ผู้เขียน หัวข้อ: คนแห่โทร.ปรึกษาเลิกเหล้าพุ่งเท่าตัว หลังประกาศฉุกเฉินห้ามขาย  (อ่าน 614 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ผอ.ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา เผยคนแห่โทร.ปรึกษาเลิกเหล้าเกือบเท่าช่วง สสส. รณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา เปิด 7 ข้อบ่งชี้ ภาวะติดเหล้า แนะมีอาการลงแดง โทร.ปรึกษา 1413 สายด่วนเลิกเหล้า ด้านรอง ผอ.รพ.น่าน เผยตัวเลขผู้ป่วยภาวะถอนพิษสุราน้อยกว่าที่คาด ชี้ สธ. วางระบบดูแลผู้ป่วยแอลกอฮอลิซึมทุกจังหวัด จัดทีมจิตแพทย์ช่วยเหลือ หนุนสงกรานต์-ปีใหม่ เลิกขายเหล้าช่วยลดอุบัติเหตุ ลดเจ็บตาย

เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.อ.(พิเศษ) นพ.พิชัย แสงชาญชัย ผู้อำนวยการศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา 1413 สายด่วนเลิกเหล้า สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในช่วงที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินและมีการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า มีประชาชนโทร.เข้ามาขอรับคำปรึกษาเพื่อให้สามารถหยุดการดื่มได้อย่างปลอดภัยจำนวนมาก โดยเกือบเท่ากับช่วงที่ สสส. มีการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาตลอด 3 เดือน โดยภาวะการติดเหล้า จะมีข้อบ่งชี้ 7 ข้อ คือ 1. มีภาวะดื้อแอลกอฮอล์ ต้องดื่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เมาเท่าเดิม 2. มีภาวะถอนแอลกอฮอล์หลังงดดื่ม หรือลดการดื่มลง 3. ดื่มมากกว่าหรือนานกว่าที่ตั้งใจไว้ 4. พยายามลดลงหรือเลิกดื่มแต่ก็ไม่สำเร็จ 5. หมกมุ่นและใช้เวลาหมดไปกับการดื่ม 6. เสียงานเสียการเนื่องจากปัญหาการดื่ม 7. ยังคงดื่มอยู่ แม้ว่าเกิดผลกระทบอย่างมากแล้ว

“หากใครที่มีอาหาร 3 ข้อขึ้นไป จาก 7 ข้อ เรียกว่าอยู่ในภาวะติดเหล้า หากหยุดหรือลดการดื่มกะทันหัน บางรายอาจมีภาวะถอนแอลกอฮอล์ที่รุนแรงตามมา ระดับความรุนแรงหลังการหยุดดื่มขึ้นอยู่กับปริมาณและความยาวนานของการดื่มในอดีตที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการเลิกดื่ม หรือมีภาวะถอนแอลกอฮอล์ สามารถโทร.ปรึกษาได้ที่ 1413 สายด่วนเลิกเหล้า หรือ Line ID: 1413helpline หรือ facebook fanpage: ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา Alcohol Help Center จะมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาการดูแลตัวเองในเบื้องต้น และให้คำปรึกษาการส่งต่อไปยังสถานพยาบาล เพื่อหยุดดื่มอย่างปลอดภัย การให้คำปรึกษาเหมือนเป็นการให้กำลังใจ สร้างพลังให้ผู้ที่อยากเปลี่ยนแปลงตัวเองทำได้สำเร็จจริงๆ” ผู้อำนวยการศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา กล่าว

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน เปิดเผยถึงมาตรการควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ว่า สถานการณ์ผู้ที่มีปัญหาจากการดื่มสุราในประเทศไทย คาดว่า มีจำนวน 1,800,000 คน โดยการประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วประเทศ จะส่งผลให้คนที่มีปัญหาจากการดื่มประมาณ 2% หรือ 36,000 คนทั่วประเทศ จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากอาจเกิดอาการถอนแอลกอฮอล์ หรืออาการลงแดงจากการขาดสุรา ซึ่งกลุ่มนี้จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่พบว่า หลังจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า จำนวนผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้

นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า ในจังหวัดน่าน ประเมินว่า จะมีผู้เข้ารับการรักษา 259 คน แต่จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 9-16 เมษายนที่ผ่านมา มีผู้ป่วยภาวะถอนพิษสุราเข้ารักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดน่าน 40 คน โดยเป็นผู้ป่วยที่รักษาแบบนอนค้าง 18 คน และรักษาแบบผู้ป่วยนอก 22 คน โดยรับไว้รักษาที่โรงพยาบาลน่าน 5 คน และโรงพยาบาลชุมชนแห่งละ 1-4 คน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการถอนพิษสุราหลังจากหยุดดื่ม 2-3 วัน อาการจะมีตั้งแต่ อาการมือสั่น หงุดหงิด จนถึงอาการประสาทหลอนและชักเกร็ง แต่อาการดังกล่าวสามารถควบคุมได้ด้วยยา ซึ่งขณะนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการดีขึ้น รู้ตัวและพูดคุยได้ บางรายกลับบ้านไปแล้ว ทั้งนี้ สาเหตุที่มีผู้ป่วยน้อยกว่าคาดการณ์ เนื่องจากทีมจิตแพทย์โรงพยาบาลน่าน ได้ค้นหาผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรังที่เคยเข้ารักษาในโรงพยาบาลมา และกระจายให้พยาบาลจิตเวชชุมชนทุกอำเภอ โทรศัพท์ติดตามผ่านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และ อสม. ในพื้นที่ หากผู้ป่วยเริ่มมีอาการนอนไม่หลับ มือสั่นให้มารับยาที่โรงพยาบาลทันที ซึ่งระบบลักษณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่งในกระทรวงสาธารณสุขได้วางเครือข่ายสุขภาพในทุกชุมชนอยู่แล้ว

“มาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีข้อดีที่สำคัญ คือ อุบัติเหตุทางถนนในจังหวัดน่านลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วมีผู้ป่วยที่นอนรักษาที่โรงพยาบาล 65 ราย เหลือ 15 รายในปีนี้ ซึ่งลดลง 76.9% ผู้เสียชีวิตลดลงจาก 5 ราย เหลือเพียง 1 ราย ลดลง 80% และไม่มีผู้ป่วยอุบัติเหตุที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งเท่ากับช่วยเก็บเครื่องช่วยหายใจไว้ในกรณีที่มีผู้ป่วยโควิดได้ ซึ่งตนขอสนับสนุนให้เทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ในปีต่อไป ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะช่วยให้คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุน้อยลงได้ ตามคำกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ว่าสุขภาพนำเสรีภาพ” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

ด้าน นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดพร้อมใจกันห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ส่งผลให้สามารถช่วยชีวิตคนให้รอดจากอุบัติเหตุทางถนนได้ประมาณ 300 กว่าคน และที่สำคัญ สามารถลดเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่แล้วเมาแล้วขับจากปีแล้ว 20.0% เหลือเพียง 5.5% ในปีนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ครอบครัวและชุมชนได้ช่วยบุคคลอันเป็นที่รักได้เข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาดีกว่ารอให้เจ็บป่วยจากโรคตับแข็ง เลือดออกในทางเดินอาหาร หรือเป็นมะเร็งตับแล้วค่อยมารักษา ทั้งนี้ สสส. มูลนิธิเมาไม่ขับ ภาคีเครือข่ายที่ทำงานรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน ตลอดจนหมอและบุคลากรทางการแพทย์จะได้นำประเด็นเรื่องการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไปศึกษาเพื่อถอดบทเรียน เสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา เป็นนโยบายสำคัญเพื่อลดการเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนจากสาเหตุการดื่มแล้วขับให้เป็นรูปธรรมต่อไป
21 เม.ย. 2563    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
“ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา” ปลื้มนักดื่ม ร้อยละ48.5 หยุดดื่ม ลดเสี่ยงโควิด-19 ชี้ คนไทยส่วนใหญ่รู้ว่าการดื่มเหล้าเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดและทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น ด้านแกนนำชวนคนเลิกเหล้า เตือนต้องหยุดการตั้งวงเหล้าเด็ดขาด ใช้โอกาสนี้ลด ละ เลิก เก็บเงินไว้ใช้จ่ายยามจำเป็น

วันนี้ (24 เม.ย.) ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่วาว่า จากการสำรวจประชาชนใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ โดยการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จากกลุ่มตัวอย่าง 1,566 คน ซึ่งมีสัดส่วนหญิงชายพอๆ กัน และมีการกระจายของลักษณะประชากรในทุกกลุ่มอายุ อาชีพ ระดับการศึกษา และที่อยู่ทั้งในเขตและนอกเขตเทศบาล ที่เป็นตัวแทนของประชากรไทย เก็บข้อมูลในวันที่ 18-19 เมษายน 2563 พบว่า

ในช่วง 30 วันที่ผ่านมานี้ นักดื่มสุราเกือบครึ่ง (ร้อยละ 48.5) ไม่ได้ดื่มเลย ร้อยละ 33.0 ดื่มน้อยลง ขณะที่ร้อยละ 18.2 ดื่มเท่าเดิม และมีเพียงร้อยละ0.3 ที่ดื่มบ่อยขึ้น เหตุผลหลักที่ทำให้นักดื่มเหล่านี้หยุดดื่มหรือดื่มน้อยลง คือ หาซื้อไม่ได้/ซื้อยาก กลัวเสี่ยงติดเชื้อ รายได้น้อยลง/ไม่มีเงินซื้อ และต้องการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ดื่มเท่าเดิมหรือเพิ่มมากขึ้นบอกเหตุผลว่า เพราะชอบดื่มสังสรรค์ และมีคนชวนดื่มจึงขัดไม่ได้ รวมทั้งเพราะเครียดและมีเวลาว่างมากขึ้น โดยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 77.1) ดื่มที่บ้าน หรือที่พักของตัวเอง และกว่า 1 ใน 3 (ร้อยละ37.0) ดื่มกับคนในครอบครัว โดยตัวอย่างร้อยละ 35.8 ระบุว่าได้ซื้อเครื่องดื่มตุนไว้ก่อนที่จะมีประกาศห้ามขาย ที่น่าสังเกตคือ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ตุนไว้ก่อน มีถึงร้อยละ 16.2 ยังหาซื้อได้จากร้านขายของชำในชุมชน/หมู่บ้าน นอกจากนี้ ร้อยละ 15.7 ระบุว่า ยังพบเห็นการดื่มสังสรรค์ในชุมชน/หมู่บ้าน และร้อยละ 5.8 ยังพบเห็นว่า มีการขายในชุมชน/หมู่บ้าน ในช่วงวันที่ประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ศ.ดร.พญ.สาวิตรี กล่าวว่า เมื่อสอบถามถึงการได้รับความเดือดร้อนในช่วงการระบาดของโควิด-19 ตัวอย่างร้อยละ 67.8 ระบุว่า สูญเสียรายได้ ร้อยละ 53.5 ระบุมีความยากลำบากในการทำงาน/ ประกอบอาชีพ และร้อยละ 32.8 ระบุยากลำบากในการกินอยู่ ที่น่าพิจารณาคือ ร้อยละ 26.4 มีความเครียด วิตกกังวล ร้อยละ 24.9 มีค่าครองชีพ/ค่าใช้จ่ายเพิ่ม รวมถึงร้อยละ 12.1 ตกงาน/ถูกเลิกจ้าง มีเพียงส่วนน้อย (ร้อยละ 9.1) ที่ไม่ได้รับความเดือดร้อนใดๆ ในทางตรงข้าม หากสอบถามถึงความเดือดร้อนในช่วงห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า ตัวอย่างประมาณร้อยละ 90.5 ระบุไม่ได้รับความเดือดร้อนใดๆ มีเพียงร้อยละ 5.9 เดือดร้อนจากการไม่ได้ดื่มสังสรรค์ ร้อยละ 3.6 เสียรายได้จากการขาย หรือเสียรายได้จากการปิดร้านอาหาร/สถานบันเทิง และมีร้อยละ 0.3 หรือ 5 รายจากตัวอย่างทั้งหมดที่มีอาการถอนพิษเหล้า นอกจากนั้น จากการสำรวจยังพบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ (ร้อยละ 73.6) ทราบว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 และร้อยละ 77.6 ทราบว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการทำลายภูมิต้านทานของร่างกาย อาจทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และอาจป่วยรุนแรง

“ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่ามาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดนี้อาจมีส่วนดีในการช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงที่สำคัญอันหนึ่งของคนไทยลง และประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงนี้ รวมทั้งประชาชนจำนวนมากมีความรู้เกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อการติดเชื้อโควิด-19” ศ.พญ.สาวิตรี กล่าว


X
 


ด้าน นายวันชัย เหี้ยมหาญ ผู้ประสานงานเครือข่ายงดเหล้าภาคตะวันตก และผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 บ้านหนองกอก ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี กล่าวว่า เมื่อมีการห้ามขายเหล้าของจังหวัดในวันที่ 11 เมษายน 2563 ตนเองพร้อมผู้ช่วยฯ อสม. ได้สำรวจผู้ดื่มในชุมชน พบว่า มี 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ติดหนัก จำนวน 7 ราย กลุ่มที่ดื่มแบบคึกคะนอง มักสร้างปัญหาจำนวน 16 ราย กลุ่มที่ดื่มในบ้าน กินก่อนอาหารก่อนนอน ก่อนไปทำงาน จำนวน 26 ราย และกลุ่มที่ดื่มบางครั้งตามโอกาส ดื่มในงาน หรือเพื่อนมาเยี่ยม ซึ่งคณะทำงานได้เฝ้าระวังอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ติดสุรา โดยได้คุยกับญาติไว้แล้วว่าจะต้องทำอย่างไรเมื่อเกิดภาวะเสี้ยนเหล้า เช่น เหงื่อออก มือสั่น เพ้อคลั่ง จะมีอาการเป็นลม ต้องการมีเหล้าตุนไว้ แต่ก็ขอร้องให้ผู้ดื่มลดละในช่วงนี้ พบว่า มี 1 รายที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานอยู่แล้วใช้โอกาสนี้งดดื่มไปกว่า 10 วัน คาดว่า จะสามารถเลิกได้ต่อไป แต่ต้องมีการติดตามให้กำลังใจ ส่วนรายอื่นๆ ยังไม่สามารถงดได้ทางญาติต้องคอยดูแล ส่วนกลุ่มที่มักสร้างความเดือดร้อนคึกคะนอง ตอนนี้ไม่มีการตั้งวงดื่มตามศาลาเหมือนแต่ก่อน และปกติถ้าช่วงนี้จะมีงานบวชประจำปีมักมีการเลี้ยงเหล้าเกิดปัญหาความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งกลุ่มนี้มักจะเป็นต้นเรื่อง ปีนี้งดงานบวชทำให้ไม่เกิดปัญหาขึ้นมาเหมือนทุกปี

“จากการติดตามสอบถามคนในชุมชน มีเด็กบอกว่าพ่อไม่ต้องกินเหล้าทำให้ไม่ต้องมาทะเลาะกับแม่ และยายก็ไม่ต้องร้องไห้ ส่วนร้านค้าในชุมชนซึ่งมี 4 ร้าน พบว่า ไม่ได้รับผลกระทบอะไร เพราะกำไรจากเหล้าเบียร์ไม่ได้มาก ของอย่างอื่นยังขายได้ตามปกติ ที่ได้อีกอย่างคือได้นอนหลับสนิทเพราะไม่ต้องถูกเคาะประตูเรียกให้มาขายเหล้าตอนดึก ตนเองรณรงค์งดเหล้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถช่วยเหลือและเข้าใจนักดื่มในชุมชน และทำให้ชุมชนมีความปลอดภัยทั้งเชื้อไวรัสและความเสี่ยงจากเหล้า หากมีการเปิดให้ซื้อขายเหล้าเบียร์ได้อีกครั้งต้องค่อยๆ เปิดและจำกัดเวลาจำกัดปริมาณเพื่อไม่ให้มีการกลับมาตั้งวง ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดอีก ข้อสำคัญในช่วงนี้ควรงดการตั้งวงก๊งเหล้าเด็ดขาด และใช้โอกาสนี้ในการลด ละ เลิก เก็บเงินไว้ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นดีกว่า” นายวันชัย กล่าว
24 เม.ย. 2563   โดย: ผู้จัดการออนไลน์