ผู้เขียน หัวข้อ: สถานการณ์การแพร่ระบาดโรค “โควิด-19”  (อ่าน 4447 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
กรมควบคุมโรค ขอ “สงกรานต์” นี้ งดกิจกรรมสังสรรค์ อยู่บ้านลดเชื้อโควิด-19 ลดอุบัติเหตุ ไม่เพิ่มภาระให้โรงพยาบาล พบ มี.ค.เดือนเดียว เจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 2.7 หมี่นราย มาจากมอเตอร์ไซค์ 82%

วันนี้ (11 เม.ย.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ประเทศไทย ยังมีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาล และ สธ.ขอให้ประชาชนอยู่บ้านเพื่อลดการติดเชื้อ และไม่นำเชื้อจากนอกบ้านมาแพร่สู่คนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว หากกลุ่มนี้ได้รับเชื้อจะมีอาการรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ สำหรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ รัฐบาลได้ยกเลิกกิจกรรมและวันหยุด ขอให้ประชาชนงดกิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุในการได้รับเชื้อโควิด-19 ได้ งดการเดินทางกลับภูมิลำเนา ลดการรวมกลุ่มใกล้ชิดในเครือญาติ หากผู้อยู่ร่วมบ้านเดียวกันกับผู้สูงอายุจะกราบและขอพร ควรเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร ส่วนเครือญาติที่อยู่ไกลกันควรใช้การโทรศัพท์มาขอพร ก็จะทำให้ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนอยู่บ้าน ไม่ออกไปพบปะกลุ่มเพื่อน หรือสังสรรค์ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ที่สำคัญ อาจเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากความประมาท ขับรถเร็ว หรือเมาสุราได้ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด จากข้อมูลโรงพยาบาลในสังกัด สธ. เฉพาะเดือน มี.ค. 2563 พบว่า มีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนเดือนเดียว 27,428 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้บาดเจ็บจากรถจักรยานยนต์ถึง 22,430 ราย คิดเป็นร้อยละ 82 โดยเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ 19,164 ราย และพบว่า ผู้ขับขี่ที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกือบ 4,000 คน เป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ถึง 3,548 ราย คิดเป็นร้อยละ 89 และเกือบครึ่งของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์อยู่ในช่วงอายุ 15-24 ปี

“ในช่วงที่ผ่านมายังเกิดอุบัติเหตุทางถนนจำนวนมาก ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย จึงขอความร่วมมือจากประชาชน ขอให้อยู่บ้านเพื่อลดการติดเชื้อ ลดอุบัติเหตุทางถนน และไม่เป็นการเพิ่มภาระให้โรงพยาบาล เพราะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยปัจจุบัน ทำให้หมอ พยาบาล รวมทั้งบุคลากรทางสาธารณสุขส่วนอื่นๆ ต้องรับภาระงานมากอยู่แล้ว หากประชาชนอยู่บ้าน นอกจากเป็นการลดการติดเชื้อแล้ว ยังถือเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมด้วย” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

11 เม.ย. 2563    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สปสช.พร้อมช่วยเหลือผู้ให้บริการ 2 เท่า ตามมติ ครม. หากปฏิบัติหน้าที่ได้รับความเสียหาย “กรณีโควิด-19” เป็นผู้เสียสละรับความเสี่ยงดูแลผู้ป่วยและควบคุมโรค ครอบคลุม อสม.ตามที่หน่วยบริการมีหนังสือมอบปฏิบัติภารกิจโควิด 19

วันนี้ (16 เม.ย.) นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์เป็นด่านหน้าสำคัญในการรับมือในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ทั้งการตรวจคัดกรอง วินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล การควบคุมการแพร่กระจายของโรค รวมทั้งการฟื้นฟูสุขภาพของประชาชน ถือเป็นผู้ที่มีความเสียสละอย่างยิ่ง เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อในการปฏิบัติงาน ที่ผ่านมาในการประชุมคณะรัฐมนตรีซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบมาตรการสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่กระทรวงสาธารณสุขนำเสนอ ซึ่งรวมถึงเพิ่มจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายกรณีโควิด-19 เป็น 2 เท่าจากเดิม โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานบอร์ด ได้เห็นชอบตามอัตราการจ่ายดังกล่าวโดยใช้เงินจากงบกลางที่ได้รับเพิ่มเติมจากรัฐบาลกรณีโควิด-19 ในการจ่ายช่วยเหลือใน 3 กรณี ดังนี้

1. กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต และมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายช่วยเหลือได้ตั้งแต่ 480,000-800,000 บาท

2. กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 200,000-480,000 บาท

3. กรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 200,000 บาท

ทั้งนี้ สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นที่ สปสช.สาขาเขตพื้นที่ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับความเสียหาย โดยจะมีคณะกรรมการพิจารณาในการช่วยเหลือต่อไป

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การช่วยเหลือความเสียหายในการให้บริการกรณีโรคโควิด-19 นี้ จะครอบคลุมบุคลากรทางการแพทย์ในทุกวิชาชีพที่ทำงานยังหน่วยบริการภาครัฐ ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และนักเทคนิคการแพทย์ เป็นต้น ส่วนกรณีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่ทำหน้าที่คัดกรองโรค ติดตามผู้ที่อยู่ในการเฝ้าระวังโรคโควิด-19 และกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่กรณีที่เกิดความเสียหายขึ้น สปสช.มีนโยบายในการดูแลเช่นกันตามที่หน่วยบริการได้มีหนังสือมอบหมาย อสม.ในการปฏิบัติหน้าที่กรณีโควิด-19 โดยจะดำเนินการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับเงิน การจ่ายเงิน การรักษาเงินและรายการของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่น พ.ศ. 2559 ในหมวด 5 ค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ

“สปสช.ให้ความสำคัญต่อการดูแลผู้ให้บริการที่มีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงการดูแลและรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ต่างทำงานกันอย่างเข้มแข็ง ทั้งที่หน่วยบริการและพื้นที่ พร้อมขอส่งกำลังใจไปยังบุคลากรในระบบสุขภาพทุกคนที่ร่วมทำหน้าที่สกัดและยุติการพร่ระบาดโรคระบาดใรขณะนี้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
 16 เม.ย. 2563  โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
องค์การอนามัยโลก เตือนทุกประเทศยกเลิกล็อกดาวน์ต้องผ่าน 6 ข้อ ทั้งคุมการระบาดในประเทศ ระบบสุขภาพต้องดี พื้นที่เสี่ยงมากสุดต้องเสี่ยงน้อยสุด สถานที่ต่างๆ มีมาตรการป้องกันโรค จัดการความเสี่ยงคนมาจากต่างประเทศ และคนในชุมชนใช้ชีวิตใหม่หลังเกิดโรคได้ ศบค.เผย ไทยผ่านเกือบหมดทุกข้อ เว้นเรื่องคนในชุมชน เหตุยังมีกลุ่มก๊งเหล้า เล่นพนัน สังสรรค์ ที่อาจเสี่ยงทำให้เชื้อระบาด ส่วนการปลดล็อกอยู่ระหว่างประชุมหารือ

วันนี้ (17 เม.ย.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานโควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ของไทยเริ่มดีขึ้นจะผ่อนคลายมาตรการได้หรือไม่ เพราะกลัวอดตายมากกว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า การกลับมาใช้ชีวิตตามปกติในหลายประเทศอาจเร็วเกินไป ความพยายามที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจอาจนำไปสู่การระบาดระลอกสอง WHO แนะนำว่า ต้องมี 6 ข้อถึงจะยกเลิกการล็อกดาวน์ได้ คือ 1. ต้องสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศได้แล้ว ซึ่งเราก็ควบคุมได้ระดับหนึ่ง จะต้องเป็นศูนย์หรือไม่ ต้องคุยกันในระดับวิชาการ

2. ระบบสุขภาพต้องสามารถตรวจหาผู้มีอาการของโรค ตรวจหาเชื้อ แยกตัวและทำการรักษา พร้อมทั้งทำการสอบสวนโรค ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมทั้งอุปกรณ์ น้ำยา รวมถึงระบบโคดต่างๆ ซึ่งจากการประชุมกัน สปสช.จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการตรวจหาเชื้อ

3. มีความเสี่ยงระดับน้อยที่สุดในสถานที่เสี่ยงภัยมากที่สุด เช่น บ้านพักคนชรา ซึ่งในต่างประเทศบ้านพักคนชราจะแออัดและไปเสียชีวิต แต่ประเทศไทยแทบไม่มีข่าว เว้นแต่มาเสียชีวิตใน รพ.

4. โรงเรียน สำนักงาน และสถานที่สาธารณะต่างๆ ต้องมีมาตรการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งของเราตอนนี้หลายที่ปิดไปและมีมาตรการดูแลอย่างละเอียด สถานที่ภาครัฐอย่างมาทำเนียบรัฐบาลก็ใส่หน้ากากทุกคน มีระบบระเบียบป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ

5. สามารถจัดการความเสี่ยงของโรคจากผู้ที่เดินทางเข้าประเทศได้ ซึ่งเราก็แง้มน่านฟ้าไว้ ให้เข้าออกได้เท่าที่มีการอนุญาตเท่านั้น เราก็พยายามควบคุมได้อยู่

6. คนในชุมชนต้องมีความรู้ มีส่วนร่วมและได้รับการสนับสนุนให้มีชีวิตอยู่ภายใต้สังคมที่เปลี่ยนไปหลังการเกิดโรค ซึ่งคนไทยได้รับคำชมว่าใช้หน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้ามากขึ้น แต่ก็ยังมีบางกลุ่มที่ก๊งเหล้า สังสรรค์ เล่นการพนัน จะเห็นว่ามีการติดเชื้อในสถานบันเทิง สนามมวย ซึ่งตรงนี้ถ้าเราเรียนรู้ข้อนี้ข้อสำคัญ จะปลดล็อกดาวน์ได้ต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนด้วย

“แล้วเมื่อไรจะปลดล็อก จะปลดล็อกอย่างไร ขณะนี้มีการประชุมกันโดยทีมนักวิชาการและด้านต่างๆ ทางแพทย์ สังคม เอกชน เพื่อเตรียมนำเสนอ ผอ.ศูนย์ ศบค. โดยตัวอย่างถ้าจะเปิด เช่น ร้านตัดผม ต้องมีการจัดเตรียมสถานที่ เช่น ที่นอนสระผม ห่างกัน 1 เมตร ไม่ให้มีที่นั่งรอในร้าน ให้ใช้บัตรคิวแทน ให้เวลาบริการไม่เกิน 2 ชั่วโมง เฉพาะสระผม ตัดผมเท่านั้น ใส่หน้ากากผ้าทุกคน ทำความสะอาด ยอมรับในกติกานี้หรือไม่ ก็ต้องปฏิบัติให้ได้ด้วย เป็นต้น” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
: 17 เม.ย. 2563    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สธ.เผยไทยมีอัตราป่วยตายจากโควิด 1.7% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่อยู่ที่ 6% ชายตายมากกว่าหญิง 4 เท่า เป็นคนแก่ 20% พบคนตายมีเบาหวานร่วมมากสุด 41% เหตุทำภูมิคุ้มกันอ่อนลง ตามด้วยความดัน 36% ย้ำ ยังต้องล้างมือ รักษาระยะห่าง ใส่หน้ากากผ้า แม้มีผ่อนบางมาตรการ เตือนกลุ่มแจกของจนคนไปออแน่น ยิ่งเสี่ยงติดเชื้อ ต้องจัดการพื้นที่เว้นระยะห่าง จำกัดจำนวนคน

วันนี้ (17 เม.ย.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย อยู่ในระดับที่ดี โดยผู้ป่วยรายใหม่ไม่ได้เพิ่มขึ้น ลดลงเล็กน้อย อย่าง 28 รายใหม่วันนี้ พบว่า เป็นสัมผัสผู้ป่วยรายงานก่อนหน้า 16 คน พบในสถานที่อื่น 5 คน เช่น สถานที่ท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า พนักงานของโรงงาน สถานบันเทิง เคยทำงานกับบริษัททัวร์ คือ ความเสี่ยงยังมีอยู่แต่ไม่มาก ไม่มีผู้ติดเชื้อเดินทางจากต่างประเทศ หลังงดเที่ยวบินโดยสารตั้งแต่ต้น เม.ย. เรื่องน่าเสียใจ คือ ผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นหญิงไทยอายุ 85 ปี ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีการแจ้งเตือนเป็นระยะ คือ มีอายุมากและมีโรคประจำตัวหลายโรค

นพ.โสภณ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีผู้ป่วยโควิด-19 สะสม 2,700 ราย เสียชีวิต 47 ราย อัตราการป่วยเสียชีวิตอยู่ที่ 1.7% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ ซึ่งอยู่ที่ 6% ทั้งนี้ พบว่าเป็นผู้สูงอายุ 20% โดยผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปี อัตราตายอยู่ที่ 12% สำหรับผู้ชายเสียชีวิตสูงกว่าผู้หญิง 4 เท่า สำหรับการติดในผู้สูงอายุมักมาจากคนอายุช่วง 30-49 ปี ที่ออกไปข้างนอก เช่น ไปตลาด แล้วนำมาติดภายในครอบครัว จึงต้องระมัดระวังเรื่องเหล่านี้ เพราะหากไม่ป่วยก็จะไม่เสียชีวิต สำหรับการวิเคราะห์ผู้เสียชีวิต พบว่า ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว โดยเป็นโรคเบาหวานมากสุด 41% โรคความดันโลหิตสูง 36% ไขมันในเลือดสูง 18% โรคหัวใจ 14% โรคไต 9% ภาวะอ้วน 7% และอื่นๆ 14% อาทิ โรคมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษา โรควัณโรค เอสแอลอี ตับ ปอด ถุงลมโป่งพอง แต่ก็มีบางส่วนเสียชีวิตโดยไม่มีโรคประจำตัว

“จริงๆ แล้วคนไทยป่วยโรคความดันโลหิตสูงมากกว่า แต่ที่โรคเบาหวานมีการเสียชีวิตสูงกว่า เพราะเป็นโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำลง โดยเฉพาะคนที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี ซึ่งเมื่อมีน้ำตาลจำนวนมาก น้ำตาลก็จะไปเกาะกับเม็ดเลือดขาว ซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค ก็ทำให้ภูมิคุ้มกันเราต่ำลง ส่วนคนที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ อาจเสี่ยงน้อยกว่าแต่ก็มีโอกาสรุนแรงได้ เพราะมีพยาธิสภาพของเส้นเลือดต่างๆ ที่อาจเกิดความเสียหายไปเช่นกัน” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้ยอดการป่วยของไทยอยู่ในช่วงขาลง แต่ในส่วนของอัตราการเสียชีวิตยังต้องรอดูอีก 1 สัปดาห์ ถึงจะพอบอกได้ว่า สถานการณ์การระบาดในประเทศไทยเป็นไปในทิศทางไหน เนื่องจากระยะเวลาของการเสียชีวิตจะอยู่ที่ 3-4 สัปดาห์ คือ ช่วงเริ่มป่วย 1 สัปดาห์ ช่วงอาการน้อย 1 สัปดาห์ อาการรุนแรง 1 สัปดาห์ และนำมาสู่การเสียชีวิต สำหรับการกลับมาใช้ชีวิตปกติต้องเป็นรูปแบบใหม่ ที่ต้องล้างมือบ่อยๆ รักษาระยะห่าง และสวมหน้ากากผ้า ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้ผลดีคนไทยมีการสวมหน้ากากผ้ามากกว่า 95% และองค์การอนามัยโลกก็แนะนำ ซึ่งต้องขอให้ทำเช่นนี้ต่อไป เพราะถือว่าได้ผลดีมากกว่าวัคซีน

เมื่อถามถึงการรักษาผู้ป่วยของไทยค่อนข้างใช้เวลานาน นพ.โสภณ กล่าวว่า ผู้แนวทางการรักษาสำหรับผู้ป่วยอาการน้อยอยู่ที่ 14 วัน ซึ่งหากเป็น กทม.จะอยู่ใน รพ. 7 วัน และออกมาดูแลต่อที่หอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด-19 หรือ ฮอสปิเทลต่ออีก 7 วัน จนครบ 14 วัน ส่วนต่างจังหวัดอาจจะอยู่ใน รพ.จนครบ 14 วัน ถึงให้กลับบ้านได้ ซึ่งระยะเวลา 14 วัน ถือเป็นระยะเวลาที่ปลอดภัย แม้ที่ผ่านมาจะมีคนในชุมชนกังวลถึงผู้รักษาหายว่าจะแพร่เชื้อหรือไม่ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ที่คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำตัวอย่างเชื้อจากผู้ป่วยประมาณ 4-5 ราย ที่รักษาตัวนานเกิน 14 วันแล้ว แต่ยังตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อหรือเป็นบวก นำมาเพาะเชื้อก็ปรากฏว่าเชื้อตายแล้ว ไม่มีการแบ่งตัว ซึ่งสอดคล้องกับรายงานวิชาการว่าเชื้อจะตายหลัง 8 วัน ดังนั้น การที่เรารักษา 14 วันเป็นระยะที่ปลอดภัยแล้ว และไม่กระทบกับจำนวนเตียง เพราะขณะนี้ผู้ป่วยรายใหม่มีสัดส่วนน้อยกว่าผู้ป่วยที่รักษาหาย โดยอัตราการหายกลับบ้านของไทยน่าจะอยู่ที่ 60% สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

เมื่อถามถึงกรณีมีผู้มาแจกเงินและไข่ไก่ ที่หน้าวัดดอนเมือง ทำให้มีคนไปรอรับแน่น นพ.โสภณ กล่าวว่า ผู้ที่จะจัดงานแบบนี้ต้องมีการจำกัดจำนวนคนที่ชัดเจน ไม่ให้มาออรวมกันจำนวนมาก ต้องมีการจัดเรื่องของการเว้นระยะห่าง ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นความเสี่ยงทำให้แพร่เชื่อได้ ซึ่งต้องฝากทุกสถานที่ต้องเน้นย้ำในเรื่องนี้

เมื่อถามถึงกรณีมีผู้มาแจกเงินและไข่ไก่ ที่หน้าวัดดอนเมือง ทำให้มีคนไปรอรับแน่น นพ.โสภณ กล่าวว่า ผู้ที่จะจัดงานแบบนี้ต้องมีการจำกัดจำนวนคนที่ชัดเจน ไม่ให้มาออรวมกันจำนวนมาก ต้องมีการจัดเรื่องของการเว้นระยะห่าง ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นความเสี่ยงทำให้แพร่เชื่อได้ ซึ่งต้องฝากทุกสถานที่ต้องเน้นย้ำในเรื่องนี้
17 เม.ย. 2563  โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สธ.เผย 5 อาการฉุกเฉินมารับบริการทันตกรรมได้ ผ่านระบบนัดหมายของ รพ. ส่วนกรณีไม่เร่งด่วนให้รอก่อน หรือโทร.สอบถามหรือนัดหมาย “หมอฟัน” แนะวิธีดูแลสุขภาพช่องปากพื้นฐาน เตือนโควิดชอบความเย็นชื้น เก็บแปรงสีฟันให้เอาด้ามลง เว้นระยะห่างระหว่างแปรง แยกหลอดยาสีฟันคนในบ้าน

วันนี้ (14 พ.ค.) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการเตรียมพร้อมคลินิกทันตกรรมบริการประชาชนช่วงโควิด-19 ว่า หากเป็นภาวะฉุกเฉินยังคงให้บริการงานทันตกรรม โดยใช้ระบบการนัดหมายผ่านแอปพลิเคชันของสถานพยาบาล หรือนัดหมายทางโทรศัพท์ ซึ่งอาการฉุกเฉินเร่งด่วน คือ 1. เหงือกหรือฟันปวดบวม กินยาแก้ปวดยาฆ่าเชื้อหากไม่หาย 2-3 วันให้ไป รพ. ซึ่งโรงพยาบาลหลายแห่งมีวิดีโอคอลสอบถามได้ 2. เครื่องมือจัดฟัน ฟันเทียมแตกหัก ทิ่มแทงเนื้อเยื่อ ครอบฟันชำรุด 3. เลือดออกภายในช่องปาก 4. อุบัติเหตุปวดบวมบริเวณใบหน้าและขากรรไกร 5. กรณีรักษาเฉพาะทางที่มีการดูแลร่วมกันระหว่างแพทย์และทันตแพทย์ เช่น ป่วยโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ซึ่งต้องรักษาฟันก่อน เป็นต้น




นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีไม่เร่งด่วน คือ 1. มีการรักษาต่อเนื่องที่ค้างอยู่ เช่น รักษาคลองรากฟัน ฟันผุลึกที่อุดชั่วคราวอยู่ ให้โทร.นัดหมายมาใช้บริการได้ 2. การขูดหินปูน อุดฟันสวยงาม จัดฟันใหม่ ตรวจสุขภาพฟันให้เลื่อนไปก่อน 3. กรณีอื่นๆ หากไม่แน่ใจอาการให้โทร.สอบถามสถานพยาบาลที่รักษาต่อเนื่อง ทั้งนี้ บริการทันตกรรมเปิดเกือบปกติแล้ว ประชาชนต้องคัดกรองตัวเอง เมื่อมาถึง รพ.จะคัดกรองอีกครั้ง ก่อนส่งเข้าห้องทันตกรรม และดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยในห้องทันตกรรม การทำความสะอาดช่องปาก ทำความสะอาดใบหน้า สวมเฟซชิลด์ บ้วนปากก่อนทำฟัน เป็นต้น

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ขณะที่สถานพยาบาลจะมีการจัดโซนนิงนั่งคอย แยกจากจุดทำฟัน ระบบการถ่ายเทอากาศมีการดูแลอย่างดี มีการเว้นเก้าอี้ห่าง 1 เว้น 1 อย่างไรก็ตาม เพื่อลดจำนวนคนมา รพ.จึงขอความร่วมมือจากประชาชนที่มารับบริการ ขอให้มาคนเดียว หากจำเป็น เช่น ผู้สูงอายุ หรือเด็ก อาจจะมีคนร่วมเดินทาง 1 คน ขณะนี้ สธ.จะจัดบริการให้ครอบคลุมทั่วถึงพอเพียง บนพื้นฐานความปลอดภัยของประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์


X
 





ด้าน ทพญ.วรางคนา เวชวิธี รองผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กล่าวว่า โรคในช่องปากเป็นเรื่องที่ป้องกัน ชะลอการลุกลามได้ ในสถานการณ์ปกติควรไปพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่สถานการณ์นี้ขอให้ดูแลตัวเองก่อน หากจำเป็นก็ค่อยไปพบทันตแพทย์ ดังนั้น จึงแนะนำการดูแลสุขภาพช่องปากพื้นฐาน คือ แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ เพื่อป้องกันฟันผุ หลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง ไม่ควรรับประทานอาหารหรือน้ำหวาน เพื่อลดจุลินทรีย์ในช่องปาก นอกจากนี้ เชื้อโควิดชอบความเย็น ความชื้น การเก็บแปรงสีฟันซึ่งมีความชื้น ให้เอาด้ามลง อย่าเก็บในแก้วเดียวกัน คือ ต้องเว้นระยะห่างระหว่างแปรงสีฟัน เหมือนการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล แยกหลอดยาสีฟันของคนในบ้าน เป็นต้น

ทพญ.วรางคนา กล่าวว่า โรคในช่องปากที่ยังไม่มีอาการ เช่น ขูดหินฟูน ฟันบิ่นเล็กน้อย ฟอกสีฟัน แก้ปัญหาความห่างของช่องฟัน อยากให้งดเว้นการรับบริการไปก่อน แต่หากมีปัญหา จำเป็นต้องไปพบทันตแพทย์ ควรใช้ระบบการนัดหมาย เพื่อลดความแออัดในสถานบริการ นัดแล้วแปรงฟันก่อนออกจากบ้าน เพื่อลดเชื้อโรคในช่องปาก เมื่อถึงสถานพยาบาลให้บอกข้อมูลตามจริง ทั้งนี้ ขอให้สวมหน้ากากตลอดเวลาที่อยู่ในสถานบริการจนกว่าจะถึงช่วงเวลาทำฟัน หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของต่างๆ เมื่อทำฟันเสร็จแล้วให้สวมหน้ากากเมื่อออกไปที่ชุมชน

14 พ.ค. 2563   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ไทยมีอัตราหายป่วยจากโควิดสูง 62% ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อแล้ว 99 คน พบส่วนใหญ่มาจากการที่ผู้ป่วยไม่บอกประวัติ มีบุคลากรถูกกักตัวจำนวนมาก ทำให้ รพ.ต้องปิดบริการบางส่วน เหมือนอย่างเคส รพ.รือเสาะ แนะจัดส่งบุคลากรเสริมทีม

วันนี้ (17 เม.ย.) นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีอัตรารักษาหายอยู่ที่ 62.5% มากกว่าหลายประเทศ และมีอัตราเสียชีวิตต่ำ แต่ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อประมาณ 99 คน บวกลบนิดหน่อย จากการศึกษาเชิงลึก บุคลากรไม่ทราบมาก่อนว่า ผู้ป่วยมีอาการเข้าได้กับการติดเชื้อ ดังนั้น ขอประชาชนให้แจ้งอาการตามจริง ส่วนบุคลากรที่ต้องกักตัวนั้นก็มีจำนวนมาก แต่ไม่น่าจะถึงหลักพันคน และยังไม่พบว่าในจำนวนที่ถูกแยกกักนั้นมีการติดเชื้อแต่อย่างใด สำหรับกรณีสถานพยาบาลต้องปิดให้บริการบางส่วน เช่น รพ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เพราะบุคลากรการแพทย์ต้องกักตัว เนื่องจากมีผู้ป่วยไม่ยอมบอกประวัตินั้น เป็นเรื่องที่สามารถเจอได้ กรณีแบบนี้จะต้องมีการส่งบุคลากรเข้าไปเสริม แต่ก็ต้องดูว่าคนที่ถูกกักนั้นเป็นการสัมผัสเสี่ยงสูงหรือต่ำ เพราะฉะนั้นเรื่องการให้ข้อมูลสำคัญมาก ต้องไม่ปกปิด

นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การใช้ชีวิตของคนไทยในสถานการณ์โควิด-19 ต้องสร้างมาตรฐานใหม่ในสังคมไทยในการอยู่ร่วมกับโควิด-19 โดยจะต้องสวมหน้ากากผ้า เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ และทำความสะอาดสถานที่ต่างๆ เป็นประจำ ทั้งนี้ กรมอนามัยได้สร้างแพลตฟอร์ม https://stopcovid.anamai.moph.go.th ที่เป็นแหล่งรวบรวมสถานประกอบการที่ผ่านมาตรฐานการป้องกันโควิดและเป็นสถานประกอบการมาตรฐาน ทั้งตลาด ฟิตเนส ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย และอื่นๆ ที่จะทยอยมีมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปพิจารณาเลือกได้ว่าสถานประกอบการใดที่มีมาตรฐาน และเมื่อไปใช้บริการแล้วพบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานก็สามารถแจ้งร้องเรียนมาได้ที่กรมอนามัย เพื่อจะได้ลงไปตรวจสอบ กำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานต่อไป
17 เม.ย. 2563  โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
หมอตอบชัดถึงคนไทยที่ถามประเทศทำไมไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ชี้ ไทยประสบความสำเร็จควบคุมโควิด-19 ด้วยหลากมาตรการที่ประเทศอื่นก็ลอกเลียนไม่ได้ เผย คนชาติอื่นก็ถามประเทศตัวเอง ทำไมไม่ทำอย่างไทย ทั้งมี อสม.ล้านคน คนใส่หน้ากากผ้าจำนวนมาก วางเจลแอลกอฮอล์ทั่วถึง คนอยู่บ้านทั้งที่ไม่มีคำสั่งห้าม คนมีน้ำใจออกมาช่วยเหลือกัน ย้ำ แต่ละประเทศแตกต่างกันไปตามต้นทุน

วันนี้ (19 เม.ย.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่ได้ใช้มาตรการเดียวในการควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 อย่างการปิดเมือง ปิดสถานที่เสี่ยง แต่เราใช้มาตรการจำนวนมากหลากหลายควบคู่กันไป ทั้งมาตรการสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ มาตรการทางสาธารณสุข มาตรการด้านการแพทย์ มาตรการด้านสุขอนามัยส่วนบุคคล มาตรการบังคับปิดกิจการและสถานที่เสี่ยง มาตรการห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) มาตรการจำกัดการเดินทาง และ มาตรการเพิ่มระยะห่างทางสังคม ทั้งนี้ ไม่มีประเทศไหนเหมือนกันทุกประการ เพราะฉะนั้น ตอนนี้เราทำงานประสบความสำเร็จด้วยวิธีการที่ผสมผสานหลายวิธี ประเทศไทยประสบความสำเร็จไม่เหมือนประเทศอื่นๆ แต่จำนวนผู้ป่วยของเราตอนนี้ ก็เริ่มชะลอตัวลง และลดลงได้ดีระดับหนึ่ง

“ขณะที่เราตั้งคำถามถามประเทศว่า ทำไมตรวจน้อย ทำไมไม่ใช้แอปพลิเคชัน หรือเทคโนโลยีขั้นสูง มาทำโน่นนี่ ทำไมไม่ประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ทำไมไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ขณะที่ถามคำถามเหล่านี้ก็มีประชากรประเทศอื่นตั้งคำถามประเทศเขาเหมือนกันว่า ทำไมไม่มี อสม.ล้านคน ทำไมไม่มีนักระบาดวิทยาที่มีความรู้ความสามารถ มีนักปฏิบัติการทางแล็บที่มีความสามารถและทุ่มเทการทำงานที่เพียงพอ ทำไมคนของเขาไม่ใส่หน้ากากผ้ามากเท่าประเทศเรา ทำไมคนของเขายังออกนอกบ้านทั้งที่มีการประกาศห้าม ขณะที่คนของเราอยู่ในบ้านทั้งที่ไม่มีประกาศห้าม ทำไมบ้านเขาไม่มีเจลแอลกอฮอล์วางอยู่อย่างทั่วถึง ทำไมคนบ้านเขาไม่มีคนมีน้ำใจออกมาแจกข้าวของจำเป็น ดังนั้น ไม่มีประเทศไหนเหมือนกัน ความสำเร็จของเราก็เป็นความสำเร็จที่ประเทศอื่นก็ลอกเลียนไม่ได้ เพราะฉะนั้น อยากให้เข้าใจว่า มาตรการแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เพราะต้นทุนของแต่ละประเทศแตกต่างกัน” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดโควิด-19 ขณะนี้ได้มีการปรับจำนวนผู้ติดเชื้อ เพราะบุคลากรทางการแพทย์ของเดิมที่ลงไป บางคนอาจไม่ได้เป็นบุคลากรทางการแพทย์จริงๆ เช่น บางคนทำหน้าที่ธุรการใน รพ. ก็มีการปรับเรื่องอาชีพออกให้ตรงตามความเป็นจริงมากขึ้น จนถึงเมื่อวันที่ 18 เม.ย. มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ 101 คน โดยเป็นพยาบาล 40% แพทย์ 19% โดย 74% มีความเสี่ยงเนื่องจากเป้นผู้ดูแลรักษาผู้ป่วยโดยตรง 15% ติดเชื้อจากผู้ร่วมงาน 10% ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน
19 เม.ย. 2563  โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สธ.เตรียมเสนอ คกก.จริยธรรมวิจัยในคน วันที่ 23 เม.ย. ใช้ “ฟ้าทะลายโจร” รักษาผู้ป่วยโควิดอาการน้อย สถาบันบำราศนราดูร คาดเริ่มได้ พ.ค.นี้ หลังวิจัยในหลอดทดลองได้ผลดี

ความคืบหน้าของการวิจัยสมุนไพร “ฟ้าทะลายโจร” ซึ่งพบว่า ให้ผลดีเมื่อใส่ฟ้าทะลายโจรไปในไวรัสโควิด-19 โดยตรง และนำไปใส่เซลล์เพาะเลี้ยง และใส่ฟ้าทะลายโจรเข้าไปหลังเซลล์เพาะเลี้ยงติดเชื้อ พบว่า ช่วยฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรงและยับยั้งการเพิ่มจำนวน แต่การให้ฟ้าทะลายโจรแก่เซลล์เพาะเลี้ยงก่อนติดเชื้อไม่ช่วยสารยับยั้งหรือป้องกัน โดยจากนี้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จะศึกษาปริมาณยาฟ้าทะลายโจรที่เหมาะสม ในขนาด 3 เท่า และ 5 เท่าของโดสปกติ โดยศึกษาในผู้ป่วยโควิด-19 อาการน้อยที่สถาบันบำราศนราดูร

วันนี้ (20 เม.ย.) ดร.ภญ.อัญชลี จูฑะพุทธิ ที่ปรึกษากรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยความคืบหน้าเรื่องนี้ ว่า การศึกษาวิจัยฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 จะทำในผู้ป่วยที่มีอาการน้อย โดยคาดว่า จะเสนอโครงการวิจัยต่อคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของสถาบันบำราศนราดูร ในวันที่ 23 เม.ย.นี้ และจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนพ.ค.นี้

 20 เม.ย. 2563   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ต่ำสิบ หลังระบาดวงกว้างเป็นครั้งแรก เหลือ 9 ราย มีเสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย กทม.ไม่มีติดเชื้อเป็นวันแรก แต่เจอผู้ป่วยใน State Quarantine ที่กลับจากอเมริกา 2 ราย ยะลายังเจอ 4 รายจากการค้นหาเชิงรุก

วันนี้ (27 เม.ย.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงข่าวประจำวันว่า วันนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 9 ราย รักษาหายเพิ่ม 15 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสม 2,931 ราย หายกลับบ้าน 2,609 ราย เสียชีวิตรวม 52 ราย ยังรักษาใน รพ.270 ราย ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิต 1 รายนั้น คือ ผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 64 ปี อาชีพแม่บ้าน มีโรคโลหิตจาง มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันเป็นคนในครอบครัวที่มีการป่วยถึง 5 คน เริ่มป่วยวันที่ 2 เม.ย.ด้วยอาการไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย เข้ารับการรักษาที่ รพ.ชุมชนแห่งหนึ่งใน จ.ภูเก็ต วันที่ 8 เม.ย.ส่งตรวจหาเชื้อและยืนยันว่าเป็นผู้ป่วย โดยวันที่ 10 เม.ย. อาการแย่ลง เหนื่อยมากขึ้น และย้ายไปรักษาต่อยัง รพ.จังหวัด เอกซเรย์พบปอดอักเสบรุนแรง เหนื่อยมากขึ้น การทำงานของไตลดลง ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตวันที่ 26 เม.ย.2563 ด้วยระบหายใจล้มเหลวและไตวายเฉียบพลัน

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ผู้ป่วยรายใหม่ 9 ราย ได้แก่ 1. กลุ่มสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้า 3 ราย คือ ภูเก็ต สุพรรณบุรี และยะลา 2. ตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุก 4 ราย จ.ยะลา และ 3. คนไทยกลับจากต่างประเทศอยู่ในสถานที่กักกันของรัฐ 2 ราย กลับมาจากสหรัฐอเมริกา ใน กทม.ถือว่าต่ำสิบในวันแรก สำหรับจังหวัดที่มีการกระจายผู้ป่วยรายใหม่ ได้แก่ ยะลา 5 ราย ภูเก็ต 1 ราย สุพรรณบุรี 1 ราย ส่วน กทม.เป็นวันแรกที่ไม่มีรายงานผู้ป่วย แต่เกิดจากพบในสถานที่กักตัวของรัฐ 2 ราย ซึ่งเป็นความพยายามของคนกรุงที่พยายามช่วยกันดูแลตรงนี้

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับการกระจายตามจังหวัด ยังคงเป็น กทม.สูงสุด 1,481 ราย ส่วนอัตราป่วยสูงสุด คือ ภูเก็ต 49.83 ต่อแสนประชากร ขณะที่จังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยเลยมี 9 จังหวัด ส่วนไม่มีผู้ป่วยใหม่ 28 วัน มี 12 จังหวัด โดยมีเพิ่มขึ้นมาคือแม่ฮ่องสอน ขณะที่ไม่มีผู้ป่วยใหม่รายงานใน 14 วันมี 36 จังหวัด มีเพิ่มขึ้นมาคือ นครพนม ยังมีผู้ป่วยรายงานในช่วง 14 วัน มี 7 จังหวัด และมีรายงานผู้ป่วยในช่วง 7 วัน มี 13 จังหวัด

 27 เม.ย. 2563  โดย: ผู้จัดการออนไลน์





story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สธ.ขยายเกณฑ์ตรวจเชื้อ “โควิด” ฟรี เพิ่มอีก 2 กลุ่ม คนไม่มีไข้แต่มีอาการคล้ายหวัด และคนที่ดมแล้วไม่ได้กลิ่น เริ่มวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากก่อนหน้านี้เน้นต้องมีไข้ ร่วมกับอาการทางเดินหายใจและมีประวัติเสี่ยง

วันนี้ (6 พ.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงเกณฑ์การตรวจเชื้อโควิด-19 ว่า ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคโควิด-19 (PUI) เรามีการปรับเกณฑ์มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ที่เข้ารับการตรวจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งข้อมูลตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค จำนวน 54,600 ราย เป็นผู้ป่วยยืนยัน 768 ราย คิดเป็น 1.41% อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคเริ่มมีแนวโน้มลดลง ดังนั้น วันที่ 1 พ.ค. 2563 จึงมีการปรับเกณฑ์ใหม่ “จากเดิมที่ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคที่จะรับการตรวจเชื้อฟรี จะเน้นเรื่องมีไข้ ก็ปรับมาเป็นมีอาการคล้ายไข้หวัดก็สามารถมาตรวจได้เลย รวมถึงคนไม่มีอาการ แต่มีปัญหาเรื่องไม่ได้กลิ่น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็จัดให้เอาเข้ามาอยู่ในกลุ่มนี้ และเมื่อปรับเกณฑ์ใหม่ก็ทำให้จำนวนผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคเพิ่มขึ้นมา” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 7 เม.ย. 2563 มีการปรับขยายเกณฑ์การตรวจโรคโควิด-19 มาแล้ว คือ 1. ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ต้องมีไข้ 37.3 องศาเซลเซียส มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ มีประวัติมาจากพื้นที่เสี่ยง โดยขยายครอบคลุมทุกประเทศทั่วโลก 2. การเฝ้าระวังในสถานพยาบาล เกณฑ์ คือ มีไข้ 37.5 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการทางเดินหายใจ และโรคปอดอักเสบ ขยายกลุ่มประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวเป็นทุกประเทศ หรือมีประวัติเสี่ยงว่าไปสถานที่ชุมชน สถานที่แออัด สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยโรคปอดอักเสบยังเป็นไปตามเกณฑ์เดิม 3. กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข คือ มีไข้ 37.5 องศา มีอาการทางเดินหายใจ หรือปอดอักเสบ ส่วนปัจจัยเสี่ยงคือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วย ผู้สงสัยว่าป่วย และทุกรายที่แพทย์ผู้ตรวจรักษาว่าติดเชื้อ แสดงว่า บุคลากรสามารถได้รับการตรวจและสอบสวนทุกราย 4. การเฝ้าระวังการป่วยเป็นกลุ่มก้อน โดยบุคลากรทางการแพทย์ติดเป็นกลุ่ม 3 ราย คนทั่วไป 5 ราย หากผลตรวจไข้หวัดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นแรพิดเทสต์ หรือ พีซีอาร์ เป็นลบ ก็จะนำเข้าสู่การตรวจโควิด-19 ทั้งนี้ เกณฑ์การตรวจก่อนหน้านี้จะเน้นเรื่องของการมีไข้ ร่วมกับอาการทางเดินหายใจและมีประวัติเสี่ยง แต่จากการปรับเกณฑ์ใหม่ ขอเพียงไม่ต้องมีไข้ แต่มีอาการค้ายหวัดก็เข้ารับการตรวจได้ และอีกเกณฑ์หนึ่งคือคนที่ไม่ได้กลิ่น หลังจากที่มีข้อมูลว่าผู้ป่วยโควิด-19 บางรายมีอาการดมไม่ได้กลิ่น
 6 พ.ค. 2563    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
น่ายินดี!! ไทยไม่มีผู้ป่วยโควิดเพิ่มเป็นวันแรก หรือเป็นศูนย์ราย ยอดสะสมรวม 3,017 ราย กลับบ้านแล้ว 2,844 ราย เผย เบาใจแต่ยังวางใจไม่ได้ เหตุอาจมีคนกำลังฟักเชื้ออยู่ ระบุวันก่อนยังมีติดเชื้อใน กทม.- นราธิวาส ยังต้องสอบสวนโรค อาจมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มได้อีก ย้ำห้ามประมาท ยังต้องล้างมือ ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง

วันนี้ (13 พ.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงข่าวประจำวัน ว่า วันนี้เป็นวันแรกของการรายงานที่มีการติดเชื้อศูนย์ราย หายกลับบ้านเพิ่ม 46 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้การรายงานผู้ป่วยยืนยันสะสมเท่าเดิม คือ 3,017 ราย หายกลับบ้านรวม 2,844 ราย เสียชีวิตเท่าเดิม 56 ราย ยังรักษาตัวใน รพ. 117 ราย ขอแสดงความดีใจกับทุกคนที่พยายามร่วมทำกันมาหลายวัน




นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า หลังผ่อนปรนกิจการสีขาววันที่ 3 พ.ค. ขณะนี้ประมาณ 10 วันแล้ว เรากังวลว่าผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งวันที่ 4 พ.ค. มีผู้ป่วย 18 ราย แต่เป็นการพบในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ทั้งหมด เป็นวันแรกที่ไม่มีรายงานการติดเชื้อภายในประเทศ แต่ต้องรวมตัวเลขจากสถานที่กักกันเข้าไปด้วย ดังนั้น วันที่ 13 พ.ค. จึงเป็นศูนย์ทางการจริงๆ อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่นับวันที่ 4 พ.ค. ถือว่าวันนี้เป็นวันที่ 17 แล้ว ที่เรามีตัวเลขผู้ป่วยหลักเดียวติดต่อกันมา

“นี่คือสิ่งที่อยากบอกให้ทุกคนภาคภูมิใจในสิ่งที่เราสามัคคี ทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ด้วยกัน ทำให้ตัวเลขเกิดขึ้นจริงและเกิดขึ้นได้ แต่ยังต้องขอให้ทุกคนช่วยกันทำต่อไป เพราะศูนย์ตัวนี้อาจจะอยู่กับเรา เรื่องของสองสัปดาห์ที่ผ่านมา 5 อันดับแรกเจอบ่อยที่สุด คือ ศูนย์กักกัน/ผู้ต้องกัก ค้นหาเชิงรุก สัมผัสใกล้ชิดรายก่อนหน้า เมื่อวานมี กทม. นราธิวาส อย่างละ 1 ราย ก็ต้องสอบสวน อาจจะไม่มีอาการวันนี้ แต่อาจจะป่วยขึ้นมาวันหลัง ก็เบาใจขึ้นได้ แต่อย่าวางใจ ถ้าไม่ปฏิบัติมาตรการหลัก 3 ข้อหลัก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากาก” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 28 วัน เหลือ 18 จังหวัด ไม่มี 28 วันเพิ่มเป็น 50 จังหวัด ไม่มีมาก่อนเลย 9 จังหวัด ส่วนการปรับเกณฑ์การตรวจนิยามเฝ้าระวัง ตั้งแต่ 1 พ.ค. พอยอดตรวจลดลงก็เพิ่มเกณฑ์ขึ้นมา อาการแค่คัดจมูก ดมกลิ่นแล้วไม่ได้กลิ่นก็ได้แล้ว มีประวัติว่ามีไข้หรือไม่มีก็ได้ และมีประวัติเสี่ยงไปในที่ชุมชนต่างๆ อาการน้อยๆ เข้ามาตรวจก็มาตรวจเยอะขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ขึ้นมาตรวจ 34,444 ราย พบ 63 ราย อัตราพบ 0.18% ก็ต้องตรวจเพิ่มเติมขึ้นไปเรื่อยๆ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าว่วา สำหรับสถานกักกันโรคที่รัฐจัดให้และในท้องถิ่น จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ ก.พ.- 11 พ.ค. ได้ผู้ป่วย 90 ราย ชายมากกว่าหญิง คือ 8:1 อายุเฉลี่ย 41 ปี ต่ำสุด 15 ปี สูงสุด 77 ปี เป็นคนไทยส่วนใหญ่ เป็นอเมริกันและอังกฤษอย่างละ 1% จังหวัดเข้ารับการรักษา คือ สงขลา สตูล กทม. ปัตตานี ยะลา มาจากอินโดนีเซียมากสุด ต่อด้วยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย คาซัคสถาน ญี่ปุ่น ปากีสถาน สหราชอาณาจักร

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จีนรายงานพบผู้ป่วยใหม่ 2 หลักที่อู่ฮั่น จึงตัดสินใจตรวจทุกคนในอู่ฮั่น หลังพบการติดเชื้อรอบใหม่ จำนวน 11.08 ล้านคน พอๆ กับ กทม. เป็นเรื่องที่เขาลงทุนในการดูแลสุขภาพ ส่วนเกาหลีใต้ยอดผู้ป่วยพุ่งติดเชื้อ 102 คน ติดตามกลุ่มเสี่ยง 2 พันคนที่ยังไม่รายงานตัว กรณีไนท์คลับย่านอิแทวอน กรุงโซล เริ่มจากชายอายุ 29 ปี ไปใช้สถานบันเทิงถึง 5 แห่ง เป็นเรื่องติดตามกันต่อ และเลื่อนเปิดเทอมหลังมีสถานการณ์กลับมาอีกรอบหนึ่ง ขณะที่ เยอรมนี นายกรัฐมนตรีมีมาตรการผ่อนคลายทั่วประเทศ เปิดธุรกิจขนาดเล็กและโรงเรียน หลังสถานการณ์ลดความรุนแรงลง แต่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ เพิ่ม 933 ราย คิดเป็น 3 เท่าก่อนหน้านี้ 1 วัน กำลังพิจารณาอาจต้องกลับมาล็อกดาวน์เพิ่มความเข้มข้น หากตัวเลขยังสูง คือ หากมีผู้ป่วยมากกว่า 50 รายต่อแสนประชากร อัตราการติดเชื้อ 1 คนไปมากกว่า 1 คน อาจจะพิจารณาใช้มาตรการเบรกฉุกเฉินปิดสถานที่ในที่มีการระบาด แต่ละประเทศมาตรการแตกต่างกันไป ไม่สามารถเทียบเคียงกับใครได้ ไทยใช้วิธีแบบนี้เกิดผลแบบนี้ ทุกคนคงเข้าใจและรู้ปรับตัวมาตลอด เราเรียนรู้ต่างประเทศไม่อยากเห็นภาพติดเชื้อกันวันละ 90 กว่าราย สองหลักเรายังไม่อยากให้เกิด ขอให้ช่วยกัน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การรับคนไทยกลับบ้านวันที่ 13 พ.ค. มาจากยูเครน ฟิลิปปินส์ อินเดีย วันที่ 14 พ.ค. มาจากเยอรมนี บังกลาเทศ วันที่ 15 พ.ค. มาจากสิงคโปร์ บาห์เรน ฝรั่งเศส วันที่ 16 พ.ค. สหรัฐอเมริกา วันที่ 17 พ.ค. อินเดีย แคนาดา มัลดีฟส์ วันที่ 18 มาจากสหราชอาณาจักร วันที่ 19 พ.ค. สหรัฐอเมริกา จีน ภูฏาน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ วันที่ 20 พ.ค. มาจากรัสเซีย อาร์เจนตินา อินเดีย

เมื่อถามว่า ขณะนี้ใช้ชีวิตปกติได้แล้วหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ยังใช้ชีวิตปกติไม่ได้ การเป็นศูนย์อาจเกิดในวันนี้ แต่พรุ่งนี้คนสัมผัสผู้ป่วยที่อาจฟักเชื้ออยู่ ถ้าดูแลไม่ดี อาจจะติดเพิ่มได้แบบเกาหลีใต้ 1 คนติดไปแล้ว 100 กว่าคน ต้องตามอีก 2 พันกว่าคน ถ้ามีแม้แต่ 1 คนที่เกิดอยู่ อาจไปสัมผัสกับใครมา เป็นหน้าที่กรมควบคุมโรค คนในท้องถิ่น ต้องช่วยกันดู ญาติๆ กันเอง ดูอาการตัวเองจะติดหรือไม่ ทั้งนี้ ต้องไม่มีเชื้อเป็นศูนย์ไปตลอด บางทฤษฎีอาจจะต้อง 14 วัน หรือ 21 วัน แม้แต่จีนเอง แม้ศูนย์มาหลายวันยังกลับมา อย่างอู่ฮั่นตั้งแต่ปลายปีที่แล้วก็มาใหม่ ยังไว้วางใจไม่ได้

ถามถึงตู้ปันสุขจะเป็นความเสี่ยงโรคหรือไม่ เพราะคนนั้นหยิบสิ่งของต่างๆ ส่งต่อกัน นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เป็นเหตุการณ์หลายๆ คนอยากเข้าไปเอาของช่วงที่เพิ่งมาวาง เข้าไปชุลมุนกันก็ไม่น่าดู เราต้องอยู่ในชีวิตวิถีใหม่ตลอดฝาก 5 ข้อ คือ ล้างมือ ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ตรงนี้อยู่ที่ตัวท่าน ก่อนเอาของมาใส่ ล้างมือก่อน ใส่หน้ากาก เอาของไปใส่ มือสะอาดของก็สะอาด ส่วนผู้รับก็ต้องทำ มือสะอาด ใส่หน้ากาก ไปยืนรอคิวเว้นระยะ ส่วนทำความสะอาดพื้นผิว ใครดูแลก็ช่วยกันทำความสะอาดสักเล็กน้อย ผ้าชุบน้ำยาหรือแอลกอฮอล์เช็ด แล้วเอาของไปวาง และอย่าให้แออัด
13 พ.ค. 2563   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
กรมควบคุมโรคแจงผลศึกษาจีนเจอไวรัสโควิด-19 ในน้ำอสุจิผู้ป่วยและคนหายแล้ว ยังไม่ชัดติดต่อเพศสัมพันธ์ได้ เหตุไม่ได้บอกเป็นไวรัสมีชีวิต ส่วนไทยยังไม่มีผลยืนยัน เชื้อโควิด-19 ในน้ำอสุจิ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อื่นก็ไม่ติดทางเพศสัมพันธ์ แต่ย้ำมีเซ็กซ์ควรใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ส่วนคนหายป่วยโควิด ควรงดเซ็กซ์ 30 วันนับแต่วันมีอาการ เหตุเสี่ยงจากการกอดจูบ

วันนี้ (13 พ.ค.) นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกรณีจีนพบว่าน้ำอสุจิของผู้ป่วยโรคโควิด-19 บางรายมีเชื้อไวรัสปะปน รวมทั้งผู้ป่วยฟื้นตัวจากการรักษาหายแล้วว่า จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ผลการศึกษาของจีนยังมีความไม่ชัดเจนของผลการวิจัยว่า สามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ข้อมูลนี้เป็นการศึกษาเบื้องต้นโดยใช้ตัวอย่างขนาดเล็กซึ่งต้องศึกษาข้อมูลให้มากขึ้นกว่านี้ อีกทั้งไม่ได้บอกว่าเป็นเชื้อไวรัสที่มีชีวิตอยู่หรือไม่ ขณะเดียวกัน การศึกษาจากแหล่งข้อมูลอื่นก็ยังไม่พบเชื้อก่อโรคโควิด-19 ในน้ำอสุจิด้วย และที่ผ่านมาไวรัสสายพันธุ์อื่นในกลุ่มโคโรนาก็ไม่มีรายงานว่า เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีผลยืนยันว่าพบเชื้อโควิด-19 ในน้ำอสุจิ รวมถึงการติดโรคผ่านทางน้ำอสุจิ

“เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากต้องการมีเพศสัมพันธ์ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แนะนำให้ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และเมื่อพิจารณาถึงโอกาสการแพร่กระจายเชื้อตามปกติที่ผ่านทางฝอยละอองและการสัมผัสของเชื้อนี้ในคนที่เพิ่งหายป่วยจากโควิด-19 ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์และการสัมผัสใกล้ชิดกันเป็นเวลา 30 วันนับจากที่เริ่มแสดงอาการ เนื่องจากจะมีความเสี่ยงจากการกอดหรือจูบได้ หรือใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งถือเป็นการป้องกันที่ดี นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย” นพ.วีรวัฒน์กล่าว

นพ.วีรวัฒน์กล่าวว่า เชื้อก่อโรคโควิด-19 มีช่องทางติดต่อหลัก คือ ฝอยละอองจากการไอ จาม หรือการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยตรง แต่สามารถป้องกันตัวเองและป้องกันไม่ให้เชื้อก่อโรคโควิด-19 แพร่กระจายสู่คนอื่นได้ คือ 1. ล้างมือบ่อยๆ เป็นเวลา 20 วินาทีด้วยสบู่และน้ำหรือเจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70% 2. หลีกเลี่ยงการพบปะใกล้ชิด (รักษาระยะห่าง 1-2 เมตร) โดยเฉพาะกับคนที่มีอาการป่วย 3. หากรู้สึกไม่สบาย ควรอยู่บ้านและกักตัวเองให้ห่างจากคนอื่นในบ้าน และ 4. ใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้านหรืออยู่ในที่ชุมชน นอกจากนี้ ทั้งการติดเชื้อเอชไอวีและการติดเชื้อโควิด 19 ต้องไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ หากเราเรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกันอย่างถูกวิธีก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย และใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมได้
13 พ.ค. 2563    โดย: ผู้จัดการออนไลน์