ผู้เขียน หัวข้อ: "อนุทิน" สั่งเช็กความพึงพอใจปชช. สร้างมาตรฐานขั้นต่ำงานบริการทุก รพ. ลดปัญหาด่า  (อ่าน 495 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
"อนุทิน" มอบนโยบายปี 63 ขอชาวสธ.ทำงานเต็มที่ เน้นลดรอคอย ลดแออัด บอกให้แนวคิดไปแล้ว ฝ่ายปฏิบัติต้องไปทำให้ได้ สั่งปลัด สธ.ทำเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำ รพ.ที่ประชาชนพึงพอใจเกี่ยวกับการบริการ หวังลดการวิจารณ์ คำตำหนิ ไม่ให้บั่นทอน หมอ พยาบาล ใช้เป็นตัวชี้วัด ผอ.รพ.หากทำดีเกินมาตรฐาน เตรียมตรวจความพอใจคนไข้รับยาร้านยา รพ.พระนั่งเกล้า 1 ต.ค.นี้

วันนี้ (27 ก.ย.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. เปิดประชุมมอบนโยบาย แผนงาน โครงการ ตัวชี้วัด กระทรวงสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ 2563 แก่ผู้บริหารระดับสูง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ
นายอนุทินกล่าวว่า นโยบายของ สธ. คือ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ร่างกายแข็งแรง ซึ่งการที่ประชาชนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ก็จะทำงานได้ เศรษฐกิจก็จะแข็งแรงตามไปด้วย จึงต้องทำให้ระบบสาธารณสุขมีความแข็งแกร่ง ซึ่งตนขอชื่นชมและภูมิใจแทนบุคลากรสาธารณสุขทุกท่าน หลังมีการจัดอันดับให้ไทยอยู่อันดับที่ 6 ที่มีระบบสาธารณสุขดีที่สุดในโลก เวลาไปประชุมกับนานาชาติเรื่องสาธารณสุข เรามีสถานะเป็นผู้นำ เพราะงานด้านสาธารณสุขไทยเป็นที่ยอมรับระดับโลก ซึ่งตรงนี้เกิดจากความพยายามของทุกคน อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถทำให้คนทั้งประเทศ 70 ล้านคนพอใจได้หมด อาจถูกวิจารณ์บ้างก็อย่าท้อแท้ แต่ตนเชื่อว่าทุกคนทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และขอให้ใช้เทคโนโลยีทุกวันนี้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อขับเคลื่อนงานต่างๆ

"ผมจะไม่พูดกับ ผอ.รพ.อีกแล้วว่า จะทำอย่างไรถึงคนไข้ไม่ต้องรอ ยาไม่ต้องรอ เพราะเราทำให้ท่านหมดแล้ว ยาก็ไปรับที่ร้านขายยา มีเครื่องคิวอยู่แล้ว การรอแพทย์ ก็เริ่มมี รพ.สต. เริ่มอบรมลงไปอยู่ตาม รพ.ที่เล็กลงไปเพื่อคัดกรองไม่ให้คนมากวน รพ.ใหญ่เยอะๆ นี่คือความคิดที่ฝ่ายนโยบายทำไป แต่พวกท่านเป็นฝ่ายปฏิบัติต้องทำให้เกิดให้ได้ สิ่งที่บอกปลัด สธ.ไปคือ เราต้องทำมาตรฐานโรงพยาบาล ที่เรียกว่า Minimum Standard ผมไม่อยากฟังเหตุผลว่า รพ.นี้ดี ไม่ดี เพราะผอ.เก่ง หรือไม่เก่ง ซึ่งไม่ได้ จบแพทย์มาต้องเก่งทุกคน แต่ว่าเราต้องวางมาตรฐานก่อน แล้วความสามารถส่วนตัวของแพทย์แต่ละท่านที่มีทักษะในเชิงบริหาร ท่านจะใช้ทักษะทำให้ดีขึ้นก็ถือว่าเป็นบุญของประชาชนในพื้นที่ แต่ต้องมีมาตรฐานขั้นต่ำตรงนี้ที่เหมือนกัน อะไรที่เหนือจากนั้นค่อยมาวัดกันเป็นเคพีไอหรือความสามารถก็ว่ากันไป" นายอนุทินกล่าว

นายอนุทินกล่าวว่า สำหรับเรื่องงานอนามัย การควบคุมโรค การแพทย์ฉุกเฉินต่างๆ ฯลฯ ซึ่งหากทำตามที่เสนอตนมาได้ ถือว่าพอแล้ว ระบบการสาธารณสุขเป็นที่ 1 แน่ในปีหน้า ซึ่งการเป็นที่ 6 นั้นถือว่าคิดผิด เพราะสำหรับตนแล้วทุกท่านคือที่ 1 ส่วนเรื่องงานขึ้นทะเบียนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่มีคนมาบอกว่า ล่าช้า เมื่อตรวจสอบดู ส่วนใหญ่ก็พบว่าสูตรไม่ได้มาตรฐาน เราคงไม่สามารถห้ามคนพูดได้ว่า อย.ล่าช้า มีนายหน้า หัวคิว ทุกคนพูดได้หมด แต่เราต้องพิสูจน์ตัวเองว่ามันไม่มี หลังจากนี้ถ้าเลขาธิการ อย.คนใหม่เข้ามาแล้ว เปลี่ยนจากไอ้หยาเป็นโอ้เยี่ยมไม่ได้ ท่านก็ต้องร้องไอ้หยาแทน สำหรับของงบประมาณที่ว่ามีการตัดงบกองทุนเฉพาะโรคระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) 670 ล้านบาท แล้วเรียกร้องให้ไปขอ มองว่าไม่จำเป็นต้องไปขอ เพราะหากมีความจำเป็นต้องให้ รัฐบาลก็ต้องให้ จะขอทำไมให้เป็นหนี้บุญคุณ ถ้าจะขอต้องขอเป็นระดับหมื่นล้านบาท เรามีงบเกือบสามแสนล้านบาท แค่ 600 ล้านบาทนี้ก็ต้องบริหารให้ได้ หรือที่พ่อค้าบอกว่าต้องหมุนเงินให้เป็น

นายสาธิต กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายให้ดูแล 4 กรมหลักและ 2 สำนัก ซึ่งงานที่ตนจะขับเคลื่อน แบ่งเป็น กรมสุขภาพจิต จะดำเนินการเรื่องคู่สายของสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และทำให้คนมองว่าโรคทางจิตเวชเป็นโรคหนึ่ง และโรคที่ควรให้ความสำคัญ  กรมอนามัย จะขับเคลื่อนเรื่องของสตรีทฟู้ด เพราะเชื่อมกับการท่องเที่ยว ซึ่งเรามีต้นแบบแล้ว 12 แห่ง จะขยายเพิ่มเป็น 24 แห่ง และเน้นเรื่องออกกำลังกาย โดยพยายามดึงคนที่ไม่ออกกำลังกายให้มาออกกำลังกายมากขึ้น และจะเสนอให้ท่านนายกรัฐมนตรี ทำเรื่องออกกำลังกายให้เป็น Big Event ของ สธ. นวมถึงเรื่องของเด็กปฐมวัย ที่มีช่วง 1,000 วันแรกที่ต้องเลี้ยงดูให้ดี ได้รับนมแม่ เสริมทักษาะด้วยการเล่น เพื่อให้เติบโตมามีคุณภาพ เป็นกำลังของประเทศในอนาคต กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ก็จะเน้นเรื่อง อสม.เพื่อให้อสม.มีขวัญกำลังใจ  ขณะที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มีเรื่องดีๆ เยอะมาก อย่างเรื่องการประกาศสงครามกับเบาหวานความดัน ก็ต้องมีกรอบที่ชัดเจน นอกจากนี้ จะขับเคลื่อนเรื่องของอัตรากำลัง เกณฑ์ FTE ด้วย โดยนำร่องที่เขตสุขภาพที่ 6 เขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีก่อน เพราะเข้าใจว่ามีกรอบของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) แต่ก็ต้องอาศัยเรื่องการงดเว้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ทำให้เห็นเหตุผลว่า เราต้องการบุคลากรพิเศษเพิ่มมากกว่าที่อื่น เช่น มีประชากรแฝงมาก ภาระงานมาก เป็นต้น เพื่อกำหนดกรอบอัตรากำลังที่เหมาะสมได้ ทั้งนี้ ย้ำว่า สาธารสุขยุคนี้ขับเคลื่อนด้วยความสามัคคี ไม่มีพรรคการเมือง และทุกท่านทำกันมานานแล้ว แต่พวกตนไม่รู้อยู่นานแค่ไหน ท่านต้องขับเคลื่อนต่อไป เป้าหมายก็เพื่อสุขภาพที่ดีคนไทย

เมื่อถามถึงการพัฒนามาตรฐานขั้นต่ำที่ทุกโรงพยาบาลต้องมีเหมือนกัน  นายอนุทินกล่าวว่า เกณฑ์มาตรฐานที่ประชาชนมีความพึงพอใจ หมายความว่า ถ้าทำนโยบายนี้สำเร็จ สถานพยาบาลทั่วประเทศจะได้มีมาตรฐานเหมือนกันเป็นพื้นฐาน ซึ่งมาตรฐานนี้ ท่านปลัด สธ. อธิบดีกรมต่างๆ ผอ.รพ. ก็ต้องไปเซตมาให้ได้ว่า ความพึงพอใจประชาชนมีตรงไหนที่รับได้ และจากนั้นไปส่วนที่จะเป็นความสามารถทักษะเชิงการบริหารของ ผอ.รพ.แต่ละท่านก็มาวัดกันว่าใครจะทำได้เกินมาตรฐานแค่ไหน สามารถวัดออกมาเป็นการประเมินต่างๆ ได้ ทำให้อย่างน้อย ประชาชนมีความพึงพอใจในระดับที่เป็นมาตรฐานปกติ จะได้ไม่ต้องมีการตำหนิติเตียนหรือว่าวิพากษ์วิจารณ์อะไรที่เป็นการบั่นทองผู้ปฏิบัติหน้าที่แพทยื พยาบาล ซึ่งก็คนเหมือนกัน ถูกดุด่าติฉินนินทามากๆ ก็ย่อมเกิดความเครียด ท้อถอย ซึ่งเราก็มีน้อยอยู่แล้ว พอเกิดเครียด ท้อถอย คนก็มีอารมณ์ ก็อาจมีผลต่อการทำงานก็ต้องทำอะไรที่เข้ามาตรฐานพึงพอใจของคนให้ได้ก่อน

ถามว่าต้องเสนอเกณฑ์มาตรฐานที่เป็นรูปธรรมเข้ามาภายในเมื่อไร  นายอนุทิน กล่าวว่า คิดว่าพยายามทำกันอยู่แล้ว ตนก็มาย้ำว่าเราเดินไปในทิศทางเดียวกัน ท่านปลัดสธ.ก็รับทราบนโยบายไปแล้ว ก็คงไปทำรูปแบบโมเดลต่างๆ ซึ่งถ้าควิกวินได้ก็ดี คือทำอะไรที่เร็วๆ และเห็นผลทันที ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ยาก แต่อย่างน้อยทุกโรงพยาบาลมีมาตรฐานขั้นต่ำเหมือนกันหมดทุกที่แล้วอะไรที่ได้จากความสามารถพิเศษก็เป็นประโยชน์ของประชาชน

ถามต่อว่า มาตรฐานความพึงพอใจขั้นต้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการลดการรอคอย ความแออัดหรือไม่  นายอนุทินกล่าวว่า ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ และความพึงพอใจในการบริการของ สธ. อย่างตอนนี้เรามีเรื่องของการรับยาที่ร้านยา ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 ต.ค.นี้ ซึ่งจะมีการลงไปตรวจเยี่ยมการเริ่มต้นนโยบายนี้ครั้งแรกที่ รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี วันที่ 1 ต.ค.นี้ เพื่อดูว่าความรวดเร็วเป็นอย่างไร ประชาชนคนไข้พึงพอใจหรือไม่ที่ใช้ระบบนี้ ถ้าเทียบว่าสามารถกลับบ้านได้เลย เมื่อได้รับใบสั่งยาแล้วไปรับร้านยาที่ตัวเองใกล้ชิดด้วย ก็น่าจะพึงพอใจมากขึ้นในระดับหนึ่ง

27 ก.ย. 2562: ผู้จัดการออนไลน์