนขอยืนยันพร้อมให้ข้อมูลคณะกรรมการทั้งหมด
Fri, 2020-05-29 10:50 -- hfocus team
……………………………...…………...…....
รุกสอบวินัย ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น ปมรับเงินบริจาคบริษัทยาเข้ากองทุน รพ.

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวกรณีตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย นพ.ชาญชัย จันทร์วรขัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น กรณีมีผู้ร้องเรียนรับเงินบริษัทยา 5% เข้ากองทุน รพ.ขอนแก่น เป็นเหตุให้บุคลากรสาธารณะที่จังหวัดขอนแก่นแห่ “save หมอชาญชัย” และร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เพื่อขอความเป็นธรรมว่า ปลายปี 2562 มีผู้ร้องเรียนเรื่องดังกล่าวผ่านบัตรสนเท่ห์ในหลายประเด็นมาที่ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต พร้อมแนบหลักฐาน โดยร้องทั้ง ผอ.รพ.และเจ้าหน้าที่การเงิน จึงมอบให้กลุ่มเสริมสร้างและระบบคุณธรรมตรวจสอบตามระบบปกติ

“ปลายเดือน ต.ค.กลุ่มเสริมสร้างวินัยฯ ตรวจสอบพบมีมูล มีบางประเด็นที่มีหลักฐานเชื่อได้ว่า รพ.ขอนแก่น ทำไม่ถูกต้องในเชิงหลักการปฏิบัติ โดยพบว่าเดือน มี.ค. รับเงิน 1.5 ล้านบาท และยังรับอีก 2-3 เดือน จำนวนเงินต่างกัน ตรวจสอบพบว่าจำนวนเงินจะขึ้นกับจำนวนการสั่งซื้อยาแม้จะระบุว่าเป็นการบริจาค แต่เมื่อขึ้นกับจำนวนการซื้อยา แม้จะนำเข้ากองทุนของ รพ.แต่ก็ถือเป็นประโยชน์ต่างตอบแทน ขั้นตอนต่อไปการตรวจสอบวินัยร้ายแรงต้องดูว่าทุจริตหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทุจริต แต่ถูกสงสัยว่าอาจกระทำผิดระเบียบเรื่องผลประโยชน์ต่างตอบแทน จึงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงที่มี นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการ สธ.เขต 6 เป็นผู้สอบ” นพ.ยงยศกล่าว
หมอชาญชัยโต้ปลัด ฟ้องกลับ-กู้ศักดิ์ศรี
วันนี้ของ "หมู่อาร์ม" ผู้เปิดปมทุจริตโกงเบี้ยเลี้ยงทหาร ต้องหนีตาย (คลิป)
"อนุทิน" พร้อมให้ความเป็นธรรม ผอ.รพ.ขอนแก่น ปมรับเงินบริจาคเข้ากองทุน
เมื่อถามต่อว่าบุคลากรในพื้นที่มีการร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพราะมีข้อสงสัยในกระบวนการสอบสวนที่ไม่รอบด้าน นพ.ยงยศกล่าวว่า ได้ให้โอกาส นพ.ชาญชัย ชี้แจง แต่ นพ.ชาญชัย ไม่มาชี้แจง แต่ขอชี้แจงทางเอกสาร
ด้าน นพ.ชาญชัย กล่าวว่า ตนพร้อมให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการทั้งหมด เนื่องจากยืนยันว่าไม่ได้มีการกระทำใดๆที่ไปในทางทุจริต โดยหลังจาก สธ.มีหนังสือให้ปฏิบัติตามข้อสั่งการทางการเงินตั้งแต่ช่วง มี.ค.2561 ที่ผ่านมา ตนได้ทำหนังสือเวียนให้รองบริหาร รพ.ขอนแก่น และได้เรียกประชุมเมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค. โดยให้ทุกฝ่ายถือปฏิบัติ.
30พค2563
ไทยรัฐออนไลน์

story:
จากกรณี ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น สำนักงานองค์กรแพทย์ โรงพยาบาลขอนแก่น ประกอบด้วยคณะแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ สหสาขาวิชาชีพโรงพยาบาลขอนแก่น เดินทางมายื่นหนังสือเปิดผนึกถึง นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น

ขอให้พิจารณาเรื่องการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมีผู้ร้องเรียน ไม่ระบุชื่อ โดยใช้สรรพนามว่า “ข้าราชการเกษียณ โรงพยาบาลขอนแก่น” กล่าวหาว่า นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการ คือ เรียกรับเงินจากบริษัทยาและร้านค้า ร้อยละ 5 ในช่วงเดือนเมษายน 2561 ถึง เดือนตุลาคม 2561

ต่อมา ทางด้านเฟซบุ๊ก “Nabiki Jow” ได้โพสต์ถึงกรณีดังกล่าวว่า หลายคนอาจจะยังงง ๆ อ่านแถลงการณ์ขององค์กรแพทย์ขอนแก่นก็ยังงง ๆ จะสรุป (ไม่รู้จะยาวกว่าเก่าไหม) ให้ฟัง
1. นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล เป็นแพทย์ที่สุจริตและมีความสามารถ
2. นพ.ชาญชัย ได้มารับตำแหน่ง ผอ.รพ.ศ.ขอนแก่น เมื่อประมาณ ปี 59 ตอนมารับตำแหน่ง รพ.ศ.ขอนแก่นมีหนี้200+ล้านบาท
3. นพ.ชาญชัย ใช้เวลาประมาณ 2 ปี เข้าไปสะสางจัดการระบบต่าง ๆ ในรพ.ศ.ขอนแก่น ล้างหนี้200+ล้านทำให้งบรพ.เป็นบวกถึง200ล้านบาทได้ (ในการสะสางระบบนั้น มี “ข้าราชการ” ซึ่งตอนนี้เกษียณไปแล้ว เสียผลประโยชน์จากเหตุการณ์นี้)
4. ปี 61 นพ.ชาญชัย ถูกย้ายไปเป็น ผอ.รพ.พระปกเกล้าจันทบุรี แม้จะยังไม่ใช่รอบย้าย บุคลากรรพ.ศ.ขอนแก่นจึงแต่งดำไว้ทุกข์ คัดค้านการย้าย สุดท้าย ปลัดจึงย้ายนพ.ชาญชัยให้กลับมารพ.ศ.ขอนแก่นเหมือนเดิม (มีผู้เสียผลประโยชน์จากการที่นพ.ชาญชัยได้ย้ายกลับมารพ.ศ.ขอนแก่น)
5. มีการส่งบัตรสนเท่ห์อ้างว่า นพ.ชาญชัยเรียกรับ%ยาจากบริษัทยาทั้ง ๆ ที่กระทรวงห้าม (ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง)
6. หลังจากมีบัตรสนเท่ห์ มีการเรียกพยานสอบ แต่ไม่ได้เรียกพยานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
7. หลังจากสอบพยานเพียงบางส่วน ได้มีการตั้งข้อกล่าวหา “ผิดวินัยร้ายแรง” แก่นพ.ชาญชัย และแต่งตั้งคณะกรรมการสอบ
8. คณะกรรมการสอบควรเป็นผู้ตรวจเขต 5 แต่กลับมีการเปลี่ยนเป็นผู้ตรวจเขต 6 (ทั้ง ๆ ที่เขต 5 ไม่มี contra indicationที่จะตรวจ แต่จงใจระบุว่าต้องเป็นเขต 6 สอบ -มีการแทรกแซงไม่ได้ให้เรื่องดำเนินตามกระบวนการปกติ)
9. องค์กรแพทย์รพ.ศูนย์ขอนแก่นเห็นความไม่โปร่งใสชอบธรรมในกระบวนการสอบนี้ จึงยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้การสอบนี้เป็นไปอย่างยุติธรรม
#saveรพขอนแก่น #saveผอชาญชัย #คนดีต้องมีที่ยืนในสังคม

27 พฤษภาคม 2020
https://www.thaimoveinstitute.com/13711/

story:
ปลัดสธ.เผยสอบสวน ผอ.รพ.ขอนแก่น ตามหน้าที่ หากไม่ทำอาจเข้าข่ายผิด ม.157 แจงตั้ง "หมอเกรียงศักดิ์" รักษาการ เหตุเป็นคนขอนแก่น ตั้งรองผอ.รพ.ไม่ได้ เพราะ "หมอชาญชัย" ระบุมีส่วนเกี่ยวข้องเรื่องรับเงินบริจาคทั้งหมด อยู่ระหว่างตั้งปธ.สอบสวนวินัยฯ ใหม่ หลัง "หมอสุเทพ" ถอนตัว รองปลัดสธ.แจงมีพฤติกรรมรับเงินชัดเจน ฐานเรียกรับผลประโยชน์ ไม่ใช่เงินบริจาค

วันนี้ (4 มิ.ย.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวถึงกรณีการดำเนินคดีทางวินัย นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.รพ.ขอนแก่น กรณีเรียกรับเงินบริจาคบริษัทยา 5% และการย้ายออกจากพื้นที่ โดยมีการตั้ง นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผอ.รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี มารักษาการ ขณะที่ นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการ สธ.เขตสุขภาพที่ 6 ประธานกรรมการสอบสวนวินัยได้ลาออก ว่า เรื่องนี้ได้รับการร้องเรียนมาว่า ผอ.รพ.ขอนแก่น มีพฤติกรรมรับเงินบริจาคยา ตนก็ต้องดำเนินการตามระเบียบราชการและข้อกฎหมาย เมื่อคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงมีความเห็นว่ามีมูล ก็จะต้องดำเนินการ หากไม่ทำก็จะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ ตั้งแต่ตนเป็นปลัดสธ.มาได้มีการตรวจสอบผู้อำนวยการและผู้อำนวยการระดับสูงรวมแล้ว 12 คน โดย 6 คนมีโทษไล่ออกไปแล้ว อีก 6 คนอยู่ระหว่างการถูกตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งมีทั้งกรณีคล้ายกับ รพ.ขอนแก่นและกรณีอื่นๆ

ผู้สื่อข่าวถามถึงความเหมาะสมในการตั้ง นพ.เกรียงศักดิ์ เป็นรักษาการผอ.รพ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นการย้ายข้ามเขต และก่อนหน้าเคยมีการแต่งตั้งโยกย้ายให้มาเป็น ผอ.รพ.ขอนแก่น แต่ถูกคัดค้านจนต้องย้ายกลับ นพ.สุขุม กล่าวว่า นพ.เกรียงศักดิ์ พื้นเพเป็นคน จ.ขอนแก่น และเคยเป็น ผอ.รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่นมาก่อน ที่สำคัญไม่สามารถตั้งรอง ผอ.รพ.ขอนแก่นขึ้นเป็นรักษาการแทนตามปกติที่เคยทำได้ เพราะ นพ.ชาญชัย พูดชัดเจนว่า รองผอ.รพ.และคณะกรรมการบริหาร รพ. ก็มีส่วนรู้เห็นในการรับเงินบริจาค จึงต้องตั้งคนอื่นรักษาการแทน ส่วนจะพิจารณาตั้งรักษาการ ผอ.รพ. เป็นคนอื่นแทนหรือไม่ ต้องดูว่า เมื่อนพ.เกรียงศักดิ์ไปปฏิบัติหน้าที่แล้วเป็นอย่างไร ซึ่งครั้งก่อนก็เห็นว่าได้รับการต้อนรับ อย่างไรก็ตาม เป็นการตั้งรักษาการเท่านั้น หากมีการสอบสวนแล้วพบว่า ผู้ถูกร้องไม่มีความผิดก็ยังตั้งกลับได้

ถามต่อว่า การตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยเป็นคนจากกลุ่มก๊วนเดียวกัน นพ.สุขุมกล่าวว่า เรื่องนี้สามาถคัดค้านได้ ถ้าคิดว่าคนที่ตั้งไม่ให้ความเป็นธรรมเป็นกับเรา คงไม่ใช่กลุ่มก๊วนเดียวกัน อาจมีความไม่ถูกใจ ไม่สบายใจ ก็สามารถร้องเรียนได้ ก็จะเปลี่ยนให้ แต่ยังไม่มีการร้องมาแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความกังวลหรือไม่ว่าจะเป็นการจุดชนวนความแตกแยกใน สธ.ขึ้นมาอีกครั้ง นพ.สุขุมกล่าวว่า ก็ช่วยไม่ได้ เพราะถ้าไม่ทำ ตนก็จะผิดมาตรา 157

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัด สธ.กล่าวว่า เงินจากบริษัทยาหรือขายเวชภัณฑ์ทุกอย่าง รพ.ไม่สามารถเรียกรับได้ เพราะฉะนั้น ขบวนการที่ ผอ.รพ.ขอนแก่น ถูกร้องเรียนและแนบหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ยังมีการเรียกรับจากบริษัทต่างๆ มาตลอด โดยมีหลักฐานชัดเจนว่าเงินที่บริษัทยาบริจาคเข้ากองทุน รพ.นั้น เชื่อมโยงสัมพันธ์กับการจัดซื้อจัดจ้างยาจากบริษัทยา อีกทั้งยังพบว่ามีพฤติกรรมข่มขู่พยานด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลาย รพ.ที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ แต่ต้องรอร้องเรียนเข้ามา ส่วนกรณี นพ.สุเทพ ขอถอนตัวจากการเป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนวินัย เนื่องจากงานในหน้าที่มีมาก ทั้งการเรียน วปอ. การวางแผนรับคนไทยกลับจากต่างประเทศในสถานการณ์โรคโควิด และการบริหารเรื่องการเข้ากักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาผู้ที่เหมาะสมมาทำหน้าที่ประธานแทน

นายสุจินต์ สิริอภัย นิติกรชำนาญการ กลุ่มงานเสริมสร้างรวินัยและระบบคุณธรรม สธ. ในฐานะคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กล่าวว่า เมื่อมีการร้องเรียนด้วยบัตรสนเท่ห์ ข้อสำคัญไม่ได้อยู่ที่จะลงชื่อหรือไม่ แต่ผู้ถูกร้องเรียนต้องมีชื่อตำแหน่งชัดเจน และมีหลักฐานที่นำไปสู่การสอบสวนได้ ซึ่งปลัด สธ.ในฐานะผู้บังคับบัญชาก็มีหน้าที่สอบข้อเท็จจริง หากไม่ทำก็ถือว่ามีความผิด ซึ่งอาจสอบด้วยตัวเอง หรือมอบให้มีการสอบสวนเบื้องต้นว่า กระทำผิดวินัยหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการที่ไปสืบข้อเท็จจริงก็จะต้องรายงานกลับมา หากไม่มีมูลก็ยุติ หากมีมูลผิดวินัยไม่ร้ายแรง ก็จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ แต่กรณีเห็นว่ามีมูลควรกล่าวหาว่าทำผิดวินัยร้ายแรง ปลัดสธ. จะต้องตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวน

นายสุจินต์กล่าวว่า จากการสืบสวนเรื่องนี้มี 12 ประเด็น โดยสรุปมาว่า 7 ประเด็นไม่มีมูลความผิดเลย สั่งยุติเรื่อง อีก 3 ประเด็นตั้งข้อสังเกตเอาไว้ ส่วนกรณีรับเงินจากบริษัทยา ถือว่าเป็นนิติสัมพันธ์ในการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งตามกฎหมายไม่ใช่แค่เรื่องยา แต่รวมถึงทุกอย่างที่มีการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างว่าห้ามเรียกหรือรับเงินเหล่านี้ ไม่ว่าส่วนรวมหรือส่วนตัวก็ผิดทั้งนั้น ซึ่งเมื่อมีการชี้ว่ามีมูลก็ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ซึ่งการสอบสวนผลก็ออกมา 3 กรณี คือ ไม่ผิด หรือผิดวินัยไม่ร้ายแรง หรือผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาอาจเห็นว่าประธานคณะกรรมการฯ ไม่เป็นธรรมก็สามารถร้องทุกข์ได้ อย่างไรก็ตาม ผลการสอบสวน ปลัดสธ.ก็สามารถพิจารณาเห็นด้วยหรือไม่ แล้วก็ต้องเข้า อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอาจเห็นด้วยกับคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง หรือไม่เห็นด้วยก็ได้ และเมื่อหากถูกลงโทษก็ไปสู้ได้อีกว่าการลงโทษไม่เหมาะสม หรือฟ้องศาลปกครองสูงสุดได้อีก

น.ส.สุชาฎา วรินทร์เวช นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กล่าวว่า นิยามของ "การบริจาค" คือ จะต้องให้ด้วยความสมัคร บริษัทยาจะให้เงินร้อยล้านพันล้านบาททำได้ไม่มีใครว่า ถ้าไม่ได้ถูกบังคับ ถ้าถูกบังคับบริจาคโดยไม่สมัครใจ จะเป็นการสร้างเงื่อนไขในการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่สามารถเรียกว่าเป็นการบริจาคได้ ต้องถูกเรียกว่าเป็นการเรียกรับผลประโยชน์ ซึ่ง ป.ป.ช.เสนอไปยัง ครม.ว่า การจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ ห้ามไม่ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อทำการหารายได้ในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทนทุกประเภทจากบริษัทยา เข้ากองทุนสวัสดิการสถานพยาบาล การให้คู่สัญญาบริจาคเงิน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหรือมูลนิธิใดก็ตาม ถือว่ากระทำผิดต่อหลักธรรมาภิบาลในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่ง สธ.มีการออกหนังสือเวียนถึงเรื่องนี้ไปแล้ว ทั้งนี้ เรื่องเงินบริจาคที่เข้ากองทุนพัฒนา รพ.ขอนแก่น เป็นการสร้างเงื่อนไขจากการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ โดยยอดบริจาคมีความสัมพันธ์กับยอดในการจัดซื้อจัดจ้าง และนำมาสู่การตั้งกรรมการสืบข้อเท็จจริง กระทั่งมาถึงการสอบวินัยฯ

4 มิ.ย. 2563
https://news1live.com/detail/9630000058097

story:
เครื่องเคียง! ย้อนหนังสือ ป.ป.ช. ชง ครม. มาตรการป้องกันทุจริตกรณีผลประโยชน์ต่างตอบแทน รพ. รับเงิน บ.ยา - ปมปริศนา เงิน 24.4 ล้านในบัญชี ‘กองทุนสวัสดิการโรงพยาบาลระยอง’ ก่อนกรณีปัญหาย้าย ผอ.ขอนแก่น

เป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้ง กรณี โรงพยายบาลรับเงินบริษัทยา
ล่าสุดเกิดกรณีปัญหาที่โรงพยาบาลขอนแก่น เมื่อกระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงฯ มีคำสั่งให้ นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ไปปฏิบัติงานที่กองบริหารการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข และให้ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้า ดำรงตำแหน่งรักษาราชการผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น แทน
หลังจาก นพ.ชาญชัย ถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงกรณีมีผู้ร้องเรียนในลักษณะบัตรสนเท่ห์ อ้างว่า นพ.ชาญชัย เรียกรับเงินจากบริษัทยา ร้อยละ 5 ซึ่งเข้าข่ายเรียกรับผลประโยชน์ต่างตอบแทน ระหว่างเดือน มี.ค. - ต.ค. 2561
ขณะที่ นพ.ชาญชัย ชี้แจงว่า ไม่เป็นธรรม เนื่องจากการรับเงินบริจาคจากบริษัทยานั้นมีมาตั้งแต่ปี 2508 แต่ภายหลังได้รับคำสั่งจากทางกระทรวงเมื่อเดือน มี.ค. ปี 2561 ได้ประชุมกรรมการบริหารและทำหนังสือเวียนแจ้งไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง งดรับเงินบริจาคจากบริษัทยา แต่ยอมรับว่าในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.2561 มียอดเงินบริจาคผ่านกองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น เดือนละ 1 ล้าน 3 แสนบาท จากปกติจะมียอดบริจาคเฉลี่ยเดือนละ 2 ล้านบาท ซึ่งก็เข้าใจว่าเงินบริจาคไม่ได้มาจากบริษัทยา เนื่องจากได้ทำหนังสือแจ้งไปยังทุกหน่วยงานรวมถึงบริษัทยาด้วย ทั้งนี้ นพ.ชาญชัย ระบุอีกว่า ภายหลังกระทรวงฯ มีคำสั่งให้งดรับเงินบริจาคจากบริษัทยา ในเดือน พ.ย.ปี 2561 ทางโรงพยาบาลได้ปิดกองทุนพัฒนาโรงพยาบาลขอนแก่น โดยให้ประชาชนผู้มีจิตศรัทธา บริจาคผ่านบัญชี ‘เงินโรงพยาบาลขอนแก่น’ แทน (อ้างอิงข่าวจาก https://news.thaipbs.or.th/content/293184)
ประเด็นการโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงของ รพ.ขอนแก่นในครั้งนี้ นำมาซึ่งการเคลื่อนไหวคัดค้านของบุคลากร เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลขอนแก่นและแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งมีการแสดงความเห็นจากบุคคลทั่วไปจำนวนมากในขณะนี้
ประเด็นสถานพยาบาลรับเงินจากบริษัทยานั้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาเป็นเครื่องเคียงดังนี้
1.เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2560 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เสนอ มาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ข้อเสนอแนะในเชิงระบบ 1 ใน 4 ข้อก็คือ การกำหนดหลักเกณฑ์การจัดซื้อยา (ข้อ 1.3) “ห้ามไม่ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อทำการหารายได้ในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทนทุกประเภทจากบริษัทยาเข้ากองทุนสวัสดิการพยาบาล” และให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อใช้กลไกต่อรองราคาตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติกำหนด (ดูเอกสารประกอบ)


โดยระบุว่า สำนักงาน ป.ป.ช.ได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียน ประกอบการสอบสวนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงาน ป.ป.ท.และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เกี่ยวกับการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งพบว่ามีการกระทำในลักษณะของการทุจริตจำแนกออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มผู้ใช้สิทธิและเครือญาติมีพฤติกรรมตระเวนใช้สิทธิรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลต่างๆหลายแห่ง ทุก 1-3 สัปดาห์ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์มีพฤติกรรมการสั่งจ่ายยาให้กับผู้ป่วยเกินความจำเป็น และกลุ่มบริษัทยามีพฤติกรรมการจ่ายค่าคอมมิชชันให้กับโรงพยาบาลและแพทย์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้แพทย์สั่งจ่ายยาของบริษัท เป็นผลให้ภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณโดยไม่จำเป็นจำนวนมาก
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นสมควรเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัดิการรักษาพยาบาลข้าราชการต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ หรือการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 19 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้เพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554
ทั้งนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกฯ มีคำสั่งให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอดังกล่าวและให้กระทรวงสาธารณสุขสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวมแล้วส่งให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีโดยด่วนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป (อ้างอิงหนังสือจากนางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหนังสือลงวันที่ 7 ก.ค.2560 แจ้งเวียนถึง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) (อ่านประกอบ : เจอร้องหนัก!ป.ป.ช.ชง ครม.ป้อง ขรก. เบิกจ่ายพยาบาลโดยทุจริต-พบคนใน รพ.ฮั้วเอกชน)
2.เมื่อปี 2560 เคยมีกรณีที่คล้ายกันที่โรงพยาบาลระยอง เมื่อบุคลากรของโรงพยาบาลส่งหนังสือถึง พล.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ประธาน กรรมการ ป.ป.ช.) และนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (ขณะนั้น) ให้ตรวจสอบบัญชีเงินฝากชื่อ ‘กองทุนสวัสดิการโรงพยาบาลระยอง’ ในช่วงปลายปี 2559-เดือนสิงหาคม 2560 เนื่องจากมีเงินจากผู้ประกอบธุรกิจขายยาและเครื่องมือแพทย์โอนเข้าบัญชีฯหลายครั้งรวมเป็นเงินหลายล้านบาทโดยถูกโอนเข้ามาอย่างสม่ำเสมอในช่วงกลางเดือนและทุกปลายเดือนมีเงินหมุนเวียนรวม 24,495,181.53 บาท ในจำนวนนี้มีรายการเบิกถอน เมื่อ 16 ส.ค.2560 รวม 4 ครั้งๆละ 1 ล้านบาท รวม 4 ล้านบาท ไม่มีความชัดเจนว่าเป็นเงินค่าอะไร หลังจากนั้นจนถึงขณะนี้ ไม่มีความคืบหน้าในการสอบสวนข้อเท็จจริงของทั้งกระทรวงสาธารณสุข และ ป.ป.ช.วาผลเป็นอย่างไร (อ่านประกอบ: หมุนเวียน 24.4 ล.-ใครเบิก 4 ล.? ปมปริศนา บ.ยาโอนเงินเข้ากองทุนฯ รพ.ระยอง)
ฉะนั้น กรณีของ รพ.ขอนแก่น ต้องว่ากันตามข้อเท็จจริงว่า หลังจากมีคำสั่งแล้ว ยังเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร รู้เห็นหรือไม่ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องนำมาหลักฐานมาชี้แจงอย่างตรงไปตรงมา? และกระบวนการจากนี้อาจเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.หรือไม่?
ส่วน ‘ที่มา’ ของเรื่องร้องเรียนว่ามาจากบัตรสนเท่ห์นำไปสู่การตั้งกรรมการสอบสวนและโยกย้ายผู้ถูกร้องเรียนตามมานั้น มิใช่ประเด็น เพราะเรื่องร้องเรียนทุจริตในหน่วยงานของรัฐหลายเรื่องก็มาจากบัตรสนเท่ห์ เนื่องจากคนเกรงกลัวที่จะเปิดเผยตัวตนในการร้องเรียน
เรื่องนี้อาจเป็นมหากาพย์  ต้องติดตามผลกันต่อไป

5 มิถุนายน 2563
สำนักข่าวอิศรา

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

Go to full version