ผู้เขียน หัวข้อ: “หน้ากากอนามัย”ขาดแคลนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19  (อ่าน 2688 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
เกิดภาวะขาดแคลนหน้ากากอนามัย ลุกลามไปทั่วโลก ไม่ใช่แค่ประเทศไทย ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ เตรียมใช้ยาแรง ห้ามถือครองหน้ากากอนามัยเกินกำหนด หากพบมีโทษปรับและจำคุก

เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2563 มาตรการล่าสุดที่กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. ที่จะประชุมด่วนในวันนี้ คือ จะประกาศห้ามประชาชนทุกคนถือครองหน้ากากอนามัยไว้เกินกว่าปริมาณกำหนด หากผู้ใดมีเกินกำหนดจะต้องแจ้งต่อกรมการค้าภายใน โดยอาศัยตาม ม.30 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เพื่อป้องกันการกักตุน แต่จะผ่อนผันให้โรงพยาบาล ร้านขายยา และสถานพยาบาลเท่านั้น

พร้อมเข้าควบคุมกำลังการผลิตของทุกโรงงาน 100% กระจายสินค้าผ่านร้านธงฟ้า ร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ ราคา 4 ชิ้น 10 บาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลนำจับให้ผู้ที่แจ้งเบาะแสทั้งออนไลน์และออฟไลน์ หากพบร้านค้าไม่ติดป้ายแสดงราคา หรือขายราคาแพงเกินควร หรือ มีสินค้ามากเกินกำหนด มีสูงสุดโทษจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย ลุกลามไปหลายประเทสทั่วโลก เช่น จีน มีความต้องการใช้ 400 ล้านชิ้นต่อวัน ทำให้บริษัทต่างๆหันมาผลิตสินค้านี้ และยังต้องนำเข้าจากอินโดนิเซีย แถมยังเจอปัญหาหน้ากากอนามัยปลอมกว่า 31 ล้านชิ้น

เกาหลีใต้ รัฐบาลจำกัดการซื้อหน้ากากคนละ 5 อันเท่านั้น ตั้งราคาขายไว้ชิ้นละ 1,000 -1,500 วอน หรือประมาณ 27 – 40 บาท ผู้กักตุนหน้ากากมีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี หรือปรับเป็นเงินสูงสุด 50 ล้านวอน หรือประมาณ 1.3 ล้านบาท

ญี่ปุ่น หน้ากากขาดแคลน จนทำให้มีโจรขโมยหน้ากากอนามัย 6,000 ชิ้น จากโรงพยาบาลที่เมืองโกเบ และรัฐบาลจะมอบเงินอุดหนุน 30 ล้านเยน หรือประมาณ 8 ล้านบาท ให้กับบริษัทที่ลงทุนในการผลิตหน้ากากอนามัย รวมถึงเพิ่มการผลิตเป็น สัปดาห์ละ 100 ล้านชิ้น

เวียดนาม ยกเว้นภาษีนำเข้าหน้ากากอนามัย หรือวัสดุผลิตหน้ากาก และน้ำกลั่นสเตอร์ไรด์จากต่างประเทศ, จำกัดการส่งออกหน้ากากอนามัยห้ามเกิน 25% ของจำนวนการผลิตทั้งประเทศ

ไต้หวัน จัดทำแผนที่ "Instant Mask Map" แสดงจุดแบบเรียลไทม์ว่าสามารถหาซื้อหน้ากากได้ที่ไหนบ้าง โดยจะแสดงชื่อร้าน สถานที่ตั้ง เวลาเปิดปิด ข้อมูลติดต่อ เช่น ถ้าหากร้านขึ้นสีเทาในแผนที่ แปลว่าไม่มีหน้ากาก ขึ้นสีชมพู แปลว่า เหลือหน้ากากอีก 20% หรือน้อยกว่านั้น

อิตาลี ตำรวจจับกุมผู้จำหน่ายหน้ากากอนามัยเกินราคาแล้ว 20 คนในเมืองตูริน โดยกลุ่มคนเหล่านี้จำหน่ายหน้ากากราคาแพงถึง 5,000 ยูโร หรือประมาณ 175,300 บาท โดยอ้างว่าเป็นหน้ากากที่ป้องกันไวรัสโคโรนาได้ 100%

สหรัฐอเมริกา รณรงค์คนไม่ป่วยไม่ต้องสวมหน้ากาก เพื่อสงวนไว้ให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ รัฐบาลติดต่อบริษัท 3M ผลิตหน้ากากอนามัย N95 ให้ได้ 35 ล้านชิ้นต่อเดือน และสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลเริ่มสต๊อกหน้ากากอนามัย 300 ล้านชิ้น และล่าสุดหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือต่าง ๆ สินค้าหมดเกือบทุกซุปเปอร์มาร์เก็ต

4 มี.ค. 2563
https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/120671
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 มีนาคม 2020, 01:32:01 โดย story »

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า  ประชาชนต้องมีหน้ากากอนามัย

การบริหารงานของกระทรวงพาณิชย์ ทำให้เกิดการขาดแคลนหน้ากากอนามัยเป็นวงกว้างทั่วประเทศ ประชาชนต้องหาซื้อในราคาแพงถึง 20-30 บาทต่อชิ้น และยังไม่มีหลักประกันว่าจะได้สินค้าที่มีคุณภาพ

สาเหตุของความผิดพลาดเกิดจาก
1. ความรอบรู้เป็นเท็จ และการคาดการณ์ด้านตัวเลขที่บกพร่อง ตัวเลขในสต็อกคือเท่าไร โรงงานมีจำนวนเท่าใด กำลังผลิตที่แท้เป็นเท่าไร กระทรวงให้ข้อมูลไม่ตรงกันมาโดยตลอด
2. การตัดสินใจที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของเหตุผล การประกาศกำหนดราคาต้นทุนในการผลิตไม่เกิน 2.00 บาท และให้จำหน่ายให้ประชาชนไม่เกิน 2.50 น. ไม่ได้พิจารณาบนพื้นฐานการเปลี่ยนแปลงราคาวัตถุดิบ ซึ่งนับวันจะแย่งชิงกันทั่วโลก และราคาสูงขึ้นนับสิบเท่า
3. กลไกการบริหารจัดการแบบราชการ ใช้วิธีการออกคำสั่ง ขาดการติดตาม มีแต่แก้ไขปัญหาแบบรายวัน ยกตัวอย่างเช่น มีกำหนดการขายหน้ากากอนามัยที่ทำเนียบ 15 วันแล้วก็ยกเลิกเมื่อจำหน่ายได้วันเดียว มีหน่วยรถ mobile แล้วก็ยกเลิก ส่งให้ร้านธงฟ้า แล้วก็บอกว่า มีรั่วไหล ตรวจสอบไม่ได้ ล่าสุด ก็ประกาศยกเลิกอีก แทนที่จะอึดสู้และหาทางแก้ข้อบกพร่อง
4. กฎระเบียบที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ เมื่อถึงจุดที่การผลิตในประเทศไม่เพียงพอต้องมีการนำเข้าหน้ากากอนามัยจากต่างประเทศ ภาษีนำเข้า 40% ก็กลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ราคาที่จะมาจำหน่ายแก่ประชาชนสูงขึ้นอีก สถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ควรลดภาษีเป็น 0% หรือไม่ เพื่อให้ประชาชนมีหน้ากากใช้ให้ทั่ว
5. การทำงานอย่างบูรณาการ 24 ชั่วโมงยังไม่เกิด กระทรวงใครกระทรวงมัน ไม่ล้ำเส้น ห้ามวิจารณ์กัน ขาดการประสาน ขาดการกำหนดทิศทางที่ร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ ไม่มีการวิเคราะห์ถึงภาพทัศน์ที่ตามมาหลังจากการตัดสินใจของแต่ละฝ่าย เช่นเรื่องปิดเมืองวันอาทิตย์ แทนที่จะมีมาตรการรองรับคนตกงานทันที กลับต้องรอประชุม ครม.วันอังคารเพื่อออกมาตรการรองรับ


รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร
ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา    มหาวิทยาลัยรังสิต
23 มีนาคม 2563
https://www.naewna.com/politic/481037

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ทำไมเราจึงต้องมาปวดหัวกับปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน ทั้งๆที่ในช่วงเวลาที่ไวรัสกำลังระบาด วิธีการป้องกันโรคที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งเมื่อทุกคนต้องออกไปพบปะสมาคมคือการใส่หน้ากากอนามัย

รัฐไม่สามารถจัดการ ให้หน้ากากอนามัยมีเพียงพอใช้ภายในประเทศได้ มิหนำซ้ำยังมีผู้ค้าบางรายที่เกร็งกำไรสูง ขายหน้ากากอนามัยกล่องละ 800 - 1,200 บาท สูงกว่าราคาปกติเกือบ 10 เท่า แม้จะมีกฎหมายควบคุมออกมาแต่ก็ยังมีเล็ดลอดขายอยู่ตลอดเวลา โดยผู้บริโภคไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยง หรือมีทางเลือกอื่นได้เมื่อจำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยเหล่านี้ทุกวัน

ไม่ต้องพูดถึงคนหาเช้ากินค่ำ พ่อค้าแม่ค้าทั่วไปตามท้องถนน ที่มีรายจ่ายมากอยู่แล้ว จะหาเงินที่ไหนมาซื้อหน้ากากอนามัยแพงๆ หากจะบอกว่าก็รัฐมีแจกฟรีแจก แต่ก็แจกกระจุกตัวอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีการกระจายออกมานอกพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม จริงๆของแบบนี้ถึงเวลาต้องเดินแจกรายบุคคล ให้เป็นกิจวัตรประจำวันได้แล้ว ตามถนนคนเดินห้างสรรพสินค้าทั่วไปได้แล้ว
ปัญหาลุกลามไปถึงคนที่จำเป็นต้องใช้มากที่สุด อย่างโรงพยาบาลเอกชนที่กำลังจะขาดแคลนหน้ากากอนามัย ที่ถูกดีลเลอร์ขายหน้ากากอนามัยปฏิเสธ เพราะขายข้างนอกได้กำไรมากกว่า

เรื่องแบบนี้แทนที่รัฐจะจัดลำดับความสำคัญที่จะขายให้กับโรงพยาบาลเอกชน หรือแก้ปัญหาในทางอื่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็โยนไปที่กระทรวงพาณิชย์ให้แก้ปัญหาดังกล่าว
การโยนปัญหาไปมา สะท้อนให้เห็นว่าการทำงานในช่วงเวลาวิกฤติ ของรัฐไม่เกิดขึ้นอย่างบูรณาการ และไม่มีเป้าหมายเดียวกัน
ประชาชนจึงรู้สึกสิ้นหวังอย่างมาก ท่ามกลางวิกฤตไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่กำลังระบาด แม้แต่การจะป้องกันตัวเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัย ยังมีความลำบากยากเย็น มีอุปสรรค ข้อท้าทายมากมายขนาดนี้ ทั้งๆที่รัฐควรเป็นผู้จัดการปัญหาดังกล่าวให้เรียบร้อยและรวดเร็วที่สุด แต่กลับกลายเป็นว่าไม่มีสามารถจัดการอะไรได้เลย
หากไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องง่ายๆอย่างหน้ากากอนามัยนี้ได้ ปัญหาอื่นของประเทศนี้รัฐบาลชุดนี้ก็ไม่สามารถแก้ไขได้เช่นเดียวกัน..

ข้อมูลเพิ่มเติม จากผู้เชี่ยวชาญของศูนย์บัญชาการป้องกันโรคติดต่อไต้หวัน ระบุว่า หน้ากากอนามัยแบบผ้าที่ผลิตมาเพื่อการใช้ซ้ำ หากซักทำความสะอาดก็สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ซึ่งก่อนใช้ควรพ่นแอลกอฮอล์เพื่อทำการฆ่าเชื้อโรคก่อน
สำหรับหน้ากากอนามัยที่ใช้ในทางการแพทย์ซึ่งบางชนิดก็มีวางจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไปควรใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่ควรน้ำกลับมาใช้ซ้ำหลายครั้ง แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ ให้ทำความสะอาดและพ่นด้วยแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรคก่อนจึงค่อยนำกลับมาใช้ เพราะจะช่วยลดปริมาณเชื้อโรคให้น้อยลงได้
แต่ถ้าหน้ากากอนามัยมีสารคัดหลั่งประเภท น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรือมีการสวมใส่เข้าไปในสถานที่ๆ ที่มีการแพร่ระบาดของโรค แนะนำว่าห้ามนำกลับมาใช้ซ้ำเด็ดขาดเพราะมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโรค และเพื่อสุขอนามัยที่ดีควรแยกทิ้งในถังขยะที่ปิดมิดชิดด้วย

2 มี.ค. 2563
https://www.nationtv.tv/main/content/378764070/

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะทั่วโลกเร่งเพิ่มกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อสู้ไวรัสโควิด19 หลังมีแนวโน้มเสี่ยงขาดแคลน

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริษัทและรัฐบาลนานาประเทศเร่งเพิ่มกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 40% เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะขาดแคลน หลังตัวเลขการระบาดและผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด19 เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศทั่วโลก
ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลกยังแนะให้รัฐบาลออกมาตรการควบคุมราคาสินค้าเหล่านี้อย่างเข้มงวด
ทั้งนี้ รายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่า นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ราคาของหน้ากากอนามัยปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า ขณะที่หน้ากาก N95 แพงขึ้น 3 เท่า และเสื้อสูทปลอดเชื้อแพงขึ้น 2 เท่า

รายงานประเมินว่า ในแต่ละเดือน เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขต้องใช้หน้ากากอนามัยต่อเดือน 89 ล้านอัน ถุงมือ 76 ล้านคู่ และแว่นตากันเชื้ออีก 1.6 ล้านคู่
นอกจากนี้ พิจารณาจากการระบาดของไวรัสโควิด19 ในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกสรุปว่า ไวรัสโควิด19 มีลักษณะการระบาดที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่าไข้หวัดทั่วไป แต่ทำให้มีอาการป่วยหนักกว่าไข้หวัด และขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือวิธีการรักษา แต่ไวรัสโควิด19 สามารถยับยั้งและควบคุมการแพร่ระบาดได้
ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด19 ล่าสุด อินโดนีเซีย ยูเครน อาร์เจนตินา และชิลี รายงานพบผู้ติดเชื้อรายแรกของประเทศเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ เกาหลีใต้ยังคงเป็นประเทศที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสเลวร้ายที่สุดนอกเหนือจากจีน พบผู้ติดเชื้อแล้วเกือบ 5,000 คน เสียชีวิต 34 ราย ขณะที่ในสหรัฐฯ พบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อแล้วมากกว่า 100 คน เสียชีวิตแล้ว 9 คน ทั้งผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในซีแอตเติล

4 March 2020
https://businesstoday.co/cover-story/04/03/2020/อนามัยโลก-แนะทั่วโลกเร่/

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ได้สร้างความตื่นตระหนกและหวาดกลัวให้กับคนไทย จากยอดคนติดเชื้อใกล้ทะลุ 100,000 คน มีผู้เสียชีวิต 3,383 คน ที่สำคัญคือ ยังไม่มียาหรือวัคซีนที่ใช้รักษาหรือป้องกันโรคโดยตรง ด้านกรมควบคุมโรคได้รายงานสถานการณ์การระบาดในไทยขณะนี้ยังอยู่ในระยะที่ 2 หลังจากพบผู้ป่วย ซึ่งเป็นคนไทยจำนวนหนึ่งติดเชื้อภายในประเทศ โดยมีความเชื่อมโยงกับนักท่องเที่ยวชาวจีนและผู้คนที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงและประเทศที่มีการระบาดอย่างหนัก
กรมควบคุมโรค ระบุว่าหากไทยไม่สามารถควบคุมการระบาดให้ “จำกัด” อยู่ในระยะที่ 2 ได้ จะเกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างภายในประเทศหรือการระบาดระยะที่ 3 ซึ่งคาดว่า ช่วง 1-2 เดือนแรกของระยะที่ 3 จะพบผู้ป่วยมากกว่า 1,000 ราย/วัน และอาจมีผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นรายวันเหมือนกับที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเกาหลีใต้-อิตาลี-อิหร่าน

ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตของการระบาดในประเทศรอบข้าง การไม่ห้ามการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยจากประเทศกลุ่มเสี่ยงและประเทศที่มีการระบาดอย่างหนัก ตลอดจนปรากฏการณ์ “ผีน้อย” ที่หนีตายจากเกาหลีใต้กลับเข้าสู่ประเทศ ยิ่งทำให้คนไทยต้องอาศัย “หน้ากากอนามัย” เป็นเครื่องป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะติดเชื้อไวรัส COVID-19 ผ่านการแพร่กระจายจากการไอ-จาม หรือสัมผัสสารคัดหลั่ง จากผู้ป่วยที่ติดเชื้อทั้งที่แสดงอาการและยังไม่แสดงอาการจนเกิดปรากฏการณ์ การขาดแคลนหน้ากากอนามัยประเภทใช้ครั้งเดียวทางการแพทย์อย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขาดแคลนหน้ากากอนามัยในโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน
ท่ามกลางความสับสนอลหม่านและไม่มีการเตรียมการรับมือในช่วงแรกของรัฐบาล ทำให้กรมการค้าภายใน โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ออกประกาศให้หน้ากากอนามัย (รวมถึงใยสังเคราะห์ polypropylene หรือ spunbond วัตถุดิบที่ใช้ทำหน้ากาก) เป็น “สินค้าควบคุม” มีผลตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563
ผลจากการประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม ซึ่งให้อำนาจคณะกรรมการกลางฯเข้าไปตรวจสอบโรงงาน การให้รายงานการผลิต สต๊อกสินค้า สต๊อกวัตถุดิบ ไปจนถึงการกำหนดราคาจำหน่ายหน้ากาก และห้ามส่งออกหน้ากากไปนอกประเทศโดยเด็ดขาด ทำให้รัฐบาลสามารถ “เข้าถึง” ข้อมูลที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า ทั้งประเทศมีโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยประเภทใช้ครั้งเดียวทางการแพทย์อยู่ 11 แห่ง ทั้ง 11 แห่ง แจ้งว่ามีกำลังการผลิตรวมกันประมาณวันละ 1,200,000 ชิ้นหรือเดือนละประมาณ 36 ล้านชิ้น ทว่าจากการตื่นกลัวการระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้คนไทยเกือบทั้งประเทศยึดถือเอาหน้ากากอนามัยทางการแพทย์เป็น “สรณะ” ส่งผลให้ความต้องการหน้ากากเพิ่มขึ้นเป็น 1-2 เท่าจากปกติ

กลายมาเป็นเกิดการกักตุนหน้ากากอนามัย การลักลอบส่งออก และราคาหน้ากากพุ่งขึ้นไปเป็น 10 เท่า โดยที่กรมการค้าภายใน ไม่สามารถทำอะไรได้ ทั้งการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนและการควบคุมราคาหน้ากากให้อยู่ในระดับปกติ ส่งผลให้รัฐบาลต้องตัดสินใจใช้มาตรการทางกฎหมาย ภายใต้ พ.ร.บ.กำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด เข้ามา “กำกับดูแล” การผลิตหน้ากากอนามัยของโรงงานทั้ง 11 แห่ง ด้วยการ “บังคับ” ให้โรงงานต้องส่งหน้ากากอนามัยที่ผลิตได้ทั้งหมดมาให้ “ศูนย์กระจายหน้ากากอนามัย” ที่บริหารร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุข
โดยศูนย์แห่งนี้จะรับหน้ากากอนามัยจากโรงงานเข้ามาวันละ 1,200,000 ชิ้น ทั้งหมดจะถูกจัดสรรออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรก 700,000 ชิ้นให้กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบจัดสรรหน้ากากให้กับโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน รวมทั้งโรงพยาบาลในมหาวิทยาลัยอีก 500,000 ชิ้นให้กรมการค้าภายใน จัดสรรกระจายสินค้าให้กับประชาชนทั้งประเทศที่ต้องการหน้ากากผ่านทางร้านค้าสะดวกซื้อ-ร้านธงฟ้าประชารัฐ และรถโมบายมากกว่า 100 คัน
แต่ทั้งหมดนี้รัฐบาลเพิ่งจะเข้ามาบริหารจัดการหน้ากากอนามัย หลังจากผ่านมาเกือบ 1 เดือน นับจากหน้ากากอนามัยถูกกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมในวันที่ 4 กุมภาพันธ์จนเกิดการขาดแคลนไปทั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาลทั่วประเทศ
จากการสอบถามโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยถึงการขาดแคลนสินค้าและถูกกรมการค้าภายในเข้ามา “กำกับดูแล” กระบวนการผลิตหน้ากากทุกชิ้นสะท้อนว่า การขาดแคลนหน้ากากระยะแรก ๆ เกิดจากมีหน้ากากส่วนหนึ่งที่กรมการค้าภายใน “ขอแบ่ง” ไปกองเอาไว้ที่กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ถูกบริหารจัดการที่เหมาะสมตามช่องทางการจำหน่ายตามปกติ
“สมมุติโรงงานผลิตหน้ากากออกมาได้ 100 ชิ้น กรมการค้าภายในเอาไปครึ่งหนึ่ง ทีนี้พวกโรงพยาบาลที่เขาสั่งออร์เดอร์เข้ามาตามปกติก็ไม่มีของ มันก็ขาดไปทั่วจนสถานการณ์บานปลาย สะสมเพิ่มขึ้น กลายเป็นของขาดทั้งโรงพยาบาลทั้งร้านค้า แน่นอนว่า ความต้องการมันเพิ่มขึ้นจากการตื่นกลัว COVID-19 รัฐบาลควรต้องออกมาชี้แจงว่า หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียวทางการแพทย์เป็นสิ่งจำเป็นอันดับ 1 ของโรงพยาบาลทั้งบุคลากรและผู้ป่วย คนปกติที่ไม่ติดเชื้อไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้หน้ากากแบบนี้ แต่พวกผมก็ไม่เข้าใจว่า กรมการค้าภายในจะเอาหน้ากากไปทำไมวันละ 500,000 ชิ้น”
กลับกลายเป็นการบริหารจัดการหน้ากากจำนวน 500,000 ชิ้น/วันของกรมการค้าภายในเป็นเรื่อง “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” คำนวณง่าย ๆ รถโมบาย 100 กว่าคันที่พร้อมจะจำหน่ายหน้ากากอนามัยให้ประชาชนในราคา 2.50 บาท/ชิ้น 1 คันจะบรรทุกหน้ากากไปขายประมาณ 3,000-5,000 ชิ้น “คุณออกรถ 100 กว่าคันทุกวันหน้ากากวันละ 500,000 ชิ้นก็แทบหมดไปแล้ว นี่เป็นคำตอบว่า ทำไมร้านสะดวกซื้อที่อ้างว่าจัดสรรไปแล้วมันถึงไม่มีของ”
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังโรงพยาบาลศูนย์ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หลายแห่งบอกว่า การขาดแคลนหน้ากากอนามัยยังไม่ดีขึ้นและน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลชุมชน ที่ปกติจะได้โควตาหน้ากากมาไม่มากนัก สำหรับโรงพยาบาลศูนย์เองออร์เดอร์ที่สั่งไปแต่ละครั้ง เวลาที่มีหน้ากากมาส่งก็จะได้รับไม่ครบ ส่วนที่เหลือก็จะนำมาส่งในครั้งถัด ๆ ไปทำให้ รพ.มีสต๊อกหน้ากากสำรองใช้เพียง 4-5 วัน จากปกติที่จะสต๊อกและใช้ได้ 2-3 เดือน “เรียกว่าต้องลุ้นวันต่อวันกันเลย จนตอนนี้ต้องให้เจ้าหน้าที่หรือพยาบาลเย็บหน้ากากผ้าเพื่อสต๊อกไว้ใช้กันแล้ว” โดยสถานการณ์เป็นแบบนี้มาตั้งแต่เดือนมกราคม เนื่องจาก รพ.ไม่สามารถสั่งออร์เดอร์จากโรงงานได้ และทุกโรงต้องไปสั่งผ่านองค์การเภสัชกรรม

ขณะที่ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า จากการประชุมกับภาครัฐและกลุ่มโรงงานผลิตหน้ากาก ล่าสุดได้มีการจัดสรรโควตาให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ แล้ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแล้ว และถือว่า “คลี่คลายลงไประดับหนึ่ง อาทิ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขรวมประมาณ 400,000-500,000 ชิ้น/วัน โรงเรียนแพทย์ต่าง ๆ  60,000 ชิ้น/วัน ส่วนสมาคมโรงพยาบาลเอกชนประมาณ 100,000 ชิ้น/วัน ซึ่งสมาคมจะนำไปกระจายให้กับสมาชิก 382 โรง ส่วนคลินิกต่าง ๆ คลินิกทันตกรรมประมาณ 25,000-40,000 ชิ้น แต่ภาพรวมของหน้ากากในประเทศยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการ ขาดแคลน ทุกหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรไปก็ยังต้องมีการควบคุมการใช้และประหยัด โดยจะจัดสรรให้กับบุคลากรทางการแพทย์จะต้องใกล้ชิดหรือสัมผัสผู้ป่วยก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง” นพ.เฉลิมกล่าว
ส่วนโรงพยาบาลในเครือกลุ่มสถาบันการแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้จะมีการจัดสรรโควตาหน้ากากอนามัยให้กับส่วนต่าง ๆ แล้ว แต่เนื่องจากเพิ่มเป็นช่วงแรกในแง่ของแนวทางปฏิบัติ ตอนนี้ยังไม่ลงตัวเท่าที่ควร ยังมีความขลุุกอยู่บ้าง จำนวนที่กลุ่มโรงเรียนแพทย์ที่มีอยู่ประมาณ 20 แห่งได้รับจัดสรรมา
“ก็ยังไม่พอกับความต้องการ แต่เราก็เข้าใจได้ว่าสาเหตุหลักมาจากโรงงานผลิตได้น้อย แต่ความต้องการมีมากของจึงขาด แต่ที่สำคัญก็คือ ปัญหาในการบริหารการจัดการหน้ากากของรัฐบาลนั่นเอง”

7 มีนาคม 2563
https://www.prachachat.net/economy/news-429370

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
งานเข้า! "นพ.วรุตม์" หลังเผยภาพหน้ากากอนามัยเปื้อนเลือด แฉข้อมูลโรงพยาบาลขาดแคลนหน้ากากหนัก ทำถูกสั่งห้ามพูดเป็นทอดๆ จนถึง "ผอ.รพ."

กลายเป็นเรื่องราวที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงไปทั่วทั้งสังคมออนไลน์ เมื่อ "นพ.วรุตม์ พิสุทธินนทกุล" คุณหมอผ่าตัดที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ ได้ออกมาโพสต์ภาพเลือดกระเด็นเต็มหน้ากากอนามัยที่ใช้ปิดใบหน้า หลังจากที่ผ่าตัดเสร็จ และในวันดังกล่าวนั้น หน้ากากอนามัยได้หมดจากโรงพยาบาลเรียบร้อย.

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มี.ค. "นพ.วรุตม์" ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กบางช่วงบางตอนว่า "ถ้าบุคลากรทางการแพทย์บอกว่าหน้ากากขาดแคลน ให้เรียกผอ.ไปพบว่าจัดการยังไงถึงขาดแคลน อ่อ มันเป็นแบบนี้เอง ใช้วิธีปิดปากลงมาเป็นทอดๆเช่นนี้เอง เรื่องนี้ทั่วโลกต้องรู้ #รัฐบาลขอทาน #โควิด19 หรือผักชีโรยหน้าแบบไทยๆดีนะ" หรือมันขึ้นอยู่กับนิยาม มีหน้ากากให้ใช้คนละชิ้น/วัน เท่ากับมีพอไม่ขาดแคลน เลอะเลือดก็เอาไปซักแล้วใช้ใหม่เท่ากับไม่ขาดแคลน พยาบาลไปซื้อหน้ากากมาใช้เองเท่ากับมีใช้แปลว่าไม่ขาดแคลน อือ....ถ้ามตามนิยามนี้ก็ไม่ขาดแคลน แต่ มันใช้เรา ก็ว่า ว่าทำไมพยายามปิดปากกันจังเลย "ประเทศนี้ดีจังน้าาาาาาา ไม่มีปัญหาเพราะห้ามบอกว่ามีปัญหา เหมือนถ้าไม่ตรวจเชื้อก็ไม่มีคนติดเชื้อ ไม่ตรวจก็ไม่เป็นอะนะ ก็แค่ #ผนงรจตกม"

8 มีนาคม 2563 .
https://www.dailynews.co.th/regional/761670

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
เพจดัง แหม่มโพธิ์ดำ ออกมาแฉซึ่งมีทั้งภาพและคลิปว่า มีบุคคลซึ่งอยู่ในขั้นเป็นถึงคนสนิทผู้ติดตามรัฐมนตรีท่านหนึ่งได้ทำการกักตุนหน้ากากอนามัยและมีหน้ากากสต็อก 200 ล้านชิ้น

เป็นคำถามคาใจสังคมมาตลอดว่าหน้ากากอนามัยจำนวนมากหายไปไหน จนเกิดปัญหาขาดแคลนถึงขั้นคุกคามความปลอดภัยของบุคลากรการแพทย์ ทั้งที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศให้โรงงานผู้ผลิต 11 แห่งทั่วประเทศ ต้องส่งหน้ากากอนามัยที่ผลิตได้ให้กับกระทรวงฯ เพื่อนำไปบริหารจัดการเอง 

ล่าสุด เพจดัง แหม่มโพธิ์ดำ ออกมาแฉซึ่งมีทั้งภาพและคลิปว่า มีบุคคลซึ่งอยู่ในขั้นเป็นถึงคนสนิทผู้ติดตามรัฐมนตรีท่านหนึ่งได้ทำการกักตุนหน้ากากอนามัยและมีหน้ากากสต็อก 200 ล้านชิ้น แถมมีการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวประกาศขายอีกด้วย โดยระบุด้วยว่า "ขอแค่เงินถึง"
 
"มีนักข่าวคนไหน สนใจทำข่าว คนสนิทผู้ติดตามรัฐมนตรีฉาวท่านหนึ่ง มีหน้ากากในสต๊อกเป็นล้านอัน พร้อมหลักฐาน ติดต่อหลังไมค์ได้นะ ชาวโซเชียลหาเจอคนอมหน้ากากแล้วล่ะ"
 
ซึ่งหลังจากที่โพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปก็มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างล้นหลาม จากนั้นเพจดังก็ได้มีการเปิดคลิป ข้อมูลต่างๆ ออกมาซึ่งเอามาจากเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาเอง เป็นคลิปขณะที่กำลังขนหน้ากากอนามัยในโกดัง ซึ่งคนสนิทของ รมต. ได้พูดชัดว่า "ไม่ต้องห่วงว่าจะไม่ได้หน้ากากอนามัย เพราะมีเยอะ แต่ขอแค่มีเงินกันจริงๆ ก็พอ"

9 มีนาคม 2563
https://www.komchadluek.net/news/regional/421289

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
โฆษกโควิด-19 แจงทำไมหน้ากากจึงขาดแคลน (7มีค2563)
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: 27 มีนาคม 2020, 13:32:54 »
กระบอกเสียงศูนย์โควิด-19 ออกโรงแจง ทำไมหน้ากากอนามัยถึงขาดแคลน
เมื่อวันที่ 7 มี.ค.63   นายถนอม อ่อนเกตุพล โฆษก COVID19 ประจำทำเนียบรัฐบาล ชี้แจง ถึงกรณีมีการตั้งคำถามว่า ทำไมหน้ากากอนามัยถึงขาดแคลน
นายถนอม อธิบายว่า  เรื่องหน้ากากอนามัยขาดแคลนว่า ประเทศไทย มี 11 โรงงานผลิตหน้ากากได้วันละ 1.2 ล้านชิ้น/วัน 36 ล้านชิ้น/เดือน คนไทยมีประมาณ 67 ล้านคน แสดงว่า 2 คน มีใช้ 1คน1ชิ้น /เดือน เดิมที่ไม่ขาดแคลนเพราะ คนใช้เฉพาะคนป่วย คนกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น และยังมีการนำเข้าอีก 20 ล้านชิ้น/เดือน ปัจจุบัน จีนผู้ส่งออกไม่ส่งออกแล้ว เหลือที่นำเข้าได้ตอนนี้เพียง 1ล้านชิ้น/เดือนเท่านั้น

ล่าสุดกรมการค้าภายในส่ง จนท.ทหารไปคุมโรงงานผลิตแล้วนำส่งตัวเลขการผลิตให้ศูนย์หน้ากากอนามัยที่ ก.พาณิชย์ร่วมกับ.ก.สาธารณสุข บริหารจัดสรรปันส่วน โดย 700,000 ชิ้นแรก จัดให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกแห่ง ทั้งรัฐ เอกชน + ผู้มีหน้าที่ให้เพียงพอ ส่วนที่ 2 500,000 ชิ้น จัดให้ บุคลากร องค์กรที่ต้องใช้ควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคให้พอ เช่น สายการบิน ตม.และกระจายไปภูมิภาค ผ่านร้านธงฟ้า รถธงฟ้า 111 คัน เป็นต้น
และถ้าส่วนแรกไม่พอก็ให้นำส่วนของ 500,000 ชิ้นไปเติมให้ส่วนแรกให้เพียงพอก่อน...กรมการค้าภายในยอมรับว่า จัดสรรอย่างไรก็ไม่พอต่อความต้องการใช้ เพราะของมีจำกัด นำเข้าก็ไม่ได้

ส่วนทางแก้อีกทางหนึ่งสำหรับคนที่ไม่ป่วย คือ รัฐให้ งบฯ อปท.225 ล้านไปทำหน้ากากผ้าใช้เองในแต่ละพื้นที่ ทั้ง7,774 อปท.ทั่วประเทศ จำนวน 50 ล้านชิ้น ให้ผู้ผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ ทำหน้ากากผ้าแจกอีก 30 ล้านชิ้น ให้ อสม.ทำแจกใช้เองอีก 1.3 ล้านชิ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและปัญหาขาดแคลนไปก่อนครับ...ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ควรแก่การรับฟังโปรดส่งต่อด้วยครับ #ศูนย์COVID19ทำเนียบรัฐบาล

 7 มีนาคม 2020
https://www.nationweekend.com/content/image_news/7713

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระดมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสาธารณสุข-โรงพยาบาล-ร้านขายยา ร่วมถกประเด็นบริหารจัดการหน้ากากอนามัย เร่งกระจายไปในโรงพยาบาล พร้อมเสนอมาตรการควบคุมการถือครอง และเดินหน้าติดตามสถานการณ์ขายสินค้าราคาแพงทั้งออฟไลน์และออนไลน์อย่างเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวการประชุมคณะทำงานวอร์รูม (War Room) เพื่อประเมินสถานการณ์และหารือแนวทางแก้ไขหน้ากากอนามัยขาดแคลน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข สมาคมร้านขายยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค

โดยการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยจำนวนที่ผลิตได้ทั้งสิ้นเดือนละ 38 ล้านชิ้น จากโรงงานผู้ผลิตจำนวน 11 แห่ง

ทั้งนี้ความต้องการหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นมากถึง 4-5 เท่าจากความต้องการปกติ จึงได้มีการหารือเกี่ยวกับการบริหารจัดการหน้ากากอนามัย

โดยจัดตั้งศูนย์การกระจายและบริหารจัดการสินค้าหน้ากากอนามัย ประกอบด้วย กรมการค้าภายใน ผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ตัวแทนจากกลุ่มโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลสังกัดท้องถิ่น และโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย

ซึ่งขณะนี้ได้มีการจัดสรรหน้ากากอนามัยไปให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องแล้วจำนวน 7.2 ล้านชิ้น โดยเกือบครึ่งจัดสรรให้กระทรวงสาธารณสุข โดยผ่านองค์การเภสัชกรรมและโรงพยาบาลของรัฐ เนื่องจากบุคลากรทางแพทย์มีความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้ ไปจนถึงร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อทั่วไป ห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้ยังได้จัดเตรียมรถธงฟ้าโมบาย การจำหน่ายหน้ากากอนามัยแบบเคลื่อนที่สำหรับพื้นที่ที่หาซื้อลำบาก

นอกจากนี้ จะนำเสนอมาตรการเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เพื่อให้พิจารณากำหนดมาตรการออกประกาศห้ามบุคคลใดกักตุนสินค้าหน้ากากอนามัย โดยมีหน้ากากอนามัยไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่กำหนด ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยสินค้าและบริการ มาตรา 30 เพื่อป้องกันการกักตุนสินค้าไม่ให้อยู่ในมือผู้ใดผู้หนึ่งมากเกินสมควร ซึ่งคณะกรรมการกลางจะเป็นผู้กำหนดปริมาณความเหมาะสมในการถือครองของบุคคลทั่วไป ร้านขายยา นิติบุคคลอื่นๆ ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม

ในส่วนของมาตรการติดตามสถานการณ์การจำหน่ายหน้ากากอนามัย ปัจจุบันมีการดำเนินคดีแล้ว 59 ราย แบ่งเป็น จำหน่ายสินค้าราคาแพงเกินสมควร 38 ราย ไม่ติดป้ายแสดงราคา 21 ราย ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเป็นร้านค้าออนไลน์ 5 ราย ซึ่งจะเข้มงวดในส่วนของการติดตามสถานการณ์การจัดจำหน่ายต่อไปทั้งในส่วนของออฟไลน์และออนไลน์ ทั้งในรูปแบบของการล่อซื้อ

สำหรับในส่วนของออนไลน์จะขอความร่วมมือจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อสืบค้นและดำเนินคดีกับผู้จำหน่ายสินค้าแบบอี-คอมเมิร์ซ ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้าอิสระบนโซเซียล มีเดีย หรือผู้ขายบนแพลตฟอร์ม อี-คอมเมิร์ซ โดยเจ้าของแพลตฟอร์มก็อาจเข้าข่ายกระทำผิดข้อกฎหมายในการจำหน่ายสินค้าราคาแพงเกินสมควรและอาจถูกดำเนินคดีด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะบริหารจัดการหน้ากากอนามัยอย่างดีที่สุด เพื่อให้มีการกระจายของสินค้าหน้ากากอนามัยได้มากที่สุด ทั้งนี้ ขอให้พี่น้องประชาชนที่ไม่ได้เป็นผู้ป่วยพิจารณาใช้หน้ากากผ้าที่สามารถซักแล้วใช้ใหม่ได้ เพื่อลดความต้องการสินค้าหน้ากากอนามัยลง
4มีค2563
https://marketeeronline.co/archives/149620

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์แอบซุ่มเงียบจัดการปัญหา “หน้ากากอนามัย” อย่างต่อเนื่อง มีการดำเนินการอะไรบ้าง ใช้มาตรการแบบไหน แล้วผลเป็นยังไง ไปติดตามกันได้เลย (แต่ถ้าใครยังต่อไม่ติด ไปอ่าน “ใครเล่นกลสต๊อก “หน้ากากอนามัย” ได้ตามลิงก์นี้ www.commercenewsagency.com/report/2962 เพื่อปูพื้นก่อน)
               
วันที่ 17 ก.พ.2563 เริ่มงานวันแรกของสัปดาห์ กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) สั่งให้ผู้ผลิต ตัวแทนจำหน่าย ปันส่วนหน้ากากอนามัย 50% ของปริมาณที่ผลิต หรือครอบครอง ให้กับศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัยของกรมการค้าภายใน ในราคาไม่เกินชิ้นละ 2 บาท เพื่อนำไปบริหารจัดการต่อให้เพียงพอกับความต้องการ เริ่มปันส่วนครั้งแรกวันที่ 21 ก.พ.2563 ส่วนครั้งต่อไป ให้เป็นไปตามที่เลขาธิการ กกร. กำหนด ซึ่งเลขาธิการ กกร. ก็คือ อธิบดีกรมการค้าภายใน
         
วันที่ 19 ก.พ.2563 อธิบดีกรมการค้าภายใน แจ้งว่า ยังคงห้ามส่งออกหน้ากากอนามัย หลังจากมีผู้มาขออนุญาตส่งออกรวม 25 ล้านชิ้น และยังพบว่า มีการใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย ส่งออกหน้ากากอนามัยน้อยกว่า 500 ชิ้น ส่วนการขอส่งออกหน้ากากชนิดพิเศษ ยืนยันเหมือนเดิมว่าจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป แต่ต้องทำตามเงื่อนไขที่กำหนด
         
ทั้งนี้ ยังได้แจ้งข่าวการจับกุมผู้ค้ากำไรเกินควรที่จับได้ล่าสุดรวม 20 ราย และยังจับพวกที่ขายแพงผ่านเฟซบุ๊กได้ด้วย ถือเป็นรายแรกที่ตามจับได้ โดยกว่าจะจับได้ก็เล่นเอาเหนื่อย เพราะพวกนี้เก่ง บางรายไหวตัวทัน แล้วยังต้องจ่ายเงินเลย ไม่งั้นคนขายไม่เชื่อ แต่ปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ “เงินหมด” เพราะต้องจ่ายสด งดเชื่อ แล้วเงินที่เอามาจ่าย ก็มาจากเงินสวัสดิการ จับแล้ว ส่งตำรวจแล้ว ไม่ใช่ว่าจะได้เงินคืนทันที ต้องรอโน่น คดีตัดสิน ไม่รู้ว่าอีกเมื่อไร ถึงจะได้คืน ยิ่งตอนนี้ ต้องตามจับ ตามล่อซื้ออีกเพียบ เงินไม่มีตอนไหน ยังตอบไม่ได้ 
         
วันที่ 20 ก.พ.2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ลงนามในประกาศ กกร.ฉบับใหม่ ห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยทุกชิ้น ยกเว้นให้นำติดตัวออกไปได้ไม่เกิน 30 ชิ้น แต่ถ้าเป็นคนป่วย มีใบรับรองแพทย์ นำออกได้ไม่เกิน 50 ชิ้น ส่วนการส่งออกหน้ากากชนิดพิเศษ ให้ขออนุญาตจากคณะอนุกรรมการ ที่จะพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป
         
วันที่ 21 ก.พ.2563 อธิบดีกรมการค้าภายในนัดแถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินการเรื่องหน้ากากอนามัย งานนี้ ตอบข้อสงสัยที่เคยสงสัยกันมาได้หมด ทั้งเรื่องสต๊อกหน้าการอนามัย 200 ล้านชิ้นหายไปไหน สินค้าในประเทศมีเพียงพอหรือไม่ แนวโน้มราคาจะเป็นอย่างไร หรือพวกที่เอาเปรียบชาวบ้าน ได้จัดการไปมากน้อยแค่ไหน
         
ไปดูคำตอบในแต่ละเรื่องกัน เริ่มจากสต๊อกหน้ากากอนามัย ย้อนกลับไปวันที่ 6 ก.พ.2563 ซึ่งเป็นวันที่กำหนดให้ผู้ผลิต ตัวแทนจำหน่าย แจ้งสต๊อกหน้ากากอนามัยในครอบครอง ปรากฏว่า มีสต๊อกในมือแค่ 2.17 แสนชิ้น ย้ำ 2.17 แสนชิ้น ถึงขนาดที่อธิบดีกรมการค้าภายในต้องบอกว่า “ผมยังจำได้ติดตามาจนถึงวันนี้” เพราะตัวเลขมันสวนทางกับตัวเลขสต๊อกที่ผู้ผลิตเคยบอกว่ามีสูงถึง 200 ล้านชิ้นก่อนหน้านี้
         
แล้ว 200 ล้านชิ้นไปไหน อธิบดีไม่ได้ตอบตรงๆ แต่บอกว่า ปี 2562 ทั้งปี มีการส่งออกหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้น 200% และเฉพาะเดือนม.ค.2563 เดือนเดียว มียอดส่งออกเพิ่มขึ้น 300% แสดงว่า แค่ไม่กี่วันก่อนที่ประกาศ กกร. จะบังคับใช้ และให้แจ้งสต๊อก น่าจะมีการเร่งส่งออกกันอย่างทะลักทะล้น
         
แล้ววันนี้สถานการณ์สต๊อกเป็นยังไง สรุปถึงวันที่ 20 ก.พ.2563 มีผู้แจ้งสต๊อกเข้ามารวม 28 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นทันตาเห็น หลังใช้มาตรการห้ามส่งออก แล้วยิ่งมีมาตรการเข้มห้ามส่งออกทุกชิ้น ก็มั่นใจว่า สต๊อกจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
         
ถามต่อ แล้วในประเทศจะมีเพียงพอหรือไม่ ตอนนี้สต๊อกเพิ่มขึ้นแล้ว เพิ่มขึ้นจากหน้ากากอนามัยที่ห้ามส่งออก จากที่ขอมา 32 ล้านชิ้น (ตัวเลขล่าสุดถึง 20 ก.พ.2563) แต่ในจำนวนนี้ให้ส่งออกหน้ากากชนิดพิเศษไป 2.1 ล้านชิ้น แต่จะได้กลับคืนมา 8.3 ล้านชิ้น เพราะโรงงานจะผลิตส่งมาให้ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย เป็นเงื่อนไขที่ตกลงกัน

อย่างไรก็ตาม ไปดูตัวเลขที่ขอส่งออก ต้องหักที่ผู้ส่งออกขอถอนไม่ส่งออกอีก 11 ล้านชิ้น แต่เอาเข้าจริง พอไปขอปันส่วนใน 11 ล้านชิ้น กลับแจ้งว่าไม่มีของส่งออก แค่มาขอตัวเลขส่งออกเอาไว้ ทำให้เหลือหน้ากากอนามัยจริงๆ ที่ขอส่งออกประมาณ 19 ล้านชิ้น ดังนั้น เมื่อมีการขอปันส่วนสต๊อกที่มีอยู่มาครึ่งหนึ่ง ทั้งจากที่จะส่งออกและจากสต๊อกที่มีอยู่ น่าจะทำให้สถานการณ์การขาดแคลนเบาบาง เพราะหน้ากากอนามัยที่ได้มา จะนำไปกระจายต่อให้กับผู้ที่จำเป็นต้องใช้ก่อน อย่างองค์การเภสัชกรรม การบินไทย สมาคมร้านขายยา และได้เพิ่มช่องทางการจำหน่าย นอกเหนือจากจำหน่ายที่กระทรวงพาณิชย์ ร้านธงฟ้า 900 แห่งทั่วประเทศ คือ ร้านสะดวกซื้อ 7-11 บิ๊กซี เทสโก้โลตัส และวิลล่า มาร์เก็ต รวมๆ แล้วน่าจะมี 2 หมื่นสาขาทั่วประเทศ แต่ได้จำกัดการซื้อคนละ 4 ชิ้นๆ ละ 2.50 บาท รวมแล้วจ่ายแค่ 10 บาท และสามารถซื้อได้ทุกวัน
         
ส่วนการจัดการกับพวกเอาเปรียบ พวกหากินบนความเดือดร้อนของประชาชน ล่าสุดจับกุมไปแล้ว 30 ราย ในจำนวนนี้เป็นพวกขายออนไลน์ 3 ราย ส่งตำรวจดำเนินคดีหมดแล้ว มีโทษสูงสุด จำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
         
เป็นยาแรงที่ออกมา และหวังว่า รอบนี้ จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยได้แบบอยู่หมัด

23 ก.พ. 2563
https://www.commercenewsagency.com/report/2984

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
กระทรวงสาธารณสุขหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด 3 มาตรการแก้ปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัย เพิ่มกำลังการผลิต จำกัดการซื้อ ไม่กักตุนสินค้า แนะประชาชนใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้าป้องกันโรค
         วันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุขุม กาญจพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยนายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังประชุมหารือแนวทางป้องกันปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย ว่า จากการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การนำเข้าหน้ากาก ได้แก่ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และบริษัทที่ผลิต/นำเข้าหน้ากากอนามัย ผลการประชุมได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ได้กำหนดให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุมพิเศษและมีมาตรการในการแก้ปัญหาระยะสั้นร่วมกัน 3 ข้อ
           1.เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นร้อยละ 10 – 20 ให้เพียงพอกับความต้องการในประเทศ 2.จำกัดการซื้อ 1 คนไม่เกิน 10 ชิ้น 3.จำกัดการส่งออก ไม่ให้มีการกักตุนสินค้าและฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรม หากพบมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พร้อมกันนี้จะมีการสำรวจความต้องการใช้หน้ากากอนามัยในโรงพยาบาลทุกแห่ง โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรมและภาคเอกชนที่ผลิต/จำหน่าย เร่งกระจายหน้ากากอนามัยให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน
          นายแพทย์สุขุมกล่าวต่อว่า ในช่วงที่มีสถานการณ์โรคปอดอักเสบจากเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ขอให้ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และป้องกันตนเอง โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก แนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้าก็เพียงพอในการป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ สามารถทำใช้เอง หลังใช้ซักให้สะอาดและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมทั้งให้ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปากโดยไม่จำเป็น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
           และขอความร่วมมือบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขใช้หน้ากากอนามัยให้เหมาะกับลักษณะงานที่ทำ กลุ่มผู้ปฏิบัติงานทั่วไปใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้า ส่วนกลุ่มที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ห้องผ่าตัด หรือหอผู้ป่วยหนักใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เพื่อป้องกันการติดต่อของโรค รวมทั้งผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจเพื่อปัองกันการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งจะต้องใส่ให้พอดีกับใบหน้า หันด้านที่มีสีออก และให้ด้านที่มีลวดอยู่ด้านบน
          ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัย ได้จัดทำคลิปสอนวิธีการทำหน้ากากอนามัยแบบผ้าไว้ใช้เอง โดยใช้ผ้าขนาดประมาณ 7 นิ้วครึ่ง จับจีบตรงกลาง เย็บทบกัน 2 ชั้น และติดยางยืด 2 ข้าง ดูวิธีทำได้ที่  https://youtu.be/sDPGLKnEID0
6 กุมภาพันธ์ 2563
https://gnews.apps.go.th/news?news=55085

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
หน้ากากอนามัย หายไปไหน!!!(8กพ2563)
« ตอบกลับ #11 เมื่อ: 27 มีนาคม 2020, 14:09:14 »
กลายเป็นประเด็นว่อนโซเชียล กรณีหน้ากากอนามัยขาดแคลน สวนทางเสียงจากนายกรัฐมนตรีที่ออกมายืนยันเสียงแข็ง “มันจะขาดตลาดได้ยังไง กระทรวงพาณิชย์ เขาก็ยืนยันว่ามันมีไม่ใช่เหรอ” จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันกระหึ่มถึงคำพูดของผู้นำประเทศที่สวนทางกับสถานการณ์จริง ในเวลาที่ประชาชนกำลังตื่นตระหนกทั้งฝุ่นพิษและไวรัสโคโรนา แต่ไม่สามารถหาซื้อหน้ากากอนามัยได้ตามร้านค้าปลีกหรือร้านขายยาทั่วไป
กระแสหน้ากากอนามัยหายไปไหน ตลอดสัปดาห์มานี้ถูกกล่าวถึงกันมาก วัดจากคนใกล้ตัวที่มาจากหลายพื้นที่ต่างพูดไปในเสียงเดียวกันว่าหาซื้อไม่ได้จริงๆ! บ้างก็พูดด้วยความหงุดหงิดใจว่าแถวบ้านมีขาย แต่ราคาสูงจับไม่ลง วันนี้แม้แต่ตามโรงพยาบาลหลายแห่งก็ส่งข้อมูลแพร่หลายไปทั่วว่าหน้ากากอนามัยขาดตลาดจริงๆ
ผู้ฉวยโอกาสกอบโกยช่วงที่ประชาชนลำบากจากฝุ่นพิษ และหวาดผวากับไวรัสโคโรนา ใต้จิตสำนึกคนลำบากอยู่แล้วไปซ้ำเติมกันทำไม!!! เกิดคำถามตามมาเป็นหางว่าว
สอดคล้องกับที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานงานส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ในฐานะที่ดูแล 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ตั้งข้อสังเกตว่า หน้ากากอนามัยขาดตลาด หรือผลิตออกมาจำนวนมากแล้วหายไปไหนนั้น มีประเด็นที่ต้องจับตา ไล่ตั้งแต่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ลากมาถึงไวรัสโคโรนา ที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนกว้านซื้อยกแผง ทั้งใช้ในประเทศ และจากคำสั่งซื้อเพื่อส่งออกจำนวนมาก ทำให้ตลาดหน้ากากอนามัยมีการเก็งกำไรเกิดขึ้น ขายราคาสูงขึ้นเป็นเท่าตัว โดยก่อนหน้านั้นมีคนอ้างรับซื้อเพื่อส่งออกไปจีนจำนวนหลายล้านชิ้นผ่านช่องทางโซเชียล เพื่อรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา มีจำนวนการสั่งซื้อในปริมาณที่สูงขึ้นหลายเท่าตัว หรือหลักหลายล้านชิ้น
อีกทั้งเกิดปรากฏการณ์ในลักษณะที่เหมือนกรณีที่ในประเทศจีนเคยประสบปัญหานมผง และนมอัดเม็ดไม่มีคุณภาพ คนจีนแห่เข้ามาซื้อในไทย ทำให้นมอัดเม็ดในไทยขายดิบขายดี คนจีนนิยมซื้อไปบริโภคและซื้อเป็นของฝาก แบบเหมาซื้อจำนวนมาก ตอนนี้เปลี่ยนเป็นซื้อหน้ากากอนามัยแทน เริ่มแรกจีนสั่งออร์เดอร์หน้ากาก N95 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง แต่ตลาดในไทยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้า ต่อมาหน้ากากอนามัยที่ผลิตในไทยใช้ได้ทั้งหมด ไม่เลือกชนิด เพราะความต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆจนขาดตลาด
แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมอีกรายระบุว่า ปัญหาดังกล่าวผสมโรงกับที่โรงงานในไทยผลิตไม่ทัน เพราะเวลานี้มีออร์เดอร์จองกันถึงหน้าโรงงานซื้อในราคาพร้อมจ่าย

8 Feb 2020
https://www.thansettakij.com/content/421036

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
“อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์” นำหลักฐานโพสต์ข้อความของ “เสี่ยบอย” กักตุนขายหน้ากากอนามัยมีไม่อั้น 200 ล้านชิ้น เข้าแจ้งความตำรวจ ปอท. พร้อมยืนยัน ไม่ได้ติดโควิด-19 หลังมีภาพปรากฏไปเวทีมวยลุมพินี ปูดอีกทหารกลุ่มหนึ่ง สั่งโรงงานไม่ให้ผลิตแอลกอฮอล์ เพื่อให้ขาดตลาด

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 24 มี.ค.63 ที่ บก.ปอท. นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.กฤช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา เพื่อแจ้งความเอาผิดบุคคลพร้อมพวก โดยนายอัจฉริยะ ได้ไลฟ์สดผ่านเพจชมรมฯ ก่อนพบพนักงานสอบสวน บก.ปอท.ว่า..."สดจากปอท.ในการดำเนินคดีแก็งบอย เรื่องหน้ากาก สู้เพื่อพี่น้องคนไทย นำคนผิดมาลงโทษตามกฏหมาย" หลังเข้าพบ พงส.กก.3 บก.ปอท.ใช้เวลานาน 2 ช.ม.

นายอัจฉริยะ ได้ให้สัมภาษณ์ โดยนักข่าวและช่างภาพ ยืนห่างกว่า 1 เมตร ว่า วันนี้ตนนำหลักฐานการโพสต์ข้อความลงโซเชียลมีเดียของนายศรสุวีร์ ภู่รวีรัศวัชรี หรือเสี่ยบอย เกี่ยวกับการขายหน้ากากอนามัย มาแจ้งความร้องทุกข์กับ พงส.บก.ปอท. เพื่อให้ดำเนินคดีกับขบวนการกักตุนหน้าหากอนามัยและทำให้สินค้าขาดตลาด ในความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ที่มาแจ้งความในวันนี้เชื่อว่ามีกลุ่มขบวนการที่มีความเกี่ยวเนื่องกับนายบอย เนื่องจากพบหลักฐานว่ากลุ่มผู้ต้องสงสัยมีการติดต่อซื้อขายหน้ากากอนามัยจากโรงงานที่ผลิตหน้ากากอนามัยส่งขายให้กับรัฐบาล มีหลักฐานการซื้อขายและจ่ายส่วนแบ่งค่านายหน้า จำนวน 4 แสนบาทให้กับนายบอย จนเป็นที่มาให้เกิดการโพสต์ขาย อ้างว่ามีหน้ากากอนามัย กว่า 200 ล้านชิ้น
"ส่วนการดำเนินคดีเอาผิดผู้ต้องสงสัยรายอื่นๆ ทราบว่า บช.ก.มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแยกไปอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มที่สาม และข้อมูลที่ตนเองจะนำไปให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร.เป็นเอกสารเกี่ยวข้องกับรายชื่อบริษัทเอกชน, โรงงานผลิตหน้ากากอนามัย ที่มีกว่า 242 แห่ง เพื่อขอให้มีการตรวจสอบว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการกักตุนหน้ากากอนามัยหรือไม่ ทั้งนี้ทราบว่ามีการเข้าตรวจค้นโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยต้องสงสัยทางภาคเหนือว่าจะเกี่ยวข้องกับขบวนการนี้อย่างไรบ้าง" อัจฉริยะ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีการระบุว่านายอัจฉริยะ ได้ไปชมมวยเวทีลุมพินี ที่มีการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ด้วย โดยมีภาพนายอัจฉริยะปรากฏตัวในสนามมวยลุมพินี ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
อัจฉริยะ กล่าวว่า เอาอย่างนี้ดีกว่า ผมไม่ได้เป็นโควิด-19 ถ้าเป็น เป็นนานแล้ว เพราะผ่านการตรวจจากทุกที่มาแล้ว และตรวจจากแพทย์มาแล้ว ยอมรับมีไปสนามมวยครั้งเดียว ไปก่อนจะมีข่าวโควิด-19 ไปล่าสุดเมื่อประมาณเดือนกว่า ถ้าผมเป็นผมเป็นแล้ว พูดตรงๆ เพราะเราผ่านการตรวจทุกที่มาแล้ว
ต่อมา เมื่อเวลา 13.30 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) นายอัจฉริยะ นำบัญชีรายชื่อโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยและบริษัทที่นำเข้าหน้ากากอนามัยและวัตถุดิบทั่วประเทศหนา 169 แผ่น กว่า 1,000 บริษัท เข้ามอบให้กับ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. เพื่อสืบสวนติดตามจับกุมบริษัทที่ฝ่าฝืนกฎหมายลักลอบส่งออกหน้ากากอนามัย

นายอัจฉริยะ กล่าวว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.ภ.5 สนธิกำลังเข้าตรวจค้นโรงงานแห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งไม่ได้อยู่ในรายชื่อ 11 บริษัทที่กรมการค้าภายในควบคุม สามารถตรวจยึดหน้ากากอนามัยได้ 45,000 ชิ้น กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก หลังเจ้าหน้าที่จับผู้ค้าได้ สอบสวนซัดทอดว่าโรงงานดังกล่าวเป็นผู้ผลิตให้ โดยบริษัทเหล่านี้จะผลิตหน้ากากจำหน่ายตลาดมืด จากเดิมขายให้กับธงฟ้าในภาคเหนือ แต่กลับพบว่าจำหน่ายทางออนไลน์ กล่องละ 800 บาท ส่วน 11 บริษัทที่กรมการค้าภายในกำกับอยู่พบว่ามี 1 บริษัท ลักลอบจำหน่ายให้กับตลาดออนไลน์จำนวนมาก และแจ้งยอดการผลิตไม่ตรงกับความจริง เช่นแจ้งยอดให้กับกรมการค้าภายในผลิตได้ 200,000 ชิ้นต่อวัน แต่ความจริงคือผลิตได้ 500,000 ชิ้นต่อวัน ส่วนต่าง 300,000 ชิ้นลักลอบนำไปจำหน่ายให้กับแก๊งนายศรสุวีร์ ภู่รวีรัศวัชรี หรือเสี่ยบอย รวมทั้งกลุ่มข้าราชการจากกรมการค้าภายใน 3-4 ราย

“ขบวนการนี้มีกลุ่มการเมืองและกลุ่มทหารเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย อย่างเช่นในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ได้รับรายงานว่ามีทหารเข้าไปสั่งโรงงานไม่ให้ผลิตแอลกอฮอล์เพื่อให้ขาดตลาด”

ส่วนกลุ่มนักการเมืองเป็นกลุ่มที่เคยพูดมาก่อนหน้านี้ อยู่ในกระทรวงพาณิชย์ หลักฐานเริ่มปรากฏขึ้นเรื่อยๆ โรงงานที่จับได้ก็เป็นหนึ่งใน 11 บริษัทที่เอามาขายจำนวนมาก โดยเฉพาะวันที่ 29 ม.ค.เอามาขายให้กับนายพันธ์ยศ อัครอมรพงศ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคภราดรภาพ จำนวน 1 ล้านชิ้น โดยนายพันธ์ยศ ได้ส่วนแบ่งไป 4 แสนบาท ระหว่างเดือนก.พ. ยังมีการขายอีกหลายล้านชิ้น 1 ในบริษัทนี้อยู่ในสังกัดของกรมการค้าภายใน และ 11 บริษัทที่กล่าวอ้างมา และยังไม่รวมอีก 242 บริษัทที่ทำเรื่องขอมายังกรมการค้าภายใน เพื่อประสงค์ส่งออกหน้ากากอนามัย ดังนั้น ทำไมอีก 200 กว่าบริษัท ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกหน่วยงานที่ขอไป.

ไทยรัฐออนไลน์
24 มี.ค. 2563

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สมาคมร้านขายยาออกแถลงการณ์ กรณีระบุว่า ตามที่ปรากฎทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ ว่า กรมการค้าภายใน ได้จัดสรรหน้ากากอนามัยให้แก่ สมาคมร้านขายยา วันละ 25,000 ชิ้น เพื่อจำหน่ายกับผู้ที่ต้องการนั้น สมาคมร้านขายยาขอแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันว่า จนถึงขณะนี้ ทางสมาคมฯ ยังไม่เคยได้รับหน้ากากอนามัยจากกรมการค้าภายใน เลยแม้แต่น้อย
ดังนั้น เพื่อความยุติธรรม และลดแรงกดดัน เพื่อให้สมาคมร้านขายยาที่มีสมาชิกทั่วประเทศ ช่วยลดช่องว่าง ช่วยแบ่งเบาภาระทางราชการ ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัส COVID-19 สมาคมร้านขายยา จึงขอเรียกร้อง ให้กรมการค้าภายใน และเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการจัดส่งหน้ากากอนามัย ให้แก่ทางสมาคมฯ ตามที่ปรากฎเป็นข่าวด้วย

8 มี.ค. 63
https://www.sanook.com/news/8048814/

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ในช่วงเดือนที่ผ่านมา หน้ากากอนามัยมีราคาสูงขึ้นมาก จากอันละประมาณ 50 สตางค์ถึงหนึ่งบาท ขึ้นมาเป็นอันละประมาณ 14 บาท แต่ปัจจุบันนี้ปรากฎว่า อันละ 14 บาท ก็ยังหาคนขายไม่ได้เลย?
สาเหตุของการหายไปจากตลาดของหน้ากากอนามัยมาจากมาตราการหลักทั้ง 2 อันของรัฐบาลครับ
1.1 รัฐเข้าควบคุมราคาหน้ากากอนามัย (Price control) ห้ามขายเกินอันละ 2.5 บาท
1.2 รัฐบังคับให้โรงงานหน้ากากอนามัยส่งหน้ากากทุกชิ้นให้กับกระทรวงพาณิชย์บริหาร ( Controlling Supply)

สำหรับคนที่ยังงงๆ ค่อยๆ อ่าน พอจบบทความแล้วเพื่อนๆ จะร้อง อ๋อเลย!
ผมจะเล่าให้เพื่อนๆ ฟังคร่าวๆ ว่า เศรษฐศาสตร์ของการขาดแคลนหน้ากากอนามัย มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
ใครเรียนเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นอาจยังจำเส้นอุปสงค์ (Demand) กับเส้นอุปทาน (Supply) ได้บ้าง
ถามว่า หน้ากากอนามัยแพงมันเกิดจากอะไร
เมื่อตลาดต้องการสินค้าตัวไหนมาก เมื่อปริมาณของสินค้าเท่าเดิม ราคาของสินค้าตัวนั้นก็จะแพงขึ้นตามธรรมชาติ
เมื่อหน้ากากราคาสูงขึ้น วิธีแก้ราคาหน้ากากแพงมีวิธีเดียวครับคือ เพิ่มปริมาณ หน้ากากในตลาด
แต่มาตรการที่รัฐใช้กลับทำให้ปริมาณหน้ากากน้อยลงไปอีก
มาตรการที่ 1 คือควบคุมราคา ใครขายเกิน 2.5 บาท จับจริง เอาเข้าคุก มาตรการนี้ทำให้คนดีๆ ไม่อยากทำผิดกฎหมาย ตอนนี้ ราคาตลาดมันเกิน 2.5 บาทไปแล้ว ใครจะเอาทองมาขายในราคาผ้าขี้ริ้ว ตอนนี้ไม่มีร้านไหนขายในราคานี้แล้วครับ คนที่ขายหน้ากากเลยหนีไปอยู่ในตลาดมืดทั้งหมด เลยเกิดคนอย่าง #บอยหน้ากากเยอะ ขึ้นมา
ส่วนมาตรการที่ 2 คือการบังคับให้ส่งหน้ากากเข้ารัฐนั้นทำลายระบบกระจายสินค้าทั้งหมด (supply chain) ลองคิดดู ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์เกิดมาไม่เคยส่งหน้ากาก จะบริหารหน้ากากส่งไปให้โรงพยาบาลรัฐ รวมถึงร้านขายยาทั่วประเทศที่เป็นที่พึ่งหลักในการขายให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ ข้าราชการในกระทรวงจะส่งสินค้าไปร้านพวกนี้ได้อย่างไร? (ดีไม่ดีเกิดคนใกล้ชิดในกระทรวงจะแอบเอาหน้ากากไปขายเสียเองแบบที่ลือกันอยู่ จะซวยกันทั้งประเทศ)
แล้วถามว่า เราต้องทำยังไงครับ หน้ากากถึงจะหาซื้อได้ ทำยังไงหน้ากากถึงจะถูกลง คำตอบสั้นๆ คือ เราต้องเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการและผู้นำเข้าหน้ากากให้เค้านำหน้ากากมาขายให้ประชาชนได้โดยง่าย
1. เลิกมาตรการควบคุมหน้ากากอนามัยทันที
2. เปิดเสรีนำเข้าหน้ากากโดยเร็ว ทั้งลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือ 0 % และยกเลิกพิธีการศุลากรของหน้ากากอนามัยและสินค้าที่เกี่ยวข้องทันที
3. ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการขายหน้ากากและสินค้าที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
4. เปิดเสรีใบอนุญาตโรงงานทำหน้ากากและสินค้าที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
5. เพิ่มเครดิตภาษีให้กับผู้ประกอบการที่มียอดจำหน่ายหน้ากากอนามัยและสินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น สามารถหักนำค่าใช้ไปจ่ายจากโรงงานที่ผลิตหน้ากากเพื่อลดภาษีจากผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นได้สองเท่า
ถ้าเราสามารถทำได้ดังนี้ กำไรของผู้ผลิตจะมากขึ้น ผู้ผลิตรายเก่าก็จะเริ่มผลิตมากขึ้น รวมถึงอาจมีผู้ผลิตรายใหม่ที่อยากทำกำไรเข้ามาขายแข่งบ้าง
ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ปริมาณของสินค้าในตลาดจะเพิ่มขึ้น ราคาก็จะลดลงมาโดยธรรมชาติเช่นกัน
แต่ถามว่าทำไมราคาหน้ากากยังไม่ลด เพราะที่ผมเล่าให้ฟังคือตลาดระยะยาวครับ
ตอนนี้มันถึงกลางเรื่องเท่านั้นเอง คือความต้องการเพิ่มราคาขึ้น แต่ผู้ผลิตยังไม่ทันจะผลิตเพิ่ม รัฐก็ไม่ยอมให้ตลาดทำงานเสียแล้ว
ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้นะครับ จ้างให้ ก็ไม่มีใครเข้าตลาด อยู่ดีๆ ผู้ประกอบการที่ไหนจะอยากเอาหัวไปเสี่ยงในตาราง ตอนนี้แค่บอกว่า โรงงานผมทำหน้ากากอนามัยก็เข้าคุกไปครึ่งตัวแล้วครับ
(นอกจากเจ้าสัวที่เงินเหลือ อยากจะได้พีอาร์เท่ๆ ก็แค่นั้นเอง)

2020-03-12
https://prachatai.com/journal/2020/03/86749