ผู้เขียน หัวข้อ: "สาธิต" จ่อแก้ประกาศยูเซป ผู้ป่วยอุทธรณ์คำวินิจฉัยฉุกเฉินสีแดง ขีดเส้น 3 เดือน  (อ่าน 431 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
รมช.สธ.เล็งชงแก้ประกาศยูเซป เปิดช่องผู้ป่วย-ญาติ อุทธรณ์ได้ หากไม่ได้รับวินิจฉัยว่าป่วยฉุกเฉินวิกฤตสีแดง ลั่นต้องมีกองทุนเป็นสิทธิสวัสดิการเพื่อ อสม. กองทุนฌาปนกิจฯ เตรียมยื่นจดทะเบียนใน ต.ค.นี้ ส่วนกองทุนบำนาญ อสม. ขีดเส้น 3 เดือน ต้องได้รูปแบบรายละเอียดชัดเจน

วันนี้ (30 ก.ย.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) โดยมี นพ.ณัฐวุฒิ  ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดี สบส. ที่จะเกษียณอายุราชการในวันนี้ และ  นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าที่อธิบดีสบส.คนใหม่เข้าร่วม

นายสาธิต กล่าวว่า ส่วนของการทำงานที่ต้องมีการขับเคลื่อน คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)  อย่าลืมว่าพวกเขาเป็นจิตอาสา ทำงานด้วยใจ อย่าเข้าใจว่าทำงานเพื่อแลกผลตอบแทนเท่านั้น เราต้องให้กำลังใจและพัฒนาพวกเขาให้เป็นกองทัพของประเทศ ที่ทำงานในรูปแบบเครือข่าย ขณะที่เรื่องอื่นๆ ก็ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น สนับสนุนให้มีการจัดซื้อจัดจ้างของ รพ. ต้องเป็นไปตามระยะเวลา อย่าล่าช้า รวมทั้งเรื่องของการแก้ประกาศ กฎระเบียบต่างๆ ของโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (ยูเซป) ที่ต้องมีช่องทางให้ประชาชนสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ กรณีที่คิดว่าตัวเองหรือญาติเจ็บป่วยวิกฤตสีแดง แต่ถูกวินิจฉัยว่าไม่ใช่ ซึ่งกำลังดำเนินการ

"มีประชาชนเจ็บป่วยเข้ารับการรักษาตามโครงการดังกล่าว 4 แสนคน แต่เข้าเกณฑ์เพียง 40,000 คน ทำให้มีการร้องเรียนเข้ามาที่สบส. 400 เคส ดังนั้น อยากให้มีการจัดทำส่วนงานอุทธรณ์คำวินิจฉัยด้วย หากเห็นว่ามีอาการ พยานหลักฐานว่าเป็นกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ต้องยอมรับว่าการเปิดให้วินิจฉัยอย่างเดียวอาจจะมีความผิดพลาด หรืออาจจะเป็นการเปิดช่องกลั่นแกล้งได้ ดังนั้นควรมีช่องทางอุทธรณ์ได้ด้วย  โดยสามารถดำเนินการแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขได้" นายสาธิต กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการตั้งกองทุนฌาปนกิจงเคราะห์ และกองทุนบำนาญให้ อสม. นายสาธิต กล่าวว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการ อย่างกองทุนบำนาญ อสม. ต้องรอบคอบ และอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านอธิบดี ก็ต้องมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาว่า กองทุนบำนาญจะเป็นสิทธิสวัสดิการ เพื่อขวัญกำลังใจอย่างไร ซึ่งจะทำให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อเสนอนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป แต่คงตอบไม่ชัดว่า รายละเอียดของกองทุนจะเป็นอย่างไร ขอเวลาในการดำเนินการก่อนสักระยะ

เมื่อถามว่ากองทุนบำนาญ อสม. จะเป็นการหักเงินของอสม.ส่วนหนึ่ง รัฐสมทบส่วนหนึ่ง คล้ายกองทุนประกันสังคมหรือไม่ นายสาธิตกล่าวว่า  ก็เป็นประโยชน์ หากสามารถให้ อสม.มีส่วนร่วมได้ แต่ต้องดูความรู้สึกของ อสม.ทั้งประเทศว่าคิดอย่างไร ซึ่งน่าจะเป็นแบบสมัครใจ หากใครสมัครใจก็จะได้อะไรพิเศษ  ซึ่งขอไปคิดรายละเอียดก่อน แต่อย่างน้อยอยากให้มีสักกองทุนเพื่อเป็นสวัสดิการของ อสม.ทั้งประเทศ เพราะทุกภาคส่วนก็เห็นความสำคัญ เพียงแต่มีความยากตรง อสม.มีอายุหลากหลาย และส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป การออกแบบจึงต้องทั่วถึงและเป็นธรรม

เมื่อถามว่า อสม. บางคนอยากให้นำเงินค่าป่วยการเปลี่ยนเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อการทำงานพื้นที่ นายสาธิต กล่าวว่า เรื่องอุปกรณ์ ความพร้อมต่างๆ ที่ให้อสม.ทำงาน สบส.ต้องมีการสนับสนุน แต่สิ่งที่อยากได้มากกว่านั้น คือ กองทุนเพื่อเป็นสิทธิสวัสดิการจริงๆ เดิมเคยคิดเป็นกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) แต่ก็จะติดเรื่องอายุ เพราะ อสม.หลายคนอายุเกิน 60 ปีไปแล้ว ต้องคิดให้รอบคอบมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เรื่องกองทุนบำนาญจะต้องเสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน ส่วนกองทุนฌาปนกิจฯ กำลังตั้งคณะกรรมการ และกำลังยื่นจดทะเบียนภายใน ต.ค. 2562 ซึ่งที่ลงพื้นที่ไปส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่ขอเก็บ 50 สตางค์


30 ก.ย. 2562: ผู้จัดการออนไลน์